เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
Movies & TV Series in my viewVaSiMo
สงสัย(again) : ทำไมละครจีนต้องพากย์เสียงทับทั้งที่ คนแสดงก็พูดแมนดาริน?
  • ไปไงมาไง?

    อาการสงสัยไปเรื่อยมาอีกแล้ว หลังจากที่อยู่ๆก็นึกถึงอดีตยุควงการไต้หวันมาแรง ช่วงประมาณ
    ปี 2003 - 2008 (รู้เลยว่าแก่แล้ว 5555) ก่อนจะค่อยๆหายไป
    ทำให้กลับไปดูซีรี่ส์ It started with a kiss (2005) ที่มีรีเมคเป็นของประเทศนั้นประเทศนี้มากมาย
    แต่ส่วนตัวรู้สึกว่าเวอร์ชั่นนี้เป็นเวอร์ชั่นที่ดีที่สุด ผ่านไป 10 กว่าปีแล้ว
    กลับมาดูใหม่ก็ยังรู้สึกดีเหมือนเดิม
    แบบที่สามารถมองข้ามความเด๋อของโปรดักชั่นและยุคสมัยที่โทรศัพท์จอสียังเป็นของใหม่ไปได้ 5555
    เลยไปลองตามหาต่อว่าพระเอกที่เราเคยชอบในตอนนั้น ตอนนี้เป็นยังไงบ้างไม่ได้ตามข่าวนานมากแล้ว
    จากนั้นก็พบว่าเดี๋ยวนี้พี่ในวัย 36 ก็ยังหล่อเหมือนเมื่อ 10 กว่าปีก่อนเลย TTvTT
    (ไม่ต้องสงสัย คนในรูป Cover นั่นไง >///< )
    แต่เดี๋ยวนี้ดูเหมือนว่าฐานการทำงานหลักจะย้ายไปอยู่ที่จีนแผ่นดินใหญ่แล้ว
    แล้วผลงานใหม่ๆล่ะ เป็นยังไงบ้าง?
    เราก็ตามไปเจองานใหม่ๆของเขาที่เป็นซีรี่ส์แนวกำลังภายใน แฟนตาซี ย้อนยุค
    แต่ว่าทำไมเสียงพูดไม่คุ้นเลย
    ปรากฎว่าเสียงนักแสดงถูกพากย์ทับ เราไม่เข้าใจว่าทำไมเสียงเขาต้องโดนพากย์ทับ
    ทั้งที่ปากก็ตรงคำพูด จีนแผ่นดินใหญ่ก็พูดจีนกลางแมนดารินไม่ใช่เหรอ?
    ซึ่งพอสังเกตดีๆ กลายเป็นว่าทุกคนในเรื่องถูกพากย์เสียงทับหมดทุกคน
    จะเป็นได้เหรอที่นักแสดงไม่มีใครพูดชัดจนต้องพากย์เสียงทับทั้งหมด ขนาดนั้นเชียวเหรอ?
    (แต่จากที่ลองไปหาเรื่องอื่นเปรียบเทียบ บางเรื่องก็ไม่โดนพากย์ทับทั้งหมดแบบนี้)

    ตัวอย่าง ที่พอสังเกตแล้วพบว่าทุกคนโดนพากย์เสียงทับหมดเลย

    เนื่องจากความไม่คุ้นเคย จากที่เราดูหนังหรือซีรี่ส์จากตะวันตกทั้งหมด
    แม้ว่านักแสดงจะเป็นคนชาติไหน สำเนียงเดิมจะถนัดพูดอะไรก็ตาม
    แต่ถ้าบทบาทที่รับต้องเปลี่ยนไปพูดภาษาในสำเนียงที่ไม่ถนัด เขาก็เปลี่ยนได้
    หรือถ้าทำไม่ได้ก็คงไม่ได้บทนั้นไปตั้งแต่แรก
    เช่น นักแสดงชาวไอริช ถึงจะพูดติดสำเนียงไอริชในเวลาปกติ จนเวลาสัมภาษณ์เราแทบจะฟังเขาพูดไม่รู้เรื่อง แต่เวลาไปเล่นหนังฝั่งอเมริกาก็สามารถพูดสำเนียงอเมริกันได้จนเราแทบไม่รู้เลยด้วยซ้ำว่า
    ตกลงจริงๆแล้วเขาเป็นคนจากไหนกันแน่
    พอมาเจอเสียงพากย์ทับแบบนี้เลยรู้สึกขัดๆ รู้สึกขัดมากกว่าการใช้เสียงพากย์ภาษาไทยซะอีก
    ซึ่งในกรณีนี้ก็รู้สึกว่ามันไม่ใช่แบบเดียวกัน เราที่เคยชินและคิดว่าการแสดงที่สมบูรณ์และเป็นธรรมชาติ
    ควรให้นักแสดงใช้ความสามารถของตัวเองทั้งหมด นอกเหนือจากการแสดงความรู้สึกทางสีหน้า แววตา ท่าทางแล้ว เสียงพูดก็สำคัญมาก

    เพราะไม่เข้าใจและคิดว่าคนต่างชาติที่ไม่ได้อยู่ในวงการจีนหรือภาษาจีนอย่างเรา
    ต้องมีคนสงสัยเหมือนกัน เลยลองหาคำตอบว่ามีเหตุผลอะไรบ้าง 
    ที่ทำให้เราไม่ได้ฟังเสียงจริงของนักแสดง ในหนังหรือซีรี่ส์จีนจากแผ่นดินใหญ่

    *** ทั้งหมดที่ค้นหาคำตอบส่วนมากมาจากข้อมูลภาษาอังกฤษ เพราะเราอ่านภาษาจีนไม่ได้
    และไม่อยากใช้โปรแกรมแปลภาษาเนื่องจากกลัวความผิดพลาดในการแปล ดังนั้นหากมีข้อมูลที่ถูกต้องเพิ่มเติม หรือผู้ที่มีความรู้โดยตรง สามารถคอมเมนท์เพื่อแก้ไขได้เลยนะคะ ขอบคุณมากค่ะ

    เหตุผลที่ต้องพากย์เสียงทับ

    จากที่ไปลองหาคำตอบและรวบรวมข้อมูลมา การพากย์เสียงทับเป็นไปได้จากหลายสาเหตุเหมือนกัน 

    1. สาเหตุจากการถ่ายทำ

    เหตุผลทางเทคนิคที่สุด คือเงื่อนไขของการถ่ายทำ สำหรับการถ่ายทำที่มีเสียงรบกวนมาก เช่น 
    ฉากที่เซ็ตในสถานที่ท่องเที่ยวโบราณ ที่กองถ่ายจำเป็นต้องใช้โลเคชั่นนั้น แต่ไม่สามารถหยุดเสียง
    จากนักท่องเที่ยวไม่ให้เข้ามาแทรกปนในการถ่ายทำได้ หรือการถ่ายในที่โล่งกว้าง แบบฉากลานกว้าง-ขนาดใหญ่ที่เห็นๆกันในซีรี่ย์ย้อนยุค อิงประวัติศาสตร์ฟอร์มยักษ์ ที่อาจมีเสียงรบกวนจากธรรมชาติหรือลำบากต่อการให้นักแสดงพูดเองในฉากเป็นต้น

    2. สำเนียงที่แตกต่าง

    เพราะไม่มีความรู้อย่างละเอียดด้านภาษาจีน เรารับรู้มาตลอดว่า ภาษาจีนกลาง หรือ แมนดาริน
    ที่มักใช้ในแผ่นดินใหญ่ ไต้หวัน สิงคโปร์ มาเลเซีย คือภาษาเดียวกันและคงไม่ได้แตกต่างกัน
    แต่จริงๆถึงจะใกล้เคียงกันมากก็มีความแตกต่างกัน คล้าย British English กับ American English เลย
    อาจจะเพราะเราไม่เคยเรียนภาษาจีน และไม่คุ้นเคยจนจับความแตกต่างของสำเนียงของแต่ละที่ได้
    (จริงๆภาษาอังกฤษเองก็ใช้เวลานานกว่าจะคุ้นเคยและฟังสำเนียงแล้วพอจะแยกสำเนียงออกเหมือนกัน)
    ซึ่งความสงสัยที่ว่าพระเอกชาวไต้หวันของเรา ทำไมไปเล่นละครแผ่นดินใหญ่แล้วโดนพากย์เสียงทับ
    นั่นก็เพราะว่าสำเนียงแบบไต้หวันต่างกับสำเนียงแมนดารินมาตรฐาน หรือ Standard Chinese เล็กน้อย
    มีคำตอบนึงในเว็บบอร์ดตอบว่าคงฟังดูผิดยุคสมัย หากว่าสำเนียงที่ใช้ไม่เป็นสำเนียงมาตรฐาน
    แบบแผ่นดินใหญ่แต่ซีรี่ส์ที่แสดงนั้นเป็นซีรี่ส์ย้อนยุค มันคงจะดูไม่เข้ากันจึงต้องพากย์ทับให้เข้ากัับบริบท
    อันนี้เข้าใจได้สำหรับคนที่ใช้ภาษาจนคุ้นเคย ไต้หวันก็เหมือนประเทศเกิดใหม่ ถ้าเป็นบริบทย้อนยุค
    แบบกำลังภายในหรือมีเรื่องอาณาจักรโบราณมาเกี่ยวข้องแล้วเผลอติดสำเนียงออกไป
    คงเหมือนหนังหรือซีรี่ส์ที่เซ็ตในยุคอัศวินแล้วคนเล่นพูดสำเนียงอเมริกันออกไปคงไม่ดี

    เพราะจากที่สังเกต จริงๆก็มีแต่ซีรี่ส์ย้อนยุคที่มักจะโดนพากย์เสียงทับ ส่วนซีรี่ส์หรือหนังที่เซ็ตในปัจจุบันก็ไม่ได้ถูกพากย์เสียงทับอะไร ยกเว้นแต่ตัวละครที่ไม่ได้พูดภาษาจีนแต่ต้องเล่นเป็นคนจีน

    ตัวอย่าง นาทีที่ 1.43 - 2.30 เสียงจริงจากตัวละครหลักในคลิปข้างบนที่โดนพากย์ทับไป

    ภาษาจีนกลางหรือแมนดารินแบบแผ่นดินใหญ่และแบบไต้หวันนั้นคล้ายกันมาก สามารถใช้สื่อสารกันได้
    ไม่ค่อยมีปัญหา แต่ก็มีความแตกต่างบางอย่าง เช่น การออกเสียง z s c แบบไต้หวัน แต่แผ่นดินใหญ่
    จะออกเสียง zh sh ch การเน้นเสียงในคำที่ต่างกัน หรือคำศัพท์บางคำที่ให้ความหมายต่างกัน
    อย่างคำว่า บริกรหญิง สามารถใช้ในไต้หวันได้ แต่ไม่ควรใช้ในแผ่นดินใหญ่
    เพราะจะหมายถึงหญิงให้บริการ เป็นต้น


    อีกอย่างที่เราได้ความรู้ใหม่จากเรื่องนี้ ในฐานะที่ได้เคยเรียนภาษาจีนมาก่อน คือ ภาษาเขียน
    แบบแผ่นดินใหญ่กับแบบไต้หวันก็แตกต่างกัน พึ่งรู้ว่าเวลาใช้ Google Transtale เวลาเลือกภาษาจีน
    จะมีให้เลือก ภาษาจีนแบบย่อ กับ ภาษาจีนแบบดั้งเดิม แต่ไม่เคยสงสัยเลยว่ามันต่างกันยังไง
    ภาษาจีนแบบดั้งเดิม (Traditional Chinese characters)
    ใช้ในไต้หวัน และฮ่องกง มาเก๊า ช่วงก่อนที่จะถูกส่งคืนแผ่นดินใหญ่
    (พอรวมกันแล้วก็เริ่มมีกฎออกมาให้ใช้อักษรตามแบบภาษาจีนแบบย่อแทน) 

    ภาษาจีนแบบย่อ (Simplified Chinese characters)
    เป็นอักษรแบบที่ง่ายกว่าแบบดั้งเดิม ซึ่งในยุคโบราณถูกห้ามใช้ จนถึงช่วงปี 1900 
    ได้มีแนวคิดที่จะเสนอให้เปลี่ยนจากการใช้อักษรแบบดั้งเดิมมาเป็นแบบย่อ
    เพื่อให้ง่ายต่อการเรียนและเพิ่มอัตราการรู้หนังสือของคนในประเทศ แต่ไม่ทันจะได้เสนอแนวคิด
    ก็เกิดการปฎิวัติระบบการปกครองด้วยราชวงศ์ไปซะก่อน 
    หลังจากนั้นรัฐบาลจีน ตั้งแต่ช่วงปี 1950 (ซึ่งเป็นคอมมิวนิสต์ไปแล้ว)
    ก็นำเอาอักษรแบบย่อมาประกาศใช้อย่างเป็นทางการ
    รวมไปถึงการเริ่มต้นใช้ระบบแทนเสียงแบบพินอิน
    เพื่อให้ภาษาจีนแบบย่อเป็นมาตรฐานสำหรับภาษาจีนในแผ่นดินใหญ่
    ซึ่งช่วงหลังประเทศที่มีชุมชนชาวจีนขนาดใหญ่ มีภาษาจีนเป็นภาษาสำคัญของประเทศ
    อย่าง สิงคโปร์ มาเลเซีย ก็ปรับรูปแบบการใช้ภาษาจีนของตัวเองให้เป็นแบบย่อด้วยเช่นกัน
    รวมไปถึงรณรงค์การพูดด้วยสำเนียงแมนดารินมาตรฐาน ซึ่งเรียกว่า Putonghua (แบบสำเนียงปักกิ่ง)
    ซึ่งน่าจะส่งผลดีต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและด้านเศรษฐกิจกับมหาอำนาจอย่างแผ่นดินใหญ่

    3. ข้อกำหนดด้านการใช้ภาษาในสื่อโทรทัศน์และวิทยุของจีน

    ในจีนหน่วยงาน The State Administration of Radio, Film and Television (SARFT) ซึ่งทำหน้าที่ตรวจสอบ ควบคุมเนื้อหา และความเหมาะสมของสื่อทุกประเภท ทั้ง วิทยุ สื่อโทรทัศน์ 
    (ทั้งที่เป็นทีวีสาธารณะและดาวเทียม) ภาพยนต์ และอินเตอร์เน็ต ซึ่งในปี 2009 SARFT 
    ออกประกาศเพื่อให้สื่อโทรทัศน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งซีรี่ส์หรือหนังย้อนยุคให้ออกอากาศ
    โดยใช้ภาษาจีนแมนดารินมาตรฐาน (Putonghua) เป็นหลัก ซึ่งดูเหมือนเป็นการขอความร่วมมือ
    เพื่อสนับสนุนนโนบายของรัฐ ในการรณรงค์ใช้ภาษาจีนแมนดารินมาตรฐานในเมืองใหญ่ทั่วประเทศ
    เพื่อให้เป็นภาษาหลักของประเทศ (ซึ่งยกเว้นให้กับสื่อของบางกลุ่มชาติพันธุ์)
    จากที่ทราบกันว่าจีนนั้นกว้างมาก สำเนียงและภาษาจีนก็มีมากมายตามท้องถิ่นเช่นกัน
    ซึ่งนี่อาจจะเป็นเหตุผลนึงที่ทำให้ผู้ผลิตซีรี่ส์ย้อนยุคบางเรื่องเลือกที่จะพากย์เสียงทับตัวละครทั้งหมด
    อาจจะเป็นการสนับสนุนนโยบายของรัฐ หรือเพื่อลดปัญหาในการถูกตรวจสอบจาก SARFT ก็เป็นได้ 

    ผลจากการโปรโมทการใช้ภาษาจีนแมนดารินมาตรฐาน (Putonghua) ในบางท้องที่
    เช่น ในกวางโจว (Guangzhou) เมืองหลักของมณฑลกว้างตุ้ง ซึ่งใช้ภาษากวางตุ้งกันมาตลอด
    ในปี 2010 มีการประท้วงของคนในเมืองเนื่องจาก คณะกรรมการสภาที่ปรึกษาทางการเมืองแห่งชาติ (Chinese People's Political Consultative Conference : CPPCC) ของมณฑลกว้างตุ้ง
    ได้ยื่นหนังสือถึงนายกเทศมนตรีเมืองขอให้สถานีทีวีท้องถิ่น Guangzhou TV
    เปลี่ยนไปใช้จีนแมนดารินมาตรฐานเป็นหลักในการออกอากาศรายการต่างๆ แทนภาษากวางตุ้ง
    สร้างความไม่พอใจให้กับชาวเมืองจนออกมาประท้วงหลายพันคน แม้สุดท้ายในกรณีนี้
    รัฐบาลท้องถิ่นจะเพิกถอนคำขอไปและกลับไปใช้ภาษากวางตุ้งเหมือนเดิม เพื่อรักษาภาษากวางตุ้ง
    ซึ่งเป็นอัตลักษณ์ท้องถิ่นไว้ แต่เรื่องนี้ก็เป็นจุดเริ่มต้นของความอ่อนไหวของประชาชนที่มีต่อนโยบายสนับสนุนการให้ภาษาหลักอย่างกว้างขวางนี้ไปโดยปริยาย
    แต่ก็มีข่าวเมื่อปี 2014 ในกรณีของ Guangdong TV (คนละช่องกัน) ซึ่งออกอากาศในมณฑลกวางตุ้งและใช้ภาษากวางตุ้งเป็นหลัก ได้ค่อยๆเปลี่ยนภาษาในเว็บไซต์หลักของช่อง และเริ่มเปลี่ยนรายการ
    ที่เดิมใช้ภาษากวางตุ้งไปเป็นภาษาจีนแมนดารินมาตรฐานแทน อย่างเงียบๆ
    รวมไปถึงในหลายโรงเรียนในมณฑลทางใต้ของจีนซึ่งใช้ภาษากวางตุ้ง ก็เริ่มเปลี่ยนภาษาที่ใช้
    ในการเรียนการสอน ไปเป็นภาษาจีนแมนดารินมาตรฐานแทนภาษากวางตุ้งเช่นกัน
    และในบางโรงเรียนเข้มงวดถึงขั้นไม่อนุญาติให้นักเรียนใช้ภาษากวางตุ้งนอกเวลาเรียน
    ซึ่งถ้าครูรู้ก็จะถูกทำโทษ ทำให้มีเสียงวิจารณ์ว่าออกจะเกินกว่าเหตุไปหน่อยในการเอาใจรัฐบาล
    หรือแม้แต่ในฮ่องกง ซึ่งปัจจุบันเด็กรุ่นใหม่มักจะไม่ได้เรียนภาษากวางตุ้งในโรงเรียนแล้ว
    จนเกิดมีความกังวลว่าซักวันภาษาและสำเนียงกวางตุ้งจะหายไปเพราะไม่มีการเรียนการสอน
    เหมือนกันสำเนียงแบบเซี่ยงไฮ้ ซึ่งประสบปัญหานี้ไปก่อนแล้ว
    จนกลายเป็นสำเนียงที่เด็กรุ่นใหม่พูดได้น้อยลงทุกวัน

    จริงอยู่ที่การใช้ภาษาเดียวกันจะเป็นประโยชน์ต่อการปกครองในเชิงพื้นที่ โดยเฉพาะจีนซึ่งมีอาณาเขตพื้นที่กว้าง เช่นกันกับความหลากหลายของประชากร และความสำคัญของอัตลักษณ์ท้องถิ่น
    ยังคงเป็นปัญหาที่ท้าทายสำหรับรัฐบาลจีน รวมถึงประชากรในพื้นที่นั้นๆต่อไป

    ทำไมการพากย์เสียงทับไปซะอาจจะเป็นการแก้ปัญหาที่ดีที่สุด

    อาจเป็นไปได้ว่าการใช้เวลาหานักแสดงที่เหมาะสม มีชื่อเสียงและสามารถการันตีความสำเร็จของหนังหรือซีรี่ส์ได้ อาจไม่ทันต่อความต้องการของผู้ชมและการแข่งขันในตลาด
    ช่วงปี 2010 - 2015 อุตสาหกรรมสื่อบันเทิงในจีนเติบโตถึง 17%  (ข้อมูลจาก)
    รวมทั้งมีแนวโน้มเติบโตขึ้นเรื่อยๆในอนาคต

    กราฟ 1 : มูลค่าตลาดสื่อและบันเทิงในจีน ปี 2011 - 2015 และคาดการณ์มูลค่าปี 2016 - 2020
     (หน่วย : 1 พันล้าน USD) ข้อมูลจาก statista.com

    ผลมาจากเศรษฐกิจจีนที่กำลังสดใส รายได้ของคนในประเทศเพิ่มสูงขึ้น
    การพัฒนาเศรษฐกิจที่ขยายออกไปสู่เมืองขนาดรอง การเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์และการรวมกลุ่มธุรกิจ
    รวมไปถึงการเข้าถึงสื่อและอินเตอร์เน็ทได้ง่ายและที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของคนในประเทศ

    กราฟ 2 : เปอร์เซ็นต์ผู้ใช้บริการเว็บไซต์/แอพลิเคชั่น Video on Demand 3 บริษัทใหญ่ของจีน
    ในช่วงปี 2014 - 2108 และคาดการณ์การเติบโตปี 2019
     (ข้อมูลจาก emarketer.com)

    จากกราฟจะเห็นได้ชัดว่าการผลิตสื่อออนไลน์เติบโตขึ้นอย่างมาก จากการเข้าถึงอินเตอร์เน็ต
    หรือการใช้สมาร์ทโฟนอย่างกว้างขวาง ทั้ง 3 บริษัทผลิตซีรี่ส์ฉายในช่องทางของตัวเอง
    ซึ่งจากข่าวล่าสุด iQiyi ซึ่งมีเปอร์เซ็นต์การเติบโตสูงสุดใน 3 บริษัทข้างต้น ในปี 2017 
    เป็นเพียงเจ้าเดียวที่ได้ลิขสิทธิ์การฉายซีรี่ส์จาก Netflix ในจีน และหนังจากค่าย Lions Gate 
    รวมไปถึงมีแผนจะเปิดโรงหนังในเครือของตัวเองในอนาคตอีกด้วย 
    (ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของ iQiyi คือ Baidu บริษัท Search Engine รายใหญ่ชื่อดังของจีน 
    ซึ่ง iQiyi สามารถทำรายได้ให้กับ Baidu ได้ถึง 15% )
    (ข้อมูลจาก 
    brandinside.asia)


    จากคำถามว่าทำไมต้องพากย์เสียงทับนักแสดงที่พูดภาษาเดียวกัน ในการแก้ปัญหาด้วยทางเลือกอื่นๆ 
    เช่น อาจไม่สะดวกหากต้องมีการพากย์เสียงแก้ไข นักแสดงอาจจะไม่มีเวลาว่างพอ 
    หรือความต้องการตลาดนั้นทำให้นักแสดงต่างประเทศที่มีชื่อเสียงจากสื่อต่างประเทศในจีนมาก่อน 
    ก็มีแนวโน้มที่จะสามารถไปอยู่ในอุตสาหกรรมนี้ได้ ด้วยการพากย์เสียง ซึ่งก็มีนักแสดงไทยหลายคนแล้ว
    ที่ไปเล่นละครจีน แต่ในอีกแง่หนึ่งก็ช่วยให้สายอาชีพนักพากย์ยังสามารถคงอยู่ต่อไปได้
    เนื่องจากยังมีความจำเป็นต่ออุตสาหกรรมนี้พอสควร

    ดังนั้นจึงอาจเป็นไปได้ที่การผลิตที่รวดเร็วทันต่อความต้องการตลาดที่เพิ่มสูงขึ้น รวมไปถึงการแข่งขันนั้นมีความสำคัญต่ออุตสาหกรรมนี้ จึงอาจทำให้การพากย์เสียงทับเป็นวิธีที่สะดวก รวดเร็ว 
    และอาจจะช่วยประหยัดต้นทุนในการผลิตได้ดีที่สุดก็เป็นได้

    ---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

    ขอบคุณที่ทนอ่านจนจบเช่นเคยค่ะ ครั้งนี้ก็เหมือนเดิมจากที่พยายามหาคำตอบ
    (ซึ่งก็ดูเหมือนว่าคำตอบที่ได้อาจจะเป็นแค่ความเป็นไปได้หนึ่ง อาจไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้อง 100%)
    ก็ลงลึกไปถึงเรื่องนั้นเรื่องนี้ที่เกี่ยวข้อง แต่ก็รู้สึกว่ามันน่าสนใจ มีหลายเรื่องอีกที่ไม่เคยรู้มาก่อน
    อย่างเรื่องภาษานี่ตื่นเต้นที่ได้รู้จริงๆ ทำให้รู้สึกว่าเรื่องการเมือง วัฒนธรรม สังคม 
    มันส่งผลต่อวิถีชีวิตของคนเรามากกว่าที่คิด ประวัติศาสตร์และความยิ่งใหญ่ยาวนานของจีน
    มันลึกลับซับซ้อนมากจริงๆ จนรู้สึกว่าอ่านไปอ่านมาชักไปไกลเกิน ต้องโฟกัสซักเรื่อง ไม่งั้นไม่จบ 
    ไม่ได้ทำการทำงาน 55555555 รวมทั้งในช่วง 10 ปีมานี้ จีนก็เปลี่ยนไปมากจริงๆ 
    มีการพัฒนาที่ก้าวกระโดดและน่าจับตามองมาก หลายๆโปรเจ็คของจีนในช่วงนี้ 
    ซึ่งไม่แน่ว่าในอนาคตอาจจะมีผลต่อเศรษฐกิจโลกก็ได้ (ไม่ทางบวกก็ทางลบ อย่างใดอย่างหนึ่ง)
    หากมีข้อผิดพลาดตรงจุดไหนต้องขออภัยด้วยนะคะ หากมีข้อมูลต้องแก้ไขเพิ่มเติมตรงไหน
    สามารถแนะนำได้เลย ขอบคุณมากค่ะ


    อ้างอิง 

    Why Mainland always dubbed their series?
    ภาษาจีนกลาง
    อักษรจีนตัวเต็ม
    อักษรจีนตัวย่อ
    Simplified Chinese characters
    Traditional Chinese characters
    Taiwanese Mandarin
    Juliana Liu Cantonese v Mandarin : When Hong Kong languages get political
    SARFT
    State Administration of Radio,Film and Television

    What languages have been approved by SARFT for use?
    Nathan Jubb - Q&A With Voice Artist on Why Dubbing Will Never Die
    Guangzhou Television Cantonese controversy
    http://dsj.sarft.gov.cn/article.shanty?id=012296fb5e0b004f402881a122874887
    SpeakMandarin Campaign
    Shanghainese
    Andy Boreham - The Life and Death of Shanghainese
    GuangdongTV news channel quietly changing from Cantonese to Putonghua
    RobStarr - Ernst & Young: Chinese media and entertainment industry continuesto grow
    statista.com
    AlanLau - Succeeding in China’s online video market
    China'sSubscription OTT Video Market Is Booming
    iQiyi
    iQiyi สตรีมมิ่งวิดีโอที่รู้จักกันในนาม“Netflixจีนยื่นเอกสาร เตรียม IPO ในตลาดหุ้นอเมริกา
    iQiyi หรือเทียบได้กับ Netflix ของจีนเปิดโรงหนังของตัวเอง นำหนังที่สตรีมมาลงฉาย
    มองการลงทุนไกลถึงจีนแผ่นดินใหญ่ ทำความรู้จัก 3 บริษัทเทคโนโลยีจีนชื่อดังที่กำลังจะIPO
    สภาที่ปรึกษาทางการเมืองแห่งชาติ
    สภาที่ปรึกษาทางการเมืองของจีน
Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in
nmaay2 (@ms.trixie)
เคยสงสัยเหมือนกันค่ะ ได้ความรู้เยอะมากเลย ขอบคุณมากนะคะ
VaSiMo (@VaSiMo)
@ms.trixie ขอบคุณเช่นกันค่ะ?