เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
แว่นขยายเพลง k-popryeomook
วิเคราะห์ดนตรี เพลง TEN & YANGYANG - Low Low
  • บ้า ที่ สุด

    ออกตัวก่อนว่าบทความนี้ไม่ได้อยู่ในความตั้งใจของผู้เขียนเลยที่จะเขียน แต่หลังจากที่ได้ฟังเพลงแล้วก็ถึงกับอึ้ง อึ้งซ้ำ ๆ จนอยากจะนำความรู้สึกต่าง ๆ ที่ผู้เขียนรู้สึกได้จากการฟังเพลงนี้มาพูดคุยถึง มันช่างเป็นเพลงที่มีหลายอย่างผิดคาด เกินคาด ไม่ได้เป็นไปอย่างที่คาดไว้เลย



    (อย่าลืมเปิดเพลงฟังควบคู่ไปด้วยนะ)


    Written By  Sorana, Ryan S. Jhun, Paris Carney & David Wilson
    Composed By Sorana, Ryan S. Jhun, Paris Carney & David Wilson
    Arranged By ​dwilly & Ryan S. Jhun

    B Major / G# Minor? - 91 BPM




    • เปิดเพลงมาด้วย Intro สั้น ๆ แค่เพียง 2 ห้องกับดนตรีแค่เพียง 2 แนวที่ทำให้เราได้แต่งุนงงสับสนว่านี่มันเกิดอะไรขึ้น แนวทำนองจาก ssynthesizer เสียงสูงค่อนข้างชัดเจนว่ายึดอยู่บนสเกล B Major แต่ในขณะเดียวกันนั้นเองไลน์เบสกลับเล่นโน้ตที่ดูแล้วเหมือนจะยึดบนสเกลของ G# Minor (+♭VII) ซึ่งมันเป็นอะไรที่ประหลาด ประหลาดมาก ๆ เสียงที่ถูกสร้างออกมาเมื่อโน้ตสองแนวนี้ซ้อนกันก็ดันออกมาเป็นเสียงที่มืดหม่นออกไปทาง minor ซะมากกว่า

    • ที่หนักเลยคือโน้ตตัวสุดท้ายไลน์เบสเล่นตัว C# ส่วนแนวบนเล่น B! เห้ย นี่มันอะไรกันเนี่ย มันกัดกันซะจนเราสับสนต้องฟังซ้ำหลายรอบว่าได้ยินเสียงเบสถูกตัวแน่รึเปล่า ยังไม่นับว่าเสียงเบสนั้นฟังค่อนข้างยากเพราะมีเสียง overtone หรือเสียงที่ซ้อนทับกันอีกทีแถมยังถูกปรับบิดเล็กน้อยให้คล้ายกับ microtone ที่มีความเพี้ยน ไม่ได้เสียงตรงพอดี เล่นเอาถึงกับหัวหมุนติ้วตั้งแต่ช่วง 4 วินาทีแรกของเพลง

    • ทำนองร้องมาอย่างรวดเร็วว่องไว เป็นการนำท่อน Chorus มานำเสนอแบบไม่ต้องอารัมภบทให้เสียเวลานาน ถือว่าได้ทำให้คนฟังจดจำท่อนฮุคได้ตั้งแต่เริ่ม ซึ่งก็เป็นการไล่โน้ตชุดเดียวกันกับเสียง Synthesizer อยู่บนสเกล B Major เป๊ะเลย เบสเองก็ยังคงยืนยันจะอยู่ที่เดิมที่กัดกันกับทำนอง แต่ในช่วงนี้มีแนวเสียงเพิ่มเข้ามาอีกคือเสียงของขลุ่ยไผเซียวซึ่งถูกปรับแต่งเล็กน้อย (ที่ฟังครั้งแรกก็นึกว่าเป็นเสียง synthesizer ด้วยซ้ำ) เล่นโน้ต B C# D# ย้ำ ๆ เพื่อเป็นการยืนยันว่าเรากำลังอยู่ในคีย์เพลงที่สดใสนะ

    ตัวอย่าง ขลุ่ยไผเซียว (排簫) เครื่องดนตรีพื้นบ้านของประเทศจีน



    • 0:19 ครึ่งหลังของท่อน Chorus ทำนองค่อย ๆ ไต่ขึ้นสูงไปจนถึง leading tone เรียกได้ว่าฟังแล้วมันสุดแสนจะบีบเค้นขยี้หัวใจ นอกจากนี้ก็มีเสียงเอฟเฟคแหลมแสบหูคล้ายกับเสียงพวก electronics เพิ่มเข้ามาช่วยซัพพอร์ต แต่! ทั้งนี้ทั้งนั้น มันก็ยังคงแสนจะโล่ง โปร่ง ฟังแล้วเหงามาก แต่ก็รู้สึกว่ามันเพียงพอตอบโจทย์ในตัวมันเองกับเสียงขององค์ประกอบแค่เพียง 3-4 อย่าง เนื่องจากมีการปรับใส่เอฟเฟคให้เสียงเกิด resonance มีเสียงก้องลากค้างเพื่อช่วยเติมเต็มในช่องว่าง แต่แน่นอนว่าผู้ฟังก็โหยหาการได้ยินเสียงที่จะช่วยให้ความรู้สึกนี้สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น 

    • ทำนองร้องท่อนฮุคจบไวผิดปกติเฉยเลย โดยทั่วไปมันมักจะจบพอดีที่จังหวะสุดท้ายของห้องที่ 8 แต่เพลงนี้ทำนองกลับจบตั้งแต่จังหวะที่ 2 ครึ่ง หั่นสั้นลงไปเฉยให้เรางง แต่ก็ได้เสียงร้อง low low low ที่ถูกดัดแปลงให้สูง มีความลึกลับ จะว่ากวนตีนก็คงไม่เกินจริงเข้ามาเป็น pick-up พาเราดำเนินไปต่อ จุดที่แปลกนี้เมื่อฟังไปเรื่อย ๆ ตลอดทั้งเพลงจึงเข้าใจว่าเป็นการ give and take ถ้าหากเทียบกับทางทฤษฎีดนตรี อธิบายแบบง่าย ๆ คือโน้ตทำนองนั้นมักเริ่มมาก่อนจะถึงท่อนของตัวเองจริง ๆ นั่นจึงทำให้เหมือนเป็นการขโมยจังหวะท่อนก่อนหน้ามา พอถึงช่วงท้ายจึงทำให้ต้องถูกตัดจังหวะที่ไปแอบเอาของเขามาออก แล้วก็เป็นแบบนี้ไปตลอดทั้งเพลง

    • กว่าเราจะมีเสียงอื่นเข้ามาให้สบายใจก็ปาเข้าไปเกือบ 30 วืนาที ต้องบอกเลยว่าแทบไม่เคยเจออะไรแบบนี้มาก่อน การรอคอยช่างคุ้มค่าเมื่อท่อน verse แรกนี้ถูกเติมเต็มด้วยเสียงของเครื่องกระทบต่าง ๆ ทั้งสูงและต่ำ (ถ้าใส่หูฟังจะได้ยินหลายเสียงและแต่ละเสียงออกจากหูฟังคนละข้างเลย) แนวเบสเล่นโน้ตตามเดิมแต่ก็มีการเร่งเสียงให้ดังขึ้นและกระแทกรุนแรงกว่าเดิม แต่แนวร้องกลับชิลมาก ร้องสบาย ๆ ในช่วงเสียงกลาง แถมคราวนี้ร้องโน้ตบนสเกล G# Minor แล้ว มี E Natural โผล่มาเฉยพอมา นาทีที่ 0:32 มีการเพิ่มเสียง synthesizer เน้นย้ำตัว E D# G# โอ้โห เนี่ยยยย ผู้เขียนสับสนมากว่าสรุปเพลงนี้จะอะไรยังไงไปทางไหน นี่เพิ่งเริ่มมาแค่ไม่กี่วิก็ทำเอาหัวปั่นขนาดนี้แล้วหรอ

    • นาทีที่ 0:38 เสียง electronics จากช่วงคอรัสแรกมาโผล่ตรงนี้อยู่หน่อยนึงเพื่อช่วยในการเชื่อมท่อน verse เข้ากับ Pre-Chorus ที่มาถึงแบบไม่ได้ตั้งตัวเลย พอตั้งแต่นาทีที่ 0:39 มีการแทรกเสียงเอฟเฟคเบา ๆ ซ้อนอยู่บนเบสด้วย เสียงนี้มีลักษณะคล้ายกับเวลาเราเล่นเกมส์ยิงเลเซอร์ปิ้ว ๆๆๆ แต่มันเบามาก และมาแค่เพียงไม่กี่ครั้งเท่านั้น แปลกดี

    • I'm facin' it มีการเพิ่มเสียงร้องประสานเข้ามาทำให้เกิดเป็น harmony มีคอร์ดอย่างจริงจังครั้งแรกของเพลงนี้ ซึ่งมันเป็นคอร์ด Major แล้วเสียงประสานนี้มาช่วยเสริมแนวร้องทุก ๆ รูปแบบคำที่คล้ายกัน แม้ว่าตอนหลัง 2 ห้องสุดท้ายของช่วงนี้เสียงบีตขะหายไปเหลือแค่เบส แต่แนวร้องประสานก็ช่วยซัพพอร์ตได้เป็นอย่างดี ยิ่งในห้องสุดท้ายที่มีการใส่เสียงเอฟเฟควูบวาบพร้อมกับการไล่โน้ตขึ้นแบบเสียง 8 บิต มันช่างน่ารัก สนุกสนาน สดใส เป็นการส่งไปยังท่อนฮุคอีกรอบแบบเกินคาดมาก


    • กลับมาเจอกับท่อน Chorus อีกครั้งที่เราได้ถูกแนะนำไปในตอนต้น แต่ในครั้งนี้กลับมาพร้อมความสนุกที่มากขึ้นจากเสียงบีตของเครื่องกระทบ แถมที่เพิ่มมาอีกอย่างก็คือเสียงขลุ่ยไผเซียวที่ฟังเสียงความเป็นขลุ่ยจริง ๆ ได้ชัดเจนมากในช่วงนาทีที่ 0:54 ที่เล่นทำนองสวนขึ้นมานั่นยิ่งช่วยทำให้มันมีเสียงดนตรีที่หนายิ่งขึ้น

    • ไม่พอ ในนาทีที่ 1:01 ช่วงครึ่งหลังของฮุคมีการเพิ่มอีกหนึ่งแนวเสียงของ synthesizer ที่นำโน้ตทำนองจากช่วงก่อนหน้าเมื่อกี้นี้เลยมาเล่นซ้ำในช่วงเสียงที่ต่ำกว่า 1 octave (1 ช่วงเสียง) กลายเป็นว่าโน้ตจากแต่ละแนวที่ตอนแรกก็กัดกันอยู่แล้วเกิดการกัดกันหนักกว่าเดิมไปอีก สร้างความ intense สุดแสนจะน่าอึดอัด วุ่นวายไปหมด

    • ช่วงท้ายของฮุคนี้เองก็มีการร้อง pick-up เพื่อนำเข้าสู่ verse ด้วยคำว่า low low แต่ในครั้งนี้สมชื่อเพลงเลย จากโน้ตสูงปรี๊ดเสียงเล็ก ๆ กลับกลายเป็นเสียงที่ต่ำลงไปถึง D#2 ซึ่งเป็นครั้งแรกของเพลงที่แนวทำนองลงมาต่ำขนาดนี้ มันเปลี่ยนมู้ดของเพลงจากหน้ามือเป็นหลังมือ ความสนุกจบลงแล้วได้เวลาของความดาร์ค ความเท่ห์ ฟังแล้วก็ทำให้นึกถึงเพลง Paint Me Naked ของเตนล์ที่ก็มีการกระโดดลงมาโน้ตต่ำในช่วงท่อนนี้เช่นกัน


    ตัวอย่าง เพลง Ten - Paint Me Naked นาทีที่ 1:10



    • แนวดนตรีทั้งกลองและเบสยังคงอยู่เหมือนเดิม น่าสนใจมากที่แนวเบสซึ่งสร้างคำถามมากมายให้กับเรามันยังคงถูกเล่นต่อไปอย่างมั่นคง แต่คนฟังกลับไม่ได้รู้สึกมั่นคงขนาดนั้น จนตอนนี้ก็ยังไม่มั่นใจในหูของตัวเองว่าได้ยินโน้ตถูกตัวหรือไม่ มันช่างน่าขัดใจแต่ก็น่าประทับใจในเวลาเดียวกัน (งงมั้ย?)

    • ทำนองท่อนนี้เป็นอะไรที่งุนงงสับสนไปหมด เริ่มต้นที่ตัว D#3 สักพักกระโดดขึ้นไปตัว B3 ในคำที่เราไม่คิดว่าจะเกิดการเปลี่ยนโน้ต หลังจากนั้นก็ไปทั่วเลย ขึ้นไปสูง วนกลับลงมา ไม่สามารถจับแพทเทิร์นได้ แตกต่างจากตลอดทั้งเพลงที่มักจะวนเวียนอยู่กับโน้ตแค่ไม่กี่ตัวและรูปแบบการเดินของโน้ตแบบเดิม ๆ สิ่งนี้แหละมันทำให้ท่อนนี้สนุก น่าตื่นเต้นติดตามยิ่งกว่าเดิม

    • ทีนี้พอกลับเข้ามาท่อน Pre-Chorus ที่คุ้นเคยเราก็รู้สึกผ่อนคลายความกังวลจากความไม่รู้และสับสนไปได้ ในนาทีที่ 1:27 มีการเพิ่มเสียง synthesizer ที่แหลมคล้ายกับเสียงเครื่องดนตรีแบบโบราณที่ถูกตีอย่างขิมเล่นโน้ต D# E D# B เพิ่มลูกเล่นให้กับเพลงไปอีกขั้น ดนตรีจะได้ไม่ซ้ำจำเจจนเกินไป



    • ท่อนฮุครอบที่สามแล้ว แต่ก็ไม่เคยมีอะไรซ้ำเดิมจริง ๆ แต่ละรอบมันก็ค่อย ๆ แน่นขึ้นตลอด อย่างในครั้งนี้ก็จะมีแนวร้องที่มากกว่าหนึ่งเสียง แตกต่างไปจากก่อนหน้าที่มีทำนองร้องแค่เสียงเดียวเพียว ๆ ถ้าหากฟังดี ๆ จะได้ยินเสียงที่ร้องโน้ตเดียวกันในช่วงเสียงต่ำลงไป 1 octave ซ้อนอยู่ข้างล่าง ยิ่งพอถึงช่วงครึ่งหลังก็มีการเพิ่มเสียงประสานสอดแทรกระหว่างกลางเข้ามาสร้าง harmony เพื่อเสริมอารมณ์ของคนฟังให้ยิ่งรู้สึกอินไปกว่าเดิม เน้นย้ำความต้องการของเพลงที่ต้องการจะสื่อถึงความมั่นใจว่าอยากให้เชื่อมั่น อยากให้อยู่ด้วยกันตรงนี้ไม่ไปไหน

    • 1:52 เสียง low low น่ารัก ๆ กลับมาอีกครั้ง พาเราเข้าสู่ท่อน Bridge ซึ่งในที่สุดดดด เสียงเบสก็หายไปแล้ว บ้าบอ ไม่ได้ไม่ชอบนะ แต่แค่ไม่คิดว่าจะคีพเสียงเบสมาได้ตลอดไม่หยุดเลยแล้วก็เล่นวนเวียนอยู่ในแพทเทิร์นที่ชวนเวียนหัวได้ยาวนานขนาดนี้ ยอดเยี่ยม พอมาถึงท่อนนี้เลยทำให้เรารู้สึกผ่อนคลาย ล่องลอยจากเสียงต่ำที่หายไป เสียงไว้แค่เสียงลงคอร์ดในช่วงเสียงที่สูงขึ้นมาจาก synthesizer แต่ก็ยังมีเสียงบีตที่ถูก mute เอาไว้เบา ๆ ช่วยในการคงจังหวะให้ momentum ของเพลงไม่ดรอปลงมากจนเกินไป ไหนจะเสียงประสานที่ถูกเพิ่มเสริมเข้ามา มันช่างเหมาะกับเนื้อร้องที่คอยปลอบประโลมเราว่าไม่ต้องหวาดกลัวไปนะ แล้วก็ไม่ต้องอายเลย ฉันอยู่ตรงนี้จุดที่เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจให้กับเธอ ที่รัก

    • แต่ถึงเสียงเบสจะหายไปก็ยังแอบซ่อนไว้ด้วยเสียง synthesizer เสียงนึงที่ทำหน้าที่บรรเลงโน้ตของเบสแบบเดิมเลย แต่อยู่ในช่วงเสียงที่สูงขึ้นมา 1 ช่วงเสียง แม้จะไม่ได้ดังโดดเด่นมากแต่ก็เป็นการรักษาเอาไว้ซึ่งคาแรคเตอร์หลักของเพลงนี้ หรือจะเรียกอีกอย่างว่า ostinato ในทางภาษาดนตรีที่เป็นเสียงเบสซึ่งถูกบรรเลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นจนจบ

    • นาทีที่ 1:59 เป็นการกระโดดขั้นคู่เสียงที่ห่างถึง 1 octave จาก C#4 ไปถึง C#5 แบบไม่ทันได้ตั้งตัวเลยเพราะเล่นมาระหว่างกลาง ไม่ใใช่ช่วงเปลี่ยนผ่านท่อน จากที่กำลังร้องแบบสบาย ๆ ชิล ๆ ก็กลายเป็นการกรีดร้องแสดงออกถึงความไม่เข้าใจ พอบวกกับเสียงบีตต่าง ๆ ที่ถูกเร่งให้ดังขึ้นมันสื่อถึงความสับสนวุ่นวาย ความไม่สงบในจิตใจที่ถูกก่อตัวมากขึ้นเรื่อย ๆ

    • เข้าสู่ช่วงครึ่งหลังของ Bridge เสียงบีตต่าง ๆ ยิ่งรัวเร็ว ถี่ละเอียดมากขึ้น ดังขึ้น ในขณะที่เสียงร้องกลับเอาแต่ไล่ต่ำลงทุกเซ็ต พอมาถึงสองห้องสุดท้ายแนวทำนองลากโน้ตตัว F# ค้าง (♭VII ของ G# Minor อีกแล้ว) บีตกลับลงมาเล่นห่างกัน ให้ความรู้สึกช้าลง แค่นั้นไม่พอยังมีการ extend เพิ่มมาอีก 1 ห้องเพลงเพื่อจะเร่งสปีดขึ้น ดนตรีดรอปเงียบสนิทแล้วก็ ตู้มมมม ท่อนฮุค finale! เป็นการเล่นกับจังหวะ เล่นแพทเทิร์นโน้ตที่ชาญฉลาดจริง ๆ push and pull หลอกคนฟังไปมา เล่นกับอารมณ์แบบขั้นสูงสุด



    • ฮุคสุดท้ายมาพร้อมกับเสียงร้อง low low เป็นแอดลิบแทรกเข้ามา มีการเพิ่มเสียงประสานในช่วงครึ่งหลังสร้างให้เกิดความหลากหลายและมิติที่กว้างขึ้น โดยเฉพาะในนาทีที่ 2:33 จะได้ยินแนวร้องคล้ายกับแอดลิบร้องประสานไปพร้อมกับค่อย ๆ ไล่เสียงลงไปต่ำจนแทบมุดดิน เป็นช่วงที่เรียกได้ว่าเพราะมาก และนำเสนอความเป็น low low ได้อย่างดีเยี่ยม

    • ยัง ยังไม่จบ Outro นี่แสนจี๊ดเลยนะ ถ้าคิดว่าเสียงเบสก่อนหน้านี้ต่ำมากแล้วในท่อนนี้ยังพาเราลงต่ำไปกว่านั้นได้อีก เป็นการลากตัว B ที่ถ้าไม่ได้ฟังเพลงมาก่อนจะแทบไม่สามารถบอกได้เลยว่าโน้ตตัวนี้เสียงอะไรเพราะว่าต่ำเหลือเกิน ต่ำจนหูของมนุษย์แทบจะแยกเสียงออกมาจำกัดโน้ตไม่ได้แล้ว นอกจากเสียงเบสก็จะมีเสียงคล้ายกับ low low ที่น่ารัก ๆ (กวนตีน) ซึ่งถูกเบลนเสียงปรับเปลี่ยนเล็กนอย กับเสียงขลุ่ยที่ยังคงไม่ทิ้งเราไปไหน

    • นาทีที่ 2:42 อยู่ดี ๆ เสียงเบสก็เกิดอาการชักกระตุก เด้งมาโน้ตสูงขึ้นเล็กน้อยแต่ไม่ถึงครึ่งเสียงดี คล้ายกับคนเล่นตกใจสะดุ้งแล้วเผลอมือเขยื้อนไปหน่อยนึงแล้วก็ค่อยสไลด์กลับโน้ตเดิมแบบนั้นเลย ไม่ใช่แค่คนเล่นเบสหรอกนะที่ตกใจ คนฟังเองก็เลยตกใจตามไปด้วย

    • 2:43 มีซาวด์เพิ่มขึ้นมาเต็มไปหมดเลย ไม่ว่าจะเป็นเสียงแหลมสูงที่เล่นโน้ต G# C# D# หรือเสียง synthesizer ในช่วงเสียงกลางที่เล่นโน้ต arpeggio เป็นการไล่คอร์ดที่แยกโน้ตวนไปวนมาไล่ขึ้นลง ซึ่งทั้งสองเสียงนี้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกก็ตอนจบซะแล้ว หลังจากนั้นมีเสียงเอฟเฟคเร่งความดังเข้ามาพาเราไปสู่จุดสิ้นสุดของเพลง Love on the low low, don't keep my love on the low low กับโน้ตเบสตัวสุดท้ายที่ยังคงเป็นปริศนาต่อไปถึงความเป็น dissonance เสียงกัด





      - จบเพลง -




      โครงสร้างของเพลง Low Low

      INTRO                          0:02-0:28

      CHORUS                      0:28-0:29

      VERSE 1                       0:29-0:39

      PRE-CHORUS              0:39-0:50

      CHORUS                      0:50-1:11

      VERSE 2                       1:11-1:21

      PRE-CHORUS              1:22-1:31

      CHORUS                      1:32-1:53

      BRIDGE                       1:53-2:17

      CHORUS                      2:17-2:38

      OUTRO                        2:38-2:53




      บทสรุป


      'แปลก' น่าจะเป็นคำที่เหมาะสมสำหรับเพลงนี้ที่เต็มไปด้วยองค์ประกอบแปลก ๆ ตั้งแต่แนวเบส เสียงขลุ่ยจีน เสียงประสาน ทำนองที่มาเร็ว และอีกสารพัดที่ทางผู้เขียนได้เขียนเอาไว้ ก็ไม่น่าเชื่อจริง ๆ แหละที่คนแต่งคิดจะนำสิ่งแปลก ๆ เหล่านี้มารวมกันแถมยังทำมันออกมาได้ดีมาก และความแปลกนี้เนี่ยแหละที่ทำให้เพลงนี้กลายเป็นเพลงที่น่าจดจำ สร้างความรู้สึกสดใหม่ให้แก่ผู้ฟังที่เมื่อได้ฟังก็รู้สึกได้ถึงความสด เป็นสิ่งที่ไม่ได้คาดคิดว่าจะพบเจอ ทำให้เราตื่นเต้นและสามารถสนุกไปกับทุกอณูของเพลงได้อย่างเต็มที่

    จุดที่ผู้เขียนชอบมากอีกอย่างนึงคือการทำดนตรีออกมาได้สมกับชื่อเพลง low low เสียงเบสที่ต่ำมาก ต่ำจนเชื่อว่าหลายคนอาจจะรู้สึกไม่คุ้นหูเลย ทำนองส่วนใหญ่ของเพลงก็อยู่ในช่วงเสียงกลาง-ต่ำ ไม่บ่อยคตรั้งนักที่จะขึ้นไปเสียงสูง และยังความ keep it low-key คือการที่ใช้องค์ประกอบน้อยชิ้นเมื่อเทียบกับเพลง K-pop อื่น ๆ ซึ่งเน้นการผสม element มหาศาล น้อยแต่มาก น้อยไม่ได้หมายความว่าจะไม่ดี

    แม้เพลงจะมีความยาวไม่ถึง 3 นาที (อีกแล้ว) แต่ก็รู้สึกว่ากำลังพอดี จากการที่เพลงตัดท่อนต่าง ๆ ให้สั้นลงค่อนข้างมาก เพิ่มปริมาณท่อนฮุคที่มีถึง 4 รอบแถมท่อนฮุคเองก็ค่อนข้างยาวเมื่อเทียบกับท่อนอื่นในเพลง นั่นทำให้เพลงบาลานซ์กำลังดี ไม่ขาดไม่เกิน ถือว่าเป็นอีกเพลงที่ผู้เขียนเองก็คงจะเอาขึ้นหิ้งบูชาให้กับความเจ๋งที่มาจากน้ำมือและความคิดสร้างสรรค์ของผู้แต่ง รวมไปถึงความเก๋าของศิลปินที่สามารถเอาอยู่กับสไตล์เพลงที่แตกต่างไปจาก WayV อย่างสิ้นเชิง ขอชื่นชม



    อ่านจบแล้วอย่าลืมกดดู MV เพลง Low Low อีกรอบด้วยนะ!




    • อ่านบทความวิเคราะห์ดนตรีเพลงอื่น ๆ Click
    • อ่านบทความความรู้เรื่องดนตรีในวงการ K-pop Click
5.4k Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in