เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
ดูรอบสองVorawee
ดูรอบสอง: Black Mirror's "The Entire History of You"

  • ซีรีส์ Black Mirror เป็นซีรีส์ที่โด่งดังมากเรื่องหนึ่งที่ผลิตโดย Netflix (สองซีซันแรกไม่ได้ผลิตโดย Netflix ผลิตเพื่อฉายทางทีวี แต่ปัจจุบัน Netflix ซื้อสิทธิ์ไปผลิตและฉายทาง Netflix อย่างเดียว) ซีรีส์จะเป็นแบบจบในตอนและไม่เกี่ยวข้องกันเลย โทนของทุกตอนจะเกี่ยวกับเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่อาจมีในอนาคต เช่น จะเกิดอะไรขึ้นถ้าเราสามารถฝังเครื่องอัดวีดีโอผ่านสายตาเราได้, จะเกิดอะไรขึ้นถ้าเราโคลนนิ่งจิตสำนึกคนให้ออกมาโลดแล่นได้ ฯลฯ โดยผู้สร้างจินตนาการถึงผลพวงที่อาจเกิดขึ้น ทุกอย่างมีข้อดี-ข้อเสียหมด แต่โทนเรื่องส่วนมากจะชี้ให้เห็นที่ปัญหาที่เกิดจากสิ่งเหล่านั้น แทบทุกตอนชวนให้เราได้ขบคิด และไตร่ตรองโลกอนาคตพวกนั้นได้สนุกสนานมาก

    เผื่อยังไม่ทราบว่า ชื่อ Black Mirror มาจาก เวลาที่เราจ้องมองจอทีวีหรือมือถือ (ที่ไม่ได้เปิดอะไร) เราจะเห็นมันเป็นเหมือนกระจกสีดำ ซึ่งสะท้อนถึงการที่เราพึ่งพาหน้าจอกันมากขึ้นในโลกอนาคต


    ครั้งนี้ ผมขอหยิบยกตอนที่มีชื่อว่า The Entire History of You (season 1 episode 3) มาพูดถึง ซึ่งเป็นตอนที่ชอบที่สุดของซีซัน 1 เรื่องราวเกิดขึ้นในโลกที่มีเทคโนโลยี grain ซึ่งเหมือนเครื่องช่วยอำนวยความสะดวกที่ฝังอยู่ในตัวคน grain ดูมีประโยชน์หลายอย่าง แต่ที่ในหนังจะใช้กันมากที่สุดคือการอัดคลิปในชีวิตประจำวัน ไว้ให้เราได้ดูย้อนหลังเมื่อไหร่ก็ได้ เป็นเหมือนกล้องวงจรปิด 24 ชั่วโมงของมนุษย์ แต่สิ่งที่เหนือกว่ากล้องวงจรปิดธรรมดา เช่น สามารถซูมวีดีโอได้ใกล้มากๆ (และชัดมากๆ) สามารถอ่านปากคนออกมาเป็นคำพูดได้ ตัวละครหลัก คือ Liam นักกฎหมายหนุ่มที่มีครอบครัวเพียบพร้อมด้วยภรรยาและลูก 1 คน วันหนึ่งได้ไปร่วมปาร์ตี้กับเพื่อนเก่าของภรรยา และได้สังเกตถึงพฤติกรรมที่ผิดปกติของเธอ แต่ด้วยความที่มนุษย์สามารถอัดคลิปทุกๆ วินาทีที่เกิดขึ้นได้แล้ว ก็ไม่แปลกที่ Liam จะมานั่งจับผิดภรรยาด้วยการกรอเทปซ้ำแล้วซ้ำเล่า เรื่องแย่ๆ ก็เกิดขึ้น



     และนี่คือความรู้สึกคร่าวๆ หลังจากดูแต่ละรอบ

    รอบแรก
    เมื่อดูจนจบ รู้สึกว้าว! นับถือผู้สร้างมากๆ เคยคิดเหมือนกันว่า "คงจะดี" ถ้ามีการอัดคลิปในดวงตาคน เผื่อเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้น เราจะได้หาคนถูกคนผิดได้ แต่คาดไม่ถึง (ขบไม่แตก) ถึงผลพวงมหาศาลที่จะตามมาหลังจากนั้น เช่น เมื่อเรารู้แน่ๆ ว่ามีหลักฐาน กับเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เราอาจจะไม่ยอมปล่อยผ่านไป (ก็มีหลักฐานอยู่ทนโท่แล้วนี่นา!) โดยเฉพาะเส้นเรื่องที่ซับซ้อน หักมุม ส่วนตัวคิดว่า ถึงแม้ไม่มีเทคโนโลยี แต่เส้นเรื่องแนวนี้แข็งแรงด้วยตัวมันเองอยู่แล้ว แม้ว่าตอนแรกๆ จะดูยาวยืด เกินไป

    รอบสอง
    อย่างที่บอกว่า รอบแรกเราใช้เวลานานในการทำความเข้าใจเทคโนโลยี grain ตัวนี้ ศึกษาฟังก์ชันว่ามันทำอะไรได้บ้าง หาข้อจำกัดของเครื่องนี้ แต่พอดูรอบสอง เราเข้าใจตัวเทคโนโลยีหมดแล้ว เราโฟกัสที่เนื้อเรื่องมากขึ้น แต่ก็มีรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ เท่านั้นที่ตกหล่นจากตอนดูรอบแรก แต่ไม่ได้ถึงขั้นเป็นจุดสำคัญนัก และยังชื่นชมความแข็งแรงของเส้นเรื่องอยู่

    หากใครมีบัญชี Netflix สามารถติดตามชมได้จากลิงก์นี้
  • SPOILER ALERT

    ***ต่อไปนี้ เป็นเนื้อหาที่เปิดเผยส่วนสำคัญของเนื้อเรื่อง***

    โลกนี้ทันสมัยจริงหรือ?

    เนื้อเรื่องเริ่มต้นแนะนำ grain ว่ามันสามารถ อัดความทรงจำของเราได้ ย้อนความดูความทรงจำตอนไหน เมื่อไหร่ก็ได้ (เรียกว่า การ re-do) และสามารถลบมันได้ ถ้าอยากทำ, ฉายขึ้นบนโทรทัศน์ได้ (เหมือนการ casting ขึ้น smart TV ในปัจจุบัน) สิ่งที่ทำได้เหนือกว่ากล้องวงจรปิดในปัจจุบันก็คือ การซูมเข้าไปดูเนื้อหาใกล้ๆ ได้อย่างละเอียดยิบ หรือแม้กระทั่ง ใช้โปรแกรมถอดคำพูดจากการอ่านปาก

    ในเรื่องของเทคโนโลยี เรื่องนี้ทำได้รอบคอบ ส่วนที่ผมติดมีอยู่เรื่องเดียวคือ ตอนต้นเรื่อง [2:24 บน Netflix] พระเอกขึ้นรถแท็กซี่ที่มีการจ่ายเงินด้วยการแสกนรีโมท grain (เป็นเหมือนเครื่องยืนยันตัวตน) เข้าใจว่า เราสามารถเก็บค่าโดยสารผ่านรีโมทได้เลย เมื่อแสกนจ่ายเงินแล้ว ก็มีโฆษณาแนะนำ grain ว่า เป็นเครื่องที่ฝังอยู่หลังหัว ถ้ามองในแง่ storytelling ผู้กำกับคงอยากจะแนะนำสินค้า grain ตัวนี้ให้คนดู แต่สิ่งที่ขัดความรู้สึกคือ ในโลกที่เทคโนโลยีไปได้ไกล โฆษณาแต่ละตัวที่ป้อนให้กับผู้บริโภค ควรเป็นโฆษณาที่ผ่านการคัดเลือก (ที่เรียกว่า personalization) ที่ตรงกับกลุ่มเป้าหมายจริงๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการโฆษณา กล่าวคือ เมื่อเราสามารถใช้รีโมท grain ในการจ่ายเงิน แปลว่า ผู้ใช้รายนี้ ใช้บริการ grain อยู่แล้ว เหตุใดจึงต้องยิงโฆษณา grain ให้ผู้ใช้รายนี้อีก? 
    ปุ่มที่ให้นำรีโมทมาแสกนเพื่อจ่ายเงิน
    โฆษณา grain บนรถแท็กซี่

    นอกจากนั้น คำถามสำคัญที่เรื่องนี้พยายามตั้งกับสังคมคือ การเซฟเมมโมรี่ทุกวินาทีไว้ มันดีหรือไม่ดีกันแน่?

    แต่ผมอาจจะคิดมากเกินไป เพราะไม่ใช่ผู้ประกอบการทุกคนที่จะมีแผนการปังๆ ทุกวันนี้บริษัทใหญ่ๆ ออกแคมเปญแป้กๆ ก็มีให้เห็นทั่วไป

    ข้อดี-ข้อเสีย

    ข้อดีด้านสังคม คือ เรามีหลักฐานยืนยันเหตุการณ์ตลอดเวลา หมดปัญหาเมื่อถูกสอบสวนแล้วไม่มีพยานยืนยันตัวตน (alibi) เหมือนตอนก่อนจะบิน รปภ. ขอเช็คประวัติ re-do ย้อนหลัง คิดว่าเป็นข้อดีในการตรวจดูว่าทำอะไรผิดกฎหมายมาหรือเปล่า หรือไปพบกับผู้ต้องหาที่ถูกออกหมายจับหรือเปล่า โอกาสในการแอบทำผิดมีน้อยลง

    รปภ. เช็คประวัติจาก grain ได้โดยตรง

    ข้อเสียด้านสังคม แน่นอนว่า ถ้ารัฐหรือผู้มีอำนาจใช้อำนาจในทางมิชอบ ผู้คนจะถูกรุกล้ำความเป็นส่วนตัว (privacy) ถึงแม้ว่า จะไม่ได้ถูกขโมยข้อมูลโดยตรง แต่อาจจะเกิดความกระอักกระอ่วนให้ต้องเปิดเผยข้อมูลที่ไม่อยากเปิด (ก็ทุกคนรู้อยู่แล้วนี่ ว่าคุณมีหลักฐานเป็นวีดีโอ ไหนลอง re-do ให้ดูหน่อยสิว่าเกิดอะไรขึ้น) อย่างเช่นตอนที่เพื่อนของให้พระเอกโชว์ภาพตอนสัมภาษณ์งาน หรือตอนพระเอกขอให้ภรรยาฉายภาพตอนที่ชู้ใส่ถุงยางตอนมีเซ็กซ์

    เพื่อนขอดู re-do แต่พระเอกรู้สึกอึดอัด
    ข้อดีสำหรับตัวเอง อันนี้เห็นได้ชัดจากตอนที่พระเอกแอบกรอดูภาพงานเลี้ยงเก่าก่อน เพื่อทวนว่า เราเคยเจอคนนี้ที่ไหนนะ คนๆ นี้ชื่ออะไรนะ ทำเป็นเหมือนว่าเราจำเขาได้ เป็นข้อดีในการเข้าสังคม
    นอกจากนั้น พระเอกได้ทบทวนเหตุการณ์ตอนสัมภาษณ์ เพื่อดูรายละเอียดการสัมภาษณ์ สังเกตสีหน้าของผู้สัมภาษณ์แต่ละคนระหว่างการสัมภาษณ์ เผื่อใครอยากทบทวนข้อผิดพลาดของตัวเอง ใช้ในการปรับปรุงเหตุการณ์
    ข้อดีต่อไปนี้ไม่ได้ระบุในซีรีส์ แต่ขอเสริมเองว่า ในปัจจุบันนี้ เราก็ยกกล้องขึ้นมาถ่ายภาพ/วีดีโอโมเมนต์ที่น่าจดจำกันอยู่แล้ว คงจะดีไม่น้อย ถ้าเราได้ใช้สายตาดื่มด่ำเหตุการณ์กับนั้นให้เต็มที่ ในขณะเดียวกัน ดวงตาของเราก็บันทึกให้เราได้ดูซ้ำได้ทุกเมื่อที่เราอยากย้อนมาดู

    ข้อเสียสำหรับตัวเอง การ re-do บ่อยๆ อาจทำให้เสพติด และจมปลักอยู่กับอดีตมากเกินไป ไม่สามารถปล่อยผ่านเรื่องราวเล็กๆ น้อยๆ ได้ ซึ่งสิ่งนี้เป็นบ่อเกิดแห่งเรื่องราวทั้งปวง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องหึงหวงแฟนด้วยท่าทีเพียงเล็กน้อย เรื่องคำพูดที่เคยโกหกในอดีต ซึ่งอาจเกิดจากความตั้งใจปกปิด หรือการจำพลาดของมนุษย์เอง เราจะไม่สามารถปล่อยผ่านไปได้เลย ในชีิวิตก็จะไม่รู้จักประนีประนอมกันอีกต่อไป มีอะไรที่ไม่แน่ใจก็ขุดเอามาเถียงกันให้อีกฝ่ายผิดให้ได้ และที่สำคัญ ส่วนตัวผมคิดว่า การที่เราปล่อยให้อีกฝ่ายได้ผิดพลาด เป็นเรื่องของความไว้เนื้อเชื่อใจ และเคารพข้อผิดพลาดซึ่งกันและกัน

    อนาคตของ grain

    สำหรับผม มองว่าทุกอย่างมีขาขึ้นและขาลง เทคโนโลยีปัจจุบันเราอาจจะยังไม่เห็นขาลง เนื่องจากเรายังไม่เห็นอะไรที่มันทดแทนได้ หรือสิ่งๆ นั้นยังมีข้อดีมากๆ อยู่ แต่เชื่อว่าวันนึง มีสิ่งที่ดีกว่า ก็จะถูกแทนที่ (อย่างเช่น flash drive ที่เมื่อก่อนผมคิดว่าไฮเทคมากๆ ปัจจุบันก็ใช้ cloud storage เก็บไฟล์ออนไลน์อย่าง Google drive กันแล้ว ไม่ต้องพก flash drive อีกต่อไป) หรือเห็นข้อเสียมากๆ จนถูกยกเลิกไป สำหรับ grain ผมเห็นวี่แววว่าจะเป็นอย่างหลัง จากสถานการณ์นเรื่องทำให้เข้าใจว่า ผู้คนต่างยอมรับ grain อย่างแพร่หลาย จนแทบจะมีกฎหมายให้ทุกคนติดตั้งก็ตาม แต่ก็มีบางคนที่เลือกที่จะถอดออก (รวมถึงพระเอกในตอนท้ายด้วย) ในอนาคตคิดว่ามีคนคิดจะถอดอีกมากขึ้นเรื่อยๆ จนอาจเป็นกระแส แต่ก็คงไม่ใช่ทุกคน เหมือนในหลายๆ เรื่องที่ต้องเกิดการถกกันทั่วไป...

  • แล้วคุณผู้อ่านล่ะครับ คิดว่า การติดตั้ง grain มีข้อดีข้อเสียอย่างไรบ้าง?

Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in