เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
เขียนไปเรื่อยนอวอรอรอตอพอลอ
Pretty Woman และการขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยน
  • "คำเตือน: นี่ไม่ใช่บทความเชิงวิชาการ หรือบทวิจารณ์ภาพยนต์"

    เสียงเงินกรุ๊งกริ๊งที่จุดชำระเงินในร้านสะดวกซื้อ ทำให้ผมหันตามเสียงไปมองดูเหรียญสีเงินๆ ที่ร่วงจากมือ ก่อนจะก้มลงเก็บมาชำระค่าสินค้า
    ชั่วเวลาครู่เดียวก่อนที่พนักงานจะกวาดเงินจากเคาน์เตอร์ลงอุ้งมือ ผมเหลือบเห็นขนาดที่แตกต่างเล็กน้อยระหว่าง "เหรียญบาท" สองเหรียญนั้น และรีบคว้าขึ้นมาดู
    ไม่ผิด มันไม่ใช่ "เหรียญบาท" แต่มันเป็นเหรียญจากทริปล่าสุด (ที่ยังเขียนเล่าไม่เสร็จ)
    มูลค่าของมันคือ 100 เยน หรือประมาณ 30 บาทไทย
    โชคดีไป เงินกว่า 30 บาท เผลอนิดเดียวมันอาจเหลือค่าแค่ 1 บาท
    สมัยนี้ซื้อลูกอมยังไม่ได้เลย

    "เงิน" เป็นสื่อกลางที่มนุษย์โลกในปัจจุบันคุ้นเคยที่สุด เมื่อมี "เงิน" เราก็มีอำนาจที่จะไปแลกมันมากับสิ่งโน้นสิ่งนี้ ซื้อสินค้า ซื้อบริการ ซื้อความฝัน
    Richard Gere ใน Pretty Woman ซื้อความรักด้วยเงิน
    เราทุกคนล้วนเคยชินกับการแลกเปลี่ยนด้วยสื่อกลางบางอย่าง สังคมมนุษย์ก้าวผ่านการแลกเปลี่ยนระหว่างของต่อของหรือระบบ Barter System ไปนานแล้ว
    ด้วยระบบที่เงินเป็นสื่อกลาง มือที่มองไม่เห็นของอดัม สมิธ ทำให้สินค้าบางอย่างมีราคาแพง บางอย่างก็ไม่ ดีมานด์เยอะ-ซัพพลายน้อย สินค้าย่อมมีมูลค่ามาก ดีมานด์ต่ำ-ซัพพลายสูง สินค้าโหลราคาถูก
    ที่ Richard Gere ซื้อคือบริการ ไม่ใช่ความรัก เมื่อ Julia Roberts มีเพียงหนึ่งเดียว ราคาของเธอจึงแพง
    สิ่งที่ใช้วัดมูลค่าคือเงิน
    จริงๆ มนุษย์เรายังมีการแลกเปลี่ยนมากมายเกิดขึ้นนอกตลาดตามนิยามของเศรษฐศาสตร์ บทสนทนาหลังเลิกงาน รอยยิ้มให้คนที่สวนกันในลิฟต์ มอเตอร์ไซค์รับจ้างโบกให้รถหลังจอดเพื่อช่วยผู้สูงอายุข้ามถนน
    ถ้าไม่นับความโลภที่ดีงามแบบไทยนิยม ประเภททำบุญมากจะได้กลับมามากหรืออะไรเทือกนั้น การแลกเปลี่ยนเหล่านี้ มันดูเหมือนเป็นเรื่องเล็กน้อยจนคร้านจะตั้งราคา รอยยิ้มให้คนแปลกหน้าควรมีมูลค่าด้วยรอยยิ้มกลับมาเท่าๆ กันไหม? การช่วยพยุงคนที่ล้มลงต่อหน้าจะทำให้เราอิ่มบุญไปครึ่งมื้อหรือไม่? ฯลฯ"
    น้ำใจ" มีค่า แต่เราไม่ได้ตั้งราคาให้มันมากมาย
    ตราบใดที่เราไม่หวังผลกำไรตอบแทน
    ผมไม่เคยดู Pretty Woman จบหรอก มักจะทนความเลี่ยนโรมันติกคอเมดี้ของยุค 80s ไม่ได้
    แต่บทเรียนหนึ่งก็คือ ความรักก็เป็นการแลกเปลี่ยนชนิดหนึ่ง
    บางครั้ง เราก็ไม่หวังจะได้อะไรตอบแทน นอกจากความรัก
    หลายครั้ง คนเราก็มักเผลอใจ คิดว่าเมื่อให้ความรักไป เราควรต้องได้กลับมาในมูลค่าเท่าเทียมกัน
    ในการแลกเปลี่ยนนี้ คนที่มีความรู้สึก "มากกว่า" ความรู้สึกที่ได้รับกลับมา อาจคิดไปว่าตนเองกำลังขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยน จนหมดกำลังใจที่จะอยู่ในตลาดต่อไป
    อาจมีบ้างที่คิดว่าตัวเองกำลัง "แลกเปลี่ยน" ความรู้สึกกับอีกคนหนึ่ง ทั้งที่จริงๆ ไม่ได้เกิดการแลกเปลี่ยนขึ้นเลย
    เมื่อความรู้สึกขาดทุน หัวใจเลยต้องเจ็บ ทั้งที่จริงๆ ในเกมของหัวใจ มันไม่เคยมีการแลกเปลี่ยนแบบฝ่ายชนะหรือฝ่ายแพ้
    มีแต่ชนะทั้งคู่
    กับแพ้ทั้งคู่
    มันไม่มีหรอกการขาดทุน
    เพราะมันไม่ได้มีอีกฝ่ายตรงข้ามที่เกิดกำไรจากการขาดทุนของความรู้สึก
    อาจเพราะมันไม่ใช่ความรัก
    ในอีกมุมหนึ่งการพ่ายแพ้ให้กับความรักก็ทำให้เราได้ประสบการณ์
    แผลเป็นทำให้ผิวหนังกระด้าง หยาบ หากแต่ทนต่อการขูดขีดในครั้งต่อไป
    แต่ผู้พ่ายแพ้ก็ต้องใช้เวลาให้แผลตกสะเก็ด ก็อย่าแปลกใจที่เขาหรือเธอจะหลบไปเลียแผลอยู่ที่มุมของตัวเองอย่างเงียบๆ หรือแม้แต่โยนผ้าขาว เพื่อละจากสังเวียนไป ก่อนที่จะเจ็บยิ่งไปกว่าเดิม
    ฉะนั้น โปรดอย่าตัดสินกัน ที่ผมตัดสินใจเดินออกจากชีวิตของคุณ
    เพราะผมรู้สึกล้มละลายจากการขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยนในคราวนั้น
    ทั้งที่คุณอาจไม่คิดว่าระหว่างเราได้มีการแลกเปลี่ยนอะไรขึ้นแม้แต่น้อย
    ผมไม่ได้อยากมีแผลเป็นประดับหัวใจหรอก
    ถ้ามันไม่ฆ่าผมเสียก่อน มันก็คงทำให้ผมแข็งแกร่งขึ้นเมื่อสะเก็ดแผลชิ้นสุดท้ายนั้นหายไป

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in