ร้านข้าวใต้หอพักนักศึกษาร้านประจำที่เด็กมักแวะเวียนมากินอยู่เสมอ ป้าพยอมเป็นที่รู้จักกันดีกับเด็กที่นี่ และใช้ชื่อร้านอาหารว่า ป้าพยอมไวเวอร์ แน่นอนมันเป็นจริงป้าแกไม่ได้ตั้งชื่อเล่น ๆ ป้าแกทำจริง และเร็วจริงเมื่อคุณมาใช้บริการ(ฮา) ป้าแกมักเน้นปริมาณอาหารให้เด็กอยู่เสมอด้วยความใจดี เราเลยเลือกที่จะมาสัมภาษณ์แก
เราอ้อมไปข้างหลังแถบร้านอาหารที่ตั้งเรียงกันอยู่ห้าหกร้าน เดินลัดเลาะเข้าไปหาป้าวรรณที่นั่งกินข้าวเที่ยงที่ไม่เที่ยงอยู่ ช่วงเวลาบ่ายสองบ่ายสามที่ไม่มีลูกค้ามาสั่งอาหารเท่าไหร่ คนบางตาลง เป็นโอกาสเหมาะที่จะสัมภาษณ์หัวข้อที่เราเตรียมมา เช่นการใช้ประสาทสัมผัสกลิ่น หรือการชิม รวมไปถึงอันอื่นที่เกี่ยวข้องด้วย ป้าวรรณตอบคำถามเราได้อย่างคล่องแคล่วเนื่องจากแกบอกว่ามีเด็กมาสัมภาษณ์บ่อยพอควร แกคุ้นเคยกับการตอบคำถามมาบ้าง แกบอก
ป้าวรรณตอบคำถามเราได้อย่างชัดเจน แกดูเป็นกันเองและใจดีมากเวลาเราถามอะไรเพิ่มเติมหรือตอนขอถ่ายรูปแกก็ยังใจดีให้ถ่ายได้ตามใจชอบ แกยังเสนอให้เรามาสัมภาษณ์เพิ่มเติมหากเราต้องการ เพราะเหตุนี้เราจึงได้บทสัมภาษณ์ที่ครบถ้วนและเต็มไปด้วยความสุข
Q:ป้าชื่ออะไรคะ แล้วป้าทำอาชีพอะไร?ป้าวรรณ:
“ค้าขายอยู่ ป้าชื่อป้าวรรณ”
Q:อยากถามเรื่องในชีวิตประจำวัน ว่าเราได้กลิ่น ได้รสชาติยังไงอะไร ที่เกี่ยวกับการทำงานตรงนี้
ป้าวรรณ: “ก็ใช้ส่วนมากก็ทำอาหาร ถ้าเกิดเราได้กลิ่นอย่างเดียวก็คือกลิ่นหอม อย่างเราใส่น้ำปลาก็ได้กลิ่นน้ำปลา กลิ่นน้ำปลามันจะขึ้นนะ อย่างอื่นไม่ค่อยขึ้น แต่มะนาวขึ้น ซอลก็ขึ้น แต่พวกน้ำตาลอะไรพวกนี้มันไม่ขึ้น มันไม่ได้กลิ่น แต่ถามว่ามันหอมก็คือว่าเราใส่เครื่องปรุงทุกอย่างมันก็จะหอมใช่ไหม ถ้าอย่างอื่นอย่างกลิ่นหมูกลิ่นไก่อะไรเงี้ย เรารู้ว่ามันจะเป็นกลิ่น กลิ่นของทอดก็รู้ ว่าเนี้ยทอดแล้วคือไก่ ทอดหมูหรืออะไรก็รู้ หรือจะชิม อ่ะหรือว่าถ้าสมมุติเราอยู่อย่างเงี้ย ทอดชะอม ประมาณว่าเราอยู่ข้างนอก แล้วมีคนทอดชะอมชุบไข่อยู่แบบนี้เราจะรู้ อันเนี้ยกลิ่นใครผัดกระเทียม ผัดกระเทียมอยู่นะ เราจะรู้ต้มยำเราก็รู้ เพราะว่ากลิ่นมันบอก แต่รสชาติเราต้องชิม อันนี้คือชิมมัน100% แต่ว่ารสชาติถ้าใครชอบยังไงไม่เหมือนกัน บางคนกินเค็ม บางคนกินหวานนะ มันก็แตกต่างวิธีการชิมของคน แต่กลิ่นเนี้ยบ่งบอกได้ว่ากลิ่นอะไรบางคนแบบว่าต่อให้หลับตาแล้วก็ชิมอะ ให้ปิดว่าจานนี้คืออะไร เขาก็สามารถบอกได้ว่าเนี้ยอะไร อย่างสามจานเนี้ย ว่าอันนี้คือข้าวผัด ผัดอะไรก็แล้วแต่ แต่สามารถบ่งบอกว่าใส่อะไรได้บ้าง รู้็ไม่นะ ต่อให้ปิดตาแล้วก็ชิม แต่ต้องดมนะ ดมว่ามันคืออะไร ยำหรือผัดหรือทอด ใช่ไหม กับวิธีการของคน สมมุติว่าบ้านตรงข้ามทำอะไร กลิ่นมาถึงบ้านเรา อันนี้มันก็คือกลิ่นที่เรารับรู้ได้ว่ามันคืออะไร อย่างบ้านนี้แกงส้ม บ้านนั้นแกงเขียวหวานแน่ ๆ เลย หรือต้มยำอะไรประเภทนั้น”
Q:แล้วทำงานเกี่ยวกับอาหารมานานหรือยังคะ?
ป้าวรรณ: “โห นานแล้วนะเป็นสิบกว่าปีแล้วนะ ตั้งแต่หอเปิด”
Q:ป้าวรรณคิดว่าต้องอาศัยความชำนาญไหม?
ป้าวรรณ: “ใช่ อันนี้ีมีส่วนนะ เหมือนเราทำมานานเราก็จะมีเซนส์เรื่องนี้ดีขึ้น ถ้าทำนาน ๆ ไม่ต้องชิม เรารู้ว่าต้องใส่อันนี้เท่าไหร่ ๆ”
Q:เคยมีปัญหาเกี่ยวกับด้านนี้ไหมคะ เหมือนว่าเราใช้ความรู้สึกด้านนี้มากเกินไป อย่างด้านการได้กลิ่นหรือด้านการชิม ตอนแรก ๆ มีไหมคะ?
ป้าวรรณ: “เดี๋ยวนี้ก็ยังมีนะ อย่างกะเพรานี่กลิ่นก็จะฟุ้งกระจายอยู่แล้ว ทุกวันนี้ก็ยังเป็น ถ้าเราไม่เปิดตัวดูดอากาศ ส่วนรสชาติก็มีบ้างถ้าเราไม่สบาย(หัวเราะ) เวลาเราไม่สบายเนี้ย ชิมอะไรไม่รู้เรื่องเลย อย่างบางวันเด็กก็บอกว่าวันนี้เค็มไปนะคะ ป้าวันนี้ผัดหวานไปนะคะอะไรเงี้ย ป้าไม่สบาย คอมันเจ็บกินอะไรก็ไม่รู้เรื่อง ชิมอะไรก็ไม่ได้ ชิมแล้วคอมันจะแห้ง ถ้าจะพลาดก็ตอนเราป่วยแบบนี้แหละ ปกติแล้วเราไม่ค่อยมีปัญหา เพราะส่วนมากเด็กเค้าก็บอกว่าคนไหนกินเค็มกินหวาน อย่างเค้าสั่งมาปุ๊ปเค้าก็จะบอกว่าหวาน ๆ นะคะอะไรเงี้ย”
Q:แล้วมีปัญหาอะไรอีกไหมคะ?
ป้าวรรณ: “ส่วนมากก็ไม่มีนะเพราะเราก็มีตัวดูดอากาศอยู่แล้ว เราเลยไม่ค่อยได้กลิ่นอะไร ถ้าไม่เปิดกลิ่นมันก็จะฟุ้งกระจาย แล้วก็มีโอกาสจะสำลัก กลิ่นพวกนี้มันจะเข้านะลูกเราสูดดมทุกวัน มันมีผลนะว่าเราสามารถไม่สบายได้เพราะกลิ่นอาหาร อย่างเรามาลองอยู่สักวันเราจะรู้เลยว่า เห้ย กะเพราทำให้เราน้ำมูกไหลได้ทันทีเลยนะ เพราะกลิ่นจากพริกจากกะเพราเนี้ย เหมือนมันเข้าไปทำลายระบบอะไรข้างในของเรา(หัวเราะ) อยู่วันเดียวเนี้ย เป็นเลยนะ(เสียงจริงจัง) น้ำมูกไหลทันทีเลย”
Q:ถ้าสมมุติว่าวันนี้ประสาทสัมผัสด้านพวกนี้หายไป จะมีผลกระทบต่ออาชีพตรงนี้ไหมคะ?
ป้าวรรณ: “ตายดีกว่ามั้ยลูก(หัวเราะ) มันก็ต้องผลอยู่แล้ว เราทำอะไรไม่ได้แล้ว ถ้าเราทำพวกอาหารพวกนี้เราทำไม่ได้เลยนะ เพราะว่าเราจะไม่รู้ว่าเค้ากินอะไรยังไง แต่ถ้าคนทำมานานเค้าจะรู้นะ ก็อย่างที่ป้าว่าเค้าก็ทำได้โดยไม่ต้องชิมอะได้ ถ้าเราอยู่มาหลาย ๆ ปีเราก็จะรู้เลย เราก็อาศัยด้านนี้เอา แต่ถ้าอยากให้เป้ะเราก็ใช้วิธีตวงหรือวัดเอาก็ได้ แต่ถ้าเราชินกับการกะในกระบวนในช้อนอันนี้ก็ไม่ต้องใช้”
Q:แต่อาชีพของป้าวรรณเป็นอาชีพที่หลีกเลี่ยงการดมกลิ่นฉุน ๆ ไม่ได้อยู่แล้ว
ป้าวรรณ: “แต่เค้าก็พูดเหมือนกันนะว่าพวกนี้มันส่งผลกับการก่อเป็นมะเร็งได้เหมือนกัน ก็ไอ่พวกนี้ที่เราสูดไปทุกวัน ๆ ถ้าถามว่ากลัวมั้ยก็กลัวเหมือนกัน แต่มันก็หลีกเลี่ยงไม่ได้มันเป็นหน้าที่เราเนอะ มันเป็นอาชีพเรา ถ้าเราไม่ทำเราจะเอาอะไรกิน บางคนปัญหาเรื่องเจ็บปวดยังเอาไว้ที่หลังเลย แต่ปัญหาปากท้องมันมากกว่า ใช่มั้ยละ แต่พวกเครื่องดูดควันก็ยังพอช่วยได้ เค้าถึงมี แต่ถ้าเอาส่วนมากเลยนะ ร้านอาหารตามสั่งที่ไม่ใช่พวกข้างทางนะ เค้าก็จะมีตัวดูดหมดแหละ มันช่วยเราได้เยอะ ที่เราเห็นข้างทางทั่ว ๆ ไปมันไม่มีไง เค้าก็ตั้งเตาธรรมดาเงี้ยแล้วก็ปล่อยไปตามลม ลมไปทางไหนควันก็ไปทางนั้นอะไรแบบเงี้ย”
Q:ป้าวรรณมีความสุขไหมในการทำอาหาร ในอาชีพนี้?
ป้าวรรณ: “ก็มีความสุขนะ ถ้าทำกับข้าวอะไรเงี้ย มันเป็นความสุขอย่างนึง ถ้าถามว่าให้เราไปทำอย่างอื่นเราไม่ชอบนะ ชอบการค้าขาย ชอบอะไรอย่างเงี้ยที่เกี่ยวกับการขายทำให้เค้ากิน แล้วเค้าชมว่าอร่อย เรารู้สึกดีนะ เราทำให้เค้ากินอร่อยอะไรอย่างเงี้ย เหมือนเราทำกับข้าวแจกเค้าอะ สมมุติว่าเราทำให้เค้าแล้วเคาบอกอร่อยค่ะ เราก็อืมเอ่อ อร่อยดี เราก็สุขใจ ใช่มั้ยละ เหมือนหนูอะใครมาชมหนู อย่างนี้ดีนะ มันก็ชื่นใจว่าเราทำได้ดี”
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in