เมื่อพูดถึงคำว่า “สมัครงาน” สิ่งที่แรกที่คนเรามักจะนึกถึงและขาดไม่ได้เลยคือ “เรซูเม่” เพราะว่าในเรซูเม่จะมีประวัติชีวิตคร่าวๆ ของเรา ว่าเราเคยผ่านอะไรมาแล้วบ้าง มีประสบการณ์ทั้งการเรียนและการทำงานอย่างไร แน่นอนว่าในเรซูเม่ก็มีองค์ประกอบหลายอย่าง เช่น ข้อมูลติดต่อ ประวัติการศึกษา ทักษะต่างๆ แต่องค์ประกอบที่ Recruiter หรือ HR มักจะสังเกตเป็นสิ่งแรกๆ คือ ผู้สมัครนั้นนำเสนอตัวเองอย่างไร เพราะฉะนั้น “Opening Statement” จึงเป็นสิ่งที่สำคัญอีกองค์ประกอบหนึ่ง ดังนั้นการที่ในเรซูเม่ของเรามี Opening Statement ที่น่าสนใจและน่าดึงดูดชวนให้อยากค้นหาต่อ ก็จะทำให้เรามีโอกาสได้งานมากขึ้น
Opening Statement คืออะไร
Opening Statement หรือ ประโยคขึ้นต้นเรซูเม่ คือ พารากราฟสั้นๆ ที่จะทำให้ผู้สมัครได้นำเสนอตนเองอย่างคร่าวๆ แก่ผู้ว่าจ้าง ว่าเรามีอะไรดีบ้าง ทำไมบริษัทต้องจ้างเราเข้าไปทำงาน โดย Opening Statement ควรมีความยาวไม่เกิน 6 บรรทัด
ซึ่งวิธีการเขียน Opening Statement ที่เป็นที่นิยมในปัจจุบันก็คือการเขียนแบบ Resume summary โดยเว็บไซต์ resumeworded ซึ่งเป็นเว็บไซต์ที่รวมฮาวทูการเขียนเรซูเม่ ก็ได้กล่าวว่า วิธีเขียน Opening Statement ดังกล่าว จะเป็นการเขียนให้ภาพรวมของผู้สมัครรวมทั้งเป็นการเน้นไปที่ทักษะที่จำเป็นและประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับงานที่เราสมัครได้อีกด้วย
หลังจากที่คุณผู้อ่านได้อ่านมาจนถึงตรงนี้ ก็คงจะเกิดความสงสัยว่า ‘อ้าว แล้ว 自己PR มีส่วนช่วยในการเขียน Opening Statement อย่างไรล่ะ?’
ก่อนอื่น เราไปทำความรู้จักกับ 自己PR กันก่อนดีกว่าค่ะ
自己PR คืออะไร
自己PR คือการเขียนการนำเสนอตนเองให้ผู้ว่าจ้างหรือบริษัทว่าเรามีข้อดีอะไรบ้าง และข้อดีที่เรามีนั้นสามารถทำประโยชน์กับบริษัทได้อย่างไร
ซึ่งในการเขียน 自己PR นั้นเป็นการเขียนถึงจุดเด่นของตนเอง เล่าให้ผู้อ่านหรือผู้ว่าจ้างว่าจุดเด่นของตนเองนั้นได้มาอย่างไร โดยจะเล่าเป็น Episode ว่าเราไปทำอะไรมา มีประสบการณ์อย่างไร มีปัญหาอะไร แล้วตัวเราสามารถแก้ปัญหานั้นได้อย่างไร ตัวเราทำอะไรจึงได้ทักษะที่เราคิดว่าเป็นจุดเด่นมา โดยใน 自己PR เราสามารถเลือกประสบการณ์เช่น กิจกรรมชมรม ประสบการณ์การฝึกงาน จิตอาสา ไปเขียนได้เช่นกัน
☆ ข้อแนะนำในการเขียน 自己PR
1. ควรเขียนเน้นจากประสบการณ์หรือสิ่งที่เคยทำมาจริงๆ สามารถเขียนสิ่งที่คิดขณะนั้นได้ แต่ไม่ควรมากเกินไป
2. ควรเขียนให้ชัดเจนว่าใคร ทำอะไร ที่ไหน อย่างไร ทำไม รวมถึงควรเลี่ยงคำที่ทำให้ประโยคไม่ชัดเจน ผู้อ่านไม่เห็นภาพ เช่น いろいろ, さまざま เป็นต้น
3. ไม่ควรเขียนว่าความตรงต่อเวลาเป็นจุดเด่น เพราะความตรงต่อเวลาเป็นสิ่งที่ทุกคนควรจะทำอยู่แล้ว ไม่ถือว่าเป็นจุดเด่น
ความต่างของ Opening Statement และ 自己PR
จะเห็นได้ว่า Opening Statement และ 自己PR ก็ไม่ได้มีความเหมือนกันเสียทีเดียว เพราะ 自己PR จะมีในส่วนของ episode ที่จะเล่าว่าทักษะที่เรามี ซึ่งเป็นจุดเด่นนั้น เราได้สิ่งเหล่านี้มาอย่างไร เป็นการเล่าประสบการณ์ให้เห็นภาพถึงกระบวนการการได้มาของทักษะดังกล่าว
แต่ Opening Statement จะไม่เป็นเช่นนั้น ในส่วนของ Opening Statement นั้น จะเป็นการคัดมาแต่เนื้อๆ เพราะส่วนนี้ควรเป็นส่วนที่สั้น กระชับ ได้ใจความ จึงเหลือแค่ว่า ตัวเรานั้นมีข้อดีอะไรที่เหมาะสมกับตำแหน่งที่เราจะสมัครบ้าง
แล้ว 自己PR มีส่วนช่วยในการเขียน Opening Statement อย่างไรล่ะ?
ถ้าเรามี 自己PR อยู่แล้ว การปรับเปลี่ยน 自己PR ที่เรามี ให้เป็น Opening Statement ที่น่าสนใจก็ไม่ใช่เรื่องยาก เพราะจุดประสงค์ของการเขียนทั้งสองอย่างนี้คือ “การนำเสนอตนเอง” เหมือนกัน ทำให้ในการเขียน Opening Statement นั้น เราสามารถตัดในส่วนของ Episode ออกได้เพื่อความกระชับ
แต่สิ่งที่อาจจะต้องเพิ่มเข้าไปอีกคือในเรื่องของทักษะที่เรามีและเกี่ยวข้องกับตำแหน่งงานที่สมัคร เนื่องจากใน 自己PR จะมีการเขียนทักษะหลักๆ เพียงแค่ 1-2 อย่างเท่านั้น แต่ใน Opening Statement อาจจะไม่เพียงพอ เนื่องจากคนที่ดูเรซูเม่ของเรานั้น จะทำความรู้จักเราคร่าวๆ ผ่านทาง Opening Statement ดังนั้นเราจึงควรใส่สิ่งที่เราคิดว่าสำคัญและจำเป็นลงไปแบบจัดเต็ม ให้ผู้ที่อ่านเรซูเม่รู้ว่าเราเป็นคนมีของ จะเป็นประโยชน์ให้กับบริษัทนั่นเอง
โดยสรุป 自己PR และ Opening Statement มีวัตถุประสงค์เดียวกัน คือการนำเสนอตนเอง ต่างกันแค่เพียงในส่วน Episode ที่จะมีเฉพาะใน 自己PR เท่านั้น ทำให้การปรับเปลี่ยนเป็น Opening Statement เป็นไปได้ไม่ยาก แต่อาจจะต้องคิดทักษะที่ตนเองมีเพิ่มเพียงเท่านั้น
เพื่อนๆ หรือคุณผู้อ่านที่กำลังหาแนวทางในการเขียน Opening Statement อยู่ ผู้เขียนก็หวังว่าบล็อกนี้จะเป็นประโยชน์ไม่มากก็น้อยนะคะ
ขอบคุณคุณผู้อ่านทุกท่านที่อ่านจนจบนะคะ
หากมีข้อผิดพลาดประการใดสามารถคอมเมนต์บอกกันได้ค่ะ
แหล่งที่มา
ภาษาไทย
1. Iroha. (2022). เขียน自己PRยังไงให้โดนใจบริษัท. สืบค้นจาก https://minimore.com/b/9xXaP/3
2. WorkVenture. (2018). 6 สิ่งที่ควรทำเมื่อต้องเขียน Resume. สืบค้นจาก https://www.workventure.com/blog/6-สิ่งที่ควรทำเมื่อต้องเขียน-resume
ภาษาอังกฤษ
1. Forbes. (2020). 12 Things Recruiters Look At First When Going Through Job Applications. Retrieved from https://www.forbes.com/sites/forbeshumanresourcescouncil/2020/06/17/12-things-recruiters-look-at-first-when-going-through-job-applications/?sh=2d93abce2e8c2. Resume Worded Editorial Team. How to Write an Opening Statement for Your Resume + 10 Examples. Retrieved from https://resumeworded.com/blog/resume-opening-statement/#:~:text=An%20opening%20statement%20is%20a,the%20best%20choice%20for%20hire
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in