Ciao!
กลับมาอีกครั้งงงง เราจะมาลงบันทึกการเดินทางว่าด้วย ประเทศมอลต้า หรือ สาธารณรัฐมอลต้า ตอน 2 !
คำโปรยใหม่ที่อยากยกให้ตอนนี้คือ
ในตอนที่ 2 เราได้ชิมทะเลเมดิเตอร์เรเนียนแล้ว! แต่ก่อนไปทะเล เราจะพาทุกคนไปดูความมหัศจรรย์อื่น ๆ ในวาเลตต้าที่ยังลงไม่หมดใน ตอนที่ 1 ก่อน
โดยเฉพาะตอนนี้เราจะตามล่าหาตัวคาราวัจโจ ศิลปินคนดัง จะจับไปรับโทษที่ก่อเรื่องไว้ในโรม /ผิด
เข้าเรื่องจากที่เราได้รับรู้เรื่องต่างๆในมอลต้ากับหาข้อมูลก่อนไป เราเห็นว่ามอลต้าล้มลุกคลุกคลานผ่านมือผู้ปกครองมามากมาย ผ่านสงคราม ปัจจัยเหล่านี้ได้หล่อหลอมให้มอลต้ามีวัฒนธรรมที่น่าสนใจทั้งอาหาร ภาษา สถาปัตยกรรมและรวมไปถึงนวัตกรรมการก่อสร้างป้อมปราการ ที่ไว้ใช้สู้รบ การป้องกันข้าศึก และยังมีชนชั้นนำ(คณะอัศวิน)รับอุปถัมภ์ศิลปิน ทั้งหมดนี้เราจะเขียนถึงในตอนที่ 2
(อาจไม่ครบทุกที่ไว้รอรอบหน้า later 5555 หนักว่า later ของโอลิเวอร์ใน Call me by your name อีกเพราะไม่รู้จะมีอีกมั้ย T w T)
หลังจากเรากลับจากวาเลตต้าในเย็นวันนั้น เช้าวันต่อมาเรากะพ่อก็กลับไปวาเลตต้าอีกรอบ นั่งเรือข้ามฟากเหมือนเดิม พร้อมมากสุดๆ ไม่รู้เราคิดไปเองรึเปล่า แต่ที่วาเลตต้าวันธรรมดาช่วงเช้าคนไม่แน่นเท่าไหร่
ประเดิมที่แรกไม่ไกลจากท่าเรือเราหยุดแวะกันที่ Fortifications Interpretation Centre เดินขึ้นเนินไปจะอยู่ขวามือเรา เป็นศูนย์การเรียนรู้และพิพิธภัณฑ์ที่จะเล่าถึงประวัติความเป็นมาของการสร้างป้อมปราการทั่วยุโรปและในมอลต้าตั้งแต่ยุคสำริด เล่าถึงสงครามการโจมตีต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น รวมไปถึงข้อมูลของอุปกรณ์ที่ใช้สร้างป้อมปราการในยุคนั้น จริง ๆ ก็ไม่ใช่พิพิธภัณฑ์เต็มรูปแบบ แต่ที่นี่มีหอสมุดเล็กๆอยู่ชั้นบนสุด แถมมี Co-working space บรรยากาศดีน่ามานั่งเล่นสบาย ๆ มีห้อง Lecture พอออกไปด้านนอกก็จะได้เห็นวิวสวย ๆ ด้วย
อาคารดั้งเดิมเคยเป็นโกดังเก็บของในสมัยปลายศตวรรษที่ 16 อยู่ใกล้กับป้อม St.Andrew เคยถูกระเบิดจนส่วนบนเสียหายในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง อาคารหลังนี้ได้มาเป็น Fortifications Interpretation Centre เพราะข้างในที่โอ่โถง และติดกับกำแพงป้อมที่อยู่รอบเมืองวาเลตต้า
เข้ามาด้านใน เราจะเจอกับสะพานชัก (Drawbridge) จากการทดสอบด้วยคาร์บอนพบว่ากรอบไม้ของสะพานชักได้มีมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 17 เชื่อว่าสะพานชักมีขนาดที่พอดีกับประตู San Giorgio ประตูเมืองวาเลตต้า (porta reale valletta) และเป็นหลักฐานทางโบราณคดีอีกชิ้นที่ยังหลงเหลืออยู่ตั้งแต่ยุคอัศวิน Hospitaler
จนเปลี่ยนมาเป็นประตูแบบบาโรค ที่สร้างขึ้นในช่วง 1630s ออกแบบโดย Tumas Dingli สถาปนิกชาวมัลทีส และในช่วงศตวรรษที่19 ได้เปลี่ยนโครงสร้างการออกแบบใหม่ทั้งหมดโดยวิศวกรหลวงจากอังกฤษ ถัดจากตรงนี้ จะมีห้องจัดแสดงอุปกรณ์ที่ใช้สร้างป้อมปราการ และประวัติศาสตร์ของสงครามต่างๆในยุโรปตั้งแต่ยุคโบราณ เช่น สงครามสามสิบปี การปิดล้อมมอลต้า ฯลฯ ที่จะเล่าไปพร้อมกับวิธีการเข้าโจมตีแบบต่าง ๆ อย่างการใช้บันได ขุดลงใต้ดิน ยิงด้วยปืนใหญ่ รวมไปถึงวิวัฒนาการการสร้างค่าย หอรบ เทคนิคที่ใช้ในการรบ การใช้ประโยชน์จากการออกแบบป้อมปราการ
พอมาที่นี่แล้ว เราเลยได้รู้เรื่องเกี่ยวกับ Bastion fort - จาก bastion เฉย ๆ นั้นจะหมายถึงส่วนที่ยื่นออกมาจากกำแพงป้อมปราการอีกทีมีหลายรูปทรงทั้งรูปโค้ง หรือเป็นเหลี่ยม ๆ มีวิวัฒนาการของรูปทรงที่เปลี่ยนแปลงพร้อม ๆ กับการเปลี่ยนแปลงของอาวุธสงคราม แต่ถ้าเป็นแบบที่เป็นที่นิยมที่สุดก็คือป้อมประเภท trace italiene เพราะป้อมที่เหมือนหัวลูกศรพัฒนามาจากป้อมของอิตาลีี ที่อิตาลีใช้สู้รบกับกองทัพของพระเจ้าชาร์ลที่ 8 แห่งฝรั่งเศส
แต่เดิมในยุคกลางการสร้างป้อม จะสร้างกำแพงสูงล้อมรอบตัวเมืองไว้ที่มักจะถล่มลงมาได้ง่ายถ้ายิงปืนใหญ่ใส่ เพราะกระสุนจะชนกับกำแพงเต็ม ๆ รวมไปถึง Bastion ที่มีส่วนโค้งทำให้เกิดจุด dead zone ดังนั้นการสร้างป้อมจึงเริ่มมีการปลี่ยนแปลง โดยเสริม มุมให้เป็นสามเหลี่ยมยื่นออกไป หรือการสร้างเป็นรูปดาว (star fort หรือ trace italiene) เพื่อใช้ปกป้องเมืองและใช้สู้รบในยุคที่มีการใช้ปืนใหญ่เข้ามามีส่วนสำคัญในสงคราม ซึ่ง Bastion fort เริ่มสร้างในช่วงศตวรรษที่ 15-16 ที่อิตาลี
ส่วนที่ยื่นออกมาถ้ามองจากมุมสูงมีหลายรูปทรงทั้งห้าเหลี่ยมบ้าง หกเหลี่ยมบ้าง ทำให้ยิงต่อสู้กับข้าศึกได้ง่ายขึ้นและมองเห็นข้าศึกได้ง่ายข้าศึกจะไม่มีที่หลบซุ่มโจมตี ส่วนมุมแหลมแบบจะมีความหนากว่ากำแพงเรียบ ๆ เลยทำให้กระสุนปืนใหญ่นั้นโดนกำแพงได้ไม่เต็มลูก หรือไม่มาชนกำแพงเต็ม ๆอย่างในยุคกลางแล้ว รวมถึงช่วยลดแรงปะทะของกระสุนปืนใหญ่อย่างในมอลต้าก็มีป้อมมาโนเอล (Fort Manoel)
มีการกล่าวถึง citadel ที่โกโซ่ มีแบบแปลนที่ทำจากไม้อธิบายรูปทรงของ Citadel และความเป็นมา
Citadel เป็นป้อมปราการอีกประเภทหนึ่งที่จะตั้งอยู่ในบริเวณที่สูงสุดของเมือง อาจอยู่บนเนินเขาก็ได้ เพื่อป้องกันข้าศึกรุกราน และทำให้มองเห็นทัศนียภาพทั่ว ๆ เมืองได้ดี มักตั้งอยู่ใกล้เมืองเวลาปกติเป็นที่อยู่ของกองทัพ โดยข้างในสามารถเก็บเสบียงอาหาร เมื่อเวลาโดนปิดล้อมหรือเมื่อถูกรุกรานก็สามารถเปิดให้ประชาชนเข้าไปหลบภัยด้านในได้ บางแห่งมีขนาดใหญ่มากจนสามารถทำไร่ เลี้ยงสัตว์อยู่ภายในป้อมได้ ส่วนคำว่า ‘Citadel’ มาจากรากภาษาละติน คำเดียวกับ ‘City’ ทั้ง Citadel และ City จึงมาจากคำว่า ‘Civitas’ หมายความว่า ‘Citizen’ ถ้าในภาษาอิตาเลียน ‘Citadel’ ก็จะเรียกว่า ‘Citadella’ ที่มีความหมายว่าเมืองเล็กๆ โดยปกติแล้ว Citadel มักล้อมรอบด้วย Bastion กำแพงหนาที่ซ้อนกัน (Zig-zaging wall)
นอกจากนี้ Fortifications Interpretation Centre ยังจัดแสดงหินสลักจากยุคกลางที่สลักตราของ Guglielmo Murina (coat of arms of Guglielmo Murina) ตระกูลเก่าแก่สมัยศตวรรษที่ 14 Guglielmo Murina เป็นตระกูลที่เคยปกครองเกาะมอลต้าเเละเป็นผู้ดูแล Castrum Maris หรือในปัจจุบันก็คือป้อม St. Angelo ที่ตั้งอยู่ที่เมือง Birgu ขุดพบเมื่อปี 2012 ที่เมือง Mdina ลายของตราประจำตระกูลเป็นรูปโล่ มีลายเส้นแนวนอนสามเส้น สื่อถึงปลาไหลสามตัว (คำว่า Murina แปลว่า ปลาไหล ในภาษาอิตาลี) รูปใบไม้ที่เห็นคือใบ acanthus เป็นพืชมีหนามประจำแถบเมดิเตอร์เรเนียน
จริง ๆ แล้วที่นี่ยังมีรายละเอียดอีกมาก เรายกมาแบบคร่าว ๆ ใครสนใจจะแวะไปเที่ยวก็ลองไปดูนะ เปิดให้บริการตั้งแต่ 9:00-13.00 น. เปิดทุกวันจันทร์-เสาร์ หยุดวันอาทิตย์และวันหยุดนักขัตฤกษ์ของที่มอลต้า เข้าชมฟรี มีห้องน้ำสะอาด
จากศูนย์การเรียนรู้ เราก็ไปต่อกันที่อาสนวิหารเซนต์จอห์น St.John Co-Cathedral หรือชื่อแบบมัลทีสคือ Kon-Katidral ta' San Ġwann เสียค่าเข้าประมาณ 300 บาท เราจำราคาเป็นยูโรไม่ได้ น่าจะ 10 ยูโร คนเยอะมากๆ แต่ก็พอไหว ไม่ถึงขนาดต้องเบียดเสียดมาก
เช่นเดียวกับศาสนสถานอื่นๆ การเข้ามาด้านในอาสนวิหารแห่งนี้ต้องแต่งกายสุภาพ ห้ามใส่สายเดี่ยว แขนกุด ขาสั้น (มีผ้าคลุมแจกเราไม่รู้ว่าเสียเงินมั้ยนะ) แล้วก็ห้ามส้นสูงด้วยเพราะพื้นของอาสนวิหารเป็นพื้นหินอ่อนอาจทำให้พื้นเสียหาย ส่วนกฎอื่นๆเราคิดว่าทุกคนน่าจะรู้กัน พวกแบบห้ามใช้แฟลช ห้ามจับหรือสัมผัสงานศิลปะที่อยู่ด้านใน
โอเค พอเข้ามาแล้วเจ้าหน้าที่จะแจก audio guide พร้อมแผ่นพับบอกแผนผังใช้บอกตำแหน่งต่างๆในอาสนวิหาร ถ้าใครจำที่เราเล่าในพาร์ทที่ 1 ได้ เราได้เล่าถึง Gerolamo Cassar สถาปนิกคนดังเอาไว้ และอาสนวิหารแห่งนี้ก็ออกแบบโดย Gerolamo Cassar นั่นเอง โดยมีแกรนด์มาสเตอร์ Jean de la Cassière เป็นคนที่ริเริ่มที่จะสร้างอาสนวิหาร เริ่มก่อสร้างระหว่างปี 1572-1577 เพื่ออุทิศให้แก่นักบุญยอห์นผู้บัพติศมา และเป็นเหมือนศาสนสถาน (Convention Church)
สำหรับบรรดาอัศวินที่มาจาก langue ต่างๆ (langue-คือกลุ่มของอัศวินในคณะเซนต์จอห์น จะไม่เรียกว่า group แต่เป็น langue โดยแบ่งตามอาณาจักรของอัศวิน) การรวมตัวของบรรดาอัศวินเหล่านี้ก็เพื่อรวมตัวกัันภายใต้พันธกิจที่จะปกป้องศาสนจักรคาทอลิกจากออตโตมัน หลังจากเหตุการณ์ปิดล้อมมอลต้าในปี 1565
แม้ภายนอกอาจดูเรียบง่ายด้วยหอระฆัง แต่ด้านในไม่ธรรมดาเลย อลังการด้วยการตกแต่งภายในแบบบาโรค ดูสดใสด้วยสีสัน เพราะในช่วงศตวรรษที่ 17 อาสนวิหารได้รับการตกแต่งใหม่อีกครั้งตามคำสั่งของแกรนด์มาสเตอร์ Nicola Cotoner โดยมี Mattia Preti ศิลปินชาวคาลาเบรีย,อิตาลีและศิลปินคนอื่นๆรับตกแต่งภายในอาสนวิหาร พอเราเข้าไปถึงแล้วเงยหน้าขึ้นไปก็จะเห็นภาพเขียนของเขาอยู่บนซุ้มหลังคาโค้งที่สวยงามอลังการ การให้สีก็สวยมากๆ เหมือนสามมิติในยุคนี้เลย ภาพเขียนของ Preti เล่าเรื่องราวของนักบุญยอห์นผู้บัพติศมา
ส่วนตรงแท่นพิธีการเป็นรูปสลักหินอ่อนของ Giuseppe Mazzuoli เล่าถึงนักบุญยอห์นกำลังบัพติศให้พระเยซู ซึ่งผลงานของเขาได้รับอิทธิพลมาจากประติมากรอิตาเลียนที่มีชื่อเสียงคนหนึ่งของยุคบาโรคนั่นคือ Gian Lorenzo Bernini เจ้าของผลงาน The Ecstasy of Saint Teresa อยู่ที่โบสถ์ Santa Maria della Vittoria,โรม หรือ The Rape of Proserpina อยู่ที่หอศิลป์ Borghese,โรม เราจำได้เพราะสองชิ้นนี้ของแกเด่นมาก ๆ ความนุ่มนวลของผิวเนื้อทั้งที่งานสลักมาจากหินอ่อน สีหน้าของนักบุญเทเรซา รอยยับของผ้า ลงตัว สวยงาม ขนาดเราเห็นแค่ภาพถ่ายนะ555 อิน ๆ
ส่วนที่พื้นของอาสนวิหารบริเวณที่ใช้ทำพิธีมิสซา จะเป็นที่ฝังศพของอัศวินที่เข้ามายังเกาะมอลต้า ที่ฝังใต้พื้นอาสนวิหารนับได้ 400 นาย เป็นอัศวินจากตระกูลต่าง ๆ เช่น จากเนเปิลส์ ส่วนบรรดาแกรนด์มาสเตอร์ที่มียศสูงก็จะฝังแยกอยู่บริเวณแท่นบูชา หรือหอสวดมนต์ตาม langue ของแกรนด์มาสเตอร์คนนั้น
โดยมีสัญลักษณ์ประดับเอาไว้ เราเริ่มแวะที่ห้อง Sacristy ห้องเก็บเครื่องพิธี หรือ สังฆทรัพยคูหาก่อนเดิมทีห้องนี้สร้างขึ้นใน ปี ค.ศ.1598 ส่วนหลังคาโค้งนั้นถูกสร้างขึ้นมาในภายหลัง เข้าไปตรงกลางของห้องเราจะเจอกับภาพพระเยซูถูกเฆี่ยน (Flagellation of Christ) โดย Stefano Pieri ศิลปินชาวฟลอเรนซ์ เป็นงานแบบ Mannerist จริตนิยมหรืองานแบบช่วงปลายเรอเนสซอง และความน่าสนใจของเขาคือ เขาเคยทำงานร่วมกับ Giorgio Vasari เดิมทีภาพนี้ของ Pieri อยู่ที่หอสวดมนต์ของ Langue อังกฤษ ที่เปลี่ยนมาเป็นหอสวดมนต์ของ Langue เยอรมัน หลังจากการปฏิรูปศาสนาของอังกฤษ ที่แยกตัวออกไปจากศาสนจักรคาทอลิก ภาพพระเยซูจึงถูกย้ายมายังห้องเก็บเครื่องพิธีในปีสุดท้ายของศตวรรษที่ 16 นอกจากนี้ยังมีภาพอื่น ๆ อีกมากมาย ที่ตอนนี้เราจำชื่อไม่ได้ 555 ใครได้ดูห้องนี้ก็เอามาเสริมกะเราได้นะ
ถัดจากกลางส่วนกลางของอาสนวิหาร บริเวณด้านข้างจะมีหอสวดมนต์ (Chapel) ของอัศวินจากทั้ง 8 Langues ที่ได้รับการตกแต่งโดยเฉพาะไม่ซ้ำแบบกัน เราเล่าหมดไม่ไหว บางหอสวดเราถ่ายมาละติดคนกะมุมไม่สวย เลยขอคัดมาลงให้ดูในนี้ 2 ที่
รูปนี้จากหอสวดมนต์จาก Langue อรากอน (Aragon) ความจริงก็รวมแคว้นกาตาลุญญ่า(Catalunia) กับ นาบาร์เร่ (Navarre) ไว้ด้วย ด้านในสุดตกแต่งด้วยผลงานของ Mattia Preti เป็นภาพของนักบุญจอร์จบนหลังม้ากำลังปราบมังกร ‘St George killing the dragon’ ทำให้หอสวดของ langue อรากอน สร้างขึ้นเพื่ออุทิศให้กับนักบุญจอร์จ ภาพนี้เป็นผลงานชิ้นแรกของ Preti วาดเสร็จในปี ค.ศ.1658 เขารับจ้างวาดภาพตามผู้ว่าจ้างอย่างแกรนด์มาสเตอร์ Martin de Redin อย่างเช่น ภาพของนักบุญฟรังซิสซาเวียร์ติดตั้งไว้เหนือซุ้มทางเดินโค้งก่อนจะไปถึงหอสวดมนต์ของ Langue Auverge ภาพนักบุญลอว์เรนซ์พบพระสันตะปาปาซิกตุสที่ 2 และ ภาพนักบุญเฟอร์มิเนียส
ภายในมีหลุมฝังศพของแกรนด์มาสเตอร์ที่มาจาก Langue Aragon ถึง 4 คน มี แกรนด์มาสเตอร์ De Redin แกรนด์มาสเตอร์ Rafel Cottoner แกรนด์มาสเตอร์ Nicola Cottoner และแกรนด์มาสเตอร์ Ramon Perellos y Roccaful งานที่เป็นประติมากรรมหินอ่อนจากภายในหอสวดมนต์แห่งนี้คือผลงานของ Mazzuoli ซึ่งหินอ่อนที่นำมาแกะสลักนำมาจากเมืองคาร์ราร่า อิตาลี และสื่อความหมายถึงความกรุณา ความยุติธรรม รูปพระจันทร์เสี้ยวเป็นภาพแทนของออตโตมัน ซึ่งเทียบได้กับสัญลักษณ์เมดูซา สัญลักษณ์ของปีศาจร้าย (ในยุคนั้นนะ) นอกจากนี้ในหอสวดมนต์ของ Langue Aragon ยังมีแขนของนักบุญจอร์จที่เหล่าอัศวินนำมาไว้ที่มอลต้า ร่างของนักบุญ Fidele และร่างของนักบุญ Vincent Ferrari
หอสวดมนต์ของ Langue of Castile,Leon and Portugal (The chapel of the Langue of Castile,Leon and Portugal) สร้างเพื่ออุทิศให้นักบุญเจมส์ นักบุญองค์อุปถัมภ์ของlangue บริเวณแท่นพิธีการก็ยังคงตกแต่งด้วยผลงานภาพวาดของ Preti นั่นคือ 'St James the Apostle’ และมีผลงานอีกสองชิ้นตกแต่งอยู่ภายในหอสวดมนต์ เป็นภาพเขียนครึ่งวงกลม (lunettes) เป็นภาพนักบุญเจมส์ช่วยสเปนสู้รบกับพวกมัวร์ (‘St James assisting the spaniards in defeating the moors’) กับ ‘St James vision of our lady of pillar’ (ไม่รู้จะเรียกชื่อไทยว่าไงดี) ผลงานทั้งสองชิ้นเป็นผลงานในช่วงบั้นปลายของ Preti (ช่วง 1680s) คือการใช้สีแบบ Earth-tone ได้อย่างกลมกลืน หินอ่อนที่ประดับรอบอยู่รอบๆภาพวาด ได้รับการสร้างขึ้นใหม่ในปี ค.ศ.1792 ไม่กี่ปีก่อนที่คณะฮอสปิทัลเลอร์จะถูกขับไล่ออกจากมอลต้า โดยกองทัพของจักรพรรดินโปเลียน กำแพงแกะสลักเหมือนกับหอสวดมนต์หออื่นๆ สร้างเสร็จปี ค.ศ.1661
หอสวดมนต์ของ Langue เยอรมนี (The chapel of the Langue of Germany) หอสวดมนต์แห่งนี้เดิมทีเป็นของ Langue อังกฤษ (the langue of England) (เคยประดับด้วยภาพพระเยซูถูกเฆี่ยนแต่ย้ายไปห้อง Sacristy) แต่มอบให้เป็นหอสวดมนต์ของ Langue เยอรมนี เนื่องจากอังกฤษเกิดการปฏิรูปศาสนา ผลงานชิ้นสำคัญคือภาพ การนมัสการของโหราจารย์หรือให้แทนด้วยกษัตริย์ (The Adoration of the Magi หรือ Adoration of the Kings) ผลงานโดย Stefano Erardi ศิลปินชาวมัลทีส อุทิศให้กษัตริย์ทั้งสาม ที่มายังเบธเลเฮมเพื่อพบพระคริสต์ (Epiphany of Christ) แม้ว่าจะเรียกรวมๆว่าเยอรมนี แต่จะรวมไปถึงอาณาจักรออสเตรีย นอร์เวย์ สวีเดน เดนมาร์ก สวิตเซอร์เเลนด์ โปแลนด์ ฮังการี อัลซัส (Alsace-ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของประเทศฝรั่งเศส อยู่บริเวณตะวันตกเฉียงเหนือของฝรั่งเศสติดกับประเทศเยอรมนีและเนเธอร์แลนด์) การตกแต่งหอสวดมนต์แห่งนี้เริ่มในปี ค.ศ. 1664 ผนังเกือบทั้งหมดของหอสวดมนต์ตกแต่งด้วยสัญลักษณ์ของนกอินทรีย์สองหัวซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของ Langue เยอรมัน
ปัจจุบันก็เป็นสัญลักษณ์ของเยอรมนี แล้วก็ยังมีโปแลนด์ ออสเตรีย รัสเซีย อัลเบเนีย มอนเตเนโกร เซอร์เบียก็ด้วยหรือจะย้อนไปถึงจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ หรือไบเซนไทน์และนิกายกรีกออโธดอกซ์ก็ใช้สัญลักษณ์นี้เช่นกัน เป็นสัญลักษณ์เก่าแก่ มาจากการผสมผสานระหว่างคริสตศาสนา เพเกิน และโซโรอัสเตอร์ เป็นสัตว์ที่เทพซุสปล่อยให้บินไปสองฟากของโลกบ้าง แล้วบินวนมาเจอกันที่วิหารเดลฟี ที่มาที่ไปของตรานี้ก็ยังเป็นข้อถกเถียงกันอยู่ (เราเคยสงสัยเหมือนกัน555 ทำไมประเทศแถบยุโรปตะวันออกใช้สัญลักษณ์นกอินทรีย์สองหัว อย่างรัสเซียเราเคยอ่านหนังสือการ์ตูนล่าขุมทรัพย์แล้วเขาเขียนไว้ว่าเสื่อถึงประเทศรัสเซียที่มีพื้นที่ใหญ่โต อยู่ทั้งในยุโรปและเอเชีย) พอก่อนเดี๋ยวพานอกเรื่อง 5555 เข้าเรื่อง ซุ้มทางเดินที่พาเข้าสู่หอสวดมนต์จะตกแต่งด้วยสัญลักษณ์ของตระกูล(coat of arms) Baron Fra Wolfgang Von Guttenberg Bailiff of Brandenburg ผู้อุปถัมภ์ของคณะอัศวิน ในอาสนวิหารแห่งนี้ยังมีหอสวดมนต์อีกมาก ทั้ง Langue ฝรั่งเศส อิตาลี แองโกล-บาวาเรียน
แต่มีอย่างนึงที่เราไม่อยากให้ทุกคนพลาดเลยเพราะเราเองมาที่อาสนวิหารแห่งนี้ก็เพื่อมาดูรูปนี้โดยเฉพาะ 555 เดิมทีห้องที่จัดแสดงงานของคาราวัจโจคือห้องสวดมนต์ (Oratory) เป็นห้องที่มีไว้ใช้สวดมนต์หรือทำพิธีแบบเป็นส่วนตัว
ปัจจุบันเป็นห้องที่จัดแสดงผลงานของคาราวัจโจ หรือ มิเกลันเจโล เมริซี ดา คาราวัจโจ ศิลปินชาวอิตาลีคนดังจากยุคบาโรค ที่จริงแล้วประวัติของเขาไม่ได้ชัดเจนมากนัก เราแทบไม่ได้รู้จักศิลปินรายนี้เลยมีเพียงแค่ประวัติที่เป็นบันทึก เรื่องเล่าปากต่อปากที่ค่อนข้างโลดโผนแต่ในขณะเดียวกันก็คลุมเครือ เราขอเล่าข้าม ๆ เอาเป็นว่าเขาย้ายออกจากโรมเพราะไปก่อคดีจนต้องหนีมายังเนเปิลส์ และตัดสินใจมาอยู่ที่มอลต้าในปีค.ศ. 1607 เพื่อไปพบกับแกรนด์มสเตอร์อะลอฟ สาเหตุที่เขาไปหาแกรนด์มาสเตอร์อะลอฟก็เพื่อให้ติดต่อกับทางโรม ให้อภัยโทษแก่เขา เราเขียนเรื่องของเขาไว้ในบล็อกก่อนหน้าทริปมอลต้า ตามไปอ่านได้
ผลงานของเขาที่จัดแสดงในห้องนี้เป็นผลงานชิ้นเดียวที่เขาเซ็นลายเซ็นกำกับไว้ว่าเป็นผลงานของเขา นั่นคือ การตัดศีรษะนักบุญยอห์นผู้ให้บัพติศมา (The Beheading of Saint John the Baptist ค.ศ.1608) ลายเซ็นของเขาจะอยู่ที่เลือดของนักบุญยอห์น ภาพนี้เขายังใช้เทคนิค Chiaroscuro หรือการใช้ค่าต่างแสง ความต่างของความมืดมืด ความสว่าง ที่ตัดกันอย่างเห็นได้อย่างชัดเจน เป็นจุดเด่นในงานของเขามาตลอดรวมไปถึงวาดสื่อถึงความรุนแรง สะเทือนอารมณ์ในภาพ เทคนิคและฝีมือทำให้เขาได้รับการยกย่องว่าเป็น Master of modern art ภาพของเขาเหมือนภาพsnapshot ซึ่งต่างกับงานจากศิลปินคนอื่นๆที่พยายามใส่ทุกอย่างลงในภาพของตัวเอง ด้วยเทคนิคแบบนี้นำไปสู่เกิดการเปลี่ยนแปลงศิลปะตะวันตกทั้งมุมมอง เทคนิคการการใช้แสง ใช้สี ซึ่งงานขอเขามีอิทธิพลต่อศิลปินในยุคต่อๆไป ในขณะนั้นคาราวัจโจก็ได้รับการอุปถัมภ์ จากอะลอฟ เด วิกญาคอร์ท ผู้ซึ่งเป็นแกรนด์มาสเตอร์ของคณะอัศวิน
การวาดภาพนี้ให้อยู่ที่อาสนวิหารที่วัลเลตตา นำเกียรติยศมาสู่คาราวัจโจมากกว่าแค่ค่าจ้างที่เขาได้รับ และยังได้รับยศอัศวินในองค์การนักบุญจอห์นจากนายของเขาอีกด้วย แต่หลังจากสร้างความประทับใจให้กับชนชั้นนำในมอลต้า เขาก็ก่อเรื่องทะเลาะวิวาทอีกครั้ง จนต้องทำให้เขาถูกถอดยศ และถูกขับไล่ออกจากมอลต้า แล้วเดินทางไปยังซิซิลี
นอกจากนี้ยังมีภาพสำเนานักบุญเจอโรมเขียนหนังสืออยู่ที่หอสวดมนต์ของ Langue อิตาลี อยู่บนซุ้มประตูโค้ง แต่ในห้อง Oratory จัดแสดงไว้เช่นกัน มุมขวาของภาพนักบุญเจอโรมเขียนหนังสือจะมีสัญลักษณ์ทางทหารซึ่งเชื่อว่าเป็นของอิพโพลิโต มาลาสปินา ผู้นำของคณะอัศวินแห่งเซนต์จอห์น/ฮอสปิทัลเลอร์
จริง ๆ แล้วนอกจากงานสองชิ้นนี้ยังมีผลงานอีก 3-4 ชิ้นที่เขาสร้างสรรค์ไว้ตอนที่เขายังอยู่บนเกาะแห่งนี้ แต่ปัจจุบันได้ไปจัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์ต่างๆทั่วยุโรป เช่น ภาพเหมือนของอาลอฟ เด วิกญาคอร์ท และเด็กรับใช้ (Portrait of Alof de Wignacourt with his Page ค.ศ.1608) ปัจจุบันนี้จัดแสดงอยู่ที่พิพิธภะณฑ์ลูฟวร์ ประเทศฝรั่งเศส หรือภาพคิวปิดนอนหลับ (Sleeping Cupid ค.ศ.1608) ก็จัดแสดงอยู่ที่พระราชวัง Pitti (Palazzo Pitti) ที่ฟลอนเรนซ์ ประเทศอิตาลี
พอเราออกมาจากอาสนวิหารเราก็เห็นจุดที่ไว้อาลัยให้กับ Daphne Caruana Galizia ที่เสียชีวิตไปเมื่อ 16 ตุลาคม 2017 เราไม่ได้ถ่ายรูปมาแต่เราจำได้ เคยอ่านข่าวอยู่ Daphne เป็นนักข่าวและนักเขียน เป็นนักเคลื่อนไหวทางการเมืองต่อต้านการทุจริตต่าง ๆ ในมอลต้า เสียชีวิตเพราะถูกลอบสังหารโดยการวางระเบิดรถยนต์ เพราะเธอเปิดเผยรายชื่อของนักการเมืองมอลต้าใน Panama Papers (เอกสารที่รวบรวมรายละเอียดการทำธุรกรรมของคนที่ทำทุจริตทั่วโลกตั้งแต่ยุค 70s) เขา ในที่นี้เราว่าบรรดาสื่อมวลชนและประชาชน เลยจัดที่ไว้สำหรับวางดอกไม้ด้วย เรื่องราวของ Daphne ก็เป็นเหมือนด้านมืดของที่นี่ แม้ว่าจะจับคนร้ายได้แล้วในเดือนธันวาคมปี 2017 แต่บรรดาสื่อมวลชนทั่วยุโรปก็ได้นำชื่อของ Daphne มาทำเป็นโครงการเพื่อเรียกร้องความยุติธรรมในการสอบสวนเรื่องของเธอและเรียกร้องถึงเสรีภาพของสื่อ ชื่อว่า "The Daphne Project” (ใครสนใจไปลองค้นต่อได้) ผ่านเรื่องเศร้า ๆ กันไป เราไปต่อกันที่พิพิธภัณฑ์ทางโบราณคดีดีกว่าาา
เข้ามาแล้วเราก็จะเจอโซนขายของที่ระลึกกับเคาน์เตอร์ก่อนเลย ค่าเข้าชม 5 ยูโร แต่จริง ๆ แล้วเราสามารถมาซื้อตั๋วแบบซื้อทีเดียวเที่ยวได้ทุกสถานที่สำคัญในมอลต้าได้ที่พิพิธภัณฑ์นี้ พอซื้อแล้วก็สามารถเข้าไปเที่ยว St.John’s Co Cathedral หรือ Fort St.Angelo โบราณสถานอย่าง Tarxien Temples ละที่อื่นๆทั่วมอลต้าได้ทั้งหมด 23 แห่งเลย ในราคา 50 ยูโร (แต่เราอยู่ไม่นาน เลยไม่ได้ซื้อ ; w ; ใครอยากซื้อเข้าเว็บนี้ได้) แต่เดิมพิพิธภัณฑ์แห่งนี้เป็นที่พักของอัศวินจาก Langue Provence สร้างขึ้นในปีค.ศ.1571 ออกแบบโดยสถาปนิกคนเดิม Gerolamo Cassar เปิดเป็นพิพิธภัณฑ์มาตั้งแต่ปี ค.ศ.1958 จัดแสดงวัตถุโบราณตั้งแต่ยุคหินใหม่ ยุคสำริด มีข้าวของของชาวฟินีเซียน หรือ พิวนิก (พิวนิกมาจากคาร์เธจ อาณาจักรนี้อยู่บริเวณตอนเหนือของทวีปแอฟริกา ปัจจุบันซากอารยธรรมที่เหลืออยู่มากที่สุดจะอยู่ที่ประเทศตูนีเซีย และสืบไปถึงต้นตระกูลของพิวนิกพบว่าเป็นชาวฟินีเชียน) และ โรมัน ตอนที่เราไปทางพิพิธภัณฑ์ได้จัดแสดงนิทรรศการหมุนเวียนเกี่ยวกับอีทรัสกัน ในห้องจัดแสดงจะจัดแสดง โกศแบบอีทรัสกัน ที่สวยมากๆ ตื่นเต้นอีกแล้วเห็นของเก่าอายุหลายพันปีแบบนี้ เดี๋ยวเราจะค่อยมาใส่รายละเอียดเกี่ยวกับนิทรรศกาลหมุนเวียน
ตอนนี้ขอเริ่มที่ห้องแรก ห้องที่จัดแสดงหลักฐานสมัยยุคหินใหม่ เล่าถึงประวัติความเป็นมา รวมไปถึงการขุดค้นพบวัตถุต่าง ๆ ทั่วเกาะมอลต้ารวมไปถึงวิวัฒนาการของสถาปัตยกรรมยุคก่อนประวัติศาสตร์ในมอลต้า ตั้งแต่สมัย 5000 BC มีข้าวของที่ผู้คนยุคก่อนประวัติศาสตร์ใช้ในชีวิตประจำวัน และรูปสลัก เช่นผู้หญิง สัตว์ ทำให้เราเห็นถึงความเป็นอยู่ของคนในยุคนั้น ผ่านเครื่องใช้ รูปสลักที่พลาดไม่ได้ก็คงเป็น Sleeping Lady มาจาก Ħal Saflieni Hypogeum (4,000 – 2,500 BC) (เราไม่ได้ไป ตารางเต็มแง อยู่ที่เมืองเปาลา อยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของมอลต้า) กับรูปสลักอื่นๆที่แกะมาจากหิน ถ้าใครคุ้นเคยกับวีนัสแห่งเวลเลนดอร์ฟ ก็คิดว่าน่าจะตื่นเต้นถ้ามาเห็นรูปสลักผู้หญิงหรือ Venus of Malta ที่แกะมาจากหินปูน มีอายุ 3,600-2,500 ปี พบที่ Hagar Qim
Hagar Qim เป็นเหมือนศาสนสถานหรือวิหารไว้บูชาบรรพบุรุษในยุคนั้น จัดอยู่ในกลุ่มวัฒนธรรมหินตั้ง เพราะที่นั่นสร้างขึ้นโดยวิธีการเอาหินมาเรียงๆกันเหมือนสโตนเฮนจ์ที่เมืองบาธ (Hagar Qim นี่เราก็ไม่ได้ไป) ในห้องที่ไม่ไกลกันมากมีซากหิน จากไซต์โบราณสถานสำคัญในมอลต้า ส่วนมากได้มาจาก Tarxien Temples (3,250 BC–2,800 BC) ซึ่งเป็นสถานที่ที่มีงานศิลปะจากวัฒนธรรมหินตั้งเป็นจำนวนมาก ส่วนบางชิ้นก็จะมาจาก Hargar Qim (3,600-3,200 BC) ,Mnajdra (3,600 BC–3,200 BC) (ใครกลัวรูเราไม่อยากแนะนำเลย แต่ถ้าได้ไปก็ไปดูเถอะ),Tal-Qadi (4,000 BC),Tas-Silg (2,500 BC) ,Bugibba (3,150–2,500 BC) และ Gganlja (3,600-2,500 AC)
หินที่ได้รับการตกแต่งจะมีฟังค์ชั่นในตัวของมันอีกด้วยอาจไวว้ใช้เป็นจุดที่บอกว่าที่นี่คือศาสนสถาน หรือบอกตำแหน่งห้องที่ใช้ทำพิธีการ จุดเด่นที่น่าสนใจของหินเหล่านั้น อยู่ตรงลวดลายขด ๆ ที่คนสมัยก่อนใช้ตกแต่งก้อนหิน ลายเหล่านี้เป็นลายที่พบเห็นได้ในจากการออกแบบของชาวมัลทีสในยุคหินใหม่ ทั้งในวิหาร บนงานเซรามิก ลายขดแบบนี้ยังมีหลากหลายรูปทรง บางแบบขดเป็นวงกลม บ้างก็วางได้สมดุลและเรียงติดกัน ถ้าในภาพนี้จะออกแบบลวดลายอิงกับธรรมชาติ เป็นต้นไม้หรือพืช นอกจากนี้ยังมีลวดลายที่เกี่ยวกับสัตว์ มีภาพปลา และยังมีงานแบบเหนือจริงด้วย ก็คือมีความเป็นศิลปินกันตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์เลย เราเดินวนไปวนมาในนั้นซักพัก ก็ขึ้นไปชั้นสอง
ในชั้นสองจะจัดแสดงของจากยุคฟินีเชียน อายุ 400 BC มีข้าวของเครื่องใช้ต่างๆของชาวฟินิเชียน มีถ้วยชาม หม้อไหเครื่องประดับ ทอง เล่าถึงประวัติความเป็นมาอยู่ในกลุ่มเซเมติกเดียวกับชาวฮิบรู และอาหรับ พวกเขามีศูนย์กลางกันอยู่ที่เมืองคาร์เธจ ตอนเหนือของแอฟริกา และบางส่วนก็อาศัยอยูที่เกาะซาร์ดิเนีย ตอนใต้ของสเปน ในทุกวันนี้มีท่าเรือขนาดใหญ่ของพวกเขาหลงเหลืออยู่ที่ประเทศตูนีเซียมีความสามารถในการเดินเรือ ต่อเรือ การค้าขายทางทะเล รวมไปถึงความรู้ด้านวิศวกรทำให้เรือของชาวฟินิเชียมีประสิทธิภาพสูง ละแล่นได้เร็ว (ลองจินตนาการเรือรบโบราณที่ต้องให้แรงงานพายเยอะๆสองแถว แต่ของชาวฟินีเชียมีฝีพายเพิ่มขึ้นมาสองชั้น เป็นฝีพายสี่แถวเลย)
จริง ๆ ถ้านึกถึงอะไรที่เกี่ยวกับชาวฟินิเชีย เขาเป็นอาณาจักรคู่แข่งของโรมันเลย ละทำให้เรานึกถึงฮันนิบาลบุกโรมอีก5555 เจาะเทือกเขาแอลป์ ขนช้างบุกยุโรป (แต่ในท้ายที่สุดก็พ่ายแพ้แก่โรมันและเสื่อมอำนาจไป) ต้นกำเนิดการใช้ตัวอักษร (Alphabet) ดัดแปลงมาจากอักษรลิ่มคูนิฟอร์มกับเฮียราติก ที่ต่อมาตัว Alphabet กลายมาเป็นรากฐานและต้นแบบของภาษากรีก ละติน และนอกจากนี้ยังเป็นที่รู้จักในฐานะชนชาติที่เป็นต้นกำเนิดการย้อมผ้าสีม่วงไทเรียน ที่มาจากชื่อเมืองไทระ สีม่วงที่ได้มาจากหอยหนาม เสื้อผ้าสีม่วงในเวลานั้นจึงเป็นสีที่แสดงถึงสถานะของผู้สวมใส่ได้ เพราะผ้าผืนหนึ่งอาจต้องใช้หอยหนามหลายหมื่นตัว ผ้าสีม่วงจึงมีราคาสูง
จากห้องนี้ก็จะมีห้องที่เล่าถึงการฝังศพความเชื่อและวิธีการสร้างวัด แหล่งศาสนาถานในมอลต้าและมีจัดแสดงเหรียญที่ค้นพบตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์มาจนถึงปัจจุบัน
วันที่เราไปชะโงกดูห้องที่เป็นห้องที่สมัยยุคอัศวินใช้เป็นห้องประชุมด้านการค้าขาย จัดเลี้ยง ที่นั่นเรียกว่าห้อง Gran Salon ต้องใช้คำว่าชะโงกเพราะเขากำลังซ่อมแซมภาพเขียนบนผนังกันอยู่เข้าไม่ได้ ภาพเขียนที่เราเห็นทั้งหมดในห้องนั้น กับที่ทางเข้าทั้งหมดเป็นผลงานของ Niccolo Nasoni ศิลปินชาวอิตาลี
หลังจากแอบมองจนพอใจ เราก็เดินลงมาดูนิทรรศการหมุนเวียนที่รอบนี้เราได้ดูโกศแบบชาวอีทรัสกัน โกศพวกนี้เป็นข้าวของที่ใช้กันทั่วไปในหมู่ชาวอิทรัสกัน ที่อาศัยอยู่ทั่วชายฝั่งอิตาลี และตอนเหนือของโรมระหว่างศตวรรษที่ 8-1 ก่อนคริสตกาล ชาวอีทรัสกันมีความเชื่อในเรื่องชีวิตหลังความตาย พวกเขามีการฝังศพและเผาศพจนกระทั่งในศตวรรษที่ 1 ก่อนคริสตกาล พวกเขาเป็นกลุ่มที่มีชื่อเสียงในด้านการผลิตโกศลักษณะนี้ตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 4 ก่อนคริสกาล พวกเขาใส่เถ้ากระดูกไว้ในภาชนะหลายแบบมาก ๆ ซึ่งที่ทางพิพิธภัณฑ์นำมาจัดแสดงก็เป็นหนึ่งในนั้น และยังเป็นชนกลุ่มแรกที่คิดค้นโกศแบบมีฝาปิดซึ่งมีอิทธิพลต่อชาวโรมันในเวลาต่อมา เพราะพวกเขามีการติดต่อกับกรีกและอิตาลีตอนใต้ รวมไปถึงชาวโรมันที่อยู่ตอนกลางของอิตาลี ทำให้โกสที่แกะสลักของอีทรัสกันที่เราเห็นแสดงให้เห็นถึงการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมและศิลปะ รวมถึงศิลปิน
โกศที่ตกแต่งด้วยภาพแกะสลักที่เกี่ยวกับตำนานกรีกเช่นภาพประตูฮาเดส (The gates of Hades) มี Plough hero scene และ The scence of Polynices and Eteocles (The Thebian Fratricide) เรื่องนี้ก็มาจากตำนานกรีกอีกเช่นกัน Polynices และ Eteocles ทั้งสองคนนี้เป็นลูกชายของกษัตริย์โอดิปุสแห่งธีบส์ ทั้งสองตกลงที่จะปกครองธีบส์ร่วมกันแต่ Eteocles เกิดไม่พอใจและขับไล่ Polynices น้องชายของตนเองจึงเป็นเหตุให้เกืดการต่อสู้กันระหว่างสองพี่น้อง เมื่อเป็นดังนี้โอดิปุสได้ทิ้งคำสาปแช่งลูกชายของเขา ซึ่งในท้ายที่สุดก็เกิดเป็นสงคราม seven against Thebes ในท้ายที่สุด Polynices และ Eteocles นั้นไม่มีใครชนะ ทั้งสองเสียชีวิต ส่วน seven against Thebes ก็กลายมาเป็นละครแนวโศกนาฏกรรมที่นิยมของชาวกรีกผลงานของ Aeschylus มีทั้งหมดสามภาคเกี่ยวกับโอดิปุส seven against Thebes เป็นภาคที่สาม เดินเล่นด้านในไปนาน ๆ ก็เริ่มหิวข้าว เราเลยออกจากพิพิธภัณฑ์
ทางผ่านระหว่างหาข้าวกิน อาคารหลังนี้เป็นอาคารที่พักของเหล่าอัศวินจาก Langue อิตาลี (Auberge d’Italie) เข้าไปดูได้ เสียค่าเข้าแต่เราจำราคาไม่ได้เพราะเราไม่ได้เข้าไป แถมเริ่มหิวข้าว Auberge d’Italie เป็นผลงานการออกแบบของ Gerolamo Cassar ก่อสร้างขึ้นในศตวรรษที่ 16 ส่วนหน้าของอาคารยังคงความสมมาตรแบบเรอเนสซอง-จริตนิยม แต่ได้รับการตกแต่งแบบบาโรคเพิ่มเข้าไปเช่นรูปปั้นของ Gregorio Carafa (หนึ่งในแกรนด์มาสเตอร์ของเกาะมอลต้า) ในตอนแรกมีเพียงชั้นเดียวแล้วจึงได้รับการต่อเติมเป็นสองชั้นในอีกไม่กี่ปีต่อมา อาคารหลังนี้ยังคงเป็นที่พักของอัศวินจากอิตาลีจนกระทั่งกองทัพฝรั่งเศสบุกเข้ายึดครองมอลต้าในช่วงปลายศตวรรษที่ 18 กองทัพฝรั่งเศสได้ใช้อาคารนี้เป็นกองบัญชาการ
จนกระทั่งอังกฤษเข้ามาปกครองมอลต้า อังกฤษก็ยังคงเข้ามาใช้งานอาคารหลังนี้เป็นศูนย์บัญชาการสำหรับบรรดาแม่ทัพจนปลายศตวรรษที่ 19 เปลี่ยนมาเป็นโรงพยาบาลสำหรับคนยากไร้ ในสงครามโลกครั้งที่ 2 อาคารหลังนี้ถูกระเบิดเช่นกัน ได้รับการบูรณะหลายต่อหลายครั้ง และเคยเป็นทั้งโรงเรียนศิลปะ ศาล กรมไปรษณีย์ สื่อสาร เป็นการไฟฟ้าการประปา เป็นกรมการเกษตร สำนักงานกลางสถิติ จนในปี 2002 กลายเป็นกรมการท่องเที่ยวมอลต้า และทุกวันนี้มีการจัดแสดงงานนิทรรศการศิลปะในอาคารด้วย
พักจากเรื่องหนักๆกันอีกแล้ว เราก็หิวข้าว เราเลยไปหาข้าวกินที่ Food Market ที่นี่จะเหมือนโซนฟู้ดคอร์ทตามห้าง มีอาหารหลายชาติเลย อิตาลี สเปน ตุรกี ญี่ปุ่น พื้นเมืองมอลต้า อาหารแบบเอเชียน (เราต้องเรียกงี้เพราะบอกไม่ถูกมีอะไรมั่ง) ขนม มีให้เลือกเยอะมาก ๆ ส่วนชั้นล่างลงบันได้เลื่อนลงไปก็จะมีอาหารสดขาย เราตัดสินใจลองปาเอญ่าทะเล ราคา 11 ยูโร จานกลาง ๆ มีกุ้ง scampi กุ้งแบบปกติ มีหมึก หอย ออกจะเค็ม ๆ ทะเล ๆ แต่เราว่าโอเค กินละอิ่ม
หลังจากทัวร์โหดในวาเลตต้าจบลง เรากลับสลีม่าไปเดินเล่นต่อแถว Balluta Bay หาข้าวเย็นทานนิดหน่อย เตรียมตัวออกทะเลในวันต่อไป
เช้าวันต่อมา เราไปรอรถเมล์กันตั้งแต่ 8 โมงเช้า จริงๆแล้วตามที่เราเล่าไว้ตอนแรกถ้าใครไม่อยากต่อรถ ต่อเรือสามารถซื้อทัวร์ได้จากเรือที่จอดอยู่แถวเรือข้ามฟากได้เลย แต่เราใช้วิธีนั่งรถเมล์ไปซื้อทัวร์ที่ท่าเรือ โดยเราขึ้นรถเมล์ฝั่งตรงข้ามท่าเรือข้ามฟาก (หน้าร้าน Mark&Spencer) มีสาย X1,X1A,X1B,41,41 นั่งไปสุดสายท่าเรือ Cirkewwa เรามี แผนที่รถเมล์ทั่วมอลต้ารวมเกาะโกโซ่ด้วย นั่งจากสลีม่าก็ 1 ชั่วโมงพอดีถ้ารถไม่ติด ถ้าใครอยู่นานๆ เราว่าซื้อเป็นบัตรแบบบัตรเติมเงินที่จะใช้ขึ้นรถเมล์ได้แบบไม่ต้องจ่ายเงินคนขับจะสะดวกกว่าใครสนใจตามอ่านต่อได้ที่นี่ มีขายที่แอร์พอร์ต
โอเค พอนั่งไปสุดสายก็จะเจอท่าเรือตรงนี้ก็จะเจอคนที่มาชายตั๋วพาไปเกาะโคมิโน่-โกโซ เราเลือกไปโคมิโน่ก่อน แล้วไปโกโซ ราคาอันนี้เราจำไม่ได้แล้วแต่ราคาต่อคนไม่สูงเท่าที่นั่งไปจาก Sliema ก่อนลงเรือคนขายก็จะแจกตั๋วให้เรา เก็บเอาไว้นะเพราะไว้ใช้นั่งไปโกโซ่ต่อ
พอเราลงเรือกันเรียบร้อย ใช้เวลานั่งไปไม่นานมาก ก็ถึงเกาะโคมิโน่ เกาะนี้ก็มีความเป็นมาเหมือนกัน ในสมัยโรมันเกาะนี้เคยเป็นที่อยู่ของชาวนา แต่พอเวลาผ่านไป ประชากรก็ลดลง จนทั้งเกาะถูกทิ้งร้างไปในที่สุด ตัดมาที่ศตวรรษที่ 13 (ค.ศ.1285-1290) เกาะโคมิโน่เป็นบ้านของ Abraham Aboulafia เป็นชาวยิว เกิดที่เมืองซาราโกซา (ประเทศสเปนในปัจจุบัน) ในสมัยนั้นมุสลิมและยิว อยู่กันที่คาบสมุทรไอบีเรียด้วย ก่อนช่วงที่สเปนที่เป็นชาวคาทอลิกจะไล่กวาดล้าง (Spanish Inquisition) ที่โดนเนรเทศมา ระหว่างที่ Aboulafia อยู่ที่เกาะนี้เขาลงมือเขียนหนังสือเรื่อง "Sefer ha-Ot" (The Book of the Sign) และผลงานชิ้นสุดท้าย "Imre Shefer" (Words of Beauty)
ในยุคกลางเกาะแห่งนี้ยังเป็นเกาะที่มีชื่อเสียงในหมู่โจรสลัดและพวกโจรปล้นสะดม เพราะชายฝั่งบนเกาะที่ขรุขระและมีถ้ำหินปูนขนาดใหญ่ทำให้พวกโจรสามารถเข้าไปหลบได้ จึงทำให้ตรงถ้ำและอ่าวของโคมิโน่มักจะเป็นจุดที่เรือขนส่งสินค้าระหว่างโคมิโน่กับโกโซ่มักถูกดักปล้นบ่อยครั้ง พอถึงยุคอัศวินแห่งมอลต้า เกาะโคมิโน่ได้กลายมาเป็นสถานที่ล่าสัตว์ ซึ่งเป็นเหมือนเกมสันทนาการของเหล่าอัศวิน พวกอัศวินก็จะล่าหมูป่า กระต่าย ต่อมาปี ค.ศ.1416 ชาวมัลทีสขอให้กษัตริย์อัลฟอนเซที่ 5 แห่งอรากอน (Alphonse V of Aragon) สร้างหอคอยที่เกาะแห่งนี้เพื่อที่จะเตือนภัยเวลาโดนพวกออตโตมันดักปล้นสะดมหรือพวกโจรสลัด ที่จะให้เกาะโคมิโน่เป็นแหล่งซ่องสุมและซ่อนตัว แล้วคอยก่อกวนผู้คนที่ไปมากันระหว่างเกาะโกโซ่และมอลต้า สองปีต่อมาจึงเริ่มมีภาษีพิเศษเพ่ื่อสร้างหอคอย
แต่สุดท้ายแล้วภาษีเหล่านั้นก็เข้าท้องพระคลังของกษัตริย์ไป จน 200 ปีต่อมา ค.ศ. 1618 จึงได้เริ่มสร้างหอคอย St. Mary (St. Mary's Tower) สร้างโดยคณะอัศวินแห่งมอลต้าตามคำสั่งของ แกรนด์มาสเตอร์ วิกญาคอร์ท ออกแบบโดย Vittorio Cassar สถาปนิกชาวมัลทีส ลูกชายของ Girolamo Cassar นั่นเอง นอกจากหอคอย St. Mary แล้วยังมีหอคอยอื่นๆ เช่น Wignacourt Lascaris และ หอคอย De Redin ทั้งหมดจะตั้งอยู่ริมชายฝั่งเกาะมอลต้า โดยใช้ประโยชน์ของทำเลที่ตั้ง สื่อสารและส่งสัญญาณหากัน ในช่วงเวลาเดียวกันเกาะโคมิโน่ยังเป็นสถานที่ไว้ใช้เนรเทศและจองจำอัศวินที่ทำผิดกฎหรือก่อคดีเล็กๆน้อยๆ อัศวินเหล่านั้นก็จะถูกส่งมาที่เกาะและให้ประจำการที่หอคอย St. Mary ที่เป็นงานที่อันตราย ในช่วงที่ฝรั่งเศสบุกเข้ามายังมอลต้า (ค.ศ.1798–1800) หอคอย St. Mary ถูกใช้เป็นค่ายกักผู้ต้องสงสัยที่จะเป็นสายลับ ล่วงมาถึง ค.ศ.1829 หลังจากขับไล่ฝรั่งเศสออกไปกองทัพอังกฤษก็ไม่ได้ใช้งานหอคอยแห่งนี้ จนกระทั่งสงครามโลกครั้งที่ 1 และสงครามโลกครั้งที่ 2 ในปัจจุบันหอคอย St. Mary เป็นทรัพย์สินของกองทัพมอลต้าและเป็นจุดที่คอยตรวจสอบ เฝ้าระวังการลักลอบล่าสัตว์ผิดกฎหมาย
ทางลงไปที่ Blue Lagoon ค่อนข้างลำบาก ถ้าใครอยากเล่นน้ำก็ต้องลุยหน่อยค่อย ๆ เดินลงมา โชคดีที่เราเคยเดินทางไกลในวิชาเนตรนารี เดินลงทางขรุขระแค่นี้สบายมาก เดิน ๆ ไปก็เจอจิ้งเหลนด้วย ขอลงรูปแบบรัว ๆ มุมไหนก็สวย
เราเพิ่งมารู้ด้วยว่าตรงเกาะโคมิโน่เป็นหนึ่งในสถานที่ ที่ใช้ถ่ายทำหนังเรื่องทรอย (Troy,2004) ตื่นตาตื่นใจ เป็นซีนที่อะคีลิสเดินมาเจอแม่ (เธทิส) ที่กำลังเก็บหอยมาร้อยเป็นสร้อย แต่ตรงนั้นเราว่ายไม่ถึง น้ำลึกไป ตอนแรก ๆ ก็ยืนถึง พอเดินไปเรื่อย ๆ ชักจะไม่ได้แล้ว ใช้สกิลว่ายน้ำสมัย ป.5 ออกมาใช้ แล้วก็ไม่รอดชิมน้ำทะเลไปอึกใหญ่ เค็ม ๆ เย็น ๆ เพราะไม่ได้ว่ายน้ำนานแล้วก็เลยว่ายไม่ไปด้วย
หลังจากว่ายไม่ไหวเลยกลับฝั่ง มานั่งเล่นตรงน้ำตื้นเราเลยนั่งจับทรายดู มันเม็ดใหญ่ ๆ มีก้อนหินเล็ก ๆด้วย แต่สีออกจะขาวกว่าบ้านเราแปลกดี ถ้าใครอยากมาว่ายตรงนี้ก็เตรียมห่วงยางมาเองก็ได้นะ ถ้าไม่ก็จะมีไลฟ์การ์ดดูแลอยู่ ควรเตรียมน้ำมาเองมาหน่อย เพราะน้ำบนเกาะขายแพง สับประรดที่ถ่ายเล่นเป็นพร้อพยังแพงเลย 555 รอไปซื้อที่โกโซ่ทีเดียวดีกว่า
ว่ายน้ำจนเหนื่อยแล้วบวกกับคนที่เกาะโคมิโนเริ่มเยอะ เราออกเดินทางต่อไปที่เมืองวิคตอเรีย เกาะโกโซ่ เพื่อที่จะไปดูป้อมปราการแบบ Cittadel
เกาะโกโซ่เป็นเกาะที่อยู่บนสุดในบรรดา 3 เกาะ ของประเทศมอลต้า เคยเป็นที่ตั้งของ Azure Window (ที่ทุกวันนี้ไม่มีแล้ว ถล่มไปแล้ว) มีวัด Ggantija หลังจากเรือมาเทียบท่า เรายังคงเดินทางด้วยรถเมล์ ซึ่งเราลืมแล้วแต่ไม่เป็นไร เรามีเส้นทางการเดินทางโดยรถเมล์ในโกโซ่ ตามแผนที่นี้ เลือกสายรถเมล์ได้
พอลงรถมาแล้วอย่างแรกคือหิววว!! เราต้องหาอะไรกินเราเดินหาร้านกันไม่นานมากก็เจอร้านที่พอใจคือร้าน Palazzo Antonin Bistro ร้านนี้พนักงานร้านเป็นมิตร มาชวนอันเดรียคุยบ่นกันร้อนมาก แต่อันเดรียบอกเขาว่าเรากับพ่อไม่ร้อนเพราะมาจากไทย ไป ๆ มา ๆ พนักงานเขารู้จักประเทศไทยด้วย เพราะว่าพี่หรือน้องชายเขานี่แหละแต่งกับคนไทย อยู่ที่ไทย ตอนนั้นเราคิดในที่สุดก็ไม่มีคนคิดว่าเป็นญี่ปุ่นแล้ว 555 ร้านนี้จะมีซุปแบบสุ่มด้วย คือแล้วแต่ร้านว่าวันนี้จะมีซุปอะไร ซุปกาชา 555 วันนั้นมีซุปมะเขือเทศอร่อยมาก ๆ ส่วนเราก็เดิม ๆ เพนเน่เนื้อสับง่าย ๆ
พออิ่มแล้วก็เตรียมตัวไปเที่ยวที่ Citadella ที่ไม่ไกลจากร้านอาหารมาก ในบริเวณเดียวกันมีพิพิธภัณฑ์ทางโบราณคดีของที่นี่ด้วย เราเห็นรูปแล้วเราว่าของเยอะแล้วก็จัดแสดงได้สวย (ชอบกว่าที่วาเลตต้าด้วย แต่ไม่ได้เข้าไปดู เสียดายแง) ส่วนเกาะโกโซ่เริ่มมีคนเข้ามาตั้งรกรากตอนไหน คงต้องย้อนไป 5,000 ปีก่อนชนกลุ่มแรกที่เข้ามายังโกโซ่ มาจากเกาะซิซิลี พวกเขาอาศัยในถ้ำรอบๆหมู่บ้าน San Lawrenz อยู่ตะวันตกเฉียงเหนือของเกาะ เวลาผ่านไป เกาะโกโซ่เป็นที่อยู่ของชาวฟินีเชียนและชาวคาร์เธจ (700-218 ก่อนคริสตกาล) ชาวโรมัน (218 ก่อนคริสตกาล-ค.ศ.535) ที่เข้ามาหลังช่วงสงครามพิวนิกที่ 2 (ขับไล่ชาวฟินีเชียน/คาร์เธจออกไป) ในโกโซ่กลายเป็นเขตปกครองตนเอง มีเงินตราเป็นของตัวเอง แต่ก็ยังอยู่ภายใต้โรมัน
และเป็นยุคที่คริสตศาสนาเข้ามาในเกาะแห่งนี้ครั้งแรก ในปี ค.ศ.60 นักบุญเปาโลอัครทูต (St.Paul the Apostle) หรือเซาโลแห่งทาร์ซัส เป็นชาวยิวที่เคยเกลียดชังและเคยร่วมทรมานคริสตชน จนกระทั่งท่านได้รับมอบหมายให้เดินทางไปเมืองดามัสกัสเพื่อจับคริสตชน แต่ระหว่างทางพระเป็นเจ้าได้มาหาท่านโดยทำให้เกิดแสงสว่างลงมาจากฟ้าทำให้ท่านตกจากหลังม้า แล้วตาบอด ท่านจึงต้องเดินทางไปหาอานาเนียแทนตามเสียงของพระเจ้าเพื่อรักษาอาการตาบอด หลังจากนั้นท่านได้กลับใจและรับศีลล้างบาปปลี่ยนชื่อใหม่เป็น "เปาโล" เราคุ้นเคยกะนักบุญเปาโลเพราะท่านเป็นองค์อุปถัมภ์ของคณะภคินีที่ก่อตั้งโรงเรียนเรา 5555 ได้เรียนซ้ำหลายรอบมาก ๆ ทั้งหนังสือ ทั้งหนัง ในตอนนั้นท่านเดินทางไปโรมแล้วเรือมาแตกที่มอลต้า
หลังจากยุคโรมันก็เป็นยุคของอาณาจักรไบเซนไทน์ (ค.ศ.535-870) จนอาหรับเข้ามายึดครอง (ค.ศ.870-1127) ในปีค.ศ.870 ราชวงศ์ Aghlabids เข้ามาปกครองเกาะ พวกเขามีอิทธิพลต่อวัฒนธรรมต่างๆในเกาะมอลต้า-โกโซ่ โดยเฉพาะภาษา อย่างชื่อสถานที่ (ชื่อเกาะโกโซ่) นามสกุล รวมไปถึงอาหารที่นำเอาการใช้เครื่องเทศเข้ามา จนมาถึงปี ค.ศ.1127 – 1530 เป็นช่วงเวลาที่ยุโรปชาติอื่นเข้ามาปกครอง เริ่มที่เคานท์โรเจอร์แห่งนอร์มัน ปลดแอกดินแดนแห่งนี้จากอาหรับ เวลานั้นทั้งเกาะโกโซ่ มอลต้ารวมถึงซิซิลีอยู่ภายใต้การปกครองของกลุ่มต่างๆ เช่น Swabia (ค.ศ.1194-เป็นส่วนหนึ่งของแคว้นบาวาเรีย อยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของเยอรมัน) Aragon (ค.ศ.1282) ผู้ปกครองเหล่านี้ปกครองมอลต้าด้วยระบอบฟิวดัล เก็บภาษีชาวบ้านเป็นจำนวนมาก จนค.ศ.1397 ชาวโกซิตัน เพราะคนที่อาศัยอยู่ที่โกโซ่จะไม่เรียกตัวเองว่ามัลทีสเราเห็นว่าด้วยภูมิศาสตร์ที่แยกออกมาจากเกาะมอลต้าเลยทำให้วัฒนธรรมมีความแตกต่างกัน เช่น ภาษา อาหาร ได้รวมตัวกันก่อตั้งมหาวิทยาลัย Universitas Gaudisii หรือ Università of Gozo เพื่อที่จะได้ปกป้องท้องถิ่น และคงไว้ซึ่งภูมิปัญญาดั้งเดิมและเสรีภาพ ต่อมาในปี ค.ศ.1530 – 1798 กลุ่มอัศวินแห่งเซนต์จอห์นเข้ามายังเกาะแห่งนี้ แต่พวกเขาก็ไม่ได้มาพัฒนาโกโซ่
และในปีค.ศ.1551เกิดเหตุการณ์ออตโตมันบุกยึดเกาะโกโซ่ (The Invasion of Gozo) เกาะโกโซ่ได้รับความเสียหายหนักที่สุดในประวัติศาสตร์ โดยการนำทัพของปาชาซีนาม (Sinam Pasha ปาชาคือชื่อตำแหน่งขุนนางออตโตมัน) เข้ามาเข้ามายึดป้อม (Citadella) และเพราะการออกแบบของป้อมนั้นเก่ามากแล้ว เลยที่ไม่มีที่วางปืนใหญ่ และทำให้ไม่สามารถต้านทางกระสุนปืนใหญ่ของพวกออตโตมันได้ จึงทำให้การบุกยึดป้อมนั้นทำได้อย่างง่ายดาย ทุกวันนี้ยังมีหลุมฝังศพของ Bernardo Dupuo ที่ตายระหว่างการสู้รบกับชาวออตโตมัน หลังจากฆ่าภรรยาและลูกสาวของตัวเองเพื่อที่จะได้ไม่ตกไปเป็นทาสหรือเป็นนางสนม นางบำเรอ ส่วนชาวเมืองอีก 5,000 คนที่เหลือ กลายเป็นทาส หลังจากเหตุการณ์ครั้งนั้น การฟื้นฟูเมืองเป็นไปได้อย่างล่าช้า ทาสชาวโกซิตันบางคนได้รับการไถ่ตัวแต่ทว่าครอบครัวของพวกเขานั้นแตกแยก บ้างก็สูญหาย บางคนถูกขายให้กับเจ้าของใหม่ที่อยู่ในดินแดนอื่น อีกสิ่งที่ทำให้โกโซ่พัฒนาได้ล่าช้าเพราะผู้คนต่างกลัวโจรสลัดและการถูกจับไปเป็นทาสจนถึง ปลายศตวรรษที่ 18 จนศตวรรษที่ 19 ประชาชนกลุ่มเล็กๆ เข้ามาอาศัยในป้อม (Citadel) ช่วงค่ำจนถึงช่วงฟ้าสาง หมู่บ้านต่างๆยังคงโครงสร้างที่แตกต่างจากทุกที่ในมอลต้า พอถึงยุคที่ฝรั่งเศสบุกยึดมอลต้าภายใต้การนำทัพของนโปเลียน (ค.ศ.1798 – 1800) ชาวโกซิตันได้ลุกฮือขึ้นต่อต้านฝรั่งเศส จนกระทั่งปี ค.ศ.1800
อังกฤษเข้ามาปกครอง (ค.ศ.1800 – 1964) เกาะโกโซ่และมอลต้ากลายมาเป็นอาณานิคมของอังกฤษ (ค.ศ.1813) เกาะโกโซ่ค่อยๆกลายมาเป็นป้อมปราการที่คอยต้านการโจมตีกองทัพอักษะในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ต่อมาทั้งมอลต้าและโกโซ่ได้รับอธิปไตยแต่ก็ยังเป็นส่วนหนึ่งในเครือจักรภพอังกฤษในปีค.ศ. 1964 และประกาศเป็นสาธารณรัฐในวันที่ 13 ธันวาคม ค.ศ.1974 แม้ว่าโกโซ่จะอยู่ภายใต้การปกครองของมอลต้า แต่รัฐบาลของโกโซ่ได้เป็นกึ่งปกครองตนเองมาบ่อยครั้งในประวัติศาสตร์ประเทศมอลต้า ครั้งสุดท้ายที่โกโซ่มีสภาเทศบาลก็คือระหว่าง ค.ศ.1961-1973 ส่วนในทุกวันนี้เกาะโกโซ่อยู่ภายใต้การปกครองเหมือนส่วนอื่นๆในมอลต้า โดยรัฐบาลกลางมอลต้าดำเนินการ
ส่วนเมืองที่เราจะมาเที่ยวโดยเฉพาะเลยก็คือเมืองวิคตอเรีย หรือชื่อเดิม Ir-Rabat (ขื่อยังมีความอาหรับเลย) พอเดินเข้ามาด้านในจะเจอกับมหาวิหารเซนต์จอร์จ (St.George’s Basilica) เดิมทีเมืองวิคตอเรียเป็นเมืองเก่ามาตั้งแต่สมัยยุคกลาง ก่อน ค.ศ.1450 ส่วนมหาวิหารมีมาตั้งแต่ยุคไบเซนไทน์ ตรงกับยุคของจักรพรรดิธีโอโดซิอุสที่ 1 ศตวรรษที่ 4 เคยเป็นวิหารของเหล่าเพเกินแห่งโกโซ่ (พวกศาสนาอื่นที่ไม่ใช่คาทอลิก นับถือเทพเจ้า) แล้วปรับเปลี่ยนมาเป็นโบสถ์
คาทอลิกอุทิศแด่นักบุญจอร์จ หิน (Ground-breaking) ที่ให้เป็นฐานของมหาวิหารเริ่มวางเมื่อปี 1672 สร้างเสร็จในปี ค.ศ.1678 ตัวสถาปัตยกรรมเป็นแบบบาโรค ออกแบบโดย Vittorio Cassar ลูกชายของ Gerolamo Cassar ส่วนด้านในเราเราไม่ได้เข้าไปเพราะเสื้อผ้าเราใส่วันนั้นทำให้เข้าไปด้านในไม่ได้ แต่ข้างในสวยมาก ๆ เริ่มตั้งแต่ประตูสำริดด้านหน้า พอเข้าไปด้านในเป็นประดับด้วยหินอ่อน ทองและสัมฤทธิ์ มีแท่นบูชาที่สวยงามและมีประติมากรรมรูปนักบุญจอร์จที่ทำมาจากไม้โดย Pawlu Azzopardi ที่ทำขึ้นในปี ค.ศ. 1838 ภาพวาดบนเพดานเป็นฝีมือของ Giovanni Battista Conti ศิลปินจากโรม นอกจากนี้ในมหาวิหารยังมีผลงานของศิลปินคนอื่นๆอีกเช่น Mattia Preti, Giuseppe Cali, Michele Busuttil, Giuseppe Fenech, Francesco Zahra ฯลฯ
ถัดจากมหาวิหารเซนต์จอร์จ (St.George’s Basilica) ก็มาถึง อาสนวิหารแห่งอัสสัมชัญ (Cathedral of the Assumption, Gozo) เดิมทีบริเวณนี้เป็นวิหารโรมันที่สร้างขึ้นเพื่ออุทิศให้กับเทพีจูโน (เฮรามเหสีของซุสในชื่ออย่างโรมันนั่นเอง) ส่วนอาสนวิหารที่เห็นในปัจจุบันนี้สร้างขึ้นระหว่างปีค.ศ.1697-1711 อาสนวิหารอยู่ด้านในป้อม (Citadella) ด้านนอกเป็นสถาปัตยกรรมแบบบาโรคที่สวยงามเป็นผลงานของ Lorenzo Gafa สถาปนิกชาวมัลทีส สร้างให้มีรูปทรงเหมือนกับกางเขนแบบละติน หินที่ใช้สร้างใช้หินปูนที่มีอยู่ทั่วไปในท้องถิ่น อาสนวิหารแห่งนี้อุทิศให้กับการเสด็จขึ้นสวรรค์ของพระแม่มารี และเป็นที่ตั้งสังฆมณฑลแห่งคาทอลิกประจำเกาะโกโซ่ นับตั้งแต่การก่อตั้งสังฆมณฑลในปี ค.ศ.1864 ด้านในจะมีภาพเขียนที่ลวงตาว่าอาสนวิหารมีโดม แต่จริง ๆ เป็นภาพเที่เล่นกับสายตาฉยๆ รอบ ๆ อาสนวิหารมีร้านค้า ถนนด้านในป้อมค่อนข้างแคบ พอออกมาด้านนอกจะเจอพื้นที่กว้าง ๆ ให้ได้เดินเล่น นั่งเล่นได้ ชมวิวก็ได้ และเหมาะกับผู้พิการหรือผู้ที่ใช้วีลแชร์ด้วย เพราะที่นี่มีบริการลิฟท์ และมีทางลาดตรงบริเวณที่เคยเป็นคูน้ำรอบป้อมปราการ
จริง ๆ แล้ว citadella แห่งนี้ เป็นบริเวณที่มีผู้คนเข้ามาอาศัยอยู่ตั้งแต่ยุคสำริด พอถึงยุคพิวนิก-โรมัน ด้วยทำเลที่ตั้งอยู่บนเนินสูง บริเวณนี้ทั้งหมดจึงเคยเป็นอะโครโพลิส รวมถึงเป็นเมืองบริวารของโรมัน มีชื่อเรียกว่า Gaulos หรือ Glauconis Civitas พอถึงยุคกลางมันก็ได้ถูกดัดแปลงให้กลายเป็นปราสาท ที่จะเปิดให้ชาวเมืองเข้ามาหลบภัยเวลามีการบุกรุกจากข้าศึก แต่เมื่อถึงค.ศ.1551 ออตโตมันบุกเข้ายึดครองเกาะโกโซ่ Citadella แห่งนี้ไม่ได้รับการพัฒนาและปรับปรุงมานานจึงทำให้ถูกยึดครองโดยกองทัพออตโตมันและโจรสลัดบาบารีได้อย่างง่ายดาย และไม่ถูกทำลายในช่วง The great siege of Malta ในปี ค.ศ.1565 ถึงแม้ว่า Citadella จะถูกรื้อและต้องอพยพคนไปซิซิลี ปราสาทใน Citadellaกลับมีบทบาทสำคัญในช่วงเวลาที่ปิดล้อมเพราะต้องคอยสื่อสารกับป้อมที่ Birgu และเรือรบของชาวคริสเตียนรวมถึงคอยรายงานความเคลื่อนไหวของกองทัพออตโตมัน พอหลังจากเหตุการณ์การปิดล้อมมอลต้าจบลง
แกรนด์มาสเตอร์ฌอง ปาริโซต์ เดอ ลาวาเลตต์ และ ฟรานเชสโก ลาปาเรลี วิศวกรประจำกองทัพเดินทางมายังโกโซ่และCitadellaแห่งนี้เพื่อที่จะปรับให้ทันสมัยขึ้น แต่เนื่องจากติดภารกิจการสร้างวาเลตต้า จึงทำให้Citadellaแห่งนี้ไม่ได้ปรับปรุงหรือต่อเติมยุทโธปกรณ์ทางการทหารในท้ายที่สุด Citadella แห่งนี้ถูกโจมตีอีกครั้งโดยโจรสลัดในปี ค.ศ.1583 จนกระทั่งปีค.ศ.1599-1622 Citadella จึงได้รับการปรับปรุงใหม่โดย Giovanni Rinaldini วิศวกร ภายใต้การควบคุมงานของ Vittorio Cassar ปรับปรุงกำแพงบริเวณทิศใต้ของเมือง โดยเพิ่มกำแพงป้องกัน Bastion ขึ้นมา (Curtain Wall) และเพิ่มส่วน Cavalier หรือส่วนที่สูงมากว่าตัวป้อมขึ้นมาเพื่อใช้ยิงข้าศึก ทำให้กลายเป็นป้อมสำหรับยิงปืนใหญ่ได้ (แต่เพราะความสูงแบบนี้ก็ทำให้กลายเป็นเป้านิ่งของอีกฝ่ายเหมือนกัน)
รวมถึงมีการขุดคูน้ำ (ditch) เพิ่ม แต่มีส่วนนึงที่ไม่ได้ปรับปรุงอะไรมากก็คือมีกำแพงในตอนเหนือที่ยังคงเป็นแบบยุคกลางอยู่ พอช่วงศตวรรษที่17-18 มีความพยายามที่จะปรับปรุงและรื้อแล้วสร้างใหม่หลายครั้ง แต่ก็ไม่ได้ทำจึงทำให้ปัจจุบันนี้Cittadella และอาสนวิหารด้านในได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกของสาธารรัฐมอลต้าตั้งแต่ปีค.ศ.1998
เราได้รู้เกร็ดเล็ก ๆ น้อย ๆ เกี่ยวกับการใช้น้ำจืดที่นี่จากอันเดรีย อันเดรียเล่าว่าเพราะที่นี่ไม่มีแม่น้ำหรือทะเลสาบ มอลต้าเลยจำเป็นจะต้องใช้น้ำทะเลมาทำให้เป็นน้ำจืด เราไปค้นต่อแล้วทำจริงด้วยวิธี desalinated (source)
เดินไปเดินมารอบ Citadella จนเริ่มเหนื่อย ก็เตรียมตัวกลับ เรานั่งรถเมล์ไปลงที่ท่าเรือเฟอร์รี่ (ที่เป็นการขึ้นเรือลำใหญ่ขนาดนี้เป็นครั้งแรกของเราเลย) แล้วซื้อตั๋ว 4.65 ยูโร กลับไปท่าเรือที่ Cirkewwa แล้วนั่งรถเมล์อีกต่อนึงกลับเข้าสลีม่า รอบนี้ได้นั่งรถเมล์ฟรีด้วย เพราะขึ้นในเวลาที่ยังขึ้นฟรีได้ ท้ายตั๋วจะมีเวลาบอกไว้ เช่น 18.30 น. เราก็จะขึ้นฟรีได้ภายในเวลาหกโมงครึ่ง ถ้าขึ้นหลังจากนั้นก็เสียเงินเพิ่ม
วันสุดท้ายแล้ววว จริง ๆ เราวางไว้ว่าเป็นวันพักเพราะเที่ยวหนักมา อาจจะไปแวะซุปเปอร์ซื้อขนมกลับไทยสรุป ซุปเปอร์ปิด !! culture shock กันไป ซึ่งซุปเปอร์ปิดแบบนี้มันก็ทำให้เราได้พักจริง ๆ อันเดรียเลยแนะนำไว้ 2 ที่ระหว่าง Mdina กับ Marsaxlokk หมู่บ้านชาวประมง สุดท้ายเราเลือก Mdina กว่าพวกเราจะออกจากสลีม่าไปเที่ยว Mdina ก็เย็นแล้ว แดดอ่อนพอดี คราวนี้เราก็ไปทางรถเมล์อีกครั้งโดยไปขึ้นรถที่วาเลตต้า คนน้อย ๆ ไม่ต้องแย่งกับใครมาก แผนการไปเที่ยว Mdina ครั้งนี้เราเลือกที่จะไปดูซุ้มประตูสถานที่ถ่ายทำซีรีส์ Game of Thronesss จริง ๆ มีที่เมือง Rabat ด้วย แต่ดันหิวข้าวเย็น เลยอดอีกตามเคย ถถถถ (ถ้าอยู่นานกว่านี้ก็จะไปนะ แหะ ๆ ถ้าไปหมู่บ้านชาวประมงก็จะได้ลองอาหารทะเลเพิ่ม)
เมือง Mdina เป็นอีกเมืองที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน ย้อนไปได้มากกว่า 4,000 ปี ถูกพบโดยชาวฟีนิเชียนประมาณ 700 ปีก่อนคริสตกาล ต่อมากลายเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิโรมันภายใต้ชื่อ Melite หรือ Melita อยู่ในบริเวณรอยต่อของเมือง Mdina กับ Rabat ปัจจุบันนี้ยังคงมีร่องรอยแห่งอารยธรรมไบเซนไทน์ ยุคกลาง อาหรับ และยังเป็นเมืองที่นักบุญเปาโลเคยมาพักอาศัยอยู่ใน ค.ศ.60 โดยท่านบันทึกไว้ว่าท่านมาอาศัยอยู่บริเวณเมืองMdina-Rabat หลังจากที่ท่านเรือแตก เพราะมีอุโมงค์ที่ราบัด ชื่อว่า Fuori le Mura คนที่นั่นเชื่อว่าท่านเคยอาศัยอยู่ในอุโมงค์นั้น
พักเรื่องเมืองราบัดก่อนเพราะไม่ได้ไป 5555 เมือง Mdina มีชื่อเสียงในเรื่องการทำแก้ว และในเมืองยังมีตะเกียงแบบยุคกลางที่จะเริ่มจุดช่วงเย็น ๆ Mdina มีชื่อเล่นว่า "the silent city” เพราะผู้คนอาศัยอยู่ไม่หนาแน่นนัก ด้านในกำแพงเมืองและป้อมปราการยังคงเป็นเหมือนสมัยก่อนก็คือมีโครงสร้างแบบป้อมปราการในยุคกลาง และยังเป็นต้นแบบที่ดีของเมืองที่มีสถาปัตยกรรมแบบยุคกลางและบาโรค ผสมผสานกันได้อย่างสวยงามสะกดสายตา แถมยังมีเรื่องผีด้วยถ้าใครจำตอนแรกได้เราจะเล่าถึงเสื้อผ้าพื้นเมืองที่ผู้หญิงมัลทีสสวมใส่ (Ghonnella) เรื่องเล่ามีอยู่ว่าถ้าเดินในเมืองนี้ตอนดึก ๆ จะเจอผู้หญิงใส่ Ghonella แต่เปิดผ้าคลุมมากลับไม่มีหัว 5555 ก็เหมือนเดิม เราไปแล้วก็ไม่เจอผีนะ
Mdina เป็นเมืองที่ชื่อจะเปลี่ยนไปตามผู้ปกครองเมือง แต่ชื่อเมืองแบบยุคกลางเป็นชื่อที่สามารถอธิบายความสวยงามของเมืองนี้ได้ดีก็คือชื่อ ‘Citta' Notabile’ หรือ the noble city เมืองสูงศักดิ์ เพราะเคยเป็นที่พักอาศัยของชนชั้นสูงในมอลต้า ที่มีต้นตระกูลมาจาก นอร์มัน ซิซิเลียน และ สเปน ชนชั้นสูงเหล่านี้เข้ามาในมอลต้าในศตวรรษที่ 12 และเมือง Mdinaนี้เองก็เคยเป็นเมืองหลวงของเกาะมอลต้ามาก่อนที่บรรดาคณะอัศวินเข้ามาในเกาะแล้วใช้เมือง Birgu เป็นเมืองหลวงแทน มีสถานที่ที่น่าสนใจอีกแห่งอยู่ระหว่างเมือง Mdina กับ Rabat คือหมู่บ้านชาวโรมันที่เข้ามาตั้งรกรากกันที่นี่ด้วย ชื่อ Domvs Romana
ประตูเมือง Mdina เป็นประตูที่ใช้เป็นฉากของประตู King’s Landing ในเรื่อง Game of Thrones นั่นเอง ในสมัยยุคกลางเมือง Mdina มีประตูเมือง 3 แห่ง แยกออกจากกันโดยลานกว้าง ประตูชั้นนอกสุดเรียกว่า ‘Prima Porta Principale’ หรือ the Porta di Santa Maria ตกแต่งด้วยตราของตระกูล Sua Cesarea Majestati มีกำแพงป้องกันประตูสร้างขึ้นในปี ค.ศ.1448 และถูกรื้อออกไปในปี ค.ศ.1551 และได้รับการสร้างขึ้นใหม่อีกครั้งโดยคณะอัศวินในศตวรรษที่ 17 ในปี ค.ศ.1722 แกรนด์มาสเตอร์ António Manoel de Vilhena ได้ริเริ่มการบูรณะและพัฒนาเมืองMdina ทางเข้าที่เราเห็นก็เป็นผลงานของเขา โดยใช้ Charles François de Mondio สถาปนิกชาวฝรั่งเศสออกแบบ ในปีค.ศ.1724 ลานกว้างที่อยู่ด้านหลังประตูก็รื้อออกไป เพื่อทำเป็นทางเข้าไปยัง Palazzo Vilhena ที่เข้าไปแล้วจะอยู่ทางขวามือเลย ปัจจุบันเป็นพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติของมอลต้า เราไปก็ปิดพอดี 555
ประตูใหญ่แบบบาโรค ตกแต่งด้วยเสาสองเสาด้านหน้า และตราประจำตัวของแกรนด์มาสเตอร์ António Manoel de Vilhena และตราประจำเมือง Mdina ข้างใต้เป็นคำอุทิศภาษาละตินที่เราก็อ่านไม่ออก อันเดรียน่าจะอ่านออกแต่มารู้ทีหลัง) ส่วนด้านหลังของประตูมีภาพนูนสูงของนักบุญพิวบลิอุส (St.Publius นักบุญชาวมัลทีส บิชอปคนแรกของมอลต้า) นักบุญอกาธ่า (St.Agatha) และ นักบุญเปาโล (St.Paul) นักบุญอุงค์อุปถัมภ์แห่งมอลต้า ส่วนบริเวณสะพานตกแต่งด้วยประติมากรรมสิงโต ถือตราประจำตระกูล Vihena และตราประจำเมือง Rabat
เพราะเราเลือกมาเดินเล่นเลยไม่ได้เน้นข้างในมาก เลยเดินเล่นๆ ถ่ายรูปตามจุดสำคัญๆในMdina มากกว่า เช่น ประตูสีฟ้า 555 พอพูดถึงประตูสำหรับที่ Mdina แค่เดินเล่นดูบานประตูที่เมืองนี้ก็สนุกแล้วเพราะมีรูปแบบที่เฉพาะตัวบ้านใครบ้านมัน ถ้าใครสังเกตดี ๆ ตัวเคาะที่อยู่บนบานประตูหรือที่ชาวมัลทีสเรียกว่า ‘il-Habbata’ ที่นที่นั่นตกแต่งประตูได้ตามใจชอบ มีทั้งรูปปลาโลมา นกอินทรี เทวดา น่ารักแปลกตาดี
พอเข้ามาจตุรัสเซนต์ปอล เราก็ไปที่มหาวิหารเซนต์ปอล (The Metropolitan Cathedral of Saint Paul หรือ Il-Katidral Metropolitan ta' San Pawl) หรือมหาวิหารเอ็มดิน่า (Mdina Cathedral) เป็นมหาวิหารโรมันคาทอลิกอุทิศให้กับนักบุญเปาโล มหาวิหารนี้สร้างขึ้นในศตวรรษที่ 12 เมื่อครั้งที่ข้าราชการชาวโรมัน Publius พบกับนักบุญเปาโลหลังจากที่ท่านเรือแตก วิหารดั้งเดิมนั้นถูกทำลายเสียหายในปีค.ศ.1693 เนื่องจากมีเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ซิซิลี มหาวิหารจึงได้รับการสร้างขึ้นใหม่ระหว่างปี ค.ศ. 1696-1705 ในรูปแบบสถาปัตยกรรมแบบบาโรคผสมผสานสถาปัตยกรรมมท้องถิ่นของมอลต้าโดย Lorenzo Gafà สถาปนิกชาวมัลทีส คนเดียวกับที่สร้างอาสนวิหารที่เกาะโกโซ่นั่นเอง และเป็นผลงานชิ้นเอกของ Gafà อีกด้วย โครงสร้างภายนอกทำเป็นรูปทรงกางเขนแบบละติน
ประตูของมหาวิหารประดับด้วยตราประจำเมือง Mdina ตราของแกรนด์มาสเตอร์ Ramon Perellos y Roccaful และ บิชอป Davide Cocco Palmieri ทั้งหมดทำขึ้นโดย Giuseppe Darmanin ส่วนตราที่มีสีที่อยู่ใต้ตราประจำเมือง Mdina จะเป็นตราประจำตัวของหัวหน้าบาทหลวง
เดิน ๆ ละเราก็เริ่มหิวอีกแล้ว ตอนแรกกะว่าจะทานที่ Mdina แต่ในร้านคนเยอะมากกกก แบบ เฮ้อ หิวอะ เลยย้ายไปกินที่วาเลตต้าแทนที่ฟู้ดคอร์ทที่เดิม ซื้อไอติมอีกถ้วยแล้วก็กลับสลีม่าเตรียมตัวกลับไทย
หมดวันไปแบบช้า ๆ พอกินอื่มแล้วก็กลับไปนอน เก็บของเตรียมกลับไทย เช้าวันกลับ เราออกไปซื้อขนมกลับมาที่ไทยเล็ก ๆ น้อย ๆ
สุดท้ายก็ถึงสนามบินโดยสวัสดิภาพ นั่งรับทานพาสต้าเนื้อสับกับน้ำส้ม
หลังจากเครื่องดีเลย์ที่ Luqa พอไปถึงสวิตเซอร์แลนด์เพื่อ Transit ก็ยังต้องตรงเวลาเดิมในบอร์ดดิ้งพาสต์อีก กลายเป็นว่ามาเปลี่ยนเครื่องที่ซูริคทั้งที่แต่ดันไม่ได้เดินเล่นดูอะไรเลย หนอยยย ต้องวิ่งไปขึ้นเครื่อง 5555555 แต่สนามบินซูริคสวยดี เย็นดีด้วยจากที่เราเจออากาศร้อน ๆ มาจากมอลต้าใส่รองเท้าแตะมาถึงที่นี่เลยยิ่งหนาวฟฟฟ แต่สุดท้ายก็ขึ้นเครื่องทันนะ แง
สุดท้ายถึงบ้านปลอดภัยได้กินสุกี้
และของฝากน่ารัก ๆ จากอันเดรีย
รอบหน้าไม่รู้จะได้เขียน หรือได้ไปเที่ยวแบบนี้อีกมั้ย แต่จากรอบนี้เอาที่ ๆ เราชอบที่สุดเราชอบ เกาะ Gozo กับ Mdina ถ้าไป Rabat หรือThree Cities,หมู่บ้านชาวประมงเราก็อาจจะชอบด้วยเพราะเราชอบอะไรแบบนี้พวกเมืองเก่า ตลาดเก่า แค่เดินเล่นดูบ้านเมืองเขาสังเกตศิลปะ งานประติมากรรม ย้อนนึกถึงประวัติศาสตร์กับวัฒนธรรมของมอลต้าที่เราเตรียมมาก่อนเดินทางก็สนุกแล้ว ไม่ก็เดินคุยเรื่อยเปื่อยกับพ่อกับอันเดรีย
บางอย่างดูแล้วนึกถึงซีรีส์เมอร์ลินที่เราชอบด้วย ไม่ก็นึกถึงนิยายที่เราติดอย่าง Captive Prince 55555 ฮร่อลลล น่ารักกก บางตึกเราเห็นก็คิดถึงสมัยปี 1 ที่อาจารย์สอนมา ละก็แต่ละเมืองจะมีสีสันแตกต่างกันออกไปทำให้เราประทับใจได้แบบง่าย ๆ เลย (โดนตก) โดยรวมแล้วทริปนี้ชอบมากจริง ๆ ละก็ชอบที่เป็นมิตรกับชาว LGBTQI+ ด้วย ยิ่งทำให้เกาะมอลต้าเป็นเกาะเล็ก ๆ ที่ไม่เล็ก เพราะคิดการณ์ใหญ่มาก ดูทันโลกสุด ๆ
หลังจากนี้คงมีดอง ถถถ เจอกันใหม่รอบหน้าน้าาา เราจะไปเที่ยวให้ทั่วชายฝั่งเมดิเตอเรเนียน ไปอะเดรียติกด้วยเลยคอยดู !
แหล่งข้อมูล
(รอบนี้บางเว็บเราใช้เว็บเดียวแล้วหาข้อมูลทุกอย่างเลยขอลงเว็บไว้ให้นะ เผื่อเป็นประโยชน์กับคนที่อยากไป)
https://theculturetrip.com/europe/malta/articles/the-top-10-things-to-do-and-see-in-gozo/
https://www.visitmalta.com/en/home
https://www.guidememalta.com/en/home
http://mymalta.guide/
https://vassallohistory.wordpress.com/
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in