ชื่อหนังสือ
ผู้แต่ง : 童子 (Tong Zi)
นักแปล
ประเภท
เรท
trigger : Pornographic content, Masculinism and Homophobia, Mental illness, และมี trauma ใหญ่ ๆ อีกมากมาย แต่จะสปอยล์ปมของเรื่อง (ใส่ไว้ข้างล่าง เตือน [ spoiler alert ! ] ไว้ )
คำโปรยหลังปก เล่ม 1
เส้นเรื่อง
นิยายเรื่องนี้มีเส้นเรื่อง 2 เส้น เป็นเส้นเรื่องหลักทั้งคู่ เล่าสลับกันบทต่อบท หลัก ๆ เป็นเรื่องราวของนักแสดงชายแท้สองคนที่มารับเล่นภาพยนตร์เกย์ที่มีความอีโรติกสูงมาก
ในนิยายเลยเล่าเรื่องราวทั้งในส่วนของ 'นักแสดง' (บทคี่) เป็นเส้นความสัมพันธ์ที่เกิดจากการถ่ายทำ ความใกล้ชิดระดับถึงพริกถึงขิง จนเลยเถิดถลำลึกไปไกล เต็มไปด้วยฉากเซ็กซี่วาบหวิว
กับอีกเส้นเรื่อง (บทคู่) ที่เป็นชีวิตของ 'ตัวละคร' ในภาพยนตร์ที่นักแสดงเล่นอีกที เป็นเรื่องราวของจิตแพทย์และผู้ป่วยทางจิตที่มีปมค้นหา เป็นเส้นเรื่องที่ให้กลิ่นอายสืบสวนหน่อย ๆ ค้นหาคลี่คลายปมในใจของผู้ป่วยทางจิต และความสัมพันธ์ยุ่งเหยิงของทั้งคู่
ตัวละคร
บทคี่
คู่นักแสดง :: เจินซิน x จางจุ่น ::
เจินซิน - พระเอก อายุน้อยกว่าจางจุ่น น่าจะประมาณสามสิบกว่า ๆ เป็นดาราดังที่มีชื่อเสียงอยู่แล้ว นิสัยค่อนข้างเปิดเผย ชัดเจน เฟรนด์ล่ี่ พื้นเพเกิดที่ 'ไต้หวัน'
จางจุ่น - นายเอก อายุน่าจะเกือบสี่สิบปี เป็นแค่ตัวประกอบสายบู๊ คล้าย ๆ สตั้นแมน มารับเล่นหนังเรื่องนี้เพื่อหาโอกาสแจ้งเกิดก่อนลาวงการ นิสัยเอาจริงเอาจัง ยึดติด พื้นเพเกิดที่ 'จีนแผ่นดินใหญ่'
เส้นเรื่องของคู่นี้จะเน้นที่ความสัมพันธ์ที่ก่อตัวขึ้นระหว่างถ่ายทำ จากบทบาท 'ถลำลึก' สู่ตัวตนที่แท้จริง
บทคู่
คู่ตัวละคร :: ฟางชื่อ x เกาจุ่น ::
ฟางชื่อ - พระเอกในหนัง เป็นจิตแพทย์ เปิดคลินิกให้คำปรึกษาด้านจิต และแฟนเก่าของฟางชื่อเป็นคนแนะนำให้เกาจุ่นมาพบเขาเพื่อปรึกษาปัญหา
เกาจุ่น - นายเอกในหนัง เป็นนักลงทุนด้านศิลปะ แต่เพราะมีเหตุการณ์บางอย่างเกิดขึ้น จึงทำให้เก็บตัว ไม่สุงสิง ปลีกหนีสังคม จนกระทั่งแฟนสาวทนไม่ไหวต้องติดต่อไปให้พบฟางชื่อ
เส้นเรื่องของคู่นี้จะเน้นที่การค้นหาว่าอะไรคือปมที่ทำให้เกาจุ่นเกิดอาการทางจิต และการเยียวยา จน 'ถลำลึก' ของทั้งคู่
*คู่นี้มี trigger ที่ค่อนข้างรุนแรง*
โทนเรื่อง
เนื้อหาอาจจะดูหนัก แต่จริง ๆ แล้วไม่ได้ดราม่าหนักหน่วงอะไร ออกแนวอีโรติกวาบหวิวด้วยซ้ำ แต่แน่นอนว่าประเด็นมันหนักเพราะงั้นก็จะหม่น ๆ หน่อย
อ่านยังไงให้อิน
อันนี้ส่วนตัวหน่อย แต่ไม่สปอยล์มู้ด (มั้ง)
เนื่องจากเทคนิคการเล่าเรื่อง คือ เล่าบทสลับบท ระหว่างตัวละครทั้งสองคู่ เลยทำให้ตัดอารมณ์มากอยู่ เนื้อเรื่องไม่ได้ต่อกัน มันทำให้ค่อนข้างอินได้ยาก เหมือนกำลังรู้สึกเข้มข้นกับฉากคู่หนึ่ง ตัดจบตัดอารมณ์ไปอีกคู่แล้ว
โดยส่วนตัวเราจะแนะนำให้ อ่านแยกกันไปเลย เส้นเรื่องสองเส้นไม่กระทบซึ่งกันและกัน เรียกว่า ไม่เสริมแล้วยังจะสปอยล์กันเองอีก (เห้อ)
ถ้าจะอ่านแยกก็จะแนะนำให้อ่าน บทที่หนึ่ง จากนั้นให้อ่านบทคู่ยาวไปจนจบ (หยุดที่ช่วงต้นของบทสุดท้าย บทที่ 62 อ่านถึงแล้วจะรู้ทันทีว่าต้องหยุด) แล้วค่อยกลับมาอ่านบทคี่ ก็จะเหมือนได้อ่านนิยายสองเรื่องในจักรวาลเดียวกัน
บทคี่จะสปอยล์ปมบทคู่ตั้งแต่ต้น ๆ เรื่องเลย ซึ่งน่าเสียดายมาก
แต่ใครอดใจไม่ไหว สักประมาณถึงบทที่เก้าน่าจะพอไหว (บทที่สามกับบทที่ห้า แซ่บลืม!) แต่หลังจากนั้นจะสปอยล์! สปอยล์! สปอยล์!
เราพยายามนั่งทำความเข้าใจนักเขียนว่าเพราะอะไรถึงเลือกใช้เทคนิคนี้
คำตอบเท่าที่คิดออกอาจจะเป็นความเป็นห่วง?
กลัวว่าบทคู่จะ trigger คนอ่านมากไป หนักไป?
เลยเอาบทคี่ซึ่งเรียบง่ายและอีโรติกมาคั่นความจริงจังของบทคี่?
ก็อาจจะเป็นไปได้
แต่ยังไงก็ตาม ถ้าอ่านแยกหมดแล้ว ลองกลับมาไล่เรียง timeline ดูอีกทีก็ได้ จะเห็นเส้นของความสัมพันธ์สองคู่ที่สอดคล้องไปด้วยกันอยู่นิด ๆ หน่อย ๆ ในช่วงหลัง ๆ (แบบนิด ๆ หน่อย ๆ จริง ๆ....)
นั่นแหละ เป็นนิยายที่ hate-love relationship กับเราของจริง
อ่านไปบ่นไปกับเทคนิคการเขียน แต่ก็อยากขายให้ทุกคนที่ไม่มี trigger อ่าน
เป็นการอ่านนิยายที่คุ้มมาก เปิดไปเปิดมา มีวิธีการอ่านที่หลากหลาย ท้าทายดี (ฮา)
รสชาติไม่จำเจและอินกับความสัมพันธ์ ก็คือเชียร์อยู่นิดหน่อยนั่นแหละ
message ของเรื่องน่าสนใจจนมองข้ามเทคนิคแปลก ๆ นี้ไปเลย
* * *
[ spoiler alert ! ]
อันถัดไปจะ สปอยล์ trigger ซึ่งหมายถึง สปอยล์ปมคู่ตัวละคร
[ spoiler alert ! ]
* * *
เกาจุ่นกลายเป็น Post Traumatic Stress Disorder: PTSD หรือโรคหวาดผวาหลังเหตุการณ์รุนแรง เพราะโดนผู้ชายข่มขืนแล้วมีอารมณ์ร่วมเพราะปฏิกิริยาทางร่างกาย ทำให้เกลียดชังตัวเอง
Trigger - Rape
ยิ่งเป็นสังคม/ครอบครัวที่ไม่ยอมรับเพศทางเลือกด้วยก็จะมีค่านิยมชายหญิงที่กดทับตัวตนเข้าไปอีก
Trigger - Homophobia / Toxic Masculinity
ตอนบำบัดฟื้นฟูกันระหว่างคุณหมอฟางชื่อและเกาจุ่น ก็มีสภาวะกึ่งเป็นเจ้านายกับทาส แล้วสุดท้ายฟางชื่อก็เผลอกระทำแบบเดียวกับคนข่มขืน อันนี้อ่านไปด่าไปพูดไม่ออกเลย
Dominant & Submissive / Stockholm Syndrome
เกาจุ่นพออาการกลัวดีขึ้น โซซัดโซเซไปนอนกับผู้ชายอีกหลายคน แต่ with consent นะ แม้ไม่แน่ใจว่าลึก ๆ มันเกิดจากอาการทางจิต พวกเสพติดเซ็กส์อะไรหรือเปล่า
Hypersexual disorder
ทั้งเกาจุ่นและจางจุ่นมีแฟนเป็นผู้หญิงแล้วทั้งคู่ ดังนั้นก็ถือว่าฟางชื่อและเจินซินมาทีหลัง ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม
มือที่สาม
* * *
- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - [ spoiler alert ! ] - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -
หลังจากนี้เป็นบันทึกความคิดเห็นและมุมมองส่วนตัว
LGBTQ+ Movement
จริง ๆ เราไม่ค่อยได้รับสารเกี่ยวกับเรื่องความเท่าเทียมทางเพศเท่าไหร่ เหมือนมันซ่อน ๆ ตัวอยู่ บางอย่างก็รู้สึกเอ๊ะ เอ๊ะ เอ๊ะ (ฮา) แต่สิ่งหนึ่งที่เราจับสังเกตได้จะเป็นสัญลักษณ์เรื่อง ไต้หวัน กับ จีนแผ่นดินใหญ่
พระเอก โดยเฉพาะเจินซินเกิดที่ไต้หวัน วิธีคิด การวางตัว ความเปิดเผย ค่อนข้างจะเสรีในเรื่องเพศทางเลือกมากกว่า และในนิยายก็มีประโยคที่จางจุ่นพูดเองเลยว่า จีนไม่เปิดกว้างเท่าไต้หวันในเรื่องนี้
ไต้หวันซึ่งเป็นประเทศแรกในเอเชียที่ผ่านกฎหมายการแต่งงานระหว่างคนเพศเดียวกัน
กับจีนแผ่นดินใหญ่ที่แม้แต่ซีรีส์เกย์ก็ยังต้องเป็นมิตรภาพลูกผู้ชาย...
แม้นิยายจะไม่ได้พยายามให้คำตอบชัด ๆ แต่ตลอดเรื่องก็จะวนอยู่ที่ประเด็นนี้แหละ จากชายแท้สู่การพบรัก (ในวิธีไม่ปกติ) และกลายมาเป็นเกย์ มุมมองจากสังคม ปมในใจตัวเอง เป็นต้น
ประโยคเด็ด ‘ผมไม่ใช่เกย์ แต่เพียงแค่เขาเท่านั้น’
ประโยคคลาสิกที่เห็นคนบ่นระงมในทุกวันนี้ ก็มาปรากฏในเรื่องนี้เหมือนกัน
ดูเหมือนว่านิยายเรื่องนี้จะมีกลิ่นอายโบราณนิด ๆ หน่อย ๆ เหมือนจะเขียนมาอย่างน้อย 3-4 ปี ซึ่งก็มีค่านิยมที่เปลี่ยนแปลงไปเยอะในปัจจุบัน
เอาจริง ๆ ในสมัยก่อน ตอนที่ค่านิยมที่ว่า 'เป็นเกย์ = มั่วไม่เลือก ไม่ต้องมีรักผสม' ยังถูกฝังอยู่ในหัวคนอย่างบิด ๆ เบี้ยว ๆ ไอ้ประโยคสุดคลาสิกนี่อาจจะทำหน้าที่ต่อต้านได้ดีอยู่แหละมั้ง ให้อารมณ์ว่า ไม่ได้มั่วนะ รักก็คือรัก อะไรทำนองนั้น (ส่วนคำถามที่ว่า แล้วมั่วมันผิดยังไงถ้าไม่ได้ทำให้ใครเดือดร้อน หรือไปเป็นมือที่สามของใคร ร่างกายก็เป็นของเรา อันนี้จะไม่มาถกตรงนี้)
แม้ว่าในวันนี้ ประโยคนี้มันจะเป็นการลดทอนการมีตัวตนอยู่ของชาวเกย์ก็ตาม
ไม่มีวันเยียวยา
นิยายลงดีเทลเกี่ยวกับจิตวิเคราะห์เยอะมาก จนแอบเชื่อไปนิดหน่อย แต่นิยายก็คือนิยาย ไม่ใช่ตำราวิชาการ เพราะงั้นหลาย ๆ ฉากก็บ่นไปเยอะ (ฮา)
แต่สิ่งหนึ่งที่นิยายสะท้อนออกมาได้ชัดเจนมาก ๆ คือจิตใจของคนที่โดนข่มขืนไม่มีทางเยียวยากลับมาเหมือนก่อนได้อีก แม้ชีวิตจะยังดำเนินต่อ แต่ก็ไม่มีวันฟื้นคืนมาได้อีกเลย แม้อาการ PTSD จะดีขึ้นและหายขาด แต่บาดแผลในใจจะไม่มีวันลบเลือน อ่านแล้วสะเทือนใจตรงนี้มาก ๆ
ความคิดของตัวละครบิดเบี้ยวไปหมด ทั้งโทษตัวเอง ทั้งปล่อยปละละเลยชีวิต ทั้งคิดว่าตัวเองเป็นเชื้อโรคที่ส่งต่อเชื้อโรคไปเรื่อย ๆ รู้สึกตัวเองผิดแปลกผิดที่ผิดทางไปหมด ทุกอย่างมันหม่นไปหมดจริง ๆ
เทคนิคการเขียน
แม้การเล่าบทสลับบทจะทำให้บ่นตลอดเวลา แต่เราก็ยังมีเสี้ยวหนึ่งที่รู้สึกชอบความกล้าที่จะเขียนของเขาอยู่นะ
เวลาอ่านเรื่องนี้ เรารู้สึกว่ามันต้องอ่านในแง่ว่า นั่นคือมุมมองของตัวละคร ไม่ใช่มุมมองของนักเขียน
มันต่างกันตรงที่ เช่น ถ้าเราอ่านว่าความคิดเรื่องการเป็นเกย์ที่แพร่เชื้อโรคไปให้อีกคน เป็นมุมมองของนักเขียน เราอาจจะเลิกอ่านแล้วด่าว่าคับแคบ เหยียดเพศ บลา ๆ แต่ถ้ามองว่านั่นคือมุมมองของตัวละครที่มีอาการทางจิต อยู่ในค่านิยมของสังคมแบบนั้น มันจะให้มุมมองที่ต่างออกไปทันที เราจะเข้าอกเข้าใจความกดทับของผู้คนได้ง่ายขึ้นมาก ๆ ซึ่งเราไม่ค่อยเจอแนวทางการเขียนที่กล้าเสี่ยงขนาดนี้
หรืออาจเป็นแค่การตีความของเราเองก็ไม่รู้แหละ
.
.
.
[End]
จริง ๆ ตอนอ่านใช้เวลาเยอะมาก อ่าน ๆ หยุด ๆ บ่นไปสิบ ชมไปห้า
แต่พอมาเขียนอันนี้ กลับนึกออกแค่นี้เอง
และก็เหมือนทุกที เขียนในสิ่งที่เข้ามากระทบความคิด ฉุกใจอะไรก็ต่อยอด
เป็นความคิดเห็น ณ วันนี้ พรุ่งนี้อาจเปลี่ยนแล้ว
มิถุนายน ๒๕๖๓
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in