เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
LifestyleMarija10
ชิมน้ำทะเลเมดิเตอร์เรเนียนที่ Malta (PART I)
  • รถเมล์ช้า ทะเลสวย แมวเยอะ ไอติมอร่อย ซุปเปอร์ขนมเพียบแต่ปิดวันอาทิตย์ เป็นมิตรกับLGBTQ+ 

    Ciao! 


    ตามชื่อเรื่องเลยเราจะมาลงบันทึกการเดินทางว่าด้วย ประเทศมอลต้า หรือ สาธารณรัฐมอลต้า 

    มอลต้าเป็นเกาะเล็กๆ ในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน (เราชอบทะเลเมดิเตอร์เรเนียนมากกก เรารู้สึกประทับใจมาตั้งแต่ป.4 เพราะชอบอ่านการผจญภัยของโอดิสซี เราเลยอินมาก ซึ่งไม่ได้เกี่ยวกะเกาะมอลต้าเลยแค่ตั้งอยู่ในทะเลเดียวกันแง) 
    เข้าเรื่องมอลต้าแบ่งเป็นเกาะเล็ก ๆ ได้อีกสามเกาะมีโกโซ โคมิโน และ มอลต้า  อยู่ใต้เกาะซิซิลีของอิตาลีส่วนทางใต้ของเกาะก็ใกล้กับประเทศตูนีเซียและลิเบียเมืองหลวงคือวัลเลตต้า ใช้เงินยูโร เป็นสมาชิกสหภาพยุโรปในปี 2004  มอลต้ามีประวัติศาสตร์ยาวนานมาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์มีหลักฐานทางโบราณคดีอยู่หลายแห่ง มีแม้กระทั่งหมู่บ้านโรมัน และผ่านร้อนผ่านหนาวมาทั้งอาหรับ ฝรั่งเศส อังกฤษ  ถ้าใครรู้จักคณะทหารองค์อธิปัตย์แห่งมอลต้า (Sovereign Military Order of Malta) ก็จะคุ้นหูกับชื่อประเทศนี้แน่นอน ซึ่งสมัยก่อนเขาก็จะอยู่ที่เกาะนี้กัน(หลังจากเกาะRhodesถูกตีแตก) ทำให้ที่นี่เป็นเหมือนป้อมปราการไปซะเยอะ 

    แผนที่มอลต้าอย่างคร่าวๆ (source)
    ผู้คนส่วนมากนับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก ผู้คนศรัทธาในศาสนามากๆ อย่างช่วงที่เราไปมีงานฉลองนักบุญลอเรนซ์พอดีเลย มีถ่ายทอดสดทางทีวีด้วย กับน่าจะเตรียมงานฉลองแม่พระเสด็จสู่สวรค์ทั้งกายและวิญญาณ แต่เราก็เจอโบสถ์ของนิกายแองกลิกัน Church of England (เรียกภาษาไทยยังไงดี คริสตจักรแห่งอังกฤษหรอ)เหมือนกันที่วาเลตต้าทั้งนี้เพราะว่าอังกฤษเคยยึดครองที่นี่  ส่วนอากาศค่อนข้างร้อน ร้อนมาก ร้อนที่สุด แต่ร้อนแบบแห้ง ๆ ผมไม่ค่อยมันตามสไตล์เมดิเตอร์เรเนียน หน้าหนาวที่นี่จะไม่มีหิมะ 
    **ที่นี่ใช้ปลั๊กแบบอังกฤษ เราแนะนำให้ทุกคนเตรียมซื้อไปเลยนะ เราซื้อเองที่นู่นตั้ง 8 ยูโร แง

    ระหว่างทางไปลงเรือเพื่อจะไปเกาะComino-Gozo

    ก่อนจะเข้าเรื่อง เราขอเริ่มที่การเตรียมตัวกันก่อน การไปมอลต้าครั้งนี้เป็นการออกนอกประเทศไปยุโรปครั้งของเราปกติไปเวียดนามก็หรูแล้ว และเวลาที่ไปเราถือว่าน้อยมาก อยากอยู่ซักสองสามอาทิตย์จะได้เที่ยวหลาย ๆ ที่ อาจได้ไปซิซิลีกับโครเอเชียเพิ่มด้วย ;( ก็คืออยากอยู่นาน ๆ แต่ไม่มีตังค์ 

    วิธีการทำเอกสารเข้ามอลต้า เราขอวีซ่าเชงเก้น แบบ C จากสถานทูตออสเตรีย นัดทางออนไลน์ตามที่สะดวก อันนี้เราเห็นบางคนขอแล้วไม่ผ่านเหมือนกัน แต่ของเราขอหนเดียวแล้วผ่านเลย เราคิดว่าเราไปแค่ที่เดียว มีที่พัก มีแผนการท่องเที่ยวที่ชัดเจน มีตั๋วไปกลับ Statement ใบรับรอง ประกันการเดินทาง ทุกอย่างค่อนข้างพร้อมเลยขอแล้วได้ในรอบเดียว ต่อมาคือเรื่องตั๋วเครื่องบิน เราเช็คในเว็บSkyscanerก่อนตามคำแนะนำของเพื่อนๆ แล้วไปจองกับสายการบิน Swiss Air คือขาไปเขาจะให้ไปกับลุฟทันซ่าลงที่สนามบินแฟรงก์เฟิร์ต แล้ว transit ไปลงที่มอลต้า ส่วนขากลับก็คือนั่งสวิสแอร์ ไปเปลี่ยนเครื่องที่ซูริค ส่วนที่พักเราก็จองเอาตามเว็บแบบบุ๊คกิ้งดอทคอมต่าง ๆ  ด้านการเดินทางเราใช้รถเมล์ในการท่องเที่ยวในมอลต้า ช้าหน่อย แต่ก็ประหยัดเงินดี

    รอ transit ที่สนามบินแฟรงก์เฟิร์ต

    พอถึงเวลาก็เดินทางไปมอลต้าต่อ ใช้เวลาจากสนามบินแฟรงก์เฟิร์ตไปสนามบินนานาชาติลูค่า(มอลต้า)ประมาณ 3-4 ชั่วโมง ลงมาเดินที่พื้นยังรู้สึกงง ๆ ลอย ๆ 

    ท้องฟ้าสวยมาก
    เห็นมอลต้าแล้ว

    สนามบินลูค่าต้อนรับเราด้วยวิวจากเมืองวาเลตต้าเลย มองไปทางขวาจะเจอลายพื้นท้องถิ่นมัลทีส ที่ได้รับอิทธิพลมาจากอาหรับ เราสามารถแยกออกได้โดยของอาหรับ (อย่างเช่นโมรอคโค) สีสันจะฉูดฉาดและลวดลายเยอะกว่าแบบมัลทีส

    พอไปถึงสนามบิน Luqa ก็เลือกได้ว่าจะนั่งรถเมล์(ตั๋ว 2.5 ยูโร) มีสาย X2 เข้าSliema หรือนั่งแท็กซี่ที่แพงหน่อย ส่วนเรา เรานั่งแท็กซี่ของ Maltatransfer อันเดรียส่งมารับ มาถึงโชเฟอร์ก็ซิ่งเลย รีบพาเราเข้าเมือง Sliema เมืองนี้จะเป็นเมืองที่เป็นเมืองใหม่ มีร้านค้า ผับบาร์ ร้านอาหาร ห้าง สำนักงาน โรงแรมกับอพาร์ตเม้นต์ จะมารวมอยู่กันที่เมืองนี้กันเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวโดยเฉพาะโซน St.Julians จะเป็นโซนท่องเที่ยวหน่อย มีสีสัน เราไปเดินเล่นมาแล้วชอบมากนึกอยากเสียดายทำไมไม่เลือกพักแถวนี้นะ 555 อีกทั้งยังมีคนหลากหลายชาติเข้ามาทำงาน ทั้งคนท้องถิ่น สเปน โครเอเชีย มาซิโดเนีย อังกฤษ อิตาลี เม็กซิโก ฯลฯ เราเลยเรียกติดตลกว่านี่มันเมืองสหประชาชาติชัด ๆ ! 

    บรรดานักท่องเที่ยวมารอขึ้นเรือไปเกาะโคมิโน่-โกโซ่

    ไม่ใช่แค่นั้นถึงแม้ว่ามอลต้าจะมีความศรัทธาในศาสนาที่เข้มข้น แต่มอลต้ากลับเป็นประเทศที่เป็นมิตรกับเหล่า LGBTQ+ ด้วย ประเทศมอลต้าเป็นตัวอย่างที่ดีที่เรามองว่าน่าจะเป็นต้นแบบให้กับนักเคลื่อนไหวต่าง ๆ ได้ และทำได้จริงเกิดกฎหมายรับรองการแต่งงานระหว่างเพศเดียวกันเมื่อปีที่แล้ว เว็บไซต์ Rainbow Europe จัดให้ประเทศมอลต้าอยู่ในอันดับ1 เมื่อเทียบกับอีก 49 ประเทศในยุโรป และเป็นอันดับ 1 ที่ IDAHOT (International Day Against Homophobia, Biphobia and Transphobia) ที่จัดอันดับในปี 2017 นอกจากนี้รัฐบาลมอลต้าได้ริเริ่มที่จะใช้เครื่องหมาย X เพื่อที่จะไม่ต้องระบุเพศใดเพศหนึ่งให้ชัดเจน (Gender Neutrality) ในเอกสารราชการ 

    รายละเอียดเพิ่มเติมสามารถอ่านได้ www.gayguidemalta.com เพราะว่าเว็บไซต์นี้จะเป็นเว็บที่อำนวยความสะดวกให้โดยรวบรวมที่พัก แหล่งท่องเที่ยว ร้านอาหาร ข้อมูลสำหรับชาว LGBTQ+ ที่จะมาเที่ยวในมอลต้า รวมไปถึงปฏิทินวันสำคัญต่าง ๆ จัดงานแต่งงานก็ยังได้


    การจัดอันดับโดย Rainbow Europe (source

    ที่วาเลตต้ามีงาน Pride เมื่อวันที่ 22-23 กันยายนที่ผ่านมา


    ท่าเรือแถวย่านที่เราพัก หลาย ๆ ลำเราเดินไปซื้อทัวร์ไปเที่ยวเกาะ Comino-Gozo กับเขาได้เลยก็คือจะออกเรือจากสลีม่าแทนที่เราจะต้องขึ้นรถบัสไปท่าเรือเฟอร์รี่ แต่ราคาก็แพงอยู่ ประมาณคนละ 35 ยูโร

    อย่างไรก็ดี แม้แต่ Sliema ที่ว่าเป็นเมืองใหม่ ก็มีประวัติศาสตร์ท้องถิ่น เช่นเดียวกับเมืองอื่นๆ เพราะในระหว่างที่มอลต้าถูกปิดล้อมในปี ค.ศ.1565 (The Great Siege of Malta) กองทัพอัศวินแห่งเซนต์จอห์นเอาชนะการบุกมาของกองทัพออตโตมัน เพราะเตอร์กุท ไรต์แม่ทัพคนสำคัญของออตโตมันถูกฆ่าตอนที่เหล่าอัศวินบุกตีค่ายของออตโตมันที่อยู่ตรงป้อมเอลโมที่อยู่อีกฝั่งของอ่าวMarsamxett (ก็คือป้อมที่อยู่ฝั่งเมืองวาเลตต้า) และในเวลาต่อมาเหล่าอัศวินก็สร้างป้อมเพิ่ม ชื่อว่าป้อม Tigne (เป็นโซนที่เราอยู่พอดี) ในช่วงปลายศตวรรษที่ 18 และได้รับการพัฒนาต่อไปเรื่อยๆโดยชาวอังกฤษที่เข้ามายึดครองเกาะแห่งนี้

    ป้อม Tigne ที่เราอยู่ก็จะอยู่ฝั่งตรงข้ามกับป้อมเซนต์เอลโมพอดี (source)

    ย่านที่เราอยู่ Triq Tigne เงียบมากก คนละเรื่องกับโซน St.Julians นานๆจะมีเสียงมอเตอร์ไซค์ขับผ่าน

    ส่วนที่มาของชื่อเมืองสลีม่า (Sliema) ได้มาจากชื่อของวิหารที่อุทิศให้กับ Lady of the sea ซึ่งเป็นชื่อโบราณที่หมายถึง พระแม่มารี (Our Lady Star of the Sea หรือในภาษาละตินคือ Stella Maris) ชื่อนี้ถ้าย้อนกลับไปสมัยต้นยุคกลาง เกิดจากความผิดพลาดระหว่างคัดลอกเอกสาร (เราคิดว่าก่อนยุคมีแท่นพิมพ์) เลยเกิดข้อสันนิษฐานถึงที่มาของชื่อ มารี (Mary) ที่สามารถเปรียบเทียบในฐานะ'ดวงดาวนำทาง'ไปสู่พระคริสต์ ด้วยที่มาแบบนี้พระนางมารีจึงเสมือนว่าเป็นผู้ปกป้องและนำทางนักเดินเรือ กะลาสี  โดยเฉพาะผู้อภิบาลทางทะเลของนิกายคาทอลิก (Apostleship of the sea) กับโบสถ์ที่ตั้งอยู่ตามชายฝั่ง มักจะมีชื่อเรียกว่า Stella Maris หรือ Star of the Sea 

    โบสถ์ Stella Maris (The Archpresbyterial church and matrice of Our Lady Star of the Sea) เริ่มสร้างขึ้นในปี ค.ศ. 1853-1855 โบสถ์แห่งนี้เป็นศิลปะแบบบาโรค ภายในได้รับการตกแต่งด้วยงานศิลปะที่หลากหลาย อย่างเช่นภาพเขียนของ Giuseppe Calì ศิลปินมัลทีส และยังมีประติมากรรมพระแม่มารีที่นำมาจากปารีสในปี ค.ศ.1891

    ทำไมเราถึงเกริ่นด้วยชื่อของพระแม่มารีก่อน เพราะว่าเมืองสลีม่า (Sliema) มีความเกี่ยวข้องกันกับความศรัทธาในศาสนาของเหล่าชาวประมงที่อาศัยอยู่บริเวณนี้ที่มีต่อคริสตศาสนา และแม่พระ พวกเขาจึงเริ่มสร้างโบสถ์แห่งนี้ขึ้นมา และชื่อ "สลีม่า" นี้เอง ก็เชื่อมโยงไปถึงวรรคแรกของบทสวดวันทามารีอา (Hail Mary) ในภาษามัลทีส “Sliem Għalik Marija” ซึ่งคำว่า Sliem ในภาษามัลทีสนั้น แปลว่า สันติ

    แต่สำหรับการท่องเที่ยวที่มอลต้า เรื่องภาษาแทบไม่ต้องกังวลเลยเพราะคนที่นี่พูดอังกฤษได้ ใช้ภาษาอังกฤษกับมัลทีสเป็นภาษาราชการ สำเนียงอาจฟังยากหน่อยแต่รู้เรื่องแน่นอน ผู้คนสดใสพร้อมจะช่วยเหลือนักท่องเที่ยว  ที่สำคัญเมืองนี้มีหมู่บ้านแมว น้องงง น้องเต็มไปหมด

    ประติมากรรมแมวสีสดใส ที่สวน Independence ผลงานของ Matthew Pandolfino

    น้องแมวส้ม

    ไม่ไกลจากโบสถ์ Stella Maris จะมีหมู่บ้านแมว ซึ่งหมู่บ้านแมวก็ตั้งอยู่ที่แถว ๆ สวน Independence จุดเริ่มต้นเราพยายามหาเป็นลายลักษณ์อักษรแล้วได้ความมาว่า เริ่มมาเมื่อ 40 ปีก่อน คุณป้าคนนึงเริ่มเอาอาหารมาให้แมวจร จากนั้นก็เริ่มมีการรับบริจาคผ้าห่ม กล่อง ตุ๊กตาต่างๆให้บรรดาแมว ปัจจุบันแมวพวกนี้ได้รับการฉีดวัคซีนและอยู่ในการดูแลของ PAWS Malta, Stray Animal Support Group (SASG) และ Animal Care Malta ถ้าใครอยากรับเลี้ยงก็สามารถพาน้องไปเลี้ยงได้ 

    น้องน่ารัก ไม่ดุเลย

    ด้วยความที่เราไปถึงก็ค่ำแล้ว เพราะเอาแต่เชื่อกูเกิ้ลแมพ เลยเจอน้องๆประปราย มารอคุณป้าที่ดูแลมาให้อาหาร บางส่วนก็นอนผึ่งพุง ถ้ามาตอนสว่าง ๆ  อาจจะเจอน้องเยอะกว่านี้ มีความคาเฟ่แมวแบบกลางแจ้ง แต่ก็ยังมีนายทุนบางคนต้องการที่จะเอาพื้นที่หมู่บ้านแมวไปสร้างสิ่งปลูกสร้างอื่น ๆ  อยู่เหมือนกัน เป็นข่าวเมื่อปลายปี 2017 (อยากอ่านคลิก

    ด้านหน้าของอพาร์ตเม้นต์ที่เราพักรถสีขาวจอดอยู่ เรานอนชั้นสอง

    อพาร์ตเม้นต์ที่เราอยู่เจ้าของเป็นคนสเปน ตกแต่งแบบพื้นเมืองมอลต้า ดูอบอุ่นน่ารัก 

    ช่วงแรก ๆ เราก็ไม่ได้เดินเล่นอะไรไกลมากยังคงอยู่ในสลีมา เดินหาซุปเปอร์ สำรวจที่ทางหาของถูก ๆ กันก่อน เพื่อจะฝากท้องเวลาหิว จริง ๆ แล้วร้านข้างทางก็มีเยอะอยู่ แต่ในซุปเปอร์ถูกกว่า บางอย่างก็ไม่ถึง 1 ยูโร เช่น ลาซานญ่ากล่องนี้ ละอีกสิ่งที่น่าสนใจคือซุปเปอร์ที่เราไปซื้อของ (Tower Supermarket) ไม่มีถุงพลาสติกให้ถ้าใครจะใช้ถุงก็คือต้องเสียเงินเพิ่มประมาณ 1 ยูโร ลูกค้าต้องพกถุงกันไปเอง ลดโลกร้อน ช้อนพลาสติกกับหลอดด้วย ไม่มีให้เหมือนกัน นอกจากจะกินไอติมถ้วยละร้านไอติมให้มา

    รสชาติเหมือนลาซานญ่าเนื้อมาตรฐานบ้านเรา ทานได้ อิ่มอร่อย จุกๆ

    ตบท้ายด้วยโยเกิร์ตรสพีชหวานหอม

    หรือถ้าใครไม่อยากกินในซุปเปอร์ ร้านตามข้างทางก็มีให้เลือก เบอร์เกอร์คิง พิซซ่าฮัท แมคโดนัลด์ ซับเวย์ เพียบบบ  ส่วนอาหารท้องถิ่น เราไม่ได้ลองระดับแบบ Main Course เพราะกลัวทานเหลือ แต่ที่เราเห็นบ่อย และเป็นของยอดฮิตวางขายทุกที่ เป็นสตรีทฟู้ดของมอลต้าเลยคือ Pastizzi กับ pastries ต่าง ๆ  พ่อเราซื้อพายไส้ผักโขมกับถั่ว (Maltese Peas Qassatat) พ่อบอกอร่อย (เพราะพ่อชอบกินถั่วแน่ ๆ )

    สตรีทฟู้ดที่พบเจอได้ทั่วไป

    Maltese Peas Qassatat

    จากที่เราเดินสำรวจกับพ่อบวกกับดูสารคดีที่อพาร์ทเม้นต์ เราพบว่าอาหารเหล่านี้ดู ๆ แล้วมีการผสมผสานอยู่มากจากอิทธิพลของอังกฤษ (อย่างการใช้มันฝรั่ง) แต่โดยส่วนมากอาหารของที่นี่มักได้มาจากการนำเข้ามาอีกที จากเราเดินซุปเปอร์เราจะเจอสินค้านำเข้าเยอะมากทั้งจากสเปน อิตาลี เยอรมัน ซึ่งเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ของชาวมอลต้า เพราะทำกันมาเป็นเวลานานแล้ว ส่วนวัตถุดิบที่ไม่ได้นำเข้าจะมีเนื้อกระต่าย ทั้งกระต่ายป่าและกระต่ายที่เพาะเลี้ยง อีกทั้งยังมีแพะ และแกะที่ชาวมัลทีสมักจะใช้น้ำนมของพวกมันมาทำชีส มีผักผลไม้บ้าง

    ส่วนอันนี้คือ Pastizzi วันนั้นเราว่าจะลองแต่ไส้ชีสหมด เราเลยอดกิน เลยเอารูปสีน้ำที่เราวาดมาใช้แทน ปกติมีไส้ชีสรีคอตต้ากับไส้ถั่วบดผสมพริก มีร้านขายอยู่ทั่วมอลต้า จนมีวลีเด็ดของผู้คนที่นี่ว่า 'Jinbieghu bħal pastizzi' หรือ 'ขายไวยังกับปาสติซซี่'

    พอลงรูปนี้ก็อดเล่าไม่ได้ ขนมPastizziเป็นอีกหนึ่งของอร่อยยอดนิยมของที่นี่ จากที่เราเล่าไว้ตอนต้นว่าเพราะมอลต้าอยู่ไม่ห่างจากเกาะซิซิลี และไม่ไกลจากประเทศตูนีเซียและลิเบีย ด้วยทำเลแบบนี้ทำให้มอลต้าได้รับความหลากหลายทั้งด้านวัฒนธรรม อาหาร ศาสนา 

    ซึ่งลักษณะทางภูมิศาสตร์ของมอลต้าเชื่อมโยงกับถึงที่มาที่ไปของ Pastizzi ถ้าเล่าอย่างคร่าวๆ อาจต้องย้อนไปถึงช่วงที่ชาวมุสลิมเข้ามาในเกาะซิซิลีแล้วลงมายังมอลต้า ช่วงนั้นประมาณค.ศ. 870 ในระหว่างสงครามอาหรับกับไบเซนไทน์ ชาวมุสลิมยึดเอาเมืองเอมดิน่า(Mdina) แล้วสถาปนาเป็นเมืองหลวงขึ้นในขณะนั้น ซึ่งช่วงนี้นี่เองที่เป็นส่วนหนึ่งในการถือกำเนิดรากของอาหารที่มีความคล้ายคลึงกับทางฝั่งอาหรับเช่นของหวาน เครื่องเทศ รวมไปถึงภาษามอลต้า เช่นเดียวกับขนมชนิดนี้ที่เป็นการผสมผสานระหว่างอาหรับและอิทธิพลจากอิตาลีใต้ 

    ท่าเรือระหว่างรอเรือข้ามออกไปวาเลตต้าเรตราคาจะอยู่ที่ป้ายบริเวณท่าเรือมีราคาตั๋วเที่ยวเดียวและไปกลับ ก่อนเดินทางไปวาเลตต้าเราแนะนำว่าเตรียมเงินไปให้พอดี แล้วกำชับพนักงานขายตั๋วว่าเที่ยวเดียวหรือไปกลับ เช็คเวลาให้ดีเพราะเรืออาจจะหมดรอบจ้า 
    (จริง ๆ นั่งรถเมล์ไปก็ได้ แต่ว่าต้องดูสายรถเมล์ก่อน)

    Tas-Sliema หรือ The Church Of Jesus Of Nazareth สร้างขึ้นโดย Marchese Ermolao Zimmermann Barbaro Di San Giorgio แต่ตอนเราไปเขาปิดอยู่เลยอดเข้าไปดูด้านในปิดพอดีเลยอด

    ออกมาจากที่พักไม่เท่าไกลมาก ก็มองเห็นเมืองหลวงของมอลต้าแล้ว 

    ระหว่างรอเรือข้ามฟากออก

    ภาพนี้ถ่ายได้มาแบบบังเอิญ

    เราพกภาพวาดสีน้ำมาด้วย

    เรือมาเทียบท่าแล้วววว

    วาเลตต้าจากด้านข้าง

    หลังจากเดินเล่นในสลีม่ากันตามสมควร เราขอเริ่มต้นการผจญภัยในเมืองหลวงของมอลต้า (ก่อนจะออกเดินทางไปชิมน้ำทะเลกันที่เกาะโคมิโน) นั่นคือเมือง 'วาาเลตต้า' ! 

    เมืองนี้เป็นหนึ่งในเมืองมรดกโลกที่ประกาศโดยยูเนสโก้เมื่อปี ค.ศ.1980 เพราะเป็นเมืองที่ยังคงรักษาสถาปัตยกรรมดั้งเดิม และผังเมืองเป็นตารางแบบบาโรคไว้ได้ ออกแบบโดย Francesco Laparelli วิศวกรและสถาปนิกประจำกองทัพชาวอิตาลี  ใช้เวลาก่อสร้างนานร่วมร้อยปี หลังจากเหตุการณ์การปิดล้อมมอลต้าในปีค.ศ. 1565 แกรนด์มาสเตอร์ฌอง ปาริโซต์ เดอ วาเลตต์และเหล่าอัศวินมีโครงการที่จะสร้างเมืองและป้อมขึ้นมาใหม่ เป็นที่สนใจของพระเจ้าฟิลิปที่ 2 แห่งสเปนและพระสันตะปาปาปิอุส ที่ 5 ดังนั้นพระสันตะปาปาปิอุส ที่ 5 จึงส่ง Francesco Laparelli มาออกแบบผังเมืองและสร้างป้อมปราการ เพื่อปกป้องคริสตจักร 

    Francesco Laparelli (source)

    ภาพถ่ายแนวสตรีทโดยพ่อเราอีกแล้ว

    การออกแบบผังเมืองวาเลตต้าทำให้เมืองนี้เป็นต้นแบบที่ดีของการวางผังเมืองสมัยใหม่ทั้งระบบประปา สุขาภิบาล เป็นเมืองที่มีอากาศถ่ายเท  แต่สุดท้ายแล้วแกรนด์มาสเตอร์ฌองไม่ทันได้เห็นเมืองใหม่เพราะเขาเสียชีวิตไปเสียก่อนในปี ค.ศ.1568 ส่วนสถาปนิก Laparelli ก็ออกจากเกาะมอลต้าไปในปี ค.ศ.1570 แล้วให้ Gerolamo Cassar ผู้ช่วยที่เคยทำงานอยู่ในโรม เข้ามารับช่วงต่อ (คนนี้จะเป็นคนสำคัญมาก ต่อวาเลตต้า แต่เราจะขอเล่าในพารากราฟต่อ ๆ ไป) 

    ในท้ายที่สุดช่วงปลายศตวรรษที่ 16 เมืองวาเลตต้าเริ่มสมบูรณ์ ค่อยๆขยายตัว ผู้คนเริ่มเข้ามาอยู่อาศัยในป้อมเพื่อความปลอดภัย


    ผังเมืองวาเลตต้า โดย  Francesco Laparelli,1566 (source)

    ส่วนชื่อของเมืองนี้มาจากชื่อของแกรนด์มาสเตอร์ฌอง ปาริโซต์ เดอ วาเลตต์ (Jean Parisot de La Valette) ที่เขาสามารถนำทัพอัศวินต้านกองทัพออตโตมันได้สำเร็จ ในสมรภูมิปิดล้อมมอลต้า (Great siege of Malta) ปี ค.ศ.1565 ซึ่งในขณะนั้นมอลต้าเป็นฐานที่มั่นของคณะอัศวินฮอสปิทัลเลอร์ ที่มาตั้งฐานทัพยังมอลต้า 

    ฮอสปิทัลเลอร์หรือคณะอัศวินแห่งนักบุญยอห์นผู้บัพติสมา เป็นคณะอัศวินวันที่ก่อตั้งประมาณ ค.ศ.1023 มีสมาชิกมาจากหลายอาณาจักรทั่วยุโรป เช่น กาสติล-เลออน อรากอน โพรวองส์ Auvergne (อ่านยังไงแงง) อิตาลี อังกฤษ และ เยอรมนี โดยมีผู้นำคือ Grand Master ทำหน้าที่คอยปกป้องคณะผู้แสวงบุญ ดูแลผู้ยากไร้ที่โรงพยาบาลอมาลฟิ สู้รบกับโจรสลัด ก่อนการขยายอิทธิพลของอาณาจักรเซลจูค(Seljuk) เข้ามายังตะวันตกและทะเลอีเจียนทั้งชาวคริสต์ มุสลิม และยิวต่างอยู่รวมกันในกรุงเยรูซเลม เมื่อกองทัพของจักรวรรดิเซลจูคบุกมายังเยรูซาเลม ฟากตะวันตกจึงเกณฑ์ไพร่พลไปต่อสู้ ซึ่งเป็นที่มาของสงครามครูเสดครั้งที่ 1 ค.ศ.1095 ในท้ายที่สุดกองทัพคริสตจักรตะวันตกเข้ามายึดครองเยรูซาเลมในค.ศ. ค.ศ.1099 

    อนุสาวรีย์ของแกรนด์มาสเตอร์ฌอง ปาริโซต์ เดอ วาเลตต์ (Jean Parisot de La Valette) ชนชั้นสูงชาวฝรั่งเศส หลังจากต่อสู้กองทัพออตโตมันได้สำเร็จ เขาได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าชายแห่งอาณาจักร์โรมันอันศักดิ์สิทธิ์ ได้รับการยกย่องเช่นเดียวกับพระคาร์ดินัล และชื่อของเขาก็คือที่มาของชื่อ 'วาเลตต้า' ชื่อเมืองหลวงของมอลต้า 

    รูปจตุรัส St.George รูปนี้แสงสวยดีเราเลยถ่ายเก็บมา

    ซึ่งก่อนหน้าที่เหล่าอัศวินถอยมาตั้งฐานที่มั่นที่มอลต้า พวกเขาต้องหลบหนีอิทธิพลของกองทัพมุสลิมที่ตีเยรูซาเลมแตก (ค.ศ.1291) มายังเกาะไซปรัส ด้วยแรงศรัทธาทางศาสนาจากคริสตศาสนิกชนทำให้กลุ่มฮอสปิทัลเลอร์ค่อยๆมีสมาชิกจากทั่วยุโรปที่เดินทางมาร่วมอุดมการณ์เพิ่มมากขึ้น เมื่อเหล่าอัศวินเริ่มมากันมากขึ้น แกรนด์มาสเตอร์กีโยม เด วิลาเรต์ จึงย้ายฐานจากเกาะไซปรัสไปยังหมู่เกาะโรดส์ และเมืองท่าอย่างโบดรัม คาสเตโลริโซบนคาบสมุทรอนาโตเลีย(บริเวณตุรกีในปัจจุบัน) จึงได้ชื่อเป็น 'อัศวินแห่งโรดส์' ในขณะที่อยู่ที่โรดส์แกรนด์มาสเตอร์ก็คิดไว้ประมาณว่าที่นี่อาจถูกกองทัพมุสลิมโจมตีได้เช่นกัน

    ซึ่งสิ่งที่แกรนด์มาสเตอร์กีโยม เด วิลาเรต์ กังวลก็เป็นความจริง เพราะในค.ศ.1522 สุลต่านสุไลมาน แห่งออตโตมันยกพลมาโจมตีเกาะโรดส์ในขณะนั้นอัศวินมีเพียงแค่ 7,000 คนเท่านั้น หลังจากสู้รบกับออตโตมันอย่างยาวนาน 6 เดือน สุดท้ายเป็นที่ประทับใจแก่สุลต่าน สุลต่านจึงอนุญาตให้เหล่าอัศวินลี้ภัยออกไป หลังจากเร่ร่อนในยุโรป เหล่าอัศวินต่างรวมตัวขึ้นมาใหม่ในปี ค.ศ.1530 โดยพระเจ้าชาร์ลสที่ 5 แห่งสเปน และผู้ปกครองเกาะซิซิลี ได้มอบเกาะมอลต้าและโกโซ เมืองตริโปลีให้กับเหล่าอัศวินพร้อมข้อแลกเปลี่ยนให้อัศวินส่งบรรณาการเป็นเหยี่ยวมอลต้ามาเป็นการตอบแทน 

    ภาพส่วนหนึ่งของทางเดินสุดเมื่อย (รูปนี้อันเดรียถ่าย) เหมือนที่เราเล่าไว้ว่าทั่ว ๆ มอลต้ามักจะเป็นป้อมปราการบนเกาะ จึงค่อนข้างสูง และชันมาก ๆ จนเราเดินเองยังแอบท้อ อันเดรียเลยยิงมุกว่าออตโตมันตีไม่แตกเพราะมอลต้ามีเขาและป้อมที่อยู่สูง ออตโตมันเหนื่อย บุกไม่ไหว  

    รูปนี้มีทั้งระเบียงแบบบาโรคและแบบพื้นเมือง (พ่อเราถ่ายอีกเช่นเคย)

    ตัวค้ำฐานระเบียงสุดอลังการแบบนี้ที่มอลต้าเรียกว่า Saljaturi เพื่อตกแต่งและใช้กระจายน้ำหนัก นิยมประดับด้วยประติมากรรมเพื่อความสวยงามและยังสามารถบ่งบอกสถานะของอาคารได้

    จุดสังเกตที่เราเห็นแล้วรู้สึกตื่นเต้นคือระเบียงบางส่วนใหญ่จะเป็นแบบศิลปะบาโรค แต่บางส่วนก็เป็นระเบียงไม้แบบมัลทีสที่เหมือนหน้าต่างที่ยื่นออกมา เราเลยสันนิษฐานตามประสาคนขี้สงสัยไปว่าหรือจะมาจากฝั่งอาหรับกันนะ เพราะเราเคยเห็นหน้าต่างลักษณะแบบนี้อยู่ในภาพเขียนที่เกี่ยวกับออตโตมันไม่ก็แอฟริกาเหนือ (โมรอคโค อียิปต์)

    ระเบียงหน้าต่างที่เราสันนิษฐานอยู่ด้านบนของภาพนี้ ส่วนภาพนี้ชื่อว่า Bazaar,Suez เป็นภาพสีน้ำโดย William Simpson จิตรกรชาวอังกฤษ 1884 (Source)

     พอเราไปลองค้นเพิ่ม เราเจอว่าระเบียงหน้าต่างแบบนี้เริ่มพบเห็นระเบียงลักษณะนี้ในช่วงกลางศตวรรษที่ 18 เป็นรูปแบบที่ได้รับอิทธิพลมาจากโมรอคโค(แอฟริกาเหนือ) จริง ๆ โดยมีชื่อแบบอาหรับว่าระเบียงแบบ  หรือ mashrabiya (Look-out place)   โดยปกติแล้วกรอบหน้าต่างแบบมัลทีสจะทำมาจากไม้ ภายใต้สีสันสดใสของหน้าต่างกลับเป็นกุศโลบายในสมัยก่อน(จริงๆก็พยายามจำกัดให้ผู้หญิงอยู่แต่ในบ้านนั่นแหละ) เพื่อให้ผู้หญิงที่อยู่ในบ้านสามารถมองออกไปด้านนอกได้ โดยที่คนข้างนอกไม่เห็นพวกเธอ 

    Muxrabija

    ถ้าเกิดผู้หญิงจะออกจากบ้านก็จะต้องสวม Ghonnella หรือ Faldetta ลักษณะคล้ายผ้าคลุมทำจากผ้าไหมหรือคอตตอน แต่มีโครงครอบศีรษะ ทำมาจากกระดูกวาฬ หรือไม่ก็ทำจากไม้ ที่จะคลุมรูปร่างและผมให้สตรีถ่อมตน ที่มาของผ้าคลุมแบบนี้ไม่แน่ชัดนัก บ้างก็เชื่อว่าเริ่มมีขึ้นช่วงที่ฝรั่งเศสยึดครองที่นี่ บ้างก็เชื่อว่าเป็นวัฒนธรรมที่พบเห็นได้ทั่วไปในเมดิเตอเรเนียน บางส่วนก็เชื่อว่ารับมาจากทางใต้ของอิตาลี แต่อย่างไรก็ดีลักษณะของผ้าคลุมที่ค่อนข้างกว้างทำให้ผู้สวมใส่ไม่สามารถมองเห็นสิ่งรอบ ๆ ได้ชัด ทำให้เคลื่อนไหวลำบาก โดยเฉพาะเวลาลมแรง เลยเสื่อมความนิยมไป

    Ghonnella หรือ Faldetta แต่ตอนที่เราไปก็ไม่ค่อยเห็นใครใส่ชุดนี้กันแล้ว แต่ถ้าเป็นสีดำหรือกรมท่าจะสวมใส่โดยทั่วไป ถ้าเป็นเจ้าสาวจะใส่สีขาว นอกจากนี้ยังมีสีน้ำเงินและสีเขียวอีกด้วย  (source)

    ทางด้านขวาระเบียงหน้าต่างแบบ muxrabija (พ่อเราถ่าย)

    ไกลออกไปคือธงของคณะทหารองค์อธิปัตย์แห่งมอลตา (Sovereign Military Order of Malta) 

    ตลอดทางเราจะได้เจอสถาปัตยกรรมแบบมัลทีสและบาโรค เรอเนสซอง และบางแห่งเป็นแบบ Neo-Classic ตามหัวมุมถนนประดับประดาไปด้วยประติมากรรมนักบุญ ทูตสวรรค์ แม่พระ เมื่อเดินไปเรื่อย ๆ ก็จะเจอโบสถ์ทั้งโบสถ์เล็กโบสถ์ใหญ่ ที่น่ารักก็คือบางโบสถ์จะคั่นด้วย Pet shop  

    St.Michael defeating Satan

    ส่วนโบสถ์ในภาพนี้คือโบสถ์ Our Lady Of Mt.Carmel หรืออีกชื่อหนึ่งคือ Carmelite Church เป็นโบสถ์ของศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก สร้างขึ้นประมาณ ปี ค.ศ.1570 สถาปัตยกรรมแบบบาโรค ออกแบบโดย Gerolamo Cassar (ผู้ช่วยของ Laparelli ผู้ออกแบบผังเมืองวาเลตต้าที่เราเล่าไว้ตอนต้นว่าเขาจะมีความสำคัญต่อสถานที่สำคัญอื่น ๆ ในวาเลตต้า) ต่อมาในช่วงศตวรรษที่ 17 โบสถ์หลังนี้ถูกส่งมอบให้คณะคาร์เมไลท์ (Carmelites-คณะภราดาพระนางมารีย์พรหมจารีแห่งภูเขาคาร์เมล) ต่อมาในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 โบสถ์หลังนี้ได้รับความเสียหายอย่างมาก จึงต้องสร้างขึ้นใหม่ตั้งแต่ ค.ศ. 1958-1981 ยอดโดมขนาดใหญ่ สูง 42 เมตรจึงทำให้โบสถ์เป็นจุดเด่นของอ่าว Marsamxett สูงกว่าหอคอยของโบสถ์นิกายแองกลิกันอีก สำหรับที่นี่ถ้าใครอยากแวะเข้าด้านในแต่งตัวเรียบร้อยซักหน่อยนะ เพราะเราเจอป้ายห้ามใส่สายเดี่ยว ส้นสูง ขาสั้น กระโปรงเหนือเข่า เหมือนศาสนสถานบ้านเรานี่แหละ

    ด้านนอกของโบสถ์ Our Lady Of Mt.Carmel โดมขนาดใหญ่ที่เหมือนเป็นเอกลักษณ์ของวาเลตต้าไปแล้ว

    ใต้ยอดโดมสูง 42 เมตร

    ผนังโบสถ์เป็นงานแกะสลักของ Joseph Damato อีกจุดที่โดดเด่นของโบสถ์คือการตกแต่งด้วยหินอ่อนสีแดง เราเข้าไปตอนมีมิสซาพอดี ก็เลยไม่ได้เดินสำรวจด้านใน แต่ว่าด้านในมีภาพเขียนแม่พระแห่งภูเขาคาร์เมลตั้งแต่ศตวรรษที่ 17 

    ใกล้สุด ๆ แล้ว แง

    ข้างในเงียบสงบมาก ๆ 

    เดินจากโบสถ์ Our Lady Of Mt.Carmel ไปไม่ไกลมาก ที่นี่ยังมีโบสถ์ของนิกายแองกลิกันอีกด้วย นั่นคือโบสถ์ St.Paul's Pro-Cathedral สถาปัตยกรรมภายนอกเป็นแบบNeo-Classic หรือแบบฟื้นฟูคลาสสิค (ฟื้นฟูกรีกโรมัน) ด้วยตัวอาคารที่มีลักษณะสมมาตร มีเสาสูงและด้านหน้าอาคารเป็นสามเหลี่ยมหน้าจั่ว ที่มาที่ไปของสร้างโบสถ์ St.Paul's Pro-Cathedral เกิดขึ้นจากพระราชินีหม้ายอะเดเลด (Adelaide)เห็นว่าที่มอลต้ายังไม่มีโบสถ์ของนิกายแองกลิกัน จึงเกิดความคิดให้สร้างโบสถ์แห่งนี้ขึ้นมา ออกแบบโดย William Scamp เริ่มก่อสร้างกันตั้งแต่ปี ค.ศ. 1839-1844 ในทีแรกจะใช้แบบของ  Richard Lankasheer แต่เพราะตัวอาคารอาจจะไม่มั่นคงจึงใช้แบบของ Scamp แทน  

    ก่อนหน้าที่นิกายแองกลิกันจะประกอบพิธีมิสซาในที่พักของแกรนด์มาสเตอร์ ส่วนในภาพจะมีหอคอยของโบสถ์ที่เป็นแลนด์มาร์คอีกแห่งในวาเลตต้า

    ลักษณะของศิลปกรรมยุคฟื้นฟูคลาสสิค จุดเด่นคือเสาสูงด้านหน้าและหลังคาแบบสามเหลี่ยมหน้าจั่ว

    อนุสาวรีย์ของ Dun Mikiel Xerri

    ด้านหน้าของโบสถ์ St.Paul's Pro-Cathedral มีอนุสาวรีย์ของบาทหลวง Dun Mikiel Xerri เป็นบุคคลสำคัญของมอลต้า เขาเปิดโรงเรียนเพื่อสอนหนังสือเด็กๆที่ด้อยโอกาส และเป็นผู้นำการประท้วงต่อต้านการปกครองของฝรั่งเศส ที่เข้ามาปกครองเกาะมอลต้าแล้วเอารัดเอาเปรียบชาวเมือง รวมถึงขโมยทรัพย์สินต่าง ๆ จากโบสถ์ แต่สุดท้ายการประท้วงไม่สำเร็จท่านจึงถูกสั่งประหารชีวิต ในปี ค.ศ. 1799 ไปในที่สุด ซึ่งหลังจากการตายของ Dun Mikiel Xerri ชาวมัลทีสคนอื่น ๆ พยายามหาทางที่จะขับไล่ฝรั่งเศสออกไป จนกระทั่งได้ความช่วยเหลือจากประเทศอังกฤษในเวลาต่อมา

    มีนักดนตรีที่เราสามารถพบเจอได้ทั่วเมือง

    ป้ายตรงประตูเป็นสัญลักษณ์ eight-pointed cross ของอัศวินแห่งมอลต้า 

    จากที่มีแต่เรื่องหนัก ๆ กันไปแล้วคราวนี้เรามาลงเรื่องเบา ๆ แบบร้านไอติมกันดีกว่าาาา อยู่ที่นี่เราได้กินไอติมเกือบทุกวัน ได้กินตั้งแต่ราคาไม่ถึงยูโร ไปจนถึงระดับแฟรนไชส์ไอติมเจลาโตจากอิตาลี เราพบว่ามันอร่อยหมดเลย ฮือ ขนาดไอติมตามรถไอติมริมหาดที่สลีม่าก็อร่อย บ้าจริง! ฝั่งสลีม่านะมีทั้งรสวานิลลาใส่ขนมสมาร์ตตี้ ช็อกโกแลตมิ้นต์ มีหลายรสมาก ๆ แต่ที่เราอยากแนะนำฝั่งวาเลตต้าคือร้าน Amorino เจลาโต้ดอกไม้สวย ๆ แต่เสียดายตรงที่ลมที่นี่ค่อนข้างแรง เราคิดว่าเพราะแผนผังของเมืองที่เป็นลายตารางทำให้ลมจากทะเลพัดผ่านจากด้านหนึ่งไปอีกด้านหนึ่งได้สะดวก ไอติมดอกไม้ของเราเลยละลายเร็ว รีบกินแค่ไหนสุดท้ายก็หยดใส่มือ 

    ร้าน Amorino จะอยู่ตรงข้ามกับร้าน Haagen-Dazs ร้านนี้มีน้องในทล.เราแนะนำมาเพิ่มว่ารสถั่วพิสตาชิโออร่อย แต่เราชอบกินพวกซอร์เบมากกว่าเลยเลือกแต่ซอร์เบมากินแง

    เรารอไอติมอย่างใจจดใจจ่อ (พ่อแอบถ่ายเรา!)

    เห็นแล้วอยากให้บ้านเรามีไอติมเจ้านี้บ้าง

    อันนี้พนักงานทำไอติมดอกไม้ให้เราอยู่

    เรียบร้อยยยย

    ส่วนรูปนี้คือร้านไอติมริมทะเลทางฝั่งสลีม่า

    น่ากินไปหมดเลย

    ถัดจากร้าน Amorino เราก็เดินมาที่จตุรัส St.George (หรืออีกชื่อนึงคือ Palace Square) ถ้ามาที่นี่ช่วงวันศุกร์สุดท้ายของเดือน จตุรัสนี้จะมีการเปลี่ยนเวรยามของกองทหาร ในเวลา 10.30 นาฬิกา โดยในขบวนจะมีวงดุริยางค์ (AFM Band) เริ่มเดินมาจากถนน Republic มายังจัตุรัส St.George 

    จตุรัส St.George ถ้ามาตอนเย็น ๆ จะน่านั่งกว่านี้เพราะรูปนี้เราถ่ายมาประมาณบ่าย ๆ แดดแรงมาก รูปสวยแต่ยืนนานไม่ได้เลย

    Grand Master/President 's Palace 

    ด้านนี้คือที่อยู่ของ Grand master ที่จะมาเป็นผู้ปกครองเกาะมอลต้า สร้างขึ้นระหว่างศตวรรษที่ 16-18  ยังคงเป็นผลงานการออกแบบของ Cassar ดูจากส่วนหน้าของอาคารทั้งหมดจะเป็นสถาปัตยกรรมแบบ Mannerism และบาโรค (Mannerism-จริตนิยม อยู่ช่วงปลายยุคเรอเนสซองแล้ว) แต่จุดเด่นของอาคารยังคงเป็นจุดเด่นแบบยุคเรอเนสซองอยู่ดี นั่นคือความสมมาตรของอาคาร หน้าต่าง ประตู ก่อนหน้านี้อาคารหลังนี้ได้เปลี่ยนเจ้าของมาหลายคน อย่างในค.ศ.1569 อาคารหลังนี้เคยเป็นของอัศวิน Eustachio del Monte และเป็นที่พักของกลุ่มอัศวินที่มาจากอิตาลี (แต่ในเวลาต่อมาเขาก็ย้ายไปอยู่ที่ใหม่) จนกระทั่งแกรนด์มาสเตอร์  Pierre de Monte ย้ายกองบัญชาการใหญ่ของคณะอัศวินมาอยู่ที่นี่แทน ในปี ค.ศ.1571 หลังจากนั้นที่นี่ก็กลายมาเป็นอาคารที่ทำการของรัฐบาลอังกฤษ ช่วงที่อังกฤษเข้ามาปกครองมอลต้า ซึ่งในช่วงนี้กมีเรื่องเล่าหลอน ๆ ว่าเคยมีผู้หญิงอังกฤษคนนึงได้ยินเสียงหมาแมวกัดกัน แต่พอออกไปก็ไม่เจออะไร บ้างก็เจอแมวยักษ์กระโดดใส่ (จริง ๆ เราค้นเจอเรื่องหลอนเต็มเลย แต่เราไปก็ไม่เจออะไรนะ 5555)

    ส่วนด้านในจริงๆเปิดให้เข้าชมในส่วนที่เรียกว่า Palace Armoury  แต่ว่าเราเหนื่อย เราเลยไม่ได้เข้าไป ถ้าได้ไปมอลต้าอีกเราจะไปที่นี่แน่นอน แล้วในปัจจุบันที่นี่เป็นออฟฟิศของประธานาธิบดีของมอลต้าด้วย 

    อาคาร The Main Guard หรือ Guardia della piazza 

    อาคาร The Main Guard อยู่ฝั่งตรงข้ามกับ Grand Master's Palace แต่ก่อนเมื่อปี ค.ศ.1603 มีไว้เหมือนกับป้อมยามหรืออาคารรักษาความปลอดภัยให้กับแกรนด์มาสเตอร์ที่มาปกครองมอลต้าในทีแรกอาคารหลังนี้ไม่มีระเบียงส่วนหน้า จนถึงช่วงอังกฤษเข้ามาปกครองใน ค.ศ.1800 ระเบียงส่วนหน้าของอาคารได้รับการตกแต่งเพิ่มเติมโดย Giorgio Pullicino สถาปนิกมัลทีส กับผู้พัน George Whitmore วิศวกรแห่งกองทัพอังกฤษ การต่อเติมครั้งนั้นทำให้อาคารมีรูปสลักอยู่ซึ่งเป็นตราแผ่นดินและจารึกของอังกฤษ เริ่มติดตั้งขึ้นในปี ค.ศ.1814 ปัจจุบันนี้เป็นที่พักของอัยการสูงสุด 

    เด็ก ๆ มาเล่นน้ำพุตรงจัตุรัสเพื่อคลายร้อน

    ร้านอาหารที่เจอได้เรื่อย ๆ ระหว่างที่เดินเล่น

    ตลอดทางนอกจากจะได้เห็นอาคารแบบมัลทีส บาโรค เราก็เจอร้านอาหารมากมาย ตามร้านต่าง ๆ ก็จะมีเมนูอาหารอิตาเลียนที่หาทานได้ง่ายที่นี่ กับอาหารพื้นเมืองมัลทีส นั่นคือเนื้อกระต่าย แต่อันนี้เราอดกินเพราะพ่อไม่ทาน เราก็เลยได้แต่มองป้าย อย่างในรูปด้านล่างนี้ก็คือคาเฟ่คอร์ดิน่า (Caffe Cordina) คาเฟ่และร้านอาหารของครอบครัวคอร์ดิน่า คาเฟ่นี้เป็นคาเฟ่ที่เก่าแก่ที่สุดในวาเลตต้า ก่อตั้งตั้งแต่ ค.ศ.1837 

    คาเฟ่คอร์ดิน่า คาเฟ่ที่เก่าแก่ที่สุดในวาเลตต้า

    ทั่วเมืองวาเลตต้าตอนนี้จะมีผลงานศิลปะการจัดวาง เป็นโปรเจค Kif jghid il-Malti มี 13 ชิ้น เป็นผลงานของ Joel Saliba ศิลปินมัลทีส ติดตั้งอยู่ทั่วเมืองวาเลตต้า โดยเปลี่ยนสำนวนมัลทีสให้กลายเป็นงานศิลปะผลงานทั้งหมดได้แรงบันดาลใจมาจากความสวยงามของภาษาและสำนวนมัลทีส ที่เรียกว่า qwiel ในรูปด้านล่างก็มาจากสำนวน Minn widna jidħol u mill-oħra joħrog 

    ส่วนบริเวณนี้ทั้งหมดคือ Main Squre สังเกตได้จากอนุสาวรีย์สมเด็จพระราชินีวิคตอเรียหน้าหอสมุดแห่งชาตินั่นเอง (โดนแย่งซีนไปแล้วด้วย555) จุดเด่นของอนุสาวรีย์พระราชินีวิคตอเรียก็คือสร้างมาจากหินอ่อน สร้างขึ้นในปีค.ศ.1891 สมัยที่อังกฤษปกครองมอลต้า เป็นผลงานของ Giuseppe Valenti ประติมากรจากซิซิลี บนตักของพระราชินีมีผ้าคลุมไหล่ลูกไม้แบบมัลทีสวางอยู่

    Bibliotheca คือ หอสมุด (Biblo หนังสือ Teca,Theca ไม่รู้จะอธิบายไงดี senseของคำนี้คือเหมือนสถานที่ที่รวมบางสิ่งไว้เป็นจำนวนมาก พอดีเห็นว่าใช้คำเดียวกะสเปนเราเลยพอเดาได้ ในที่นี้ก็คือหอสมุดแห่งชาติมอลต้า 

    วันที่เราเข้ามาเที่ยวในวาเลตต้าที่จตุรัส Royal Theatre (Pjazza Teatru Rjal) อยู่ตรงทางเข้าเมืองวาเลตต้า (ถ้านั่งรถเมล์มา) วันนั้นมีนักดนตรีมาเริ่มซ้อมพอดีเลย จริง ๆ แล้วโรงละคร open-air หลังนี้เคยเป็น Royal Opera House ที่ถูกระเบิดทำลายไปสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ตอน ค.ศ. 1942 เหลือทิ้งไว้แค่บางส่วนเท่านั้น อาคารหลังนี้เป็นแบบนีโอ-บาโรค ใช้สถาปนิกคนเดียวกันกับ Covent Garden Theatre ที่ลอนดอน คือ Edward Middleton Barry เริ่มสร้างในปี ค.ศ.1860 แต่เกิดความล่าช้าเพราะพื้นที่ลาดชัน จึงได้สร้างกันอย่างจริงจังในอีก 2 ปี ต่อมา ด้วยงบประมาณการสร้างที่มากถึง 60,000 ปอนด์ทำให้โรงละครเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์แต่สุดท้ายก็สามารถเปิดให้บริการได้ในปี ค.ศ.1866 ต่อมาในปี ค.ศ.1873 ด้านในของโรงละครถูกไฟไหม้จนวอด แต่ยังโชคดีที่เหลือส่วนหน้าและตัวอาคารด้านนอกที่ไม่ได้ถูกเผาเอาไว้ แล้วเปิดให้ทำการได้อีกครั้งใน ค.ศ.1877 

    เหลือเท่านี้แหละทุกคน

    Royal Opera House (ค.ศ.1873) ก่อนถูกทำลาย (Source)

    ในภาพนี้ทางขวามือคืออาคารรัฐสภา

    เสียดายที่วันนี้ไม่ได้เปิดน้ำพุ

    คงเป็นเพราะเรามาวันธรรมดา น้ำพุไตรตันอีกแลนด์มาร์คสำคัญที่ตั้งอยู่ตรงประตูเมืองเลยไม่เปิดน้ำ น้ำพุไตรตันเพิ่งได้รับการบูรณะไปไม่นานในช่วงที่วาเลตต้าได้เป็นเมืองหลวงแห่งวัฒนธรรมของยุโรปประจำปี 2018 ตัวน้ำพุเป็นการร่วมมือกันสร้างในปี ค.ศ. 1959 ระหว่าง Victor Anastasi ผู้ออกแบบ กับ Vincent Apap ประติมากร น้ำพุนี้ยังสื่อความหมายได้อีกว่า ไตรตันที่กำลังยกจานขึ้นเหนือหัว หมายถึงประเทศมอลต้าที่เป็นเกาะตั้งอยู่ในทะเลและมีความเกี่ยวข้องกับทะเลมายาวนาน  

    น้ำพุแรงมาก น้ำกระเซ็นใส่เราด้วย 5555

    แสงสวยอีกแล้ว แต่ดันถ่ายไตรตันหันหลัง

    รูปนี้เราถ่ายเมื่อวันอาทิตย์ เขาเปิดน้ำแล้ว

    มองออกไปเห็นอีกด้านของเมือง

    อนุสาวรีย์ Sir Paul Boffa

    อนุสาวรีย์ของ Sir Paul Boffa (Pawlu Boffa ค.ศ.1890-1962) ตั้งอยู่ที่จตุรัส Castille เป็นผลงานของ Vincent Apap ประติมากรชาวมัลทีสสร้างขึ้นในปี 1976 Boffa คือบุคคลสำคัญของประเทศมอลต้า Boffa เป็นนักการเมืองเขาเข้าร่วมกับพรรคแรงงานในปี ค.ศ.1923 และเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกของมอลต้าที่มาจากพรรคแรงงาน หลังจากมอลต้าได้สิทธิปกครองตนเองจากเจ้าอาณานิคมอังกฤษในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2  ระหว่าง ค.ศ.1947-1950 พอ Boffa ถึงแก่อสัญกรรมในปี 1976 ชื่อของ Boffa ได้กลายเป็นชื่อโรงพยาบาล Sir Paul Boffa Hospital จากชื่อเดิมคือ King George V (KGV) Hospital ผลงานที่น่าสนใจของเขาคือเขาเป็นผู้ผลักดันให้นำภาษามัลทีสเข้ามาใช้ในศาล เริ่มการศึกษาภาคบังคับ(ชั้นประถม) มีเบี้ยผู้สูงอายุ และเปิดโอกาสให้ผู้หญิงมีสิทธิในการเลือกตั้ง

    อนุสาวรีย์ของแกรนด์มาสเตอร์ฌอง ปาริโซต์ เดอ วาเลตต์ 

    ไม่ไกลกันเท่าไหร่ ที่จตุรัสเดอ ลา วาเลตต์มีอนุสาวรีย์ของแกรนด์มาสเตอร์ฌอง ปาริโซต์ เดอ วาเลตต์ ในมือขวาของแกรนด์มาสเตอร์ถือผังเมืองของวเลตต้า ส่วนมือซ้ายวางอยู่บนด้ามจับของดาบ จัดทำขึ้นโดย Guzeppi Chetcuti ประติมากรท้องถิ่นในปี 2012 แกรนด์มาสเตอร์วาเลตต์คือผู้ต่อสู้กับกองทัพออตโตมันในยุทธการการปิดล้อมมอลต้า ค.ศ.1565 และเป็นคนริเริ่มโครงการการสร้างเมืองวาเลตต้าเพื่อสร้างป้อมปราการให้กับยุโรป ปกป้องคริสตจักรจากการรุกรานของออตโตมันที่อาจเกิดขึ้นอีกในอนาคต 

    Church of Saint Catherine of Italy

    มุมซ้ายของรูปคืออนุสาวรีย์ของแกรนด์มาสเตอร์ฌอง ปาริโซต์ เดอ วาเลตต์ ถัดขึ้นไปก็คือ Church of St Catherine of Alexandria หรืออีกชื่อก็คือ Church of Saint Catherine of Italy โบสถ์หลังนี้เป็นโบสถ์ประจำของกลุ่มอัศวินจาก langue อิตาลี (langue หมายถึง กลุ่มของเหล่าอัศวินอาจมาจากอิตาลี,อรากอน ฯลฯ) และชุมชนชาวอิตาลีในมอลต้าในสมัยศตวรรษที่ 16 (ค.ศ.1576) สถาปนิกที่ออกแบบแปลนให้กับโบสถ์แบบาโรคหลังนี้คือ Girolamo Cassar หลังจากนั้นก็ได้รับการต่อเติมในศตวรรษที่ 17 และมีการบูรณะอีกครั้งในปี 2001 แล้วเสร็จในปี 2011 ปัจจุบันนี้โบสถ์นักบุญแคธเธอรีนยังคงเป็นโบสถ์ประจำชุมชนชาวอิตาลีในมอลต้าเหมือนสมัยศตวรรษ 16

     Auberge de Castille 

     ในบริเวณเดียวกันมีอาคาร Auberge de Castille ในสมัยก่อนเป็นอาคารที่พัก (Auberge ที่พักสำหรับอัศวินจากแคว้นต่าง ๆ ทั่วยุโรป ตั้งอยู่ทั่วไปทั้งใน Valleta และ Birgu) สำหรับอัศวินในคณะฮอสปิทัลเลอร์ที่มาจากโปรตุเกสและกาสติลและเลออน (สองแคว้นนี้ในปัจจุบันเรียกรวมเป็นแคว้นเดียวอยู่ในภาคตะวันตกค่อนไปทางเหนือเล็กน้อยของประเทศสเปน ฝั่งตะวันตกจะติดกับโปรตุเกส) ก่อนย้ายเมืองมายังวาเลตต้า ที่พักของอัศวินจากโปรตุเกสและกาสติลและเลออนอยู่ที่เมือง Birgu (หนึ่งใน Three cities แต่เราหารูปไม่เจอ น่าจะไม่อยู่แล้ว แง) ย้อนกลับมาที่อาคารหลังนี้ในวาเลตต้า ตัวอาคารได้รับการต่อเติมเป็นศิลปะแบบบาโรค อาคารสร้างขึ้นในค.ศ. 1573-1574 โดยสถาปนิกคนสำคัญประจำวาเลตต้าที่เราเล่าไว้ตอนต้นคนเดิม ก็คือ Girolamo Cassar  

    อีกมุมของ  Auberge de Castille 

    ต่อมาในช่วงฝรั่งเศสเข้าบุกและมายึดครองมอลต้าในปี 1798  Auberge de Castille กลายมาเป็นกองบัญชาการของกองทัพฝรั่งเศส และเป็นที่ทำการของคณะกรรมการทรัพย์สินแห่งชาติ อาคารหลังนี้เคยได้รับความเสียหายระหว่าง ค.ศ. 1798-1800 หลังจากนั้นเมื่อมอลต้าได้มาอยู่ภายใต้การคุ้มครองของอังกฤษ อาคารหลังนี้ก็เป็นกองบัญชาการของกองทัพอังกฤษในปี ค.ศ.1805 และเป็นที่พักของเจ้าหน้าที่อังกฤษที่ประจำอยู่ที่นี่ ปี 1840 ชั้นล่างของอาคารเปิดให้เป็นที่ประกอบมิสซาของศาสนาคริสต์นิกายโปรเตสแตนท์ ส่วนในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ค.ศ. 1942 ส่วนขวาของอาคารเสียหายจากการทิ้งระเบิดทางอากาศ แล้วได้รับการซ่อมแซม ปัจจุบันนี้เป็นที่พักและที่ทำงานของนายกรัฐมนตรีของมอลต้า (คล้ายทำเนียบขาวของสหรัฐอเมริกา)

    มาถึงบริเวณหน้าสวน Upper Barrakka มีชาวมัลทีสและนักท่องเที่ยวเยอะเป็นพิเศษเพราะมีเทศกาลไวน์ Delicata ส่วนตึกที่เหมือนโบสถ์ทางขวาคืออดีต Garrison Church สร้างขึ้นในปั 1857 ปัจจุบันเป็นอาคารตลาดหลักทรัพย์ของประเทศมอลต้า

    ถึงวันที่เราไปจะเป็นวันธรรมดาที่วาเลตต้าก็มีนักท่องเที่ยวเยอะมาก โดยเฉพาะในสวน Upper Barrakka เพราะวันนั้นที่สวนกำลังมีงานเทศกาลไวน์ (Delicata wine festival) พอดี เป็นงานที่จัดขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองอุตสาหกรรมไวน์ท้องถิ่นของมอลต้า ในงานจะมีอาหารนานาชาติ มีฟรีคอนเสิร์ต และไวน์หลากหลายประเภทเสิร์ฟในแก้วไวน์เลย ส่วนชื่องาน Delicata มาจากชื่อ Emmanual Delicata ผู้ผลิตไวน์มัลทีสคุณภาพดีเริ่มผลิตตั้งแต่ 1907 โดยเริ่มจากเป็นเพียงธุรกิจครอบครัว ขายจนกระทั่งมีไวน์ของ Delicata วางขายทั่วมอลต้าในทุกวันนี้ นอกจากงานนี้จะจัดที่สวน Upper Barrakka ก็ยังจัดที่ Nadur,Gozo ด้วยย

    บริเวณนี้เรียกว่า Terrace ทั้งหมดเลย

    เมื่อพ่ออยากเล่นคอนเสิร์ตบ้าง

    คอนเสิร์ตเล่นเพลงเก่า ๆ ด้วย คงประมาณ 70s เพราะพ่อเรารู้จัก

    มุมนี้ถ้ามองออกไปก็จะเห็น Grand Habour กับ Three Cities นอกจากนี้ในสวนยังมีลิฟท์ (เราไม่ได้ถ่ายรูปมา แง) ซึ่งเป็นลิฟท์เก่าแก่สร้างขึ้นและเปิดใช้ครั้งแรกในปี ค.ศ.1905 โดย Messrs. Joseph Richmond and Co. Limited แห่งอังกฤษ สร้างให้ Macartney, McElroy & Co. Ltd. ซึ่งเป็นบริษัทที่ขึ้นชื่อในการวางระบบรถราง (Tram) ในวาเลตต้า ต่อมาลิฟท์ได้ปิดตัวลงไปใน ค.ศ. 1973 แล้วถูกรื้อออกไปในปี ค.ศ.1983 จนกระทั่งกลับมาวางแผนสร้างขึ้นใหม่ในปี 2010 แล้วเสร็จในปี 2012 

    สวน Upper Barrakka อยู่ในป้อมเซนต์ปีเตอร์และเซนต์ปอล (สร้างขึ้นประมาณ 1560s) ฝั่งตรงข้ามของสวนนี้ มองออกไปจะเป็น Grand Habour เดิมทีสวนแห่งนี้สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่พักผ่อนของอัศวินฮอสปิทัลเลอร์ ที่มาจากอิตาลี (Langue Italy) จริง ๆ แล้วเหนือซุ้มโค้งขึ้นไปเคยมีหลังคา แต่ว่าถูกย้ายออกไปในปี 1775 แล้วจึงเปิดให้เป็นที่สาธาณะในช่วงที่ฝรั่งเศส เข้ามายึดครองมอลต้าช่วง ค.ศ.1800 

    ถ้าทุกคนเข้ามาในสวนแล้วก็จะเจอระเบียงและมีซุ้มโค้งในสวนสร้างในปี ค.ศ. 1661 โดย Fra Flaminio Balbiani อัศวินชาวอิตาลี ในสวนจะเต็มไปด้วยอนุสาวรีย์บุคคลสำคัญต่าง ๆ เช่น Sir Winston Churchil,Gerald Strickland และยังมีรูปปั้น Les Gavroches (The street boys) ของ Antonio Sciortino ประติมากรชาวมัลทีส ประดับอยู่ในสวนเช่นกัน ส่วนด้านล่างของสวนจะเป็น Saluting Battery สร้างขึ้นในศตวรรษที่ 16 ตามคำสั่งของคณะอัศวินฮอสปิทัลเลอร์ (Order of Saint John) โดยสร้างไว้ใกล้กับแนวปืนใหญ่ของออตโตมัน (Ottoman battery) ที่มีอยู่ตั้งแต่สมัยการปิดล้อมมอลต้า (Great Siege of Malta ค.ศ.1556) และสามารถมองเห็นป้อม St.Angelo 

    ทางซ้ายของภาพคือป้อม St.Angelo ของเมือง Birgu บริเวณน่านน้ำนี้เป็นท่าเรือธรรมชาติ

    บรรดาปืนใหญ่มีไว้เพื่อใช้ในพิธียิงสลุตและใช้ส่งสัญญาณ มีการใช้งานในช่วงที่มอลต้าถูกปิดล้อม ค.ศ. 1798–1800 และช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เคยถูกย้ายออกไปโดยกองทัพอังกฤษในปี 1954 แล้วได้รับการซ่อมแซมแล้วจึงเปิดเป็นสาธารณะในช่วงต้นศตวรรษที่ 21 นี้เอง ในปัจจุบันจะมีการยิงปืนใหญ่เหล่านี้ในตอนเที่ยงกับเวลาสี่โมงเย็นของทุก ๆ วัน

    ส่วนมุมที่มองจากสวน Upper Barakka จะเห็น ทั้ง Grand Habour ที่เป็นท่าเรือทางธรรมชาติ เริ่มใช้งานตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ และ Three cities จากภาพด้านบนซ้ายไปขวาคือ Birgu (Vittoriosa), Isla (Senglea) and Bormla (Cospicua) เมืองที่เก่าแก่ที่สุดคือ Birgu เมืองนี้ได้ผ่านการพัฒนามาหลายยุคสมัยตั้งแต่ชาวฟีนีเชียน กรีก โรมัน ไบเซนไทน์ อาหรับ นอร์มัน ฯลฯ พอเหล่าอัศวินต้องย้ายออกจากเกาะ Rhodes เพราะออตโตมันมาโจมตี ทำให้พวกเขาต้องย้ายออกมายังมอลต้า ที่แต่เดิมเมืองหลวงอยู่ที่ Mdina แต่ด้วยทำเลที่อยู่ไกลทะเล กลุ่มอัศวินจึงย้ายมาตั้งเมืองหลักกันที่ Birgu แทนและหลังจากเหตุการณ์ปิดล้อมมอลต้า ในปี ค.ศ.1565 เดอ วาเลตต์ จึงมีโครงการสร้างเมืองและป้อม ซึ่งก็คือเมืองวาเลตต้า ในเวลาต่อมา

    ป้อม St.Angelo ของเมือง Birgu ที่เริ่มสร้างกันตั้งแต่ช่วง 1530s-50s เพื่อป้องกันการบุรุกของกองทัพออตโตมัน

    และในฝั่ง Three Cities เองก็คือเป็นฝั่งที่เหล่าอัศวินใช้ตั้งฐานทัพ ต่อสู้กับกองทัพออตโตมัน ในศึกครั้งนั้นก่อนที่ออตโตมันพ่ายแพ้แล้วยอมถอนทัพกลับไป เป็นผลให้หลังจากสงครามครั้งนี้ฝั่งมอลต้าสูญเสียทั้งกำลังอัศวิน พลเรือนไปมากมาย 

    ส่วนเมืองที่อยู่ทางซ้ายสุดคือเมือง Kalkara  

    ถัดจาก Upper Barrakka เราเดินไปที่ Lower Barrakka ที่นี่เป็นสวนที่เหมือนสวนฝาแฝดกับ Upper-Barrakka แต่ว่าเงียบกว่ามาก ๆ Lower Barrakka จะอยู่ในป้อม St.Christopher ซึ่งถ้ามองออกไปก็จะเห็นทั้ง Grand Habour และ Three Cities เช่นเดียวกับที่ Upper Barrakka

    อนุสาวรีย์ของ Sir Alexander Bell

    จุดเด่นของสวน Lower Barrakka อยู่ที่ สถาปัตยกรรมคลาสสิคที่เป็นที่ตั้งของอนุสาวรีย์ของ Sir Alexander Bell นักการทูต,นักการเมือง และนายทหาร สร้างขึ้นในปีค.ศ.1810 เขาเป็นคนสำคัญอีกคนหนึ่งของมอลต้าเพราะเขาคือผู้นำชาวมัลทีสก่อจลาจลต่อต้านกองทัพฝรั่งเศสในปี 1798 ซึ่งสามารถขับไล่ฝรั่งเศสออกไปได้สำเร็จ หลังจากนั้นจักรวรรดิอังกฤษจึงเข้ามาปกครองมอลต้าแทน โดยมี Alexander Ball เป็นผู้ก่อตั้งคณะรัฐบาล 

    The Siege Bell memorial

    ใกล้กับสวน Lower Barrakka มี The Siege Bell memorial หรืออนุสรณ์เพื่อรำลึกถึงชาวมัลทีสที่เสียชีวิตไปในสงครามโลกครั้งที่ 2 ระฆังนี้มีขนาดใหญ่ที่สุดในมอลต้า จะตีในเวลาเที่ยงของทุก ๆ วัน เพราะในช่วงสงครามโลกครั้งที่  2 นั้นมอลต้าได้ถูกโจมตีจนเสียหายโดยเฉพาะในช่วงปีค.ศ. 1940-1943  

    วิวจากสวน Lower Barrakka

    ทางขวาของรูปมีงานประติมากรรมของ Michael Sandle เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ในปีค.ศ.1940-43 ที่มอลต้าถูกปิดล้อมและถูกทิ้งระเบิด 
    จริง ๆ แล้วในคืนนั้นจะมีการจุดพลุกันด้วย อันเดรียถามเพื่อนมัลทีสของเขามา แต่ดันเกิดเหตุสุดวิสัย เลยทำให้ต้องรอถึง 4 ทุ่ม กว่าจะได้ดูพลุ เรากะพ่อรอไม่ไหว ขอกลับก่อนดีกว่า 

    ว้า อดดูพลุ

    เจอแมว เรียกเราใหญ่เลย เราไม่มีอะไรให้กินหรอก 5555 ดูแล้วคงจะมีคนให้ของกินเยอะแน่ ๆ 

    รูปนี้ก็เป็นอีกรูปที่เราว่าได้ฟีลหนังเรื่อง Call me by your name ดี แต่อันนี้ที่มอลต้าไม่มีเอลิโอและโอลิเวอร์ แถมรูปนี้ยังได้เห็นความชันของวาเลตต้าด้วย เดินแล้วเหมือนได้ออกกำลัง ปล.พ่อแอบถ่าย

    เราขอจบ Part I ของเราไว้เท่านี้ก่อน เพราะกลัวจะยาวไป พาร์ทหน้าก็ยังคงอยู่ใน Valletta แต่เราจะพาไปดูภาพวาดของ คาราวัจโจ ศิลปินชาวอิตาเลียนชื่อดัง และ Blue Lagoon สุดสวยสถานที่ถ่ายทำเรื่อง Troy ปิดท้ายด้วยเมือง Gozo กับ Mdina 

    ตัวอย่างตอนต่อไป ได้ชิมน้ำทะเลแล้ว

    PART II

    แหล่งข้อมูล

    (รอบนี้บางเว็บเราใช้เว็บเดียวแล้วหาข้อมูลทุกอย่างเลยขอลงเว็บไว้ให้นะ เผื่อเป็นประโยชน์กับคนที่อยากไป)

    Resource777.(8 Sep. 2014).Knights of Saint John (Documentary EWTN). [Video file].Video posted to https://www.youtube.com/watch?v=vZ-gX1MqH9M&t=265s


    https://www.visitmalta.com/en/home

    https://www.guidememalta.com/en/home

    https://theculturetrip.com/europe/malta/articles/tour-vallettas-sculptures-statues/

    https://vassallohistory.wordpress.com/

Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in