(บันทึกสรุปเวิร์คช็อป "ขายหัวเราะ 1st gag workshop" วันที่ 2-3)
มาแล้วกับการสรุปเนื้อหาในแก๊กเวิร์คช็อปของวันที่ 2 และ 3 ค่ะ!
เนื่องจากในช่วงเวลาที่ไปเวิร์คช็อปเป็นช่วงที่เรากำลังปั่นงาน มึนงงก่งก๊ง บางอย่างอาจจะไม่ได้เขียนแบบฟีลลิ่งมาเต็มแบบเอนทรีก่อนนะคะ แต่เอาเป็นว่าพอจับหลักสำคัญๆ สำหรับท่านที่สนใจแต่ไม่ได้ไปในครั้งนี้ค่ะ โดยเวิร์คช็อปทั้งสามวันเราว่าหัวข้อปนๆ กันนิดหน่อยระหว่างการขายคาแรกเตอร์ การสร้างการ์ตูนแก๊ก งานผ่านยังไง ฯลฯ เลยสรุปมาเป็นแบบนี้แล้วกันค่ะ
How to สร้างคาแรกเตอร์ Go-inter / การขายดิจิตอลคอนเทนต์
หมวดคาแรกเตอร์และการขาย
How to สร้างคาแรกเตอร์ Go-inter
โดยพี่นก ผู้บริหารจากบันลือ
มาพูดถึงหลักคิดว่าด้วยคาแรกเตอร์กับการขาย หัวข้อนี้อาจจะงงๆ กันว่าไม่เกี่ยวกับอารมณ์ขันรึเปล่า แต่พอมาดูดีๆ ในสกุลช่างขายหัวเราะนั้นพวกพี่ๆ นักเขียนก็มีมาสคอตตัวเองเป็นตัวละครในแก๊กนั่นแหละ และอารมณ์ขันก็เป็นองค์ประกอบหนึ่งในตัวคาแรกเตอร์ สำหรับใครยังนึกไม่ออกว่าเป็นยังไง ก็ประมาณคิตตี้ มิกกี้เมาส์ ประมาณนี้ๆ
พอสรุปได้ว่า
- เวลาคนเลือกคาแรกเตอร์จะเน้นอารมณ์มากกว่าเหตุผล
- คาแรกเตอร์จับใจคนจะมีความเป็นเพื่อน เชื่อมอารมณ์ระหว่างความจริงกับโลกจินตนาการ (เช่นเด็กๆ จะพูดว่าจะกินข้าวกับมิกกี้เมาส์อะไรงี้) ซึงแน่นอนว่าส่วนใหญ่จะเจาะกลุ่มลูกค้าเป้าหมายไปที่เด็ก แต่คาแรกเตอร์ขายผู้ใหญ่ก็มี โดยพี่นกยกตัวอย่าง Jaytherabbit
- บางตัวมีสตอรี่รองรับ บางตัวเช่นคิตตี้ไม่มี แต่ไม่มีสูตรสำเร็จว่าต้องมีหรือไม่มี
- ต่างชาติจะมองหาอะไรท็อปฮิตที่เป็น Best local และโอกาสที่คาแรกเตอร์จะไปต่อในแดนอื่นๆ ก็ควรจะมีสื่อรองรับเช่น รายการทีวี การ์ตูน เกม อนิเม
- ควรมี "ความเชี่ยวชาญที่ทำออกมาแล้วน่ารัก" จะนอกเหนือจากรูปลักษณ์ภายนอกคาแรกเตอร์ อย่างปังปอนด์คือมันจะมีมากกว่าผมสามเส้นตาโตแน่นอน
- พี่นกยก case study ปังปอนด์ที่ขายจีนสำเร็จ และเคสหนูหิ่นที่มีฝรั่งเศสสนใจ แต่เป็นกลุ่มการเมืองหญิงหัวรุนแรงซึ่งไม่แน่ใจเรื่องภาพลักษณ์ จากจุดนี้เราว่าคาแรกเตอร์ควรมีความเป็นกลาง เพราะ "คาแรกเตอร์คือภาพจำ"
- คาแรกเตอร์มีอายุในแบบนึง ต้องการการดูแล มีช่วงเวลาพีคของมัน รวมถึงการสร้างภาพลักษณ์ เช่น มิกกี้จะไม่ร้องไห้ หรืออีโมหัวหอมสมัย msn ชื่ออาเป่าที่เราเคยใช้กันมากๆ แต่เหมือนไม่ถูกสร้างในเวลาที่เหมาะสม ก็เลยปิ๋วๆ ไม่ดัง
- พี่นกยกตัวอย่างความพีคของคาแรกเตอร์ เช่น Tintin ที่เบลเยี่ยมเชิดชูมากจนทำอนุสาวรีย์ให้ ตอนป๊อบอายฮิตๆ ผักโขมในอเมริกาขายดีมาก
- ปิดท้ายด้วยการแนะนำ Hong Kong international licensing show เป็นงานนิทรรศการคาแรกเตอร์ มีของเล่น เครื่องเขียน และสินค้าแม่และเด็ก จัดทุกปีช่วงต้นปี
สำหรับโจทย์เวิร์คช็อปคือลองออกแบบคาแรกเตอร์ 10 นาทีแบบมีความท้องถิ่นไทยและสามารถเน้นไปต่อโกอินเตอร์ได้ ปรากฎว่าคาแรกเตอร์โดนใจคือขนมใส่ไส้กับชาวนาไทยค่ะ ส่วนเราออกแบบเป็นไอ้ตัวนี้ไป เอามาจากแมวตัวเอง พออยากให้ใส่ไทยๆ ก็เลยนึกถึงแมวไทยขี้อ้อนกลมๆ และส่วนที่เป็นแมวสามสีคือกูเขียนแผนที่ประเทศไทยแม่งเรยอะไรเงี้ย55555 และคิดว่าอะไรแบบนี้คงมีคนคิดไปแล้วค่ะ
การขายดิจิตอลคอนเทนต์ โดยคุณสันติ จากวิธิตาอนิเมชั่น
วิธิตาอนิเมชั่นเป็นบริษัททำอนิเมและมากกว่าอนิเมอยู่ในค่ายบันลือ เอาคอนเทนต์และคาแรกเตอร์ไปขยายต่อเชิงธุรกิจ คือในบันลือมีคาแรกเตอร์และคอนเทนต์เยอะมาก และยกเคสปังปอนอนิเมชั่นมาเพราะมาร์เกตติ้งง่าย กลุ่มเป้าหมายเป็นเด็กและครอบครัว จึงได้โอกาสมาทำเป็นทีวีซีรีส์
คอนเทนต์ดิจิตอลมีพื้นสองอย่าง
- Content based
- Character based ซึ่งการนำคาแรกเตอร์นี่แหละมีโอกาสไปมากกว่าคอนเทนต์เบส
คุณสันติยกตัวอย่างอีเจี๊ยบเลียบด่วน คือคอนเทนต์ดีลีลาเขียนเยี่ยม แต่ถ้าคิดคอนเทนต์เพียวๆ คงไปลำบาก พอมีมาสคอตขึ้นมามันก็ถูกเอาไปล้อ กระจายออกไป
ทั้งนี้สำหรับคอนเทนต์เบส คือต้องดูด้วยว่าแบบไหน เช่นอีเจี๊ยบจะกวนตีนเสียดสีสังคม
คุณสันติได้แนะนำวิธีทำงานคร่าวๆ เวลาเอาคาแรกเตอร์มาทำต่อ เช่น
- วาดทุกมุม (ส่วนนี้ใครเขียนการ์ตูนคงพอเก็ต คือวาดหันข้างหันหน้าหันหลัง ไกด์สี ฯลฯ) ให้คนเชื่อว่ามีชีวิตจริงๆ ไม่ว่าจะยืนท่าไหนก็ยังเป็นปังปอนด์
- การทำเมอแชนไดส์ (พวกกระเป๋าเสื้อยืดเครื่องเขียน ฯลฯ) ก็จะทำ Theme design ไกด์สำหรับผู้ผลิตที่จะเอาไปทำต่อ เช่นวาดฉากหลังแพทเทิร์น บ้าน แมททีเรียลต่างๆ พร้อมสำหรับตัดแปะจัดองค์ประกอบดีไซน์สำหรับกระเป๋า เสื้อผ้า ฯลฯ สินค้าต่างๆ ได้เลย สะดวกๆ แต่ไม่ได้หมายความว่าซื้อแล้วจะทำอะไรก็ได้นะ ก็มีข้อตกลงกันไป
- กระบวนการอื่นๆ ที่แตกไลน์ออกไปก็เช่นทำสติกเกอร์ไลน์ (โดยไล่มาจากทางดีไซน์+บุคลิกคาแรกเตอร์) ทำอนิเมชั่น (ไล่มาจากดีไซน์+บุคลิก+บท+ทีมผลิตอนิเม) ก็จะเป็นกระบวนการที่ต่อมาจากคาแรกเตอร์นั่นแหละค่ะ
หมวดเทคนิคงานการ์ตูนแก๊กขอรวบยอดไว้ตรงนี้เพื่อความสะดวกในการติดตามนะคะ จะเป็นการพูดคุยของพี่นักเขียนคือพี่เอ๊าะ พี่ขวด พี่บัฟ พี่วิรัตน์ บ.ก.วิธิต และคุณนิวจากทั้งสองวันค่ะ
Local vs Global- ว่าด้วยเสน่ห์อินเตอร์กับเสน่ห์ท้องถิ่น
- case หนูหิ่น ประสบความสำเร็จเพราะความใสซื่อ เป็นคนต่างจังหวัดทำงานกรุงเทพ ซึ่งเชื่อมโยงกับผู้อ่านได้ พี่เอ๊าะให้โอวาทว่า "เราอยากเขียนอะไรก็เขียนไป" แกบอกแกชอบเขียนผู้หญิงสวยๆ โดยส่วนตัวพี่เอ๊าะออกตัวว่าเขียนไม่ตลกหรอก แต่เขียนผู้หญิงสวยก็เอามาเป็นจุดแข็งของแกไป (วรรคทองคือ "ผมเป็นหนี้บุญคุณผู้หญิงจริงๆ") แก๊กที่เขียนมักเป็นแก๊กทะลึ่ง แต่ทำไมอยู่ได้ในขายหัวเราะ ก็เพราะ "ผมเป็นนักเล่าเรื่อง"
- ข้อควรระวังของมุก Local คืออย่าเขียนกด อย่าเหยียด เช่นมุกหนูหิ่นก็จะเชิดชูคนอีสานที่ขยันอดทน
- เขียนเรื่องใกล้ตัวเรา ข่าวสาร สังคม เศรษฐกิจ อย่าให้เกิดผลกระทบในสิ่งไม่ดี
- ไม่ควรเล่นมุกในช่วงมีอุทกภัย หรือเหตุการณ์สามจังหวัด ต้องคำนึงว่าคนในพื้นที่อ่านจะรู้สึกอย่างไรด้วย
แก๊กใบ้ (Non-verbal gag)- แก๊กในอุดมคติคือแก๊กใบ้เลย เพราะเขียนการ์ตูนมันต้อง To show, not tell เขียนแล้วเคลียร์เลยโดยไม่ต้องใช้คำพูด ไม่มีองค์ประกอบอื่นดึงจากมุกที่เราจะสื่อ และไม่ใช่ทุกประเด็นที่จะนำไปเขียนแก๊กได้
- วิธีหามุกคือต้องเป็นนักอ่าน ฟัง ดู เล่า เยอะๆ เป็นพื้นฐานนักเขียน
Classic gag สไตล์ขายหัวเราะแบ่งเป็นสามกลุ่ม
1. Classic situation: เช่น ติดเกาะ โจรมุมตึก ทะเลทราย
2. Classic character: บก. หมอผี เมีย ยมบาล คนป่า โจร เทพารักษ์ ฯลฯ
3.Classic parody: เรื่องเล่าต่างๆ เทพนิยาย ตำนาน นิทาน เช่นสโนไวท์ เจ้าหญิงนิทรา ฯลฯ
แก๊กคลาสสิคแบบขายหัวเราะเรียกว่า Trope คือมีแพทเทิร์นที่คนจำได้อยู่แล้ว ใช้สื่อสารได้รวดเร็วทันท่วงที
ลักษณะของแก๊กคลาสสิค- คนอ่านมีประสบการณ์ร่วม ทุกคนคุ้นเคย ตรงเป้ากลุ่มผู้อ่านขายหัวเราะคือ mass+หลากหลาย
- เหล้าใหม่ในขวดเก่า คือไม่ต้องห่วงแก๊กซ้ำ อาจเอามาเชื่อมโยงกับกระแสปัจจุบัน
- ข้อดีแก๊กคลาสสิค: อารมณ์ขันทำงานได้ไว / ลดขั้นตอนปูชงตบ เขียนช่องเดียวก็ได้ / เกาะกระแสฮากว่าเดิม / ชุบชีวิตแก๊กเดิม / คนจะเดาทางได้ว่าเป็นแบบนี้แน่ๆ แล้วเราก็ตลบหลังคนอ่านอีกที เกิดความเซอไพรส์ ปูชงตบง่าย
งานรอบนี้เป็นจับกลุ่มคิดแก๊ก ให้ทำแก๊กใบ้ไม่ก็แก๊กคลาสสิค กลุ่มเราทำอันนี้มาค่ะ ภูมิใจมาก จึงขอแบ่งปันให้ทุกท่านได้ร่วมขำโดยทั่วกัน เราวาด น้องในกลุ่มชื่อน้องหินเป็นคนคิดค่ะ
การเขียน Comic series หัวข้อนี้พูดถึงการต่อยอดจากแก๊กสู่การ์ตูนยาว มีหลายรูปแบบ
- นิยายภาพ: อิงความเหมือน+ภาพเน้นสมจริง อารมณ์หนังๆ แต่การ์ตูนไม่ต้องเหมือน ตัดทอนเส้นให้ง่าย
- ก่อนเขียนก็ดู Passion ตัวเองว่าชอบอะไร ถนัดอะไร มีวัตถุดิบอะไร อย่าเขียนให้ห่างตัว ยกตัวอย่างหนูหิ่นที่พี่เอ๊าะชอบความเป็นอีสาน พี่ต่ายอินกับการเลี้ยงลูกและครอบครัว ปังปอนด์เลยสมจริง ถ้าไม่รู้จริงหลอกคนอ่านไม่ได้
- บรีฟไอเดีย คุยกับบก. ร่างโครง รีเสริ์ช
- การเขียนตอนเดียวจบสำหรับมือใหม่มักออกแนวยัดๆ อยากใส่อะไรก็ใส่เต็มที่ แต่มือเก๋าจะจัดสรรเนื้อหาและทรัพยากรลงตัวกว่า ทั้งนี้เป็นชั่วโมงบินล้วนๆ บางทีจบไม่ลงเพราะคิดรายละเอียดมากไป ไม่จำเป็นต้องจบทุกอย่างในเล่มเดียว
- ตัวอย่างฟอร์แมท: การ์ตูนตอนเดียวจบ การ์ตูนจบในตอน (มาเป็นซีรีส์แหละแต่จบประเด็นในตอน) และเรื่องยาว
- การทำงานของบก. กับนักเขียน: Theme/Plot/Character/Edutainment/Side story/ Project development >> ต่อยอดเป็นแอพ สตกไลน์ อนิเม ฯลฯ
คุยกับบก. วิธิตและเกณฑ์งานผ่าน- ระบบการทำงานแบบขายหัวเราะคือจะมีทีมครีเอทีฟคัดมุก จะมีทั้งแบบ ผ่าน/แก้/ตก ส่วนที่แก้ก็ให้ทีมครีเอทีฟช่วยทำ เน้นความชำนาญและอิสระนักเขียน
- การคัดแก๊กมีเกณฑ์ เชิงภาพ vs มุก คือ 40:40:20 ได้แก่ไอเดีย วิธีนำเสนอ(ความเก๋า) และภาพ สำคัญเรื่องประสบการณ์ร่วมของคนอ่านและคนเขียน
- ขายหัวเราะคือความฮาสามัญประจำบ้าน ให้เข้าใจง่ายๆ ทุกเพศทุกวันอ่านได้ เดดไลน์มีทุกวีคแบบแน่นอนเลื่อนไม่ได้ ไม่งั้นกระทบไปหมด
- แก๊กกระแสจะไม่เอาเป็นตัวหลักของเล่ม เพราะแป๊บๆ มาแล้วก็ไป
- เกณฑ์งานที่ไม่ผ่าน: ผู้อ่านประสบการณ์ร่วมไม่มากพอ ไม่ผ่าน / ใส่รายละเอียดมากไปไม่ผ่าน / มีอธิบายแก๊ก แปลว่าสื่อด้วยภาพไม่ได้ / ไอเดียดีฝีมือไม่ถึง โดยบก. จะทำตัวเป็นคนอ่านและถามความเห็นของทีม เช่นแก๊กนี้คนอ่านแบบเราไม่ชอบแต่คนอื่นอาจจะชอบ เป็นต้น
- ฮาวทุการยืนระยะเขียนงานได้นานๆ: วินัย ใจรัก และเติมไฟเสมอ มีการปรับตัวไม่หยุดเรียนรู้
แก๊กที่ดี 9 ประการของขายหัวเราะ
- มีความสร้างสรรค์
- ชักจูงคนได้
- ทุกคนขำร่วมกันได้
- ขำโดยไม่ฝืน
- มีความทนทาน กี่ปีๆ ก็ยังขำได้อยู่
- ไวรัล
- คนจำได้
- ต่อยอดได้
- ถูกจรรยาบรรณ ไม่ทำร้ายใคร
สิ่งไม่ควรทำ
- ประเด็นอ่อนไหว ทำร้ายคนอื่น ผิดศีลธรรม ไม่ตัดสินหรือชี้นำ
- งานเสียดสีจะเล่นต้องอยู่ในขอบเขต
- ภาพตาย (เช่นไม่เปลี่ยนมุมกล้อง ยืนคุยกันสองคนไม่เปลี่ยนเลย การ์ตูนขยับได้มากกว่านี้)
- มุกซ้ำ (บิดไม่พอ)
- มุกอิงกระแสมากไป ใครๆ ก็เล่น ซ้ำกันรัวๆ
โอวาทจากพี่นักเขียนแบบรวมมิตรและFAQ- ถ้าไร้สาระแล้วสนุกก็ทำไปเหอะ
- ชื่นชมผลงานตัวเองมากๆ
- พี่เอ๊าะอายุ 56 แล้วแต่ยังต้องทำงานเหมือนเด็ก คือต้องอยากรู้เยอะๆ
- เป็นธรรมชาติให้เยอะๆ แล้วจะไม่เครียด
- คิดว่าเดินทางไหนก็มุ่งไปทางนั้น ลองเขียนออกมาดู
- ต้องมีศรัทธาว่าเลี้ยงตัวเองได้ มันมีที่ให้คุณสู่ยอดเสมอ
- รู้ที่ รู้ทาง รู้เวลา รู้คน "อยู่ให้ถูกที่"
- การเข้ามาเส้นนี้อาจอยู่กับมันทั้งชีวิตก็ได้ ดังนั้นหมั่นสร้างแรงบันดาลใจ
โดยส่วนตัวแล้วหลังเวิร์คช็อปเรารู้สึกว่าขายหัวเราะคงไม่ใช่ทางเราอย่าง 100% เท่าไหร่นัก 5555 แก๊กก็คิดไม่ค่อยโดนเท่าไหร่ด้วย เเพราะเราอยากเขียนการ์ตูนในคอนเทนต์เฉพาะทางและสื่อสารกับคนเฉพาะกลุ่มกว่านี้ ไม่ใช่ฟีลลิ่งอารมณ์ขันประจำบ้านแบบที่ใครๆ ก็อ่านได้ (โถอีอินดี้) แต่ทั้งนี้เราจะนำหลักของขายหัวเราะไปปรับใช้งานให้ดูแมสและเข้าถึงได้ง่ายขึ้น
หากจะสรุปเวิร์คช็อปทั้งหมดในไม่กี่ประโยคน่าจะเป็น "ประสบการณ์ร่วมและการพลิกมุม" ค่ะ ยิ่งประสบการณ์ร่วมมีมากยิ่งอิน ยิ่งเก็ต ยิ่งขำ แล้วเปิดมุมมองใหม่ๆ ว่าประเด็นนี้มันมองมุมนี้ได้ด้วยแฮะขำจัง ซึ่งการคิดแก๊กเราว่ามันเป็นเรื่องยากมากๆ มันไม่ใช่การอ่านฮาวทูหรืออ่านเอนทรีนี้รัวๆ แล้วทำได้ แต่มันคือการขยันคิดขยันหาไอเดียแล้วกลั่นๆ ในเนื้อในตัวมันออกมา ซึ่งในฐานะที่เคยเขียนแก๊กส่งเมื่อนานมาแล้วอยากบอกว่างานผ่านยากมากกกกกกก 555555 ถ้าคิดจะไปสนามนี้เราต้องขัดเกลาตัวเองอีกพอสมควรทีเดียว
ขอบคุณขายหัวเราะที่ให้โอกาสมาเวิร์คช็อป ลุงบ.ก. วิธิต พี่ๆ นักเขียน ทีมงาน พิธีกร และผู้เข้าร่วมทุกท่านที่แบ่งปันประสบการณ์ค่ะ
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in