บทความนี้จะแนะนำการเริ่มต้นเรียนกฎหมายสำหรับเด็กนิติน้องใหม่ หรือน้องๆม.6 ที่กำลังตัดสินใจว่าจะเรียนนิติศาสตร์ดีมั๊ยหนอ แต่ไม่รู้จะถามใครดี พวกรุ่นพี่ก็หน้าตาน่ากลัว วันๆทำหน้าดำเดินพูดคนเดียวเหมือนท่องคาถา ... อันที่จริง เด็กนิติคุยง่ายนะคะ แค่คุยไม่ค่อยรู้เรื่อง เพราะไม่ค่อยมีสติ
เรื่องที่จะพูดถึงต่อไปนี้คือมุมมองของนักกฎหมาย ระดับมนุษย์ธรรมดา ที่ความจำกลางๆ สมองปลาทองบ้างเป็นบางเวลา เรียนแบบอาศัยลูกบ้าและแนวคิดแบบคนขี้เกียจ กระเสือกกระสนจนจบนิติศาสตรบัณฑิตเกียรตินิยมอันดับสอง(ที่หนึ่งไม่ไหว >.<) สอบได้ใบอนุญาตว่าความแบบคาบเส้น และตะเกียกตะกายจนได้เนติบัณฑิต ... เอาแค่นี้ก่อน ... ตอนนี้เรียนปอโทและซ้อมสอบผู้ช่วยฯอยู่ ไม่ได้อ่านหนังสือจริงจังไปสอบสักที (ข้ออ้างของคนขี้เกียจ) ขอรีบให้จบปอโทก่อน...ทางยังอีกไกล~
วิชา LA001 จะว่าด้วยเรื่อง How to เรียนกฎหมายเบื้องต้น
(ฉบับ มนุษย์ธรรมดา)
ทำไมต้องมนุษย์ธรรมดา ... เพราะว่า เรามักจะเห็นแต่คนเหนือมนุษย์ทั้งนั้นเลยน่ะสิ พวกที่อ่านรอบเดียวก็จำได้ พวกที่จำเลขฎีกาได้ทั้งหมด พวกที่แบ่งเวลาอ่านหนังสือได้อย่างดี พวกที่ทำงานไปด้วยอ่านหนังสือไปด้วยก็สอบผ่าน ... อันที่จริงก็ไม่ใช่ว่าไม่อยากทำได้แบบนั้น แต่...ก็เพราะว่าทำไม่ได้นี่แหละ มนุษย์ธรรมดาแบบที่ต้องอ่านหลายๆรอบ ต้องอ่านข้ามวันข้ามคืน ต้องอัดกาแฟเข้าเส้น เรียนอย่างเดียวอ่านหนังสืออย่างเดียวก็เกือบเอาตัวไม่รอด ต้องเกือบตกเพราะอ่านยังไงก็ไม่เข้าใจ จะมีวิธีเอาตัวรอดแบบไหนกันนะ
ถือว่ามนุษย์ธรรมดาคนนี้จะมา บอกเล่า เล่าเรื่อง และเป็นกำลังใจให้น้องๆที่กำลังท้อแท้เพราะเรียนไม่ไหวก็แล้วกันค่ะ
---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
ถ้าพูดถึง "คณะนิติศาสตร์" เรียกได้ว่าเป็นคณะหนึ่งที่ได้รับความนิยมในหมู่เด็กม.6 ไม่มากก็น้อย...ซึ่งก็ไม่ค่อยแน่ใจว่าเป็นเพราะว่าเท่ห์ดีหรือโดนเพื่อนหลอกให้ลง (แฮร่!!)
เอาเป็นว่า ไหนๆน้องๆก็หลงเข้ามาแล้ว ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลไหนก็ตาม ก็ต้องมีการเตรียมตัวให้พร้อม แล้วจะเริ่มที่ตรงไหนดี หลังจากที่มีชื่อว่าติดคณะนิติศาสตร์ ... มาค่ะ จะเล่าให้ฟัง ทำใจให้สบาย หายใจเข้าลึกๆ ลึกๆ ลึกอีกค่ะ~
(( อ้อ~ ลืมไป ก่อนที่จะไปต่อ ต้องขอบอกว่าเข้ามาเรียนนิติศาสตร์แล้ว~~ ...หนีไม่ทันแล้วนะคะ -..- ))
...ขอเริ่มต้นด้วยคำถามยอดฮิต
เรียน ยากมั๊ยคะ?
คำถามนี้มักโดนถามบ่อยๆ บ่อยมาก และการที่เด็กนิติศาสตร์จะตอบว่า "หนีไป" ก็ไม่ได้เป็นการกวนประสาทแต่อย่างใด ... คำว่าหนีไปคือหนีไปได้ก็หนีไปเถอะนะ เป็นห่วง ไม่อยากให้ประสบชะตากรรมที่เวทนา ที่ก็ไม่รู้ว่าชาติที่แล้วไปเผาห้องสมุดแห่งชาติไว้หรืออย่างไร ชาตินี้ถึงต้องมาชดใช้กรรมด้วยการอ่านหนังสือแบบ Never-ending แบบนี้
แต่ถ้ามั่นใจว่า ใช่ค่ะ หนู/ผม อยากเรียน ตั้งใจไว้แล้ว เลือกมาจากบ้านแล้วคณะนี้ ... มาค่ะ ฟังต่อ~
มันไม่มีคณะไหนง่ายหรอกค่ะ อยู่ที่ใจ ว่าสู้รึเปล่า พร้อมหรือไม่ที่จะอ่านหนังสือข้ามวันข้ามคืน หามรุ่งหามค่ำ อัดกาแฟ เอ็มร้อย อัดน้ำตาล อัดทุกอย่างที่ทำให้ตาสว่าง และท่องประมวลก่อนสอบทั้งๆที่ สมองไม่รับอะไรแล้ว~...ต่อให้ขี้เกียจก็ต้องไปต่อ ต้องท่องประมวลทั้งน้ำตาก็ต้องท่องต่อ ท้อจนแทบปาประมวลทิ้งก็ต้องอ่านต่อ...เพราะ F มันน่ากลัว~ และการสอบไม่ผ่านมันน่ากลัวกว่า! (และที่น่ากลัวสุดๆคือค่าหน่วยกิต)
...ต่อด้วยคำถามที่ฮิตไม่แพ้กัน
เรียน ต้องความจำดีไหม?
ความจำไม่ใช่ทุกอย่างและเรียนนิติศาสตร์ก็ไม่ได้จำเป็นต้องท่องประมวลได้ทั้งหมด (มันจะมีพวกที่ท่องได้ทั้งหมดอยู่ แต่นั้นเราจะไม่นับว่าเป็นมนุษย์ปกติ 55555) หลัก ๆ ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า เรียนกฎหมายไม่ได้เรียนทุกตัว นักกฎหมายก็ไม่ได้รู้กฎหมายทุกตัวเช่นกัน เพราะพรบ.ประเทศนี้มีเยอะมาก แต่การเรียนนิติศาสตร์ทำให้เราอ่านกฎหมายแล้วเข้าใจว่ากฎหมายนี้ตราขึิ้นด้วยวัตถุประสงค์อะไรและควรที่จะบังคับใช้อย่างไร
อันที่จริงก็คงปฎิเสธไม่ได้ว่าจำเป็นต้องท่องตัวบทเพื่อไปสอบ แต่ถ้าเข้าใจแล้วว่าตัวบทใช้อย่างไร ก็ไม่จำเป็นต้องท่องเป็นนกแก้วนกขุนทองเพื่อไปสอบ เพราะต่อให้ท่องได้ทุกตัวอักษรแต่ไม่เข้าใจ ใช้ไม่เป็น ก็ตอบข้อสอบไม่ได้อยู่ดีนะคะ ... ปกติเวลาสอบน่ะ จำแค่หลักกฎหมายก็เพียงพอให้ตอบข้อสอบ ส่วนการจำตัวบทได้ทุกตัวอักษรและเลขมาตราถูกต้องอันนี้เป็นคะแนนแถมสำหรับคนมีความพยายาม (แต่ถ้าไม่แน่ใจเลขมาตราอย่าทะลึ่งตอบเด็ดขาดเลยนะคะ เป็นการยื่นมีดให้อาจารย์แทงกลับล้วนๆ 5555)
เพราะฉนั้น เพื่อลดเวลาการท่องประมวล จงทำความเข้าใจให้ถี่ถ้วนเสียก่อนว่าเรื่องนั้น มาตรานั้นใช้อย่างไร เดี๋ยวอ่านๆไปเลขมาตราก็จำได้เอง
--คำถามพ่วง--
ทำยังไงถึงจะจำได้แม่นๆ
ใช่ค่ะ สำหรับมนุษย์ธรรมดา ท่องอย่างเดียวให้ตายก็ไม่จำ เดินสะดุดยอดหญ้าหรือนอนหลับหนึ่งตื่น ก็ลืมหมดแล้ว (อย่าไปเทียบกับคนที่ท่องประมวลคู่กับเบียร์กระป๋องแต่ยังจำได้เลยค่ะ เรื่องมันเศร้า เรามันสมองปลาทอง TT^TT) ... แต่ก็พอจะมีวิธีแก้ค่ะ ... ถ้าจำด้วยสมองอย่างเดียวไม่ซึมเข้าร่าง ต้มประมวลแดกไปเลย (ล้อเล่น)
"เขียน" คือวิธีการที่ดีที่สุดค่ะ สมองไม่จำ ต้องใช้ร่างกายจดจำ การเขียนตัวบท เราจะได้อ่าน ได้เห็น ได้ลงมือ ... ส่วนกี่รอบนั้น~ ก็แล้วแต่สะดวก
ส่วนตัว อย่างต่ำสามรอบ อย่างมาก(ถ้ามีเวลา)คือนับไม่ถ้วน แต่อย่างน้อยๆก็จะประมาณนี้....
รอบที่ 1 คือการรีวิวตัวบททั้งหมด แล้วเลือกเรามาตราที่คิดว่าสำคัญในระดับหนึ่งเขียนลงมาก่อน (รอบนี้ต้องอ่านทุกมาตรานะคะ แต่ไม่ต้องเขียนทุกมาตรา เลือกมาตราที่คิดว่าสำคัญ)
รอบที่ 2 คัดมาตราจากรอบ 1 ที่สำคัญกว่า + ย่อตัวบทให้เหลือแต่คำสำคัญในมาตรา
รอบที่ 3 ย่อในย่ออีกที (ถ้ามีเวลา) ... รอบที่ 4...5...6 เขียนวนไป อ่านท่อง ท่องอ่าน อ่านคู่กับฎีกา คู่กับตัวอย่าง อ่านวนไป
และอีกวีธีหนึ่งที่ทำคู่กันไปได้คือ อัดเสียงท่องประมวลค่ะ เอาไว้ฟังเวลาที่อยู่ในสถานที่ที่การหยิบกระดาษหรือหนังสือออกมาลำบาก เช่น นั่งรถ เดินทาง เป็นต้น (จะอัดเองหรือโหลดจากยูทูบก็ได้นะ มีคนอัดแจกไว้เยอะแยะ)
ทำยังไงให้อ่านหนังสือแล้วไม่ง่วง
ทำใจนะคะ~~ ...อ่านหนังสือแล้วไม่ง่วงได้คือยอดคน นั่งดูซีรี่ย์ข้ามวัน อ่านการ์ตูนข้ามคืน เล่นเกมยาวๆไม่มีหาว พอเปิดประมวลหน้าแรกเท่านั้นแหละ *สลบ* ... ง่วงเป็นเรื่องปกติ แต่จะทำยังไงให้ตาสว่างนี่สิ
เรื่องนี้แต่ละคนมีวิธีการที่อต่างกัน เปิดเพลงไปด้วยบ้าง กาแฟ เอ็มร้อย กินขนมไปด้วยบ้างก็มี แต่จุดร่วมที่ได้ผลคืออัดน้ำตาเข้าร่างกายค่ะ ... จริงๆเป็นวิธีการที่ไม่ค่อยดีเท่าไร แต่ถ้าจำเป็น ก็ไปวิ่งลดน้ำหนักทีหลังเอาเนาะ...วิ่งไปก็ฟังประมวลที่อัดเสียงไปในข้อข้างบนนั้นแหละค่ะ!
ก่อนจะเข้าบทเรียนแรก คงต้องขอบอกว่า จะไม่กล่าวถึงเรื่องเรียนนิติศาสตร์ที่มหาลัยไหนดีกว่ากันนะคะ เพราะไม่ว่ารัฐหรือเอกชน ก็เรียนเหมือนกันหมดค่ะ กฎหมายเดียวกัน รัฐธรรมนูญโดนฉีกเหมือนกัน เท่าเทียมค่ะ ไม่ต้องห่วงนะคะ *ฮา* เรื่องชื่อเสียงมหาลัยก็สุดแล้วแต่จะคะแนนจะถึงแล้วกันค่ะ มหาลัยเอกชนที่คณะนิติศาสตร์มีชื่อเสียงก็เยอะแยะ เลือกได้ตามสะดวก เพราะไม่ว่าจะรัฐหรือเอกชน ส่วนใหญ่หนังสือเล่มหลักๆที่ใช้อ่านเสริมก็ไม่ค่อยต่างกัน ดังนั้น เรื่องมหาลัยไหนดี ไม่ถือว่าเป็นประเด็นที่จะต้องกังวลใจ (เว้นแต่ อยากมีส่วนร่วมในงานฟุตบอลประเพณี อันนี้ก็ต้องขยันเยอะหน่อย)
เพราะฉนั้นเอาเป็นว่า ขอข้ามขั้นตอนเรื่องอ่านหนังสือสอบเข้ามหาลัยไปเลยนะคะ เพราะวิธีสอบตรง สอบอ้อม สอบรวม สอบแยก เปลี่ยนแปลงอยู่เรื่อยๆ ... ให้ถือว่าบทความต่อไปนี้ เป็นบทความประกอบการตัดสินใจของน้องๆแล้วกัน ว่าคณะนิติศาสตร์ คุ้มกับการสู้อ่านหนังสือ เพื่อสอบเข้ามหาลัยมั้ยดีกว่านะ
---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
มันไม่ง่ายนะ เปลี่ยนใจไปเรียนอย่างอื่นยังทันนะคะ
... ไม่หรอ?
ถ้าอย่างนั้น ไปบทต่อไปได้เลยค่ะ ^ ^
[มีคำถาม สงสัยหรืออยากรู้เรื่องอะไรเพิ่มเติม คอมเมนต์ไว้ด้านล่าง หรือ ติดต่อได้ที่ Twitter @LawRealLife]
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in