* หมายเหตุ: เราใช้คำว่า "คนดำ" ตลอดบทความนี้โดยไม่ได้มีเจตนาเหยียดผิว เหยียดเชื้อชาติ หรือล่วงละเมิดใด ๆ เพียงแค่ใช้ตามตัวละครในซีรีส์ที่ใช้คำนี้ แทน euphemism อย่าง "คนผิวสี" หรือ "แอฟริกัน-อเมริกัน"
* หมายเหตุ 2: เหตุออฟอัลตรอน: เราขอไม่พูดถึง Black Lives Matter หรือเหตุการณ์อื่น ๆ ที่เกิดขึ้นในอเมริกาช่วงนี้ เพราะเป็นเรื่องไกลตัวเรา และเราก็ไม่มีข้อมูลหรือประสบการณ์เพียงพอจะให้ความเห็นอะไรได้ ให้คนที่เขารู้เรื่องจริง ๆ ไปหยิบมาวิเคราะห์ดีกว่าเนาะ
ความคาดหวังสูง
ถ้าใครเคยดู Daredevil หรือ Jessica Jones คงจะเข้าใจถึงคุณภาพของซีรีส์ Marvel ที่สร้างเพื่อ Netflix เป็นอย่างดี คือมันจะมีโทนที่โหดดิบเถื่อนกว่าซีรีส์อื่นของ Marvel ที่เอาลงเคเบิลทีวีอย่าง Agents of SHIELD หรือ Agent Carter รวมทั้งการเดินเรื่องจะกระชับกว่า ภาพสวยกว่า ตัวละครมีมิติกว่า หลายคนเลยยกให้ Daredevil และ Jessica Jones อยู่ในคลาสที่เหนือกว่า Agents of SHIELD หรืออาจจะขึ้นไปเทียบชั้นกับหนังจอเงินเลยด้วยซ้ำ
ซึ่งนั่นก็นำมาซึ่งความคาดหวังที่สูงลิบลิ่ว
และที่ต้องเกริ่นอย่างงี้ก็เพราะว่า เราคิดว่า Luke Cage ไม่สนุกเท่าที่ควร ถึงแม้ Luke Cage โดยตัวของมันเองนั้นเป็นซีรีส์ที่เท่ มีเสน่ห์ และมีความ authentic อยู่เต็มเปี่ยม
จุดอ่อนของ Luke Cage คือช่วงแรก ๆ ที่ออกจะเอื่อยเฉื่อยไปหน่อย กว่าเครื่องจะติดก็ปาเข้าไปเจ็ดแปดตอน (ทั้งซีรีส์มี 13 ตอน) ต่างกับ Daredevil และ Jessica Jones ที่เปิดเรื่องมาก็ออกฤทธิ์ทันที แถมพอเข้าเกียร์เดินเรื่องเต็มที่แล้ว ตัวละครที่โผล่มาในช่วงไคลแม็กซ์ก็ไม่เข้ากับโทนเรื่องที่เกริ่นมาเอาซะเลย
ด้วยความที่ Luke Cage นั้นมีพละกำลังสูงกว่ามนุษย์มนาทั่วไปมาก ฉากต่อสู้เลยออกมาน่าเบื่อ เราจะไม่ได้เห็นการกระโดดถีบ ตีลังกาเตะเหมือนใน Daredevil เพราะพี่ Luke แกสะบัดนิ้วทีเดียวก็ส่งลูกกระจ๊อกกระเด็นข้ามโต๊ะแล้ว แถมดันหนังเหนียว กระสุนยิงไม่เข้า ก็ยืนเท่ท่ามกลางห่ากระสุนจากศัตรูได้สบาย ช่วงแรก ๆ ก็ตลกดีหรอกที่เวลาต่อสู้นั้น Luke ไม่มีท่าทีเกรงกลัวคู่ต่อสู้ คนอื่นสู้กันแทบตาย พี่แกยืนถอนหายใจ ยืดอกรับกระสุนสบายใจเฉิบ แต่พอฉากต่อสู้ไหนก็มีแต่มุกนี้ เลยเบื่อไปบ้าง
เพราะฉะนั้นถ้าจะ "ดูเอามัน" ก็อาจจะไม่หนำใจนัก
"ความภาคภูมิใจ" จุดสำคัญของเรื่อง
ความขัดแย้งหลัก (central conflict) ของ Luke Cage เป็นสิ่งที่ทำออกมาได้ดีมาก เราชอบตรงที่ตัวละครหลักทุกคนมีธีมที่เหมือนกันคือ "ความภูมิใจ" ในย่านฮาร์เล็ม ใน "ถิ่น" ของตน ทั้งตัว Luke Cage เอง ทั้ง Pops ทั้งนักสืบ Misty Knight หรือแม้กระทั่งฝ่ายร้ายอย่าง Cottonmouth หรือ Mariah นักการเมืองบ้าอำนาจ ทุกคนมีความภูมิใจในฮาร์เล็มหมดเลยนะ ทุกคนอยากทำให้ฮาร์เล็มเป็นอย่างที่ตนคิดไว้ และความขัดแย้งของเรื่องก็มาจากการที่แต่ละคนเห็นฮาร์เล็มในอุดมคติต่างกัน ต้องการจะเปลี่ยนฮาร์เล็มไปในทางที่ต่างกัน
เราว่ามันลึกซึ้งและนุ่มนวลกว่า "ตัวร้ายอยากครองโลก" หรือคลิเช่โดดเด่นตลอดกาล "ตัวร้ายหวังดี อยากสร้างโลกใหม่ แต่การจะสร้างโลกใหม่ต้องชำระล้างโลกเก่าซะก่อน แหมตัวละครฉันช่างล้ำลึกซะไม่มี" น่ะ อ้อ และพูดถึงตัวร้าย...
Cottonmouth
"A hero is only as interesting as its villain."
หนังมาร์เวลนั้นค่อนข้างมีปัญหาด้านการสร้างตัวร้ายที่น่าสนใจ ตัวละครอย่าง Malekith, Yellow Jacket, Ronan หรือ Red Skull แทบไม่มีบทบาทด้านการเล่าเรื่องเลย ไม่ต้องพูดถึงบทบาทในจักรวาล MCU เพราะตัวละครเหล่านี้โผล่มาในหนังเรื่องเดียวแล้วก็หายไป เป็นตัวร้ายแบบกระชับ ใช้ครั้งเดียวทิ้ง จะมีก็แต่ Loki หรือบิ๊กแบดอย่าง Thanos ที่ดูจะรีไซเคิลลดโลกร้อนได้บ้าง
แต่ตัวร้ายในซีรีส์นั้นตรงกันข้าม
ทั้ง Wilson Fisk, Kilgrave, Punisher ตัวละครเหล่านี้มีความสำคัญต่อเนื้อเรื่องเท่าเทียมกับตัวเอก หลายคนชอบ Kilgrave มากกว่า Jessica Jones เสียด้วยซ้ำ เราว่า Cottonmouth นั้นก็เทียบชั้นกับ Fisk หรือ Kilgrave ได้สบายเลย
เหตุผลหลักก็มาจาก conflict ที่เขียนถึงด้านบน คือความขัดแย้งมาจากอุดมคติของฮาร์เล็มที่ต่างกัน มันลึกซึ้งและทำให้ตัวละครมีมิติ ด้านการแสดงนั้น Mahershala Ali เล่นได้ดีมาก จุดเด่นของ Cottonmouth คือเขาไม่น่าเกรงขามเหมือนตัวร้ายทั่วไป แต่มีความกลัว ความโกรธที่ปิดไม่มิด เราชอบตัวละครนี้มาก
ภาพ: Marvel Entertainment
เราพูดถึง Cottonmouth ได้แค่นี้แหละ มากกว่านี้สปอยล์ละ
Blaxploitation
ตัวละคร Luke Cage นั้นถูกสร้างขึ้นในปี 1972 จากความต้องการทำ blaxploitation ของมาร์เวล
Blaxploitation (black + exploitation) คือประเภทของหนัง (หรือสื่อบันเทิงอื่น) ที่สร้างเพื่อนำเสนอวัฒนธรรมของคนดำให้คนขาวได้ดู ปัญหาคือ วัฒนธรรมของคนดำที่ว่านั้น หลายครั้งก็เต็มไปด้วย stereotype ที่ค่อนข้างเหยียดเชื้อชาติ
เทียบง่าย ๆ หลายคนคงจะเคยสังเกตว่าเวลามี "คนไทย" ไปปรากฏตัวในมังงะหรืออนิเมะ ตัวละครไทยมักจะเป็น
นักมวย หรือมีอะไรเกี่ยวกับต้มยำกุ้งซักอย่าง เหมือนกับว่าคนญี่ปุ่นคิดว่าคนไทยเป็นนักมวยกันทั้งประเทศ นี่ก็เป็น exploitation อย่างหนึ่ง
Luke Cage ก็ประสบชะตากรรมเดียวกัน ตัวละครในยุคแรก ๆ นั้นเต็มไปด้วยบทพูดแบบ
jive talk หรือการแต่งตัว ไปจนถึงคำพูดติดปากอย่าง "Sweet Christmas" ถึงแม้ว่าในยุคหลัง ๆ ผู้เขียนพยายามจะลบภาพลักษณ์นั้นโดยการทำให้ตัวละครมีมิติมากขึ้น ประวัติศาสตร์หน้านั้นของ Luke Cage ก็ยังอยู่ และเป็นกรณีศึกษาด้าน blaxploitation ได้ดี
ที่ต้องเล่าถึงจุดกำเนิดของตัวละครเพราะว่าซีรีส์นี้ pays homage ให้กับต้นตอของตัวละครนี้แทบทั้งเรื่อง ที่ชัด ๆ ก็คือบทพูดที่หลายคนเห็นว่ามัน cheesy มาก น้ำเน่ามาก เหมือนบทไอ้มดแดงยังไงยังงั้น แน่นอนว่า "Sweet Christmas" วลีติดปากของ Luke ก็โผล่มาในซีรีส์ด้วย
เพราะฉะนั้นถ้าเห็นว่าบทพูดมันแปร่ง ๆ ก็คงเป็นเพราะผู้เขียนต้องการสื่อถึงจุดเริ่มต้นของตัวละครนี่แหละ
สรุป
Luke Cage นำเสนอมุมมองที่แปลกใหม่ใน MCU ถึงแม้ว่าจะไม่สนุกเท่าที่คิด แต่นั่นก็เป็นเพราะความคาดหวังเราสูงลิบลิ่ว ถ้าดูซีรีส์เรื่องนี้โดยตัวของมันเองนั้น Luke Cage คือซีรีส์ที่มีเสน่ห์ จริงใจ และเต็มไปด้วยวัฒนธรรมที่เราอาจจะไม่คุ้นชิน
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in