เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
THOU ART MENattawadee Kongsang
เขียนถึง "จากดวงจันทร์" To you "From the Land of the Moon"

  • หมายเหตุมีการเปิดเผยเนื้อเรื่องที่สำคัญ***

    ตราบเท่าที่มนุษย์ยังดำรงอยู่ “ความรัก” คงเป็นปริศนาของเขาวงกตแห่งห้วงอารมณ์อันปรารถนาและ..ในบางครา ก็ไม่น่าปรารถนาแม้ภายในจะปรารถนา..อยู่เสมอมา 

    มันเป็นอารมณ์ที่ทั้งซ่อนเร้นและเปิดเผยอยู่ในที ราวกับโชคชะตาที่คอยเล่นซ่อนแอบหยอกล้อกับมนุษย์ผู้เว้าแหว่งและอ่อนแอเหลือแสน ผ่านยุคผ่านสมัยที่ถ้อยคำแห่งความรักถูกส่งผ่านไปยังปลายทาง เราอาจเคยได้ยินเรื่องราวของผู้คนมากมายที่เขียนจดหมายถึง “คนรัก” 

    แต่น้อยคนนักที่จะกล้าเขียนจดหมายถึง “ความรัก”

    From the Land of The Moon” หรือชื่อไทยว่า “คลั่งเพราะรัก” ภาพยนตร์สัญชาติฝรั่งเศสที่กำกับโดย “นิโคล การ์เซีย” ซึ่งมีต้นเรื่องมาจากนวนิยายอิตาเลียน “จากดวงจันทร์” (Mal de Pietre) ของ “มิเลนา อากัส” นักเขียนหญิงชาวอิตาเลียน คือ จดหมายถึงความรักไร้ผู้รับปลายทางฉบับนั้น


    เรื่องราวของหญิงชาวบ้านแสนสวย “กาเบรียล” (มารียง โกตียาร์) ผู้ปรารถนาและไขว่คว้าหาความรักมาตลอดชั่วชีวิตของเธอแต่กลับต้องมาลงเอยอยู่กับคู่ชีวิตที่เธอไม่ได้รัก เมื่อพ่อแม่จับเธอแต่งงานกับชายแปลกหน้าที่มาพึ่งพิงทำงานในไร่ของพวกเขา “โฮเซ่” (อเล็กซ์ เบรนเดอมึล) ผู้สูญเสียทั้งบ้านและครอบครัวของตนในสมรภูมิของสงครามโลกครั้งที่สองที่เพิ่งสิ้นสุดลง กาเบรียลใช้ชีวิตคู่โดยไร้รักจนกระทั่งเธอถูกส่งไปรักษาโรคนิ่วที่เทือกเขาแอลป์ ที่นั่นเองที่เธอได้พบกับทหารผ่านศึกผู้มารักษาตัวจากโรคโลหิตเป็นพิษ “อองเดร” (หลุยส์ การ์เรล) ชายที่กาเบรียลเรียกว่าเป็น “ความรัก” ของเธอนับแต่นั้นมา

    หากจะกล่าวว่า “From the Land of the Moon” เป็นเรื่องราวของการตามหาความรักแท้อันสวยงามก็คงไม่ถูกต้องนัก ถ้าจะพูดให้ถูก คือ มันเป็นเรื่องราวที่กล่าวถึงความรักได้อย่างงดงามที่สุดเท่าที่มนุษย์คนหนึ่งจะสามารถตามหาและพ้นผ่านอย่างงดงามท่ามกลางความเว้าแหว่งได้

    ทุกภาพและเสียงที่ถ่ายทอดออกมาเต็มไปด้วยความละเมียดละไม ทั้งปล่อยให้จังหวะของเรื่องดำเนินไปตามความรู้สึกที่เนิบช้าแต่หนักหน่วงแล้วค่อยๆก่อตัวขึ้นจนไม่อาจกักเก็บไว้ได้อีกต่อไปเช่นเดียวกับความรู้สึกของตัวละคร ในขณะเดียวกันความรู้สึกอันขื่นขมและรวดร้าวรุนแรงแต่ไม่ฟูมฟายจนเกินเหตุก็คอยปกคลุมอยู่ในทุกครั้งที่ค่อยคลี่อ่านเรื่องราวผ่านแต่ละฉากตอนเมื่อ “ความรัก” ถูกเล่าออกมาผ่านมุมมองของกาเบรียลผู้เป็นตัวหลักของเรื่องโดยเริ่มเล่าจากช่วงเวลาปัจจุบันที่เธอล่วงเข้าสู่วัยกลางคนแล้ว มองดูเผินๆความปรารถนาแห่งรักราวจะดับลงหมดสิ้น หากที่แท้มันกลับไม่เคยมอดดับเลย เมื่อการเดินทางเพื่อพาลูกชายไปแข่งเปียโนในเมืองลียงอันเป็นที่อาศัยของชายหนุ่มที่เธอเรียกว่าความรักแม้เคยพบผ่านเพียงเวลาอันสั้นกลับเป็นจุดเริ่มต้นที่ห้วงอารมณ์นำเธอกลับมาวิ่งวนอยู่ในความคลั่งแห่งการถวิลหาความรักอีกครั้ง

    ตั้งแต่วัยสาว เจตจำนงแห่งอารมณ์รักของกาเบรียลประกาศกร้าวต่อโลกอยู่เสมอ ทั้งผ่านบทกวีอีโรติกที่เธอเขียนให้ชายหนุ่มที่เธอหลงรักแม้ว่าเขาจะมีครอบครัวอยู่แล้วก็ตาม จนเธอรวดร้าวเหลือแสนจากการถูกปฏิเสธความรักและนำไปสู่อุบัติเหตุที่เกือบคร่าชีวิต อีกนับครั้งไม่ถ้วนที่จดหมายรักของเธอถูกปฏิเสธ ร่างเปลือยเปล่ายืนอาบแสงจันทร์ที่ส่องเข้ามาจากบานหน้าต่างเสียงร้องอันเจ็บปวดของเธอฟังดูไม่เป็นถ้อยคำ 

    ผู้คนรู้เพียงแค่ว่ากาเบรียลเป็นบ้าและคลั่งผู้ชายแต่ไม่อาจล่วงรู้ได้ว่าความจริงเธอกำลังทุกข์ทนจากอะไร มีเพียงเธอเท่านั้นที่รู้ว่าความปวดร้าวที่คอยกัดกินข้างในไม่ได้มาจากความผิดหวังครั้งแล้วครั้งเล่าในความรักเท่านั้น เหนืออื่นใด เหตุการณ์ต่างๆล้วนตอกย้ำว่าเธอถูกสาปไม่ให้ได้รับสิ่งนั้น สิ่งที่เธอเฝ้าอธิษฐานต่อพระเจ้าแห่งความรักอยู่ทุกคืนวันว่า “หากพระองค์ไม่ปรารถนาจะมอบสิ่งสำคัญนั้นให้ฉัน ก็ขอให้ฆ่าฉันเสีย” ภายหลังการแต่งงาน เรื่องไม่ได้เล่าว่าเธอยังคงภาวนาเช่นเดิมอยู่หรือไม่ แต่สิ่งที่รู้คือกาเบรียลปฏิเสธพระเจ้านับตั้งแต่นั้น จวบจนกระทั่งได้พบกับอองเดรจึงค่อยหันกลับมายังกางเขนอีกครั้ง

    แม้ภายในสายตาคนอื่นกาเบรียลจะเป็นเพียงหญิงบ้าที่คลั่งผู้ชายและเพ้อฝันจนเกินเหตุ แต่สำหรับเธอเองความรักกลับเป็นสิ่งที่เธอปรารถนามากที่สุด เพราะนั่นเป็นชิ้นส่วนใหญ่ในชีวิตที่เธอเว้าแหว่งที่สุด 

    ความสัมพันธ์ระหว่างเธอกับแม่เป็นไปอย่างเย็นชาและห่างเหินมาตลอด การขาดแล้งความรักมาเป็นเวลานานยิ่งกระตุ้นให้ความปรารถนาในความรักของเธอเต็มล้นขึ้นจนควบคุมไม่อยู่และนำไปสู่อาการเพ้อฝันเป็นตุเป็นตะว่าได้รับความรักจากผู้ชายหรือการหาสิ่งมาแทนที่เพื่อระบายอารมณ์เมื่อเกิดเหตุการณ์ไม่ได้ดั่งใจด้วยการทำร้ายตัวเอง  อย่างในครั้งที่รู้ว่าครอบครัวต้องการให้แต่งงานกับโฮเซ่ชายที่เธอไม่ได้รัก แอนนา ฟรอยด์กล่าวถึงกลไกเหล่านี้ว่าเป็น “กลไกการป้องกันตัว” (Defense  Mechanism) ที่เกิดขึ้นเพื่อปกป้องจิตจากความคับข้องใจและรักษาสมดุลของโครงสร้างบุคลิกภาพไว้ไม่ให้สูญสลาย แม้ว่าการกระทำเช่นนั้นจะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงความเป็นจริงได้แต่อย่างน้อยมันก็ช่วยให้กาเบรียลมีชีวิตอยู่ต่อไปได้แม้จะต้องกลายเป็นคนเย็นชาและใจร้ายก็ตาม

    แม้กาเบรียลจะถูกมองเป็นสาวคลั่งรักและมีกิริยาท่าทางที่หลุดลอยไปในห้วงฝันเสมอจนบางครั้งก็ดูราวกับว่าเธอไม่ใช่มนุษย์ที่อาศัยอยู่บนโลกแต่เป็นหญิงสาวผู้มาจากดวงจันทร์ ต่อให้บางภาพฝันของเธอจะชัดเจนเสียจนเธอถือเชื่อเอาว่ามันเคยเกิดขึ้นจริง อย่างไรก็ตามความรู้สึกของเธอกลับไม่ใช่ภาพอันเพ้อฝัน มันเป็นความจริงเสียยิ่งกว่าความจริงที่อุบัติขึ้นเมื่อทุกความรู้สึกล้วนมีที่มาเสมอ การเติบโตมาท่ามกลางความเกรี้ยวกราดของแม่และความขาดวิ่นในความอบอุ่นส่งผลให้กาเบรียลปรารถนาที่จะครอบครองในสิ่งที่เธอไม่เคยได้โอบกอดเหนือสิ่งอื่นใด ซึ่งสิ่งนั้นก็คือความรัก 

    อับราฮัม มาสโลว์ซึ่งเป็นนักจิตวิทยาชื่อดังได้ให้ความเห็นถึงความปรารถนาต่อความรักไว้ใน “ทฤษฎีความต้องการตามลำดับขั้น” (Hierarchy of Needs) ว่าความรักเป็นหนึ่งในความต้องการขั้นพื้นฐานของมนุษย์ถัดมาจากความต้องการด้านร่างกายซึ่งจะยิ่งต้องการมากขึ้นหากไม่ได้รับการตอบสนองหรือเติมเต็ม กาเบรียลคือหนึ่งในตัวละครที่ปรารถนาความรักเช่นมนุษย์ทั่วไป หากแต่ “การแสดงออกถึงความปรารถนาในความรัก” ที่มากเกินคนอื่นกลับทำให้เธอกลายเป็นหญิงบ้าในสายตาของพวกเขาซึ่งนั่นก็มาจากการที่เธอขาดความรักและความอบอุ่นแม้กระทั่งจากครอบครัวของเธอเองมาเป็นเวลานาน

    การเติบโตมาด้วยการเลี้ยงดูของครอบครัวโดยเฉพาะแม่ที่นอกจากจะไม่เคยแสดงความรักแล้วกลับปฏิบัติต่อเธออย่างแข็งกร้าวและเหินห่างเสมอมา กาเบรียลกลายเป็นเพียงตุ๊กตาอันงดงามที่ดูไร้ชีวิต สิ่งที่น่าเศร้ายิ่งกว่าการที่เธอขาดหายในความรู้สึกรักจึงเป็นการที่เธอไม่เคยได้รับมันจนไม่รู้จักความรักและไม่อาจที่จะรักคนอื่นเป็น 

    เวอร์จิเนีย ซาเทียร์กล่าวถึงการเติบโตของเด็กไว้ว่าครอบครัวเป็นปัจจัยสำคัญต่ออุปนิสัยเมื่อครอบครัวเป็นดั่งโรงงานที่คอยผลิตผู้คนออกมา สอดคล้องกับความคิดของอัลเบิร์ต บันดูร์ต่อพฤติกรรมของมนุษย์ว่ามีผลมาจากการเรียนรู้และทำตามต้นแบบใกล้ชิดที่เห็น สิ่งที่กาเบรียลปฏิบัติต่อลูกชายในเวลาต่อมาเป็นเช่นเดียวกันกับสิ่งที่เธอได้รับจากการปฏิบัติของแม่ที่แม้จะไม่ได้แสดงออกมาในรูปแบบของความรุนแรงหรือเกรี้ยวกราดแต่กลับแสดงออกด้วยการโยกย้ายอุดมคติความเป็นอองเดรไปยังลูกของเธอด้วยการให้ลูกชายหัดเล่นเปียโนแทนโดยเฉพาะบทเพลง The seasons หมายเลข 6 June (barcarolle) ของไชคอฟสกี้ซึ่งเป็นเพลงโปรดของชายที่เธอเชื่อว่าเป็นพ่อของลูกเสมอมา 

    อย่างไรก็ตาม การยัดเยียดให้ลูกชายเป็นในแบบที่เธออยากจะรักยิ่งทำให้เธอรู้สึกขาดรักจากความเหินห่างและไม่ได้รับความรักตอบจากลูก เมื่อลูกชายของเธอกลับแสวงหาโฮเซ่ที่แม้จะไม่ค่อยพูดแต่ก็มอบความใกล้ชิดและอบอุ่นให้มากกว่า ในตอนหนึ่งแม่ของกาเบรียลพูดถึงลูกสาวคนโตของเธอว่าหล่อนดูไม่รักลูกเลย โฮเซ่ผู้สงวนถ้อยคำจึงได้แต่ตอบไปสั้นๆว่า “คงเพราะเธอก็โตมาแบบนั้นเหมือนกัน”

    ในอีกมุมหนึ่ง แม้การแสดงออกถึงความปรารถนาความรักอันมากเกินเหตุของกาเบรียลจะค้านสายตาแห่งกรอบเกณฑ์ของสังคม หากแต่เมื่อองค์ประกอบของมันคือความปรารถนาแห่งความรักอันเป็นส่วนหนึ่งของมนุษย์ เช่นนั้นแล้ว หญิงจากดวงจันทร์ผู้คลั่งรักคนนี้ก็ถือได้ว่าว่าเป็นมนุษย์เช่นกัน เธอไม่ได้ผิดแผกหรือแปลกแยกเลยเพียงแต่ยิ่งเธอเว้าแหว่งเธอจึงยิ่งตามหา 

    เมื่อนึกถึงภาพของสายน้ำที่ไหลผ่านส่วนบอบบางของเธอมันเป็นภาพที่ชวนให้ตั้งคำถามถึงการเปิดเผยความรู้สึกที่สังคมไม่อนุญาตให้เปิดเผย ทั้งๆที่มันเป็นส่วนหนึ่งของร่างกายไม่ต่างกับส่วนอื่นๆเช่นเดียวกับความรู้สึกอันรุนแรงของเธอซึ่งเป็นอีกหนึ่งความรู้สึกที่วิ่งวนอยู่ในใจไม่แตกต่างกันเลยกับความรู้สึกอีกมากมายที่ประกอบกันอยู่ในร่าง แล้วเหตุใดมันถึงไม่ได้รับอนุญาตให้ถูกสารภาพออกมาบ้าง 

    สิ่งเดียวที่ทำให้รู้ว่าเธอยังคงมีชีวิตและจิตใจในฐานะมนุษย์คือ “ความปรารถนาในความรัก” เช่นนั้นแล้วเจตจำนงในความรักของเธอจึงเป็นเจตจำนงอันบริสุทธิ์เฉกเช่นเดียวกับเจตจำนงที่จะมีชีวิตในฐานะมนุษย์ที่สมบูรณ์คนหนึ่งมิใช่หรือ



     “ยอดรักของฉันคุณไม่เคยตอบจดหมายฉันแม้แต่ฉบับเดียว ฉันทำอะไรผิด”

    คือถ้อยคำในจดหมายฉบับท้ายๆที่เธอเฝ้าเขียนถึงอองเดร หวังเพียงแค่เขาตอบกลับมาแล้วเธอจะละทุกสิ่งทุกอย่างทั้งบ้านริมทะเลและโฮเซ่ผู้เป็นสามีเพื่อหนีตามความรักของเธอไป ความเจ็บปวดจากการรอคอยการตอบกลับยังไม่เท่ากับการต้องยอมรับความจริงที่ว่าจดหมายทุกฉบับถูกตีกลับมายังบ้านร้างรักแห่งนี้โดยไม่เคยได้รับการเปิดอ่านเลย เช่นเดียวกันกับจดหมายจากเธอถึงพระผู้เป็นเจ้าที่แม้จะเฝ้าภาวนาด้วยความขื่นขมเพื่อร้องขอความรักครั้งแล้วครั้งเล่าแต่พระองค์ก็ไม่เคยส่งความรักมาให้เธอเลย ซ้ำยังตอกย้ำความรู้สึกของการถูกสาปเมื่อก้อนนิ่วที่อยู่ในท้องทำให้เธอไม่อาจมีลูกได้ 

    ภายหลังจากการพบกับอองเดรที่กลับมาอีกครั้งในห้องซาวน่าของโรงพยาบาลที่เธอเข้ารักษาโรคและได้ร่วมรักกับเขาตราบจนวันสุดท้ายที่อยู่ด้วยกัน ณ โรงพยาบาลแสนเศร้าที่อบอวลไปด้วยความรักอันผลิบานแห่งนั้น ราวกับความเจ็บปวดทุกอย่างจะสูญสลาย ก้อนหินในท้องของเธอถูกกำจัดออกไปแต่อองเดรจากไปและไม่เคยกลับมา

    Mal de Pierres” แปลอย่างตรงตัวได้ว่า “ความเจ็บปวดของก้อนหิน” 

    หากก้อนหินไร้ชีวิตแล้วเหตุใดมันจึงยังรู้สึกเจ็บปวด 

    ก้อนหินที่อยู่ในท้องของกาเบรียลตอกย้ำและเพิ่มความทุกข์ทนจากความรู้สึกเป็นคนถูกสาปให้ร้างรัก เธอไม่ยอมเข้ารับการรักษาเพราะเธอไม่ปรารถนาและไม่เชื่อว่ามันอาจมีวันสูญสลายไม่ว่าจะก้อนนิ่วหรือคำสาปใดๆ ตราบจนที่เธอมีหวังและกำลังใจจะกำจัดมันอีกครั้งเมื่อได้พบความรักที่เธอใฝ่ฝัน  การเข้ามาของอองเดรและการจากไปของก้อนนิ่วจึงเป็นนัยยะถึงความทุกข์ทนที่บุคคลเลือกที่จะถือเอาไว้เองจนกว่ากาเบรียลจะอนุญาตให้ตัวเองรู้จักรักและปลดปล่อยมันออกไป หากแต่ปัญหาอยู่ที่กาเบรียลติดอยู่กับความรักในอุดมคติ เหมือนที่ซิกมันด์ ฟรอยด์เรียกว่า Ideal Love ซึ่งเป็นการเลือกคนรักจากภาพที่เราคาดหวังให้เขาเป็นมากกว่าที่เขาเป็นจริงๆ ความรักในรูปแบบอื่นใดที่ผ่านมาในชีวิตของเธอจึงไม่ถูกรู้สึกและมองเห็น เพราะในความคิดของเธอ มันไม่ใช่ความรักในแบบที่ความปรารถนาของเธอรู้จัก ชั่วชีวิตจึงได้เพียงแต่วิ่งตามหาความรักที่ไม่เคยมีจริง 

    แม้ปรารถนาจะได้ความรัก เมื่อออกวิ่งตามก็ไม่ได้มา แต่เมื่อมันมาอยู่ตรงหน้าก็กลับพบว่าไม่ใช่ความรักอันปรารถนา เพราะเธอไม่รู้จักด้วยซ้ำว่าหน้าตาของความรักอันแท้จริงเป็นอย่างไร 

    ปราศจากความรัก เธอจึงไร้ชีวิต เป็นเหมือนก้อนหินที่ทำได้แค่ทุกข์ทน 

    แต่ในขณะเดียวกัน เมื่อลองถอยจากการเล่าเรื่องผ่านมุมมองของเธอสู่การเล่าเรื่องในมุมแห่งการเห็นจริงตามเส้นเรื่อง ในตอนท้าย เธอไม่ใช่เพียงก้อนหินก้อนเดียวในเรื่องที่ต้องบาดเจ็บจากการถูกตีกลับความรัก 

    โฮเซ่ก็เช่นกัน เป็นก้อนหินอีกก้อนที่ต้องทุกข์ทน




    บทเพลง The seasons หมายเลข 6 June (barcarolle) ของไชคอฟสกี้ปรากฏตัวอยู่ตลอดทั้งเรื่อง บทเพลงกล่าวถึงเดือนมิถุนายนซึ่งเป็นเดือนของจูโน่ผู้เป็นเทพเจ้าแห่งการแต่งงาน ขณะเดียวกันเดือนนี้ก็เป็นเดือนที่พระอาทิตย์ส่องสว่างมายังโลกยาวนานที่สุด บทเพลงนี้ที่กาเบรียลเห็นอองเดรบรรเลงในโรงพยาบาล...เป็นบทเพลงเดียวกันกับที่คอยบรรเลงประกอบทั้งเรื่องโดยไม่เห็นว่าใครเป็นคนบรรเลงกันแน่ เสียงเปียโนที่คลออยู่ในทุกช่วงตอนของทั้งเรื่องราวกับเป็นจดหมายตอบจากพระเจ้าว่าสิ่งสำคัญที่เธอปรารถนานั้นพระองค์ได้ส่งมาให้นานแล้ว เพียงแค่เธอจะใช้ใจในการรับรู้ในรู้สึกของมัน

    โน้ตเพลงที่ไต่ขึ้นราวจะบอกว่าความรักได้สาดส่องและก่อตัวขึ้น ไออุ่นของมันคอยปรากฏและเร้นแฝงอยู่ชิดใกล้เสมอ เพราะความรักก็เป็นเช่นนั้น ไม่อาจรับรู้ได้เพียงตาเห็นแต่ต้องใช้ใจรู้สึก เพียงแต่การจมปลักในความปรารถนาต่อความรักในอุดมคติทำให้กาเบรียลมองไม่เห็นความรักอย่างที่มันเป็น

    เปรียบได้กับดวงจันทร์ ตัวมันเองอาจคิดว่าการเป็นดาวเคราะห์และไร้แสงในตัวเองนั้นช่างอับโชค ได้แต่วิ่งตามแสงของดวงอาทิตย์เพื่อค้นพบว่าจะต้องถูกลืมในเวลากลางวัน แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่อาจรู้เลยว่าตัวของดวงจันทร์เองนั้นสำคัญต่อโลกถึงเพียงไหน หากนี่เป็นจดหมายจากดวงจันทร์ ไม่ว่ากาเบรียลจะเป็นดวงจันทร์ของดวงอาทิตย์ดวงไหนก็ตาม แต่โฮเซ่คือดวงจันทร์ที่เฝ้าโคจรตามกาเบรียลเสมอมาเช่นกัน

    หากจะบอกว่ากาเบรียลมีชีวิตอยู่โดยถูกสาปให้ไม่ได้รับความรักก็คงจะไม่ถูกนัก เมื่อในตอนสุดท้ายที่เส้นเรื่องวนกลับมายังช่วงเวลาปัจจุบันสู่การเดินทางในเมืองลียงอีกครั้ง ภาพที่ถอยออกมาและเปลี่ยนมุมทำให้รู้ว่าเรื่องกำลังถูกเล่าด้วยมุมที่ต่างออกไป แม้ทั้งเรื่องจะเปรียบเสมือนกับจดหมายของกาเบรียลต่อความรักที่เธอไม่เคยได้รับการตอบกลับ แต่ภายหลังจากที่เธอได้รับรู้ความจริงซึ่งโฮเซ่ปิดบังมาเนิ่นนานเกี่ยวกับเรื่องราวที่เกิดขึ้นครั้งไปรักษาโรคนิ่วที่เทือกเขาแอลป์ จึงทำให้ได้รู้ว่าในอีกมุมหนึ่งโฮเซ่เองก็เป็นผู้ส่งจดหมายที่กาเบรียลไม่ยอมรับเช่นกัน

    ด้วยวิธีของการเปลี่ยนมุมมองเรื่องเช่นนี้จึงชวนให้คิดตามว่าแท้จริงแล้วมันอาจจะไม่ใช่ความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นจากการไม่ได้รับความรัก แต่เป็นโศกนาฏกรรมของการไม่รู้จักรักและรู้สึกถึงความรักที่โอบกอดอยู่ต่างหาก 

    ในตอนท้ายกาเบรียลถามโฮเซ่ว่าเพราะเหตุใดเขาจึงไม่บอกความจริงแก่เธอ คำตอบของโฮเซ่แม้ไร้คำว่ารักอยู่ในประโยคแต่กลับอบอุ่น ชวนให้นึกถึงคำพูดของมหาตมะคานธีประโยคหนึ่งที่ว่า “ที่ใดมีรัก ที่นั่นมีชีวิต” เพราะสุดท้ายแล้ว คนหนึ่งยอมเป็นก้อนหินที่ต้องเจ็บปวดและไร้ชีวิตเพียงอย่างน้อยให้อีกคนได้รู้สึกถึงความรักเพื่อจะได้มีชีวิต

    ยอมมอบชีวิตของตนให้คนที่รักได้มีชีวิตต่อไป...เพียงเท่านี้ก็พอแล้ว

    From the Land of The Moon” ไม่เพียงแต่นำเราไปสู่การตั้งคำถามต่อความรักและความเป็นมนุษย์ผ่านเรื่องราวที่เล่าด้วยภาพและเสียงซึ่งแฝงนัยยะไว้อย่างมีชั้นเชิงเพียงเท่านั้น แต่ความงดงามของมันยังชวนให้เราลองถอยออกมามองตนเองในอีกมุม เช่นเดียวกับมุมมองเรื่องที่ถอยออกมาในตอนท้ายซึ่งนำไปสู่การเผชิญหน้ากับความจริงเพื่อแสวงหาผู้รับจดหมายถึง “ความรัก” ของเราที่อาจอยู่ใกล้ตัวจนมองข้ามไปอย่างน่าเสียดาย...ไม่ว่าจะเป็นความรักในรูปแบบใดก็ตาม 

    สุดท้ายแล้วมันอาจไม่ใช่เพียงการโยนก้อนหินแห่งความทุกข์ทนทิ้งไปด้วยตัวของเราเอง แต่เป็นการรับรู้ว่าจดหมายจากดวงจันทร์ผู้ปรารถนาจะถูกรักจะไม่ถูกตีกลับอย่างรวดร้าวหากเจ้าของจดหมายถึง “ความรัก” ฉบับนั้นรู้จักความรักซึ่งเป็นผู้รับอย่างแท้จริง 

    เมื่อย้อนกลับมาสู่ประโยคหนึ่งที่กาเบรียลเคยพูด เธอถาม “ฉันควรวิ่งตามความรักไหม” 

    ก่อนจะตอบคำถามนี้ได้และเขียนจดหมายถึง “ความรัก” สักฉบับ เราอาจจะต้องย้อนกลับมาถามตัวเองก่อนว่า “ฉันรู้จักความรักหรือไม่..” และ “..รู้จักที่จะรักแล้วหรือยัง”

Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in