เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
Vantage PointTeepagorn W.
On TedXBangkok
  • เห็นว่ามีคนแชร์ประสบการณ์ด้านไม่ดีของ TEDxBangkok อยู่ใน Blognone ส่วนประสบการณ์ด้านดีมีคนแชร์เยอะจนทีมงานน่าจะแฮปปี้แล้ว เลยอยากเล่าในมุมมองของตัวเองบ้าง แต่ก็เล่าได้ไม่เยอะมาก เพราะวันนั้นติดงานจนทำให้ได้ฟังแค่รอบหลังสุด คือรอบดร.สมเกียรติ นวพล Rap is Now ดร.เชน ป้ามลบ้านกาญจนา และพระจิตต์ เท่านั้น ฉะนั้นประสบการณ์นี้ก็เป็นประสบการณ์แบบจำกัดๆ นะครับ
    .
    .
    โดยส่วนตัวเป็น Friend กับผู้จัดหลายท่านด้วย ดังนั้นก็ขอให้อ่านแล้วฟังหูไว้หูอีกเช่นกันๆ
    .
    - เราได้ตั๋วสื่อ แต่ก็พอรู้ว่าคนอื่นๆ ต้อง 'ได้รับการคัดเลือก' ก่อนที่จะได้รับสิทธิให้ซื้อบัตร โดยจะต้องตอบคำถามเหมือนสมัครสอบ ตรงนี้อาจไปติดใจหลายคน ที่ทำให้รู้สึกว่า TED เป็นงานที่ elitist อย่างที่ฝรั่งเขาวิจารณ์กัน คือดูสูงส่งจนคนทั่วไปจับต้องไม่ได้ (ไหม? - เป็นคำถาม)
    .
    .
    - เรื่องไม่ประกาศหัวข้อและแขกรับเชิญก่อนซื้อบัตรนี้เป็นส่วนที่ทำให้รู้สึกว่าเราต้องฝากความไว้วางใจอย่างแท้จริงให้กับคนจัดงาน ซึ่งถ้าจัดผ่านมาหลายครั้งมากๆ แล้วก็คงพอเข้าใจได้ แต่เท่าที่เข้าใจคือเพิ่งมีครั้งที่แล้วหนึ่งครั้ง เลยทำให้คนไม่ค่อยพอใจว่าทำไมฉันต้องจ่ายเงินเพื่อมาดูสิ่งที่ฉันไม่รู้ว่ามันคืออะไรบ้าง ด้วย
    .
    .
    - เรื่องสถานที่คิดว่าเป็นข้อจำกัดของโรงละครเคแบงก์สยามพิฆเนศ แต่ก็เป็นข้อจำกัดที่ทีมงานก็น่าจะเล็งเห็นก่อนได้อยู่แล้วว่าที่รับประทานอาหารมันอาจจะไม่ค่อยพอจริงๆ ถ้าเราต้องจ่ายเงิน 1,500 บาทมาแต่ต้องกินข้าวกับพื้น และกินกับใครไม่รู้คงเซ็งเหมือนกัน
    .
    .
    - สิ่งที่อยากพูดจริงๆ เกี่ยวกับ TED คือเรื่องวัฒนธรรม mingle ซึ่ง TED ดูจะเน้นเรื่องนี้พอสมควร คือมีการให้เตรียมของขวัญไปให้กับคนอื่นๆ ที่เป็นผู้ฟังด้วย และมีการให้ระบุไว้บนป้ายชื่อ (ซึ่งใหญ่มาก) ด้วยว่าจะคุยกับเราเรื่องอะไรได้บ้าง รวมถึงตอนคอฟฟี่เบรคก็มีการจัดโต๊ะไว้เป็นซุ้มเล็กๆ ให้คนที่ไม่รู้จักกันได้มาคุยกัน ซึ่งสำหรับบางคนสิ่งนี้ก็อาจเป็นเรื่องดี (อย่างที่เห็นว่ามีการแชร์กันเยอะว่าได้เพื่อนใหม่ หรือว่าได้คุยกับคนที่ไม่เคยคุยมาก่อน) แต่กับบางคน (เช่นเรา ที่เป็นคนปิดๆ) ก็จะรู้สึกว่าถูก force มิตรภาพ upon มากไปหน่อย คืออยากไปแบบ introvert ได้มั้ย 555
    .
    .
    อันนี้เป็นประสบการณ์ส่วนตัวจริงๆ ไม่ได้เป็นความผิดอะไรของ TED เลย แต่การที่ TED จัดสถานที่ที่ทำให้คน Introvert รู้สึกไม่ค่อยสบายใจ หรือว่ามีการบอกให้เตรียมของขวัญ (ถึงแม้จะ optional แต่ไม่ค่อยได้บอกว่า optional) ก็ทำให้รู้สึกว่าถ้าเปิดให้คนที่ไม่ค่อยอยากพูดอยากจาไปฟังด้วยความสบายใจได้ด้วยก็น่าจะดี
    .
    .
    - เรื่องอารมณ์ร่วมในห้อง เพื่อนที่ไปด้วยกันกับเรารู้สึกคล้ายกันว่าคนในห้องดูจะมีอารมณ์ร่วมกับคนบนเวทีดีมาก คือเล่นมุกอะไรมาก็ขำ เว้นระยะแป๊บนึงก็ปรบมือ หรือพูดอะไรที่ฟังดู profound ก็มีเสียงครางฮือ ซึ่งเราจะไม่ค่อยรู้สึกถึงอารมณ์ร่วมตรงนี้ในตัวเองเท่าไหร่ อันนี้ก็ส่วนตัวอีกเหมือนกัน ก็เป็นบรรยากาศที่แปลกดีเหมือนกัน บางจังหวะทำให้ไพล่นึกไปถึง cult อะไรบางอย่าง (นี่เป็นสิ่งที่หลายคนวิพากษ์ TED เหมือนกันว่ามันเป็น cult แต่เราคิดว่าความ cult มันมาเองโดยไม่ได้ตั้งใจ)
    .
    .
    - เรื่องเนื้อหา ถ้าพูดจริงๆ เลยคือค่อนข้างผิดหวังกับ 6-7 เซสชั่นหลัง เราตั้งใจไปฟังอ.สมเกียรติ เพราะอยากรู้ว่าแกจะพูดอะไร แต่แกก็พูดเรื่อง Open data ของรัฐ โดยไม่ได้พูดให้ลึกลงไปสักเท่าไหร่ (ไปเสียเวลากับการพูดถึง "ปัญญาประดิษฐ์ชนะโกะ" หรือ "ปัญญาประดิษฐ์เท่ากับหนูหนึ่งตัวแล้ว") ซึ่งน่าผิดหวังพอสมควร (เพื่อนที่ไปด้วยบอกว่านี่ดูเหมือน Just another talk สำหรับอ.สมเกียรติ)
    .
    .
    ส่วนวิทยากรท่านอื่นๆ ก็ค่อนข้างพูดเรื่องที่เราได้ยินกันมากแล้วในสังคมไทย และบางท่านก็มีลักษณะค่อนข้าง preachy หรือสั่งสอนมากไปสักนิด เช่น ป้ามลที่พูดเรื่องนักโทษเด็ก ก็พูดโดย assumption ว่าคนมักจะมองนักโทษไม่ดี ซึ่งเรารู้สึกว่ามันเป็นค่านิยมที่ผ่านมาแล้ว การพูดของป้าเลยยังไม่ได้พาเราไปไหนเท่าไหร่ และมีการพูดถึงการแสดงพิธีกรรมขอขมาเหยื่อ ซึ่งป้าบอกว่าชำระล้างใจเด็กได้ แต่เราก็ยังไม่ซื้อแนวคิดนี้นัก (ซึ่งก็รู้ตัวว่าเป็นการไม่ซื้อด้วยความที่ไม่ได้รู้อะไรเลย ไม่ได้ทำงานกับเด็กแล้วยังจะมาพูด แต่ก็นั่นแหละนะ...)
    .
    .
    ทอล์กของนวพลเป็นทอล์กที่เรารู้สึกอย่างตรงไปตรงมาว่าพรีเซนเทชั่นดี แต่เนื้อหาไม่ค่อยมีอะไร (ขอโทษแฟนๆ นวพล) นั่นคือพูดเรื่องการใช้วิจารณญาณในการรับสื่อ ว่าสื่อในปัจจุบันสามารถปั้นแต่งเรื่องราวได้ ดังนั้นคุณต้องคิดมากๆ ก่อนที่จะฟัง รวมไปถึงคิดด้วยว่าสเตตัสที่เพื่อนๆ อัพ ก็เป็นสเตตัสที่เขาอยากให้คุณเห็น ซึ่งเป็นเรื่องดีไหมที่นวพลพูด ก็ดี แต่เรารู้สึกว่าระดับนวพลบน TED น่าจะพาบทสนทนาไปได้ไกลกว่านี้ พอหวังไว้ก็เลยอาจจะผิดหวังก็ได้
    .
    .
    พระจิตต์ เป็นคนที่ทำให้เรารู้สึกถึงลักษณะเฉพาะของ TED กับประเทศไทย คือมันเป็น TED ในแบบที่แสดงให้เห็นว่าคนกรุงเทพฯ ของไทยคิดอย่างไร (และอาจรวมไปถึงคนที่เป็นชนชั้นกลาง ที่เราไม่ได้มีความตั้งใจจะพูดเหยียดชนชั้นกลางอย่างไรเลยนะ) ว่ามันเป็น TED ที่นำโดยอารมณ์และความดีเป็นหลัก โดยมีหลักคิดต่างๆ ที่ objective เป็นรอง ซึ่งไม่ใช่เรื่องผิด แต่ก็เป็นเรื่องที่ต้องบอกว่าเป็นลักษณะเฉพาะเท่าที่เคยดู TED ต่างๆ มาจากหลายประเทศ
    .
    .
    แรปอิสนาวทำให้เรารู้สึกถึงเรื่องนี้ชัดเจนขึ้นโดยการแรปเรื่อง "อย่าดูคนแค่เปลือก" ซึ่งเป็นเรื่องเดียวกับนวพล แต่พูดคนละด้าน ซึ่งโดยส่วนตัวรู้สึกว่า เป็นการแร็ปที่ preachy หรือสั่งสอนมากๆ (แต่คนอื่นฟังแล้วก็อาจจะคิดเป็นอย่างอื่นได้)
    .
    .
    สรุปว่าที่เราชอบในช่วงหลังคือดร.เชน ที่ทำเทคโนโลยีวัดกระแสไฟฟ้าในสมอง แล้วเชื่อมต่อให้คนที่เป็นอัมพาตสามารถปั่นจักรยานได้อีกครั้ง และยังเชื่อมกับเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านให้คิด เปิดปิดทีวีได้ด้วยสมองเพียงอย่างเดียวด้วย ตรงนี้ประทับใจจริงๆ
    .
    .
    ส่วนทอล์คตอนเช้าไม่ได้ฟังเลย แต่มีคนบอกว่าอาเจ็กสมชัยนั้นพูดดี ส่วนน้าต๋อยก็อย่างที่เราสงสัยนั่นวันก่อนนั่นแหละ ว่าที่ฮิตเพราะว่ามันเป็นการ self-affirmative คนฟังหรือเปล่า
    .
    .
    - เรารู้สึกว่าพิธีกร (ซึ่งจริงๆ ก็รู้จักกันอีก) นั้นค่อนข้างชักจูงคนฟังไปหน่อย เวลาเราไปฟัง ส่วนตัวเราอยากฟังสารอะไรต่างๆ จากปากคนพูดมากกว่า แต่พิธีกรทั้งคู่ (โดยเฉพาะพิธีกรหญิง) ค่อนข้างมีความคิดเห็นของตนเองลงไปในบทพูด บทสนทนา เลยทำให้ก่อนฟังเรามี preconception บางอย่างกับคนที่จะพูดต่อไป หรือว่าหลังฟัง ตอนที่มาสรุป ก็จะรู้สึกว่าอย่าเพิ่งชี้นำให้คิดสิๆ เราอยากคิดเอง
    .
    .
    - ต้องขออภัยด้วยถ้าคอมเมนต์จะทำให้ใครไม่พอใจ ขออภัยจริงๆ นะครับ แต่โดยรวมแล้วก็ชื่นชมทีมงานทุกคนครับที่ทำให้งานใหญ่ครั้งนี้สำเร็จลุล่วงลงได้ ขอบคุณมากๆ ครับ
Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in