เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
#30dayswritingchallengeSilapa Junior
DAY 24
  • บอกตามตรงว่าพฤติกรรมการนอนเราสุดแสนห่วยหอย

    ตั้งแต่เด็กจนโต เป็นคนนอนดึกสุดๆ เพิ่งเกิดมาไม่ทันไรก็เป็นโคลิก ร้องไห้จ้ายิงยาวตั้งแต่หัวค่ำถึงตีสองตีสาม โตมาหน่อย ทุกคืนเราดูวีดีโอหนัง Peter Pan สลับกับ Jumanji จนดึกดื่น ชอบรายการเชมโชว์หลังละครเป็นชีวิตจิตใจ แทบจะไม่มีวันไหนที่จะนอนก่อนเที่ยงคืน จนได้ฉายา (ที่พ่อแม่ตั้งกันเอง) ว่า Midnight boy

    แต่แปลกไปกว่านั้น คือที่จริงๆ หลับง่ายมาก เวลาไม่ถึงสิบนาทีกับที่พิงหัวสักหน่อย ที่ไหนก็ไปเฝ้าพระอินทร์ได้ทั้งนั้น ไม่ขึ้นกับ แสง เสียง หรือความเป็นส่วนตัว รถเมล์ กลางห้าง ใต้โต๊ะแลป เราหลับได้หมด

    เรามักลูบเขาตัวเองอยู่บ่อยครั้งว่า เกิดมาเหมาะกับการเรียนอาชีพที่ต้องอดหลับอดนอน อย่างหมดหรือสถาปัตย์ (ซึ่งก็ไม่รู้ว่าเหมาะจริงหรือเปล่าเพราะทุกวันนี้ก็ไม่ได้เคยลอง) เพราะการโต้รุ่งเป็นเรื่องขี้หมูขี้หมามาก แต่เอาเข้าจริงก็ไม่ได้เทพขนาดนั้น แถมไม่รู้ว่าครั้งไหนคือการอดหลับอดนอนนานที่สุดด้วย จึงขอจัดอันดับความยาวตามยึดตามความพีคและเวลาที่ผล็อยหลับในวันต่อไปแทน

    อันดับ 5
    คืนกลับจากงานพรอม

    พูดเป็นเล่นไป อย่างผมก็เคยไปงานพรอมนะครับแหม่ คือมันเป็นงานปัจฉิมจบมัธยมศึกษา จัดกันที่โรงเรียนแบบเบี้ยน้อยหอยน้อย ไฮไลท์โดยคร่าวของงานได้แก่ พรอมควีนที่ถูกล๊อคไว้ ประกาศนีบัตรนักเรียนที่เป็นเลิศทางวิชาสังคมศึกษา(กูเนี่ยนะ) และใบหน้าที่มันย่อง

    พรอมเลิกห้าทุ่มกว่า งานจบคนไม่จบครับ นี่มันคืนสุดท้ายของการเป็นนักเรียนแล้วนะเว่ย วู้วฮู้วว! ห้องชายล้วนอย่างเราจึงยกโขยงกันไปต่อ สุดท้ายไปจบลงที่บ้านใหม่ของแตงกวา (ที่ทุกอย่างมีสรรพพร้อมอยู่ เพียงแต่ยังไม่ถึงฤกษ์ดี) รู้จักกันในนาม อรุณสวัสดิ์วงศ์เซนเตอร์ เราสิบกว่าชีวิต ทยอยกันไปอาบน้ำ ใส่เสื้อผ้าของแตงกวากันอย่างไร้ยางอาบ ที่เหลือก็เปิดทีวีและคุยเล่นกันต่อ สุดท้ายก็ทนพิษบาดแผลไม่ไหว สลบเหมือดกันไปในทั้งที่นั่งนอนซ้อนกันเกลือกลาดบนโซฟาและพรมหน้าทีวีนั่นแหละ

    มีแค่แตงกวาที่กลับเข้าไปนอนไปห้องตัวเองอย่างที่มนุษย์พึงกระทำ ตื่นมาคือขำอ่ะ สภาพมันทุเรศอนาจดี
    นอนหลับตอน : ตีสามกว่า


    อันดับ 4
    เขียนโปสการ์ดให้เพื่อนต่างชาติที่ฮิโรชิม่า

    เรากับปอมไปแลกเปลี่ยนระยะสั้นกับ Hiroshima university ที่นั่นได้ประสบการณ์มากมายรวมถึงได้พบปะกับเพื่อนทั้งร่วมชาติและต่างชาติ ในคืนสุดท้ายก่อนจบโครงการ เราเลยมีไอเดียสนุกๆ ว่าจะเขียนโปสการ์ดขอบคุณให้กับเพื่อนทุกคน

    แต่แล้วดันทะลึ่งเล่นใหญ่กับ วาดรูปกับตัดแปะภาพจากฟรีแมกาซีน สไตล์ scrap book มาเต็ม ทำไปทำมาแม่งเที่ยงคืนตีหนึ่งละ จะเลิกก็ไม่ได้เพราะดูไม่แฟร์กับเพื่อนคนอื่น ก็เลยกัดฟันทำ ง่วงตาจะปิดแต่ต้องนั่งพิจารณาถ้อยคำดีๆ เขียนลงให้ไม่ซ้ำกัน ทำไปก็หัวเราะกันไปกว่าจะเสร็จก็สว่างพอดี เฮือก

    ปอมควักมือถือออกมาถ่ายภาพเราต้องเบลอสุดขีด หน้าตาดูไม่จืดเลย แต่ตอนนั้นไม่แคร์ ขอนอนก่อนนะ บาย
    นอนหลับตอน : ตีห้าครึ่ง


    อันดับ 3
    ตัวสอบที่ทอมแอนด์ทอม

    น่าจะปี 3 ได้มั้ง คอมมิวนิตี้มอลล์แถวฝั่งธนฯ มีร้านกาแฟเปิด 24 ชั่วโมง พวกเราเลยชวนเพื่อนๆ มาอ่านหนังสือโต้รุ่งกัน มีฝนนี่ มิวสิก เกรซ แล้วใครอีกไม่แน่ใจ จำได้ว่าตอนดึก คนเยอะล้านร้านแทบไม่มีที่นั่ง เพื่อนโต้รุ่งคืนนี้เยอะแน่ ปรากฎตีสาม ทุกคนหายพรึ่บ หรือผู้รอดชีวิตแค่ เกรซกับเราเท่านั้น เพื่อนที่เหลือก็ทอดกายนอนกันลงไปตรงนั้นเลย

    จำได้แม่นว่าอ่านบทการสบฟันในฟันน้ำนมของอาจารย์สีชมพู ที่มีแค่ 4-5 หน้า แต่แม่ง อ่านวนบรรทัดเดิมซ้ำอยู่นั่น (ฮา) นี่คือผนึกกำลังกันแล้วนะ สุดท้ายก็อ่านไปขำ(ที่สปีดในการอ่านมันช้ากว่าเต่านิดนึง)ไป

    จนฟ้าสาง เราก็ปลุกเพื่อนขึ้นไปดูพระอาทิตย์ขึ้นอย่างสดใส ค่อยๆ เดินเรียงแถวตอนเดินกลับไปที่คอนโดพี่ฝน...เพื่อไปสลบที่นั่น สรุปคืออ่านได้ชีทเดียว เพลีย
    นอนหลับตอน : เจ็ดโมงเช้า


    อันดับ 2
    จัดงานแสดง/ทำรูปเล่ม โครงงานวิทยาศาสตร์

    ตอนนั้นม.5 มีอาจารย์ชีววิทยาคนใหม่ไฟแรง มาสอนชีว(ก็แหงสิ จะให้สอนเป่าแคนเหรอ)ให้พวกเราอย่างจัดเต็ม ทั้งเนื้อหาสาระที่เข้มข้น ทำให้เป็นจุดเปลี่ยนในการเบนเข็มอนาคตเข้าทางสายวิทยาศาสตร์สุขภาพจนถึงทุกวันนี้ แต่นั่นไม่ใช่ประเด็น พอยต์คืออาจารย์ได้ทำการจำลองให้เด็กได้ทำรายงานโครงงานที่มีขั้นตอนแบบวิทยานิพนธ์เปี๊ยบ แถมยังส่งประกวดอีก

    กลุ่มผมได้เป็นตัวแทนไปจัดแสดงและประกวดที่เซนคาเบรียล เราเลยต้องหามรุ่งหามค่ำเตรียมงานกัน ซุ้มก็ต้องจัด รายงานสุดยากก็ต้องส่ง จำได้ว่า เรา เบส บิว เชร์รี่ แล้วก็ปิง นั่งปั่นกันจนรู้สึกไม่ไหว ออกไปหาอะไรกระตุกหนังตาที่เซเว่น แล้วใครสักคนเสนอว่าให้กิน M-150 กัน

    จำได้เลยว่ามันรถชาติเหมือนไอติมรสผลไม้รวม กินแล้วตื่นจริง ไม่เหลือความปวดหัวจากความง่วง แต่สมองมันจะกลวงมาก ล่องลอยไปเรื่อย ไม่สามารทำกิจกรรมที่ต้องใช้สมองมากไปกว่าการทำงานแรงงาน แค่คิดเลขนี่แบบ งงละ ภาพสุดท้ายที่ติดตาก่อนจะสลบเหมือนคือพนักเบาะของใครสักคน แค่นั้น (นี่มันพลอตเรื่องโดนลักไปขายชัดๆ)
    นอนหลับตอน : (น่าจะ)เก้าโมงเช้า


    อันดับ 1
    ประกวดนิตยสารทำมือ

    สมัยอยู่ ม.6 แล้วมันมีกิจกรรมให้ร่วมสนุกของนิตยสาร IMAGINE ชื่อว่า F_ll in the blank คือเป็นเล่มหนังสือเปล่าให้เราครีเอทนิตสารในฝันตามใจแล้วส่งไปประกวดได้ชิงรางวัลที่หนึ่งคือ 30,000 บาท แต่ความหินของมันอยู่ที่ว่า มีหน้าเปล่าถึง 40 หน้า ต้องอาศัยหนึ่งสมอสองมือแถมพลังใจเข้าไปไม่ใช่น้อยในการคอมพลีทงานทั้งเล่ม

    ผมเองที่เพิ่งเริ่มทำอยู่ตอนนั้น ก็ว่าจะยอมแพ้อยู่แล้วเชียว ทางนั้นเขาดันประกาศเลื่อนเวลาไปอีกวันสองวัน หรือไงนี่แหละ พ่อแม่ก็บอกว่าให้ฮึดสู้ไป น่าจะเสร็จทัน คืนนั้นเป็นความตราตรึงใจครั้งหนึ่งในชีวิตเลย ไม่เคยทุ่มเททำอะไรมากมายขนาดนี้ ตรากตรำมากแต่ก็ตั้งใจมาก นั่งทำอยู่ตรงชั้นพักบันได อาศัยแอร์ที่ลอดออกมาจากประตูห้องนอนช่วยคลายร้อน

    แม่ตื่นมาตอนเช้าเปิดประตูมาตกใจ ลูกชายที่ไม่ได้นอนทั้งคืนนั่งจ๋องข้าวของกระจัดกระจาย ส่งสายตาขอความช่วยเหลือ จากการคำนวณแบบขยายเวลาให้มากที่สุด ชิ้นงานจะต้องถูกส่งไปก่อนเที่ยงวันนี้ พ่อเลยยื่นมือเข้ามาเสกหน้าปกแบบลวกๆ แต่ดูดีตามคอนเซปที่เราอธิบาย แล้วรีบบึ่งไปไปรษณีย์ประทับตาอีเอมเอสส่ง เรียบร้อย ซึ่งความพยายามในครั้งนั้นก็ตอบสนองออกมาเป็นค่าที่พอใจ ผมชนะเลิศการประกวดนี้ (ได้รับ offer ทุนให้เรียนฟรี ม.กรุงเทพ สาจาไหนก็ได้จาก คุณเพชร โอสถานุเคาะห์ด้วย)

    เรื่องในคืนนั้นน่าจะเป็นเรื่องหลักที่สร้างทัศนคติหนึ่งให้กับผมทุกวันนี้ครับ มันคือความคิดที่ว่า

    'ถ้าเราพยายามและตั้งใจจนถึงที่สุด เราจะทำมันสำเร็จ'
    นอนหลับตอน : สิบเอ็ดโมงกว่า ในรถ ขากลับจากไปรษณีย์ น่าจะตื่นติดต่อกันเกือบ 30 ชั่วโมงได้

    ทุกวันนี้ก็ยังอยู่ไม่เปลี่ยนแม่แต่น้อย
    เมื่อเช้าตื่นหกโมง ตอนนี้จะตีหนึ่งก็ยังอดหลับอดนอนพิมพ์เรื่องราวอดนอนอดหลับอยู่เนืองๆ เริ่มง่วงแล้วสิเนี่ย

    เอาเป็นว่า ราตรีสวัสดิ์ครับ ขอให้ทุกคนฝันดี

    โจทย์
    Day 24 —Write about the longest amount of time you’ve ever gone without sleeping.
Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in