1.
เราอยู่ในยุคอินเทอร์เนตแล้ว แต่ทำงานกับรัฐ ถึงจะกรอกข้อมูลทั้งหมดผ่านอินเทอร์เนตแล้ว ก็ยังต้องปรินท์เอกสารทั้งหมดออกมาเป็นกระดาษ เซ็นด้วยหมึกสด (หมายถึงว่าห้ามเป็นลายเซ็นอิเล็กทรอนิกส์) ส่งไปรษณีย์ไปยังหน่วยงานกลางอยู่ดี และถ้าพิมพ์อะไรผิด หรือตกไปแม้แต่คำเดียว (เช่น ไม่ได้พิมพ์ "นาย" นำหน้าชื่อ ถึงแม้จะไม่มีแบบฟอร์มตรงไหนระบุให้พิมพ์ก็ตาม) ก็จะต้องทำขั้นตอนทั้งหมดใหม่ และส่งไปใหม่อีกรอบ เจริญ เจริญอย่างกับสมัยก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง
2.
วันก่อนไปเอาของที่ไปรษณีย์ ก็ยื่นใบรับของไป เจ้าหน้าที่ก็รับไป แล้วก็ปรึกษากันว่าไอ้แฟ้มนี้มันอยู่ตรงไหนนะเธอ ก็ค่อยๆ คุยกันอย่างแช่มช้า สโลว์ไลฟ์ แล้วก็หาไปด้านหลังสำนักงานสัก 10 นาที แล้วก็เอาแฟ้มออกมา พลิกไปทีละหน้าอย่างเอื่อยเฉื่อย เต็มไปด้วยความมีสติ เอานิ้วไล่ทุกเรคคอร์ด ผ่านไปอีกสี่นาที อ้อ เจอแล้ว เธอบอกผม เซ็นตรงนี้ ผมเซ็น เธอเอาอุปกรณ์เก็บลายเซ็นอิเล็กทรอนิกส์มาให้เซ็นอีกระลอก เซ็นตรงนี้ค่ะ ผมเซ็น เซ็นเป็นภาษาอังกฤษได้ไหมคะ เธอหยิบไป บรรจงกดปุ่มลบ ยื่นมาให้เซ็นใหม่ ผมเซ็น โอเคค่ะ เธอหายไปด้านหลังอีก 10 นาที กลับมาพร้อมกับกล่องบรรจุภัณฑ์ เดี๋ยวมีค่าภาษีศุลกากรนะ ตรงนี้ เอ่อ หยิบเครื่องคิดเลขขึ้นมา กดบวก ดุลูกไปด้วย เพราะลูกสาวซน หนึ่งพันห้าร้อยบาท เธอค่อยๆ หันหน้าจอเครื่องคิดเลขมาให้ดู ผมหยิบเงินสองพันบาทจ่าย เธอนับเงินทีละใบ ราวกับว่าแบงค์พันสองใบมันจะมีอะไรติดอยู่หรือให้ไปไม่ครบได้ เธอค่อยๆ หยิบเงินทอนออกมา ยื่นให้ทีละใบ ห้าใบ นี่เงินทอน แป๊บนึงค่ะพี่เข้าคิวด้วย เธอหันไปดุป้าคนข้างหลัง ถึงไหนแล้วนะ เธอหันมาถามผม... กล่องอะครับ กล่อง เธอบอกว่า อ้อ แล้วก็ค่อยๆ เอื้อมมือไปหยิบกล่อง ส่งให้ผมในที่สุด รวมเวลาทั้งหมด 30 นาที กับการเอาพัสดุ 1 กล่อง ไม่แปลกเลยว่าทำไมไปรษณีย์ไทยจึงเป็นองค์กรที่ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ฉับไวและเข้าใจลูกค้า ประทับใจมากๆ
3.
นานวันยิ่งคิดว่าการจะปรับรัฐให้เป็นอิเล็กทรอนิกส์ หรือรัฐสมัยใหม่ได้ ไม่ใช่ว่าต้องปรับที่เทคโนโลยีก่อน (คือปรับได้เป็นอย่างท้ายๆ เลย) แต่ควรปรับที่บุคลากรก่อน ถ้าบุคลากรยังคิดว่า "หลักฐานที่จับต้องได้สำคัญที่สุด" (ซึ่งเป็นความคิดที่เก่ามาก เงินในธนาคารของคุณคุณยังจับต้องไม่ได้เลย!) ก็ไม่มีประโยชน์อะไรที่จะเปลี่ยน เพราะเท่าที่เจอในหลายๆ เคส การเปลี่ยน ก็จะเป็นเพียงการเพิ่มงานให้บุคลากรเท่านั้น คือนอกจากจะต้องบันทึกในกระดาษ (เพราะบูชากระดาษ) แล้วยังต้องมาบันทึกในระบบอิเล็กทรอนิกส์ด้วย (ซึ่งก็น่าศึกษาเป็นสถิติว่าอะไรที่ถูกใช้งานจริงมากกว่ากัน เพราะอะไร - ถ้าจะเปลี่ยนให้เป็นรัฐใหม่จริงๆ ก็ต้องมีงานศึกษาพวกนี้นะ)
ปัญหาคือเท่าที่เจอ พวกที่บูชากระดาษนี้ก็ไม่ได้เก็บหลักฐานที่เป็นกระดาษไว้อย่างดีเด่อะไร เช่น ไปรษณีย์ที่ไปวันก่อน ก็เก็บลายเซ็นของลูกค้าไว้ด้วยแฟ้มง่อยๆ สันเปื่อยยุ่ย กระดาษเหลืองกรอบแล้ว คือถ้าจะใช้ประโยชน์อะไรอีกในรอบสองสามปีคงไม่ได้ ดังนั้นจึงพานให้คิดได้ว่าที่เก็บกระดาษนี้ก็ไม่ได้เป็นสารัตถะอันใดนอกจากเป็นระเบียบเก่าแก่ ที่ถูกตั้งไว้เพื่อสนองปรัชญาคร่ำครึของบุคลากรเดิมเท่านั้น เรื่องนี้อาจจะสะท้อนความกลัวลึกๆ ของบุคลากรเก่าๆ ก็ได้ ว่าเมื่อกระดาษหายไป ตัวเองจะหายไปพร้อมๆ กับกระดาษด้วย
หลักฐานกระดาษจึงอาจเป็นหลักฐานของความมีตัวตนไปพร้อมกัน
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in