เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
lazy watchingmynkdontbelazy
[finale / solomon's perjury]


  • Solomon's Perjury (솔로몬의 위증 : ซลโลมนเอ วีจึง)
    ดัดแปลงจากนิยายของนักเขียนชาวญี่ปุ่น มิยูกิ มิยาเบะ ในชื่อเดียวกัน
    ฉายทางช่อง JTBC ทุกวันศุกร์ - เสาร์ เวลา 8.30 PM 
    ความยาว 12 ตอน ออกอากาศ 2016.12.16 - 2017.01.28



    เขียนเรื่องย่อ (หลังจากดูไปแล้ว 4 ตอนแรก) และความคาดหวัง
    ไว้ ที่นี่ ไปอ่านก่อนได้นะคะ บทความนี้จะกล่าวถึงสิ่งที่ได้
    สิ่งที่ชอบ และสิ่งที่ไม่ชอบจากการดูจบแล้วล้วนๆ เลย 




    หลังจากดู 4 ตอนแรกไป ก็เว้นไว้นานทีเดียวค่ะ ดูๆ หยุดๆ อยู่หลายรอบ
    จนกระทั่งซีรีส์จบก็เลยมานั่งดูยาวๆ แบบติดๆ กัน ส่วนที่ทำให้เราดูๆ หยุดๆ นี่แหละ
    คือส่วนที่คิดว่าเป็นจุดอ่อนที่สุดของซีรีส์เรื่องนี้ 

    จุดอ่อนเรื่องเดียวที่เราเจอในเรื่องนี้ คือเราพบว่า ถ้าให้ดูติดๆ กันยาวๆ 
    (อย่างเราที่ชอบดองซีรีส์เอาไว้ แล้วดูรวดเดียว) มีหลายช่วงเหมือนกันที่รู้สึกว่าน่าเบื่อ
    ไม่ใช่เพราะตัวเนื้อเรื่องนะคะ แต่เพราะวิธีการเล่าเรื่องของซีรีส์ต่างหาก

    เพราะรูปแบบของซีรีส์มันเป็นการเล่าเรื่องผ่านการบอกเล่าความคิดของตัวละคร
    ผ่านการต่อสู้กันโดยวาจาในศาลจำลองที่นักเรียนทั้งสองฝั่งไปรวบรวมข้อมูลมาสู้กัน 
    เอาหลักฐานมาคัดง้างกันในศาล (จำลอง) ซึ่งเป็นการพูดคุยกันโดยส่วนใหญ่
    ทำให้มีความน่าเบื่อบ้างในบ้างที ดูๆ ไปเราก็จะแบบว่า เฮ้ย เล่าวิธีอื่นบ้างก็ได้นะ
    แต่ก็เข้าใจได้นะคะ ด้วยข้อจำกัดที่มันเน้นหนักไปที่การพิจารณาในโรงเรียนเนอะ
    บทบาทเลยตกไปอยู่ที่นักเรียน พ่อแม่นางเอก - คุณตำรวจ - นักข่าว มีบทบาทเพียงแค่
    เป็นตัวถ่ายทอดเรื่องราวบางอย่างที่เด็กๆ ยังไม่ได้พูดหรือสรุปความสุดท้าย เท่านั้นเองค่ะ

    แต่ด้วยการเล่าเรื่องผ่านบทสนทนาแบบนี้ มันก็เป็นอีกทางที่ช่วยดึงเราไว้เหมือนกัน
    เพราะความจริง เบื้องหลังจะค่อยๆ ถูกเปิดเผยจากการเบิกความแต่ละปาก
    เหมือนเปิดไพ่ทีละใบๆ ซึ่งมันมักจะมาท้ายเรื่อง และมันก็ช่วยรั้งเราเอาไว้ทุกครั้ง

    ที่บอกว่าการเล่าเรื่องแบบนี้ทำให้อาจจะเบื่อบ้าง (ถ้าดูติดกัน)
    อีกเหตุผลหนึ่งอาจเป็นเพราะ 'คดี' ที่เกิดขึ้นไม่ได้เป็นเรื่องที่ตื่นเต้นขนาดนั้น
    ก็แน่นอนค่ะ เราเข้าใจได้ นักเรียนต้องสงสัยว่าฆ่าตัวตายในโรงเรียน
    คนที่ตามหาความจริงคือนักเรียนเองเหมือนกัน
    จะให้ไปมีเรื่องบู๊ล้างผลาญ หรือ ระทึกขวัญเกินไปก็ใหญ่เกินตัวอีก
    และด้วยความที่มันสั้นมาก (มีแค่ 12 ตอนเองค่ะ) แค่ตามหาความจริงก็เต็มเอี้ยดแล้ว
    แทบไม่มีเรื่องราวกุ๊กกิ๊กหนุ่มสาวมาแทรกเลย (มีเหมือนกันค่ะ แต่น้อยมากกกก)

    แต่สำหรับเรา เรามองว่าดีนะคะ เพราะกลิ่นอายของเรื่องด้วยล่ะ
    เราเองก็ไม่ค่อยอยากรู้เรื่องรักหรอก อยากติดตามการหาความจริงมากกว่า
    แปลกใหม่ดีเหมือนกัน กลิ่นอายคล้ายซีรีส์ญี่ปุ่นมากกว่าซีรีส์เกาหลีค่ะ
    (แน่นอนสิ มันดัดแปลงมาจากนิยายญี่ปุ่นนี่นา)



    อย่างที่บอกว่า เพราะตัว 'คดี' ไม่ใช่เรื่องราวหวือหวา ระทึกขวัญ
    คำถามที่ว่า 'ทำไมโซอูถึงตาย ฆาตกรรมหรือฆ่าตัวตาย' จึงไม่ใช่สาระสำคัญนัก
    กลับกลายเป็นว่าสิ่งที่เราติดตามนั้นอยู่ที่ 'กลุ่มเด็กนักเรียน' ต่างหาก
    เราอยากรู้ว่าพวกเขาจะไปหาคำตอบในคำถามที่เขากำลังสงสัยอยู่อย่างไร
    พวกเขาทำไปเพื่ออะไร พวกเขาจะจัดการกับสิ่งที่เกิดขึ้นได้มั้ย ต่างหาก

    เมื่อเรื่องมันมาโฟกัสตรงนี้ แน่นอน 'การแสดง' ของแคสต์หลักจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมากค่ะ
    และนี่คืออีกหนึ่งตัวชูโรงสำคัญของซีรีส์เรื่องนี้ นี่ไม่ใช่ซีีรีส์สืบสวนสอบสวนนะ
    Solomon's Perjury คือซีรีส์ดราม่าวัยเรียนที่มีรสชาติและลึกซึ้งมากทีเดียวค่ะ
    เพราะนักแสดงนำในเรื่องทำได้ดีมาก เรียกว่าเป็นจุดขายของซีรีส์เรื่องนี้เลย

    มีหลายฉากที่ประทับใจค่ะ จะขอเลือกฉากที่ชอบมากๆ มาเล่าให้ฟังสักสองฉาก


    ฉากแรก ) เป็นฉากที่ชเวอูฮยอกถูกนมราดหัว
    ฉากนี้เป็นฉากเล็กๆ ที่ลึกมาก ตัวประกอบเป็นเด็กคนหนึ่งที่ซอยอน (นางเอก)
    ให้เข้ามาเป็นพยานในการชี้ให้เห็นถึงอารมณ์เกรี้ยวกราดเกินขีดของชเวอูฮยอกค่ะ
    เด็กคนนี้เคยโดนชนอูฮยอกแล้วทำนมหกใส่เสื้อ เลยถูกซ้อมจนปางตาย
    แต่สุดท้ายอูฮยอกก็ไม่รับผิด เพราะมีทนายมาเสนอเงินให้กับพ่อของเด็ก
    พ่อของเด็กรับเอาไว้ โดยบอกว่านี่คือชัยชนะที่แท้จริง

    ซอยอนต้องการยืนยันว่าแค่เดินชนกันเฉยๆ อูฮยอกยังซ้อมได้
    เขาจึงมีความเป็นไปได้ที่จะทำการฆาตกรรมโซอูที่มีเรื่องชกต่อยกัน
    ส่วนความต้องการของเด็กชายคนนั้นคือเขาต้องการ "คำขอโทษ"
    พออูฮยอกไม่ขอโทษ เขาก็เอานมที่ใส่กระเป๋ามาราดหัวอูฮยอกซะเลย

    ฉากนี้สะท้อนอะไรหลายอย่างมาก (ยกเครดิตให้นักแสดงทั้งหมดเลย)
    เรามองว่ามันสะท้อนอะไรหลายอย่างค่ะ สะท้อนว่าพฤติกรรมหนึ่งของคนหนึ่ง
    บอกอะไรได้หลายอย่าง แต่ตัดสินอะไรได้เพียงบางอย่างหรือไม่ได้เลย
    เปรียบเทียบกับสายตาของเหยื่อ ของคนอื่นที่มอง มันต่างกันมากนะ
    จะทำอะไร อย่าคิดว่าวันหนึ่งมันจะไม่ย้อนมาทำร้ายเรา ไม่จริงนะจ๊ะ

    ฉากที่สอง ) ฉากเปิดแผลเป็น
    เป็นฉากที่ดีที่สุดของจางดงยุน (ฮันจีฮุน) เราขอยืนยันว่านักแสดงหน้าใหม่คนนี้
    จะต้องประสบความสำเร็จในสายซีรีส์ดราม่าแน่นอน เพราะแสดงดราม่าดีมากจริงๆ

    ฉากนี้เป็นฉากที่จีฮุนเปิดแผลเป็นที่ตัว (และหัวใจ) ของตัวเองให้อูฮยอกดูค่ะ
    เขาบอกว่าตัวเองเข้าใจอูฮยอกที่ถูกพ่อใช้ความรุนแรงด้วย เพราะตัวเองก็เคยโดน
    เพราะพ่อ (ที่แท้จริง) เคยซ้อมเขาและแม่ แถมยังเป็นพยานในเหตุการณ์ที่พ่อซ้อมแม่ตัวเองจนตายด้วย

    ฉากนี้ดงยุนทำได้ดีมาก ตอนถอดเสื้อเปิดแผลท่ามกลางอากาศหนาว
    พูดไป ร้องไห้ไป เพียงเพราะต้องการจะบอกให้ลูกความของตัวเองไว้ใจ
    มันแสดงถึงคาแรคเตอร์ของตัวฮันจีฮุนที่ชัดเจน และฝีมือของดงยุนเองก็ถึงมากค่ะ

    ฉากแถม ) ฉากซอยอนช่วยไม่ให้จุนยองฆ่าตัวตาย
    ฉากนี้เป็นฉากที่ชอบที่สุดเลย เป็นฉากในตอนแรกของเรื่องเลยค่ะ
    การแสดงของทั้งคู่ (คิมฮยอนซูและซอจีฮุน) เยี่ยมและทรงพลังมาก

    โกซอยอนพูดไว้ว่า
    "ไม่อยากมีชีวิตอยู่ ไม่ได้หมายความว่านายควรจบชีวิตของนายนะ
    ก็แค่... แค่เชื่อว่าทุกอย่างมันจะต้องดีขึ้น"






    เป้าหมายสำคัญของเรื่องไม่ได้อยู่ที่การต้องการจะจับตัวฆาตกร
    แต่กลับเป็นการไม่ยอมแพ้ในการตามหาสิ่งที่ถูกต้องและสมควร
    โดยคนตัวเล็กๆ ที่เชื่อมั่นในพลังของตัวเอง แน่นอนว่ามันไม่ใช่ปัญหาระดับโลก
    แต่สำหรับโลกของเด็กแล้ว มันเป็นเรื่องใหญ่ นักเรียนน่ะค่ะ
    จะมีโลกใบไหนใหญ่ไปกว่าโรงเรียน จะมีอะไรสำคัญไปกว่าเพื่อน

    เรื่องขับเคลื่อนจากการต้องการตามหาความจริงเบื้องหลังการตายของเพื่อน
    มาเป็นการเปิดเผยความจริงที่ยิ่งใหญ่กว่านั้น นั่นคือระบบของผู้ใหญ่
    ที่เด็กตัวเล็กๆ ที่ไม่มีส่วนใดเกี่ยวข้อง แต่ต้องเป็นผู้รับผิดชอบในการกระทำดังกล่าวเต็มๆ

    มันเป็นการเมืองของผู้ใหญ่ที่เด็กต้องมารับเคราะห์กรรม
    นี่คือภาพเล็กของซีรีส์ที่ต้องการให้เรามองให้ลึก มองให้เป็นสัญลักษณ์
    ไปถึงสิ่งที่ใหญ่กว่าสังคมโรงเรียน มองไปให้ถึงสังคมที่มีเรื่องพวกนี้
    เกิดขึ้นอยู่กับคนตัวเล็กตัวน้อย (ไร้อำนาจในการต่อสู้เหมือนเด็ก)
    ที่ถูกกระทำโดยความไม่รู้ ความไม่สนใจ ความไม่ใส่ใจของคนที่ตัวใหญ่กว่า

    ซีรีส์เรื่องนี้กำลังบอกกับเราว่า
    โลกใบนี้ ไม่ว่าจะประเทศไหน สังคมไหน จะมีคน (ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่)
    อยู่ 3 ประเภท เสมอ
    1. พวกที่ต่อสู้เพื่อความถูกต้อง
    2. พวกที่อยู่เฉยๆ มองชนิดที่ 1. และ 3. ต่อสู้กัน
    3. พวกที่ต่อสู้เพื่อบิดเบือนความถูกต้อง





    และอีกหนึ่งประเด็นที่สำคัญนั่นคือ "ความรู้สึก" 
    หลังจากสืบหาความจริงกันมานาน สุดท้ายความจริงก็เปิดเผย
    ซอยอนที่ดูเหมือนจะเป็นตัวตั้งตัวตีในทุกเรื่อง 
    สุดท้ายแล้วเธอเป็นเพียงหมากตัวหนึ่งของแผนการที่จีฮุนสร้างขึ้น
    เพื่อเปิดโปงความจริงที่เกิดขึ้นจากพ่อของตัวเอง ผู้ใหญ่ และโรงเรียนแห่งนี้

    จีฮุนต้องการผ่อนคลายความรู้สึกที่ว่าตัวเอง "เป็นฆาตกร"
    เพราะคำพูดที่พูดกับโซอูในวันที่เขาคิดจะจบชีวิตตัวเอง 
    "อยากทำอะไรก็ทำเลย ถ้าอยากตาย ก็ตายไปซะ"

    เรื่องสะท้อนให้เราเห็นซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่า
    ความรู้สึกของคนเปราะบางยิ่งกว่าฟองสบู่
    ทุกอย่างมันสามารถแตกสลายได้ เพียงลมพัดแผ่วเบา
    คำพูดที่มาจากเพื่อนสนิท แม้เขาจะพูดออกไปด้วยความโกรธ
    แต่นั่นเป็นลมวูบสุดท้ายแล้ว ที่ฟองสบู่ฟองนั้นจะรับไหว
    มันเลยแตกสลาย ทั้งความรู้สึกและความเชื่อใจในโลกใบนี้
    การจากไป แม้จะเห็นแก่ตัว แต่นี่เป็นสิิ่งสุดท้ายแล้วที่เขาจะทำเพื่อตัวเอง





    ตอนจบ ตอนสรุปเรื่องทุกอย่าง เราจึงรู้สึกว่านี่เป็นซีรีส์ดราม่าวัยรุ่นที่ดีมาก
    มันเศร้ามากเลย เด็กคนหนึ่งต้องตาย แม้จะเป็นการปลิดชีพตัวเอง แต่ก็มีเหตุผล
    เบื้องลึกเบื้องหลังมาจากความไม่ยุติธรรมที่ผู้ใหญ่เป็นคนสร้าง
    ต้องให้เสียงสะท้อนเล็กๆ ของคนที่รุ่นเดียวกันมารวมตัวกัน
    แม้จะไม่แข็งแรงนัก แต่ก็มั่นคงพอที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ได้
    มันน่าชื่นใจและได้รับแรงบันดาลใจกับการไม่ยอมแพ้นี้ค่ะ
    มันสะท้อนให้เราทราบว่าอย่าเลิกพยายามนะ อย่าเลิกตั้งหาคำตอบกับคำถาม
    ที่เราอยากรู้และมีคนพยายามบิดเบือนให้เราได้รับข้อมูลที่ไม่ถูกต้องกับความจริง

    สุดท้าย Solomon's Perjury เป็นซีรีส์สั้นๆ ที่ให้อะไรเราเยอะมาก
    มีความลึกซึ้งและสัญลักษณ์อะไรมากมายซ่อนอยู่เต็มไปหมด
    ขึ้นอยู่กับว่าจะหยิบเอาส่วนไหนมาขบคิดและให้ความสำคัญ
    รวมเข้ากับความแสดงที่น่าประทับใจของนักแสดงวัยรุ่น
    ขอมอบคะแนน 7 เต็ม 10 ให้กับซีรีส์เรื่องนี้เลยค่ะ
    ทั้งนี้ทั้งนั้น ทั้งหมดทั้งมวลเป็นเพียงความเห็นส่วนตัวเท่านั้นนะคะ ;)










    ติดตามกันได้ที่ @mynkdontbelazy
    :)

Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in