สาเหตุที่ไม่ควรจะฝ่อเมื่อฟังเสียงติ
.
1. ไม่รู้ว่าคนที่ติ มีสติปัญญามากไหมในเรื่องที่พูด (เรื่องอื่นอาจจะมาก แต่ด้วยภูมิทัศน์ความคิดต่างๆ ในเรื่องที่เขาติเรา เขาอาจไม่ได้รู้ดีเท่าเราที่เป็นคนทำสิ่งนั้นๆ ก็ได้)
.
2. ไม่รู้ว่าคนที่ติ มีจุดประสงค์อื่นๆ ในการตินั้นไหม เช่น อยากตีให้พ่ายไป เพื่อหวังผลประโยชน์บางอย่าง (ตั้งแต่เพื่อสนับสนุนฝักฝ่ายที่ตัวเองชอบ ไปจนถึงเพื่อแสดงความ "เหนือกว่า" "กูเก่งกว่า" "กูฉลาดกว่า")
.
3. ไม่รู้ว่าคนที่ติติด้วยอารมณ์อะไร อาจจะหงุดหงิดอะไรมาและหาที่ลง ก็เป็นไปได้ โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย คำติบางคำแค่กวาดสายตาอ่านยังถือว่าเสียเวลาเลย
.
4. ไม่รู้ว่าคนที่ติ ได้เห็นทั้งหมดของชิ้นงาน กระบวนการ ฯลฯ ไหม และรู้ข้อจำกัดของชิ้นงานนั้นๆ ไหมว่าทำไมจึงต้องทำอย่างนั้น (ซึ่งก็ใช่, ไม่จำเป็นต้องรู้, แต่นี่คือเหตุผลที่ไม่ควรจะฝ่อเมื่อมีคนติ)
.
5. ต้องรำลึกไว้ว่า คนที่คิดไม่ชอบ กับคนที่คิดชอบ มีจำนวนอีกมาก ที่ไม่พูดอะไร เขาก็ไม่ชอบหรือชอบอย่างเงียบๆ ดังนั้น เสียงติแบบที่ไม่มีฐาน ไม่มีหลักการ เหตุผล ไม่มีการยกตัวอย่างมาให้เห็นจะแจ้ง จึงไม่สามารถแสดงความคิดเห็นของใครทั้งหมดได้เลย นอกจากแสดงความคิดเห็นของคนติเอง ซึ่งเป็นหนึ่งหน่วยเล็กๆ ของคนจำนวนเท่าไหร่ก็ไม่รู้ (เล็กกว่าฝุ่น)
.
6. ควรฟังข้อแนะนำมากกว่าคำติ และควรฟังข้อแนะนำจากคนที่เราเชื่อ ว่าเขามีประสบการณ์ในเรื่องนั้นๆ แต่ข้อแนะนำต้องเอามาปรับตามปัจจัยของสิ่งที่เราทำด้วย ไม่สามารถเอาอะไรมาใช้ตรงๆ ได้เลย
.
7. เมื่อมีคนติ แล้วพิจารณาแล้วว่าไร้ซึ่งฐาน ก็ discard ได้เลย ส่วนใหญ่จะคิดวกวนกับคำติ ก็เพราะคิดว่ามันมีความเป็นจริงที่สะท้อนความกังวลลึกๆ ของเราอยู่บ้างนั่นแหละ ซึ่งถ้าจะให้ดี ก็คือเก็บเฉพาะความกังวลนั้นไว้ แต่ไม่ต้องไป over reaction กับมัน และไม่ต้องเก็บไอ้คำผรุสวาทต่างๆ มาคิด คิดแค่ประเด็นที่เรากังวลพอ และคำตินั้นก็เป็นแค่ตัวที่มาเพิ่มน้ำหนักในประเด็นนั้น (ซึ่งไม่ต้องมาก อาจจะ 0.01%-1% ตามความน่าเชื่อถือของคนที่ติ)
.
8. การที่มีคนติ มองในแง่ดีคือ งานของเราไปกว้างกว่าวงที่จะมีเฉพาะคนชมมากๆ แล้ว
เราต้องไม่ลืมว่าบนอินเทอร์เนต ความเห็นที่รุนแรงสุดโต่ง (radical) มักจะได้รับพื้นที่มากกว่าความเป็นจริง และมากกว่าที่ควรจะได้ และความเห็นกลางๆ (เช่น ชอบแต่ไม่มาก ไม่ชอบแต่ไม่มาก) มักจะไม่ได้รับพื้นที่อะไรเลย เพราะความเห็นที่รุนแรงสุดโต่ง (ชอบสุดๆ ไม่ชอบสุดๆ) นั้นมักจะมีแรงขับในการมาคอมเมนต์
โดยเฉพาะความเห็นฝั่งที่ "ไม่ชอบสุดๆ" นั้นจะดูมีเยอะกว่าความเห็นที่ "ชอบสุดๆ" เพราะความเห็นที่ชอบสุดๆ ไม่มีสาเหตุ ไม่มีแรงขับเคลื่อนให้ต้องมาประกาศว่าเขาชอบสิ่งที่เขาชอบอยู่แล้ว (สื่อนั้นๆ บทความนั้นๆ ได้พูดแทนสิ่งที่เขาอยากจะพูดไปแล้ว) แต่ความเห็นที่ "ไม่ชอบสุดๆ" นั้นมีสาเหตุทุกประการ ทั้งการตอบสนองต่ออารมณ์ ความโกรธ ความอยากแสดงความเหนือกว่า ความเกลียดชัง ฯลฯ ในการที่จะพิมพ์อะไรตอบสักครั้งหนึ่ง
ดังนั้นถ้าจะ normalize ความเห็นบนอินเทอร์เนต ให้ "หาร" ความเห็นที่ไม่ชอบสุดๆ ลงให้เหลือจำนวนน้อย "หาร" ความเห็นท่ีชอบสุดๆ ลง (แต่หารไม่เท่าความเห็นที่ไม่ชอบ) และให้ "คูณ" ตรงกลาง ขึ้นไปมากๆ โดยเฉพาะคนที่อ่านแต่ไม่กดไลก์ ไม่กดรีแอคชั่นอะไรเลย พวกนี้จริงๆ เป็นส่วนมากในสังคม มากกว่าคนที่คน reaction หลายต่อหลายเท่า และมากกว่าคนที่คอมเมนต์แทบจะเป็นพันเป็นหมื่นเท่า
มันเหมือนเรื่องเรตโฆษณาแบบ click-through (คนกดคลิกแบนเนอร์) นั่นแหละ เอาจริงๆ คนกดคลิกโฆษณาแบนเนอร์มันมีเป็นจำนวนต่ำเตี้ยเรี่ยดินมากๆ คือประมาณ 0.5-1.5% เท่านั้น
ซึ่งมันก็เป็นจริงกับการคอมเมนต์และการกดไลก์ด้วย คือมีคนประมาณ 100 เท่าของคนแสดงรีแอคชั่น ที่ได้เห็นคอนเทนต์นั้นๆ และ "รู้สึก" แต่ "ไม่มากพอที่จะทำอะไร"
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in