เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
การวิจารณ์เป็นมิตรกับคนทั่วไปอ่าน-คิด-เขียน
โศกนาฏกรรมจากความหวังดี
  • บทวิจารณ์เรื่องสั้น “บุญคุณ”  ในหนังสือรวมเรื่องสั้นชุด ชำเรา ของ พิราอร กรวีร์ 

    ที่มาภาพ: https://porcupinebook.com/shop/9786167831312/ (สนพ.เม่นวรรณกรรม)

            เรื่องสั้น “บุญคุณ”  ในหนังสือรวมเรื่องสั้นชุด ชำเรา ของ พิราอร กรวีร์ เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับลูกสาวชื่อ “ปาย” ที่ต้องอยู่ให้ได้ด้วยตัวคนเดียวหลังการจากไปของแม่โดยไม่ได้ทิ้งเหตุผลเบื้องหลังการจากไปให้เธอรู้ แม้ทั้งสองจะไม่ได้อยู่ด้วยกัน แม่ของปายก็ยังส่งข้อความสวัสดีมาให้เธอในไลน์ทุกวันเพื่ออวยพรเธอและบอกว่าแม่ยังสบายดี  อยู่มาวันหนึ่ง แทนที่จะมีเสียงข้อความแจ้งเตือนจากแม่ดังขึ้นเหมือนทุกที กลับเป็นเสียงโทรไลน์หาปายแทน  ปายได้รู้สาเหตุที่แท้จริงว่าทำไมแม่ถึงจากเธอไป แท้ที่จริงแล้ว แม่ของปายเสียชีวิตไปตั้งแต่ 1 ปีก่อน ส่วนคนที่ส่งไลน์มาสวัสดีเธอตอนเช้าแทนทุกวันเป็นเวลา 1 ปี ก็คือ “หมี่” ลูกของเพื่อนสนิทของแม่

            ในเรื่องสั้น เราจะเห็นได้ว่า แม่ของปายมีความคิดแบบสุดโต่ง เธอมองว่า ค่านิยมการเลี้ยงดูพ่อแม่ในยามท่านเจ็บป่วยเพื่อแสดงบุญคุณตอบแทนพระคุณพ่อแม่ของลูกนั้น เป็นเรื่องที่เธอไม่เห็นด้วยอย่างมากและหากเป็นเธอเสียเองที่ต้องป่วยไข้ เธอจะไม่นำคำว่า “บุญคุณ” มาใช้ในการเหนี่ยวรั้งให้ลูกดูแลตนเอง ดังตัวอย่างที่เธอเคยกล่าวกับปายว่า

         “มีคนเคยบอกไว้ว่า พ่อแม่ที่รักลูกมากจะยอมอดทนอยู่กับความเจ็บปวดทรมานขณะเจ็บป่วยให้นานที่สุด เพื่อให้ลูก ๆ ได้มีเวลานานที่สุดในการแสดงความกตัญญู ดูแลพ่อแม่ยามเจ็บป่วยอย่างดีที่สุด ให้ลูกได้ชื่อว่าเป็นลูกกตัญญู เพิ่มบุญความดีให้ลูก เรื่องนี้เธอไม่เห็นด้วยอย่างมาก ชีวิตของเธอ เธอขอรับผิดชอบเอง หาหนทางดูแลตัวเอง ไม่ควรทำให้ใครมาเดือดร้อน วุ่นวายใจ เสียเงิน เสียเวลา เสียกำลังใจ บั่นทอนจิตใจคนอื่น เธอไม่ทำเด็ดขาด” (น. 60)

           ฉะนั้น พอแม่ของปายรู้ว่าตนเองป่วยเป็นมะเร็ง เธอกลัวว่าตนเองจะกลายเป็นภาระของปาย เธอไม่อยากให้ใครมาเป็นภาระและไม่อยากเป็นภาระใคร  ประกอบกับแนวคิดเรื่อง "บุญคุณ" ที่ลูกต้องเลี้ยงดูพ่อแม่ในยามเจ็บป่วย ซึ่งเป็นแนวคิดที่เธอคัดค้านและไม่เห็นด้วยอย่างมาก  เธอจึงตัดสินใจที่จะเดินออกมาจากชีวิตของปาย แม้ว่าเธอจะรักปายมาก เพราะไม่อยากให้ปายต้องมาทนลำบากเลี้ยงดูตนเอง และไม่อยากใช้คำว่าบุญคุณมาเป็นสิ่งเหนี่ยวรั้งให้ปายต้องมาดูแลตนเองที่ป่วยหนัก เธอคิดว่าการเลือกเดินออกมานี้จะเป็น “ความหวังดี” ที่เธอสามารถมอบให้ปายได้ ในความตอนหนึ่ง เธอพูดกับปายก่อนจากมาว่า

         “คนเราเลือกเกิดไม่ได้ แต่เมื่อเกิดมาแล้ว ชีวิตควรเป็นของตัวเราเอง ใช้ชีวิตอย่างมีความสุข ไม่ให้ใครมาเป็นเจ้าบุญคุณและไม่เป็นหนี้บุญคุณใคร ไม่ต้องถูกใครกดดันและไม่กดดันใคร ไม่ต้องให้ใครมาเป็นภาระและไม่เป็นภาระใคร ทำสิ่งที่ถูกต้องไม่ไปเบียดเบียนใคร ต้องอยู่ให้ได้ด้วยตัวเอง” (น. 59) 

           ยิ่งไปกว่านั้น แม้ว่าแม่ของปายจะจากปายไป และไม่ยอมรับโทรศัพท์หรือกลับมาหาปายอีก แต่เธอใช้การสื่อสารผ่านแอปพลิเคชั่นไลน์ เป็นเหมือนพื้นที่ในการส่งต่อความหวังดีให้ปายด้านจิตใจ แม้ว่าตัวของทั้งคู่จะห่างไกลกัน แต่เธอยังสามารถส่งต่อความหวังดีและบอกว่าเธอยังสบายดีผ่านข้อความสวัสดีที่จะส่งหาปายตอนตี 5 เป็นประจำทุกวัน

           การวางแผนส่งต่อความหวังดีผ่านข้อความสวัสดีทางไลน์นี้ ยังวางแผนไปถึงยามที่เธอตาย เธอฝากฝังให้เพื่อนสนิทของเธอส่งไลน์สวัสดีต่อให้ปายทุกวันเหมือนเดิม พร้อมกับห้ามไม่ให้เพื่อนบอกเรื่องนี้กับปาย เพราะเธอคิดว่าปายจะเข้าใจเอง เข้าใจว่าสิ่งที่เธอคิดทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่ดีที่สุดและเป็นความหวังดีที่แม่ทำเพื่อปายทั้งนั้น ส่วนปายเองก็จะได้สบายใจเพราะคิดว่าเธอยังคงมีชีวิตอยู่ ยังคงแข็งแรงสามารถส่งคำสวัสดีตอนเช้าให้ปายได้ทุกวัน

           แต่ความหวังดีทั้งหมดที่แม่ทำให้ปายและคิดว่าจะเป็นสิ่งที่ “ดี” ต่อตัวปาย  ดีต่อปายจริง ๆ เหรอ?

    ที่มาภาพ: https://unsplash.com/photos/-2eJaLtf_bI

           เวลาเราพูดถึงการหยิบยื่นความหวังดีให้แก่ผู้อื่น เราปฏิเสธไม่ได้ว่าสิ่งที่บ่งชี้ว่าความหวังดีนั้นเป็นเรื่องที่ดีจริง ๆ หรือไม่ คือความหวังดีนั้นเกี่ยวข้องไปถึงคำว่า “ผู้ให้” และ “ผู้รับ” ด้วย ถ้าสิ่งที่เราในฐานะผู้ให้หยิบยื่นสิ่งที่คิดว่าเป็นความหวังดีสำหรับตัวเราให้ผู้อื่นซึ่งอยู่ในสถานะผู้รับ แล้วผู้รับเกิดไม่ชอบใจหรือทุกข์ใจจากความหวังดีนั้นที่เราหยิบยื่นให้  แบบนี้เรายังสามารถเรียกความหวังดีที่เราให้ผู้อื่นโดยพลการนี้ว่าเป็น “ความหวังดี” ได้อยู่หรือไม่

           เช่นเดียวกับกรณีของแม่กับปาย ความหวังดีที่แม่คิดว่าจะเป็นสิ่งที่ดีต่อตัวปายนั้น ทั้งเรื่องการจากปายไป การส่งสวัสดีผ่านไลน์แต่ไม่พูดคุยถามไถ่กันถึงเรื่องอื่น ๆ  การวานให้ผู้อื่นส่งข้อความสวัสดีต่อแม้ในวันที่ตนเองได้เสียชีวิตลงแล้ว  รวมไปถึงไม่อธิบายให้ปายรับรู้ความจริงเกี่ยวกับสิ่งที่เธอทำและโรคที่เธอเป็น  สิ่งเหล่านี้แท้จริงแล้วก็เป็นความหวังดีที่เกิดจากการคิดแทนของแม่ในฐานะ “ผู้ให้” เธอใช้อำนาจในการตัดสินใจที่เธอมี  คิดแทนและคิดเผื่อปายจนท้ายที่สุดเป็นการบังคับให้ปายในฐานะ “ผู้รับ” ต้องใช้ชีวิตในแบบที่เธออยากให้เป็นตามความคิดของเธอ

          “ฉันอยู่ได้ด้วยตัวเองแล้ว ฉันเข้มแข็งแล้ว ฉันมั่นคงแล้ว ฉันบอกแต่เรื่องดี ๆ ให้เธอรู้ แต่ฉันอยากรู้เรื่องของเธอบ้าง ฉันเคยทำผิดกฎโทร. หาเธอ แต่เธอก็ใจแข็งไม่ยอมรับสาย ไม่ยอมคุยกับฉัน เธอรักฉันมากนี่นา ฉันไม่เข้าใจ ฉันไม่ต้องห่วงเธอเพียงเพราะเธอยังมีชีวิตอยู่เท่านั้นจริงหรือ หรือเธอไม่ต้องการฉันมากกว่า

           ฉันเกิดมาโดยไม่มีข้อผูกมัด ฉันถูกรักโดยไม่มีข้อแม้ ฉันรักเธอโดยไม่มีคำถาม แต่ฉันไม่อาจอยู่ข้างเธอเพราะข้อบังคับของเธอ” (น. 59)

           จากตัวอย่างคำพูดของปายที่ยกมา แสดงให้เห็นว่าปายต้องทำตาม “ความหวังดี” ซึ่งเป็นการบังคับกลาย ๆ ของแม่ให้ปายต้องเข้มแข็ง ต้องอยู่ให้ได้ด้วยตัวเอง แม้แม่ของเธอจะจากเธอไปโดยไม่บอกกล่าวเหตุผลอะไรกับเธอเลย และแม้ในยามที่เธอคิดถึง อยากพูดคุยกับแม่ เธอไม่มีแม้แต่โอกาสที่จะทำสิ่งเหล่านั้นได้ ไม่มีข้อยกเว้น ไม่มีการผ่อนปรน เพราะมันคือข้อบังคับของแม่ เป็นข้อบังคับที่แม่มองว่าการติดต่อและพูดคุยกันให้น้อยที่สุดน่าจะเป็นสิ่งที่ดีต่อตัวเธอทั้งคู่ และปายไม่อาจละเมิดข้อบังคับนี้ได้ เพราะละเมิดไปก็ได้รับเพียงการเมินเฉยจากผู้เป็นแม่ และแม่คงไม่มีวันยอมใจอ่อนเพราะนี่คือสิ่งที่แม่ของปายยึดถือเป็นกฎเหล็กแห่งความหวังดีที่มีต่อตนเองและต่อตัวปาย


    ที่มาภาพ: https://unsplash.com/photos/Sw8LdXgIsUY

           นอกจากนี้ เรายังได้เห็นอีกว่า แม้ปายจะบอกว่าตัวเองเข้มแข็งมากแค่ไหน แต่ภายในใจของเธอนั้นกลับไม่ได้มีความสุขกับความหวังดีที่แม่มอบให้เธอเลย อย่างเช่นตัวอย่างที่เธอพิมพ์สวัสดีตอบกลับแม่ไปว่า

         “สวัสดีวันอังคาร บัวชมพูอ่อนหวาน ฉันรักคนส่ง (ฉันรักเธอแต่แรกเห็น) ฉันรอคนส่ง (ฉันอยากให้เธอกลับมา) ฉันรอเธอเปลี่ยนใจ (ฉันอยากคุยกับเธอเหมือนเก่า) ฉันหวังจะได้ยินเสียงของเธออีกครั้ง (ฉันอยากได้ยินเสียงที่คุ้นหู)” (น. 56)

         “สวัสดีวันศุกร์เมฆจางฟ้าใส ฉันอยากมีความสุขหอมแก้มนิ่ม ฉันอยากชุ่มชิดใกล้ได้โอบกอด ฉันอยากได้หนุนตักได้พร่ำพรอด ฉันอยากออดอ้อนใจแนบอกเธอ” (น. 58)

           จากสองตัวอย่างที่ยกมา เราจะเห็นได้ว่าความสุขที่ปายต้องการอย่างแท้จริงและเป็นสิ่งที่ดีต่อเธอคือ การได้อยู่กับแม่ ได้โอบกอด ได้หนุนตัก ได้บอกรักแม่ของเธอ เธอจึงหวังว่าแม่จะมองเห็นถึงสิ่งที่เป็นความหวังดีต่อเธออย่างแท้จริง และเปลี่ยนใจกลับมาอยู่กับเธอ

           ไม่เพียงปายไม่มีความสุขจากความหวังดีนี้ แต่เธอยังต้องทนทุกข์กับมันยิ่งกว่าเดิมหลังจากวันที่เธอได้รู้ความจริงว่าแม่ของเธอจากไปด้วยโรคมะเร็งเป็นเวลาถึง 1 ปีแล้ว และเหตุที่เธอต้องทุกข์ทนไม่ใช่เพราะเธอไม่เข้าใจในความหวังดีของผู้เป็นแม่ แต่เพราะเธอเข้าใจแม่และความหวังดีนั้นมากเกินไปต่างหาก ในวันที่เธอรู้ความจริงเรื่องสาเหตุที่แม่จากเธอไป วันนั้นกลับกลายเป็นวันที่เธอได้เข้าใกล้แม่มากขึ้นไปอีกขั้น เข้าใกล้แม่ทางด้านจิตวิญญาณ เข้าใกล้ความรู้สึกนึกคิดของแม่และเข้าใกล้เหตุผลในการมีอยู่ของคำว่า “หวังดี” จากแม่มากที่สุด ในขณะเดียวกันก็เป็นวันที่เธอเหมือนไกลห่างจากแม่ที่สุด ไกลทั้งในมิติเวลาที่ไม่อาจซ้อนทับกันได้อีก ไกลทั้งความรู้สึกและร่างกายที่ไม่อาจเดินวนมาเจอกันได้ และแม่ยังได้ทิ้งอีกสิ่งที่ทำให้ปายต้องก้าวถอยออกมาจากความหวังดีของแม่ นั่นคือหนามแหลมจากความหวังดีที่แม่มอบให้เธอเสมอมา เพราะเธอเจ็บปวดที่ไม่มีโอกาสได้ดูแลแม่ตอนที่แม่ของเธอยังมีชีวิตอยู่และต่อจากนี้คงไม่อาจมีโอกาสแม้แต่จะเจอแม่หรือได้รับข้อความสวัสดีจากแม่ไปตลอดกาล

    ที่มาภาพ: https://pixabay.com/photos/love-cross-thorns-crown-heart-699480/

         “แม่พยายามห่างฉันเพื่อให้ฉันเคยชินกับการไม่มีแม่ เพราะแม่เป็นมะเร็งนี่เอง จะได้ไม่ต้องห่วงหาร้องไห้ฟูมฟายเวลาแม่ป่วยหนักและต้องจากไป แม่คิดอะไรแปลก ๆ ตลอด ฉันเข้าใจแม่นะว่ารักฉัน อยากให้ฉันจำแต่ภาพดี ๆ ของแม่ แต่อาการเจ็บปวดจากมะเร็งมันทรมานมากนะแม่ แม่ทนเจ็บปวดอยู่คนเดียวทำไม แล้วฉันก็นึกถึงเรื่องหนึ่งที่แม่เคยเล่าให้ฉันฟังว่า

         ‘มีคนเคยบอกไว้ว่า เมื่อรักใครสักคนมาก ๆ และไม่อยากให้เขาหรือเธอต้องเศร้าหมอง เจ็บปวดทรมานจิตใจ เวลาที่รู้ว่าเรากำลังจะตายจากไป เราควรทำให้เขาหรือเธอนั้นรู้สึกว่าเราหมดรักเธอแล้ว หงุดหงิดใส่เธอ ทำให้เธอไม่พอใจ เจ็บใจ หรือเกลียดเราไปเลยได้ยิ่งดี เธอจะได้ทำใจได้ง่ายขึ้น ไม่ต้องคร่ำครวญ ห่วงหาอาวรณ์เมื่อเราตายไป’

         เรื่องนี้แม่กลับเห็นด้วย แต่แม่ก็คิดและทำตามวิธีที่นุ่มนวลแบบของแม่ แม่บอกว่าเราไม่ควรสร้างหรือรับบุญคุณกับใคร และไม่ควรเป็นภาระให้ใคร แม่ฉันคิดอะไรแปลก ๆ แบบนี้จริง ๆ” (น. 62)

           หนามแหลมจากความหวังดีที่แม่ของปายทิ้งไว้นี้ ยังชอนไชเข้าไปกลายเป็นปมในใจที่ปายไม่อาจตัดขาดจากมันได้ นั่นคือปมที่ปายอยากดูแลใครสักคน เพราะตอนที่แม่ของเธอยังอยู่เธอไม่มีโอกาสได้ทำสิ่งเหล่านั้นเลย

         “หมี่ขอโทษฉันหลายรอบ แต่ฉันบอกว่าฉันไม่เป็นไร ฉันต้องเข้มแข็ง แม่ต้องการให้ฉันเข้มแข็ง ยอมรับเรื่องที่จะเกิดไม่ว่าดีหรือร้ายได้ และต้องอยู่ให้ได้เพื่อตัวเอง แต่ฉันอยากอยู่เพื่อใครอีกคนบ้าง อยู่เพื่อตัวเองมันเหงาไป ฉันอยากดูแลเธอเพื่อเป็นการขอบคุณแม่ของเธอที่คอยดูแลแม่ของฉันตอนเจ็บป่วย” (น. 63)

           แน่นอนว่า หนามแหลมจากความหวังดี นั้น ยังทิ้งแผลในใจไว้กับปาย เป็นเหมือนของต่างหน้าที่แม่ทิ้งไว้ให้เธอแทนร่างกายของแม่

         “ฉันดำเนินชีวิตต่อไปโดยไม่ต้องพะวักพะวงอะไร และแม่ก็ไม่ได้ฝากอะไรไว้ให้ฉันดูต่างหน้า แม่บริจาคร่างกายให้เป็นอาจารย์ใหญ่ หวังจะไม่ให้ฉันคิดถึงแม่มากเกินไป ข้อนี้แม่คิดผิด ชีวิตของฉัน ชีวิตที่แม่เลือกให้อยู่ ให้มีชีวิต มีสมอง สมองที่สามารถเก็บความทรงจำดี ๆ เกี่ยวกับแม่ไว้มากมาย ไม่ว่าแม่จะคิดอย่างไร ฉันก็รักและระลึกถึงแม่เสมอ เพราะถึงอย่างไรฉันก็ถือว่าแม่มีบุญคุณกับฉัน แม่จะคงอยู่ในใจฉันและจะคงอยู่ตลอดไป” (น. 63 – 64)

            คงไม่อาจกล่าวได้ว่า ความหวังดีจากแม่ถึงปายเป็นความหวังดีต่อตัวผู้รับได้อย่างแท้จริง เพราะสิ่งที่ปายได้กลับมาเมื่อรู้สาเหตุการจากไปที่แท้จริงและข่าวการเสียชีวิตของแม่กลับเป็นผลลัพธ์ที่ตรงกันข้ามกับผลลัพธ์ที่แม่ของเธอคิดว่าควรจะเป็นโดยสิ้นเชิง  กล่าวคือ แทนที่ปายจะไม่คร่ำครวญ ไม่ห่วงหาอาวรณ์และไม่เจ็บปวดกับการจากไปตามที่แม่ของเธอคาดหวังให้เป็น  ปายกลับทุกข์ทรมานกับมันมากกว่าเดิม ซ้ำร้ายมันยังกลายเป็นเหมือนโศกนาฏกรรมฉากหนึ่งในชีวิตของเธอที่ทิ้งปมและบาดแผลไว้ในใจของเธอไปชั่วชีวิต


    บรรณานุกรม
    พิราอร กรวีร์. (ม.ป.ป). ชำเรา. นครปฐม : สำนักพิมพ์ เม่นวรรณกรรม.

    ที่มาภาพปก https://pixabay.com/illustrations/prisoner-brain-captivity-thinking-6253261/


    © สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ (ฉบับเพิ่มเติม) พ.ศ. 2558

    บทวิจารณ์โดย...ภัทราพร ชัยบุตร
    นิสิตชั้นปีที่ 4 ภาควิชาภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

    บทวิจารณ์นี้เป็นผลงานจากรายวิชา 2201482 นวนิยายและเรื่องสั้น ปีการศึกษา 2564
    เผยแพร่เพื่อประโยชน์ทางวิชาการเท่านั้น ไม่อนุญาตให้ทำซ้ำหรือดัดแปลง

    บรรณาธิการ: หัตถกาญจน์ อารีศิลป
    กองบรรณาธิการ: อัลวานี นาดามัน และศราวุธ วังหลวง

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in