เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
AniME : อนิเม(ะ) ฉบับตามใจฉันCat's box
Fate Zero : สงครามวีรชนกับอุดมคติสุดโต่งของเหล่าคนกล้า
  • เรื่องเก่าเอามาเล่าใหม่ เป็นการต้อนรับซีรีส์ Fate : Apocalypha ที่กำลังฉายอยู่ตอนนี้ เลยเอาอนิเมใน  ซีรีส์เฟตเก่าๆมารีวิว และหนึ่งในนั้นคือภาคโปรดของเราเอง นั่นก็คือ Fate Zero ด้วยความคันไม้คันมืออยากเขียนอวยของรักของตัวเอง จึงเป็นที่มาของความเวิ่นยาวๆในคราวนี้ค่ะ  

    (คำเตือน ! : ผู้อ่านต้องใช้วิจารณญาณในการอ่านอย่างมาก เพราะแรงอวยบังหูบังตาคนเขียนเต็มที่ ) 

    Fate Zero หรือในชื่อไทยว่า ปฐมบทมหาสงครามจอกศักดิ์สิทธิ์ 
    เป็นผลงานที่ต่อยอดมาจากซีรีส์ Fate ซึ่งเป็น VN (Visual Novel หรือนิยายภาพ ) และเป็นเกมต่อสู้บนเครื่อง pc ที่ได้รับความนิยมอย่างสูง 

    ในภาคนี้จะเป็นการเล่าเรื่องราวแต่แรกเริ่มของสงครามจอกศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่จะปูไปยังเนื้อเรื่องในภาค Fate Stay night ดังนั้นสำหรับผู้ที่ไม่เคยติดตามซีรีส์ Fate มาก่อน ก็สามารถเข้าใจเนื้อหาของภาคนี้ได้ไม่ยาก 

    ปฐมบทมหาสงครามจอกศักดิ์สิทธิ์ได้เปิดม่านมาด้วยการตัดฉากไปมา เพื่อบอกเล่าเรื่องราวของตัวละครหลากหลายที่มาที่ไม่มีความเกี่ยวข้องกัน แต่มีสิ่งหนึ่งที่เชื่อมทุกตัวละครเข้าไว้ด้วยกัน คือความต้องการใช้ "จอกศักดิ์สิทธิ์" เป็นเครื่องมือเติมเต็มความปรารถนาตน ซึ่งจะส่งผลให้ทุกคนกระโจนเข้ามายังเวทีเดียวกันในไม่ช้า 




    สงครามจอกศักดิ์สิทธิ์คืออะไร ? 

     จอกศักดิ์สิทธิ์ (Holy Grail) ถูกอ้างอิงในนวนิยายมาแล้วหลายต่อหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นตำนานกษัตริย์อาเธอร์ , ดาวินชี โค้ด ของแดน บราวส์ หรือในจอภาพยนตร์อย่างอินเดียน่า โจนส์ ตามตำนานได้กล่าวไว้ว่า จอกศักดิ์สิทธิ์คือจอก จาน ถ้วยหรือชามที่พระเยซูใช้ในพระกระยาหารมื้อสุดท้าย (The last supper) และบางงานเขียนก็กล่าวว่าเป็นจอกที่ใช้รองรับพระโลหิตของพระเยซูเมื่อครั้งที่ถูกตรึงกางเขน ตัวจอกศักดิ์สิทธิ์มีพลังอำนาจในการรักษาบาดแผลให้หาย หรือทำให้ผู้ดื่มเป็นอมตะ ไม่แก่ไม่ตาย

    ซึ่งใน Fate Zero นี้ จอกศักดิ์สิทธิ์ดังกล่าวสามารถ"บันดาลพรใดๆให้เป็นจริงได้" และกลายเป็นจุดเริ่มต้นของสงครามในครั้งนี้


                               จอกศักดิ์สิทธิ์ที่มีคุณสมบัติเหมือนลูกแก้วมังกรในดรากอนบอล


    ในสงครามจอกศักดิ์สิทธิ์มีผู้เข้าร่วมแข่งขันแย่งชิงจอกได้ทั้งสิ้น 7 คน พวกเขาจะถูกเรียกว่า "มาสเตอร์" (master) โดยมาสเตอร์แต่ละคนจะต้องทำสัญญาอัญเชิญ "เซอร์แวนท์" (servant) ออกมาหนึ่งคน เพื่อรับใช้ตนเองในการต่อสู้ ซึ่งเซอร์แวนท์เหล่านี้คือบรรดาวีรชนในอดีตที่มีชื่อเสียง (ทั้งที่มีอยู่จริงในประวัติศาสตร์หรือปรากฏตามตำนาน) อาทิเช่น กษัตริย์อาเธอร์ จากตำนานกษัตริย์อาเธอร์ , กิลกาเมชจากมหากาพย์กิลกาเมช , ฮัซซัน ไอ ซับบาห์ ผู้ก่อตั้งองค์กรแอสซาซิน หรือกษัตริย์อเล็กซานเดอร์ผู้ปกครองจักรวรรดิมาซิโดเนีย  เป็นต้น 

    ทั้งนี้ มาสเตอร์และเซอร์แวนท์คู่หูที่เหลือรอดเป็นคู่สุดท้ายในสงคราม คือผู้ชนะที่จะสามารถอฐิษฐานขอพรกับจอกศักดิ์สิทธิ์ได้



    เซอร์แวนท์ 7 คลาส อันได้แก่ saber , archer , assassin , caster , berserker , lancer, rider



    มาสเตอร์และเซอร์แวนท์ : อุดมการณ์ที่สวนทาง 

     ในเรื่องนี้ เราจะได้เห็นแรงจูงใจในการเข้าร่วมสงครามที่หลากหลายของเหล่ามาสเตอร์ ไม่ว่าจะเป็นความต้องการช่วยบุคคลที่รัก , ความต้องการพิสูจน์ตัวเอง , ความต้องการเข้าถึงแก่นแท้ของเวทมนต์ (ฉากหลังของเรื่องราวเป็นโลกยุคปัจจุบัน ที่มีจอมเวทย์และการใช้เวทมนต์ปรากฏในเรื่อง) หรือแม้แต่ความปรารถนาอันสุดโต่งของตัวละครเอกอย่าง เอมิยะ คิริสึงุ ที่ต้องการให้โลกใบนี้มีแต่ความสงบสุข ปราศจากสงครามและการต่อสู้ไปชั่วนิรันดร์ 

    ในทำนองเดียวกันนี้ บรรดาเซอร์แวนท์หรือวีรชนที่ถูกอัญเชิญออกมาก็มีความปรารถนาต่อจอกศักดิ์สิทธิ์เช่นกัน เช่นกษัตริย์อาเธอร์ที่ต้องการย้อนเวลากลับไปแก้ไขความผิดพลาดในอดีต หรือกษัตริย์อเล็กซานเดอร์ที่ต้องการกลับมาเกิดใหม่เพื่อพิชิตโลกอีกครั้ง 

    ความสัมพันธ์ของมาสเตอร์และเซอร์แวนท์จึงเป็นเสมือนนาย-บ่าวหรือคู่หูที่ต้องร่วมมือเพื่อให้ได้มาซึ่งเป้าหมายเดียวกัน บางคู่สามารถร่วมมือกันได้ บางคู่ได้เรียนรู้จากกันและกัน ในขณะที่บางคู่ไม่สามารถเข้ากันได้ จนถึงขั้นที่ความคิดแตกหักสวนทางกันไปคนละทาง 

    เช่นเดียวกับคู่ของเอมิยะ คิริสึงุและวีรชนอาเธอเรีย



    King Arthur หรือ Arthuria


    ราชาอัศวินอาเธอร์ หรืออาเธอเรีย มีต้นแบบมาจากตำนานของกษัตริย์อาเธอร์แห่งบริเทน ราชาของนครคาเมลอตและเจ้านายของเหล่าอัศวินโต๊ะกลม แต่การปรากฏตัวของราชาอัศวินซึ่งควรจะเป็นชายกลับกลายเป็นสตรี (ซึ่งเธอให้เหตุผลว่าตนปลอมตัวเป็นชายมาโดยตลอด ตำนานจึงถูกถ่ายทอดไปในทางนั้น ) 

    การดัดแปลงคาแรคเตอร์ที่ปรากฏตามตำนานให้น่าสนใจและถูกใจบรรดานักอ่านรุ่นใหม่ นับได้ว่าเป็นจุดขายอย่างหนึ่งของซีรีส์ Fate


                                                            อาเธอเรียในชุดสูทของผู้ชาย


    อย่างไรก็ตาม ใน Fate Zero นี้ อาเธอเรียซึ่งเป็นเพศหญิง ไม่ได้แสดงบทบาทความเป็นสตรีเพศออกมาเท่าใดนัก เธอมักแต่งกายในเสื้อผ้าของผู้ชายอย่างชุดสูท มีความเชี่ยวชาญในการขับยานพาหนะ โดยเฉพาะขี่มอเตอร์ไซค์ อีกทั้งมักแสดงกิริยา"อย่างสุภาพบุรุษ" เช่นการให้เกียรติและปกป้องสตรี ซึ่งแสดงความเป็นตัวตนเพศชายออกมาอย่างชัดแจ้ง (แฟนๆของซีรีส์ Fate เองก็จะเห็นได้ว่า เฉพาะในภาค Fate Zero เท่านั้นที่อาเธอเรียสวมทับบทบาทเพศชายออกมาชัดเจนมากกว่าภาคไหนๆ ) 
    อุปนิสัยของอาเธอเรียจึงค่อนไปในทางอัศวิน นั่นคือยึดมั่นในคุณธรรมอย่างสุดโต่ง ให้เกียรติการต่อสู้และคู่ต่อสู้ของตนเอง โดยมองว่าการต่อสู้นั้นสมควรมีเกียรติและศักดิ์ศรี แตกต่างจากผู้เป็นมาสเตอร์ของตนอย่างสิ้นเชิง

    โดยส่วนตัวแล้ว เราชอบคาแรคเตอร์ของอาเธอเรียภาคนี้มากกว่า เพราะมีลุคที่มาดแมนสมเป็นกษัตริย์ผู้นำจริงๆ ไม่เหมือนภาค stay night  ที่จะออกไปทางสาวน้อยแรกแย้มซะอย่างนั้น



                                                         เอมิยะ คิริสึงุ ...มุมนี้ป๋าหล่อมาก


    เอมิยะ คิริสึงุ เป็นนักฆ่าไม่สังกัดองค์กร ซึ่งทำหน้าที่รับจ้างฆ่าจอมเวทย์มาแล้วจำนวนมาก เขาเป็นคนฉลาดรอบคอบ วางแผนอย่างรัดกุม และเชี่ยวชาญการประยุกต์ใช้เครื่องมือเทคโนโลยีสมัยใหม่ผสมผสานกับการใช้เวทมนต์ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องมือสอดแนม อาวุธปืน ระเบิด ( ซีนต่อสู้ที่ได้เห็นการใช้ระเบิด ปืน และอาวุธไฮเทคจึงเป็นอะไรที่อีพิคถูกใจนักอ่าน/ผู้ชม ที่เบื่อความเป็นแฟนตาซีกับไม้เท้าเวทมนต์แบบเก่าๆแล้ว) 

    ภายนอกดูเหมือนว่าคิริสึงุจะเป็นคนจิตใจเย็นชา แต่ผู้ชมก็จะได้เห็นด้านที่อ่อนโยนของเขายามเมื่ออยู่กับภรรยาและลูกสาว ได้รับรู้ความรู้สึกผิดบาปที่ดึงให้บุคคลที่ตนรักต้องเข้ามาพัวพันกับสงคราม รวมถึงได้เห็นความมุ่งมั่นอันแรงกล้าของคิริสึงุที่ต้องการ "เป็นมิตรแห่งความเที่ยงธรรม"



    มีแง่มุมที่ดูสมเป็นป๊ะป๋าเหมือนกันนะ

    กระนั้นก็ตาม แม้ว่าคิริสึงุจะต่อสู้ด้วยความมุ่งหมายที่ต้องการช่วยเหลือคนอื่น แต่เขาไม่เกี่ยงวิธีการ ทั้งการลักพาตัว ลอบฆ่า การผิดคำสัญญา หรือวิธีการสกปรกใดๆก็ตามที่จะทำให้สามารถบรรลุเป้าหมายได้ ตนก็จะทำ คิริสึงุจึงไม่ชอบใจกับหลักการอัศวินของอาเธอเรียที่ต้องการต่อสู้อย่างสมศักดิ์ศรี เพราะเขาเห็นว่ามันเป็นการกระทำที่สูญเปล่า 

    คิริสึงุให้ค่ากับผลลัพธ์ของการกระทำ ในขณะที่อาเธอเรียให้ความสำคัญกับวิธีการ ทั้งคู่สนทนากันน้อยครั้ง และไม่สามารถทำความเข้าใจหรือยอมรับในตัวอีกฝ่ายได้

    (คิริสึงุ ) " อัศวินช่วยโลกไว้ไม่ได้หรอก เพราะพวกนั้นแบ่งแยกโลกออกเป็นความดีและความความชั่ว  เสแสร้งแสดงให้เห็นว่าการต่อสู้ในสมรภูมิมันมีค่า ด้วยความเพ้อฝันของอัศวินหลายยุคหลายสมัย เคยคิดบ้างไหมว่าพวกคนหนุ่มที่ถูกยั่วยวนด้วยคำว่าศักดิ์ศรีและความกล้าหาญแห่เอาชีวิตไปทิ้งกันกี่คนแล้ว "

    (อาเธอเรีย ) " มันไม่ใช่ความเพ้อฝัน ต่อให้ต้องแลกด้วยชีวิตก็ตาม การกระทำของบุคคลนั้นก็ยังคงดำรงอยู่บนหลักการและเหตุผล ไม่อย่างนั้นโลกใบนี้คงกลายเป็นขุมนรกทุกครั้งที่เกิดสงคราม"

    (คิริสึงุ ) "...วีรบุรุษผู้นี้กำลังนึกว่าการอยู่ในสงครามนั้นดีกว่าขุมนรก อย่ามาล้อเล่นดีกว่า สงครามนั่นแหละที่เป็นขุมนรกในตัวเองอยู่แล้ว ..."

    ผลลัพธ์ของความคิดที่ขัดแย้งกันดังกล่าว นำพาทั้งคู่ไปสู่จุดแตกหักทางความคิดที่ไม่สามารถร่วมมือกันได้



    สงครามและจอกศักดิ์สิทธิ์ : อุดมคติที่แตกสลาย 

    จากการที่ตำนานหรือเรื่องเล่าของจอกศักดิ์สิทธิ์มีความเกี่ยวข้องกับศาสนาคริสต์ บทบาทของจอกศักดิ์สิทธิ์ที่ปรากฎในภาพยนตร์และนวนิยายเรื่องต่างๆ มักถูกวางไว้ในฐานะสิ่งที่ทรงคุณค่าทั้งทางจิตวิญญาณและทางโลก จอกศักดิ์สิทธิ์จึงกลายเป็นเป้าหมายในการเดินทางของตัวละครเอกทั้งหลาย ทั้งเป็นจุดหมายศักดิ์สิทธิ์ของเหล่าอัศวินโต๊ะกลม เป็นประตูไปสู่ความเป็นอมตะที่เหล่าร้ายต้องการยึดครอง และเป็นเครื่องมือในอุดมคติที่จะบันดาลความปรารถนาของผู้คนให้เป็นจริง 

    ความปรารถนาของวีรชนอาเธอเรียไม่ใช่ความปรารถนาในฐานะของสตรีคนหนึ่ง แต่เป็นความปรารถนาในฐานะราชาผู้ที่เจ็บปวดกับการนำพาบ้านเมืองของตนไปสู่ความล่มสลาย เนื่องจากว่าจุดจบของตำนานกษัตริย์อาเธอร์คือความแตกแยกของเหล่าอัศวินโต๊ะกลมและความพินาศของนครคาเมลอต

    อาเธอเรียที่เห็นความตายของเหล่าผู้คนที่ก่อสงครามเพราะตน ณ เนินคัมลาน จึงปรารถนาที่จะแก้ไขอดีต โดยต้องการที่จะย้อนเวลากลับไป เพื่อไม่ให้ตนต้องเลือกทางเดินที่จะกลายมาเป็น"กษัตริย์อาเธอร์" ผู้นำหายนะมาสู่บ้านเมือง 

    เธอมองว่า นั่นคือหน้าที่ที่ควรทำในฐานะผู้นำ ดังที่ปรากฏในบทสนทนาตอนหนึ่งของอาเธอเรีย อเล็กซานเดอร์และกิลกาเมซ

    (อาเธอเรีย ) " ถ้าเป็นราชาละก็ จะต้องเสียสละตนเองเพื่อความรุ่งเรืองของประเทศสิ "

    (อเล็กซานเดอร์ ) " ผิดแล้วละ ราชาไม่จำเป็นต้องเสียสละ ประเทศและประชาชนต้องมอบกายและใจของตนให้กับราชาต่างหาก ไม่ใช่กลับกันเช่นนั้น "

    (อาเธอเรีย ) " อะไรกัน นั่นเรียกว่าทรราชไม่ใช่หรือ [...]แล้วตัวเจ้าล่ะอิสกันดาร์ เจ้าพอใจในจุดจบแบบนั้นของตัวเองแล้วหรือไร "

    (อเล็กซานเดอร์ ) " ถ้าตัดสินใจของข้าเป็นจุดจบของการเดินทางและเหล่าบริวารของข้าละก็ การล่มสลายย่อมเป็นสิ่งแน่นอน ถ้าจะอาลัย ข้าจะหลั่งน้ำตา แต่อย่างไรก็ไม่เสียใจแน่... กลับไปแก้ไขงั้นหรือ การกระทำโง่ๆนั้นเป็นการกระทำที่ดูถูกมนุษย์ทุกคนที่สร้างยุคสมัยร่วมกับข้ามา " 

    (อาเธอเรีย ) " มีเพียงนักรบเท่านั้นที่ถูกสรรเสริญจากการทำลาย จะมีประโยชน์อันใดถ้าไม่สามารถปกป้องผู้อ่อนแอได้ การออกกฏที่เที่ยงตรง... โลกที่ถูกต้องสงบสุข..นั่นคือความปรารถนาที่แท้จริงของราชา "

    (อเล็กซานเดอร์ ) " แล้วราชาเช่นเจ้า เป็นทาสของความถูกต้องงั้นหรือ "

    (อาเธอเรีย ) " เป็นเช่นนั้นก็ได้ เพราะยึดมั่นในอุดมคติ จึงได้เป็นราชา



    อาเธอเรียกับเหตุการณ์ที่เนินคัมลาน จุดจบของนครคาเมลอตตามตำนานของกษัตริย์อาเธอร์

    แม้ตัวของอาเธอเรียที่ผ่านสงครามได้ปรารถนาที่จะกลับไปแก้ไขอดีต โดยมองว่ามันคือความผิดพลาดของตนในฐานะราชา แต่ตลอดมาเธอก็ได้ตั้งคำถามแก่ตนเองเสมอ ว่าหากเธอปฎิบัติตนในฐานะราชาผู้ถูกต้องเที่ยงแท้มาโดยตลอด เหตุใดจึงพบกับจุดจบที่เป็นดั่งโศกนาฎกรรมเช่นนี้ ? 

    ในบทสนทนาของอาเธอเรียและอเล็กซานเดอร์ อเล็กซานเดอร์ได้พยายามชี้ให้เห็นถึงข้อบกพร่องของการเป็นราชาในอุดมคติของอาเธอเรีย ว่าการดำรงตนเป็นราชาผู้ผดุงความยุติธรรมตลอดเวลานั้นไม่ต่างจากการดำรงตนเป็นนักบุญ อาเธอเรียพยายามรักษาเส้นทางราชาของตนให้สวยสดงดงาม แต่กลับไม่เคยชี้นำหนทางให้กับผู้คนที่ติดตามเธอ ทั้งการเพิกเฉยต่อความทุกข์ของแลนสลอตและกวินิเวียร์ที่ถูกตราหน้าว่าเป็นคนทรยศ การตัดสินใจประหารราชินีกวีนิเวียร์เพราะเป็นหน้าที่ที่ต้องดำรงความถูกต้องเอาไว้ ทุกสิ่งที่ทำไปนั้นก็เพื่ออุดมคติของตัวเองทั้งสิ้น 

    ด้วยเหตุนั้นเธอจำเป็นต้องคว้าจอกศักดิ์สิทธิ์มา เพื่อแก้ไขทุกสิ่งทุกอย่างให้ถูกต้อง 

    .
    .
    .
    .
    .

    ในขณะเดียวกัน เอมิยะ คิริสึงุก็มีความปรารถนา

    สิ่งที่ผลักดันให้เขาเข้าร่วมสงคราม คือความปรารถนาที่ต้องการ"ช่วยโลก" 

    ที่ผ่านมา การช่วยโลกของคิริสึงุนั้นไม่ไยดีต่อวิธีการ เขาใช้สารพัดวิธีเพื่อเป้าหมายที่จะทำสิ่งที่ถูกต้อง ภายใต้เงื่อนไขของการช่วยเหลือคนส่วนมากเป็นหลัก แม้จะต้องเสียสละคนส่วนน้อยไปก็ตาม โลกที่ไม่มีการฆ่าฟันใดๆที่คิริสึงุต้องการนั้นเป็นเรื่องเหลือเชื่อ เป็นได้เพียงโลกยูโทเปียในอุดมคติของเขาเท่านั้น จึงจำเป็นจะต้องอาศัยอำนาจแห่งปาฎิหาริย์ของจอกศักดิ์สิทธิ์เพื่อให้ได้มา 

    คิริสึงุที่ปฎิเสธในการกระทำของอาเธอเรียมาโดยตลอด กลับไม่แตกต่างจากเธอนักในเรื่องความงมงายต่อมายาคติของตน คิริสึงุมองว่า การเสียสละคนส่วนน้อยเพื่อคนส่วนมากเป็นสิ่งยอมรับได้ เพราะในความจริงแล้วเราไม่สามารถช่วยเหลือคนทั้งหมดเอาไว้ได้พร้อมกัน การให้ได้มาซึ่งชัยชนะในสงครามชิงจอกนี้จึงต้องสละคนส่วนน้อย เขาจำเป็นต้องกำจัดศัตรูอย่างถอนรากถอนโคน เขายินดีจะเสียสละสิ่งต่างๆที่ตนรักและยอมให้มือของตนเปื้อนเลือด เพื่อทำโลกในอุดมคติให้เป็นจริง ด้วยเหตุนั้น เมื่อเขาได้เผชิญหน้ากับจอกศักดิ์สิทธิ์ จอกได้แสดงให้เห็นภาพภายในใจของเขา และแสดงข้อบกพร่องในอุดมการณ์อันสุดโต่งของคิริสึงุออกมาเป็นสถานการณ์

    สมมติว่ามีเรือสองลำ เรือลำหนึ่งมีผู้โดยสารสามร้อยคน เรืออีกลำมีผู้โดยสารสองร้อยคน เรือทั้งสองลำมีรูรั่ว และมีเพียงคุณเท่านั้นที่จะช่วยอุดรูรั่วนั้นได้ โดยมีเงื่อนไขว่า ถ้าช่วยเรือลำหนึ่ง จะไม่สามารถช่วยอีกลำได้ทันเวลา คุณจะเลือกเรือลำใด ?

    คิริสึงุเลือกเรือลำที่มีคนสามร้อยคน 

    ถ้าเรือลำที่มีสองร้อยคนจับตัวคุณไป และข่มขู่ในซ่อมเรือของพวกเขาให้แทน คุณจะทำอย่างไร ? 

    ภาพแสดงให้เห็นซากศพคนสองร้อยคนตายบนเรือเกลื่อนกลาด อันหมายความว่าคิริสึงุได้เลือกที่จะกำจัดส่วนน้อยอย่าง"ถอนรากถอนโคน" เพื่อความสุขของคนหมู่มาก

    เกมดำเนินต่อไป , หากในเรือสามร้อยคน ผู้โดยสารได้แยกไปลงเรือสองลำ ลำหนึ่งมีสองร้อยคน อีกลำมีหนึ่งร้อยคน และเผชิญหน้ากับสถานการณ์เดิม เขาจะเลือกช่วยเรือลำใด ?

    แน่นอนว่าเขาย่อมเลือกเรือลำที่มีสองร้อยคน แต่คิริสึงุไม่อาจยอมรับผลลัพธ์ที่ออกมาในขณะนี้ได้ เพราะนั่นหมายความว่าเขาต้องเสียสละคนไปทั้งสิ้นสามร้อยคนเพื่อให้คนสองร้อยคนมีชีวิตอยู่ ผลลัพธ์ที่ออกมาขัดแย้งกับความต้องการแต่แรกเริ่มของตนอย่างสิ้นเชิง และนั่นคือจุดบกพร่องที่สำคัญในหลักการที่ผ่านมาของคิริสึงุ 


    ทั้งอาเธอเรียและคิริสึงุต่างก็เป็นผู้ที่มีความตั้งใจอันดีต่อผู้อื่น ทว่าความตั้งใจนั้นอยู่ภายใต้ความคิดอันสุดโต่งของการดำรงความดีและความยุติธรรม การรักษาอุดมการณ์อันสุดขั้วจึงนำพามาซึ่งความทุกข์ให้กับตัวละครที่ต้องแบกรับเส้นทางของตนเอาไว้ 

    จะเห็นได้ว่าจอกศักดิ์สิทธิ์สำหรับคนทั้งสอง เป็นตัวแทนของความปรารถนาของตนที่อยู่เหนือขอบเขตที่มนุษย์จะสามารถคว้าได้ แต่ทั้งสองที่เชื่อในอำนาจของจอกศักดิ์สิทธิ์ ไม่เคยตั้งคำถามถึงที่มาของพลัง และไม่เคยสงสัยในความ"ศักดิ์สิทธิ์" ของจอกเลยแม้แต่น้อย 

    ซึ่งนั่นได้นำไปสู่บทสรุปอันเหนือความคาดหมาย

    ท้ายที่สุดแล้ว เอมิยะ คิริสึงุจะตัดสินใจเช่นไร อาเธอเรียจะทำความปรารถนาให้เป็นจริงได้หรือไม่ ชะตากรรมของทั้งสองเป็นสิ่งที่ต้องติดตามรับชมใน Fate Zero ปฐมบทมหาสงครามจอกศักดิ์สิทธิ์ 

    นอกเหนือจากการดำเนินเรื่องที่น่าติดตามและหักมุมตลอดเวลา Fate zero ประสบความสำเร็จอย่างสูงจากบทสนทนาที่คมคาย ฉากต่อสู้ที่ทำได้ดีถูกใจคอแฟนๆสายบู๊ การทรยศหักหลัง ความปรารถนาที่ดำมืดของตัวละคร การงัดทุกกลยุทธ์ของเหล่ามาสเตอร์เพื่อใช้ห้ำหั่นกัน จะเรียกว่า Fate Zero นี้คือ Game Of Throne ของโลกอนิเมก็ว่าได้



    จึงจัดระดับอนิเมเรื่องนี้ไว้ที่ 5 ดาว ด้วยประการฉะนี้
    คะแนน : 10/10



เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in
Sarawin Methaapinunte (@fb5597031712648)
ครั้งต่อไปขอรีวิวเรื่อง Fate/stay night ทั้งภาค Unlimited Blade Works และ ภาค Heaven's Feel ด้วยนะครับ
Cat's box (@Aimer)
@fb5597031712648 หากมีโอกาส ครั้งหน้าอยากรีวิวภาค Heaven 's Feel กับ Babylonia มากเลยค่ะ ( Unlimited Blade Works เป็นภาคที่เราชอบที่สุดเลย แต่ในแง่ของรายละเอียดเหมือนจะไม่ค่อยมีอะไรให้พูดถึงเท่าไหร่ อย่างไรก็แลกเปลี่ยนความเห็นกันได้นะคะ)