เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
การวิจารณ์เป็นมิตรกับคนทั่วไปอ่าน-คิด-เขียน
The 8th, หรือเพราะเทพนิยายเห็นว่า “การแยกทาง” เป็นเรื่องปวดร้าว
  • ที่มาภาพ: https://m.se-ed.com/Product/Detail/9786167751177

           “สีที่เเปดของรุ้งกินน้ำ” เป็นหนึ่งในรวมเรื่องสั้น “เจ้าหงิญ” ผลงานชิ้นเอกของ บินหลา สันกาลาคีรี ที่ได้รับรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์) ประจำปี พ.ศ. 2548 สงสัยไหมคะ ทำไมถึงเป็น “เจ้าหงิญ” แทนที่จะเป็น “เจ้าหญิง”? ก็เพราะ “เจ้าหญิง” ในเรื่องสั้นทั้งแปดเรื่องนี้ไม่ใช่เจ้าหญิงธรรมดา ในโอกาสนี้เราจะพาผู้อ่านไปทำความรู้จักกับเจ้าหญิงน้อยและรุ้งสีที่แปดจากเรื่อง “สีที่เเปดของรุ้งกินน้ำ”

          เจ้าหญิงน้อยในเรื่องนี้เป็นแก้วตาดวงใจเพียงหนึ่งเดียวของพระราชาและพระราชินี ทั้งคู่แยกทางกัน ราชินีได้ผ่าครึ่งพระราชวังแล้วคั่นกลางด้วยแม่น้ำ ทำให้เจ้าหญิงต้องข้ามฝั่งแม่น้ำเพื่อแบ่งเวลาอยู่กับทั้งคู่คนละ 12 ชั่วโมงเท่า ๆ กันทุกวัน เจ้าหญิงมีนิสัยเอาแต่ใจมาก วันหนึ่งเธอต้องการเอา “รุ้ง” มาเป็นของตัวเอง เมื่อพระราชาและพระราชินีทราบดังนั้น แม้รู้ว่าเป็นไปไม่ได้และสร้างความหนักใจให้ตัวเองอย่างมากเเต่ก็ยังทำทุกวิถีทางเพื่อนำมารุ้งมาให้ลูก เมื่อเวลาผ่านไปเจ้าหญิงไม่อยากได้รุ้งแล้ว และขอให้พระราชากับพระราชินีกลับมาคืนดีกัน ทั้งคู่ปฏิเสธ บอกเพียงว่า จะเป็นไปได้ก็ต่อเมื่อรุ้งมีแปดสีเท่านั้นแหละ ทว่าเมื่อมีรุ้งแปดสีปรากฏขึ้นมาจริง ๆ เจ้าหญิงก็ยังคงต้องว่ายน้ำไปกลับระหว่างสองวังเช่นเดิม

           หากอ่านเผิน ๆ เรื่องนี้คงจะเหมือนวรรณกรรมครอบครัวทั่วไปที่พูดถึงเหตุการณ์บ้านแตกสาแหรกขาด ลูกกลายเป็นเด็กมีปัญหาเอาแต่ใจ แต่เมื่อมองอย่างลุ่มลึกแล้ว จะเห็นมิติความเชื่อมโยงระหว่างสถาบันครอบครัวและสภาพแวดล้อมภายนอกรวมถึงบริบทสังคมต่าง ๆ แล้วจะพบว่านี่ไม่ใช่เรื่องของเด็กบ้านแตกเอาแต่ใจอย่างที่เคยเจอ

    ที่มาภาพ: https://unsplash.com/photos/AO3otVvlMU8

         “หรือเพราะเทพนิยายเห็นว่าการเเยกทางของพ่อเเม่เป็นเรื่องปวดร้าวไม่สมควรที่เด็ก ๆ จะได้ยินได้ฟัง”

            ด้วยเหตุนี้เทพนิยายจึงมักจบลงเมื่อเจ้าหญิงเจ้าชายจุมพิตกันและอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุขตลอดกาล ไม่เคยมีเทพนิยายเรื่องใดที่พระราชาและพระราชินีลงเอยด้วยการหย่า แต่ในชีวิตจริงแล้วไม่ได้เป็นเช่นนั้น เพราะหลายคู่ลงท้ายด้วยการเเยกทาง ทว่าการแยกทางของคู่รักนั้นเป็นจุดจบที่น่าเศร้าจริงหรือ?

            คนในสังคมไทยส่วนใหญ่อาจจะยังมีทัศนคติต่อครอบครัวที่พ่อเเม่เลิกรากันว่าเป็นครอบครัวที่ล้มเหลว ลูกจะกลายเป็นเด็กมีปัญหา อันที่จริงแล้ว การกล้ำกลืนฝืนทนที่จะใช้ชีวิตคู่ทั้ง ๆ ที่ไม่มีความสุขอาจส่งผลเสียต่อสมาชิกครอบครัวมากกว่า ไม่ว่าจะเป็นความทรมานทางจิตใจ หรือในกรณีร้ายแรงที่สุดอาจทำให้เกิดความเจ็บปวดทางกายเนื่องมาจากการใช้ความรุนแรงในครอบครัวได้

            การแยกทางกันจึงไม่ใช่จุดจบของชีวิตคู่ แต่เป็นการเริ่มต้นใหม่เสียด้วยซ้ำ การตัดสินใจยุติความสัมพันธ์ถือเป็นความกล้าหาญอย่างหนึ่ง คนมักจะพูดว่าความรักเป็นเรื่องยาก แต่การแต่งงานเป็นเรื่องยากกว่า ในเมื่อความรักมาถึงจุดที่กลับตัวก็ไม่ได้ ให้เดินต่อไปก็ไปไม่ถึง หนทางเดียวที่ทำได้คือการทบทวนตัวเองแล้วก้าวออกมาหาเส้นทางใหม่ คือ การหย่าร้าง นั่นเอง 

            ข้อมูลจากการสำรวจของกระทรวงมหาดไทยพบว่า อัตราการหย่าร้างของคู่รักตลอด 10 ปีที่ผ่านมา (ตั้งเเต่ พ.ศ. 2549 ถึง พ.ศ. 2559) เพิ่มขึ้นจากเดิมถึง 33% เหตุผลการหย่าร้างมีมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความแตกต่างทางทัศนคติ ความแตกต่างจากพื้นเพครอบครัว หรือแม้แต่เหตุผลที่ว่าวันหนึ่งเมื่อลืมตาขึ้นมาก็รู้สึกหมดรักไปเสียดื้อ ๆ และความรักบางครั้งก็ไม่สามารถเอาชนะทิฐิระหว่างคนสองคนได้ ดังพระราชาและราชินีในเรื่อง หากมองดี ๆ แล้วยังเห็นความรักที่ทั้งคู่มีให้กัน เช่น การที่พระราชาหวนคำนึงถึงความสวยงามของรุ้งเมื่อได้เจอกับพระราชินีครั้งแรก หรือหยาดน้ำตาของทั้งคู่เมื่อปาฏิหาริย์รุ้งแปดสีปรากฏ แต่สุดท้าย ก็ไม่สามารถก้าวข้ามแม่น้ำทิฐิที่กั้นขวางทั้งคู่ไว้ นิสัยที่หมือนกันอย่างมากจนยอมถอยให้กันไม่ได้ เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ทั้งคู่จบด้วยการแยกทาง เห็นได้จากวิธีเลี้ยงลูก เช่น การจัดหาทุกสิ่งที่เจ้าหญิงอยากได้มาให้ ทั้งเสื้อผ้า ตุ๊กตาเป็นหมื่น ๆ ตัว รวมถึงวิธีการที่จะเอารุ้งมาให้เจ้าหญิง ทั้งคู่ก็กระทำเหมือนกัน คือ เริ่มจากการใช้หนทางทางการทูต ส่งพระราชสาสน์ให้รุ้งมาเยือน เมื่อไม่สำเร็จจึงใช้กำลังทหารล้อมจับรุ้ง จนถึงขั้นตอนสุดท้ายพระราชาและพระราชินีก็ใช้วิธีไม่ต่างกัน

            นอกจากสาเหตุที่กล่าวมาข้างต้นเเล้ว ความเป็นปัจเจกบุคคลเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลต่อชีวิตคู่ ในอดีตคนเราจะยึดโยงคุณค่าของตัวเองเข้ากับสิ่งรอบตัว เราเป็นส่วนหนึ่งของสังคมที่ใหญ่กว่าเสมอ ไม่ได้ปลีกวิเวกอยู่คนเดียว ยกตัวอย่างเช่น ในยุคสมัยตอนต้นของยุโรป (Early Modern) เป็นช่วงเวลาในคริสต์ศตวรรษที่ 16-18 คนจะยึดโยงคุณค่าของตัวเองเข้ากับหน่วยที่ใหญ่กว่าเสมอ ไม่ว่าจะเป็นครอบครัวหรือว่าศาสนจักร คนไม่ได้มองตัวเองในฐานะปัจเจก คือ ไม่ได้มองว่าฉันคือนายโทมัส แต่มองว่าฉันเป็นสมาชิกของตระกูล Gozzadini หรือเป็นคริสต์ศาสนิกชนนิกายคาธอลิค

            การแนะนำตัวว่าสมาชิกของตระกูลใด ๆ นั้นเรียกว่า The Familioself  ซึ่งคือตัวตนที่ผูกพันกับครอบครัวนั่นเอง ด้วยเหตุนี้คนในสมัยก่อนจึงให้คุณค่ากับหน่วยที่ใหญ่กว่า ไม่ได้คำนึงถึงความเป็นปัจเจกหรือตัวตนของเราที่ไม่ได้ยึดโยงกับสิ่งรอบข้าง ส่งผลให้คนในยุคสมัยนั้นแทบจะไม่มีความคิดที่จะแยกตัวออกมาจากครอบครัว หรือน้อยคนนักที่จะมีความคิดเรื่องการหย่าร้าง เมื่อเวลาผ่านไปสภาพสังคมก็เปลี่ยนไป การพัฒนาทางเทคโนโลยี ความตื่นรู้ในคุณค่าของมนุษย์ ทำให้แนวคิดเรื่องความเป็นปัจเจกมีอิทธิพลขึ้นมา คนให้ความสำคัญกับความเป็นตัวเองมากขึ้น การให้คุณค่าของชีวิตมนุษย์ในฐานะปัจเจกนั่นเอง เป็นเหตุให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางความคิดมากมาย รวมถึงทัศนคติที่มีต่อการหย่าร้างเช่นกัน

    ที่มาภาพ: https://pixabay.com/photos/mother-depressed-homeless-baby-3477164/

            การใช้ชีวิตคู่ที่ต้องปรับลดตัวตนของเราเพื่อให้เข้ากับอีกฝ่าย นานวันเข้าอาจทำให้สูญเสียความเป็นตัวตนได้ การตัดสินใจหย่าร้างจึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่สามารถรักษาคุณค่าของปัจเจกบุคคลไว้ได้  ในสถานการณ์ปัจจุบัน เห็นได้ว่าแม่หลายคนมีภาวะซึมเศร้าหลังคลอด นอกจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนแล้ว ยังเกิดจากความกดดันที่ได้รับในฐานะแม่ด้วย ในเรื่องสั้น "สีที่แปดของรุ้งกินน้ำ"  ไม่ระบุเหตุผลแน่ชัดที่พระราชากับพระราชินีแยกทางกันดังข้อความที่ว่า

         “ไม่มีใครชี้ชัดว่าความระหองระแหงเกิดขึ้นเมื่อใด มายอมรับความจริงเมื่อพระราชินีผ่าครึ่งพระราชวังรื้อไปสร้างใหม่คนละฝั่งเเม่น้ำ”

            เมื่อนำปรากฏการณ์ทางสังคมย้อนกลับไปมองวรรณกรรม เป็นไปได้หรือไม่ว่าความขัดแย้งในชีวิตคู่ของสองคนนี้สะสมมาเรื่อย ๆ โดยที่ทั้งคู่ไม่รู้ตัวจนมาถึงจุดแตกหัก หากมองพระราชินีเป็นผู้หญิงคนหนึ่งในสังคมสมัยนี้ การตัดสินใจแยกทางของเธออาจเป็นผลมาจากอาการซึมเศร้าหลังคลอด ซึ่งมาพร้อมกับความกดดันในฐานะแม่

            เรื่องสั้นสะท้อนว่า บทบาทการเป็นแม่ไม่ใช่เรื่องแย่ แต่การที่ผู้หญิงคนหนึ่งเมื่อเป็นแม่แล้ว บทบาทอื่นที่เธอเคยมีได้ถูกลบหายไป เนื่องจากการให้คุณค่าของคนรอบข้างที่ไม่ได้มองเธอในฐานะปัจเจกชน แต่มองว่าเธอคือแม่ของใครหนึ่งคน ยกตัวอย่างเช่น นางเอเคยเป็นพนักงานดีเด่นสามปีซ้อน เป็นบัณฑิตเกียรตินิยมอันดับหนึ่งแต่สุดท้ายเมื่อแต่งงาน ตัวตนของเธอก็เหลือเพียงสถานะแม่ของเด็กหญิงบี ความภาคภูมิใจในอดีตเริ่มเลือนหายไปพร้อม ๆ กับตัวตนที่แท้จริงของเธอ สิ่งนี้ยิ่งตอกย้ำให้เห็นภาพจากผู้หญิงที่เคยมีคุณค่าในฐานะคนเก่งมีความสามารถ เหลือเพียงสถานะแม่คนหนึ่ง จึงไม่ใช่เรื่องเเปลกเท่าไหร่นัก หากผู้หญิงคนหนึ่งเลือกที่จะเดินออกจากชีวิตคู่เพื่อรักษาตัวตน ความภาคภูมิใจ และคุณค่าของเธอเอาไว้

            นอกจากนี้บริบทของสังคมที่เปลี่ยนไปก็ส่งผลให้ผู้หญิงมีบทบาทในการหาเลี้ยงครอบครัวมากขึ้นต่างจากในอดีตที่หน้าที่หาเลี้ยงครอบครัวเป็นของผู้ชาย ทำให้ผู้ชายมีอำนาจนำในการปกครองครอบครัว กรณีของพระราชินีอาจจะเข้าข่ายนี้ได้ เพราะครั้งแรกที่พระราชาและพระราชินีพบกัน ทั้งคู่ประทับใจในความงดงามของกันและกัน พระราชินีเป็นผู้หญิงที่เต็มไปด้วยความสง่างาม แต่เมื่อเธอกลายเป็นแม่คน ความสง่างามในฐานะราชินีและความงดงามในฐานะหญิงสาวก็ค่อยๆ เลือนหายไปพร้อมกับชีวิตคู่  อีกประการหนึ่งคือ สังคมไม่มีพื้นที่ให้ผู้หญิงแสดงความสามารถ แต่ในปัจจุบันเมื่อผู้หญิงมีสิทธิมากขึ้นและสามารถหาเงินได้โดยไม่ต้องพึ่งพาสามี ทำให้มีอิสระทางการเงิน ซึ่งอิสระดังกล่าวนำไปสู่อิสรภาพในชีวิต ผู้หญิงสามารถเลือกเดินจากไปโดยไม่ต้องกังวลเรื่องการหาเลี้ยงชีพหรือสถานะทางการเงิน จากในเรื่องเห็นได้ว่าพระราชินีไม่มีข้อจำกัดทางการเงิน ทำให้สามารถตัดสินใจแยกทางกับพระราชาได้อย่างง่ายดาย ด้วยสถานะของพระราชินีมีกำลังทรัพย์ กำลังคน และอำนาจมากพอที่จะเลี้ยงดูเจ้าหญิงได้ดีเหมือนอย่างที่พระราชาทำ อิสรภาพทางการเงินทำให้ไม่มีใครมีใครด้อยไปกว่ากันในความสัมพันธ์นี้ กลับกันหากเกิดขึ้นในครอบครัวที่ภรรยาต้องพึ่งพาสามีในการหาเลี้ยงชีพ การตัดสินใจแยกทางคงเป็นเรื่องยากกว่า

         “หรือเพราะเทพนิยายเห็นว่า การเเยกทางของพ่อเเม่เป็นเรื่องปวดร้าวไม่สมควรที่เด็ก ๆ จะได้ยินได้ฟัง”

            ผู้เขียนเกิดความสงสัยว่า ทำไมผู้ใหญ่จึงมักคิดไปว่าเด็ก ๆ ไม่รู้เรื่องรู้ราว ทั้งที่จริงแล้วลูกก็เป็นสมาชิกครอบครัวคนนึง ควรได้รับรู้เรื่องราวที่เกิดขึ้น การตัดสินใจหย่ากันโดยที่ลูกไร้บทบาท สุดท้ายคนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือลูก การกระทำเช่นนั้นอาจทำให้เด็กรู้สึกว่าเขาไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว

            จากข้อความที่กล่าวไปทั้งหมด ชีวิตของเจ้าหญิงเป็นตัวอย่างของลูกที่ได้รับผลกระทบจากการตัดสินใจของพ่อแม่ แม้ชีวิตของเจ้าหญิงนำเสนอให้เห็นว่าการหย่าร้างไม่ใช่เรื่องเลวร้ายหรือเรื่องน่าเศร้า เจ้าหญิงยังคงความสุขสบายดีและได้รับการดูแลอย่างดีที่สุดเท่าที่พระราชาและพระราชินีจะสามารถทำได้ และเจ้าหญิงยังคงเป็นแก้วตาดวงใจของทั้งคู่เช่นเดิม การหย่ากันของพ่อกับแม่ไม่ได้ทำให้ความรักที่มีต่อลูกหายไปหรือเปลี่ยนไป  แต่ในบางมุม เจ้าหญิงเองก็ยังคงได้รับผลกระทบเช่นกัน เพราะการที่ผู้ใหญ่เห็นว่าเจ้าหญิงยังเด็กคงไม่เข้าใจอะไรมากนัก เห็นได้จากข้อความที่ว่า

         “เด็กสี่ขวบที่ไหนบ้างเล่าสามารถถ่ายทอดความรู้สึกลึก ๆ จากในหัวใจ”

            แต่หากสังเกตอย่างรอบคอบจากคำบอกเล่าของผู้เล่าเรื่อง พฤติกรรมที่เธอแสดงออกนั่นแหละบ่งบอกว่าเธอรู้สึกเช่นไร และตามการรับรู้ของเด็กต่อการหย่าร้างของพ่อแม่นั้น เด็กอายุ 2-5 ขวบพอเข้าใจว่าพ่อแม่แยกกันอยู่ แต่ไม่รู้ว่าเพราะเหตุใด เจ้าหญิงที่อายุ 4 ขวบก็มีความเข้าใจตามนั้น เห็นได้จากการที่เธอเดินทางไปกลับระหว่างสองพระราชวังได้โดยไม่งอแง

         “เจ้าหญิงน้อยเป็นเด็กที่ตื่นไม่ยาก แต่เมื่อตื่นแล้วก็ยากที่จะเรียกว่าเด็กน่ารักต่อไปได้ สิ่งแรกที่พระองค์ทำหลังจากตื่นคือการแผลงฤทธิ์เอาแต่ใจตัวเอง”

            ตัวละครเจ้าหญิงถูกนำเสนอในภาพของเด็กเอาแต่ใจทำให้คนอาจมองว่าเธอเป็นเด็กไม่น่ารัก เเต่เเท้จริงเเล้วอะไรที่ส่งผลให้เจ้าหญิงเเสดงออกมาเช่นนั้น พฤติกรรมที่ไม่น่ารักนี้ เกิดจากตัวเธอจริง ๆ หรือ? เธออาจทำเพื่อสื่อให้พระราชาและพระราชินีรับรู้ความต้องการที่เเท้จริง เหมือนเด็กทารกที่ร้องไห้เมื่อหิวหรือไม่สบายตัว การที่เจ้าหญิงอายุสี่ขวบแล้วยังทำพฤติกรรมที่ไม่น่ารักอาจเพราะเธอไม่เคยมีใครบอกถึงวิธีการแสดงออกที่ถูกต้องก็เป็นได้ ดังข้อความที่กล่าวว่า

         “ไม่เคยมีใครถามว่าเจ้าหญิงมีความสุขเเค่ไหน...ที่ไม่ถามก็เพราะพระราชาพระราชินีต่างกลัวคำตอบที่จะได้รับ”

            ความรักอย่างท่วมท้นของพระราชาและพระราชินีได้มองข้ามความความต้องการของเจ้าหญิงไป พวกเขามอบของขวัญที่ยิ่งใหญ่อลังการให้เธอเสมอ แต่มักจะไม่ได้ฟังสิ่งที่เจ้าหญิงปรารถนาจริง ๆ หรือจากการที่จัดหาตุ๊กตาและชุดมาเป็นหมื่นตัวให้เลือก เเต่สุดท้ายเจ้าหญิงก็เลือกที่จะใส่ชุดโปรดชุดเดิม จุดนี้สะท้อนให้เห็นว่า ปัญหาหลักคือการที่พ่อเเม่ไม่สื่อสารกับลูกให้ชัดเจน 


    ที่มาภาพ: https://unsplash.com/photos/P2lk-0bBVm0

    สีที่เเปดของรุ้ง

            เมื่อกล่าวถึงสายรุ้ง ภาพเเรกที่ปรากฏคงไม่พ้นสายรุ้งเจ็ดสี เป็นตัวแทนความสดใสไร้เดียงสาของเด็กสาววัยเเรกแย้ม รุ้งให้ภาพของเรื่องราวที่มีตอนจบสวยงาม Happy Ending เเต่ในเรื่องนี้สายรุ้งของเจ้าหญิงกลับไม่เป็นอย่างนั้น เพราะสุดท้ายเเล้วเมื่อรุ้งสีที่แปดปรากฏพระราชาและพระราชินีก็ไม่ได้กลับมาอยู่ด้วยกันดังที่เจ้าหญิงปรารถนา สายรุ้งไม่เคยเป็นวงกลมที่เต็มวง มันจะปรากฏในรูปของครึ่งวงกลมเสมอ แสดงให้เห็นว่าแม้แต่ผลผลิตของธรรมชาติอย่างเช่นสายรุ้งก็ไม่เคยสมบูรณ์ แล้วจะนับประสาอะไรกับชีวิตของมนุษย์ที่ผันแปรอยู่เสมอคาดเดาไม่ได้เหมือนสายรุ้งที่ไม่มีใครรู้ว่าจะปรากฏขึ้นเมื่อไหร่ นึกจะมาก็มา นึกจะไปก็ไป เมื่อเราเข้าใจสัจธรรมของรุ้งแล้วก็จะเข้าใจชีวิต  ทำให้เราทุกข์น้อยลงเหมือนที่เจ้าหญิงเข้าใจว่าครอบครัวไม่จำเป็นต้องอยู่ด้วยกันก็มีความสุขได้

         “พระราชินีถอนหายใจเฮือก โธ่เอ๊ย นึกว่าอะไร เเท้เเล้วพระธิดาก็มองหาเจ้าสิ่งแสนธรรมดา ๆ บนท้องฟ้านี่เอง”

         “รุ้งไงลูก ไม่มีอะไรหรอก”

            จากข้อความดังกล่าว เกิดคำถามว่าทำไมพ่อแม่ของเจ้าหญิงมองว่ารุ้งเป็นสิ่งธรรมดา ในขณะที่เจ้าหญิงตื่นเต้นเป็นอย่างมาก สำหรับเธอรุ้งพิเศษกว่าตุ๊กตาหมื่นตัวหรือช้างบินได้เสียอีก ทำให้เห็นว่าในบางครั้งการเติบโตก็ได้ช่วงชิงแววตาอันสดใสของเราไป  มีเพียงวัยเยาว์เท่านั้นที่สัมผัสได้ เช่น ความงามของรุ้งนั่นเอง เมื่อเทียบเวลาที่พ่อกับแม่ใช้ชีวิตบนโลกแล้ว เข็มนาฬิกาชีวิตของเจ้าหญิงเพิ่งจะเริ่มเดินไม่นานนัก ความสดใหม่แห่งวัยเยาว์ยังคงเปล่งประกายจ้า หมอกควันแห่งการเติบโตยังไม่บดบังดวงจิตสดใสนี้ อีกนัยหนึ่ง เจ้าหญิงก็ไม่ได้ต่างจากรุ้ง รุ้งที่ประดับฟ้ายามกลางวันให้งดงาม เหมือนดังที่ดาวประดับท้องฟ้ายามค่ำคืนให้แวววาวระยับตา ท้องฟ้านั้นกว้างใหญ่แต่หากปราศจากสิ่งประดับประดา ความไพศาลนั้นคงจะอ้างว้างอยู่ไม่น้อย เหมือนชีวิตของพระราชาและพระราชินีที่แม้จะมีอำนาจมากมาย แต่สุดท้ายสิ่งที่ทำให้ทั้งคู่รู้สึกว่าโลกนี้ยังคงสวยงาม คือเจ้าหญิงนั่นเอง เพราะเธอเกิดจากการตกผลึกของความรักเหมือนดังที่รุ้งเกิดจากการตกผลึกของแสง ที่สำคัญรุ้งแปดสีสำหรับเจ้าหญิงเป็นสัญลักษณ์ของการเติบโตและได้เรียนรู้ถึงสัจธรรมบนโลก เจ้าหญิงได้เรียนรู้ที่จะอดทนรอ และเข้าใจว่าบางสิ่งเเค่ได้เฝ้ามองก็เพียงพอเเล้ว ดังข้อความที่ว่า

         “เจ้าหญิงรู้แล้วว่ารุ้งไม่ใช่ลูกหมา ต่อให้ร้องจนคอแตกตาย พ่อแม่ก็ไม่สามารถสรรหามาให้เธอได้ มีก็แต่พลอยจะกลุ้มตายตามไปด้วย”

            เจ้าหญิงผู้เคยร่ำร้องจะครอบครองรุ้งให้ได้ บัดนี้เข้าใจแล้วว่ารุ้งนั้นไม่ใช่รักที่เธอฝันใฝ่แต่เป็นความรักที่เธอเข้าใจ

         “หยาดน้ำตาไหลจากตาด้วยปีติ เธอรู้ว่าเธอมาที่นี่เพื่ออะไร เเต่ปากกลับพูดไม่ออกบอกไม่ได้”

           ทันทีที่น้ำตาแห่งความเข้าใจหยดลงบนแก้มกระทบกับจูบเเห่งการปลอบโยนของสายรุ้งนั้น ก็เป็นวินาทีเดียวกับที่สายรุ้งสีที่แปดปรากฏเป็นสีชมพูระเรื่อที่เจือพวงแก้มของเจ้าหญิง การปรากฏตัวของรุ้งครั้งนี้ทำให้เจ้าหญิงผู้ไร้เดียงสาได้เติบโตขึ้น และรู้เดียงสา

         “ทั้งพระราชาและพระราชินีสบเนตรกันโดยบังเอิญ...ตะลึงในความมหัศจรรย์นั้นครู่หนึ่งก่อนจะลดลงมาสบเนตรกันอีกครั้ง หากคราวนี้ภาพที่เห็นกลับพร่างพรายคล้ายมีหยาดน้ำบดบัง”

            แม้ว่าทั้งคู่ต่างเคยเอ่ยไว้ว่าจะคืนกันดีต่อเมื่อมีรุ้งแปดสีปรากฏขึ้น แต่เมื่อมีรุ้งแปดสีปรากฏขึ้นจริง ทั้งคู่ได้ตระหนักว่าความรักนั้นยังคงอยู่ แต่พระราชาและพระราชินีก็รู้แก่ใจว่าตัวเองไม่ใช่เจ้าชายและเจ้าหญิงเหมือนดังในวันแรกที่รุ้งปรากฏอีกแล้ว กงล้อแห่งโชคชะตาได้หมุนมาหาพวกเขาแล้วครั้งหนึ่งและจะไม่หมุนย้อนกลับมาอีก

            เพราะเมื่อเติบโตจึงได้เรียนรู้...ในวันที่สายเกินไปว่าอะไรที่โยงใยความผูกพัน 


    จดหมายถึงผู้อ่าน เพื่อเพิ่มอรรถรสของการอ่าน <3

    1. แนะนำให้ผู้อ่าน อ่านเรื่องสั้น "สีที่แปดของรุ้งกินน้ำ" จากหนังสือรวมเรื่องสั้น “เจ้าหงิญ” ก่อน แล้วจึงอ่านบทความนี้ตามค่ะ
    2. เมื่ออ่านบทความ The 8th, หรือเพราะเทพนิยายเห็นว่าการแยกทางเป็นเรื่องปวดร้าว แนะนำให้ฟังเพลง ใจความสำคัญ - Musketeers เพื่อให้เกิดความรู้สึกร่วมกับพวกเราค่ะคลิก Musketeers - ใจความสำคัญ (Ost. รักหมดแก้ว Love On The Rocks)                                     ป.ล. บทความเรื่องนี้ได้รับแรงบันดาลใจจาก เพลง ใจความสำคัญ ของ Musketeers 

    บรรณานุกรม

            บินหลา สันกาลาคีรี. (2548). เจ้าหงิญ. กรุงเทพฯ: มติชน.

            ปณชัย อารีเพิ่มพร. (2560). ‘หย่าไม่ได้แปลว่าล้มเหลว’ มุมมองการหย่าร้างที่เปลี่ยนไปในสังคมไทย | THE MOMENTUM. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก https://themomentum.co/momentum-feature-divorce-not-fail/ (วันที่สืบค้นข้อมูล : 20 กันยายน 2564)

            วินัดดา ปิยะศิลป์ .(2563). เตรียมลูกเพื่อเผชิญกับการหย่าร้างของพ่อแม่. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก http://www.thaipediatrics.org/Media/media-20200527131823.pd (วันที่สืบค้นข้อมูล: 22 กันยายน 2564)

            สำนักข่าว.(2561). เปิดสถิติ 10 ปี คนไทยหย่าร้างมากขึ้นถึง 12%. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก
    https://tna.mcot.net/tna-248127 (วันที่สืบค้นข้อมูล: 22 กันยายน 2564)

            เอกสารประกอบการเรียน วิชา 2201485 แนวทางการศึกษาวรรณคดีและวรรณกรรมไทย โดย ผศ.ดร.น้ำผึ้ง ปัทมะลางคุล

            เอกสารประกอบการเรียน วิชา 2204377 ประวัติศาสตร์ยุโรปตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 16 ถึง คริสต์ศตวรรษที่ 18 โดย ผศ.ดร.ตุลย์ อิศรางกูล ณ อยุธยา


    ที่มาภาพปก https://unsplash.com/photos/dUbKcgu0zjw

    © สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ (ฉบับเพิ่มเติม) พ.ศ. 2558

    บทวิจารณ์โดย...ณัฎฐณิชา เจริญพร และสมรทอง พูลภักดี

    บทวิจารณ์นี้เป็นผลงานจากรายวิชา 2201482 นวนิยายและเรื่องสั้น ปีการศึกษา 2564
    เผยแพร่เพื่อประโยชน์ทางวิชาการเท่านั้น ไม่อนุญาตให้ทำซ้ำหรือดัดแปลง

    บรรณาธิการ: หัตถกาญจน์ อารีศิลป
    กองบรรณาธิการ: อัลวานี นาดามัน และศราวุธ วังหลวง

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in