เคยรู้สึกว่าสิ่งที่อยู่ตรงหน้ามันดูเหมือนเป็นเรื่องไม่จริง เหมือนฝันของตัวเองมากกว่า จนอยากต่อยหน้าตัวเองให้รู้ว่ากูไม่ได้ฝันไปจริง ๆ รึเปล่าครับ
วันนี้ผมรู้สึกแบบนั้นจริง ๆ เลย ตอนที่เดินเข้ามายังเซิร์นครั้งแรก
วันนี้แก๊งนักศึกษาในโครงการฤดูร้อนเซิร์นสี่คนเดินทางมาถึงเมืองเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ครับ เมืองนี้เป็นเมืองที่มีชายแดนประชิดฝรั่งเศส และเป็นเมืองที่มีองค์กรวิจัยนิวเคลียร์แห่งยุโรป (เซิร์น) ตั้งอยู่ ซึ่งสองเดือนนับต่อจากนี้ พวกผมจะต้องใช้ชีวิตประจำวันในสถานที่ที่เป็นแหล่งกำเนิดการค้นพบต่าง ๆ มากมายที่สั่นสะเทือนองค์ความรู้เชิงฟิสิกส์มานักต่อนัก โดยเฉพาะการค้นพบอนุภาคฮิกส์ (หรือที่เขาชอบเรียกกันว่าอนุภาคพระเจ้า) ในปี ค.ศ. 2015
ทันทีที่พวกผมเดินทางเข้ามาเพื่อจะเช็กอินเข้าห้องพักในเซิร์น ผมก็เห็นป้ายโลโก้ของเซิร์นพร้อมตัวอักษรโลหะเขียนว่า
European Organization for Nuclear Research
Organisation européenne pour la recherche nucléaire
เอาจริง ๆ นะ ผมไม่อยากเชื่อเลยว่าเราจะมาถึง เหมือนกับว่านี่คือภาพฝัน ตอนที่ผมเดินผ่านป้ายนั้น ผมตบหน้าตัวเองเพื่อจะได้รู้ว่ากูไม่ได้ฝันไปจริง ๆ นะ เรากำลังเหยียบแดนดินถิ่นอาณาเขตที่มึงใฝ่ฝันจะมาให้ได้ทั้งชีวิตเลยนะ นี่ไง มึงทำตามฝันได้สำเร็จครั้งนึงแล้วนะท๊อป (เออ ผมลืมแนะนำตัวตั้งแต่ตอนที่แล้ว ผมชื่อท๊อปนะครับ ยินดีที่ได้รู้จักครับ)
ผมขออธิบายเรื่องชื่อที่มาของตัวย่อ CERN ก่อนนะครับ แต่เดิมองค์กรวิจัยนิวเคลียร์แห่งยุโรปแห่งนี้ใช้ชื่อเป็นภาษาฝรั่งเศสว่า Conseil européen pour la recherche nucléaire หรือชื่อภาษาอังกฤษว่า European Council for Nuclear Research ซึ่งพอแปลเป็นไทยได้ว่า "สภาวิจัยนิวเคลียร์แห่งยุโรป" สภาวิจัยนี้คือสภาที่กำกับดูแลการสร้างห้องปฏิบัติการฟิสิกส์นิวเคลียร์แห่งที่สำคัญที่สุดในยุโรปที่สามารถเป็นสถานที่ให้นักฟิสิกส์ทั่วยุโรปร่วมแชร์องค์ความรู้และอุปกรณ์การทดลองราคาแพง ๆ ได้ และชื่อสภาแห่งนี้คือที่มาของตัวย่อว่า CERN ครับ
"สภาวิจัยนิวเคลียร์แห่งยุโรป" ก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1952 จากการร่วมลงนามความร่วมมือโดยประเทศในแถบยุโรป 11 ประเทศ สองปีต่อมา ห้องปฏิบัติการวิจัยก็ได้ก่อสร้างแล้วเสร็จในเมืองเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส (ก็คือประเทศสวิตเซอร์แลนด์นั่นแหละครับ) ทำให้เกิด Organisation européenne pour la recherche nucléaire หรือ European Organization for Nuclear Research ขึ้นมา ทำให้ "สภาวิจัย" ที่มีจุดประสงค์แต่เดิมเพื่อกำกับดูแลการสร้างห้องปฏิบัติการแห่งนี้สลายตัวไป แต่องค์กรแห่งนี้ก็ยังคงใช้ตัวย่อ CERN จวบจนปัจจุบัน
พิมพ์จนถึงตอนนี้ผมก็ยังไม่หายตื่นเต้นเลยครับว่าผมจะได้เจอกับอะไรบ้างในดินแดนมหัศจรรย์นามว่า "แซร์น" (ชื่อตัวย่อเซิร์นแหละครับ แต่อ่านอย่างฝรั่งเศสได้แบบนี้) ถึงตอนนี้ผมเหมือนอยู่ในฝัน และเหมือนฝันอื่น ๆ ที่เรามีขณะหลับ ผมคาดเดาอะไรไม่ได้อีกต่อไปแล้วครับว่าจะเกิดอะไรเซอร์เรียล ๆ ขึ้นมาอีก
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in