*จุดที่มีสปอยล์ จะใส่คำเตือน [ spoiler alert ! ] ไว้
ชื่อนิยาย : พันสารท (4 เล่มจบ)
นักเขียน : เมิ่งซีสือ
นักแปล : Bou Ptrn
ประเภท : Fiction - Yaoi (นิยายวาย), จีนโบราณ, จีนยุทธภพ
เรท : G
trigger : N/A
คำโปรยหล้งปก
เจ้าสำนักเขาเสวียนตู "เสิ่นเฉียว" ถูกศิษย์ร่วมสำนักวางแผนทำร้ายจนตกสู่ก้นเหว เขาบาดเจ็บสาหัสแทบสิ้นชีวิต ประจวบเหมาะกับที่คนผู้หนึ่งผ่านมาพบเข้าพอดี ผู้นั้นคือ "เยี่ยนอู๋ซือ" ประมุขนิกายมารผู้ทำตามอำเภอ เอาแน่เอานอนไม่ได้ ซ้ำยังประพฤติตนอวดดี โจษจันไปทั้งโลกอธรรมและธรรมะ เขาเลือกที่จะช่วยชีวิตเสิ่นเฉียวเอาไว้ด้วยหวังชี้นำให้เจ้าสำนักเลื่องชื่อหันหลังให้ความดี หันหน้าเข้าหาความเสื่อมทราม
ทว่า...เสิ่นเฉียวนั้นมีจิตใจที่เมตตาเอื้อเฟื้อ ทั้งอ่อนโยนและสุภาพ ภายในกายยังหมุนเวียนไปด้วยความกล้าหาญที่ไม่อาจหักงอ แม้จะฟื้นจากความตายพร้อมความทรงจำที่ขาดหาย แต่ความแค้นไม่อาจกำหนดทิศทางชีวิต ต่อให้เยี่ยนอู๋ซือจะชักนำอย่างไร เสิ่นเฉียวก็ยังคงยึดมั่นในวิถีของตนมิคลาย
ข้อมูลเบื้องต้น
> ตัวละครหลัก (สำหรับผู้เริ่มต้น)
เสิ่นเฉียว (นายเอก) เป็นเจ้าสำนักเขาเสวียนตู - สำนักเต๋าอันดับหนึ่งในยุทธภพ มีชื่อเสียงเนื่องจากเป็นผู้สืบทอดวิชาจากฉีเฟิ่งเก๋อ ซึ่งมีวิทยายุทธเป็นอันดับหนึ่งในสมัยก่อน นิสัยโดยรวมอ่อนโยน จิตใจดี เชื่อมั่นในคุณงามความดีของมนุษย์ รักสงบ รักสันโดษ อยู่กับธรรมชาติ ครองกระบี่ปฐพีร่วมโศก เพลงกระบี่นามว่า เคล็ดกระบี่เกลียวคลื่น
เยี่ยนอู๋ซือ (พระเอก) เป็นประมุขพรรคมารนิกายฮ่วนเยวี่ย - หนึ่งในสามของนิกายพรรคมาร แต่เคยประมือกับ ชุยโหยววั่ง จนพ่ายแพ้จึงไปเก็บตัวฝึกยุทธ์อยู่นานสิบปี นิสัยโดยรวมแข็งกระด้าง ชอบประชดประชัน เชื่อมั่นว่ามนุษย์ทุกคนเลวโดยกำเนิดและเมื่อมีโอกาสก็จะแสวงหาประโยชน์เข้าตัว แต่พื้นฐานนิสัยเป็นคนไร้กรอบเกณฑ์ คาดเดาความคิดและการกระทำได้ยาก เก่งกาจวิชาดรรชนีวสันตวารี ใช้นิ้วแทนกระบี่เพราะกระบี่ถูกชุยโหยววั่งยึดไป
ฉีเฟิ่งเก๋อ เป็นอาจารย์ของเสิ่นเฉียวที่สิ้นชีพไปแล้ว เคยเป็นปรมาจารย์อันดับหนึ่งในยุทธภพ ณ ขณะนั้น
หูลู่กู เป็นยอดฝีมืออีกคนหนึ่งในยุคเดียวกับฉีเฟิ่งเก๋อ แต่พ่ายแพ้จากการประลองฝีมือกัน จนต้องให้คำสัตย์ออกจากจงหยวน (คำเรียกแผ่นดินจีน) เป็นเวลา 20 ปี หูลู่กูเป็นชาวทูเจวี๋ย
คุนเสีย เป็นศิษย์ของหูลู่กูแห่งทูเจวี๋ย ตั้งใจจะลบคำสบประมาทแทนอาจารย์ จึงนัดประลองฝีมือกับเสิ่นเฉียว และเป็นที่มาสู่ฉากเปิดของเรื่องนี้
> ความเชื่อและตัวละครที่เกี่ยวข้อง
ในนิยาย คนในยุคนั้นยอมรับความเชื่อที่หลากหลาย โดยเราขอแบ่งออกเป็น 3 ส่วนคือ
ทางธรรม
เต๋า - เต๋าเชื่อในธรรมชาติ สูงสุดคืนสู่สามัญ ความสงบและสันโดษ การอยู่กับต้นกำเนิดที่ดีงาม
>> สำนักเขาเสวียนตู : ฉีเฟิ่งเก๋อ เสิ่นเฉียว อวี้ไอ่ (ศิษย์)
>> อารามฉุนหยางแห่งเขาชิงเฉิง : อี้ปี้เฉิน (หนึ่งในสามยอดฝีมือแห่งยุค) หลี่ชิงอวี๋ (ศิษย์เอก)
>> นิกายปี้สยาแห่งเขาไท่ซาน : จ้าวฉืออิ๋ง เยวี่ยคุนฉือ ฟั่นหยวนไป๋ สืออู่
พุทธ - การขจัดทุกข์เพื่อพบสุข กรรมและเมตตาธรรม
>> นิกายเทียนไถ : หลวงจีนฝ่าอี
>> หลวงจีนเสวี่ยถิง (หนึ่งในสามยอดฝีมือแห่งยุค)
หรู (ข่งจื้อ) - ไม่เด่นชัด อาศัยการตีความของเราด้วยส่วนหนึ่ง แต่โดยพื้นฐานข่งจื้อเชื่อในการปกครองโดยธรรม ราชาผู้ทรงปราดเปรื่องและมีจริยธรรมก็จะทำให้บ้านเมืองสงบสุขและเจริญรุ่งเรือง
>> อารามศึกษาหลินชวน : เจ้าอารามหรู่เยียนเค่อฮุ่ย (หนึ่งในสามยอดฝีมือแห่งยุค)
ทางมาร
ขึ้นชื่อว่ามารย่อมไม่พูดถึงครรลอง เชื่อมั่นในการบรรลุเป้าหมายโดยไม่สนใจวิธีการ แต่ก็ใช่ว่าจะไร้สัตย์ไปเสียทุกคน โดยรวมหากไม่อยู่ในวิถีแห่งเต๋า พุทธ หรือหรู ก็อาจนับว่าเป็นมาร โดยมีคัมภีร์หงส์กิเลนเป็นหลัก
เดิมที พรรคมารกำเนิดมาจากนิกายรื่อเยวี่ย แห่งเมืองเฟิ่งหลิน จนกระทั่งแตกย่อยออกเป็น 3 นิกาย คือ
นิกายฮ่วนเยวี่ย (พระเอก)
>> เยี่ยนอู๋ซือ อวี้เซิงเยียน (ศิษย์) เปียนเหมียนเหมย (ศิษย์เอก)
นิกายเหอฮวน ใช้รูปโฉมมาเป็นอาวุธ เน้นวิชาจากการครองคู่
>> ซางอิ่งสิง (ผู้อาวุโสชาย) หยวนซิ่วซิ่ว (ประมุขหญิง) ไป๋หรง (หญิง) เซียวเซ่อ ฮั่วซีจิง เหยียนโซ่ว เป่าอวิ๋๋น ฯลฯ
นิกายฝ่าจิ้ง
>> ก่วงหลิงส่าน
ทางโลก
นิยายมีการอ้างอิงประวัติศาสตร์จีนโบราณยุคราว ๆ ค.ศ. 400-500 (ไม่แม่นยำ) โดยสมัยนั้นการปกครองยังเป็นแว่นแคว้น แบ่งออกเป็นฝ่ายเหนือ ฝ้ายใต้ และชนเผ่าข้างเคียงที่ไม่ใช่ 'คนจีน' (แล้วแต่จะนิยาม) ต่างปกครองตนเอง และพยายามรวมแผ่นดินเพื่อตั้งตนเป็นใหญ่
> ฝ่ายเหนือ (เป่ย)
เป่ยโจว - เมืองฉางอัน ฮ่องเต้อวี่เหวินยง สนับสนุนด้วยนิกายมารฮ่วนเยวี่ยของพระเอก เดิมทีบิดาของอวี้เหวินยงสนับสนุนลัทธิพุทธ แต่อวี้เหวินยงปฏิเสธทั้งพุทธ เต๋า และหรู เลือกใช้ฮ่วนเยวี่ย แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าฮ่องเต้เดินตามวิถีมาร แค่มีผลประโยชน์ร่วมกัน โดยมี อวี่เหวินอวิน เป็นองค์ชายรัชทายาท, ฉีอ๋อง อวี่เหวินเซี่ยน, องค์ชายเจ็ด อวี่เหวินซ่ง และแม่ทัพ ผู่ลิ่วหรูเจียน
เป่ยฉี - เมืองเย่เฉิง ฮ่องเต้ เกาเหว่ย เจ้าสำราญ ไม่ดูแลประชาชน ทำให้เกิดความอดยากไปทั่วแคว้น สนับสนุนด้วยนิกายมารเหอฮวน ตัวละครที่มีบทบาท เช่น เฉินกง มู่หรงชิ่น มู่หรงซวิ่น
หมายเหตุ นิกายมารสองพรรคนี้จึงไม่ถูกกันอย่างมาก เหตุเพราะต้องการครองความเป็นใหญ่
> ฝ่ายใต้ (หนาน)
หนานเฉิน - สนับสนุนด้วยลัทธิหรู
> ชนเผ่า ในเรื่องเรียก 'ชาวตะวันตก'
ทู่เจวี่ย - ในนิยายบอกว่าเป็นชาวเติร์ก เป็นดินแดนของหูลู่กู จั่วเสียนอ๋องคุนเสีย โดยมี ต้วนเหวินยาง และ ถัวปัวข่าน เป็นยอดฝีมือ
ถู่อวี้หุน - เมืองโบราญชั่วเชียง สนับสนุนด้วยนิกายมารฝ่าจิ้ง มียอดฝีมืออย่าง จวี้เส่อ
> อื่นๆ
พรรคลิ่วเหอ - เป็นพรรคใหญ่ มีสำนักกระจายตามแคว้นต่างๆ มักจะสนับสนุนนิกายมารเหอฮวน โดยมี โต้วเยี่ยนซาน เป็นประมุข อวิ๋นฝูอี (รองประมุข) ชั่งกวนซิงเฉิน (หัวหนาสาขาแคว้นฉี) หลิวชิงหยา หูเหยียนหูอวี่
ตำหนักหลิวหลี - เป็นผู้จัดอันดับยอดฝีมือในยุทธภพ ประมุขหญิง หยวนจื่อเซียว
ปล. มีคนทำแผนที่ภูมิศาสตร์ไว้ด้วย ชี้เป้า
> มรรคากระบี่
ในยุทธภพเชื่อว่ายอดฝีมือกระบี่นั้นมีลำดับข้้น แบ่งออกเป็น 4 สภาวะกระบี่ จากน้อยไปมาก คือ
- ปราณกระบี่
- จิตกระบี่
- ใจกระบี่
- วิญญาณกระบี่
ข้อมูลเบื้องต้นจบแล้ว หลังจากนี้มีสปอยล์
- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - [ spoiler alert ! ] - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -
เป็นบันทึกความคิดเห็นและมุมมองส่วนตัว
พล็อต - ฉากเปิด
เปิดเรื่องมาเป็นช่วงเวลาที่เยี่ยนอู๋ซือเพิ่งออกจากการเก็บตัว และเสิ่นเฉียวซึ่งเป็นเจ้าสำนักเสวียนตูรับคำท้าจากคุนเสียในการประลองฝีมือเพื่อลบคำสบประมาทให้หูลู่กู แต่เสิ่นเฉียวพลาดพลั้งทำให้ตกหน้าผาลงมาเกือบตาย แต่ไม่ตายก็เหมือนตายทั้งเป็น เพราะวรยุทธ์ก็หาย ชีพจรเดินไม่ปกติ ตื่นขึ้นมาสายตาก็มืดบอด
เยี่ยนอู๋ซือกำลังซักถามลูกศิษย์ ถึงเรื่องราวในยุทธภพระหว่างสิบปีที่ตนเองเก็บตัวฝึกวิทยายุทธ อยู่ที่ตีนเขาปั้นปู้พอดีกับที่เสิ่นเฉียวตกลงมา ด้วยความสนุกของการได้มองเห็นเจ้าสำนักเต๋าผู้สูงส่งตกลงมาสู่ความตกต่ำ จึงสั่งศิษย์เข้าช่วยเหลือ...
ความน่าสนใจของพล็อตก็คือการพรรณาภาพจากยอดเขาปั้นปู้สู่ทางน้ำไหล ภาษาสวยมาก (ส่วนที่ว่าอ่านยากมั้ย ก็คือต้องแอบจูนสติอยู่แป็บนึง) และการเปิดเรื่องด้วยพระเอกที่ไปเก็บตัวมา 10 ปี ก็เลยทำให้การ 'เล่าเรื่องราว' ไม่ประดักประเดิดเลย เพราะคนอ่านกับตัวละครกำลังรับฟังเรื่องราวไปพร้อม ๆ กัน ชอบวิธีการเล่าเรื่องผ่านสถานการณ์แบบนี้ เนียนมาก
แถมเนื้อเรื่องส่วนใหญ่มักจะฉายภาพแบบเดินตามชีวิตนายเอก แต่ตอนเปิดเรื่องนี้กลับเล่าจากภาพมุมมองพระเอก ถึงแม้จะไม่ได้เข้าใจเสียงในหัวไปทั้งหมดเพราะเล่าด้วยบุรุษที่สาม แต่ก็ทำให้เหตุผลที่พระ-นายจะมาเชื่อมโยงกัน มันมี 'จังหวะ' และน้ำหนักที่มากพอ เพราะถ้าเป็นสถานการณ์โดยปกติ คนที่ต่างกันสุดขั้วขนาดนี้คงไม่มีวันโคจรมาพบกันหรือสานต่อสัมพันธ์กัน ถ้าไม่ใช่ความ 'ไร้กรอบ คาดคะเนอะไรไม่ได้' ที่ถูกปูไว้ในนิสัยของพระเอก และสถานการณ์จับพลัดจับผลูนี้
การสร้างตัวละคร
เวลานึกถึงจีนก็มักคิดถึง หยิน-หยาง บู๊-บุ๋น นี่แหละ ความเชื่อในเรื่องหนึ่งขาวหนึ่งดำโยงใยสัมพันธ์กัน ใช้พิษต้านพิษ แม้ต่างกันสุดขั้วก็สามารถสมานกันได้ เป็นอะไรที่มีเอกลักษณ์มาก
ตัวละครในเรื่องนี้ก็ชัดเจนมากในเรื่องของบุคลิก คนหนึ่งจิตเต๋าสูงส่ง อีกคนหนึ่งจิตมารเลื่องชื่อ ไม่มีทางจะมาบรรจบแต่ก็ด้วยสถานการณ์ จังหวะ และนิสัยที่ต่างกันสุดขั้วเป็นทุนเดิม เลยทำให้ยิ่งอ่านยิ่งเอาใจช่วยทั้งสองคนให้หาจุดตรงกลางกันได้
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Motif ของตัวละครเยี่ยนอู๋ซือ ที่อยากจะทำให้เสิ่นเฉียว 'แปดเปื้อน' และดึงความชั่วร้ายดำมืดออกมา ทำให้นึกถึงเวลาเจอใครที่ดีมาก ๆๆๆๆ ละเราก็มีโมเมนต์ที่สงสัยว่าดีขนาดนั้นจริงหรอ ไม่มีจุดดำเลยหรอ ก็จะรู้สึกรีเลทกับตัวละครตัวนี้มากเลย (ฮา) ฉุกใจคิดขึ้นมาได้ว่า คนเราเวลาสงสัยคนดีนี่มันก็อาจจะเป็นเพราะมองเห็นตัวเองก็ได้นะ (ฮือ)
แต่นั่นแหละ ความขาวบริสุทธ์ที่ค่อย ๆ เทาขึ้นของเสิ่นเฉียวกับความขี้แกล้งตอนแรกขี้หยอดตอนหลังของเยี่ยนอู๋ซือ ก็ทำให้ตัวละครทั้งคู่น่าเอ็นดูเหลือเกิน
อุปกรณ์เสริม - evolution
Motivation หรือเส้นเรื่องย่อยแรก ๆ คือการได้ครอบครองคัมภีร์สุริยันที่เขียนขึ้นโดย เถาหงจิ่ง (คนยุคเดียว กับฉีเฟิ่งเก๋อ) ที่มีอยู่ทั้งหมด 5 เล่ม คือ
- จิตเพ้อพก (อยู่ที่เขาเสวียนตู)
- (อยู่ที่นิกายเทียนไถ)
- (อยู่ที่ฮ่องเต้เป่ยโจว)
- (ถูกทำลายโดยพระเอก)
- (ซ่อนอยู่ในกระบี่ไท่อี้)
เชื่อกันว่า เป็นการรวมวิชาของพุทธ เต๋า หรูและมาร คนที่ได้ศึกษาก็จะเหมือนติดอาวุธร้ายกาจ ช่วยให้ตัวละคร evolve วิถียุทธ์ให้เก่งขึ้น ๆ ผ่านด่าน ผ่านข้อจำกัดในวิชาของตัวเอง ทั้งพระเอกและนายเอกเลย
ปล. หาชื่อคัมภีร์ไม่เจอ
สิ่งละอันพันละน้อย
เชื่อในความดีเพราะอ่อนต่อโลก หรือเชื่อในความดีเพราะเข้าใจโลก?
เราคิดว่าจุดนี้คือแก่นของเรื่องเลย ตอนอ่านอยู่จะมีคำถามนี้ตลอด ช่วงแรก ๆ ตอนที่เสิ่นเฉียวเข้าสู่ยุทธภพเหมือนเด็กทารกเลย ที่ยึดมั่นในความดีก็เพราะได้รับการสั่งสอนมาจากฉีเฟิ่งเก๋อที่เขาเสวียนตู ตลอดสามสิบปีของเสิ่นเฉียวไม่เคยออกไปไหน เหมือนปิดตาด้วยผ้าขาวบริสุทธิ์ ไม่ข้องแวะกับโลก เชื่อมั่นในความดีงามของจิตใจมนุษย์โดยปราศจากประสบการณ์
การปรากฎตัวขึ้นมาของเยี่ยนอู่ซือ ด้วยเจตนาชัดเจนว่าจะทำให้ 'แปดเปื้อน' เหมือนเป็นการกระชากผ้าสีขาวออกจากดวงตา ให้ได้มองเห็นความเน่าเฟะของโลก กลโกง การทรยศหักหลัง ความเจ็บแค้น การแย่งชิงอำนาจและความอยุติธรรม
พอมาถึงจุดนี้ คนที่โดนกระทำอย่างอยุติธรรม อาจ 'เลือก' ที่จะตาสว่าง ลุกขึ้นมาแก้แค้น เหมือนคำพูดหนึ่งในนิยายจีนที่ได้ยินบ่อย ๆ ว่า 'ชาวยุทธแก้แค้นสิบปีก็ไม่สาย'
แต่เสิ่นเฉียวกลับไม่ทำแบบนี้ การตาสว่างของเสิ่นเฉียวนี่ถ้าเป็นพุทธคงอธิบายว่า ดวงตาเห็นธรรม เลย และเรารู้สึกว่า คนที่ยังคง 'เลือก' จะกระทำดีอยู่ ในสถานกาณ์ที่กำลังถูกท้าทายศีลธรรมด้วยอะไรก็ตาม ต้องเป็นคนบริสุทธ์ที่เข้มแข็งมาก เหมือนเวลาที่บอกว่า คนมีมนุษยธรรม ถ้าเห็นคนที่เกลียดกำลังถูกกระทำอย่างไม่ยุติธรรม ก็จะยื่นมือเข้าช่วยอย่างไม่ลังเล เท่เท๊
เพราะงั้นต่อไปเวลาที่เจอคนดี ๆ ที่โดนกระทำ แต่ไม่โกรธและไม่ตอบโต้ ก็จะเลือกมองว่าเขาเข้าใจโลกอย่างกว้างขวาง ไม่ใช่อ่อนต่อโลกละกัน
แต่โดยส่วนตัวเราก็ยังรู้สึกว่า การเป็นคนที่ไม่ละเมิดคนอื่นแต่ก็ไม่ยอมให้ใครมาละเมิดตัวเอง เป็นการเคารพตัวเองที่พอดิบพอดีกว่า ในหลาย ๆ สถานการณ์ (ฮา)
ชีวิตคือการพนัน
พูดถึงเสิ่นเฉียวไปแล้ว มาพูดถึงเยี่ยนอู๋ซือบ้าง ตอนเล่ม 4 ที่พูดเปรียบการประลองครั้งยิ่งใหญ่กับหูลู่กูเหมือนการพนัน ทำให้รู้สึกว่านี่เป็นการบรรยายลักษณะนิสัยพระเอกที่ดีจริง ๆ นะ
เยี่ยนอู่ซือเป็นมารที่ไร้กรอบเกณฑ์ กระทำสิ่งต่าง ๆ ตามอำเภอใจ นึกจะไปจะมาแล้วแต่ใจตนเอง แม้กระทั่งวิชายุทธ์ก็ศึกษากว้างขวาง ไม่สนที่มา ไม่ยึดติด ไม่ยึดถือศักดิ์ศรีปรมาจารย์ ไม่สนใจหน้าตา ไม่มีปัจจัยภายนอกมากระทบ จะว่าไปแล้วก็ทั้งอิสระและเปลี่ยวเหงา เก่งเกินกว่าจะหาคู่ต่อสู้ อิสระเกินกว่าจะยึดติดกับใคร ด้วยนิสัยแบบนี้เลยยิ่งทำให้เห็นน้ำหนักของเสิ่นเฉียวในใจเยี่ยนอู๋ซือสูงมาก โรแมนติกขึ้นมาซะอย่างนั้น (ฮา)
และชีวิตที่เหมือนการเล่นพนันนี่ก็ดี ถ้าเราสามารถรู้สึกสนุกท่ามกลางความเสี่ยงได้ ใจจะใหญ่และปลอดโปร่งแค่ไหนกัน ไม่ต้องหวาดกลัวเพราะความกังวลใจเป็นความสนุกอย่างหนึ่ง ช่างเป็นวิธีคิดที่เย่อหยิ่งจองหองและอิสระจนน่าอิจฉา
เต๋า
นี่เป็นนิยายเต๋าเรื่องที่สองที่อ่าน (ก่อนหน้าคือ ตัดสินคนจากหนัาตาก็ต้องเจอแบบนี้) จะว่าไปแล้วก็มีกลิ่นอายถ่อมตนเหมือน ๆ กันเลย อาจจะเพราะเต๋าคือการโน้มกิ่งสู่ผืนดิน? กลับสู่ธรรมชาติและความสมถะอะไรแบบนี้ละมั้ง แต่มันคือนิยามของคำว่า อ่อนโยนแต่ไม่อ่อนแอ ที่แท้จริง
ความเต๋าในเรื่องไม่ค่อยชัดเท่าในตัดสินคนฯ เรื่องนั้นจะค่อนข้างใช้บทพูดอธิบายความคิด แนวคิดเต๋า สอดแทรกผ่านพิธีกรรมต่าง ๆ แต่เรื่องนี้ค่อนข้างที่จะต้องตีความระหว่างบรรทัดเยอะทีเดียว เพราะเล่าผ่านการกระทำของตัวละครซะมากกว่า ซึ่งก็เข้าใจบ้าง ไม่เข้าใจบ้าง แต่ก็สัมผัสได้ถึงสายลมสงบจากตัวเสิ่นเฉียวตลอดเวลา เป็น vibe ที่ปลอดโปร่งมาก ๆ
แต่เอาจริง ๆ ตอนอ่านก็อึดอัดกับความถ่อมตนของเสิ่นเฉียวพอสมควร โดยเฉพาะฉากต่อสู้ (ซึ่งมีเยอะมาก) บรรยายว่าต่อสู้กับใครก็สู้ยากไปหมด ติดตรงนั้นบ้าง ติดตรงนี้บ้าง ทั้งที่สกิลแทบจะปลดล็อคสู่ปรมาจารย์อันดับหนึ่งอยู่ละอะ
การเมืองเอเวอรี่แวร์
ด้วยความเป็นจีนยุทธภพ เรื่องการเมืองก็เข้มข้นมาก โดยเฉพาะเราจะเห็นความขัดแย้งของความเชื่อต่าง ๆ ไม่เว้นแม้แต่พุทธกับเต๋า ที่อยากจะมีบทบาทควบคู่กับการปกครอง เลยมีการสู้เพื่อตั้งตัวเป็นใหญ่ในแว้นแคว้นมากมาย ถึงจะบอกว่าเป็นทางธรรม แต่ความอยู่รอดของตัวเองก็สำคัญนั่นแหละ
จริง ๆ แล้ว ถ้ามองถึงประวัติศาสตร์ของโลกที่ผ่านมา การทะเลาะกันเพราะความเชื่อและศาสนาที่นับถือ นี่รุนแรงมาก ๆ เผลอ ๆ จะเป็นชนวนความขัดแย้งด้วยซ้ำ ซึ่งทุกวันนี้ก็ยังเห็นอยู่ชัดมาก ๆ
คำพูดคือเสียงของหัวใจ [เล่มสามหน้า 16]
มีนักปรัชญาภาษาเคยบอกว่า มนุษย์เราจะไม่มีทางเข้าใจอะไรเลยถ้าไม่มีเครื่องมือสื่อกลางที่เรียกว่า ภาษา ไม่ได้แค่หมายถึงการคุยกับคนต่างชาติหรือการสื่อสารระหว่างกันนะ แต่หมายถึงเราจะไม่สามารถเข้าใจโลกได้เลย ถ้าเราไม่มีนิยามหรือมีคำนั้นในภาษาของเรา
ตัวอย่างที่ง่ายสุดน่าจะเป็นการที่ภาษาอังกฤษไม่มีคำว่า เกรงใจ และต้องอธิบายอยู่นานมากว่ามันคืออะไร ลักษณะเป็นยังไง ต้องเทียบเคียงลักษณะท่าทางและจำลองสถานการณ์กว่าจะเข้าใจได้
ภาษาเยอรมันจะมีคำประเภทที่ใช้อธิบายอารมณ์อยู่เยอะมาก ๆๆ เลยทำให้มีนักคิดที่ลึกซึ้งในเยอรมนีเยอะมาก ๆ เหมือนกับที่ญี่ปุ่นก็ชอบมีคำบรรยายลักษณะเฉพาะของคนเยอะมากเช่นกัน และมันแสดงออกผ่านการเข้าใจผู้คนบางอย่างของญี่ปุ่นที่ปรากฎออกมาในงานศิลปะหลากหลายรูปแบบ
เพราะงั้นภาษาก็เลยเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการบ่งบอกวิธีคิดและวัฒนธรรมในระดับสังคม และการใช้ภาษาของคนแต่ละคนก็แสดงออกถึงทัศนคติเช่นกัน เวลาเจอใครขยันฉอด ต่อให้ตรรกะดีแค่ไหน ก็รู้สึกเป็นพิษต่อผู้คน
พูดมาเยอะแยะเพราะอ่านเจอประโยค "คำพูดคือเสียงของหัวใจ" แค่นั้นเอง (ฮา)
ภาษาไทยสำนวนจีน
อันนี้ไม่ได้เกี่ยวกับเนื้อเรื่อง แต่คิดขึ้นมาตอนอ่านเรื่องนี้ อาจจะด้วยความที่นักแปลเขาแปลได้สำบัดสำนวนดีเหลือเกิน จู่ ๆ ก็รู้สึกว่า ภาษาไทยนี่มีชีวิตชีวาดีจริง ๆ! แค่เปลี่ยน 'สำนวน' ก็สามารถกลายเป็นอัตลักษณ์ทางชนชาติได้แล้ว!
ใครเป็นคนคิดว่าการพูดจาแบบคนจีนด้วยภาษาไทยจะต้องมีกลิ่่นอายแบบ
ชิ้นส่วนคัมภีร์สุริยันต์แม้ล้ำค่า แต่อวี่xx หาใช่ผู้ฝึกยุทธ์ไม่
ใคร!? ใครเป็นคนต้นคิดแปลสำนวนปฏิเสธซ้อนปฏิเสธแล้วอ่านปุ๊บก็รู้เลยว่าจีน? งงมาก
นอกนั้นภาษาไทยยังสามารถบ่งบอกกาลอดีตได้ด้วยแค่การเปลี่ยนสำนวนแค่นั้นเอง พวกนิยายพีเรียดไทยเดิมงี้ อัจริยะ!
[End]
ภาพ Cover คือ คัมภีร์พันสารทที่แถมมาตอนซื้อเล่ม
เป็นการเขียน Book Journal ที่ยากมากแต่สนุกมาก
นี่ใช้เวลาเขียนนานพอ ๆ กับเวลาอ่านเลย เย้ๆ
ก็เหมือนทุกที เขียนในสิ่งที่เข้ามากระทบความคิด ฉุกใจอะไรก็ต่อยอด
เป็นความคิด ณ วันนี้ พรุ่งนี้อาจเปลี่ยนแล้ว
มีนาคม 2563
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in