วันนี้คือวันเริ่มต้น
立春 (จีนกลาง - ลี่ชุน, แต้จิ๋ว - หลิบชุง, ญี่ปุ่น - ริชชุน) เป็นวันเริ่มต้นฤดูใบไม้ผลิและเปลี่ยนนักษัตรเข้าสู่ปีฉลูอย่างเป็นทางการ
เฮ้ย แต่มันยังไม่ตรุษจีนเลยนะ!? แล้ววันเริ่มต้นฤดูใบไม้ผลินี่ไม่ใช่ 20 มีนาเรอะ?
ต้องขออธิบายว่า ความเข้าใจที่ว่าปฏิทินจีนใช้ระบบจันทรคตินั้นเป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องทั้งหมด เพราะความจริงแล้วปฏิทินจีนเป็น
lunisolar calendar หรือ
ปฏิทินสุริยจันทรคติ พูดง่ายๆ ก็คือการกำหนดช่วงเวลาต่างๆ ในแต่ละปีด้วยข้างขึ้นข้างแรม ผสมกับการหมุนรอบดวงอาทิตย์ของโลก
ถ้าบ้านใครยังไหว้เจ้าอยู่ อาจจะสังเกตได้ว่าบางเทศกาลในแต่ละปีอาจจะต่างกันหลายสัปดาห์ เช่นวันตรุษจีน สารทจีน เทศกาลตวนอู่
(ไหว้บะจ่าง) แต่ก็มีบางเทศกาลที่จะเป็นวันเดิมหรือวันใกล้ๆ เดิมทุกปี เช่นเทศกาลตังโจ่ย
(ไหว้บัวลอย) ที่จัดใกล้วันคริสต์มาสทุกปีจนถูกเรียกว่าวันคริสต์มาสจีน หรือเทศกาลเชงเม้งที่นับเอาวันที่ 4-5 เมษายนของทุกปี
ที่เป็นแบบนี้เพราะเทศกาลประเภทแรกนับด้วยระบบจันทรคติซึ่งมีจำนวนวันในแต่ละปีน้อยกว่าระบบสุริยคติ ส่วนเทศกาลแบบหลังนับตามระบบสุริยคติที่จำนวนวันแทบจะตรงกับปฏิทินเกรกอเรียนที่เราใช้กันในทางสากล
ปฏิทินจีนแบ่ง 1 ปีออกเป็น 24 ช่วงเวลาด้วยระบบสุริยคติ
(二十四節気 จีนกลาง - เอ้อร์สือซื่อเจี๋ยชี่, ญี่ปุ่น - นิจูชิเซ็คคิ) เคยเห็นคนแปลเป็นภาษาไทยไว้ว่า
ฤดูลักษณ์ โดยจะเปลี่ยนเข้าสู่ฤดูลักษณ์ใหม่เมื่อมุมตกกระทบของแสงอาทิตย์บนโลกเปลี่ยนไป 15 องศา
สรุปคือใน 1 ฤดูลักษณ์มี 15 วัน และวันเริ่มต้นของแต่ละฤดูลักษณ์จะค่อนข้างตรงกันในแต่ละปี เพราะอย่างที่บอกไปว่ามันเป็นสิ่งที่ถูกกำหนดขึ้นบนปฏิทินสุริยคติ
กลับมาถึงเรื่องลี่ชุนของเรา ลี่ชุนเป็นฤดูลักษณ์แรกของปี ซึ่งจะตรงกับวันที่ 3-4 กุมภาพันธ์ของทุกปี สำหรับช่วงอื่นๆ ที่ถูกกำหนดด้วยระบบนี้ก็เช่น เชงเม้ง (清明 จีนกลาง - ชิงหมิง, ญี่ปุ่น - เซย์เมย์) วันที่คุ้นหูอย่างวันครีษมายัน (summer solstice) ก็ตรงกับวันเริ่มต้นฤดูลักษณ์ที่มีชื่อว่า 夏至 (จีนกลาง - เซี่ยจื้อ, ญี่ปุ่น - เกะชิ) หรือเทศกาลตังโจ่ยที่ได้พูดถึงไปข้างบนก็คือวันเริ่มต้นฤดูลักษณ์ 冬至 (จีนกลาง - ตงจื้อ, ญี่ปุ่น - โทจิ) ในช่วงกลางฤดูหนาว
ส่วน
วันตรุษจีนเป็นวันขึ้นปีใหม่ที่กำหนดด้วยระบบจันทรคติ คือนับข้างขึ้นข้างแรมของดวงจันทร์ โดยจะเป็นวันขึ้น 1 ค่ำเดือน 1
(จีน; ไม่ตรงกับเดือนทางจันทรคติไทย) ปกติก็จะอยู่ใกล้กับวันลี่ชุน บางปีอยู่ช่วงปลายมกราก็จะมาก่อนลี่ชุน บางปีก็มาหลังเช่นปีนี้เป็นวันที่ 12 กุมภาเป็นต้น
แล้วทำไมวันเปลี่ยนนักษัตรถึงไม่ใช่วันตรุษจีนล่ะ?
ตอบง่ายๆ คือโหราศาสตร์จีนใช้ปฏิทินสุริยคติ อิงตามฤดูลักษณ์ วันเปลี่ยนนักษัตรเลยเป็นวันลี่ชุนซึ่งถูกกำหนดด้วยระบบสุริยคตินั่นเอง
สำหรับคนที่รู้เรื่องการแบ่งฤดูญี่ปุ่นอาจจะสงสัยต่อว่า วันเริ่มต้นฤดูใบไม้ผลิไม่ใช่วันเริ่มต้น 春分 (ชุนบุน) 20 มีนาคมเหรอ? คำตอบคือ ใช่ วันเข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิอย่างเป็นทางการของญี่ปุ่นในปัจจุบันคือวันเริ่มต้นชุนบุน ซึ่งถ้านับตามปฏิทินแบบเก่าจะถือเป็นช่วงกลางฤดูใบไม้ผลิพอดี เราไม่เจอคำอธิบายแบบชัดๆ แต่เข้าใจว่าเป็นการกำหนดตามเซนส์ เพราะในความเป็นจริงแล้วช่วงริชชุนมักจะเป็นช่วงที่หนาวพีคที่สุดของปี และเป็นช่วงที่ดอกบ๊วยเริ่มบาน หลังจากนี้ความหนาวจะลดลงเรื่อยๆ คนโบราณเลยมองว่าเป็นจุดเริ่มต้นของฤดูใบไม้ผลิ แต่พอมาในปัจจุบัน คนมองว่าช่วงริชชุนหนาวเกินไปที่จะเรียกว่าฤดูใบไม้ผลิ การกำหนดวันเริ่มต้นฤดูใบไม้ผลิเลยถูกขยับตามมา
ใครสนใจเรื่องฤดูลักษณ์ลองไปหาอ่านเพิ่มเติมได้ ที่จริงฤดูลักษณ์ยังถือเป็นการแบ่งช่วงแบบหยาบ ปฏิทินจีนยังมีการแบ่งซอยแต่ละฤดูลักษณ์ลงไปอีกฤดูลักษณ์ละ 3 ช่วง เท่ากับว่า 1 ปีมี 72 ช่วง เรียกว่า
七十二候 (จีนกลาง - ชีสือเอ้อร์โฮ่ว, ญี่ปุ่น - ชิจิจูนิโค) ซับซ้อนดีแท้
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in