เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
Movies & TV Series in my viewVaSiMo
ด้วยความสงสัย : ทำไมซีรีส์เกาหลีปี 2017 ถึงมีแต่ "อัยการ"

  •             จากการที่ปีนี้ได้ดู Secret Forest (Stranger) ทาง Netflix แล้วชอบมาก เนื่องจากรู้สึกว่าเรื่องนี้
    ไม่เหมือนซีรี่ส์เกาหลีเรื่องอื่นๆ เป็นซีรี่ส์สืบสวนอาชญากรรมอย่างจริงจัง ที่ถึงแม้ตัวเอกจะเป็นอัยการ
    แต่ฉากใส่ครุยขึ้นว่าความในศาลนั้นน้อยจนแทบนับฉากได้ ความหนักแน่นของเรื่องราวที่ดูใกล้เคียงความจริง รวมไปถึงประเด็นการคอรัปชั่นที่เข้มข้น พร้อมเรื่องราวที่ซับซ้อนและบรรยากาศไม่น่าไว้ใจ  อีกอย่างคือทั้งเรื่องแทบไม่แตะประเด็นดราม่าของตัวละครที่มักทำให้เรื่องเยิ่นเย้อ และเรื่องโรแมนติกกุ๊กกิ๊กที่พาลจะทำให้รำคาญใจนั้นแทบไม่มีให้เห็น ยิ่งทำให้เราชอบมากๆ

               แต่เนื่องจากเราไม่ค่อยได้ดูซีรี่ส์เกาหลี นานๆดูทีซักเรื่อง จึงมารู้ทีหลังว่าปี 2017 มีซีรี่ส์เกาหลีที่มีตัวเอกเป็นอัยการหลายเรื่องมากๆ จากประทู้ในพันทิป ทำให้เราสงสัยว่าทำไม? 


    ในประเทศเขามีประเด็นอะไรเกี่ยวกับอาชีพนี้กันเหรอ?

    ข้อความจาก : "Stranger' deals with corruption within justice system". 
    The Korea Herald. 31 May 2017.

    หลังจากที่กลับไปอ่านข่าวต่างๆเกี่ยวกับ Secret Forest ก็เจอความเชื่อมโยงถึง 
    "การปฏิรูปอัยการ" ของปธน.คนปัจจุบัน ดังนั้นเลยอยากจะรู้ซักหน่อยว่า
    ทำไมจึงต้องปฏิรูป แล้วเรื่องพวกนี้เกี่ยวข้องกับซีรี่ส์ที่เราดูกันยังไงหรือเปล่านะ 

    (หมายเหตุ : ข้อมูลที่เขียนนี้ได้จากข่าวและบทความที่มาจากการสืบค้น เราไม่ได้เรียนจบหรือทำงาน
    ในสายงานกฎหมายหรือรัฐศาสตร์โดยตรง ดังนั้นหากมีส่วนไหนผิดพลาด ก็ขออภัยไว้ล่วงหน้าด้วย
    สามารถคอมเมนท์หรือติเพื่อแก้ไขข้อมูล เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องได้เลยนะคะ ขอบคุณมากค่ะ)

    - - - - - - - - - -

    ความต้องการปฏิรูประบบงานอัยการ
    ภายใต้รัฐบาลปธน.มุน แจอิน


                แน่นอนที่ไม่ว่าจะในประเทศไหนๆ การคอรัปชั่นในระบบราชการนั้นก็ัยังคงมีอยู่เสมอ
    ในเกาหลีใต้ก็เช่นกัน จากอำนาจของอัยการซึ่งมีอิทธิพลต่อนักการเมือง ข้าราชการระดับสูง และบริษัทยักษ์ใหญ่ในประเทศ รวมไปถึงข่าวการคอรัปชั่นของอดีตปธน.ปาร์ค กึน เฮ  ทำให้รัฐบาลปัจจุบันภายใต้
    การบริหารของปธน.มุน แจอิน ที่มีนโยบายเน้นความโปร่งใสและการปราบปรามคอรัปชั่น
    ซึ่งใน Key Policy Tasks ได้ระบุเรื่องการแก้ไขอำนาจหน้าที่ของระบบงานอัยการไว้ด้วย 
    โดยมีการเสนอแผน ได้แก่
    • การตั้งองค์กรอิสระสำหรับการดำเนินคดีทุจริตของข้าราชการระดับสูงโดยเฉพาะ
    • การถ่ายโอนอำนาจการสืบสวนคดีจากพนักงานอัยการไปที่ตำรวจให้มากขึ้น
    • การเพิ่มความเป็นกลางและความเป็นอิสระในการแต่งตั้งตำแหน่งต่างๆในสำนักงานอัยการ
      โดยใช้อำนาจจากคณะกรรมการอิสระ
    • เพิ่มระบบตรวจสอบความโปร่งใสจากภายนอก
    • ป้องกันการใช้อำนาจตรวจสอบของอัยการที่ไม่เป็นธรรม

    นอกจากนี้ในปธน.มุน ยังมีการวางตำแหน่งสำคัญที่แสดงถึงความพยายามในการปฏิรูปอีก เช่น

    • การแต่งตั้งตำแหน่งหัวหน้าอัยการเขต Seoul Central ซึ่งตามข่าวบอกว่าเป็นตำแหน่งสำหรับ
      รอการขึ้นเป็นอัยการสูงสุดในอนาคต โดยผู้ที่ได้รับมอบหมายนี้ (Yoon Seok-youl) ซึ่งก่อนหน้านี้เคยเป็นหัวหน้าทีมสืบสวน*คดีทุจริตของ อดีตปธน. ปาร์ค กึนเฮ จากที่เคยถูกย้ายตำแหน่งไปอยู่ต่างจังหวัดหลายครั้งในสมัยรัฐบาลอดีตปธน. เนื่องจากการทำหน้าที่ตรวจสอบคดีทุจริต
      ที่เกี่ยวข้องกับตำแหน่งปธน.
    ( * ทีมสืบสวนดำเนินการโดยทีมสืบสวนอิสระที่ตั้งขึ้นใหม่ หลังจากดำเนินการโดยสำนักงานอัยการเขต Seoul Central มาก่อน )
    • การแต่งตั้งตำแหน่งเลขาธิการอาวุโสของประธานาธิบดีด้านกิจการพลเรือน (Senior Secretary for Civil Affairs) ซึ่งเป็นตำแหน่งที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมดูแลสำนักงานอัยการ โดยที่ผ่านมาตำแหน่งนี้มักถูกวางให้กับคนที่เคยมีตำแหน่งที่เกี่ยวข้องกับระบบงานอัยการหรือแม้แต่
      อดีตอัยการระดับสูงเอง ดังนั้นในรัฐบาลชุดนี้จึงแต่งตั้งตำแหน่งนี้ให้กับอาจารย์กฎหมาย
      จากม.โซลแทน นอกเหนือจากคุณสมบัติในความรู้ทางกฎหมายและความสนใจในการปฏิรูประบบอัยการแล้ว การแต่งตั้งคนที่ไม่เกี่ยวข้องกับคนในสายงานอัยการโดยตรงนั้นอาจจช่วยให้เกิดผลดีต่อการปฏิรูป

    (หมายเหตุ : ตำแหน่ง Senior Presidential Secretary ของทำเนียบประธานาธิบกีเกาหลีใต้ มีหน้าที่หลักในการดำเนินนโยบายสำคัญต่างๆของรัฐบาลและทำงานใกล้ชิดประธานาธิบดี ตำแหน่งสามารถปรับเพิ่มลดจำนวนได้ตามการให้ความสำคัญของนโยบาย
    ของแต่รัฐบาลและแบ่งแยกส่วนงานรับผิดชอบตามแต่ประธานาธิบดีกำหนด ดูคล้ายๆกับตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีของไทย)

    คดีทุจริตของอดีตปธน.ปาร์ค กึนเฮ
    และความเกี่ยวข้องกับอัยการ

    Photo: JUNG YEON-JE / AFP
                    อดีตปธน.ปาร์ค กึนเฮ ขณะดำรงตำแหน่งนั้นมีข่าวฉาวเกิดขึ้นหลายครั้ง เช่น ข้อสงสัยต่อ
    การปฏิบัติหน้าที่จากเหตุการณ์เรือเซวอล และะการเข้าไปพัวพันกับการทุจริตของคนสนิท (นางเชว ซุนซิล)  โดยในท้ายที่สุดก็ถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งจากมติของรัฐสภา

              รวมไปถึง คดีสินบนของรองประธานบริษัท Samsung Electronics จากการโอนเงินเข้าองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรของนางเชว ซุนซิล จำนวน 46 ล้านวอน (ประมาณ 36.3 ล้าน USD) เพื่อแลกกับการสนับสนุนจากภาครัฐในการควบรวมบริษัท 
                    โดยคดีนี้ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของ Samsung Electronics อย่างมาก  หลังจากเป็นข่าว
    ก็สร้างความปั่นป่วนให้กับตลาดหุ้น เนื่องจากการเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ในกลุ่ม Chaebol* ซึ่งเป็นรากฐานเศรษฐกิจของประเทศ  

    (*Chaebol คือ กลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ที่ทรงอิทธิพลทางการค้าและการลงทุนในประเทศเกาหลีใต้ 
    ซึ่งมักบริหารและควบคุมบริษัทแบบการสืบทอดกิจการจากตระกูลผู้ก่อตั้ง)

    นอกเรื่องนิดนึง
    ด้วยเพราะกลุ่ม Chaebol มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศ แต่มีความเสี่ยงจากการทุจริตในการบริหารที่มักเกิดจากการตัดสินใจโดยผู้ถือหุ้นหลัก และวิธีการบริหารแบบการสืบทอดกิจการ ทำให้รัฐบาลชุดปัจจุบัน ต้องการปฏิรูปกลุ่มบริษัท Chaebol ด้วยเช่นกัน
    โดยพยายามจะผลักดันการแก้กฎหมายการบริหารบริษัท เพื่อเพิ่มสิทธิในการตัดสินใจและกระจายความเสี่ยงแก่ผู้ถือหุ้นรายย่อยให้มากขึ้น

    Senior Secretary for Civil Affairs ของ ปาร์ค กึนเฮ

                   ตำแหน่ง Senior Secretary for Civil Affairs ในช่วงการดำรงตำแหน่งของอดีตปธน.
    ปาร์ค กึนเฮ นั้นคือ นาย อู บยองอู (Woo Byung woo) อดีตอัยการระดับสูง ซึ่งทำให้เกิดข้อสงสัย
    ในความมีอิทธิพลของเขาที่มีต่อการทำงานของอัยการ จากการที่เป็นคนใหญ่คนโตในวงการอัยการ ทำให้หลายคดีที่เกี่ยวข้องกับอดีตปธน.ในสมัยที่ยังดำรงตำแหน่ง เช่น การเอื้อผลประโยชน์แก่คนใกล้ชิด
    (สามีเก่า) หรือการปฏิบัติหน้าที่ของปธน.กรณีเหตุการณ์เรือเซวอล ดูเหมือนจะมีอัยการที่เป็นคนของ
    นายอู บยองอูคอยช่วยเหลืออยู่ 
                   จนในที่สุดเมื่อปาร์ค กึนเฮ ถูกถอดถอนจากตำแหน่ง นายอู บยองอู กลับถูกดำเนินคดี
    เพียงเล็กน้อยในข้อหาละเลยการปฏิบัติหน้าที่ จึงทำให้สังคมเกิดความสงสัยในความใกล้ชิด
    กับคนในสำนักงานอัยการ ซึ่งยังคอยปกป้อง จึงทำให้ตัวเองไม่ถูกสืบสาวถึงความเกี่ยวข้องกับการทุจริตของอดีตปธน. 

                   เมื่อรัฐบาลชุดใหม่เข้ามา ตามด้วยความพยายามในการปฏิรูประบบงานอัยการและการทุจริตในสำนักงานอัยการ ทำให้เริ่มมีการไล่เช็คบิลคนของอู บยองอู โดยเริ่มการสืบสวนความใกล้ชิด
    กับอัยการระดับสูงหลายคนที่เกี่ยวข้องกับคดีสำคัญๆในสมัยรัฐบาลปาร์ค กึนเฮ ซึ่งนายอู บยองอู
    ในตอนนั้นยังคงเป็นเลขาธิการฯในทำเนียบ รวมไปถึงอัยการที่ทำคดีทุจริตของอดีตปธน.ในช่วงแรก 
    ก่อนที่การสืบสวนจะถูกโอนไปให้ทีมสืบสวนอิสระในภายหลัง เนื่องจากพบความไม่ชอบมาพากลหลายอย่าง เช่น การรับสินบน หรือการพบกันนอกรอบด้วยท่าทีสนิทสนมระหว่างอัยการผู้ทำคดีและ
    นายอู บยองอู ทำให้มีคำสั่งโยกย้ายคนของอู บยองอูหลายคนและตามมาด้วยการขอลาออกจากตำแหน่ง ซึ่งงานนี้อาจจะเป็นการเริ่มต้นของการเริ่มปฏิรูปวงการอัยการของรัฐบาลชุดนี้ก็ได้

    ความพยายามปฏิรูประบบงานอัยการครั้งนี้ ไม่ใช่ครั้งแรก

    • ในปี 1992 เกาหลีใต้ได้นายคิม ยองซัม เป็นปธน. ซึ่งถือว่าเป็นปธน.พลเรือนคนแรก หลังจาก
      มักจะมีปธน.เป็นทหารและการการเมืองที่ถูกรัฐประหารหลายครั้งหลังจากช่วงจบสงครามเกาหลี ในรัฐบาลของคิม ยองซัม แม้ว่าจะหมดปัญหาเรื่องการใช้อำนาจทางทหารแทรกแซงการเมือง แต่กลายเป็นว่ารัฐบาลชุดนี้ใช้ประโยชน์กับงานอัยการ ในการขุดคุ้ยเรื่องฉาวต่างๆเพื่อทำลาย
      คู่ต่อสู้ทางการเมืองแทน ทำให้แม้ว่าการเมืองจะเข้าสู่ยุคประชาธิปไตยเสียทีแล้ว แต่ดูเหมือนว่า
      งานอัยการกลับมีบทบาทต่อการเมืองในประเทศมากขึ้น
    • ต่อมาในสมัยของปธน. คิม แดจุง (ซึ่งเคยเป็นคู่แข่งทางการเมืองกับนายคิม ยองซัม) ช่วงปี 1996 ก่อนได้รับเลือกตั้งเป็นปธน. นายคิม แดจุง เคยเสนอการแก้ไขกฎหมายเพื่อแบ่งอำนาจหน้าที่
      การสืบสวนสอบสวนระหว่างอัยการและตำรวจ  แต่รัฐสภาไม่เห็นชอบ ซึ่งในช่วงก่อนการเลือกตั้ง
      ปธน. ปี 1997 รัฐสภาได้เปิดเผยว่านายคิม แดจุง อาจจะมีความตั้งใจปกปิดเรื่องทรัพย์สิน
      แต่ดูเหมือนความสัมพันธ์ระหว่างนายคิม แดจุง และฝ่ายอัยการได้เปลี่ยนไปแล้ว กลายเป็นว่าไม่มีการสืบสวนเรื่องนี้ต่อจากฝ่ายอัยการ และนายคิม แดจุง ก็ชนะการเลือกตั้งใน ปี 1997
      ราวกับว่าฝ่ายอัยการตั้งใจปกปิดเรื่องราวเพื่อให้นายคิม แดจุง ชนะการเลือกตั้งและอาจเป็นการป้องกันนโยบายการปฏิรูปที่เกี่ยวข้องกับระบบงานอัยการในรัฐบาลต่อไปของฝ่ายอัยการเอง
    • อย่างไรก็ดีี ในรัฐบาลปธน.คิม แดจุง กลับมีการเสนอการปฏิรูประบบงานอัยการขึ้นมาอีก
      จนกระทั่ง มีคดีการติดสินบนของภริยารัฐนมตรีในรัฐบาลหลายคน รวมไปถึงภริยารัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม ซึ่งเคยเป็นอัยการสูงสุดมาก่อน แต่การสืบสวนคดีนี้ก็จบลงอย่างรวดเร็ว
      โดยอาจเพื่อปกป้องความเสียหายของชื่อเสียงปธน.ซึ่งเป็นผู้นำรัฐบาล หรือเพื่อปกป้องนายเก่าอย่างรมต.ยุติธรรมของฝ่ายอัยการ รวมไปถึงการป้องกันความเสี่ยงที่อาจจะโดนปฏิรูป หากว่าการสืบสวนเรื่องนี้ต่อจะทำให้คนในรัฐบาลเกิดความไม่พอใจ โดยหลังจากการยุติการสืบสวนคดีนี้
      ของฝ่ายอัยการ ทำให้แนวคิดการปฏิรูประบบงานอัยการและระบบงานยุติธรรมหายไปจาก
      รัฐบาลปธน.คิม แดจุง ซึ่งดูเหมือนว่าฝ่ายอัยการจะทำงานรับใช้รัฐบาลนี้อย่างดี แต่ในช่วงท้ายของการดำรงตำแหน่งของปธน.คิม แดจุง ก็มีเรื่องเสื่อมเสียจากคดีสินบนของลูกชายตัวเอง
      แต่ครั้งนี้การทำงานของอัยการไม่ได้เข้าข้างเขาอีกต่อไป จนเขาพ้นจากตำแหน่งในที่สุด
    • ในปี 2002 ในรัฐบาลของปธน.โร มู ฮยอน ด้วยภาพลักษณ์ของการเป็นนักปฏิรูปและเคยเป็นทนายด้านสิทธิมนุษยชนมาก่อน การใช้อำนาจในทางมิชอบเพื่อผลประโยชน์ของพวกพ้อง
      ซึ่งส่งผลเสียต่อการเมืองในประเทศและทำให้เกิดความไม่ยุติธรรมในสังคม แนวคิดการปฏิรูประบบงานอัยการจึงกลับมาอีกครั้ง แต่แทบจะทันทีทันใด ฝ่ายอัยการก็เริ่มทำการสืบสวนเกี่ยวกับการใช้เงินทุนที่ผิดกฎหมายการเลือกตั้งในการหาเสียงเลือกตั้งของปธน. ดังนั้นปธน.โร มู ฮยอน
      จึงขอให้ฝ่ายอัยการทำการตรวจสอบการใช้เงินหาเสียงของทั้งฝ่ายตัวเองและฝ่ายค้านไปเลย
      เพื่อความโปร่งใส  รวมถึงออกมาประกาศว่าหากผลการตรวจสอบออกมาว่าฝ่ายพรรครัฐบาล
      ใช้เงินที่ผิดกฎหมายการเลือกตั้งมากกว่าฝ่ายค้าน 1 ใน 10 จะยอมลาออก แม้ผลการตรวจสอบ
      จะออกมาพรรครัฐบาลใช้น้อยกว่าพรรคฝ่ายค้าน 7 เท่า แต่ก็เข้าข่ายใช้เงินผิดกฎหมายเลือกตั้งทั้ง 2 พรรค ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ศึกงัดข้อกับฝ่ายอัยการของปธน.ในครั้งนี้ดูท่าทางจะเสียเปรียบตั้งแต่เริ่ม
    • หลังจากนั้นรัฐสภาได้มีการเสนอวาระถอดถอนปธน.โร มู ฮยอน ออกจากตำแหน่ง รวมไปถึงความขัดแย้งในพรรคเดิม ทำให้ต้องออกมาตั้งพรรคใหม่ แต่สุดท้ายก็กลับมาได้เสียงส่วนมาก
      ในสภาอีกครั้ง ทำให้มติถอดถอนเป็นโมฆะ ปธน.โร มู ฮยอนก็กลับมาเสนอ การตั้งองค์กรสืบสวนเฉพาะสำหรับข้าราชการระดับสูง ซึ่งเกี่ยวข้องกับขอบเขตอำนาจหน้าที่ของอัยการอีกครั้ง
      แต่ก็ไม่ได้รับการสนับสนุนมากนักเพราะคนในพรรคถือว่านโยบายนี้ทำให้พรรคตกเป็นเป้า
      ในการตรวจสอบของอัยการ จากการที่ผู้สนับสนุนของพรรคและสนับสนุนนโยบายนี้ถูกอัยการตรวจสอบและได้รับข้อหารับสินบนไป ทางฝ่ายค้านเองก็คัดค้าน โดยยกเหตุผลว่าหากองค์กรนี้
      มีขึ้นจริงจะเป็นการให้อำนาจเบ็ดเสร็จแก่ปธน. เนื่องจากกำหนดให้องคกรขึ้นตรงต่อปธน. แม้ว่า-ข้อดีของการมีองค์กรนี้จะสามารถช่วยให้มีการตรวจสอบและคานอำนาจกันระหว่างองค์กรใหม่นี้และอัยการได้ แต่การคัดค้านนี้ก็ดูเป็นประโยชน์ต่อเกมการเมืองของฝ่ายค้านมากกว่า
    • ในที่สุดเมื่อถึงช่วงท้ายของวาระการดำรงตำแหน่งของปธน.โร มูฮยอน ข่าวฉาวเกี่ยวกับ
      การทุจริตของหลานชายของปธน.ซึ่งเป็นคนในพรรคด้วยก็ปรากฏออกมา ทำให้ภาพลักษณ์
      นักปฏิรูปเพื่อความโปร่งใสและความเชื่อใจต่อสาธารณชนของปธน.โร มูฮยอน ตกต่ำอย่างรวดเร็ว รวมไปถึงเรื่องการจัดตั้งองค์กรสืบสวนเฉพาะฯ ก็ถูกสภาตีตกไปด้วยเสียงไม่เห็นชอบ
      ไปโดยปริยาย และแม้ว่าจะพ้นจากตำแหน่งไปแล้วก็ยังมีคดีที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตของคนในครอบครัวและคนใกล้ชิดปธน.โร มูฮยอน ตามมาอีกหลายคดี ถึงจะไม่ได้เกี่ยวข้องกับตัวเองโดยตรง แต่ความอับอายนี้ก็ทำให้เขาจบชีวิตตัวเองด้วยการฆ่าตัวตายในปี 2009
     
                    ดูเหมือนว่าอำนาจของอัยการในเกาหลีใต้จะมีมากถึงขั้นมีอิทธิพลต่อการเมือง หรือแม้แต่ระดับผู้นำประเทศ รวมทั้งภาพลักษณ์ของอัยการนั้นก็ดูจะไม่ค่อยดีซักเท่าไหร่  แต่ความเห็นต่อที่มีต่อ
    การปฏิรูประบบงานอัยการก็มี 2 ด้านเช่นกัน ทั้งฝ่ายคัดค้านที่ไม่เห็นด้วยกับการตั้งองค์กรอิสระเฉพาะสำหรับสืบสวนคดีที่เกี่ยวข้องกับข้าราชระดับสูง ซึ่งอาจไม่ได้รวมถึงสภาชิกรัฐภา หรืออย่างที่เห็นๆกัน
    ในบ้านเราว่าองค์กรอิสระก็อาจจะไม่ได้อิสระจริงๆอย่างที่ควรจะเป็น แต่ก็อาจมีข้อดีในการคานอำนาจและตรวจสอบระหว่างหน่วยงานที่มีอำนาจสืบสวน หากบทบาทของอัยการมีมากเกินไปและอาจส่งผลต่อกระบวนการยุติธรรมแบบนี้ ซึ่งก็ต้องติดตามกันต่อไปว่าความพยายามในการปฏิรูปอีกครั้งของรัฐบาลปัจจุบันจะเป็นไปอย่างไร จะสำเร็จหรือไม่? เพราะการเมืองก็คือการเมือง ไม่มีมิตรแท้เละศัตรูถาวร สามารถเปลี่ยนแปลงได้เสมอ

    จริงๆสื่อบันเทิงเกาหลีมีเรื่องเกี่ยวกับอัยการ การทุจริตภายในระบบ
    และการเมืองมาซักพักแล้ว

                     เช่น Inside Men (2015) , The King (2016) ที่หนังที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตภายใน หรือซีรี่ส์ Prosecutor Princess (2010) ที่ดูเหมือนเป็นซีรี่ส์เรื่องแรกๆที่พูดถึงอาชีพอัยการ ซึ่งในช่วงไม่นานนี้อาชีพอัยการในหนังหรือซีรี่ส์เกาหลีดูเป็นเหมือนจะค่อนข้างเป็นที่นิยมนำมาพูดถึง 


              โดยเฉพาะในปี 2017 ดูเหมือนจะมีซีรี่ส์ที่พูดถึงงานของอาชีพอัยการหลายเรื่องมากๆ ทั้งแนวสืบสวน แนวกฎหมาย บางเรื่องก็ผสมแฟนตาซี หรือเสนอแบบโรแมนติกคอมเมดี้ แต่ทั้งหมดนั้นสามารถ
    ช่วยสร้างความสนใจให้กับหลายๆคน ทำให้ได้รู้จักอาชีพนี้มากขึ้น เมื่อคนดูมีความสนใจ แม้ว่าอาจจะดูเพราะแค่นางเอกน่ารักหรืออปป้าหล่อ แต่มันอาจช่วยเป็นแรงบันดาลใจที่ดีให้กับเด็กๆหรือหลายๆคน
    ในการรู้จักอาชีพนี้ หรืออาจจะช่วยสร้างภาพลักษณ์ที่ดีจากให้แก่อาชีพนี้ด้วยตัวอย่างในซีรี่ส์ เพื่อทำให้เกิดค่านิยมใหม่ๆได้ด้วยเช่นกัน 

                ใน Secret Forest เองจากที่มานั่งค้นอ่านก็พอเข้าใจกับหลายๆอย่างที่ในเรื่องแทรกไว้มากขึ้น เช่น ตำแหน่งในช่วงตอนท้ายๆของซีรี่ส์ของอี ชางจุน หรือหลายประเด็นที่ใส่เข้ามา ดูคนเขียนบทตั้งใจที่จะอ้างอิงจากหลายเรื่องที่เกิดขึ้นจริง 


    ข้อสังเกต
                    จากที่ไปตามหาอ่านมา มีเรื่องน่าสนใจอย่าง เช่น ไม่เคยรู้มาก่อนว่าการเมืองในเกาหลีใต้
    พึ่งมีปธน.ที่เป็นพลเรือนเมื่อ ปี 1992 ซึ่งก็แค่ 25 ปีมานี้เอง แต่ดูเหมือนหลังจากนั้นมาอิทธิพลทางการเมืองจากยุคทหารหลังสงครามก็เหมือนจะหายไปโดนสิ้นเชิงเลย (ดีใจด้วย) หรืออาจจะหมดgeneration
    ไปแล้ว อะไรก็ตามแต่ แต่ก็ถือว่าดูมีพัฒนาการที่ดีมาก พร้อมๆกับในช่วงยุคที่เศรษฐกิจและสังคมเกาหลีก็เริ่มดีขึ้นด้วย หรือเรื่องการให้ความสำคัญกับภาพลักษณ์ที่ดีของนักการเมืองที่ดูเหมือนเป็นตัวตัดสินว่าจะได้อยู่หรือไป แม้ว่าเรื่องฉาวจะเป็นของคนอื่นที่อยู่ใกล้ตัวก็ส่งผลอย่างมากกับเจ้าของตำแหน่ง
    เหมือนเป็นรอยด่างแล้วจะไม่มีใครลืม ซึ่งก็มีทั้งข้อดีข้อเสีย แต่ลืมง่ายไปก็ไม่ดีใช่มั้ยล่ะ(เนอะ)
    แต่ถึงจะเป็นประเทศที่ดูจริงจังและอ่อนไหวกับประเด็นศีลธรรมจรรยากับหน้าที่ อย่าง เกาหลี หรือ ญี่ปุ่น สุดท้ายก็ยังมีมุมมืดในเรื่องพวกนี้อยู่ดี

     -------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

                      เอาล่ะ ถ้าใครทนอ่านจนจบก็ขอบพระคุณมากๆเลย จริงๆที่เขียนเพราะแค่อยากเรียบเรียง
    ที่ไปหาอ่านมาให้มันเป็นระเบียบเท่านั้นเอง อ่านไปอ่านมาก็รู้สึกว่ามันก็สนุกดีเหมือนกัน ได้รู้เรื่องหลายอย่างที่ไม่เคยรู้มาก่อน ถึงจะรู้สึกว่ามันไม่สามารถตอบข้อสงสัยเราได้ 100% แต่ก็รู้สึกว่าลดความสงสัยลงไปได้พอสมควรเหมือนกัน  เขียนเสร็จก็ปีใหม่พอดี สวัสดีปีใหม่จ้า :D

    อ้างอิง

    Song Jung-a. (2017). South Korea political scandal fuelshopes of corporate reform. Retrieved December 13, 2017, from  Financial Times : https://www.ft.com/content/e78c3ba6-b84f-11e6-ba85-95d1533d9a62
    _________. (2017). PresidentMoon Jae In to unveil complete policy agenda for South Korea's next five years.Retrieved December 13, 2017, from The Straits Times : http://www.straitstimes.com/asia/east-asia/president-moon-jae-in-to-unveil-complete-policy-agenda-for-south-koreas-next-five
    Jung Min-ho.(2017). Top prosecutor nominee opposed to prosecution reform. Retrieved December 13, 2017, from The Korea Times : http://www.koreatimes.co.kr/www/nation/2017/09/356_233482.html
    Ock Hyun-ju.(2017). Prosecution reform plan faces hurdles. Retrieved December 13, 2017,from The Korea Herald : http://www.koreaherald.com/view.php?ud=20170514000245
    __________. (2017).Moon Jae-in’s first nominations reflect will for reform. Retrieved December 13,2017, from The Korea Herald : http://www.koreaherald.com/view.php?ud=20170511000865
    Ben Jackson. (2017).Can Moon Jae-in Finally Clean up South Korea’s Prosecution?.  Retrieved December 13, 2017, from  Korea Exposé : https://www.koreaexpose.com/moon-clean-south-koreas-prosecution/
    Sun-Woo Lee. (2016). Thepolitics of prosecution service reform in new presidential  democracies:
    The South Korea and Russia cases in comparative perspective. Journal ofEurasian Studies 7 (2016), 141–150.
    __________.Moon Jae-in. Retrieved December 13, 2017, from Wikipedia : https://en.wikipedia.org/wiki/Moon_Jae-in
    Lee Sun-young.(2017). [Newsmaker] Woo Byung-woo, key player unscathed. Retrieved December 15,2017, from The Korea Herald : http://m.koreaherald.com/view.php?ud=20161222000720
    Jung Min-ho.(2017). Prosecution reform starts atthe top. Retrieved December 15, 2017, from The Korea Times : http://m.koreatimes.co.kr/phone/news/view.jsp?req_newsidx=229603
    Lee Kyung-min.(2017). Gov't removes 'Woo Byung-woomen'. Retrieved December 15, 2017, from The Korea Times : http://m.koreatimes.co.kr/phone/news/view.jsp?req_newsidx=230934
    Jieun Choi. (2017). WooByung-woo: One Who Must Not Be Forgotten. RetrievedDecember 15, 2017, from Korea Exposé : https://www.koreaexpose.com/woo-byung-woo-park-geun-hye-aide/
    Jun Ji-hye.(2017). Presidential office reaffirmsprosecution reform. Retrieved December 15, 2017, from The Korea Times : http://m.koreatimes.co.kr/phone/news/view.jsp?req_newsidx=239587
    ________.(2016). Tightening prosecution reform. RetrievedDecember 15, 2017, from Korea JoongAng Daily : http://koreajoongangdaily.joins.com/news/article/article.aspx?aid=3021591
    Hyunjoo Jin, Joyce Lee. (2017). South Korean 'swordsman' leads prosecution against impeachedex-leader Park. Retrieved December 24, 2017, from Reuters : https://www.reuters.com/article/us-southkorea-politics-park-prosecutor/south-korean-swordsman-leads-prosecution-against-impeached-ex-leader-park-idUSKBN18J0P6
    ARIRANG NEWS. (2017, December  24). Senior prosecutor Yoon Seok-youl makes comeback as chief investigator[Video file].  Video posted to https://www.youtube.com/watch?v=T7olrSGvfMU
    ARIRANG NEWS. (2017, December  24). New chief of Seoul Central District Prosecutors' Office [Videofile].  Video posted to https://www.youtube.com/watch?v=uDff3DlA7ZI
    __________. Senior Presidential Secretary. Retrieved December 24, 2017, from Wikipedia : https://en.wikipedia.org/wiki/Senior_Presidential_Secretary
    ไพรัช วรปาณิ.(2560). จุดจบ ‘ปาร์ค กึน เฮ’…บทเรียนอันปวดร้าว. สืบค้นเมื่อ  24 ธันวาคม2560, from มติชนออนไลน์ : https://www.matichon.co.th/news/509405
    Sherisse Pham. (2017). South Korean prosecutors seek to arrest Samsung heir. RetrievedDecember 24, 2017, from CNN Money : http://money.cnn.com/2017/01/16/investing/samsung-heir-lee-jae-yong-arrest-warrant/index.html
    Justin McCurry. (2017). South Korea prosecutors demand 12-year sentence for Samsung boss. RetrievedDecember 24, 2017, from The  Guardian: https://www.theguardian.com/world/2017/aug/07/south-korea-prosecutors-demand-12-year-sentence-samsung-boss
    true4u SMARTNEWS ONLINE. (2559). สภาโสมขาวเปิดพิจารณารอบ3ประเด็นฉาวปธน.ปาร์ค กึนเฮย์สืบค้นเมื่อ 24 ธันวาคม 2560, from true4u SMARTNEWS ONLINE : http://true4u.truelife.com/index.php?name=smartnews&action=detail&news_id=793
    __________. Roh Moo-hyun. Retrieved December 30, 2017, from Wikipedia : https://en.wikipedia.org/wiki/Roh_Moo-hyun
    Chaebol reform
    __________. (2000). กลุ่ม Chaebol ในเกาหลีใต้. สืบค้นเมื่อ 13 ธันวาคม2560.เข้าถึงได้จาก
                   http://www.ryt9.com/s/ryt9/267796
    AnthonyFensom. (2017). South Korea’s Chaebol Needn’tFear Moon.  Retrieved December 13,2017, from  TheDiplomat : https://thediplomat.com/2017/06/south-koreas-chaebol-neednt-fear-moon/
    Ben McGrath.(2017). New South Korean government pushes sham “chaebol”reform.  Retrieved December 13,2017, from  WorldSocialist Web Site : https://www.wsws.org/en/articles/2017/05/24/chae-m24.html
    Shelly Banjo.(2017). Discounting the Korea Discount.  Retrieved December 14, 2017, from  Bloomberg Gadfly : https://www.bloomberg.com/gadfly/articles/2017-01-26/discount-that-korea-discount-markets-are-looking-ahead
    Dahee Kim. (2017).Changes in chaebol governance culture could diminish the 'Koreadiscount'.  Retrieved December 15, 2017, from  Reuters: https://www.reuters.com/article/us-southkorea-markets-kospi/changes-in-chaebol-governance-culture-could-diminish-the-korea-discount-idUSKBN1CZ0QN
    __________. Chaebol. RetrievedDecember 24, 2017, from  Wikipedia : https://en.wikipedia.org/wiki/Chaebol

Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in
Boonrat Klinkasorn (@boonrat.klinkas)
น่าสนใจมากเลยค่ะ ได้ความรู้เยอะเลย
VaSiMo (@VaSiMo)
@boonrat.klinkas ขอบคุณมากนะคะ?
dotoria_corny (@dotoria_corny)
ขอบคุณสำหรับข้อมูลค่ะ เรามีรู้เรื่องการเมืองเค้ามาเหมือนกันแต่ไม่ได้รู้นโยบายของรัฐบาลปัจจุบันมากนัก สอบถามเพิ่มเติมค่ะ การจัดตั้งองค์กรอิสระของปธน.มุนแจอิน เลือกคนเข้ามาทำงานและร่างกฎเกณฑ์ยังไงหรอคะ ถ้ามันไม่อิสระจริง ก็ตกเป็นเครื่องมือทางการเมืองอยู่ดี
VaSiMo (@VaSiMo)
@dotoria_corny ที่เราอ่านตามข่าวมาเขาสรุปคร่าวๆไว้เตามที่ใส่ดอทในหัวข้อแรกค่ะ ส่วนรายละเอียดปลีกย่อยก็น่าจะมีอีกว่าจะเลือกใคร ตำแหน่งอะไร กี่คนบ้าง หรือขอบเขตหน้าที่ขององค์กรใหม่ ในท้ายที่สุดที่ตกลงกันแล้วจะเป็นยังไง แต่เราคิดว่าข้อมูลอาจจะค้นลำบากเนื่องจากอาจจะไม่มีเป็นภาษาอังกฤษอย่างละเอียดให้อ่าน เหมือนเวลาจะค้นดูพรบ. หรือกฎกระทรวงของในประเทศเราก็หาเป็นภาษาอังกฤษอ่านลำบากเหมือนกันค่ะ เราคิดว่าเรื่องนี้ดูไม่ใช่ประเด็นที่ข่าวต่างประเทศจะเขียนถึง แบบให้เข้าถึงข้อมูลเชิงลึกซักเท่าไหร่ ซึ่งอาจจะตามได้แค่ความคืบหน้าบางส่วน คือที่เราไปค้นก็ไม่ทราบว่าขั้นตอนการหารือและร่างพรบ.ทั้งหลายมันไปถึงขั้นไหน เป็นรูปเป็นร่างขนาดไหนแล้วเหมือนกันค่ะ อีกอย่างคือเราไม่สามารถค้นและอ่านภาษาเกาหลีได้ คงอาจจะหาข้อมูลมาเสริมให้ไม่ได้ค่ะ แต่ยังไงก็ขอบคุณมากนะคะที่มาอ่าน :-)
plsbekindngood (@plsbekindngood)
ขอบคุณมากเลยนะคะที่เลือกมาเขียนแชร์ไว้ในนี้ เป็นประโยชน์มากๆทั้งคนที่สนใจในประเทศเกาหลี ละคร/หนัง หรือคนที่สนใจการเมืองด้วย นอกจากนั้นตัวเรายังรู้สึกได้ถึงแรงบันดาลใจที่จะลุกมาเขียนหรือสืบค้นสิ่งที่สนใจแบบนี้บ้าง แบบไม่อยากให้ปล่อยผ่านไปอีกแล้วค่ะ
VaSiMo (@VaSiMo)
@plsbekindngood ยินดีค่ะ แล้วก็ขอบคุณมากนะคะ??
ohionunew (@ohionunew)
ขอบคุณสำหรับข้อมูลดีๆนะคะ เป็นประโยขน์สำหรับคนที่เรียนภาษาเกาหลีและคนทั่วไปมากๆเลยค่ะ ได้รู้สภาพสังคมอีกด้านหนึงของเกาหลี ขอบคุณจริงๆนะคะ :)
VaSiMo (@VaSiMo)
@ohionunew ขอบคุณนะคะ ?