เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
เด็กบ้าไปเซิร์นVichayanun Wachirapusitanand
Day 0: บิน
  • "ตายห่า นี่กูจะบินแล้วเหรอวะ" 

    ผมนึกในใจพลางใจหาย พอรู้ตัวว่าอีกไม่กี่ชั่วโมงก็จะบินไปจากเมืองไทยแล้ว

    ย้อนกลับไปเมื่อตอนเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว เมื่อผมรู้ข่าวว่าผมได้รับเลือกให้เป็นนักศึกษาในโครงการนักศึกษาภาคฤดูร้อนเซิร์น และได้โอกาสไปทำงานกับองค์กรวิจัยฟิสิกส์อนุภาคที่มีชื่อเสียงโด่งดังระดับโลก ผมก็รู้สึกแฮปปี้นะ รู้สึกว่าเราจะได้มีโอกาสทำในสิ่งที่รัก พร้อมกับทำในสิ่งที่เราอยู่กับมันมาทั้งชีวิต

    เมื่อผมยังเด็ก ๆ ผมเชื่อว่าผมเก่งคณิตศาสตร์มาก ๆ ครับ แต่อย่างหนึ่งที่ผมรู้ตัวดีในตอนนั้นคือผมโง่วิทยาศาสตร์เอามาก ๆ เพราะวิทยาศาสตร์เอะอะก็ให้กูจำอะไรก็ไม่รู้ เช่น ฉลามกับเหาฉลามมีความสัมพันธ์อย่างไร ลมบก ลมทะเลมาเมื่อไหร่ โลหะกับอโลหะต่างกันอย่างไร หัวใจคนเรามีกี่ห้อง ลิ้นหัวใจมีกี่อัน ชื่ออะไรบ้าง เมฆลายนี้ชื่อว่าอะไร พืชใบเลี้ยงเดี่ยวกับใบเลี้ยงคู่ต่างกันตรงไหนบ้าง สารประกอบอินทรีย์ตัวนี้อ่านว่าอะไร และอีกสารพัด "ความรู้" ให้เรามานั่งจำ ๆ ๆ ซึ่งผมไม่ถนัดเลย เอาแค่จำให้ได้ว่าวันนี้เอาดินสอกับปากกาไปกี่แท่งก็ถือว่าบุญแล้ว

    แต่ชีวิตผมก็เหมือนกับชีวิตคนอื่น ๆ ครับ มันต้องมีจุดหักเหในชีวิตบ้าง อย่างที่มาร์ก ซักเกอร์เบิร์กยอมลาออกจากฮาร์วาร์ดมาก่อตั้งเฟซบุ๊กอย่างโดดเดี่ยวเดียวดายกลางท้องเล (แต่จริง ๆ ก็ไม่ได้โดดเดี่ยวเท่าไหร่) จุดหักเหในชีวิตของผมคือค่าย สอวน. ฟิสิกส์ครับ เนื่องจากตอนแรกผมจะสอบ สอวน. คณิตศาสตร์แต่ไม่ติด ดันไปติด สอวน. ฟิสิกส์แทน

    ผมเริ่มรู้จักกับฟิสิกส์ตั้งแต่ ม.3 สมัยเข้าค่ายฟิสิกส์โอลิมปิก สอวน. เดชะบุญที่ผมได้มีอาจารย์ที่ดีมาสอนให้ผมรู้จักฟิสิกส์ ไม่ใช่แค่ท่องสูตรฟิสิกส์อย่างนกแก้วนกขุนทอง แต่สอนให้เอาคณิตศาสตร์มาอธิบายความเป็นไปของโลก ไม่สิ ความเป็นไปของจักรวาล รวมไปถึงกฎต่าง ๆ ของจักรวาลที่พระเจ้าเป็นคนกำหนด ด้วยความที่ผมเก่งเลขเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ทำให้ผมเริ่มรัก "วิทยาศาสตร์" สาขานี้ขึ้นมา

    และในขณะเดียวกัน ผมก็ตรัสรู้ว่า สิ่งที่กูไม่ชอบถึงขั้นเกลียดไม่ใช่วิทยาศาสตร์ แต่เป็นชีววิทยา!

    และความชอบฟิสิกส์ของผมนี่แหละ ที่นำพาผมมายังสเตจต่าง ๆ ในชีวิต ตั้งแต่เรียนต่อมหาวิทยาลัย ผมก็เข้าเรียนภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ ในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง และทำให้ผมได้สัมผัสกับฟิสิกส์สาขาต่าง ๆ ได้เข้าใจว่าสิ่งต่าง ๆ ตั้งแต่รอบตัวไปถึงนอกโลกเป็นอย่างไร จนลงเอยที่ฟิสิกส์อนุภาค ส่วนหนึ่งเพราะผมก็ชอบเขียนโปรแกรมด้วย (เดี๋ยวผมจะอธิบายนะครับว่ามันเกี่ยวกันตรงไหน) และเนื่องจากมีอาจารย์ที่ได้ร่วมงานกับเซิร์นเป็นประจำ ทำให้ผมมีความฝันว่าสักวันเราจะได้ทำงานในองค์กรวิจัยนิวเคลียร์แห่งยุโรป ซึ่งก็คือเซิร์นนั่นแหละครับ

    รู้ตัวอีกที ผมก็ยืนโหนรถไฟฟ้า BTS กับพ่อแม่ไปสุวรรณภูมิแล้วครับ
  •  "Have a safe flight na. Wish you all the best."
    "เดินทางปลอดภัยครับ"
    "เดินทางปลอดภัยนะจ๊ะ เจ๊เอาใจช่วย"
    "เดินทางปลอดภัยนะฮับ"
    "โชคดีนะ ดูแลตัวเองดี ๆ ล่ะ"
    "ขอของฝากด้วยได้มั้ย พลีส"

    ก่อนผมจะออกบิน เพื่อน ๆ พี่ ๆ น้อง ๆ ของผมที่รู้ข่าวว่าผมจะบินไปวันนี้ต่างพากันอวยพรให้ผม บ้างก็ขอของฝาก และที่ขาดไม่ได้ แทบทุกคนที่ขอของฝากจะต้องขอเสื้อยืดเซิร์นในตำนานลายนี้ครับ

    http://design-guidelines.web.cern.ch/equation-range

    ลายบนเสื้อตัวนี้คือ Standard Model Lagrangian ซึ่งเป็นปริมาณทางฟิสิกส์ที่สำคัญที่สุดในการศึกษาฟิสิกส์อนุภาค เจ้า Lagrangian ตัวนี้เหมือนแว่นวิเศษที่ทำให้เรา "เห็น" กระบวนการต่าง ๆ ของอนุภาคมูลฐาน การศึกษาเกี่ยวกับอนุภาคมูลฐานนี่แหละครับคือส่วนหนึ่งของภารกิจของเซิร์นที่ต้องการศึกษาความลับของจักรวาลของเราว่ามันประกอบจากอะไร มันเกิดได้อย่างไร และอุปกรณ์ที่ทำออกมาเพื่อศึกษาของพวกนี้จะเอาไปใช้ประโยชน์อะไรได้อีกบ้าง

    ด้วยความสำคัญของ Lagrangian ตัวนี้ ประกอบกับชื่อเสียงของเซิร์น ทำให้เด็กฟิสิกส์ทั้งหลายอยากได้มาครอบครองสักตัวในชีวิต

    เอาเข้าจริงแล้ว ผมก็ไม่รู้ด้วยซ้ำนะครับว่าผมจะต้องมาเจอกับอะไรที่เซิร์นในช่วงสองเดือนต่อจากนี้ ถ้าให้ผมเดาตอนนี้ผมคงเดาได้ว่าจะได้เจอกับบรรยากาศการวิจัยที่เข้มข้น แต่ "บรรยากาศการวิจัยที่เข้มข้น" มันเป็นยังไงกันล่ะ จะเหมือนกับบรรยากาศการวิจัยในไทยรึเปล่า มันจะเหมือนการทำ Senior project ของเรารึเปล่า เราจะไหวมั้ย อยู่ที่โน่นจะมีเพื่อนร่วมวิจัยรึเปล่า หรือเราต้องอยู่ทำงานตัวคนเดียวตลอดสองเดือนนี้นะ เขาจะคิดยังไงกับเราและงานของเราล่ะ

    เออ! ช่างแม่ง! ไปถึงเดี๋ยวก็รู้เองแหละ

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in