เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
Eyevieweyeyeahz94
เธอเรียกมันว่า "กับดัก"
  • 17/01/2020
    Kim Ji-Young : Born 1982 (2019) 

    งานเขียนที่เป็นประเด็นถกเถียงอย่างกว้างขวางตั้งแต่ตีพิมพ์ในปี 2016 โดยโชนัมจู สู่ภาพยนตร์ที่สร้างจากนวนิยายชื่อเรื่องเดียวกัน “คิมจียองเกิดปี 82" (82 년생 김지영)  ภายใต้กระเเสการถกเถียงอย่างร้อนแรงในโลกโซเชียลของเกาหลีใต้ ถึงความเหมาะสมของการทำหนังเรื่องนี้ แม้ว่าจะได้จองยูมี มารับบทนำเป็นคิมจียอง และนักแสดงนำชายชื่อดังและเป็นที่ยอมรับอย่างกงยู (ทั้งสองโด่งดังอย่างมาก จากภาพยนตร์เรื่องล่าสุดที่แสดงร่วมกันคือ Train To Busan ซึ่งฉายในปี 2016) แต่ในที่สุดแล้วท่ามกลางการเล่าเรื่องในประเด็นอ่อนไหวในสังคมอย่างตรงไปตรงมานั้น ภาพยนตร์เรื่องนี้ก็ถือว่าประสบความสำเร็จและเป็นที่จับตามองทั้งในและนอกประเทศ รวมทั้งจองยูมีที่ได้รับรางวัลนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมจากเวที 56th Grand Bell Awards ในสาขานักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม และผู้กำกับสาวคิมโดยอง ก็ได้รับรางวัลผู้กำกับหน้าใหม่ยอดเยี่ยมจากเวที 56th Baeksang Arts Awards ไปครองได้ หนังเรื่องนี้ทำให้เกิดการถกเถียงแลกเปลี่ยนที่ร้อนเป็นไฟในโซเชียลของทั้งเกาหลีใต้ รวมถึงประเทศไทยเอง ภายหลังผู้ชมได้ดูหนังเรื่องนี้จบแล้ว "คิมจียองเกิดปี 82" เล่าเรื่องอะไรกันแน่

    ดูผิวเผินก็อาจเป็นหนังที่เล่าเรื่องชีวิตที่เปลี่ยนผันไปของผู้หญิงที่ชื่อคิมจียอง  ซึ่งเปลี่ยนผ่านจากการเป็นหญิงสาวไปสู่การเป็นแม่และมีครอบครัวเป็นของตัวเอง  จนกระทั่งประสบปัญหาทางจิตเวชโดยไม่รู้ตัว แต่แท้ที่จริงแล้วหนังเรื่องนี้เป็นมากกว่าการเล่าเรื่องปัญหาครอบครัวและเรื่องราวของชีวิตผู้หญิงคนหนึ่ง  ภายใต้การเล่าเรื่องอย่างเป็นธรรมชาติของบทหนัง 

    เราได้เข้าไปสำรวจบาดแผลและกับดักที่ผู้หญิงทุกช่วงวัยในสังคมปิตาธิปไตยเข้มข้นแห่งหนึ่งอย่างประเทศเกาหลีใต้ต้องเจออย่างแทบจะครบทุกมิติ  ทุกสิ่งทุกอย่างที่หนังเล่านั้นไม่ใช่เรื่องใหม่เป็นเรื่องปกติที่พบเห็นได้ทั่วไป  แม้แต่ในสังคมไทยเราเองที่ได้รับอิทธิพลสังคมแบบปิตาธิปไตยผสมผสานกับสังคมศีลธรรมจัดแบบวัฒนธรรมวิคตอเรียนที่ยังหลงเหลืออยู่ 

    ขณะที่ดูไปดิฉันและผู้หญิงรอบข้างก็ต้องร้องไห้ออกมาเพราะความอึดอัด  เพราะทุกฉากทุกตอนล้วนเป็นเรื่องธรรมดาอย่างยิ่งที่เกิดขึ้นจนเราคุ้นชินและมันกลายเป็นเรื่องธรรมดาที่พบเห็นได้ทั่วไป ทุกฉากเป็นความธรรมดาที่แสนขมขื่น เพราะเรามีประสบการณ์ที่ตรงกันกับตัวละครคิมจียองมากมาย  ผู้ชมต้องดูทุกฉากโดยที่รู้ทั้งรู้ว่าทำอะไรกับสถานการณ์ธรรมดาๆ  ตรงหน้านี้ไม่ได้เลย ซึ่งนี่เป็นความเฉียบขาดของบทหนังเรื่องนี้ที่ตรึงให้เรามีความรู้สึกร่วมกับหนังอยู่ตลอดเวลา 

    แม้ว่าภาพยนตร์เรื่องนี้จะเล่าเรื่องของผู้หญิงเป็นหลัก  โดยเฉพาะตัวเอกของเรื่องอย่างคิมจียองที่ต้องเผชิญหน้ากับโลกอย่างเจ็บปวดภายใต้แรงกดดันของสังคมปิตาธิปไตย (Patriarchy) อันเป็นที่มาของบาดแผลและความเจ็บปวดที่กำหนดนิยามให้ผู้ที่เกิดมาเป็น "ผู้หญิง" ต้องรู้สึกถึงมันอยู่ตลอดเวลา      

    หนังไม่เพียงแค่เล่าเรื่องของคิมจียองเท่านั้น เรื่องราวความเจ็บปวดของความเป็นผู้หญิงที่ต้องแบกรับบทบาทใหญ่ที่สังคมกำหนดกดดัน ทั้งในฐานะผู้หญิง ฐานะของภรรยาและในฐานะแม่ ถูกเล่าออกมาผ่านตัวละครผู้หญิงทุกคนในเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นแม่ของคิมจียอง  แม่ของแดฮยอน  พี่สาวของจียอง  หัวหน้าทีมคิม  คุณย่า  คุณยายและผู้หญิงอีกหลาย ๆ คน  ทุกอย่างเล่าผ่านช่วงชีวิตวัยเด็ก กระทั่งเติบโตเข้าสู่วัยรุ่น วัยทำงานและวัยที่มีครอบครัวของคิมจียอง  แต่ละย่างก้าวของเธอและผู้หญิงหลาย ๆ คนในชีวิตของคิมจียองนั้นล้วนเต็มไปด้วยเงื่อนไข  ข้อแม้ และมักอยู่เป็นสองรองจากผู้ชายเสมอ

    คำพูดของคิมจียองที่ติดอยู่ในใจฉันคือ“เธอรู้สึกว่าชีวิตเธอเหมือนติดกับ”

    ใช่  กับดักขนาดใหญ่ที่ไม่รู้ว่าใครเป็นคนสร้างและนำมันมาวางไว้ให้เห็นกับตา  น่าแปลกที่มนุษย์แต่ละคนก็เลือกเดินเข้าสู่กับดักนั้น  บางคนพอรู้สึกตัวว่าติดกับก็พยายามหาทางดิ้นรนเอาตัวรอดจากบ่วงพันธนาการใหญ่ยักษ์  ซึ่งการดิ้นรนนั้นก็ล้วนแล้วแต่สร้างบาดแผลและความเจ็บปวดอย่างไม่อาจปฏิเสธได้  แต่คนบางกลุ่มถูกกับดักเหล่านั้นกลืนกินอาจจะทั้งรู้และไม่รู้ว่ามีกับดักนั้นอยู่แต่ท้ายที่สุดคนกลุ่มนี้ก็ใช้ชีวิตในกับดักนั้นไปแล้ว  ทว่าเมื่อคิดได้ว่าบ่วงพันธนาการนั้นเป็นของจริงและไม่อาจทำสิ่งอื่นได้นอกจากต้องเผชิญหน้ากับมัน  เมื่อนั้นมันก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตไปแล้ว  บรรดาผู้หญิง ๆ ที่ร่ำเรียนมาสูง ๆ เพื่อถูกสังคมกำหนดกดดันให้ต้องลาออกมาทำหน้าที่แม่ที่ต้องดูแลลูก  พ่อแม่ที่เลือกจะเลี้ยงลูกชายคนละมาตรฐานกับลูกสาว  มีคนอีกมากมายที่ไม่ต้องการให้มาตรฐานทางสังคมระหว่างเพศที่เป็นอยู่ในปัจจุบันเปลี่ยนไป  สิ่งที่ทำได้ในสถานการณ์แบบนี้ก็มีแต่การทำให้มันเป็นเรื่องธรรมดา  ทำให้เป็นเรื่องล้อเล่นขำ ๆ ไม่ซีเรียส  เพียงเพราะว่ามันอาจกลายเป็นความขัดแย้งไม่รู้จบและเป็นปัญหาที่เราไม่รู้จะไปแก้ที่ต้นตอได้อย่างไร

    ทุกคนทุกเพศล้วนตกเป็นเหยื่อในสังคมปิตาธิปไตยทั้งสิ้น ไม่เว้นแม้แต่จางแดฮยอน (รับบทโดย กงยู) ผู้เป็นสามีของจียอง  หนังถ่ายทอดบทบาทของจางแดฮยอนผู้เป็นสามีที่รับรู้และต้องทนเห็นความเจ็บป่วยทั้งทางร่างกายและจิตใจของภรรยา  แม้ว่านี่จะเป็นอีกหนึ่งบทบาทของกงยูที่อาจทำให้ผู้ชมอย่างเรารู้สึกอบอุ่นใจกับการที่ผู้ชายคนหนึ่งเป็นห่วงรักใคร่และพยายามช่วยเหลือภรรยาด้วยใจจริง  แต่ก็แสดงให้เห็นว่าผู้ชายเองก็เป็นเหยื่อในปัญหานี้เช่นกัน 

    โครงสร้างสังคมครอบครัวที่ยึดโยงผู้ชายเป็นเสาหลักในสังคมตะวันออกรวมไปถึงแนวคิดกตัญญูคุณบิดามารดาและให้ความสำคัญกับผู้อาวุโสกว่าแบบขงจื๊อที่ตกค้างเป็นเนื้อเดียวกันในสังคมเกาหลีใต้นั้นส่งผลต่อการตัดสินใจของหน่วยครอบครัวเล็กที่แม้จะแยกออกมาอยู่ด้วยกันเองแล้ว  ก็ยังต้องยึดโยงกับความเห็นของครอบครัวใหญ่  พ่อแม่ (โดยเฉพาะพ่อแม่สามี)  ก็ยังมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของชีวิตครอบครัวลูกอยู่ดี  สามีภรรยารุ่นใหม่ไม่สามารถออกแบบชีวิตครอบครัวเองได้ เรื่องที่พ่อแม่ลูกยังต้องพัวพันกันอยู่กลายเป็นปัญหาครอบครัวที่บานปลาย  แม้ว่าสามีจะรู้ว่าเป็นเพราะอะไรและอยากจะช่วยภรรยามากแค่ไหนเขาก็ขยับได้แค่เท่าที่พ่อแม่เขาขีดไว้ให้เท่านั้น  ผลลงเอยของครอบครัวที่จบแบบพ่อแม่สองคนช่วยกันทั้งทำงานและเลี้ยงลูกนั้นยังคงเป็นไปได้ยากสำหรับบางครอบครัวหรืออาจเป็นไปแทบจะไม่ได้เลยด้วยซ้ำ  ครอบครัวของคิมจียองเองก็เป็นอย่างหลัง  สุดท้ายเธอก็ไม่ได้กลับไปทำงานที่เธอรัก  เธอต้องเลี้ยงลูกและต้องเผชิญหน้ากับการรักษาอาการทางจิตเวชที่เกิดขึ้นโดยที่ไม่รู้ตัว  ชีวิตของคิมจียองในภาพยนตร์อาจจะดูเหมือนค่อย ๆ ได้รับกำลังใจและได้รับการบำบัดให้หายขาดจากโรคหลายบุคลิก (Dissociative Identity Disorder (DID) ) ได้ในอนาคต  รวมถึงได้ทำงานเขียนที่เคยเป็นความฝันของเธอไปด้วยแม้ว่าในตอนจบอาจจะดูราบรื่นมากขึ้น   

    แต่ตอนจบของหนังก็ไม่ได้มีนิมิตหมายของการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญใดยังคงเป็นตัวคิมจียองเองที่ลุกขึ้นมาต่อสู้เผชิญหน้ากับโรคและชีวิตการเป็นแม่ที่แสนยากเย็นแต่ช่างโชคดี เธอมีสามีที่ดีและครอบครัวที่เข้าใจคอยให้กำลังใจ

    ในชีวิตจริง ๆ ของผู้หญิงอีกหลายคนยังคงต้องเผชิญหน้ากับสิ่งเหล่านี้ต่อไป  การลุกขึ้นมาส่งเสียงหรือแสดงท่าทีที่เป็นปฏิปักษ์กับสังคมที่กดขี่คุณมาเนิ่นนานจนเป็นเรื่องปกติอาจดูก้าวร้าว  ไร้อำนาจและที่ทางในช่วงแรก ๆ  และจะยังคงเป็นแบบนี้ต่อไปหากมีผู้หญิงแค่ 2-3 คนที่ลุกขึ้นมาทำสิ่งที่สังคมมองว่าประหลาด  แต่หากผู้หญิงหลาย ๆ  คนตระหนักรู้ถึงคุณค่าที่แท้จริงของตัวเองในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง  มันจะไม่ใช่แค่ผู้หญิง 2-3 คนอีกต่อไป  แต่จะเป็นผู้หญิงไม่รู้กี่คนที่ได้ส่งเสียงของพวกเธอ  คนอีกมากมายจะได้รับการปกป้อง  พวกเธอจะได้ใช้ชีวิตที่แท้จริง ไม่ใช่ชีวิตในกับดักที่เธอต้องจำใจเลือกเดินเข้าไปหามัน

Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in