เมื่อคืนดู The Art of the Steal (2009)
ตอนแรกว่าจะดูแป๊บเดียว ครึ่งเรื่องแล้วนอน ตื่นมาค่อยดูต่อ แต่ปรากฏว่าหนังสนุก ซับซ้อน สมคบคิด จนทำให้ดูจบรวดเดียว เลยตื่นสาย
เป็นสารคดีที่พยายามคลี่คลายปมปัญหาที่เกี่ยวกับการตีค่าผลงานศิลปะ เงื้อมมือของรัฐที่พยายามเข้ามาจัดการ และการ (ดูเหมือนว่า) ต่อสู้ของคน (ที่ดูเหมือนว่า) ตัวเล็กๆ
ที่ต้องวงเล็บว่า "ดูเหมือนว่า" เพราะเป็นสารคดีที่บอกเล่าเรื่องราวฝ่ายเดียวอย่างไม่เกรงอกเกรงใจ
อัลเบิร์ต ซี บาร์นส์ มหาเศรษฐีผู้รำ่รวยจากการขายเวชภัณฑ์ เริ่มมีความสนใจในศิลปะในช่วงปี 1910 ใช้เวลาเพียงสองสามปีเขาก็สามารถพัฒนารสนิยมตัวเองให้ดีเด่นในเรื่องนี้ได้ หลังจากนั้นเขาเริ่มซื้อผลงานศิลปะของศิลปินที่เขาคิดว่าน่าจับตามอง และจะประสบความสำเร็จในอนาคตเก็บเอาไว้ ปัจจุบัน คอลเลคชั่นของบาร์นส์เป็น 'Private Collection' ที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดในโลก มีทั้งผลงานของเรอเน่ มาทีส ซีซาน พีกาสโซ่ แวน โก๊ะห์ และเดการส์ หลายคนบอกว่าคอลเลคชั่นของบาร์นส์นั้นดีกว่าสิ่งที่ถูกรวบรวมไว้ใน METs หรือ MoMA หรือพิพิธภัณฑ์ศิลปะไหนๆ เสียอีก กระทั่งมาทีส (Henri Matisse) ยังบอกว่า บาร์นส์เป็นที่เดียวในอเมริกาที่คุณสามารถชมศิลปะที่ 'มีสติมีสตัง' (sane)
แต่ในครั้งแรกที่บาร์นส์เปิดแสดงคอลเลคชั่นของตัวเอง เขากลับถูกนักวิจารณ์ศิลปะด่าเสียๆ หายๆ รวมถึงโดนวิพากษ์จากผู้เชี่ยวชาญของทางการด้วย เพราะในช่วงนั้นรสนิยมของสาธารณชนยัง 'ไปไม่ถึง' บาร์นส์ กว่าที่จะมาเห็นค่าก็อีกหลายปีต่อมา
บาร์นส์จึงเก็บความคับแค้นข้องใจไว้ในใจมาโดยตลอด เขาสัญญากับตัวเองว่า เขาจะไม่ให้คอลเลคชั่นของเขาตกไปอยู่กับราชการ หรือไปสร้างประโยชน์ให้กับนักวิจารณ์ศิลปะเด็ดขาด เมื่อคิดได้แบบนี้เขาจึงเรียกทนายมาร่างพินัยกรรมว่าห้ามไม่ให้ใครเอาผลงานของเขาไปใช้ประโยชน์ ห้ามเอาไปขาย ห้ามเอาไปจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์เปิด โดยตัวบาร์นส์เองก็ได้ก่อตั้ง 'มูลนิธิ' ขึ้นมาเพื่อจัดแสดงคอลเลคชั่นงานศิลปะนี้ให้กับนักเรียนและนักการศึกษาด้านศิลปะอยู่แล้ว (แต่ไม่เปิดให้คนทั่วไปเข้าชมขนาดนั้น)
มูลนิธิของบาร์นส์มีความพิเศษตรงที่ไม่จัดแสดงศิลปะในแบบที่เราคุ้นเคยกัน แต่เขาเลือกวิธีจัดวางงานศิลปะในความหมายอีกแบบ ที่นักวิจารณ์หัวก้าวหน้าหลายคนมองว่าทำให้สามารถซึมซับศิลปะได้ในอีกมิติ ในแบบที่พิพิธภัณฑ์ให้กับเราไม่ได้
บาร์นส์จงเกลียดจงชังความเป็นพิพิธภัณฑ์เพราะเขาคิดว่านั่นไม่ใช่การเสพศิลปะที่ถูกต้อง เขาคิดว่าพิพิธภัฑณ์คือแหล่งดักทัวริสต์ เอาผลงานมาตั้งอยู่ในห้องแคบๆ คนก็ออเข้ามาเวียนหน้าไม่รู้จบ แบบนี้ซึมซับคุณค่าไม่ได้หรอก และเขาก็รังเกียจที่ว่าพิพิธภัณฑ์นั้นมักมีความเป็น 'ธุรกิจ' มากกว่าที่จะอุ้มชูศิลปะอย่างจริงจัง
แต่เมื่อบาร์นส์เสียชีวิตลง การณ์ก็ปรากฏว่าหน่วยงานรัฐต่างๆ รวมไปถึงนักธุรกิจคู่แค้นของบาร์นส์อย่างตระกูลผู้เป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์ Philadelphia's Inquirer ก็พยายามเข้ามาสอดแทรก แทรกแซงพินัยกรรมของบาร์นส์ด้วยวิธีการต่างๆ ที่ซับซ้อนซ่อนเงื่อนและกินเวลาเป็นสิบปี คอลเลคชั่นของบาร์นส์ถูกเปลี่ยนมือครั้งแล้วครั้งเล่า จนในที่สุดมันก็ไปตกอยู่กับการตัดสินใจของเมือง และผลงานศิลปะทั้งหมดก็ถูกย้ายไปที่พิพิธภัณฑ์บาร์นส์แห่งใหม่ซึ่งอยู่ใจกลางเมือง กลายเป็น 'กับดักทัวริสต์' อีกแห่ง กลายเป็นความภาคภูมิใจของฟิลาเดลเฟีย ซึ่งขัดต่อความต้องการของเจ้าของ และผู้ที่ได้ประโยชน์ทั้งทางด้านการเงินและอำนาจทั้งหมดไปก็คือมูลนิธิอีกแห่งที่เข้ามาสอดแทรกผลประโยชน์ (บาร์นส์คอลเลคชั่นมีมูลค่า $25 พันล้านเหรียญ) และนักการเมืองอีกหลายต่อหลายคน
อย่างที่บอก หนังเล่าเรื่องฝ่ายเดียวมากๆ และป้ายให้ฝ่ายตรงข้ามเป็นผู้ร้ายแบบไม่เหลือความดีไว้เลย แต่นั่นก็อาจจะทำให้หนังดูสนุก เพราะมันมีเป้าหมายเดียวคือการตีแผ่ 'ความจริง' ในแบบของตัวเอง โดยที่ไม่ต้องพะว้าพะวงกับการมองให้รอบด้าน
หลายคนในหนังบอกว่า นี่เป็นเพียงเรื่องหนึ่ง ที่แสดงให้เห็นถึงสถานะของวงการศิลปะในปัจจุบัน ว่ามีผู้ที่ไม่ได้ทำเพื่อความรักในศิลปะอีกต่อไป แต่ใช้ศิลปะเพื่อเป็นเครื่องมือในการแสวงหากำไร อำนาจ พวกพ้อง และเส้นสาย โดยใช้ประโยชน์ของสาธารณชนเป็นข้ออ้าง
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in