เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
This Happened - เรื่องนี้เกิดขึ้นจริงTeepagorn W.
Urbanised
  • เมื่อคืนดู Urbanized

    เป็นสารคดีเรื่องสุดท้ายในไตรภาค (?) สารคดีดีไซน์จาก Gary Hustwit ผู้ทำ Helvetica และ Objectified (จริงๆ น่าจะทำให้มันเป็น passive voice ทั้งหมดไปเลยนะ 55)

    Urbanzied พูดเกี่ยวกับเรื่องเมือง การออกแบบดีไซน์เมือง และการแก้ไขปัญหาของเมืองโดยใช้วิธีคิดใหม่ๆ

    แต่อย่างที่เห็นว่าเป็นขอบข่ายที่กว้างมาก กว้างจนพูดยาก ไม่รู้จะเข้าไปโฟกัสตรงไหน สิ่งที่หนังทำได้จึงคือการพูดรวมๆ ฉายให้เห็นแต่ละเคสแบบผ่านๆ เหมือนสไลด์ แล้วเคลื่อนไปสู่เคสต่อไป (The Guardian ให้ความเห็นว่า พูดเยอะจนเหมือนไม่ได้พูดอะไรเลย)

    หนังเริ่มต้นที่การตั้งข้อสังเกตว่าโลกกำลังเป็นสังคมเมืองขึ้นเรื่อยๆ และปัญหาที่ตามมากับสังคมเมืองก็คือการที่ทรัพยากรในตัวเมืองไม่เพียงพอ ความเจริญไม่ถูกเกลี่ยเฉลี่ยกันไปเท่าๆ กัน สิ่งที่ตามมาคือ congestion ในด้านต่างๆ เช่น รถติด หรือสลัม เช่นในอินเดีย ปัญหาสลัมที่นั่นร้ายแรงจนสามารถวัดได้ว่าส้วมหนึ่งแห่งจะต้องรองรับการใช้งานของคน 600 คนเลยทีเดียว หลังจากที่ state ปัญหาแล้ว หนังก็พาเราไปดูเคสต่างๆ ของปัญหาอื่นๆ รวมไปถึงความพยายามในการแก้ไขปัญหาเหล่านั้นจากทั่วโลก

    เคสที่หนังยกมาเช่นบ้านแบบ participatory design ที่พยายามแก้ปัญหาสลัมในชิลี เพื่อเป็นการลดต้นทุน สถาปนิกจะสร้างบ้านให้ชาวสลัม "แค่ครึ่งเดียว" แล้วให้ผู้อาศัยไปหาอีกครึ่งหนึ่งมาปรับเปลี่ยนเอง เช่น ให้เลือกระหว่างอ่างอาบน้ำกับเครื่องทำน้ำอุ่น แล้วผุ้อาศัยต้องไปหาอีกอย่างหนึ่งมาเอง (ถ้าต้องการ)

    หนังเปิดมิติด้านประชาธิปไตยจากรากหญ้าตรงนั้นเอง สถาปนิกอธิบายว่า หากให้เมืองเป็นผู้เลือกว่าจะให้เครื่องทำน้ำอุ่นหรืออ่างอาบน้ำกับชาวสลัมพวกนี้ในแต่ละหลัง ผู้บริหารเมืองก็มักจะเลือกเครื่องทำน้ำอุ่นก่อน (เพราะอ่างอาบน้ำดูเป็น luxury และจำเป็นน้อยกว่า) แต่ผลปรากฏว่าชาวสลัมเลือกอ่างอาบน้ำก่อน เป็นเพราะถึงได้เครื่องทำน้ำอุ่นมา พวกเขาก็ไม่มีตังค์จ่ายค่าไฟอยู่ดี และการอาบน้ำแบบ shower กลางสลัมมาก่อนทำให้พวกเขาต้องการ privacy มากเป็นพิเศษ ซึ่งอ่างอาบน้ำให้กับพวกเขาได้

    หลังจากเคสนี้ หนังก็พาเราไปดูอีกหลายต่อหลายเคส และพยายามฉายให้เห็นจุดบอดของการพัฒนาเมืองแบบ top down โดยยกตัวอย่างเมืองบราซิเลีย ที่ออกแบบจากความสวยงามเป็นหลัก ได้ออกมาเป็นเมืองในฝันของสถาปนิก มองจากเครื่องบินแล้วสวยงามมาก แต่กลับกลายเป็นเมืองที่แทบอยู่อาศัยไม่ได้ เพราะสิ่งก่อสร้างแต่ละอย่างกระจายตัวกันมากเกินไป ทำให้การเดินทางต้องใช้รถยนต์ตลอดเวลา

    เทียบกับเมืองอย่างโบโกต้า โคลัมเบีย ที่พัฒนาระบบ BRT ขึ้นมาจากการสังเกตการใช้งานของประชาชนจริงๆ และการยอมรับว่าเมืองโบโกต้าเพิ่งจะ 'กำลังพัฒนา' นั่นหมายความว่าพวกเขาจะไม่ลงทุนไปกับระบบขนส่งราคาแพงอย่างรถไฟใต้ดินหรือรถไฟฟ้า เพราะเขาเชื่อว่าศูนย์กลางความเจริญของเมืองนั้นเปลี่ยนได้ตลอดเวลา 20-30 ปีก็น่าจะขยับเขยื้อนไปแล้ว ทำให้เขาเลือกที่จะลงทุนกับระบบรถบัสที่มีความยืดหยุ่นสูงกว่า

    นำมาซึ่งประโยคหนึ่งที่ดีที่สุดในหนัง ผู้ว่าของโบโกต้าบอกว่าให้สังเกตความเป็นประชาธิปไตยได้ก็จากความสำคัญที่เขาให้กับระบบ BRT นี้เอง เขาบอกว่ารถบัสซึ่งบรรจุคน 200 คน ควรได้รับความสำคัญมากกว่ารถยนต์ที่บรรจุคน 2 คนประมาณ 100 เท่า ทำให้รถบัสและระบบสถานีต่างๆ ได้รับเงินเพื่อมาพัฒนาเยอะตามไปด้วย รถบัสถูกยกระดับจากการเดินทางของคนจนมาเป็นการเดินทางหลักด้วยสาเหตุนี้เช่นเดียวกัน

    หนังยังยกตัวอย่างอีกหลายอัน เช่น High Rise ใน New York, การฟื้นฟูเมืองที่ล้มเหลวจาก New Orleans หรือเคสที่ศิลปินคนหนึ่งพยายามให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาเมืองโดยการไปติดสติ๊กเกอร์ตามแหล่งเสื่อมโทรมต่างๆ และเว้นช่องว่างไว้ให้คนเดินถนนมาเติมคำว่า พวกเขาต้องการให้ที่ตรงนี้เป็นอะไรในอนาคต

    Urbanized เป็นสารคดีที่ดี ถึงจะไม่ลึกลงไป แต่มันก็ฉายภาพกว้างๆ ที่สนุกพอ และมีเสน่ห์พอให้คนที่สนใจไปค้นคว้าต่อ

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in