Nec Spe, Nec Metu
No Hope No Fear
เวลาไม่สบายใจเราก็วาดรูป ถ้าไม่สบายใจจนวาดไม่ได้เดินดูงานแทนก็ได้
สวัสดีทุกคน เราหายไปนานมากกก (เพราะเอาแต่ไปแต่งจอยลดา555) เลยเพิ่งมาอัพ เมื่อวันที่ 2 มิถุนาที่ผ่านมา เราไปสอบแถวนานา สอบเสร็จละรู้สึกแย่มาก เหนื่อยสมอง มันท้อสุดๆ
เราก็เลยถือโอกาสแวะมาชมงาน Caravaggio Opera Omnia ที่หอศิลป์กทม. งานที่บางคนบ่นนั่นแหละ ว่าเอารูปมาใส่ตู้ไฟ แต่เราโอเคนะ อาจจะเพราะเข้าชมฟรีด้วยแหละ เลยรับได้ เพราะมันไม่ได้แย่ขนาดนั้นได้ยืนดูใกล้ๆไม่ต้องคอยหยอดเหรียญให้ไฟติดแค่แป๊บๆด้วย พูดแบบไม่เข้าข้างคือเอาของจริงมาจัดแสดงมันลำบาก มีหลายปัจจัยจริงๆ อย่างอากาศ ความชื้น แสงUV การจัดแสงของนิทรรศการ ที่ไม่อาจจะเอื้อเท่าที่ควร สามารถนำไปสู่ความเสียหายต่อชิ้นงาน ในฐานะที่เราวาดรูปและรักงานศิลปะเก่าๆ คงปวดใจถ้าเห็นงานพัง เราเลยคิดว่าไว้มีเงินค่อยตามไปดูของจริงก็ยังทัน (สำหรับเรา) วันนั้นเราไป คนก็เยอะอยู่เหมือนกัน อาจจะเป็นเพราะวันเสาร์ด้วย แต่ก็ไม่ได้แน่นมากจนเดินไม่ได้
บรรยากาศในงานที่เราไปวันนั้น
เรามาดูงานคาราวัจโจ ก็ต้องเกริ่นถึงเขาก่อนสินะ ได้! (เนี่ยติดพูดคนเดียว)
(ข้อมูลที่เราใช้ประกอบในบล็อกของเรา เราได้มาจากเอกสารของนิทรรศการและฟังบรรยายหัวข้อ “Palette of Darkness: จิตรกรรมและโลกทัศน์ของคาราวัจโจ”โดย คุณนที อุตฤทธิ์ ละก็เราไม่เรียงลำดับภาพก่อนหลังนะ จะไม่ลงทุกรูปด้วยเพราะขี้เกียจ ชอบอันไหนเป็นพิเศษก็ลง เอาจริงคือบล็อกนี้เหมือนทำไว้อ่านเอง 5555555 )
คาราวัจโจ หรือ มิเกลันเจโล เมริซี ดา คาราวัจโจ (Michelangelo Merisi da Caravaggio) ขอเสริมก่อนว่า 'ดา คาราวัจโจ' จะเป็นส่วนที่บอกว่าคนๆนี้มาจากที่ไหน เหมือน ลีโอนาร์โดแห่งวินชี อะไรแบบนี้ เขาเกิดเมื่อปีค.ศ.1571 ในทีแรกมีคนสันนิษฐานว่าเขาเกิดแถวตอนใต้ของเบร์กาโม(Bergamo-เบร์กาโม่จะอยู่ตอนเหนือของอิตาลี) แต่ก็มีหลักฐานใหม่มาว่าจริงๆแล้วเขาเกิดที่มิลาน ส่วน ดา คาราวัจโจ ก็คือชื่อหมู่บ้านที่แม่ของเขาพาเขาหนีจากโรคกาฬโรค เขาเลยเข้าใจว่าตัวเองเกิดที่นั่น พอหมดวิกฤติโรคระบาดเขาก็มายังมิลาน มาฝึกฝีมือที่สตูดิโอของเปเตร์ซาโน่ เขาเลยได้ฝึกวาดแบบสไตล์ลอมบาร์ด
ลักษณะงานแบบช่างลอมบาร์ด (Italian School Lombardy)
และอีกจุดเด่นหนึ่งของงานศิลปะในศตวรรษที่ 17 คือการใช้สีโดยสียอดนิยมในยุคนั้นคือโทนสี Iron Oxide ในแต่ละเมืองก็จะมีสีใช้แตกต่างกันถ้าเป็นเมืองท่าเช่น เวนิส ศิลปินมีโอกาสเข้าถึงสีที่หลากหลายกว่า และได้ใช้สีที่ราคาสูงเพราะบางสีอาจทำมาจากอัญมณีตรงกันข้ามกับคาราวัจโจที่จะใช้สีที่หาง่ายๆ มีส่วนผสมของตะกั่ว ที่มีราคาถูกมากกว่า
พออายุ 20 เขาก็ย้ายไปยังโรม ในปีค.ศ. 1592 ที่มีสถานะทางเศรษฐกิจที่ดีกว่ามิลาน อยู่กับพวกรับจ้างวาดรูปบ้าง อันธพาลบ้าง ใช้ชีวิตแบบสิ้นหวังและไร้ความกลัว เหมือนคติ Nec Spe,Nec Metu ของคนอิตาลีในตอนนั้น และเริ่มทำงานในสตูดิโอของ กาวาลิเยร์ ดาร์ปิโน เป็นที่แรก จนเขาได้กลายเป็นจิตรกรที่มีชื่อเสียงในเวลาอันรวดเร็ว
แต่นักประวัติศาสตร์ส่วนมากเห็นว่าประวัติของเขานั้นไม่ได้ชัดเจน มีแต่เรื่องคลุมเครือ คงเอามาเล่าในนี้เต็มที่เลยไม่ได้เพราะมันลอยมากๆ มีแต่ปากต่อปากเป็นส่วนมากอย่างที่ว่าชีวิตเขาโลดโผน พัวพันกับการไต่สวน และการคบคนที่ไม่น่าไว้วางใจ เขาถูกตัดสินโทษประหารชีวิตข้อหาฆ่าคนจากการทะเลาะวิวาท ในวันที่ 28 ตุลาคม ค.ศ.1606 เขาจึงต้องหลบหนีออกจากกรุงโรมและไปอาศัยอยู่ที่คฤหาสน์ตระกูลโกลอนนาเป็นเวลาหลายเดือน จนกระทั่งย้ายไปเมืองเนเปิลส์ และในปีค.ศ. 1607 คาราวัจโจตัดสินใจเดินทางไปมอลตา เขาเสียชีวิตเมื่ออายุได้ 38 ปี เมื่อ ค.ศ.1610
ไปๆมาๆเหมือนเรารู้จักเขาผ่านบันทึกอื่นๆเสียมากกว่า แม้แต่ผลงานบางชิ้นยังไม่แน่ใจว่าเป็นของเขาจริงๆ แต่อย่างไรก็ตามหลังจากเขาเสียชีวิตลงผลงานของเขาก็ได้กลับมาเป็นที่พูดถึงอีกครั้ง ด้วยเทคนิคและฝีมือทำให้เขาได้รับการยกย่องว่าเป็น Master of modern art เช่น การครอปภาพ ภาพของเขาเหมือนภาพ snapshot ซึ่งต่างกับงานจากศิลปินคนอื่นๆที่พยายามใส่ทุกอย่างลงในภาพของตัวเอง ด้วยเทคนิคแบบนี้นำไปสู่เกิดการเปลี่ยนแปลงศิลปะตะวันตกทั้งมุมมอง เทคนิคการการใช้แสง ใช้สี งานของมีอิทธิพลต่อศิลปินในยุคต่อๆไป
เมดูซ่า (ค.ศ.1598)
Medusa
ใส่มาเฉยๆให้ดูไม่มีตัวหนังสือหนาแน่น //โล่เมดูซ่าภาพนี้เราถ่ายมาเอง ของจริงจัดแสดงอยูที่หอศิลป์อุฟิซี เมืองฟลอเรนซ์ คาราวัจโจได้วาดลงบนโล่ทรงกลมตกแต่งด้วยขอบทอง ตามคำสั่งของพระคาร์ดินัล Francesco Maria Del Monte เป็นของขวัญให้ Ferdinando de’Medici โดยตัวของคาราวัจโจเองต้องการที่จะแข่งกับศิลปินคนอื่นๆ ด้วยการวาดภาพเมดูซ่ามีความแตกต่างออกไป เป็นภาพเมดูซ่าตาเบิกโพลงที่ถูกเพอร์ซิอุสฆ่าให้ดูสมจริงเหมือนคนที่ถูกตัดคอจริงๆ เพราะเขามักจะเข้าร่วมดูการประหารในที่สาธาณะที่ Campo de’Fiori ทำให้เขาได้เห็นคนที่ถูกประหารนั้นตอนตายตาไม่ได้ปิด นี่คือสาเหตุที่ต้องปิดตาคนที่ถูกประหาร และคาราวัจโจก็ไม่ปิดตาให้กับเมดูซ่าภาพนี้
ส่วนผลงานแรกๆของคาราวัจโจจะเป็นภาพบัคคัสน้อยไม่สบาย (The Young Sick Bacchus Italian: Bacchino Malato) ภาพนี้เราไม่ได้ถ่ายรูปมา เพราะตอนนั้นเมมจะเต็ม orz แต่เราก็ทำให้เราทึ่งพอสมควร เพราะผลงานชิ้นนี้แสดงให้เห็นว่าคาราวัจโจกล้าที่จะวาดเทพในรูปแบบที่มีความเป็นมนุษย์ มีการเจ็บป่วยได้ แก่ได้ เติบโตได้ขนาดนี้ ทำเอาเรานึกถึงงานในยุคเฮเลนิกของกรีก ที่มีประติมากรรมมนุษย์ทั้งหนุ่มสาว คนแก่ เทพเจ้า แต่จุดเด่นคือการสร้างสรรค์ผลงานในยุคนั้นศิลปินเริ่มใส่ความเป็นมนุษย์ให้กับเทพ เริ่มสร้างผลงานที่เป็นธรรมชาติมากขึ้น เช่น วีนัสกับแพนและอีรอส(ที่เหมือนแม่กับลูกจริงๆเพราะวีนัสถอดรองเท้าแตะจะตีแพน) ประติมากรรมหญิงขายผัก หรือประติมากรรมเลาคูนกับลูกชายที่ใบหน้าของเลาคูนนั้นบิดเบี้ยวเหยเก ทั้งหมดนี้โชว์ความงามและธรรมชาติของมนุษย์ผ่านทางศิลปะซึ่งยุคก่อนหน้าจะไม่มีผลงานลักษณะนี้ส่วนมากจะเน้นไปที่ความสมบูรณ์แบบมากกว่า และภาพนี้ยังตรงกับชีวิตของเขาซึ่งตอนอายุ 21 ปี เขาวาดภาพนี้ขึ้นขณะที่เขารับการรักษาอยู่ในโรงพยาบาลซานตา มาเรีย เดลลา คอนโซลาซิโอเน ซึ่งเป็นโรงพยาบาลสำหรับคนยากจนในกรุงโรม
ที่จริงเจ้าของภาพในตอนนั้นคือคาวาเลียร์ ดาร์ปิโน แต่เพราะพระคาร์ดินัลชิปิโอเน บอร์เกเซ ชื่นชอบผลงานของคาราวัจโจมาก จึงวางแผนจับกุมดาร์ปิโนข้อหาครอบครองอาวุธปืนผิดกฎหมาย เพื่อให้ดาร์ปิโนได้รับการประกันตัว รูปภาพทั้งหมดได้กลายเป็นของทรัพย์สินของสมเด็จพระสันตะปาปา ซึ่งเป็นแหล่งสะสมผลงานศิลปะของพระคาร์ดินัลนั่นเอง
ภาพต่อมาที่เราถ่ายรูปเก็บกลับมาคือ'เด็กชายกับตระกร้าผลไม้' เป็นอีกภาพในยุคแรกๆของคาราวัจโจ ที่พระคาร์ดินัลได้ไปพร้อมกับภาพบัคคัสน้อยไม่สบาย ภาพนี้นักวิจารณ์ต่างยกย่องว่าแสดงความเป็น School of Lombard ได้ดีมากๆ เพราะผลไม้ในภาพมีความเป็นธรรมชาติ อย่างพวงองุ่น ใบไม้ที่มีเชื้อรา ที่ชัดเจนมากๆ จนแทบจะบอกได้ว่าผลไม้สายพันธุ์ไหน
เด็กชายกับตะกร้าผลไม้ (ค.ศ.1593 -1594)
Boy with a Basket of Fruit
ปัจจุบันภาพนี้จัดแสดงอยู่ที่หอศิลป์บอร์เกเซ กรุงโรม เช่นเดียวกับภาพบัคคัสน้อยไม่สบาย
ต่อมาเราก็มาดูภาพนี้ ตามคำบรรยายเขียนไว้ว่าคาราวัจโจอาจพบชายหนุ่มผู้นี้อยู่ข้างถนนและใช้เขาเป็นแบบสำหรับเทพแห่งไวน์ บัคคัสในภาพแต่งตัวแบบชาวโรมันโบราณ สวมมงกุฎดอกไม้ที่ประดับไปด้วยองุ่นและใบไม้ ในมือถือแก้วไวน์ที่สวยงามที่มีไวน์แดงอยู่เต็มแก้ว ภาพนี้จะมีความคลาสสิค แต่ในบางรายละเอียดก็ยังคงมีความเป็นธรรมชาติ ความสมจริงของผลไม้ โดยเฉพาะเล็บที่สกปรกของบัคคัส ซึ่งรายละเอียดเหล่านี้ไม่เหมาะสมกับภาพลักษณ์ของเทพอย่างแน่นอน
บัคคัส (ประมาณ ค.ศ.1597)
Bacchus
โรแบร์โต ลองกิ (Roberto Longhi) รู้เป็นคนแรกว่าคาราวัจโจเป็นผู้วาดภาพนี้ ซึ่งโรแบร์โต ลองกิเป็นคนที่ชุบชีวิตผลงานอื่นๆของคาราวัจโจขึ้นมาใหม่หลังจากผลงสนของคาราวัจโจถูกละเลย หายสาบสูญไปตามกาลเวลาหลายร้อยปี
ภาพนี้จัดแสดงอยู่ที่ หอศิลป์อุฟฟิซี เมืองฟลอเรนซ์
แต่ถ้าถามเราว่าเราชอบผลงานแนวไหนของคาราวัจโจ ถ้านอกจากภาพความรักชนะทุกสิ่ง เราชอบผลงานจากประสบการณ์ข้างถนนของเขา เราว่าตลกดี เช่นภาพนักดูดวงที่กำลังจะขโมยแหวนของชายหนุ่มชนชั้นสูง ที่เดินทางจากต่างจังหวัดมายังกรุงโรม ระหว่างที่หมอดูกำลังเล่าถึงดวงชะตาของชายหนุ่ม มือของเธอก็ค่อยๆดึงแหวนออกมาจากนิ้ว ที่จริงมีภาพนี้มีสองแบบอย่างภาพที่เราถ่ายมาจะเป็นภาพที่ปัจจุบันอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ เบื้องหลังการมายังกรุงปารีสของภาพก็คือในปี ค.ศ. 1665 จาน ลอเรนโซ แบร์นินี ได้นำเสนอภาพวาดนี้ ณ ราชสำนักของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ส่วนภาพที่สอง ปัจจุบันนี้อยู่ที่พิพิธภัณฑ์ภาพวาดโรมคาปิโตลิเน เป็นของพระคาร์ดินัลเดล มอนเต กระทั่งทายาทของพระคาร์ดินัลขายให้พระคาร์ดินัลปิโอ และผลงานชิ้นนี้เองทำให้คาราวัจโจกลายเป็นที่รู้จัก ในฐานะจิตรกรที่น่าสนใจแห่งโรม และเริ่มมีความคิดที่จะออกจากสตูดิโอ
ผลงานลักษณะนี้มีอิทธิพลต่อจิตรกรจำนวนมาก มีภาพที่มีเนื้อหาแบบนี้ตามออกมาอีกมากมาย เรื่องตลาดๆวิถีชาวบ้าน กลายมาเป็นสิ่งน่าสนใจ จากแต่เดิมมีแต่ภาพของเทพ ราชสำนัก คาราวัจโจเปลี่ยนมานำเสนอภาพวิถีชีวิตผู้คนในท้องถนน แบบแฉนักดูดวง จึงสร้างความตื่นตาตื่นใจในขณะนั้น และแนวทางการสร้างสรรค์ผลงานของคาราวัจโจเองก็เป็นขั้วตรงข้ามกับจิตรกรแนวคลาสสิคในยุคนั้นที่จะนำเสนอด้านบวกของมนุษย์ (มนุษยนิยม) และจิตรกรคลาสสิคจะใช้การคัดลอก ปรับปรุงภาพชิ้นเอกในอดีต มาปรับปรุงเพิ่มเติม แล้วมาสร้างเป็นงานชิ้นใหม่ ซึ่งคาราวัจโจไม่ทำแบบนั้น เขาใช้แบบจริงๆมาวาดภาพ เขาไม่อิงกับงานชิ้นเอกที่มีมาก่อน เขาใช้แบบเป็นคนทั่วๆไป ชาวบ้านร้านตลาดมาวาดเป็นแบบในงานของเขา บางครั้งก็ใช้โสเภณีบ้าง ขอทานบ้าง ซึ่งทำให้จิตรกรแนวคลาสสิคหรือผู้จ้างไม่ชื่นชอบแนวทางการสร้างสรรค์ผลงานของคาราวัจโจเท่าไรนักจนต้องแก้งานใหม่ หรือเพิ่มรายละเอียด ลองคิดดูว่าพระแม่มารีมีต้นแบบเป็นโสเภณี หรือนักบุญปีเตอร์มีต้นแบบมาจากขอทาน คนสมัยนั้นคงรับไม่ได้กัน
หมอดู (The Fortune Teller) ภาพนี้จัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ แต่เราถ่ายมาจากนิทรรศการเอง วาดขึ้นในปี ค.ศ.1595
ระวังนะ !
ส่วนภาพคนโกงไพ่ ก็มีข้อสันนิษฐานกันว่านายแบบ(ชายหนุ่มสูงศักดิ์)เป็นคนเดียวกับภาพนักดูดวง ซึ่งเป็นเพื่อนสนิทของคาราวัจโจ นั่นคือ มาริโอ มินิติ จิตรกรชาวซิซิลี
ภาพคนโกงไพ่ (ค.ศ.1595-1596)
The Cardsharps
ระวังจ้า มันโกงแล้ววววว
แต่อย่างไรก็ดีถึงแม้ว่างานของเขาอาจไม่เป็ที่ถูกใจของศิลปินขนบเก่า (คลาสสิค) แต่ทว่างานของคาราวัจโจ กลับเป็นที่ชื่นชอบในหมู่ศิลปินหัวก้าวหน้าในสมัยนั้น เพราะความร่วมสมัยทำให้งานของเขาถูกศิลปินเหล่านี้มาคัดลอก และทั้งสองภาพนี้แสดงชีวิตร่วมสมัย วิถีชีวิตที่ต่อสู้ดิ้นรนของมนุษย์กับมนุษย์ด้วยกัน ซึ่งสมัยก่อนหน้านี้จะเป็นภาพระหว่างเทพกับมนุษย์ ทำให้งานของคาราวัจโจเชื่อมโยงกับชีวิตจริง ใครเห็นก็สามารถเชื่อมโยงกับตัวเองได้ทันที มีส่วนร่วมมีอารมณ์ร่วมไปกับงานได้ง่ายกว่า โชว์ความไม่สมบูรณ์แบบของมนุษย์ออกมา แม้แต่ถุงมือของอัศวินก็ไม่ได้สมบูรณ์แบบ จริงๆภาพเด็กถูกจิ้งเหลนกัดก็จัดในหมวดภาพประเภทนี้เช่นกัน
พอคาราวัจโจเริ่มมีชื่อเสียงผลงานของเขาก็ยกระดับขึ้นไปอีก เขาวาดภาพเชิงประวัติศาสตร์ ศาสนา เรื่องราวที่เกี่ยวกับเทพปรณัม ทำให้สถานะการเป็นศิลปินของเขามั่นคงมากขึ้น คนเคารพนับถือ ได้เงินมากขึ้น โดยเขาวาดภาพจากพระคัมภีร์และยังคงแนวทางการสร้างสรรค์ผลงานของเขาไว้อย่างเหนียวแน่น ยิ่งทำให้เขามีชื่อเสียงโด่งดังมากๆในโรม บวกกับอิทธิพลของผู้ว่าจ้างเข้าไปอีกทำให้ผลงานของเขาได้รับการเผยแพร่ มีผู้คนมากมายพบเห็นงานของเขา
ภาพ พระเยซูเรียกนักบุญมัทธิว (ค.ศ. 1599-1600)
The Calling of Saint Matthew ภาพนี้ก็ยังคงมีความเป็นธรรมชาติ ดูได้จากสีหน้าของนักบุญมัทธิวที่ชี้ตัวเองว่า ข้ารึ อะไรแบบนี้ 555
อีกจุดที่น่าสนใจในผลงานของเขาคือ คาราวัจโจได้นำเอาเทคนิคแบบลอมบาร์ดมาใช้ร่วมกับเทคนิคใหม่ที่เขาได้มาจากการสังเกต นั่นคือการสร้างจุดเด่นในภาพด้วยการใช้แสงสว่างในที่มืด (Tenebrism : ในภาษาอิตาเลียน แปลว่า ความมืด ความลึกลับ) ทำให้ภาพของเขามีความศักดิ์สิทธิ์และน่าสนใจมีอารมณ์ ความ Dramatic มีจุดโฟกัสลดความซับซ้อนของสิ่งไม่จำเป็นในภาพ จากผลงานเหล่านี้ทำให้เขาได้รับการสรรเสริญว่าเป็นผู้ชุบชีวิตให้กับงานศิลปะ เพราะหลังจากยุคเรอเนสซอง ในยุคนั้นจิตรกรนำเอาศิลปะคลาสสสิคมาตีความใหม่ นำเอาควาามรู้ของกรีก โรมัน( เช่น ภาพเขียนในปอมเปอี) มาฟื้นฟูแนวคิด ไม่ใช่แค่ด้านงานศิลปะแต่รวมไปถึง เทคนิคทั้งด้านสถาปัตย์ ประติมากรรม เกิดการลอกภาพของราฟาเอล ของดาวินชี่ นำมาวาดใหม่ พอมีงานแบบคาราวัจโจเข้ามา งานของเขาเลยแตกต่างออกไปจากขนบเก่า จึงสร้างความฮือฮาให้กับผู้คนในตอนนั้น
ภาพ การพลีชีพของนักบุญมัทธิว (ค.ศ. 1599-1600)
The Martyrdom of Saint Matthew
แต่เมื่อมีคนชอบ ก็ย่อมมีคนไม่ชอบ ทั้งสองภาพนี้ได้รับคำชื่นชมจากศิลปินอาวองการ์ด หรือศิลปินหัวสมัยใหม่ แต่ทว่างานทั้งสองชิ้นก็ไม่เป็นที่ถูกใจผู้อุปถัมภ์ศิลปะบางราย เพราะคาราวัจโจทำฉากที่ควรจะศักดิ์สิทธิ์ให้กลายมาเป็นภาพในชีวิตประจำวัน อย่างภาพ พระเยซูเรียกนักบุญแมทธิว ท่านก็เดินมาเท้าเปล่า ดังที่เราเขียนไว้ก่อนหน้า นอกจากนี้คาราวัจโจมักจะใช้แบบมาจากคนจริงๆมาเป็นแบบแทนพระเยซู แทนเทพ เเทนพระแม่ แล้วเวลาเขาทำงาน เขาจะไม่ Drawing หรือร่างงานก่อนเลย ซึ่งการทำงานแบบคาราวัจโจถือว่าผิดแผกออกไปจากเดิมมาก ผิดกฎไปจากศิลปินที่ดีในยุคนั้น เลยทำให้เขาถูกตำหนิ หลายครั้งที่มีคนตั้งคำถามว่าทำไมเขาไม่ใช้แบบจากงานศิลปะเก่าๆมาวาดใหม่ เขาก็เห็นว่าไม่มีความจำเป็นเพราะเขาสามารถหาแบบได้มากมายจากท้องถนน เขาพยายามนำโลกความเป็นจริง มาเชื่อมโยงกับโลกศิลปะของเขา
การเปลี่ยนศาสนาของนักบุญเปาโล (ค.ศ.1600-1601)
The Conversion of Saint Paul
การเปลี่ยนศาสนาของนักบุญเปาโลขณะเดินทางไปดามัสกัส (ค.ศ.1601)
The Conversion of Saint Paul on the Way to Damascus
ภาพนี้กลับได้รับการถูกตำหนิเช่นเดียวกับผลงานชิ้นอื่นๆของเขา เพราะเขาให้ความสำคัญกับม้ามากกว่านักบุญเปาโลที่นอนอยู่ที่พื้น
หลังจากนั้นผลงานของเขาก็เริ่มเพิ่มความโหดมากขึ้น เช่นภาพจูดิธกับโฮโลเฟอร์เนส ภาพนี้มีศิลปินหลายคนวาดไว้แล้ว แต่คาราวัจโจวาดออกมาได้สมจริง น่ากลัว สะเทือนอารมณ์ ซึ่งงานลักษณะนี้ของเขาขัดแย้งกับผู้ว่าจ้างอย่างชนชั้นสูง นักบวช เพราะพวกเขาต้องการเอางานของคาราวัจโจไปติดตั้งในศาสนสถาน หลายครั้งงานของเขาถูกปฏิเสธ เนื่องด้วยงานของเขาสมจริงเกินไป จนแสดงความเคารพศาสนาไม่เพียงพอ เขาวาดนักบุญออกมาเหมือนคนเดินถนนทั่วไป จนบางครั้งเขาต้องเอาภาพกลับไปแก้ไข ส่วนที่ขายไม่ออกก็เก็บไว้ไปขายลูกค้ารายอื่น เช่น ภาพ The Inspiration of St.Matthew ที่ถูกปฏิเสธ หรือ The Death of Virgin ก็เช่นกัน ซึ่งใน 5 ปีต่อมาภาพ The Death of Virgin ไม่ได้รับการยอมรับเพราะคาราวัจโจใช้โสเภณีที่เป็นที่รู้จักมาเป็นแบบในการวาดพระแม่มารี ซึ่งทำให้พระองค์หมดความศักดิ์สิทธิ์ เหมืือนภาพการตายของผู้หญิงธรรมดาคนหนึ่งไม่มีทูตสวรรค์รายล้อม แต่ในท้ายที่สุดรูเบนส์ ก็แนะนำให้ขุนนางแห่งมานทัวร์ จนสุดท้ายกลายมาเป็นสมบัติของพิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ ในค.ศ. 1671
จูดิธตัดหัวโฮโลเฟอร์เนส (ค.ศ. 1600)
Judith Beheading Holofernes
นักบุญมัทธิวและเทวทูต (ค.ศ.1602)
Saint Matthew and the Angel
ภาพนี้เป็นแบบที่แก้ไขแล้วจากภาพเดิมที่นักบุญมัทธิวเหมือนคนธรรมดาเกินไปและทูตสวรรค์ก็ดูยั่วยวน
ภาพนี้ก็เช่นกัน ทั้งพระบุตรและพระเเม่มารีไม่ต่างกับคนธรรมดาเลย โดยภาพนี้จริงๆแล้วจะต้องนำไปติดตั้งที่แท่นบูชาของที่โบสถ์น้อยปาลาเฟรนิเอรี ในมหาวิหารเซนต์ปีเตอร์ในกรุงโรม แขวนได้เพียง 2 วันก็ต้องเอาลง เพราะพระคาร์ดินัลรับไม่ได้ ซึ่งนักประวัติศาสตร์ศิลปะด้านผลงานคาราวัจโจในยุคร่วมสมัย เชื่อว่าเหตุผลที่นักบวชเหล่านั้นปฏิเสธภาพวาดนี้ เพราะว่ามีการ “ลดทอนความศักดิ์สิทธิ์” คือ พระกุมารในภาพเปลือยให้เห็นอวัยวะสืบพันธุ์อย่างชัดเจนคล้ายกับภาพ ความรักชนะทุกสิ่ง การมีงูเลื้อยอยู่บนพื้น และทรวงอกของพระแม่มารีย์ที่เอ่อล้นออกมายามค้อมตัวมาประคองบุตรชายนั้นอาจไม่เหมาะสมกับสถานที่ และขัดกับตำแหน่งที่ภาพจะไปประดับ ซึ่งสำหรับคาราวัจโจเองภาพแม่เลี้ยงลูกแบบนี้ก็พบเห็นได้ทั่วไป แต่เมื่อเขายิ่งถูกปฏิเสธงานคาราวัจโจก็ยิ่งมีชื่อเสียง คนก็จะยิ่งอยากเข้าไปดู
พระแม่มารีย์และพระกุมาร พร้อมกับนักบุญแอนน์ (ค.ศ.1604 - 1606)
Madonna and Child with St.Anne
มาพูดถึงงานที่เราชอบมากๆดีกว่าเราชอบภาพความรักชนะทุกสิ่ง หรือ Amor Victorious (Amore vincitore -Omnia vincit amor) ภาพนี้เป็นภาพที่คาราวัจโจวาดขึ้นมาเองโดยไม่ได้มีใครว่าจ้าง เขาสามารถใส่ความคิดมุมมองของเขาลงไปได้เต็มที่ เด็กชายในภาพก็คือ Cecco ซึ่งเป็นลูกศิษย์ของเขาเอง ภาพนี้เป็นภาพคิวปิดยืนเปลือย ยืนเหนือศิลปะวิทยาการต่างๆ ซึ่งศิลปะวิทยาการในงานของคาราวัจโจคือเครื่องดนตรี โน้ตเพลง และงานชิ้นนี้แสดงสัญลักษณ์ทางเพศทั้งชายและหญิง(ที่รอยยับของผ้า)
ความรักชนะทุกสิ่ง (ค.ศ.1602)
Amor Victorious
ศิลปะวิทยาการต่างๆ ที่กองอยู่ที่พื้น
ในช่วง 10 ปี ให้หลังเขาหนีความผิดเพราะพลั้งมือฆ่าลานุชชิโอ โธมัสโซนี หลังขัดแย้งในเกมเทนนิส โดยปกติแล้วไม่ว่าเขาจะมีปัญหาหรือทะเลาะเบาะแว้งกับใคร เขาก็มักจะรอดเพราะมีผู้มีอิทธิพลหนุนหลังอยู่ แต่ครั้งนี้เป็นคดีที่มีคนตายจึงไม่มีใครอยากจะช่วยให้เขาพ้นความผิด เขาจึงต้องหนีไปเนเปิลส์ อยู่กับตระกูลโคโรนาให้เขาอยู่ในการคุ้มครอง 3 เดือนต่อมาเขาก็เดินทางต่อไปยังมอลต้า เพื่อไปหาอะลอฟ เด วิกญาคอร์ท เป็นแกรนด์มาสเตอร์แห่งรัฐอธิปไตยทหารแห่งมอลตา (ค.ศ. 1601 – 1622) และเป็นเสาหลักแห่ง กลุ่มอัศวินแห่งมอลต้า (Malta Knights of St.John) สาเหตุที่เขาไปหาอะลอฟก็เพื่อให้ติดต่อกับทางโรม ให้อภัยโทษแก่เขา
ภาพวาดเหมือนของอาลอฟ เด วิกญาคอร์ท และเด็กรับใช้ (ค.ศ.1608)
Portrait of Alof de Wignacourt with his Page
ขณะสวมชุดนักรบเหล็กสีทองโลหะจากยุคศตวรรษที่16 ในมือของวิกญาคอร์ทถือสัญลักษณ์ของผู้บัญชาการแห่งกองทัพบกและกองทัพเรือมอลต้า และเด็กรับใช้ทางขวาถือหมวกเกราะ
รายละเอียดของเกราะ
ผลงานที่คาราวัจโจสร้างขึ้นที่มอลต้า และเป็นภาพที่เขาเซ็นชื่อเอาไว้ภาพเพียงภาพเดียวนั่นคือ การตัดศีรษะนักบุญจอห์นผู้ให้บัพติศมา (ค.ศ.1608) ลายเซ็นของเขาจะอยู่ที่เลือดของนักบุญจอห์น ในขณะนั้นคาราวัจโจเป็นอัศวินแห่งองค์การเซนต์จอห์น และผู้พิทักษ์อะลอฟ เด วิกญาคอร์ท ผู้ซึ่งเป็นนายสูงสุดของอัศวิน การวาดฉากภาพนี้โดยให้อยู่บนสถานที่อันทรงเกียรติซึ่งเป็นอาสนวิหารวัลเลตตา นำเกียรติยศมาสู่คาราวัจโจมากกว่าแค่ค่าจ้างที่เขาได้รับ และยังได้รับยศอัศวินในองค์การนักบุญจอห์นจากนายของเขาอีกด้วย แต่หลังจากสร้างความประทับใจให้กับชนชั้นนำในมอลต้า เขาก็ก่อเรื่องทะเลาะวิวาทอีกครั้ง จนต้องทำให้เขาถูกถอดยศ และถูกขับไล่ออกจากมอลต้า แล้วเดินทางไปยังซิซิลี
ภาพการตัดศีรษะนักบุญจอห์นผู้ให้บัพติศมา (ค.ศ.1608)
The Beheading of Saint John the Baptist
นักบุญเจอโรมเขียนหนังสือ (ค.ศ.1608)
Saint Jerome Writing
ภาพนี้อยู่ที่หอสวดมนต์แห่งอาสนวิหารเซนต์จอห์น เมืองวัลเลตตา ประเทศมอลต้า เช่นเดียวกับภาพการตัดศีรษะนักบุญจอห์นผู้ให้บัพติศมา ทางขวาของภาพนักบุญเจอโรมเขียนหนังสือจะมีสัญลักษณ์ทางทหารซึ่งเชื่อว่าเป็นของอิพโพลิโต มาลาสปินา ผู้นำของลัทธิอัศวินแห่งเซนต์จอห์น (อัศวินแห่งมอลตา)
เมื่อไปถึงซิซิลีเขาก็ร่วมงานกับมินิตี เขาก็ยังคงประสบความสำเร็จเหมือนเดิม ด้วยค่าจ้างที่มากขึ้นอีกด้วย และในยุคนี้เขาเริ่มไม่ใส่พื้นหลังให้กับภาพ สัดส่วนรวมถึงการให้แสงเงาก็เปลี่ยนไป โดยนักวิเคราะห์วิจารณ์คิดว่าภาพของเขาไม่ได้ใช้แบบจากคนจริงแล้ว แต่มาจากความทรงจำของเขาแทน ในขณะเดียวกัน เขาก็ถูกตามฆ่า แต่สุดท้ายก็รอด และอยู่มาจนได้วาดภาพ 2 ภาพ ภาพแรกคือซาโลมกับศีรษะของนักบุญจอห์นผู้บัพติสมา เมื่อเขาวาดภาพนี้เสร็จเขาก็ส่งกลับไปให้อะลอฟ เด วิกญาคอร์ท แกรนด์มาสเตอร์แห่งมอลต้า เพื่อชดเชยความผิดที่เขาได้ก่อไว้ หวังว่าแกรนด์มาสเตอร์จะอภัยโทษให้แก่เขา กับภาพเดวิดกับศีรษะโกไลแอธ ซึ่งศีรษะของยักษ์โกไลแอธก็คือศีรษะของเขาเอง
เดวิดกับศีรษะโกไลแอธ (ค.ศ.1609-1610)
David with the Head of Goliath
ก็ถือศีรษะของเขาเช่นกัน
โดยภาพนี้เขาส่งไปให้ สันนิษฐานว่าคาราวัจโจมอบภาพนี้ให้แก่พระคาร์ดินัลชิปิโอเน บอร์เกเซ ที่โรมเพื่อจะต่อรองกับพระสันตะปาปาในการเรียกร้องการอภัยโทษ หลังจากส่งภาพนี้ไปไม่นาน ที่โรมก็มีข่าวออกมาว่าเขาเสียชีวิตแล้ว ที่ปอร์โต แอร์โคเล ใน วันที่ 18 กรกฎาคม ค.ศ. 1610
จากนี้ก็คือเก็บตกภาพอื่นๆที่เราถ่ายมา
มาดอนนาของนักจาริกแสวงบุญ, 1603 - 1604
Pilgrim’s Madonna
ภาพนี้คาราวัจโจทำให้นักแสวงบุญดูเหมือนคนที่เดินทางมาไกลจริงๆ ได้จากเท้าที่สกปรกของผู้ที่มาแสวงบุญ แต่ นักทฤษฎีแห่งยุคคลาสสิคและความงามในอุดมคติ มองว่าเท้าเปลือยอันสกปรกของนักแสวงบุญที่อยู่ด้านหน้าเป็นสิ่งที่รับไม่ได้และไม่เหมาะสมสำหรับสิ่งศักดิ์สิทธิ์
การสังเวยอิซาอัค, 1603
Sacrifice of Isaac
จากที่เราเล่าไปด้านบนเมื่อคาราวัจโจมีชื่อเสียงมาก เขาก็เริ่มวาดภาพที่เกี่ยวข้องกับศาสนามากขึ้น อย่างภาพนี้มีอยู่ในพระคัมภีร์พันธสัญญาเดิม(ปฐมกาล) เป็นบททดสอบความเชื่อของอับราฮัมต่อพระเจ้า(พระยะโฮวา) โดยให้อับราฮัมนำลูกชายคนโตไปถวายเป็นเครื่องบูชาแด่พระองค์แทนแกะ แต่สุดท้ายทูตสวรรค์ก็มาแจ้งแก่อับราฮัมว่าให้หยุดเสีย เพราะพระองค์รับรู้แล้วว่าเขาเชื่อในพระองค์ นอกจากเนื้อหาว่าด้วยศาสนาในภาพ ภาพนี้ยังมีจุดเด่นตรงมีพื้นหลังที่มีรายละเอียดแตกต่างจากภาพอื่นๆของเขาอีกด้วย
ความโหดร้ายของอับราฮัมได้นำเสนอออกมาอย่างชัดเจนจากมุมมองทางเทคนิคของภาพอับราฮัมจับคอลูกชายของตน
การจับกุมพระเยซู, 1602
The Taking of Christ
พักระหว่างหนีไปอียิปต์ (ค.ศ.1597 –1598)
Rest on the Flight into Egypt
มารี มักดาลานา ละอายใจ (ค.ศ.1595 – 1596)
Penitent Magdalena
นักบุญแคทเธอรินแห่งอเล็กซานเดรีย (ค.ศ.1597-1598)
Saint Catherine of Alexandria
ยังยืนยันเหมือนเดิม ถ้าเรามีโอกาสได้เห็นของจริง เราก็จะไปดูนะ ;)
อ้างอิง/เอกสารที่เกี่ยวข้อง
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in