เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
ว่าด้วยpokchanymph
ว่าด้วย "ครู" กับประสบการณ์เต้าหู้ตอนเรียน

  • ชีวิตเราเรียนกับครูมาก็หลายคน แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะทำให้เราจำเขาในฐานะ "ครู" ได้

    (เราไม่ได้เขียนบทความนี้เพื่อมาด่าครูกลุ่มไหน แค่อยากชี้ให้เห็นว่าเด็กทุกคนโตมาเจอแต่เรื่องทำนองนี้ เราก็ควรคิดกันได้แล้วนะว่าการศึกษาของไทยมันกำลังมีปัญหาอะไรรึเปล่า)

    วันนี้มาตีมเต้าหู้ พยายามให้ก้อนพนมมือบนรูป cover กับสีเหมือนห่อเต้าหู้ (รีบบอกตรงนี้เผื่อโดนแหกว่าไม่เห็นเหมือนเลย) ด้วยเหตุผลพิเศษ ไม่ใช่เพราะอยากกินเต้าหู้แต่เพื่อให้อินกับข่าวที่จะพูดถึงวันนี้ สองสามวันนี้เราคงได้ยินข่าวเรื่องครูและลูกศิษย์จากกรณีทดลองพิสูจน์ว่าเด็กแพ้เต้าหู้จริิงมั้ยแต่พอไม่เกิดอาการเลยต้องกราบขอโทษหน้าเสาธงที่ทำให้โรงเรียนเสียชื่อเพราะสร้างความคิดว่าแพ้เต้าหู้จากอาหารกลางวันโรงเรียน 

    ......
    ........
    (ฮื้ม)

    ถึงได้ยินข่าวนี้แล้วจะเลิกคิ้วสูงจนคิ้วไปแตะกับลูกผมบนหน้าผากแต่จะไม่พูดเรื่องกรณีนี้มากเพราะมีคนออกมาแหกเยอะแล้ว ตอนนี้แค่เสิร์ชคำว่า เต้าหู้ ในกูเกิ้ลก็เจอข่าวและคนคอมเม้นแล้ว ประเด็นเรื่องแพ้อาหาร เรื่องกราบ จะขอไม่ยุ่ง (ลำไย)

    ที่อยากพูดจากข่าวนี้คือประเด็นเรื่องครูกับเด็กเพราะพอเรานึกภาพเด็กคนนึงต้องทำอะไรหน้าเสาธงให้คนยืนดู ถ่ายคลิป เป็นข่าวเป็นเรื่องเป็นราว อย่างน้อยมันต้องกลายเป็นประสบการณ์อะไรสักอย่างไปกับเด็กคนนั้นหรือแม้แต่เพื่อนร่วมชั้น เด็กที่เสพข่าวนี้ ไม่มากก็น้อย 

    ครูตบท้ายการให้กราบด้วยว่าถ้าทำผิดพลาดก็ต้องรู้จักขอโทษ

    ถ้าเป็นเราตอนเด็กได้ยินเรื่องนี้เราก็คงคิดว่า เออ ครูพูดอย่างนี้ก็คงถูกเนอะ เราผิดเราก็ต้องขอโทษสิ ฟังดูมันเป็นเหตุผล เป็นคำสอนที่ดี เราก็คงก้มลงขอโทษจริงๆ โดยไม่ได้ถามว่าความผิดของเราคืออะไร ความถูกต้องของครูมันคือความถูกต้องจริงๆ รึเปล่า

    สิ่งหนึ่งที่เราเสียใจมากๆ จากการที่โตมาตั้งแต่อนุบาลจนถึงมัธยมคือเราไม่ได้เรียน critical thinking แบบจริงๆ จังๆ เลยสักครั้ง เราไม่ได้เรียนรู้ว่าโลกมันไม่ได้มีแค่ขาวกับดำตั้งแต่เด็ก เราได้ยินคนพูดตลอดตั้งแต่เด็กแหละ ว่ามันไม่มีอะไรถูกอะไรผิดตลอด แต่ระบบการศึกษาก็ยังบีบให้เรามองโลก เราไม่เคยคิดว่าโลกที่ครูและการศึกษามอบให้เป็นโลกที่ถูกบิดมาก่อนแล้ว

    ถ้ามีคนบอกว่า ครูไม่ได้บิดโลกอะไรซะหน่อย ครูก็เป็นแค่มนุษย์คนหนึ่งที่ทำงาน ทำอาชีพของเขา แต่ก็นั่นแหละ ครูเป็นแค่มนุษย์ไง มีรักโลภโกรธหลง มีอีโก้ มีบรรทัดฐาน มีนิสัยเป็นของตัวเอง แล้วบางทีปัจจัยพวกนั้นมันเป็นสิ่งที่เชปตัวตนของเด็กได้เลย เราเห็นโลกผ่านสิ่งที่ครูยื่นให้ พอๆ กับโลกที่พ่อแม่ยื่นให้ อย่างที่เราเกริ่นตัวโตข้างบนตอนต้น ชีวิตเราเรียนกับครูมาก็หลายคน แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะทำให้เราจำเขาในฐานะ "ครู" ได้ เขาไม่ใช่แค่ครูสอนเลข ไม่ใช่แค่ครูสอนอังกฤษ แต่บางทีเราจำเขาได้ในฐานะ คนที่ทำให้เราเกลียดบางอย่าง ทำให้เรารักบางอย่าง ทำให้เราไม่ไว้ใจบางอย่าง หรือคนที่ทำให้เรากลัวบางอย่าง

    ผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง (ผรค.) ของระบบการศึกษา ของกระทรวง ของโรงเรียน และของครูเป็นแค่สิ่งที่เราจำผ่านไปแบบกลวงๆ 
    ตอนพวกผู้ใหญ่ประเมินการศึกษาเคยคิดมั้ยนะว่าผลการเรียนรู้ที่เป็นจริง ไม่ได้มีแค่นั้น การแปรผันของการเรียนรู้ไม่ใช่ให้เราจดแล้วเราจะจำแบบนั้น แต่มันขึ้นอยู่กับว่าเขาสอนให้เราจดจำยังไงด้วย อย่าง ให้เด็กรำไทย ฝึกร้องเพลงชาติ = เรียนรู้จิตสำนึกความรักชาติ วัฒนธรรม วิธีการคือถูกปลูกฝังว่า เราต้องหยุด เราต้องยืน เราต้องร้อง เราต้องรักษาวัฒนธรรมไทยแบบกลวงๆ บางครั้งก็ลืมถามหาความหมายที่แท้จริง ก็เหมือนกับการที่เราปฏิญานนักกีฬา ปฏิญาณเราคนไทย ใจกตัญญูทุกๆ ปี พูดได้ exact words แต่ไม่ได้เอาคำพวกนั้นมาใช้จริง

    เกริ่นย๊าวยาว วันนี้เลยมาแชร์ประสบการณ์เต้าหู้ๆ ที่เราเจอในชีวิตนักเรียนที่ผ่านมา

    ป.3 วิชาเลข
    เมื่อก่อนจะมีหนังสือเรียนเลขที่เป็นกระดาษกากๆ ไส้ดินสอเราอ่อนมาก แต่เราไม่รู้ตัวหรอก ก็กูอ่านของกูออก รู้ตัวอีกทีก็โดนครูตีหลังดังป้าบ บอกว่าเขียนให้มันอ่านรู้เรื่องหน่อย
    เกือบร้องไห้แล้ว แต่เพื่อนที่นั่งข้างๆ ยื่นไส้ดินสอมาให้ เราเลยรีบใส่แบบลวกๆ แล้วทำแบบฝึกหัดต่อ

    เกลียดเลขว่ะ

    มีการบ้านให้เด็กทุกคนไปจดโจทย์เลข 1 ข้อบนโต๊ะทุกวันหลังเลิกเรียน อิผี แล้วเด็กเป็นสิบ เบียดกันไปสิ ใครจะทำวะ (ทุกคนยกเว้นเรา apparently...) เราไม่ทำเพราะไม่ชอบไปยืนเบียดคนอื่น ตอนนั้นยังไม่มีเน็ต ไม่มีแชท ไม่มีมือถือ การจดโจทย์เลขโดยให้เพื่อนบอกทางโทรศัพท์บ้านเป็นอะไรที่ลำบาก เลยไม่ทำมันเลย เราถูกครูว่าหน้าห้อง ถูกตี ถูกเขียนชื่อบนกระดาน เย็นวันหนึ่งระหว่างที่กำลังตีแบตกับเพื่อนอยู่ ครูคนนั้นเห็นเราพอดีเลยเดินมาบอกว่า เอาเวลาเล่นตะแร๊ดแต๊ดแต๋แบบนี้ไปทำการบ้านดีกว่ามั้ย

    โอ๊ย เกลียดเลข

    ครูคนนั้นจะเหน็บเราตลอดว่าไม่ทำการบ้าน ไม่ตั้งใจ เราเคยบอกเหตุผลไปแล้ว ครูบอกว่าคนอื่นยังทำได้ เราก็ต้องทำได้สิ ตอนนี้เราก็คิดนะว่าทำไมกูถึงไม่ทำ กะอีแค่เลขข้อเดียว แต่ตอนนั้นเราไม่อยากทำจริงๆ ครูบอกแม่แล้ว แม่บอกเราแล้ว แต่เราก็ทำไม่ได้ แต่พอปีอื่นทำการบ้านปกติ ไม่ต้องเดินไปเบียดจดโจทย์บนโต๊ะครูนี่ก็ทำปกตินะ เกรดดีด้วย เอ เป็นเพราะอะไรน้า

    ผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง: นักเรียนบวกลบคูณหารได้ ท่องสูตรคูณได้
    ผลการเรียนรู้ที่เป็นจริง
    • เราซื้อไส้ดินสอตามเพื่อนคนนั้นและซื้อยี่ห้อนั้นใช้ใส่ดินสอตั้งแต่ตอนเด็กจนถึงตอนนี้ (pilot 2b ฝาส้ม นางไม่ได้สปอนเซอร์แต่มันเข้มมาก และช่วยให้เรารอดจากฝ่ามือครูคนนั้นมาได้ รู้สึกมีบุญคุณกับชีวิตการศึกษา แต่ก็รู้สึกเหมือนมันเป็น trauma แบบ ถ้าเปลี่ยนไปใช้ไส้อื่นจะถูกตีอีกมั้ย 555)
    • เราไม่ชอบไปที่ๆ คนเยอะหรือต้องเบียดกัน
    • เราเรียนรู้ทริคการแกล้งป่วยทุกๆ วันพฤหัส (วันที่มีเรียนเลขสองคาบติดกัน) จนครูที่เป็นเวรห้องพยาบาลจับได้ เพราะเจอหน้าทุกสัปดาห์
    • ...เกลียด-เลข!!! มีความรู้สึกว่าเด็กหลายๆ คนที่เริ่มเกลียดวิชาหนึ่งไม่ใช่เพราะตัววิชากับหลักสูตรอะ เป็นเพราะครู 

    ป.4 วิชาภาษาไทย
    ได้เต้นประกวดวันงานสุนทรภู่ในโรงเรียน แล้วตอนนั้นตื่นเวทีเลยพยายามถามท่าเพื่อนตลอดเพลง พอประกวดเสร็จ ทั้งชั้นมาอยู่ห้องเดียวกัน ครูภาษาไทยประจำชั้นเรียกชื่อเราแล้วบอกเราเต้นห่วยมากแถมพูดอะไรตลอดเวลา

    ผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง: ไม่รู้อะ มีปะ ฝึกให้นักเรียนเต้นงี้หรอ
    ผลการเรียนรู้ที่เป็นจริง: เราไม่กล้าเต้นอีกเลยจนกระทั่งเข้ามหาลัย (ที่ต้องเต้นเช้าเต้นเย็น ไปคอนเสิร์ต จนค่อยๆ หาย)

    ป.5 วิชาภาษาไทย
    เราเป็นคนรักการอ่านมาก (ยิ่งสมัยก่อนพิซซามีโครงการรักการอ่าน อ่านหนังสือแล้วได้สติกเกอร์ไปแลกพิซซ่า พูดเลยว่ากินพิซซ่าถี่มาก) ฮะๆ เราอ่านหนังสือนิยาย การ์ตูน หนังสืออ่านเล่นตลอด เลยรู้ความรู้รอบตัวบ้าง
    มีอยู่วันหนึ่งครูสั่งให้ทำการบ้าน มีกระดาษให้อ่านกับใบงานตอบคำถามจากเรื่องที่อ่าน เป็นประวัติสั้นๆ ของศรีปราชญ์ ซึ่งเราเคยอ่านประวัติที่ยาวกว่านั้นมา ในใบงานตอบคำถามเลยเขียนตอบเกินจากประวัติสั้นๆ ในชีท หลังจากส่งงานคาบต่อมาครูก็เรียกชื่อเรา เราตื่นเต้นมากนึกว่าจะโดนชมที่ใช้ความรู้อื่นประกอบด้วย แต่ครูบอกต่อหน้าเพื่อนในห้องว่า ทำไมเขียนแบบนี้มา ทำไมถึงเขียนเกินจากในชีทที่ให้ บอกให้ทำอะไรก็ทำตามสิ

    ผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง: นักเรียนได้ฝึกฝนการอ่าน ได้ฝึกตอบคำถามตามคำสั่ง
    ผลการเรียนรู้ที่เป็นจริง: นักเรียนได้ฝึกฝนการอ่าน ได้ฝึกตอบคำถามตามคำสั่ง คำสั่งบอกให้ทำอะไรก็ทำตามไปสิ จะไปทำอะไรนอกเหนือจากนั้นทำไม บอกว่าผิดก็คือผิด โอเคนะ

    ป.6 วิชาการงาน
    เรียนเย็บผ้า เกลียดมาก เย็บไม่ได้ แล้วลืมเอาอุปกรณ์กับงานที่ทำค้างมา พอเดินไปบอกครูครูด่าแล้วบอกว่า ลืมขนาดนี้ต่อไปเดี๋ยวเธอก็จะลืมใส่กางเกงใน

    ผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง: นักเรียนเย็บผ้าเป็น
    ผลการเรียนรู้ที่เป็นจริง: เย็บผ้าไม่เป็น ฝีมือห่วยแตกแถมต้องมากังวลทุกวันว่าวันนี้จะลืมใส่กางเกงในแบบที่ครูบอกมั้ย 55555555

    (อันนี้ดูตลกอะ ใส่มาเฉยๆ 555 แต่ตอนนั้นเครียดมากเลยนะ ไม่อยากไปโรงเรียนเลย)

    ม.2 ทุกวิชา
    ช่วงนั้นอยู่ๆ ก็รู้สึกถึงจุดอิ่มตัวในการศึกษา รู้สึกมันน่าเบื่อ แบบเรียนก็เรียนเรื่องเดิมๆ ครูก็พูดเหมือนเดิม เรียนเองก็ได้ เลยไม่ไปโรงเรียน แต่ไม่ไปได้ 2 วันแม่ก็ด่า อีเด๋ออ ชั้นจ่ายค่าเทอมให้แกไปเรียน (แม่ไม่ได้พูดแบบนี้ เติมให้ 555) พอไปโรงเรียนพบว่าครูหลายๆ คนมองหน้าไม่เหมือนเดิมแล้ว แม้แต่ครูสอนศาสนา ได้โบชัวร์จากครูใหญ่เรื่องเด็กมีปัญหามา ครูคนหนึ่งคิดว่าที่เราไม่มาเพราะว่าเราขี้เกียจ ตอนเรียนกับเขาในห้อง เรายกมือบอกว่าไม่ได้ทำงานวันที่ขาด ตามไม่ทัน ครูคนนั้นบอกว่า คนขี้เกียจก็เป็นแบบนี้แหละ

    ผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง: นักเรียนใช้ชีวิตอย่างมีความสุขในโรงเรียน
    ผลการเรียนรู้ที่เป็นจริง
    • ....เราไม่มีความสุขอะ คือก็มีความสุขนะ แต่ลึกๆ แล้วรู้สึกเข้ากับคนอื่นไม่ได้ สรุปนี่กูเป็นเด็กมีปัญหาเหรอ ว่าแต่ใครเป็นคนคิดคำว่าเด็กมีปัญหา คำโคตรเนกาทีฟเลย
    • เราได้เรียนรู้ว่าครูและผู้ใหญ่หลายคนก็เป็นแค่คนธรรมดาที่ทำสายตาเกลียดชังหรือเบื่อหน่ายคนได้ด้วยแฮะ ยิ่งตอกย้ำไปอีกว่าเราเข้ากับเพื่อนไม่ได้ ยังเข้ากับครูไม่ได้อีก
    • เราก็คงขี้เกียจจริงๆ แหละ ก็ไม่อยากไปโรงเรียน ไม่ทำการบ้าน มองในมุมครูแล้ว ก็แค่เด็กขี้เกียจธรรมดาๆ ปัญหาอะไรไม่มี

    ม.3 กิจกรรมนอกเวลา
    โรงเรียนมีกิจกรรมแชร์หนังสือให้กันอ่าน เป็นหนังสือที่ให้ความรู้ เราเข้าใจว่าให้ความรู้คือพออ่านแล้วได้เรียนรู้อะไร เลยเลือกนิยายเด็กเรื่องนึงไป ชอบมาก ตอนนั้นนิยายเรื่องนั้นคงเป็นเรื่องที่ชอบที่สุดแล้ว แต่พอครูประจำชั้นเจอ ครูบอกว่านี่มันนิยายไร้สาระ มันไม่ได้ความรู้ เฮิร์ทมาก แล้วครูก็เอานิยายไปไว้ไหนไม่รู้ ไม่ได้อยู่ในกองนั้น จนถึงวันนี้ก็ไม่รู้นิยายเล่มนั้นเป็นตายร้ายดียังไง (หนังสือข้าา my preciousss)

    ผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง:  นักเรียนได้อ่านหนังสือมากขึ้น
    ผลการเรียนรู้ที่เป็นจริง
    • นักเรียนได้อ่านหนังสือมากขึ้น (ภายใต้กรอบว่าห้ามอ่านนิยาย หนังสือนิยายแม่งไร้สาระ)
    • เวลาพกนิยายไปอ่านที่โรงเรียนเราต้องแอบพกไปเพราะกลัวโดนด่า จนย้ายโรงเรียนถึงค้นพบว่ามันผิดปกติ นี่ชั้นอยู่ในยุคที่มีการแบนหนังสือ หรือเผาหนังสือแบบเรื่อง Fahrenheit 451 เหรอออ


    ฟังดูประสบการณ์หลายๆ อย่างที่เราพูดมา เราก็รู้สึกตัวเองทำบางอย่างที่ไม่มีเหตุผลนะ เรื่องแต่ละเรื่องดูแอบเสิร์ด ดูไม่ได้ร้ายแรงแบบการแพ้อาหารในข่าว แต่เป็นเพราะตอนนั้นเป็นเด็ก การทำอะไรก็ดูแปลกๆ ใหม่ๆ ไปหมด ไม่ทำการบ้านแล้วจะเกิดอะไรขึ้น ทำอันนั้นแล้วจะเกิดไรขึ้น สิ่งที่เราต้องการคือคนนำทาง ซึ่งในแง่หนึ่งครูจากด้านบนเหล่านี้ก็นำทางเราแหละ ถึงมาเป็นแบบนี้ทุกวันนี้ได้ เพียงแต่วิธีที่เขานำมามันสร้างความคิดหรือความกลัวประหลาดๆ ให้เรา จนมันฝังใจ การที่เราเล่าอะไรละเอียดขนาดนี้ได้แสดงว่าเราเล่นภาพประสบการณ์พวกนี้วนในหัวซ้ำๆ ทำให้ตอกย้ำ label บางอย่างให้ตัวเองว่า เราเป็นคนเกลียดเลข เราขี้เกียจ เราเข้ากับคนอื่นไม่ได้ เราขี้ลืม เราอ่านแต่นิยายไร้สาระ 

    เราโดนสอนมาซ้ำๆ ว่าการด่าเพราะความรัก การถูกตีเพราะรัก ชีวิตต้องเจออุปสรรคบ้างถึงจะเรียนรู้ได้

    เราไม่ได้ต้องการทางที่เดินด้วยกลีบกุหลาบ แต่เราก็ไม่ได้ต้องการทางมีขวากหนามที่มันจะไม่มีขวากหนามตั้งแต่แรกถ้าไม่มีคนเอามันไปวาง

    ครูหลายคนอาจคิดว่าการทำแบบนี้มันช่วยสร้างเสริมบุคลิกอะไรบางอย่าง ก็จริงอะ เราโตมาถึงเป็นแบบนี้ไง 555 ไม่รู้อะ เราว่าความเข้าใจด้านจิตวิทยาเด็กของครูหลายๆ คนดูน้อย

    สุดท้ายสำหรับเพื่อนร่วมชั้นอาจจะไม่รู้ด้วยซ้ำว่าครูคนนี้ ครูคนนั้นทำให้เราเป็นแบบไหนหรือมีความคิดแบบไหน ในสายตาและความทรงจำของเขา ครูคนนั้นอาจจะเป็นคนดีมากๆ และในทำนองเดียวกัน ครูที่เราชอบ เขาอาจจะไม่ชอบก็ได้ ผลการเรียนรู้ที่เป็นจริงของพวกเราอาจจะต่างกัน หลายๆ คนเจออะไรที่เหมือนกัน สิ่งที่เรียนรู้อาจจะต่างกันเป็นเรื่องปกติ ไม่ใช่ทุกคนที่จะเรียนรู้เรื่องเดียวกันด้วยวิธีที่เหมือนกันได้

    เราไม่ได้ขาดแคลนทรัพยากรครู 
    เราขาดแคลนคนที่คอยให้คำปรึกษาจริงๆ ถ้ามีคนที่อ่านถึงตรงนี้แล้วแย้งว่าก็ครูแนะแนวไง ลองคิดดูดีๆ นะ ว่าครูแนะแนวในหลายๆ โรงเรียนได้ทำหน้าที่นั้นแค่ไหน แนะแนวการไปเรียนต่ออะมีเยอะแล้ว แล้วแนะนำชีวิต (ที่ไม่ใช่เอะอะก็นั่งสมาธิ สวดมนต์) อะมีเยอะแค่ไหน
    เราขาดคนที่คอยให้คำปรึกษาเด็กในโรงเรียนด้านจิตวิทยา
    เราขาดระบบที่เอื้อให้เด็กคิดมากกว่าในกรอบ (แล้วพอโตมาก็ด่าที่เด็กไม่คิดนอกกรอบ เอ๊ะ)

    มีบางโมเม้นต์ที่เคยคิดอยากเป็นครู เพราะอยากเดินไปบอกเด็กว่าอย่าเพิ่งเศร้าหรือเบื่อนะ โลกมันใหญ่กว่านั้นมาก เราไม่ต้องทำตามความคาดหวังของผู้ใหญ่บางคนทั้งหมด ไอ้ ผรค. นั่นบางครั้งมันก็ไม่เกิดขึ้นจริงหรอก อยากเป็นครูเพื่อสอนอะไรที่เราตอนเด็กอยากรู้ แต่ไม่เคยมีใครสอน
    แต่ก็นั่นแหละ แค่คิดว่าต้องกลับเข้าไปอยู่ในกรอบ ในพื้นที่ที่ตัวเองตอนเด็กพยายามหนีออกมาก็เหนื่อยแล้ว

    อ้อ เห็นบ่นประสบการณ์เต้าหู้ๆ เหล่านี้ แต่เราคิดว่าชีวิตวัยเรียนส่วนใหญ่เราก็จอยมากนะ เพราะครูหลายคนก็ช่วยเปิดโลกเราเหมือนกัน ไม่ได้มีแค่เรื่องแย่ๆ แต่อย่างใด เราไม่ได้เขียนบทความนี้เพื่อมาด่าครูกลุ่มนั้น เราแค่อยากชี้ให้เห็นว่าเด็กทุกคนโตมามันเจอแต่เรื่องแบบนี้ เราก็ควรคิดกันได้แล้วนะว่าการศึกษาของไทยมันกำลังมีปัญหาอะไรรึเปล่า


    ทดลองฟอนต์แคปชั่นใหม่ของมินิมอร์ ว้าวว้าว เก๋จัง 
    แต่เมื่อไหร่แอพจะเสร็จอะ อยากใช้ล้าว /มอง
Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in