เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
เด็กบ้าไปเซิร์นVichayanun Wachirapusitanand
Day 30: เฮ้ย เขียนเรื่องงานบ้างสิ
  • คุณผู้อ่านที่รักครับ ผมเขียนบล็อกมาสามสิบวันแล้ว เคยนับมั้ยครับว่าผมเคยเขียนเรื่องงานของผมไปกี่ครั้ง ผมนับมาให้แล้วครับ

    0 ครั้งครับ

    คือผมมาสวิสครั้งนี้ไม่ได้มาเดินเล่นแกร่ว ๆ ในเซิร์น สุดสัปดาห์ก็ไปเที่ยว ไม่ใช่นะครับ ผมมาเข้าร่วมโครงการนักศึกษาภาคฤดูร้อนเซิร์นโดยมีโปรเจ็กต์ที่รอผมอยู่แล้ว ซึ่งเป็นเงื่อนไขอย่างหนึ่งของการเข้าร่วมโครงการนี้ คือเราจะเรียนอย่างเดียวไม่ได้ เราต้องทำโปรเจ็กต์ด้วย เหมือนฝึกงานแหละครับ

    ตอนนี้ผมกำลังทำงานในแผนก Experimental Physics ซึ่งจะแบ่งแยกย่อยลงไปอีกตามการทดลองของเซิร์น เช่น CMS ที่ผมทำอยู่ ATLAS ALICE LHCb ISOLDE ฯลฯ งานในกลุ่มนี้มีหลายอย่างที่เกี่ยวข้องกับฟิสิกส์ เช่น จำลองการชนของอนุภาคในเครื่องตรวจวัดอนุภาค วิเคราะห์ข้อมูลที่ได้จากเครื่องตรวจวัด เขียนโปรแกรมสำหรับการเรียกใช้ข้อมูลที่บันทึกไว้ รวมไปถึงออกแบบและอัปเกรดเครื่องตรวจวัดอนุภาค และอื่น ๆ อีกมาก แต่ที่ไม่เกี่ยวกันแน่ ๆ คือนักฟิสิกส์ทฤษฎีครับ นักฟิสิกส์ทฤษฎีจะอยู่คนละแผนกเลย

    งานของผมตอนนี้คือการวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้จากเครื่องตรวจวัดอนุภาค CMS ครับ ข้อมูลที่เรานำมาวิเคราะห์เพื่อศึกษาสมบัติของอนุภาคจะแบ่งเป็นสองส่วน คือ ส่วนข้อมูลจำลองและส่วนข้อมูลจริง ในการชนกันของอนุภาคในเครื่องตรวจวัดอนุภาคเช่น CMS เราจะเห็นอนุภาคจำนวนมากออกมาจากการชนกันเหล่านี้ CMS ก็จะจัดเก็บข้อมูลพวกนี้ไว้ให้ และคอมพิวเตอร์ก็จะนำข้อมูลดิบไปประมวลผลต่อว่ามีอนุภาคอะไรออกมาบ้าง แต่ข้อมูลที่ได้จะมีเพียงข้อมูลของอนุภาคสุดท้ายที่ออกมาแล้วเท่านั้น เราจะไม่มีทางรู้ได้เลยว่าการชนกันของอนุภาคครั้งไหนจะเกิดอันตรกิริยาแบบไหน เราจึงต้องจำลองการชนของอนุภาคเพื่อให้เห็นว่า "อ๋อ ถ้าโปรตอนสองลำชนกันแบบนี้แล้วเกิดอันตรกิริยานี้ มันจะได้ผลลัพธ์แบบนี้นะ" ต่อจากนั้นเราจะเอาข้อมูลการจำลองของอนุภาคมาเทียบกันว่าตรงกับข้อมูลจริงหรือไม่ การจำลองการชนของอนุภาคจะต้องอาศัยการวิเคราะห์ทางทฤษฎีว่าจะเกิดอันตรกิริยาอะไรบ้าง ถ้าเราอยากได้การชนที่มีอนุภาคเท่านี้ ๆ อยู่ มันจะมีอันตรกิริยาอะไรที่เป็นไปได้บ้าง การวิเคราะห์เหล่านี้ก็ต้องมีพื้นฐานจากทฤษฎี เช่นแบบจำลองมาตรฐานหรือ Standard Model ดังนั้นเมื่อผลที่ได้จากการจำลองการชนซึ่งมีพื้นฐานจาก Standard Model มีความใกล้เคียงกับผลจากการทดลองจริง เราก็พอบอกได้ว่า Standard Model มาถูกทางละ

    ที่ผมไม่บอกว่า Standard Model ถูกต้องเป๊ะ ๆ เพราะว่าตอนนี้ยังมีปัญหาอื่น ๆ ที่ Standard Model ยังตอบไม่ได้ แต่ถ้าจะให้อธิบายว่ามันตอบไม่ได้ตรงไหนคงต้องจับเข่าคุยกันยาว ๆ ล่ะครับ เพราะเรื่องมันยาวและมันเยอะจริง ๆ ที่ผมบอกได้ตอนนี้คือว่านักฟิสิกส์ทั้งสายทฤษฎีและสายปฏิบัติต่างก็พยายามหาคำตอบว่าทำไม Standard Model ถึงตอบปัญหาบางอย่างไม่ได้ มันมีทฤษฎีอะไรที่อยู่เหนือ Standard Model รึเปล่า ทำให้เริ่มมีทฤษฎีต่าง ๆ ออกมาจากความเมากาวจินตนาการของนักฟิสิกส์ทฤษฎี ซึ่งทฤษฎีเหล่านี้เรียกรวม ๆ กันว่า Beyond Standard Model

    เล่าซะยาว ผมขอตัวไปทำงานต่อนะครับ

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in