นาธาเนียล แบรนด์เด็น-บิดาแห่งจิตวิทยาแห่งการนับถือตัวเอง บอกเล่าเรื่องราวของชาร์ลส์ นักธุรกิจวัยห้าสิบผู้ประสบความสำเร็จอย่างสูงแต่ไม่มีความสุขในความสัมพันธ์ส่วนตัวซึ่งมีความกลัวซ่อนอยู่ภายใต้บุคลิกที่สุขุมและมั่นใจในตนเอง
ชาร์ลส์หย่าร้างหลังจากใช้ชีวิตแต่งงานได้สิบห้าปีและมีความสัมพันธ์กับผู้หญิงคนใหม่ได้สามปีแบบกระท่อนกระแท่น เขาเป็นลูกชายคนเดียวในครอบครัวผู้อพยพชาวรัสเซีย ถูกเลี้ยงดูโดยไม่เคยได้รับความรักและความอบอุ่น ซ้ำยังถูกทารุณทางด้านร่างกาย สัญชาตญาณการเอาตัวรอดทำให้เขาดิ้นรนหาเงินเพื่อเป็นอิสระและพรสวรรค์ด้านธุรกิจทำให้เขาประสบความสำเร็จตั้งแต่อายุสิบสี่
การดำเนินธุรกิจเป็นเรื่องที่เขาทำได้อย่างเป็นธรรมชาติและประสบความสำเร็จมาตลอด บริษัทเขาทำเงินได้มากแต่เขากลับอาศัยอยู่ในอพาร์ทเมนต์ขนาดสองห้องนอนและไม่สนใจจะหาสิ่งอำนวยความสะดวกด้วยเหตุผลที่ว่าเขาไม่ควรได้รับมันและไม่คู่ควรกับสิ่งใดเลย
ครั้งหนึ่งเขาพยายามเล่าความลับภายในใจซึ่งเป็นความรู้สึกไม่มั่นคงในชีวิตส่วนตัวให้หุ้นส่วนคนหนึ่งฟัง แต่กลับได้รับเสียงหัวเราะ หุ้นส่วนคนนั้นไม่เชื่อและไม่อยากได้ยินเรื่องของเขาด้วยซ้ำ
ชาร์ลส์กลั้นน้ำตาไว้ไม่อยู่เมื่อนาธาเนียลถามถึงชีวิตในวัยเด็กตอนห้าขวบว่าเขาต้องเจอกับอะไรบ้าง จากเรื่องราวและสีหน้าของเขา นาธาเนียลรับรู้ได้ว่าขณะที่เขาต้องเอาชีวิตรอดในวัยเด็ก อีกทางหนึ่งเขาได้สร้างความคิดเชิงลบขึ้นมาซึ่งส่งผลให้ตนเองรู้สึกไม่คู่ควร เมื่อเป็นช่วงเวลาที่มีความนับถือตัวเองต่ำการเลือกใครสักคนมาเป็นคู่ชีวิตก็จะถูกความรู้สึกมาบดบังว่าไม่คู่ควรกับผู้หญิงที่เพียบพร้อมแสนดี
สมมุติฐานที่นาธาเนียลใช้บำบัดชาร์ลส์ก็คือ ความทุกข์ทรมานของชีวิตในวัยเด็กบังคับให้เขาต้องมีจิตใจด้านชาเพื่อความอยู่รอด เมื่อถึงวัยผู้ใหญ่ก็ยังละเลยตัวตนที่เป็นเด็กในตัวเขาเอาไว้กับความเจ็บปวด ตัวตนวัยเด็กในตัวเขาถูกตัวตนในวัยผู้ใหญ่ปฏิเสธและไม่ยอมรับ มันเสมือนว่าเขามีอีกตัวตนหนึ่งตำหนิประณามอีกตัวตนหนึ่งอย่างรุนแรง เช่นนี้เขาไม่มีทางที่จะกลับมานับถือตัวเองได้เลย
นาธาเนียลจึงให้ชาร์ลส์ทำแบบทดสอบ โดยตั้งประโยคปลายเปิดและให้เขาต่อประโยคนั้นให้จบโดยไม่มีเงื่อนไขว่าจะเป็นเรื่องจริงหรือไม่ และไม่ต้องกังวลว่าประโยคเหล่านั้นจะขัดแย้งกันหรือไม่ นาธาเนียลพยายามพาเขาดำดิ่งไปสัมผัสความรู้สึกอัปยศ อับอาย ปั่นป่วน สับสน เพื่อก้าวผ่านช่วงวัยเด็กด้วยประโยคเหล่านี้
ถ้าเด็กที่อยู่ในตัวฉันพูดได้ เขาจะพูดว่า...
สิ่งที่ฉันต้องทำเพื่อการอยู่รอดคือ...
หนึ่งสิ่งที่ตัวตนวัยเด็กต้องการจากฉันคือ...
ถ้าฉันมีความเห็นใจและให้ความรักแก่ตัวตนวัยเด็กของฉันมากขึ้น...
หลังจากได้คำตอบนาธาเนียลให้เขาหลับตาและจินตนาการว่า เด็กชายชาร์ลส์ยืนอยู่เบื้องหน้าเขา เด็กคนนั้นมองเขาอย่างไร การแสดงออกทางดวงตาเป็นอย่างไร แล้วเขารู้สึกอย่างไรเมื่อได้ยื่นมือออกไปพาเด็กน้อยมานั่งอยู่บนตักแล้วโอบไว้ ให้แขนของเขาสื่อสารกับเด็กน้อยว่าปลอดภััยแล้ว จะไม่ทอดทิ้ง จะอยู่เคียงข้าง สามารถพึ่งพาและไว้ใจเขาได้
ชาร์ลส์เริ่มร้องไห้เบาๆแล้วบอกว่า เด็กน้อยคนนั้นดูเจ็บปวด โกรธ ดูไม่ไว้ใจและอยากจะไว้ใจใครมากๆ แต่ก็บอกกับนาธาเนียลว่ารู้สึกดี นาธาเนียลจึงพยายามให้ทั้งสองร้องไห้ไปด้วยกัน ให้อภัยแก่กัน ชาร์ลส์เริ่มให้อภัยเด็กชายคนนั้น และเริ่มเข้าใจว่าแท้จริงแล้วไม่จำเป็นต้องให้อภัยแต่อย่างใดและไม่มีสิ่งใดต้องติดค้าง เนื่องจากเด็กน้อยคนนั้นพยายามดิ้นรนเพื่อความอยู่รอดด้วยหนทางเดียวที่เด็กในวัยนั้นพอจะรู้จักและทำได้ เมื่อตัวตนทั้งสองเริ่มหลอมรวมเข้ากันความนับถือตัวเองของชาร์ลส์จึงเพิ่มขึ้น
"แนะนำให้คุณใช้เวลาสักหนึ่งนาทีสำรวจความรู้สึกที่คุณมีต่อเด็กน้อยที่คุณเคยเป็น ดูว่าตัวตนวัยเด็กของคุณน่าจะมีบทบาทในชีวิตปัจจุบันของคุณอย่างไรบ้าง"
บรรทัดที่ 3, 4, 5 หน้า 45 จาก How to Raise Your Self-Esteem: พลังแห่งการเพิ่มความนับถือตัวเอง โดย นาธาเนียล แบรนด์เด็น
เริ่มจับเวลา...
มันเริ่มจากภาพและความรู้สึกในเหตุการณ์หนึ่ง ยังไม่ทันจะครบถ้วนสมบูรณ์ ยังไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร อีกความรู้สึกในอีกเหตุการณ์หนึ่งก็แทรกเข้ามา และอีกเหตุการณ์ก็แทรกเข้ามาอย่างไม่ปะติดปะต่อ ไม่เรียงตามเวลา เด็กน้อยกลายเป็นเด็กหนุ่มแล้วก็กลับเป็นเด็กน้อยอีกครั้ง รู้สึกว่ามีช่วงร้องไห้ มีช่วงที่เก็บกด มีช่วงที่เล่นสนุกมันปนเปกันไปหมด หนึ่งนาทีของเราหมดไปแล้ว ภาพเด็กน้อยในอดีตยังไม่เป็นรูปเป็นร่าง เราใช้เวลานึกถึงอดีตนานกว่านั้นมาก
ได้ลองทำกันหรือเปล่า เป็นยังไงเอามาแชร์กันบ้าง
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in