เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
LA 001 : หลัก(นักศึกษา)กฎหมายทั่วไปlawreallife
บทที่ 1 เริ่มต้น
  •           น้องๆ ผู้หลงทางทั้งหลาย ... ถ้าพูดถึงคณะนิติศาตร์ หลายคนอาจจะหนักใจเพราะที่บ้านไม่มีคนจบกฎหมาย แถมยังไม่รู้จักใครที่เรียนกฎหมาย จะถามเพื่อนรุ่นเดียวกันก็มีสภาพไม่ต่างกัน เข้า SNS จะไปถามใครก็ไม่รู้จักเขา ไม่รู้จะเริ่มที่ตรงไหน แถมอีกหลายเดือนกว่าจะเปิดเทอม ช่วงนี้ก็จะเวิ้นเว้อวุ่นวายใจ เตรียมตัวอย่างไรดีหนอ ... จะหาหนังสือกฎหมายมาอ่าน ก็อ่านไม่รู้เรื่อง จะซื้อประมวลมาเตรียมไว้ก็ไม่รู้ว่าจะซื้ออะไรดี เดินไปดูที่ร้านหนังสือก็มีแต่กฎหมายชื่อเดียวกัน แต่มีหลายปกเหลือเกินจะเข้าใจ

    ---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

    บทนี้จะว่าด้วยเรื่องวิชากฎหมายและอาวุธคู่กายของนักศึกษานิติศาสตร์ หรือ "ประมวลกฎหมาย" นั้นเอง

    ---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

              แต่ก่อนจะไปถึงเรื่องประมวล ต้องอธิบายก่อนว่า...

    นิติศาสตร์ ปี 1 ต้องเรียนอะไร?

              สำหรับน้องปี1 ยังไม่ต้องตื่นเต้นขนาดนั้น ส่วนใหญ่หลักสูตรทุกมหาลัยจะไม่ใจร้ายเอาวิชากฎหมายมาขู่เด็กหน้าใสที่ไม่มีพิษภัยหรอกค่ะ ยังใสๆ ลั้นลาได้ แต่อย่าล้าลาเกินไป เพราะความบรรลัยก็รออยู่ปลายเทอมเช่นกัน

              หลักสูตรนิติศาสตร์ ปี 1 มักเริ่มด้วยวิชาพื้นฐานตัวนอกคณะเสียเป็นส่วนมาก (มากๆเลยละ) ยังพอมีเวลาให้ไปเดินเหล่หนุ่มเหล่สาวคณะอื่นได้เวลาหาห้องเรียน (อยากได้แฟนนอกคณะ ให้อาศัยช่วงชุลมุนนี่นะคะ จะคุยรีบคุย พอขึ้นปี 2 จะเจอแต่พวกเดียวกันเอง พอปลายเทอมใกล้สอบ แม้แต่เดือนคณะก็หน้าตาเหมือนโจรได้เหมือนกันค่ะ) อย่าเหล่จนลืมเรียนนะ บอกไว้ตรงนี้เลยว่า เกรดปี1 ถ้าสะสมไว้ดีๆ จะช่วยได้มากๆ เพราะปี 2 เป็นต้นไป มีแต่วิชากฎหมาย ถ้าพินาศละก็ มีแต่ดิ่งก็ดิ่ง ... วิชานอกคณะของปี 1 ส่วนใหญ่ไม่ต่างอะไรกับหลักสูตรม.6 เผลอๆง่ายกว่าด้วย ...จงทำคะแนนให้ดีเอาไว้เถิด จงสร้างบุญบารมีปี 1 ไว้เยอะๆ ... ย้ำ!! ว่า อย่าๆๆๆ หลงกับอิสระเสรีที่ได้รับมาเด็ดขาด การได้ติดปีกโบยบินออกจากบ้านคือกิเลสอันแสนหวาน แล้วความขมขื่นจะตามมาตอนเกรดออกนะคะ *เตือนแล้วนะ* (ทำเสียงเชฟป้อม)

              มาเข้าเรื่องกฎหมายที่สำคัญในการเรียนนิติศาสตร์ มีอยู่ 4 ตัว หรือที่มักเรียกกันว่า "4 ขา" 4 ขาก็เหมือนเสาหลักของบ้านหลังใหญ่ ที่มี 4 เสา จะขาดเสาใดเสาหนึ่งไปไม่ได้ ประกอบด้วย
              1. ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์                     2. ประมวลกฎหมายอาญา
              3. ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง            4. ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

    นี่แค่เสาใหญ่ ยังไม่รวมเสาเล็กๆ และคานหลังคาอีกมากมาย

              กลับมาที่ วิชากฎหมายของปี 1  ... ส่วนใหญ่มักจะมีแค่เทอมละตัว เทอม 1 "แพ่งหลักทั่วไป" เทอม 2 "นิติกรรมสัญญา" เป็นกฎหมายตระกูล แพ่ง ทั้งคู่ หรือบางมหาลัยจัดชุดใหญ่ไฟกระพริบปริ๊บๆมาให้ ด้วยการ ประเคน อาญา มาให้ด้วยอีกเทอมละตัวด้วย ... แต่เชื่อเถอะ ... ถ้าเข้าใจแล้ว มันไม่ได้อยากขนาดนั้น กฎหมายอาญาเป็นวิชาที่ตัวบทตีความตรงๆ เข้าใจตัวบท อ่านฎีกาเสริม ดูตัวอย่างประกอบ มันก็ไม่ได้โหดร้ายขนาดนั้น
              แต่สิ่งที่โหดร้ายที่สุดคือการไม่รู้วิธีเขียนตอบ บางคนอ่านรู้เรื่อง อ่านเข้าใจ แต่เขียนตอบไม่ได้ ตายน้ำตื้น เกม!! ... แต่~ มีวิธีแก้ไขได้เบื้องต้น ด้วยการอ่านให้มากเข้าไว้ ดูวิธีการเขียน ศึกษาจากฎีกา หรือ ตัวอย่างข้อสอบก็ได้ (ในชั้นนี้ ยังไม่ต้องไปหาซื้อก่อนเปิดเทอมหรอกค่ะ แนะนำให้เข้าเวปศาล หรือ เพจกฎหมายก็ได้ค่ะ แจก pdf ข้อสอบเยอะแยะ รวมถึงย่อสั้น ย่อยาว ย่อกุดฎีกาอีกมากมาย ก็เพียงพอให้อ่านเล่นก่อนเปิดเทอมได้ค่ะ) และรู้สึกว่าเดี๋ยวนี้ หลายมหาลัยจะเพิ่มสอนเขียนตอบให้ด้วยนะ (เมื่อก่อนไม่มีนะ ปล่อยตามมีตามเกิด แล้วแต่บุญแต่กรรม) ...ก็เขียน เขียนไป แล้วไปวอแวอาจารย์ให้ตรวจดู ส่วนใหญ่อาจารย์จะแฮปปี้นะ นักศึกษาที่รู้จักเรียนรู้ แก้ไข ปรับปรุง ถึงจะเรียนไม่เก่งแต่จะได้รับคำแนะนำดีๆกลับมาเสมอ (นักศึกษาขยัน ไม่มีอาจารย์คนไหนดุหรอก)


              เพราะฉนั้นเฟรชชี่ทั้งหลาย~~ ถ้ายังไม่เปิดเทอม ก็ยังไม่ต้องเครียดกับวิชากฎหมายขนาดนั้น ทำจิตใจให้สบาย เตะบอล ดูการ์ตูน อ่านนิยายไปก่อนได้ ...แต่ถ้าอยากเตรียมตัว อยากลองอ่าน ไม่อยากไปโดนอาจารย์เซอร์ไพส์ หรือเป็นคนชอบโดนสปอยตอนจบ ก็ไปต่อกับหัวข้อการเลือกซื้อประมวลได้เลย



    How to เลือกซื้อประมวล?


              อันว่าประมวลถ้าไปดูที่ร้านหนังสือหรือสั่งซื้อออนไลน์ สำหรับๆน้องนักกฎหมายมือใหม่หัวใจใสกิ๊ง คงไม่เข้าใจว่าทำไมมันมีหลายปก หลายขนาด หลายสี หลายแบบ หลายยี่ห้อ ... แล้วจะซื้อแบบไหนดี?!?

              จะอธิบายเป็นข้อๆ ดังนี้...

    1. ขึ้นชื่อว่าประมวล...เนื้อหาข้างในเหมือนกันหมดค่ะ (ยกเว้น มีการแก้ไขแล้วเล่มนั้นยังไม่ได้แก้)

    *ข้อควรระวัง*
              เช็คฉบับแก้ไขดีๆนะคะ...เพราะบางทีมีการแก้กันเดือนต่อเดือน เดือนละหลายครั้ง ก่อนซื้อแนะนำให้เปิดเวป "ราชกิจจานุเบกษา" ตรวจฉบับแก้ไขล่าสุด เวลาซื้อก็ให้ดูที่คำนำว่า เล่มนั้นแก้ไขล่าสุดถึงที่ได้ประกาศแล้วหรือยัง และถ้ามีเวลา ให้เช็คอีกทีว่ามีร่างกฎหมายที่เตรียมผ่านสภาหรือไม่ เพราะบางทีแก้ล่าสุด ซื้อแล้ว แต่อีกวันประกาศแก้เพิ่ม ที่ซื้อมาเมื่อวาน เก่าทันทีเลยนะคะ
              ตลกร้ายที่สุดคือวิชารัฐธรรมนูญ ที่เรียนมาทั้งเทอมแต่รัฐธรรมนูญโดนฉีกก่อนสอบ...เหลือสอบแต่ทฤษฎีเลยจ้า~ (เหมือนจะตลก แต่จริงๆก็ไม่ ประเทศนี้ใช้รัฐธรรมนูญเปลื๊องเปลือง)

    2. ปกอ่อน VS ปกแข็ง...มีผลแค่เรื่องความแข็งแรงและความสวยงาม เลือกตามแบบที่ชอบได้เลย

    3. สีของกระดาษ...มีผลเรื่องความสบายและความสวยงาม แต่ส่วนใหญ่เนื้อกระดาษสีขาวจะเขียนง่ายกว่ากระดาษถนอมสายตา(Green Read) แต่ถึงอย่างนั้น กระดาษถนอมสายตาอ่านง่าย อ่านแล้วสบายตากว่า เอาเป็นว่าในข้อนี้ก็เลือกได้ตามใจชอบเช่นกันค่ะ

    4. มีหลายขนาด ... เรื่องขนาดมีผลในเรื่องของรูปแบบการใช้งานหรือวัตถุประสงค์ในการใช้งานเสียมากกว่า ซึ่งที่พบเห็นได้ทั่วไปจะมี 3 ขนาด คือ A4(ใหญ่) A5(กลาง) A6(เล็ก)

              ขนาด A4(ใหญ่)         

              เล่มใหญ่ ส่วนมากที่เป็นที่นิยมใช้กันคือปกแข็ง (อันที่จริงปกอ่อนก็มี แต่ก็อ่อนแอตามสภาพ แล้วแต่ชอบ) มีทั้งกระดาษสีขาวและกระดาษถนอมสายตา ... แต่ถึงจะเป็นเล่มใหญ่ก็ใช่ว่าตัวหนังสือจะใหญ่เต็มหน้ากระดาษนะคะ แต่เหลือขอบ 1/3 ว่างๆไว้ให้วาดรูปเล่น (ใช่ที่ไหนละ) เหลือที่ไว้ให้จดข้อความที่สำคัญ เลขมาตรา เลขฎีกาที่เกี่ยวข้อง เชื่อมโยง บันไดงูไปยังมาตราอื่นๆต่อไป

              ส่วนใหญ่ นักศึกษานิติศาสตร์ ปี 1 มักเริ่มต้นด้วย "ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ฉบับใช้เรียน (อาจารย์สมยศ)" *ทั้งนี้ ไม่ได้ค่าโฆษณาแต่อย่างใด* (สีปกอาจเปลี่ยนแปลงไปตามอารมณ์ของสำนักพิมพ์ ซึ่งบางทีสีก็ตัดกันแบบไม่น่าให้อภัย พิมพ์ใหม่ทีก็เปลี่ยนใหม่ที)

    ADVERTISEMENT


    ((ปกแข็ง กระดาษขาว มีหัวข้อสำคัญและข้อสังเกตให้ข้างมาตรา))


              ส่วนของเจ้าอื่นก็จะมีข้างประมวลโล่งๆเอาไว้แปะ ขีด เขียน ได้ตามสะดวก ... เลือกเอาที่ปกสวยถูกใจได้เลย เพราะอย่างที่บอกไปในข้อ 1. ว่า เนื้อข้างในเหมือนกันหมด ยกเว้นว่าจะแก้ไม่ทัน




              ขนาด A5(กลาง) และ A6(เล็ก)         

              เล่มเล็กส่วนมากเอาไว้สำหรับการพกพา ขีดเขียน ระบายสี ปู้ยี่ปู้ยำกระทำให้หนำใจ เพราะราคาถูก จะขีดจะซื้อใหม่ยังไงก็ได้ อีกอย่างคือ บางช่วงบางที มีการแก้กฎหมายบ่อย จึงไม่นิยมซื้อเล่มใหญ่กันบ่อยๆ เพราะ...แพง!!! และอย่างที่บอกว่า เล่มใหญ่จะเอาไว้จดเรื่องที่สำคัญลงไป การเปลี่ยนประมวลเล่มใหญ่บ่อยๆจะทำให้ที่จดๆเอาไว้กระจัดกระจายหาไม่เจอ (และตัดใจทิ้งเล่มเล็กง่ายกว่าเล่มใหญ่เยอะ)

    *ข้อแนะนำ*
              ประมวลเล่มใหญ่ ควรซื้อแยกกันนะคะ คือไม่แนะนำให้ใช้ประมวลเล่มใหญ่ที่มีแพ่งและอาญา หรือวิแพ่งวิอาญาอยู่รวมกัน เพราะหลักๆ คือ สะดวกต่อการเรียนและไม่ปะปนกัน เรื่องรองคือ มันหนัก ถ้าวันไหนใช้แค่ประมวลเดียว จะแบกอีกเล่มติดมาทำไมละ และที่สำคัญ ถ้ามันอยู่รวมกันแล้วหาย จะไม่เหลืออะไรเลยนะเออ~ (ถ้าถามว่า แล้วถ้าวันไหน เรียนหลายวิชาละ...น้องขา มหาลัยเรียนเต็มที่ วันนึงไม่เกิน 3 วิชาค่ะ เช้า-บ่าย-ค่ำ(กรณีมีดีลพิเศษจากอาจารย์) เพราะฉนั้น วันนึงแบกแค่ 2 เล่ม กับสมุดรายงาน และชีทอีกนิดหน่อยเอง ... ตอนเรียนมอปลายแบกหนักกว่านี้เยอะ)


    ---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------


    อ่านถึงตรงนี้แล้ว จะไม่เปลี่ยนใจจริงๆสินะ

    ถ้าอย่างนั้น ไปค่ะ สู้ต่อ



    [มีคำถาม สงสัยหรืออยากรู้เรื่องอะไรเพิ่มเติม คอมเมนต์ไว้ด้านล่าง หรือ ติดต่อได้ที่ Twitter @LawRealLife]

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in
Nat KTGaming (@fb2786953588280)
เห็นแล้วเครียดเลยเขียนช่ะคิดภาพตาม ผมว่าเรียนต่อ IT ดีอยู่แล้ว555
moonlightx21y (@moonlightx21y)
ตามอ่านต่อนะคะ ><