เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
LA 001 : หลัก(นักศึกษา)กฎหมายทั่วไปlawreallife
บทที่ 2 นิติศาสตร์เขาเรียนเขาสอบอะไร
  •           เรื่องที่จะกล่าวถึงในหัวข้อนี้คือคณะนิติศาสตร์เรียนอะไรกันและสอบกันอย่างไร... สำหรับคนทั่วไป มักจะมองว่าคนเรียนกฎหมาย น่าจะต้องเป็นผู้รอบรู้เรื่องกฎหมาย ปัญหาอะไรก็รู้ ถามอะไรก็ตอบได้ สงสัยเรื่องไหนถามเด็กกฎหมายได้ทุกเรื่อง

              เดี๋ยวก่อน!!! เธอจ๋า!!! ฉันเรียนกฎหมาย ฉันไม่ใช่กูเกิ้ล!!!


              กฎหมายประเทศไทยมีกี่ฉบับลองโทรไปถามกฤษฎีกาดูได้ค่ะ...ตอบแทนเลยว่า เข้าหน้าที่ก็ไม่รู้เหมือนกัน ... มีเยอะค่ะ เยอะมาก กฎหมายมีหลายระดับ ตั้งแต่ประกาศ ยันรัฐธรรมนูญ (แถมมีช่วงนึงที่ออกกฎหมายตะบี้ตะบัน หลับหูหลับตาออก แถมบอกว่าเป็นผลงานที่หน้าภูมิใจไปอีก...ไม่รู้ใครไปบอกลุงข้างบ้านคนนั้นว่าผ่านกฎหมายเยอะคือผลงานที่ดี *กุมหัว*)

              ดังนั้น~ คณะนิติศาสตร์ไม่ได้ให้นักศึกษาต้องมาเรียนกฎหมายทุกฉบับของประเทศสารขัณฑ์แน่ๆ...แต่จะเน้นไปที่ กฎหมายหลักๆ ที่เป็นแขน ขา มือ เท้าของระบบยุติธรรม รวมไปถึง กฎหมายพิเศษๆอันแสนสำคัญอีกหนึ่งกระบุง

             และผลสัมฤทธิ์ที่สังคมคาดหวังจากการเรียน 4 ปี คือการสอนให้นักกฎหมายเลเวล 1 เหล่านี้สามารถอ่านกฎหมายที่ไม่รู้จักแล้วเข้าใจ นำไปปรับใช้ สามารถเข้าถึงเจตนารมณ์ของกฎหมายว่าต้องการจะบังคับใช้เพื่อเหตุผลใด และที่สำคัญคือสอนให้รู้จักคิด วิเคราะห์ ว่าความยุติธรรมคืออะไร การให้ความยุติธรรมคืออย่างไร (ในชั้นนี้คงจะไม่มาอธิบายถึงความหมายของความยุติธรรม เพราะไม่ใช่บทความที่น่าเบื่อแบบนั้น ให้น้องๆไปเรียนเองดีกว่า สปอยมากไปคงไม่ต่างอะไรกับการบอกว่า ไอร่อนแมนตายตอนจบ *แฮร่*)

              มาดูกันดีกว่าว่าวิชากฎหมาย ที่ว่าที่นักกฎหมายเลเวล 1 จะต้องได้พบต้องเจอตลอด 4 ปี และจะโดนตามหลอกตามหลอนไปทั้งชีวิต (ถ้าคิดอยากจะอัพเลเวล) ตัวบทที่จะตามจองล้างจองผลาญนักกฎหมายไปตลอดกาลมีอะไรบ้าง

    ---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

              อย่างที่เคยบอกไปว่า กฎหมายมี 4 ขา เพราะฉนั้นถ้านับรวมกฎหมายพิเศษแล้ว ก็แบ่งได้เป็น 5 กลุ่มใหญ่ๆ ดังต่อไปนี้

      1. ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
      2. ประมวลกฎหมายอาญา
      3. ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
      4. ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
      5. กฎหมายพิเศษ+วิชาทฤษฎี

              วิชาที่จะกล่าวถึงต่อไปนี่คือสรุปรวมแบบกลางๆ นะคะ (จากสนามปริญญา เนติ สนามผู้ช่วย สนามงานกฎหมาย) บางมหาลัย บางหลักสูตร มีเพิ่มมีลด มีแยกย่อยต่างกันไปในรายละเอียด แต่กฎหมายตามนี้แน่นอนไม่เปลี่ยนแปลงค่ะ (หนีไม่พ้นค่ะ เรียนที่ไหนก็เจอ)
    .........

    1. ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 

     
              ถ้าพูดถึงวิชากฎหมายที่ต้องใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เรียกได้ว่ายาวพอๆกับมหากาพย์พาแหวนไปทำลาย เพราะเป็นประมวลที่มีมาตราเยอะที่สุด เรียนนานที่สุด วิชาเยอะที่สุด ตัดกฎหมายแพ่งทิ้งไป นิติศาตร์เรียนปีเดียวก็จบ *ฮา*
              ซึ่งกระกอบด้วย แพ่งหลักทั่วไป, นิติกรรมสัญญา, หนี้, เอกเทศสัญญา, ละเมิด(+จัดการงานนอกสั่ง+ลาภมิควรได้), ทรัพย์สิน-ที่ดิน, ครอบครัว,มรดก
     

    2. ประมวลกฎหมายอาญา 

            

    กฎหมายอาญา คือ กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการดูแลความสงบเรียบร้อยในสังคมเป็นหลัก

               กฎหมายอาญาต้องถึงได้ว่าเป็นกลุ่มฎหมายที่มีมาตราน้อยที่สุด นิยมจะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือภาคทั้วไปและภาคความผิด
              อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากกฎหมายอาญายังมีพรบ.อื่นที่มีโทษทางอาญาและออกบังคับใช้เพื่อดูแลความสงบเรียบร้อยเช่นกัน ...แต่! ไม่ได้ใช้สอบในชั้นปริญญาตรี! ...ก็ยังไม่ต้องไปสนใจ ถ้าสนใจก็เอาไว้เป็นกฎหมายอ่านเล่นนอกเวลาถ้าว่างก็แล้วกันโน๊ะ~


    3. ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

    ประมวลวิธีพิจารณาความแพ่ง แบ่งเป็น 4 ส่วนใหญ่ๆ คือ
    1. ทั่วไป
    2. วิธีพิจารณาในศาล
    3.  อุทธรณ์-ฎีกา
    4. วิธีการชั่วคราวก่อนพิพากษา-บังคับคดี

    และมีแถมลูกเล็กเด็กแดงเป็น พระธรรมนูญศาลยุติธรรมมาอีกนิดนึง


    4. ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

    ประมวลวิธีพิจารณาความอาญา แบ่งเป็น 4 ส่วนเช่นกัน คือ
    1. ทั่วไป
    2. สอบสวน
    3. วิธีพิจารณาในศาล
    4. อุทธรณ์-ฎีกา

    และก็มีลูกน้อยแถมมาเป็นวิ.อาญาในศาลแขวงมาด้วย

    **วิชาพยาน**
              วิชาพยานนี้เป็นวิชาที่แยกจากวิธีพิจารณาความแพ่งและวิธีพิจารณาความอาญาอีกทีหนึ่ง เพราะต่างก็มีส่วนพยานเป็นของตัวเอง เขาก็เลยแยกพยานมารวมกันเป็นวิชาเดียวกันซะเลย

    5. กฎหมายพิเศษ

    กลุ่มบังคับเรียน

    นิติปรัชญา
    มหาชน
    รัฐธรรมนูญ
    หลักวิชาชีพนักกฎหมาย
    กฎหมายระหว่างประเทศ
    กฎหมายปกครอง

    กลุ่มบังคับเลือก (เลือกเรียนสัก3-4อัน)

    กฎหมายล้มละลาย
    กฎหมายแรงงาน
    กฎหมายผู้บริโภค
    กฎหมายภาษี
    กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา
    กฎหมายการค้าระหว่างประเทศ
    กฎหมายเด็กและเยาวชน

    ---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

    ***รายวิชาที่กล่าวถึงข้างต้นคือคราวๆนะคะ ไม่แน่ใจว่าลืมอะไรไปบ้างหรือไม่ (จบมานานแล้ว -*-...ใครแอบคิดในใจว่าแก่แล้วละสิ ให้ตบปากตัวเอง 3 ที) และแต่ละมหาวิทยาลัยแบ่งเนื้อหาการสอนไม่เหมือนกัน อาจจะมีความคลาดเคลื่อนไปบ้าง ... ถือว่าเป็นแนวทางในระดับนึงก็แล้วกันค่ะ ... ก็ลองศึกษาเปรียบเทียบกับของหลักสูตรที่กำลังเรียนอยู่ได้ แต่คาดว่าน่าจะไม่ทิ้งกันมากเท่าไร***

    ---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------


    อะๆๆๆๆ อย่าคิดว่าจะหมดแค่นั้น ยังมีไพ่ตายซ่อนไว้อีก 1 ใบค่ะ!!



    *****6. วิชาที่ไม่เกี่ยวกับกฎหมายแต่ทิ้งไม่ได้


          ภาษาอังกฤษ!!


    "ขอแสดงความเสียใจกับน้องๆที่คิดจะหนีภาษาอังกฤษค่ะ
    หนีไม่พ้นนะคะ ... เชื่อเถอะค่ะ พี่ลองหนีแล้ว ไม่พ้นจริงๆค่ะ"

              อย่างน้อยๆต้องเจอ วิชาภาษาอังกฤษของนักกฎหมายแอบๆอยู่ในหลักสูตร 2 - 4 ตัวค่ะ...นอกจากวิชาเรียน บางมหาลัยบังคับสอบภาษาอังกฤษให้ผ่านเกณฑ์ด้วย (ต่อให้จบปอตรีก็อย่าคิดว่าจะหนีพ้นค่ะ ... เวลาสมัครงาน สายเอกชนถ้าใครมีคะแนนอังกฤษ +5 เจาะเกาะ +10 ค่าประสบการณ์ทันทีค่ะ และเดี๋ยวนี้...สอบข้าราชการก็บังคับสอบภาษาอังกฤษ ก.พ.ก็เพิ่ม เนติก็เพิ่ม บางองค์กรขอคะแนนภาษาอังกฤษกันตรงๆเลยทีเดียว เพราะฉนั้นหนีไปก็ไม่รอด ต้องพุ่งชนค่ะ *ทั้งนี้ ติดตามวิธีพุ่งชนภาษาอังกฤษได้ในวิชา L A W Learning English ค่ะ*)


    .........

    ...พูดถึงวิชาเรียนไปแล้ว มาพูดการสอบกันบ้าง...


              การสอบของคณะนิติศาสตร์ถือได้ว่าเค้าเจอร์ช๊อกของเฟรชชี่นักกฎหมายเลเวล1 กันเลยทีเดียว เพราะจากที่เจอข้อสอบกากบาทหรือแสดงวิธีทำแบบกรุบกริบกริ๊บกริ้วมาในมอปลาย น้องจะได้เจอข้อสอบแบบเสริมสร้างจินตนาการไม่รู้จบแบบโยนสมุดให้หนึ่งเล่ม แล้วให้น้องสวมบทเป็นศาลฎีกาหรือไม่ก็เป็นสนช. คสช. แบบออกกฎหมายเองบังคับเองใช้เองในเวลา 4 ชั่วโมง ... ซึ่งถึงแม้ว่า น้องจะเคยได้ยินกันมาบ้างแล้วว่า ข้อสอบกฎหมายเป็นอัตนัยล้วน แต่การเจอ ข้อสอบอัตนัยล้วน นั่งสอบยาวๆ ครั้งแรกอาจจะทำตัวไม่ถูก ... เพราะฉนั้น ทำใจดีๆไว้นะคะ  ^ ^

              เนื่องจากปี 1 ต้องเรียนตัวนอกคณะด้วย ที่ส่วนใหญ่ก็จะมีสอบกลางภาคเก็บคะแนนกันแบบน่ารักๆ ครึ่งเทอมก็มีคะแนนเก็บไว้ในกระเป๋าให้อุ่นใจ เดาใจได้ว่าจะไปต่อหรือดร๊อปลงใหม่ให้รู้แล้วรู้รอดไป ...แต่ๆๆๆ วิชากฎหมายจะไม่เป็นแบบนั้น ไม่มีใจดีมอบคะแนนเก็บไว้เป็นเข่งตั้งแต่กลางเทอม ถ้าโชคดีอาจจะเจออาจารย์สายนางฟ้าที่ให้เก็บคะแนนหรือทำรายงานอยู่บ้าง แต่ถึงจะทำรายงานเยอะแค่ไหน คะแนนที่มีให้ก็เป็นแค่เศษคะแนนของคะแนนเต็มอยู่ดี (พี่เรียนมา 4 ปี เจอใจดีสุด มีคะแนนช่วยให้ไม่เกิน 10-20 คะแนน จาก 100 ไม่พอให้ผ่านไฟนอลอยู่ดี) ...และใช่ค่ะ คณะนิติศาสตร์ส่วนใหญ่จะไม่มีการสอบกลางภาคอย่างเป็นทางการ ตอนกลางเทอมที่คณะอื่นสอบกัน เด็กนิติจะได้วันยุดแบบคลูๆไป 2 อาทิตย์ ให้คณะอื่นอิจฉาตาร้อน ที่เขาหารู้ไม่ว่ามียมโลกรอเด็กนิติอยู่ที่ปลายเทอม
            รูปแบบการสอบของวิชากฎหมายคือ ข้อสอบ 4 - 5 ข้อ คะแนนเต็ม 100 คะแนน ไม่หาร ตัดเกรด A - F  ให้เวลาสอบ 3 - 4 ชั่วโมง (บางทีมี 3 - 4 ข้อ 80-90 คะแนน บ้างแล้วแต่ความใจดีของผู้สอนที่ยอมให้มีคะแนนเก็บ)
              จากเหตุผลนี้ทำ เด็กนิติที่ตั้งใจเรียนมาตลอดทั้งเทอม จะไม่มีโอกาสดร๊อปเลย (ส่วนคนที่ไม่ตั้งใจก็ต้องวัดใจค่ะ แต่ขอบอกไว้ว่าวันไนท์มิราเคิลไม่ยั่งยืน) ...ต่อให้มีคะแนนเก็บที่น้อยนิดจากอาจารย์ก็ไม่ได้หมายความว่าจะได้ A เพราะการทำข้อสอบพลาดไปเพียงข้อสองข้อหรือทำไม่ทันสักข้อนึง ก็ส่งผลต่อเกรดทันที จาก A อาจเป็น D จาก B อาจเป็น F ได้ไม่ยาก ดังนั้น ต่อให้ฟิตมาทั้งเทอม เข้าเรียนทุกคาบแต่พินาศตอนสอบ ก็อาการโคม่าได้เหมือนกัน
              เวลาสอบก็เขียนตอบแบบนอนสต๊อป เขียนจนปวดมือ เขียนจนเจ็บนิ้ว เขียนแบบสอบเสร็จเลิกจับปากกาไปสองอาทิตย์ *วิธีเขียน วิธีแบ่งเวลาตอบข้อสอบไว้จะเล่าในคราวต่อไปนะคะ*


    ---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------


    ถ้าถามถึงเหตุผลว่า ทำไมต้องใจร้ายกับเด็กนิติศาสตร์ขนาดนี้...คงเป็นเพราะเป็นการจำลองสนามสอบใหญ่ในอนาคตนั้นเอง


    ชั้นเนติบัณฑิต

    ข้อสอบ 10 ข้อ 100 คะแนน :: เวลาสอบ 4 ชั่วโมง :: ผ่าน 50 คะแนน 

    *อย่าลืมว่า เนติบัณฑิต มี 4 ขา ที่ต้องสอบทั้งหมด 4 กลุ่มวิชาใหญ่ๆ*
     

    ชั้นสอบสนามผู้พิพากษา-อัยการ


    29 - 30 ข้อ 280 - 290 คะแนน :: สอบ 3 วัน เฉลี่ยประมาณ 10 ข้อต่อวัน :: เวลาสอบประมาณ 4 ชั่วโมงต่อวัน :: ผ่านครึ่งของคะแนนทั้งหมด

    *ตัวอย่างนี้เฉพาะกรณีสนามใหญ่ ... เรื่องสนามใหญ่คืออะไร ไว้จะกล่าวต่อไปในหัวข้อเส้นทางการเป็นผู้พิพากษาค่ะ*



    ---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------


    เรื่องวิชาเรียน เรื่องการสอบ ก็พอหอมปากหอมคอประมาณนี้

    สู้นะคะ อย่าเพิ่งถอดใจ

    *ก็เตือนแล้วว่าให้หนีไป -..-*

    [มีคำถาม สงสัยหรืออยากรู้เรื่องอะไรเพิ่มเติม คอมเมนต์ไว้ด้านล่าง หรือ ติดต่อได้ที่ Twitter @LawRealLife]

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in