เด็กเอกวรรณกรรมสำหรับเด็กเป็นเป็ด
ถึงจะได้ชื่อว่ามาจากสาขาวรรณกรรมสำหรับเด็กแต่ก็ไม่ใช่ทุกคนที่จะไปสายวรรณกรรมหรือเด็ก ก่อนหน้านี้ได้รับหน้าที่ให้รวบรวมรายชื่อและสถานที่ฝึกงานของเพื่อน ๆ ในการฝึกงานครั้งนี้ บางคนก็ไปสำนักพิมพ์ พิพิธภัณฑ์ ศูนย์การเรียนรู้ ห้องสมุด หรือโรงเรียน สถานที่ทำนองนี้ แต่บางคนเล่นเอาว้าวเหมือนกัน เพราะมีคนที่ไปโรงพยาบาลกับค่ายวีทูปเบอร์ด้วย สุดยอด บางคนเข้าใจว่าถ้าเข้าเอกนี้ก็ต้องไปสายวรรณกรรมไม่ก็เด็กเท่านั้น แต่จริง ๆ ไปได้หลายทางมากนะ ก็พวกเราเป็นเป็ด ใครจะบินใครจะว่ายน้ำทำได้หมด
ต่อมาพอได้งานให้ทำ Artwork สำหรับใช้ตกแต่งในเว็บเอกก็เลยคิดว่าเป็ดเหมาะจะเป็นตัวหลักในงานนี้ ครูพี่เลี้ยงบอกว่าจะนำสิ่งที่ทำไปใช้ในโอกาสต่าง ๆ จึงค่อนข้างคิดหนัก เพราะให้อิสระมากในการออกแบบ ปรึกษาหาไอเดียกับสหายปลาทอง เพื่อนฝึกงานที่รัก ส่วนใหญ่ที่คิดได้ก็จะเป็นเป็ดทำกิริยาต่าง ๆ พวกการกระทำที่เด็กเอกวรรณกรรมสำหรับเด็กต้องได้ทำ เช่น อ่านหนังสือ วาดภาพ เล่านิทาน ทำสื่อการสอน
ครั้งนี้แบ่งงานคล้ายกับครั้งก่อน ฉันร่าง ส่วนสหายปลาทองตัดเส้นและจัดการที่เหลือ ครูพี่เลี้ยงไม่ได้กำหนดจำนวนชิ้นงานครั้งนี้ ฉันเลยคิดคร่าว ๆ ว่าสัก 10-15 แล้วกัน เพราะตอนแรกหาไอเดียวาดได้ประมาณสิบ เดี๋ยววาดไปน่าจะได้ไอเดียเพิ่มกระมัง ฉันหาไอเดียจาก Pinterest (ขอเตือนว่า Pinterest ใช้สำหรับหาแรงบันดาลใจ ไม่ใช่แหล่งรูปฟรี ทุกรูปมีเจ้าของ) ไป ๆ มา ๆ ได้ 18 ภาพ แต่เลขไม่สวย เลยวาดเพิ่มเป็น 20 และวาดแต่เป็ด อย่างที่บอก เป็ดเข้ากับเอกของเราที่สุดแล้ว
ขั้นตอนการทำงานรอบนี้ ฉันร่างคร่าว ๆ ในกระดาษก่อน แล้วไปร่างต่อใน Procreate ไม่รู้ทำไม ถ้างานไหนไม่ค่อยมีไอเดีย ฉันไม่สามารถร่างใน Procreate เลยได้ เหมือนสัมผัสจากกระดาษจริง ๆ จะช่วยให้มีไอเดียมากกว่า แต่ติดนิสัยวาดผิดทีไร ต้องเผลอเคาะสองนิ้วบนกระดาษเพื่อยกเลิกที่วาดไปทุกที เชื่อว่าใครใช้ Procreate ประจำจะเข้าใจ
จริง ๆ ตอนแรกคิดว่าจะวาดคนด้วย แต่กลัวจะไปลำบากสหายปลาทองเพราะจำนวนภาพเยอะระดับหนึ่ง เลยให้เป็นเป็ดทั้งหมด
สำหรับภาพที่สหายปลาทองนำไปตัดเส้นลงสีนั้น บอกเลยว่าลงสีสวยมาก สีนุ่ม ภาพนุ่มเข้ากับเอก ถ้าอยากดูไปดูที่บล็อกของสหายปลาทองได้ที่โหลฝึกงานของปลาทอง
ปีนี้พวกเรานักศึกษาฝึกงานสาขาวรรณกรรมสำหรับเด็กล้วนมีบล็อกที่ minimore ใครที่สนใจการฝึกงานของมนุษย์เป็ดก็หาอ่านได้เน้อ
I.
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in