เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
Vantage PointTeepagorn W.
On Computer Crime Law Summary
  • สรุปเรื่องพ.ร.บ. คอม​ฯ​ สำหรับตัวเอง
    .
    1. ไม่มีอะไรเหนือความคาดหมายที่มันผ่านแบบถล่มทลาย ที่จะเหนือความคาดหมายและทำให้ตลกนิดหน่อยก็คือการที่สนช. โหวตๆ กันแล้ว ตอนแรกมีคนโหวตไม่ครบ เพราะเหมือนไม่อยู่ หรืออะไรสักอย่าง แล้วเจ้าคนที่โหวตไม่ครบ ก็ต้องวิ่งมาโหวต ให้ผ่าน ให้ครบ คือจะทำท่าว่าไม่โหวตก็ไม่ได้นะ ต้องมาโหวตให้ผ่าน ให้ "คนบางคน"​ รู้ด้วยว่า ผมก็สนับสนุนเจ้านายนะครับ อันนี้ตลกดี และก็บอกอะไรถึงฐานความคิดของคนพวกนี้ได้มาก
    .
    2. เสียงที่ลงชื่อกันไปก็ไม่ไร้ความหมายแน่นอน อย่างน้อยที่สุดทำให้คนทำงานหลายคนมีความหวัง อย่างที่รู้ว่าจริงๆ แล้ว 10,000 เสียงก็สามารถเสนอยื่นแก้กฎหมายอะไรต่างๆ ได้ นี่มัน 360,000 เสียงนะ มันก็ต้องพอทำอะไรได้บ้างในอนาคต
    .
    3. ตอนนี้สิ่งที่ต้องดูต่อไป และต้องพยายามผลักดันกันต่อไปคือจับตาดูการบังคับใช้ และการประกาศกฎ กติกา ระเบียบต่างๆ ออกมาว่าโดยละเอียดแล้วไอ้กฎหมายที่กว้างเป็นมหาสมุทรนี้จะถูกตีกรอบให้แคบลงมาได้อย่างไร ผิดศีลธรรม จะมีออกมาบอกไหมว่าแบบไหนผิดถูก บิดเบือน จะบอกไหมว่า แบบไหนเรียกว่าบิดเบือน ไม่ใช่ปล่อยให้มันกว้างอยู่อย่างนี้
    .
    4. ส่วนตัวแล้วค่อนข้างผิดหวังกับที่หลายๆ คนออกมาสนับสนุนร่างพ.ร.บ. คอม และออกมาสนับสนุนวันที่สนช. โหวต หรือไม่อย่างนั้นก็หลังจากที่ผ่านแล้วเสียด้วย โดยบอกว่าเพิ่งมีเวลาได้อ่านบ้าง หรือทีแรกไม่สนใจเพราะเห็นว่าที่เถียงกันไร้สาระบ้าง อย่างมีคนหนึ่ง เพิ่งออกมาอัพเรื่องซิงเกิลเกตเวย์ หลังจากที่เขาพูดกันไป 3-4 ปีแล้ว เพิ่งจะมา debunk หลังจากที่ร่างพ.ร.บ. มันผ่านแล้วน่ะเหรอ ตลกจัง
    .
    จากที่อ่านที่สนับสนุนกัน ก็รู้ว่าคนโพสท์ไม่ได้อ่านเท่าไร และไม่ได้ศึกษา argument ที่เขาเถียงๆ กันด้วย (คือไปจับที่คนพูดตลกกันแล้วเอามาด่าเลย) เพราะว่าพอมีคนที่ศึกษาจริงๆ ไปซักมากเข้า หลายคนก็โบ้ยให้คนร่างกฎหมาย หรือไม่อย่างนั้นก็เลี่ยงไปตอบอย่างอื่นเสีย
    .
    5. ส่วนใหญ่ที่สนับสนุนกันก็มักจะมีการตีความให้แคบ (และค่อนข้างคิดไปเองว่าจะใช้อย่างนั้น) เช่น บอกว่า จะใช้ในเรื่องการปราบปรามลิขสิทธิ์ (ซึ่งเป็นอีกเรื่อง) จะใช้ในเรื่องไลฟ์วิดีโอที่ไม่เหมาะสม (ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้นก็บอกมาสิว่าไม่เหมาะสมผิดศีลธรรมคืออะไรบ้าง) ซึ่งเวลามาสนับสนุนร่างด้วยข้อเล็กๆ น้อยๆ พวกนี้ หากมีการบังคับใช้กฎหมายที่มันนอกไปเสียจากที่พวกนี้ตีความ สิ่งที่คนพวกนี้ควรทำก็คือออกมาต่อต้านกฎหมายที่ตัวเองสนับสนุนด้วยความเข้าใจผิดเสียด้วย เพราะว่าก็อาจจะได้เห็นแล้วว่าเจตนารมย์ของกฎหมายกับสิ่งที่ตัวเองตีความมันเป็นคนละเรื่องกัน กฎหมายนั้นควรเขียนไว้ให้แคบเพื่อป้องกันการตีความเรื่อยเปื่อย
    .
    6. ประเด็นที่ค้านกันแล้วค้านกันอีกก็คือการใช้คำว่าซิงเกิลเกตเวย์ ซึ่งก็เป็นบทเรียนให้ฝ่ายรณรงค์พอสมควรว่าในสังคมนี้ไม่ควรใช้คำเชิงเปรียบเทียบ เพราะจะเป็นจุดอ่อนให้ฝ่ายที่สนับสนุนกฎหมายเอามาตีใหญ่แล้วล้มล้าง argument ทั้งหมดได้ (ได้ยังไงก็ไม่รู้เหมือนกัน เพราะเขาไม่ฟังมั้ง) ก็อาจจะต้องระวังขึ้นในเรื่องนี้
    .
    7. เรื่องนี้รวมไปถึงการรณรงค์ซึ่งบางครั้งก็เล่นสนุกกันก็ดี (ทำให้สารมันแพร่กระจาย) แต่หลายครั้งก็อาจจะเป็นห่วงด้วยว่าเป็นการตีความจนทำให้กระบวนสารมันเสียหรือเปล่า เช่น เราเล่นมุกกันว่าเดี๋ยวรัฐบาลมาเปิดดูไลน์ที่คุยกับแฟน อะไรแบบนี้ มันก็เข้าใจง่ายดี แต่ถามว่ารัฐบาลจะทำอย่างนั้นจริงไหม คงไม่ แต่สิ่งที่เขาจะทำ ก็คือหากเราไปโพสท์วิพากษ์รัฐบาล เขาอาจจะมาเปิดดู แบบนั้นเป็นไปได้ ซึ่งนี่ก็ไม่ได้หมายความว่า งั้นต่อไปเราก็ควรจะคุยกันแต่เรื่องส่วนตัวสิ ไม่ต้องไปพูดวิจารณ์รัฐบาลอะไรแล้ว มันก็ไม่ถูก เพราะมันจะกลายเป็นว่า อ้าว เพราะเรากลัวว่ารัฐจะมาดูที่เราพูด เราเลยไม่พูดประเด็นอื่นๆ แล้ว ก็กลายเป็นเหมือนยอมปิดปากตัวเองในทุกๆ เรื่อง
    .
    8. ประเด็นที่ทำให้รู้สึกเศร้าที่สุด ไม่ใช่การที่ร่างพ.ร.บ. คอมผ่าน หรือว่ามีคนไปสนับสนุน แต่เป็นการที่มีผู้ใหญ่บางคนบอกว่า "สมควรจะมีร่างพ.ร.บ. คอมนี้ เพราะเด็กสมัยนี้เป็นพวกชอบบิดเบือน ใส่ร้ายป้ายสี ฯลฯ" คือแสดงให้เห็นชัดเจนเลยว่าผู้ใหญ่พวกนี้รู้สึกว่าตัวเอง 'เหนือกว่า' และมีสิทธิอันชอบธรรมที่จะบังคับคนที่ตัวเองคิดว่า 'ต่ำกว่า' ต้อนให้เข้าไปอยู่ในกรอบอำนาจของตัวเองมากแค่ไหน ซึ่งเรื่องนี้น่าเศร้ามาก แต่ก็เป็นพลังให้รู้สึกว่าอยากทำงานต่อไปด้วยเหมือนกัน
    .
    9. เป็นครั้งแรกที่โดนแคปไปพูดมั่วๆ ตามเพจล่าแม่มด ก็เป็นความรู้สึกแปลกใหม่ดี รู้สึกว่าเราไม่ต้องอธิบายให้คนทุกคนเข้าใจอะ ถ้าฐานความเข้าใจมันไม่ตรงกัน แล้วมันใช้เวลาของเราในการอธิบายมาก มันก็อาจจะไม่คุ้ม
    .
    10. ฐาน 80% ของคนสนับสนุนคือ "ไม่ได้ทำผิดทำไมต้องกลัว" ซึ่งพูดตรงๆ ว่าเขาเถียงเรื่องนี้กันมาหลายปีมากๆ แล้ว งงมากว่าทำไมในสังคมนี้ argument มันไม่เคลื่อนไปข้างหน้าเสียที จะบ้าเหรอ พูดเรื่องเดิมมา 10 ปี ก็ยังพูดเรื่องเดิมอยู่ เราก็จะไปลงที่คำตอบเดิมทุกครั้งคือ

    "คำว่าผิดของคุณกับคนมีอำนาจนั้นนิยามไม่เหมือนกัน และเมื่อไรก็ตามที่คนมีอำนาจมองว่าคุณผิดแล้วคุณบอกว่าต้องไปสู้ในชั้นศาล คุณก็ต้องเสียเวลาและเสียเงินเสียทองเสียโอกาสทำมาหากินไปสู้ ซึ่งมันไม่แฟร์สำหรับทุกคน"

    คำว่าผิดของคนที่มีอำนาจนั้นอาจหมายความว่าคุณเห็นไม่ตรงกับคนที่มีอำนาจก็ได้ ไม่ได้แปลว่าผิดแบบ Absolute (มันไม่มีผิดแบบ Absolute แน่ๆ มันมีแต่ผิดแบบที่ข้อตกลงของสังคมบอกร่วมกัน ซึ่งเสียงของสังคมไม่ควรไปฝากไว้กับคนที่มีอำนาจเพียงอย่างเดียว)

    เราจะไม่ตอบเรื่อง "ไม่ผิดจะกลัวอะไร" ด้วยคำพูดแบบ "งั้นคุณก็เอาพาสเวิร์ดมาโพสท์สิ" คือพูดตรงๆ ว่าถึงมันจะพูดแล้วฟังสะใจดี หรือพูดแล้วสนุกดี แต่ว่าเรารู้สึกว่ามันเป็นการพูดที่ฝ่ายตรงข้ามจะเถียงหรือว่าเห็นว่ามันเป็นการตีความเกินไปไปได้ง่ายมากๆ เลย เลยพยายามจะระวัง (จากข้อ 6,7)
    .
    ----
    สรุปของสรุป สรุปว่าได้อะไรเยอะ และการเคลื่อนไหวเรื่องนี้ยังไม่จบ จับตาดูกันต่อไป ว่ามันผ่านแล้วมันจะใช้อย่าง 'รัดกุม' ตามที่ผู้สนับสนุนตีความไหม และถ้าไม่ ควรจะมีการเคลื่อนไหวอย่างไรบ้าง
Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in