เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
App Jp Ling หรรษาspicygarlic
05. 役割語 คนญี่ปุ่นไม่ใช้?
  • สวัสดีค่ะ กลับมาพบกันอีกครั้งกับบล็อกของเรานะคะ


    ผู้เขียนเชื่อว่า คนที่เคยเรียนภาษาญี่ปุ่นเกือบทุกคนน่าจะเคยดูอนิเมะหรือภาพยนตร์กัน แต่ทุกคนเคยสงสัยมั้ยว่า ทำไมเวลาเราเรียนภาษาญี่ปุ่นจริงๆ แล้ว ในตำราไม่ได้สอบภาษาญี่ปุ่นเหมือนที่เคยได้ยินในอนิเมะ แถมอาจจะเคยได้ยินอีกด้วยว่า พูดตามอนิเมะแล้วจะแปลก หรือทั้งเวลาเราเอามาพูดเองกับเพื่อน ก็จะดูแปลกๆ ไม่เข้าปาก ทั้งๆ ที่เวลาเราฟังในอนิเมะแล้วก็รู้สึกปกติ ไม่มีอะไรแปลก แต่พอเรามาพูดในบทสนทนาจริงๆ กับคนจริงๆ แล้วถึงได้รู้สึกแปลกกันล่ะ?


    นั่นเป็นเพราะว่า ภาษาญี่ปุ่นมี 役割語 นั่นเองค่ะ

    ทุกคนที่เพิ่งเคยได้ยินก็อาจจะสงสัยว่า เอ๊ะ 役割語 นี่คืออะไรนะ


    役割語 คือ ถ้อยคำบอกนิสัย นั่นเองค่ะ โดย 役割語 เป็นรูปแบบการพูดที่เชื่อมโยงกับภาพลักษณ์ของตัวละครหนึ่งๆ เพื่อแสดงคาแรคเตอร์ของตัวละครนั้นๆ และยังเป็นแบบแผนทางภาษาศาสตร์ด้วยเช่นกันค่ะ กล่าวคือ เมื่อได้ยินคำหรือวลีใดๆ ก็จะสามารถเดาหรือรู้ได้ถึงเพศ อายุ สภานภาพทางสังคมของผู้พูดได้ รวมถึงการที่เราคิดว่า คนลักษณะไหนจะพูดแบบไหน ก็ถือเป็น 役割語 เช่นกัน

    ถ้าดูจากภาพนี้ หลายๆ คนก็จะสามารถเดาได้ว่า ประโยคไหนใครเป็นคนพูดนั่นเองค่ะ แต่ถ้าใครยังอาจจะเดาไม่ได้ เราก็มีเฉลยให้ค่ะ


    เฉลย

    1-B

    2-D

    3-C

    4-A

    5-E

    ก็จะเห็นได้เลยว่า ถ้าเราเห็นคนในลักษณะไหน เราจะเดาได้ว่าเขาจะได้คำพูด คำศัพท์ หรือ 文末表現 อย่างไร เช่นจากภาพนี้ที่เห็นได้ชัดคือ คำว่า わし ซึ่งเป็นคำที่คนแก่มักจะใช้กัน(老人語) ทำให้เราสามารถรู้เลยว่าประโยคที่มีคำนี้ใครจะเป็นคนพูด


    แต่ 役割語 ก็มีหลายประเภทเช่นเดียวกัน ตัวอย่างหนึ่งของ 役割語 ก็คือภาษาคนแก่ที่ได้พูดข้างบน ทั้งยังมีภาษาผู้หญิง(女ことば) เช่น かしら、わ、わよ ที่เราจะได้ยินกันบ่อยๆ ทั้งยังมี アルヨことば คือประโยคที่จะจบด้วยคำว่า ある ซึ่งถ้าเราเจอตัวละครที่ใช้การจบประโยคแบบนี้ ก็ให้เดาไว้เลยว่าตัวละครนั้นอาจจะเป็นคนจีน เพราะว่าเป็น 文末表現 เพื่อสื่อถึงคาแรคเตอร์ที่เป็นคนจีน ที่จะใช้ในมังงะหรือฟิคชันเท่านั้น ในชีวิตจริงจะไม่มีคนใช้


    ซึ่งปัจจัยที่ทำให้ภาษาญี่ปุ่นมี 役割語 มากคือ

    - ไวยกรณ์ของภาษาญี่ปุ่น คือภาษาญี่ปุ่นเป็นภาษาที่เน้นส่วนท้ายประโยค เวลาผันคำกริยา ผันรูปต่างๆ ก็จะอยู่ท้ายประโยค ทำให้เวลาพูดสามารถเติมคำต่างๆ เข้าไปได้ง่าย ภาษาญี่ปุ่นจึงเป็นภาษาที่พัฒนา 役割語 ได้ง่าย

    - มิติด้านวัฒนธรรม คือ ภาษาญี่ปุ่นจะเป็นภาษาที่มีความสูงต่ำ คือเน้นสถานะทางสังคมของผู้พูดกับผู้ฟัง รวมถึงภาษาผู้ชายผู้หญิง อาชีพ หรือแม้แต่ในช่วงวัยที่ต่างกันก็จะใช้คำพูดคำศัพท์ที่ไม่เหมือนกัน ทำให้ภาษาญี่ปุ่นมีความหลากหลายใน 役割語 มากๆ เพราะคำพูดหรือคำศัพท์ที่เลือกใช้ ก็จะเป็นตัวบ่งบอกตัวตนของคนที่พูดได้เลย


    แล้วทำไมเวลาเราพูดตามอนิเมะแล้วถึงรู้สึกแปลกล่ะ?

    เป็นเพราะว่าบางประโยคหรือบางคำที่อยู่ในอนิเมะ เป็นคำที่คนจริงๆ ในชีวิตประจำวันจะไม่ใช้ กล่าวคือ จะใช้แค่ในสื่อ เพื่อให้เราเข้าใจคาแรคเตอร์ของตัวละครได้อย่างรวดเร็วผ่านคำพูดที่ใช้ ว่าตัวละครตัวนี้เป็นใครมาจากไหน สถานะทางสังคมหรือนิสัยเป็นอย่างไรนั่นเอง


    โดยสรุปก็คือ 役割語 เป็นภาษาที่เอาไว้บ่งบอกตัวตนหรือภาพลักษณ์ของคนที่พูด จะมี 役割語

    ที่ใช้ในชีวิตจริง เช่น ภาษาผู้หญิง ภาษาผู้ชาย หรือแม้แต่ภาษาถิ่นต่างๆ ก็นับเป็น 役割語 เช่นเดียวกัน และ 役割語 ที่สร้างขึ้นมาเพื่อบ่งบอกคาแรคเตอร์ใดคาแรคเตอร์หนึ่ง ไม่ได้ใช้ในชีวิตประจำวันจริงๆ ก็มีเช่นเดียวกัน


    ซึ่งจาก 役割語 นี้ ก็ทำให้ผู้เขียนลองมองย้อนกลับมาที่ภาษาไทย ว่าภาษาไทยก็อาจจะมี 役割語 เหมือนกัน อย่างเช่นเวลาเราดูละคร แล้วตัวละครใช้แทนตัวเองว่า ‘ฉัน’ ซึ่งคนไทยก็เข้าใจกันว่าคำนี้หมายความว่าอะไรและแทนใคร แต่รอบตัวผู้เขียนนั้น น้อยคนนักที่จะใช้คำนี้แทนตัวเอง เป็นต้น 



    สำหรับบล็อกวันนี้ ก็ขอจบแต่เพียงเท่านี้

    ขอบคุณผู้อ่านทุกคนนะคะ ไว้เจอกันบล็อกหน้า สวัสดีค่ะ


    --------------------------------------------------------------------------------------------

    แหล่งที่มา

    https://minimore.com/b/QmMV8/12

    http://www.hurujournal.ru.ac.th/journals/30_1656648361.pdf


Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in
k.l.k (@k.l.k)
ภาษาไทยก็มีนะคะ เช่น อั๊ว ลื้อ (ภาษาตำรวจ) ตอนนี้ไม่รู้ใช้กันเปล่า...