เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
เมื่อว่างแปล | A Translator is TranslatingMeen Geywalin
[แปลสัมภาษณ์] Nakamura Tomoya - Pia 2020.06.23
  • นากามุระ โทโมยะ
    ใครจะมองยังไงก็ได้ สิ่งที่ไม่มีคือไม่มี


    สัมภาษณ์โปรโมตภาพยนตร์เรื่อง 水曜日が消えた (Gone Wednesday)
         "ผมรู้สึกมากเลยครับว่าในตัวเองมีตัวเองอีกหลายแบบอยู่ อาจจะรู้สึกมากกว่าคนอื่นด้วยซ้ำ"
         เขาพูดถึงตัวเองด้วยน้ำเสียงทุ้มหวานคล้ายกระซิบ ภาพยนตร์เรื่องใหม่ที่ นากามุระ โทโมยะ แสดงนำ 水曜日が消えた (Gone Wednesday) เขารับบทเป็นชายหนุ่มที่เคยประสบอุบัติเหตุตอนเด็กจนทำให้บุคลิกภาพเปลี่ยนไปทุกวันตามวันทั้ง 7 ของสัปดาห์

         เมื่อเราบอกเขาไปว่าเซตติ้งของภาพยนตร์เรื่องนี้ค่อนข้างพิเศษ แต่ขณะเดียวกันพวกเราทุกคนก็ใช้ใบหน้าอันหลากหลายของตัวเองเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ต่างๆ ในชีวิตประจำวันเช่นกัน ดังนั้นจึงรู้สึกว่าภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นเรื่องทั่วๆ ไปด้วย โทโมยะพยักหน้าแล้วบอกว่า "เป็นสิ่งที่ผมคิดหลังดูหนังจบเหมือนกันครับ"

         "มีชีวิตอยู่มาจนถึงตอนนี้เจอสถานการณ์ต่างๆ​ มามากและมีสิ่งที่เป็นความผิดของตัวเองด้วยใช่ไหมล่ะครับ มีเรื่องที่เราเสียใจทีหลัง สับสนลังเล กังวลว่านี่มันอะไรกัน บางครั้งก็นำความผิดพลาดนั้นมาใช้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตอนหนุ่มๆ นี่รู้สึกว่าหลายๆ ด้านในตัวเองทำให้ตัวเองปั่นป่วนมาก แต่พอมาถึงตอนนี้คิดว่ามันก็ช่วยไม่ได้น่ะเนอะ"

         สำหรับบุคคลสาธารณะพวกเขาย่อมถูกพูดถึงในหลายๆ แง่มุมอย่างอิสระ อย่าง นากามุระ โทโมยะ ก็ถูกขนานนามหลายแบบ ไม่ว่าจะเป็น "Chameleon Actor"(ตีบทแตกทุกบท) และ "ชายหนุ่มนุ่มนิ่มอ่อนโยน"

         "เมื่อก่อนเคยมีช่วงที่กังวลว่าตัวเองจะถูกมองยังไงอยู่นะครับ แต่พอมีประสบการณ์ พออายุมากขึ้น กลายเป็นว่ายังไงก็ได้ ตอนนี้รู้สึกว่า ใช้ชื่อ นากามุระ โทโมยะ เล่นกันอย่างอิสระได้เลย จะเป็นอิมเมจแบบไหน จะให้ค่าแบบไหน จะเล่นยังไงก็ได้ จะแอนตี้ก็ได้ ตามใจเลยครับ (ยิ้ม)"

         และตอนนี้เขาไม่มีความคิดจะลองทำอะไรใหม่ๆ ให้ตรงข้ามอิมเมจที่สังคมมองแล้ว

         "จะว่ายังไงดีล่ะ ผมไม่รู้สึกเป็น 'สินค้าใหม่' อีกแล้วน่ะครับ(ยิ้ม) ส่วนการเซอร์วิสเป็นสิ่งที่ผมต้องทำเป็นงานอยู่แล้ว ดังนั้นจึงจำเป็นต้องไปให้ไกลกว่าความต้องการของสังคมให้มาก อิมเมจของตัวผมที่สังคมรู้กันสำหรับผมแล้วเป็นสิ่งที่คิดไว้แล้ว​ เรื่องนี้ผมเลยรู้สึดว่ามีความต่างของเวลาอยู่ ในความหมายนี้คือถ้ารอเห็นปฏิกิริยาตอบสนองของสังคมตอนนี้แล้วค่อยคิดกลยุทธการขายมันจะช้าไป ผมคิดว่าความรับรู้และการมองเห็นของผมมันต้องไปไกลกว่านั้นมากๆ ให้ได้ครับ

         บทผู้ชายอันตรายจาก 'Nagi no Oitoma'(TBS), บทอดีตนักเลงที่มาเป็นครูใน 'Hajimete Koi wo Shita Hi ni Yomu Hanashi'(TBS) หรือจะเป็นบทสามีชอบกดขี่ข่มเหงใน 'Holiday Love'(TV Asahi) กับบทสามีใจเสาะในโฆษณาของ Daiwa House สำหรับนากามุระที่แสดงใบหน้าใหม่ๆ ไปตามบทบาทที่ได้รับอยู่เสมอ คราวนี้เขาได้แสดงศักยภาพในการแสดงบทบาท 7 คาแรกเตอร์​ด้วยตัวคนเดียว แน่นอนว่าฝีมือการแสดงที่ตีบทแตกได้เป็นอย่างดีคงเป็นที่พูดถึงกันในหลายสื่อ แต่เจ้าตัวกลับเอ่ยอย่างเรียบง่ายว่า
         "ผลงานเรื่องนี้การตีบทแตกไม่ได้สำคัญอะไรครับ"

         "เวลาได้รับคำชมและเป็นที่กล่าวถึงผมก็รู้สึกขอบคุณแน่นอนอยู่แล้วครับ มันเป็นเรื่องน่าดีใจ อาจจะฟังดูเย็นชาสักหน่อย แต่มันเป็นงานน่ะครับ ก็ดีใจนะ แต่จะว่ายังไงดีล่ะ การได้รับการพูดถึงในเรื่องแบบนั้น ในฐานะนักแสดงแล้วถือว่ายังไม่เท่าไหร่หรอกครับ"

         ถ้าอย่างนั้นยังมีอะไรอยู่ข้างหน้าอีกงั้นเหรอ เขาก็ตอบมาอย่างเอื่อยๆ ว่า

         "นั่นสินะครับ ทำงานมานานขนาดนี้แล้วก็เริ่มไม่ค่อยรู้แล้วเหมือนกัน ผมว่าคนอื่นๆ ที่ทำงานมานานขนาดนี้ก็คงรู้สึกเหมือนกันล่ะมั้งครับ"

         ปัจจุบันเขาอายุ 33 และเป็นนักแสดงมาแล้วกว่า 15 ปี ผ่านมาทั้งช่วงวัยรุ่นที่กระหายการทำงานอย่างบ้าระห่ำ มาถึงช่วงกลางๆ ที่เริ่มตัดส่วนเกินของความคิดออกไปเรื่อยๆ

         "ความต้องการแปลกๆ และความทะเยอทะยานที่มีสมัยหนุ่มๆ ค่อยๆ หายไปน่ะครับ อืม สิ่งหนึ่งที่บอกได้ว่าไม่เปลี่ยนตั้งแต่เมื่อก่อนและตอนนี้คือ การสร้างสรรค์ผลงานที่ดี สร้างสิ่งที่ทำให้คนที่ได้ดูพึงพอใจ สำหรับผมนี่ถือเป็นหลักสำคัญ​ในการทำงานครับ ถ้ารักษามันไว้ได้ เรื่องอื่นหลังจากนั้นจะเป็นยังไงก็ช่าง ผมรู้สึกว่ามันเรียบง่ายขึ้นเรื่อยๆ น่ะครับ"

         ถ้าอย่างนั้น นากามุระ โทโมยะ เข้าถึงบทบาทยังไงกัน นักแสดงใช้ทั้งเสียง, สีหน้า, ท่าทางการเดิน, อากัปกิริยา และอื่นๆ มาเพื่อแสดงออกถึงนิสัยใจคอของตัวละครนั้นๆ ท่ามกลางวัตถุดิบเหล่านั้นทั้งหมด จุดแข็งของ นากามุระ โทโมยะ คือตรงไหน?

         "ถ้าในแง่ของกายภาพก็น่าจะเป็นจุดศูนย์ถ่วง(การให้น้ำหนัก)ครับ การใช้ศูนย์ถ่วงที่ต่างกันทำให้ความลึกของการหายใจเปลี่ยนไป และทั้งวิธีการเดิน, ท่าทาง, การใช้กล้ามเนื้อก็จะเปลี่ยนไปด้วย ถ้าเป็นด้านกายภาพแล้วจุดศูนย์ถ่วงถือเป็นพื้นฐานเลยครับ"

         นากามุระอธิบายต่อไปถึงบทบาทของ "วันอังคาร" หนึ่งใน 7 บทที่เขาได้รับ

         "หมอนั่นเวลาอยู่บ้านคนเดียวจะเดินลงเท้าหนักๆ ครับ แต่เวลาออกไปข้างนอกแล้วจะเบาขึ้น ตรงนั้นเป็นนิสัยของวันอังคาร เวลาออกไปข้างนอกจะตื่นเต้น แต่พออยู่ในบ้านจะทำอะไรตามจังหวะของตัวเองน่ะครับ เขาเป็นอย่างนั้นล่ะ"
         แต่เขาก็ไม่ได้กำหนดน้ำหนักแล้วเปรียบเทียบกับตัวละครอื่น เขากำหนดตามสถานการณ์ที่ตัวละครนั้นอยู่เท่านั้น

         "ผมว่าทุกคนคิดอาจแบบนั้น เราปรับศูนย์ถ่วงของเราขึ้นลงตามบรรยากาศและอารมณ์ของคนที่อยู่ตรงหน้า แต่ยกตัวอย่างเช่น 'วันจันทร์' เป็นแบบนี้ งั้นทำ 'วันอังคาร' เป็นแบบนี้ดีกว่า แต่ผมไม่ได้ทำแบบนั้นครับ แน่นอนว่ามีถึง 7 คาแรกเตอร์ ผมคิดเรื่องการต้องเปลี่ยนน้ำเสียงให้แตกต่างกัน สร้างคาแรกเตอร์กลับไปมาบ้าง แต่ไม่ใช่แค่ให้มันต่างไปจากคาแรกเตอร์อื่นก็พอเท่านั้นน่ะครับ"

         สิ่งที่นากามุระอยากให้เห็นในงานจึงไม่ใช่การตีบทให้แตก แต่เป็นการสร้างบรรยากาศอย่างเป็นธรรมชาติให้เห็นว่าตัวละครนั้นๆ ใช้ชีวิตอย่างไร

         "ผมพยายามไม่พูดเรื่องตีบทแตกน่ะครับ โดยเฉพาะกับหนังเรื่องนี้ซึ่งความสำคัญมันอยู่ที่การใช้ชีวิตของตัวละคร สิ่งที่ผมให้ความสำคัญคือการเข้าถึงแต่ละตัวละครในระดับการใช้ชีวิตของพวกเขาฐานะมนุษย์คนหนึ่งครับ ช่วงแรกที่ถ่ายทำแต่ละคาแรกเตอร์ ผมจำได้ว่าตัวเองแสดงไปพร้อมๆ กับเปิดรับสัญญาณต่างๆ อย่างเต็มที่ด้วย พอได้แสดงไปแล้วมันรู้จริงๆ นะครับว่าตัวเองโกหกอยู่รึเปล่า ถ้าฝืนมันก็จะออกมาแบบฝืนๆ ก็เอาจุดนั้นไปลงรายละเอียดเรื่องอิมเมจกับผู้กำกับและค้นหาอิมเมจนั้นไปด้วยกันแบบนั้นล่ะครับ"

         และผลงานเรื่องนี้เป็นเรื่องที่เขาต้องเขาฉากคนเดียวเยอะ ดังนั้นจึงแตกต่างกับการทำการแสดงปกติที่ค่อยๆ​ สร้างอารมณ์​ขึ้นมาเรื่อยๆ​ จากการพูดคุยกับอีกฝ่าย

         "ส่วนตัวแล้วแสดงกับคนอื่นสนุกกว่าครับ (ยิ้ม) เวลาแสดงคนเดียวแล้วมันไม่มีเรื่องเหนือความคาดหมายเกิดขึ้นน่ะครับ เพราะฉะนั้นแสดงกับคนอื่นสนุกกว่า ผมเหงานะ แสดงคนเดียวเนี่ย อย่างละครเวทีก็มีบ่อยที่มีฉากต้องแสดงคนเดียว ซึ่งไม่อยากทำเลย (หัวเราะ) ฝั่งคนดูอาจจะสนุกนะครับ คงคิดว่าสุดยอดเลย แต่ผมว่าไม่มีอะไรเลย อยากทำงานกับคนน่ะครับ"


         ช่วงกักตัว นากามุระ โทโมยะ อัพวิดีโอสบายๆ ตอบคำถาม​, ทำอาหาร​, DIY ใน '中村さんちの自宅から' (Drifting from Nakamura's Home) และเขียนการ์ตูน 'สิ่งที่อยากทำถ้าได้เลี้ยงสัตว์' ช่วยเยียวยาบรรยากาศหนักๆ ของสังคมช่วงนั้น หลายคนอาจรู้สึกถึงพลังอิทธิพลของ "การเป็นที่รู้จักของ นากามุระ โทโมยะ" มากทีเดียว แต่เจ้าตัวไม่ได้รู้สึกอย่างนั้น

         "น่าดีใจที่พออายุมากขึ้นสถานภาพของตัวเองมีอิทธิพลและโน้มน้าวคนอื่นได้ครับ แต่ผมก็คิดทำอะไรต่ออะไรที่ไม่เกี่ยวกับงานแบบนี้ตั้งแต่เมื่อก่อนแล้วไม่เปลี่ยนเลย เพื่อนสมัยเด็กชอบพูดครับว่านายไม่เปลี่ยนเลยนะ ดังนั้นต่อให้ไม่มีใครรู้ว่าผมทำอะไรแบบนั้น แต่ถ้าอยู่ในสภาพแบบนั้นผมก็ทำอะไรเล่นแบบนี้อยู่ดีนะครับ"
         คำพูดของนากามุระ โทโมยะ นั้นมีพลังดึงดูดคน ไม่ใช่แค่เสียงฟังสบายหูเท่านั้น
         เขาชอบปรัชญามาตั้งแต่สมัยม.ปลาย และคิดเรื่องเกี่ยวกับตัวเองค่อนข้างมาก ทั้งในวันที่ยังไม่มีสายตาจับจ้องเขาหรือแม้แต่ขณะนี้ที่ยืนอยู่ท่ามกลางสปอร์ตไลท์ เขาก็ยังคงไตร่ตรองเพื่อกลั่นกรองธรรมชาติของมนุษย์อยู่เสมอ ทำให้คำพูดของเขาเป็นอะไรที่พิเศษ
    ดังนั้นเราจึงลองถามเขาดู นากามุระ โทโมยะ ชอบตัวเองไหม?

         "ก็ไม่ได้เกลียดนะครับ มันมีแน่ๆ ล่ะตอนที่คิดกับตัวเองว่า 'เป็นอะไรเนี่ย?' และมีเรื่องที่ยอมแพ้ไปก็เยอะ แต่นั่นก็เพราะรู้สึกว่าตัวเองมีขาแค่สองข้างและต้องใช้ทั้งสองข้างนี้ล่ะเดิน สิ่งที่ไม่มีคือไม่มี ดังนั้นผมจึงเข้าใจอยู่แล้วว่าต้องเดินบนพื้นไปอย่างนี้เท่านั้น นานๆ เข้าความคิดมันก็ง่ายขึ้นน่ะครับ จะว่าสบายก็สบายล่ะนะ" 

         แม้ดูไม่มีจุดที่ค่อยเข้ากันแต่ก็เข้าใจไม่ยาก ขณะเดียวกันก็รู้สึกเหมือนเขาไม่ยอมจับจ้องได้ง่ายๆ ด้านหนึ่งที่เขาให้เราเห็นสัมภาษณ์สั้นๆ นี้ คงคัดออกมาเพียงแค่ส่วนหนึ่งในหลายๆ ส่วนที่อยู่ภายในตัวเขา หากคิดว่าจะรู้จักเขาได้ง่ายๆ ล่ะก็คงคิดผิดไปมาก แต่เพราะอย่างนี้ถึงอยากรู้จักให้มากขึ้น มันทำให้พวกเราละสายตาไปจากเขาไม่ได้นั่นเอง.

    -------------------------------------------------------------------
    Original Link: https://lp.p.pia.jp/shared/cnt-s/cnt-s-11-02_2_823f5b23-7832-40ea-b834-33c6ce364ffd.html
    *มีการปรับส่วนที่ผู้เขียนบรรยายบางส่วน
    แปล&เรียบเรียง(ญี่ปุ่น-ไทย)โดย: @meengeywalin
    *เราแปลสัมภาษณ์คนที่เราชอบจากใจ, เวลา และความสามารถที่เรามีอย่างเต็มที่
    รบกวนไม่นำเนื้อหาที่แปลไปใช้หรือเผยแพร่ต่อโดยไม่ให้เครดิตหรือไม่ได้รับอนุญาตนะคะ
    -------------------------------------------------------------------

    Translator's

         พอดีว่า 水曜日が消えた เป็นหนึ่งในหนังที่ได้ฉายในเทศกาลภาพยนตร์ญี่ปุ่น – เฮาส์ อิดิชั่น – ที่ House สามย่าน ในช่วงวันที่ 13 -22 พฤศจิกายน 2020 นี้ด้วย เราเลยหยิบสัมภาษณ์ของโทโมยะช่วงนั้นมาแปลค่ะ
         ถ้าใครว่างแวะไปดูที่ House สามย่านกันนะคะ นอกจากเรื่องนี้แล้วยังมีเรื่องอื่นๆ อีกเยอะมาก Line up หนังค่อนข้างดีเลย เข้าไปดูได้ที่ https://housesamyan.com/site/Event/detail/22 เลยค่ะ
         ส่วนตัวเราอ่านฉบับนิยายแล้วและเขียนถึงไว้ใน วันที่หายไป กับ ความใกล้ที่ทำให้หลงลืม เรื่องราวค่อนข้างมีความไซไฟผสมกับความลึกลับและเป็น Coming of Age ที่ค่อนข้างอ่านได้สบายๆ และเรื่องจบค่อนข้างดีทีเดียว
         ในส่วนของหนังเราเองจะรอไปดูที่Houseค่ะ ผู้กำกับหนังเรื่องนี้คือคนเดียวกับที่ทำ Visual ให้ Kimi no Na wa และเป็นการกำกับหนังเรืี่องแรกของเขา ในหนังเห็นว่ามี Visual Effect สวยๆ อยู่เยอะทีเดียว
         และทั้งเรื่องก็มีแต่โทโมยะไปซะ 90% น่ะค่ะ?

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in