เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
A day in AmericaAnn Saengsuri
06: TOEFL
  • กลับมาเข้าเรื่องการเตรียมตัวสอบ TOEFL (Test of English as a Foreign Language) ต่อ หลายๆคนคงจะสงสัยว่าคะแนนสอบโทเฟลสำคัญยังไงในการเรียนต่อมหาลัยที่อเมริกา มหาลัยที่นี่จะรับนักเรียนต่างชาติเข้าเรียนต่อโดยมีข้อกำหนดให้คะแนนสอบภาษาอังกฤษไม่ต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนด มหาลัยแต่ละแห่งมีเกณฑ์ต่างกัน แต่ส่วนใหญ่คะแนนต่ำสุดคือ 550 สำหรับ Paper based Test หรือ 79 สำหรับ Computer- based Test

    เหตุผลที่ต้องทำเช่นนี้เพราะการเรียนการสอนของที่นี่เป็นภาษาอังกฤษทั้งหมด ถ้าผู้เรียนมีความรู้ภาษาอังกฤษแค่ขั้นพื้นฐาน จะเป็นอุปสรรคในการเรียนระดับที่สูงขึ้นไปมาก ฉันมาเข้าใจเหตุผลตอนที่เริ่มเรียนวิชาที่ต้องใช้คำศัพท์ยากๆมากขึ้น

    ฉันเปลี่ยนมาเรียนติวที่โรงเรียนสอนภาษา Language Systems International (LSI) โรงเรียนนี้มี 4 สาขาในแอลเอ ฉันเลือกเรียนสาขาดาวน์ทาวน์แอลเอ เพราะใกล้ที่สุด ฉันไม่รู้หรอกว่าคุณภาพการสอนเป็นยังไง แต่ที่เลือก LSI เพราะเป็นโรงเรียนสอนภาษาที่ค่าเทอมถูกมาก เรียน 5 วันต่อสัปดาห์ จ่ายเพียงเทอมละ 1000 เหรียญเท่านั้น

    การสอบโทเฟลในปี 2005 เป็นแบบ Paper based Test (PBT) ซึ่งเน้นไวยากรณ์และศัพท์เป็นหลัก อาจารย์ที่ LSI เน้นติวข้อสอบโทเฟลที่เป็นส่วนแกรมม่า คำศัพท์และรากศัพท์ต่างๆ อาจจะแทรกการฟัง อ่าน และเขียนบ้าง ฉันคิดว่ามันคล้ายๆกับการเรียนติวโทเฟลที่เมืองไทยนะ แต่ต่างกันที่อาจารย์ที่นี่อธิบายได้ดีและยกตัวอย่างที่ทำให้เราเข้าใจได้ง่ายกว่า

    ทางโรงเรียนจะจัดสอบ TOEFL Practice test ทุกเดือน เพื่อให้นักเรียนที่พร้อมได้มาลองสนามสอบ ฉันลองสอบครั้งแรกหลังจากเรียนไปได้สองเดือน คะแนนสอบออกมาไม่ถึง 550 คงต้องฟิตกันต่ออีกนานกว่าจะพร้อมไปสอบจริง

  • ระหว่างเรียนติวเพื่อสอบโทเฟล ฉันได้ทำงานไปด้วย เพื่อหาเงินจ่ายค่าเช่าบ้านอันแสนแพง ฉันย้ายไปอยู่ย่าน West LA กับเพื่อนร่วมคลาสที่เรียน SMC มาด้วยกัน ค่าเช่าบ้านเลยแพงกว่าที่เดิมเยอะ

    งานใหม่คืองานรับโทรศัพท์ในร้านอาหารไทยใกล้ๆ UCLA (University of California, Los Angeles) ฉันทำงานสัปดาห์ละ 3 วัน วันละ 3 ชั่วโมง ได้ค่าจ้างชั่วโมงละ 10 เหรียญแถมสั่งอาหารฟรีได้หนึ่งรายการ ทำให้ฉันประหยัดเงินค่าข้าวไปเยอะและได้กินอาหารไทยบ่อยขึ้น 

    ผลพลอยได้อีกอย่างของการทำงานนี้ คือได้ฝึกฟังและพูดไปในตัว การสื่อสารทางโทรศัพท์นั้นยากกว่าการสนทนาที่เห็นหน้ากัน เพราะเราไม่สามารถอ่านปากและเห็นการแสดงออกทางสีหน้าของคู่สนทนาได้ มีหลายครั้งที่ฉันจดเบอร์โทรศัพท์และที่อยู่ของลูกค้าผิด ฉันโดนตำหนิจากคนส่งอาหารบ่อยๆ

    ทุกๆวันฉันจะท่องคำศัพท์ที่เน้นออกในข้อสอบโทเฟลวันละ 20 คำ ส่วนไวยากรณ์อาศัยเรียนที่โรงเรียนเอา ตรงไหนไม่เข้าใจก็ถามอาจารย์ก่อนกลับบ้าน เหลือแค่การฟังที่ฉันต้องพยายามอย่างมาก การเขียนก็ฝึกบ้าง แต่ฉันไม่ได้ใส่ใจกับมันมากนักเพราะไม่ได้เอามาคิดคะแนนในตอนสอบ

    หลังจากผ่านการเรียนไปแล้วสามเดือน ฉันกลับมาทดลองสอบอีกครั้งนึง รอบนี้ฉันสอบผ่านได้ 580 คะแนน ตอนนั้นฉันประเมินตัวเองว่าพร้อมที่จะไปลุยสนามสอบจริงแล้ว

    ฉันเตรียมพร้อมที่จะสอบโทเฟล PBT หน่วยงานที่จัดสอบคือ Educational Testing Service (ETS) ราคาสอบประมาณ 160 เหรียญ ถือว่าแพงมาก ถ้าไม่พร้อมแล้วไปลงสอบรับรองว่าเสียเงินฟรีแน่นอน ฉันไม่เชื่อว่าตัวเองจะโชคดีสอบผ่านโดยไม่มีการเตรียมตัวที่ดี แต่ไม่อยากรอต่อไปแล้ว เลยขอลุยสักตั้ง

  • ฉันลงสอบครั้งแรกได้คะแนน 540 ฉันโมโหตัวเองมากที่ขาดไปแค่สิบแต้ม ฉันเรียนรู้ข้อผิดพลาดจากการสอบครั้งแรก รู้จุดอ่อนของตัวเองว่าไม่แม่นคำศัพท์ที่มีความหมายใกล้เคียงกัน (Synonym) และตรงกันข้าม (Antonym) ฉันตั้งใจท่องคำศัพท์มากกว่าเดิม มันยากนะสำหรับคนที่ไม่ถนัดการท่องจำแต่ฉันก็พยายามทำมันทุกวัน

    ฉันไปสอบครั้งที่สองได้ 580 คะแนน พร้อมที่ยื่นเรียนต่อแล้ว แต่ตอนนั้นยังคิดไม่ตกว่าจะเรียนต่อด้านไหน มหาลัยไหน และที่สำคัญคือเรื่องเงิน ฉันไม่ได้มีเงินเก็บมากพอที่จะจ่ายค่าเรียนต่อปริญญาโทได้ภายในปีหน้า ยังเหลือการสอบ GMAT หรือ GRE ที่ยังไม่ได้เริ่มเตรียมตัวด้วยซ้ำ 

    " การเรียนต่อปริญญาโทที่อเมริกานี่มันยุ่งยากเหลือเกิน มาทำอะไรวะเนี่ย " ฉันบ่นกับตัวเองบ่อยขึ้นและเริ่มท้อเมื่อคิดถึงการต้องนั่งท่องศัพท์ GRE อีกหลายร้อยคำ

    ฉันเริ่มเคว้งคว้าง ไม่รู้ว่าจะเอายังไงต่อดี ช่วงปลายปีอย่างเดือนธันวา ก็หมดเขตรับสมัครเรียนของเทอมหน้าแล้ว การเตรียมตัวเรียนต่อโดยเริ่มจากศูนย์อย่างฉัน มีเวลาแค่สิบเดือนทำให้เตรียมตัวไม่ทันจริงๆ

    คริสมาสปีแรกมาเยือน เอกเป็นเพื่อนที่เมืองไทยแต่เรียนอยู่รัฐอื่นแวะมาเที่ยวที่แอลเอกับเพื่อนเค้า ฉันทำหน้าที่เป็นเจ้าบ้านที่ดีด้วยการพาเพื่อนไปเที่ยวเล่นซะทั่วแอลเอ แถมขับรถไปเที่ยวซานฟรานซิสโก (San Francisco) และอุทยานแห่งชาติโยเสมิติ (Yosemite National Park) มันช่วยให้ฉันหยุดกังวลเรื่องเรียนต่อไปได้ในช่วงสั้นๆ ฉันมีเวลาคิดทบทวนความต้องการของตัวเองหลังจากเพื่อนกลับไป... 

    " ถ้าเรียนต่อโทมันหนักเกินไป มีเงินเก็บไม่พอ ไม่ได้รบกวนเงินทางบ้าน ทำไมเราถึงไม่ลงเรียนอะไรที่ไม่ยากเกินไป ไม่ต้องกดดันตัวเองมาก คงต้องเรียนไปทำงานเก็บเงินไปก่อนจนกว่าจะพร้อม แล้วค่อยลุยต่อ " ฉันลดความทะเยอทะยานเรื่องเรียนต่อปริญญาโทลง

  • การตัดสินใจเรียนต่อใน LA เลยเป็นทางเลือกของฉัน เหตุผลหลักคงเป็นเพราะมีงาน (นอกโรงเรียน) ให้ทำมากกว่าไปเรียนในรัฐอื่น ฉันสามารถหาเงินพอที่จะจ่ายค่าเช่าบ้าน ค่าเรียนต่อ และเหลือเก็บไว้ไปเที่ยวบ้างเล็กน้อย ฉันขอยอมรับว่าได้ผันตัวเองไปเป็นกลุ่มเด็กไทยที่มาเรียนไปแอบทำงานไป ขอย้ำอีกครั้งว่า

    ** การทำงานนอกโรงเรียนโดยถือวีซ่านักเรียนนั้นผิดกฏหมาย โปรดใช้วิจารญาณในการตัดสินใจก่อนที่จะปฏิบัติตามใคร ** 

    ฉันได้เจอกับเป็ปซี่ เพื่อนเก่าที่เรียนมหาลัยที่เมืองไทยด้วยกันโดยบังเอิญ เป็ปซี่มาเรียนภาษาอังกฤษที่ UCLA และเรียนต่อประกาศนียบัตร​ของ UCLA Extension เป็ปซี่แนะนำให้ฉันไปลองเรียนที่นี่ดู เพราะค่าเรียนไม่แพง มีหลายสาขาให้เลือกและอาจารย์บางท่านก็เป็นอาจารย์ที่สอนหลักๆใน UCLA 

    ฉันเอาคะแนนโทเฟลที่สอบได้ ไปสมัครเรียน Cert. ที่เป็ปซี่แนะนำ นั่นก็คือการค้าระหว่างประเทศ (International trade and commerce) เป็นหลักสูตรประกาศนียบัตรที่ใช้เวลาเรียนประมาณ 1-2 ปี ทั้งหมด 30-36 หน่วยกิจ รวมๆแล้วประมาณ 10-12 วิชา

    ข้อดีของการเรียนที่ UCLA Extension คือ เอื้ออำนวยให้คนที่ทำงานมีโอกาสมาเรียนได้ เวลาเรียนส่วนใหญ่จะเป็น 6 โมงเย็นหรือเสาร์อาทิตย์เช้า ฉันสามารถทำงานช่วงเช้าแล้วไปเรียนต่อได้ช่วงเย็นอย่างสบายๆ

    สำหรับคนที่ไม่ลงเรียนเต็มหน่วยกิจ (part time student) คือลงเรียนแค่เทอมละหนึ่งหรือสองวิชา ทางมหาลัยจะไม่ออก I-20 ให้ ต้องไปลงทะเบียนกับโรงเรียนสอนภาษาเพื่อให้มี I-20 ที่จะยืนยันสถานะนักเรียนที่ถูกกฏหมาย เสียเงินสองที่ซึ่งไม่คุ้มและไม่แนะนำ

  • โรงเรียนสอนภาษาส่วนใหญ่จะต่อ I-20 ให้ปีต่อปี เมื่อครบสามปีไม่สามารถต่อได้ หน่วยคนเข้าเมือง (US Immigration) ไม่อนุญาตให้เรียนภาษาเกินสามปี ถึงเวลาที่นักเรียนต้องสมัครเข้าเรียนมหาลัยหรือเรียนต่อสาขาอาชีพอื่นๆ มีนักเรียนหลายคนที่ไปลงเรียนต่อด้านคอมพิวเตอร์พื้นฐาน ผู้ช่วยหมอฟัน และต่อ I-20 มาได้เรื่อยๆ โดยไม่ได้เข้าชั้นเรียน

    บางโรงเรียนที่มีชื่อเสียงเรื่องการออก I-20 ให้นักเรียนต่างชาติแต่ไม่บังคับให้นักเรียนมาเข้าเรียน อิมมิเกรชั่นจะมาสุ่มตรวจโรงเรียนเหล่านั้น ถ้าไม่เจอนักเรียนที่มีชื่อในคลาสที่ลงทะเบียนไป อิมมิเกรชั่นมีสิทธิ์จะเปลี่ยนสถานะวีซ่านักเรียนให้เป็นโมฆะและส่งกลับประเทศได้ ส่วนทางโรงเรียนจะโทรตามนักเรียนให้มาเข้าเรียน เพราะอาจจะโดนปิดโรงเรียนด้วยเช่นกัน


    " I-20  หรือ Certificate of Eligibility for Nonimmigrant Student Status เป็นแบบฟอร์มเอกสารที่แสดงสถานะว่าเราเป็นนักเรียนต่างชาติที่ถูกต้องตามกฏหมาย และได้ลงเรียนในหลักสูตรของโรงเรียนที่ออกเอกสารรับรองให้ " 

  • ตึกที่เรียนประจำในยามค่ำคืน Royce Hall, UCLA
Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in
Benyatip Tanudom (@fb2284017051857)
อยากถามเรื่องเรียนต่อมากเลยค้า ถ้าไม่เป็นการรบกวนมากไป อยากขอ contact ได้ไหมคะ