" ไม่มีชาติใดถูกประณามว่าไร้มนุษยธรรม เพียงเพราะไม่ให้สิทธิมนุษยชนแก่หมู "
- 86 เอทตี้ซิกซ์ -
ประเภท : นิยายแปลญี่ปุ่น (ไลท์โนเวล)
ผู้แต่ง : อาซาโตะ อาซาโตะ
สนพ.ที่แปล : Pheonix (ฟีนิกซ์)
ราคาปก : 300 บาท
ไม่ได้แตะบล๊อคนี้มาซะนาน โผล่มาอีกทีรอบนี้เลยขอมารีวิวนิยายแทนค่ะ
ต้องขอเล่าประเดิมก่อนว่า นิยายเรื่องนี้เป็นเรื่องที่หลงรักตั้งแต่แรกเห็น(ปก) ตั้งแต่ปีที่แล้วที่ยังไม่มีใครแปล พอรู้ว่าทางค่ายฟีนิกซ์เอาเรื่องนี้มาแปลไทยแล้วเลยดีใจน้ำตาจะไหล ตรงดิ่งไปงานหนังสือวันแรก คว้าหมับแบบไม่คิดอะไรเลย แล้วก็คุ้มค่าแก่การรอคอยจริงๆค่ะ สมแล้วที่ได้รางวัลชนะเลิศของเดงคิโนเวลไพรซ์ที่ญี่ปุ่นไปครอง
เนื้อหาของ 86 ว่าด้วยเรื่องของทวีปที่ถูกรุกรานโดยจักรกล 'ลีเจี้ยน' ซึ่งเป็นหุ่นยนต์ที่ถูกสร้างขึ้นจาก'จักรวรรดิเกียเด'เพื่อใช้ทำการรุกรานประเทศเพื่อนบ้าน หนึ่งในประเทศที่ถูกรุกรานก็คือ สาธารณัฐซันแมกโนเลีย ประเทศของนางเอกนั่นเอง
เมื่อเกิดภาวะสงครามขึ้น รัฐบาลจึงได้ลงมติ 2 ประการ หนึ่ง- คือการอพยพผู้คนส่วนใหญ่เข้าไปใน 85 เขตและขับไล่คนกลุ่มน้อยไปยังเขตที่ 86 , สอง - ได้ออกประกาศว่ามีการสร้างหุ่นโดรนไร้คนขับเพื่อใช้สู้รบแทนประชาชน ดังนั้นแล้วยอดผู้เสียชีวิตทั้งหมดจึงเท่ากับศูนย์
แต่ที่จริงแล้วนั่นเป็นคำโกหกคำโต
เพราะในโดรนนั่นที่จริงแล้วมีคนขับอยู่ข้างใน และกลุ่มคนเหล่านั้นก็คือชาวโคโลราตา หรือ'เอทตี้ซิกซ์' ชนกลุ่มน้อยของประเทศ ที่ถูกรัฐตราหน้าว่าไม่ต่างอะไรจากขยะของชาติ ถูกบังคับให้ไปรบแทน
'ชาวอัลบา' ชาติพันธุ์หลักที่เป็นประชาชนส่วนใหญ่ของตน
นางเอก (เลน่า) เป็นทหารชาวอัลบา ผู้ได้รับคำสั่งแต่งตั้งให้เป็นผู้บัญชาการหน่วยหัวกะทิของชาวเอทตี้ซิกซ์ ที่นำโดยพระเอก (ชิน) และนี่คือจุดเริ่มต้นเรื่องราวทั้งหมด
ด้านเนื้อหา ค่อนข้างเข้มข้นและกดดันพอสมควรค่ะ ใครที่เป็นคอนิยายสงครามน่าจะชอบได้ไม่ยาก มีตัวละครเจ็บจริงตายจริงชนิดว่าต้องเตรียมตับไว้สำรอง พาร์ทสงครามทำได้จริงจัง จักรกลในเรื่องก็จะออกเน้นไปทางสายเรียลโรบอทมากกว่ายิงพลังตู้มต้าม ยิ่งเป็นหุ่นของพวกพระเอกถือว่าอ่อนแอที่สุดเลยด้วยซ้ำ ดังนั้นแล้วไม่มีเรื่องการชาร์จพลังพิเศษหรือเอาชนะกันที่สเปคหุ่น มีแต่การวางแผนและฝีมือลุ่นๆ ความเมพของพระเอกเท่านั้นที่ค่อนข้างจะโอเวอร์กว่าชาวบ้านค่ะ
ด้านคาแรคเตอร์ก็ทำได้ไม่เลว นอกจากพระเอกขรึมคูล นางเอกโลกสวย ยังมีตัวละครรองที่มีปมในใจของตัวเองต่างกันไป ซึ่งตัวละครก็มีพัฒนาการที่เห็นได้ชัดเจนตั้งแต่ต้นจนจบ แต่น่าเสียดายที่ไม่ค่อยได้มีโมเมนต์ของพระ-นาง หรือระหว่างตัวละครรองมากเท่าไหร่ เลยทำให้ขาดรสชาติไปพอสมควร
การเหยียดชาติพันธุ์และละเมิดความเป็นมนุษย์โดยรัฐ
" ไม่มีชาติใดถูกประณามว่าไร้มนุษยธรรม เพียงเพราะไม่ให้สิทธิมนุษยชนแก่หมู
ฉะนั้น หากเราให้นิยามใครสักคนที่ต่างภาษา ต่างสีผิว หรือต่างบรรพบุรุษ ว่าเป็นหมูในคราบมนุษย์ การกักขังข่มเหง หรือสังหารพวกเขาอย่างทารุณ จึงไม่ถือว่าไร้มนุษยธรรม ซึ่งเป็นการบ่อนทำลายคุณธรรมแต่อย่างใด "
ประเด็นที่น่าสนใจที่สุดในเรื่อง คือประเด็นของ'การเหยียดชาติพันธุ์' (racist) อันสุดโต่ง ที่รัฐบาลของตัวเอกผลักไสให้คนส่วนน้อยของประเทศไปทำสงคราม ในขณะที่ประชากรกลุ่มหลักของชาติใช้ชีวิตอย่างสุขสบาย โดยใช้ข้ออ้างของชาติพันธุ์ที่ต่างกัน ชาวเอทตี้ซิกซ์ถูกเหยียดหยาม ปฎิบัติเหมือนหมูหมา บ้างก็ถูกนำไปทดลอง บ้างก็ถูกส่งไปตายอย่างไร้เหตุผล โดยที่คนส่วนใหญ่ของประเทศซึ่งเป็น ‘ชาติพันธุ์หลัก’ ไม่ได้ให้ความสนใจ ซ้ำร้ายยังคิดด้วยว่าเป็นสิ่งที่เหมาะสมแล้ว
กรณีเดียวกันนี้เกิดขึ้นจริงกับกลุ่มของชนชาติยิวที่อยู่ในเยอรมันช่วง WWII ชาวยิวที่เป็นชนกลุ่มน้อยของประเทศก็ถูกรัฐบาลของเยอรมันในขณะนั้น (นาซี) กล่าวหาว่าเป็นผู้เข้ามากอบโกยผลประโยชน์ในชาติ เป็นตัวการของปัญหาทางเศรษฐกิจ และเริ่มอ้างเหตุผลนี้ในการปฎิบัติอย่างโหดร้ายทารุณ
ปมปัญหาของชาติพันธุ์นี้ไม่ได้เกิดขึ้นในเยอรมันเพียงอย่างเดียว และไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นในช่วงเวลานั้น หากย้อนกลับไปก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง ชาวยิวซึ่งเป็นคนกลุ่มน้อยในทวีป ถูกมองจากชาวยุโรปว่าเป็นคนเจ้าเล่ห์ ผู้เข้ามาอาศัยประเทศของผู้อื่นและขูดเลือดเนื้อเอาแต่ผลประโยชน์ตนเอง ภาพลักษณ์ของคนยิวถูกสร้างขึ้นจากอคติทางลบมานานหลายร้อยปี และมันส่งผลกระทบอย่างร้ายกาจในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจโลกตกต่ำ เยอรมันซึ่งแพ้จากสงครามโลกครั้งที่หนึ่งกลายเป็นประเทศที่ยากจนเสียกระทั่งสกุลเงินฟรังก์แทบไม่มีค่า ในช่วงเวลานั้นเอง ชาวยิวจึงกลายเป็นเป้าสำหรับการประณามจากรัฐบาล พร้อมกันนั้น เชื้อชาติอารยันของชาวเยอรมันก็ถูกยกย่องเชิดชูว่าสูงส่งเหนือชาติพันธุ์อื่นๆไปด้วย
ความรุนแรงที่รัฐบาลนาซีกระทำต่อชาวยิว เริ่มตั้งแต่กีดกันสิทธิของชาวยิว แบ่งแยกพื้นที่และงานเฉพาะสำหรับชาวเยอรมัน จนถึงขั้นมีการแบ่งแยกว่าใครคือยิว ใครคือเยอรมันผ่านทางการจำแนกด้วยหลักพันธุกรรมทางวิทยาศาสตร์
( การใช้ความแตกต่างทางพันธุกรรมเพื่อแบ่งแยกคนในสังคมนี้เอง ที่นิยายก็หยิบเอามาใช้ในเรื่องด้วย โดยการให้ชาติพันธุ์ชาวอัลบากับชาวเอทตี้ซิกซ์ต่างกันที่สีตาและผมอย่างชัดเจนเพื่อจำแนกชาติพันธุ์ของกันและกัน )
เมื่อเชื้อไฟสงครามเริ่มปะทุขึ้น ความรุนแรงก็เพิ่มมากขึ้น ครอบครัวชาวยิวถูกแยกจากกันเพื่อนำไปคุมขัง จับไปทำงานค่ายกักกันพิเศษ นำตัวไปทดลอง ทรมาน ฆ่า และนำไปสู่การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ซึ่งทั้งหมดนั้นถูกกระทำโดยสิ่งที่เรียกว่า "รัฐ"ของตน กลายเป็นตราบาปในประวัติศาสตร์เยอรมันมาจนถึงทุกวันนี้
รัฐ หรือ ประเทศ ควรจะเป็นผู้ให้การปกป้องคุ้มครองประชาชนในชาติตน ตามหลักการของรัฐธรรมนูญ หากแต่ว่าเมื่อรัฐเริ่มใช้อำนาจในการออกนโยบายเพื่อเข่นฆ่าและแบ่งแยกประชาชนของตนเองแล้ว สิ่งที่ตามมาคือการล่มสลายของความเป็นชาติ และมโนธรรมในฐานะมนุษย์
สภาพของนักโทษชาวยิวในค่ายกักกัน
ความสิ้นหวังที่ปรากฏในเรื่องจึงไม่ใช่ความหดหู่จากภาวะสงครามเพียงอย่างเดียว แต่เป็นความสิ้นหวังจากการที่ประชาชนไม่สามารถพึ่งพารัฐบาลของตนเองได้ ไม่สามารถเชื่อใจในกฏหมายและความยุติธรรมใดๆจากชาติได้อีก
ตัวผู้เขียนนิยายได้บอกไว้ว่าได้แรงบันดาลใจในงานเขียนมาจากประวัติศาสตร์ในช่วงนี้นั่นเอง
ประเด็นเรื่องการเหยียดชาติพันธุ์นี้ค่อนข้างน่าสนใจ และมีปรากฏในสื่อญี่ปุ่นอย่างหลากหลายมากขึ้น กระทั่งมังงะชื่อดังเรื่อง Attack on Titan เองก็ยังมีประเด็นนี้ปะปนมาด้วยค่ะ ซึ่งอาจจะขอยกไว้เล่าอีกทีในภายหลัง (ถ้ามีเวลา)
ส่วนตัวแล้ว เราชื่นชมที่คนเขียนทำการบ้านมาดีในหลายๆจุด ทั้งเรื่องอาวุธ หุ่นยนต์ ยุทธวิธีการรบ และการใส่ประเด็นทางการเมืองลงไปด้วย และเนื้อหาก็จบในเล่ม (ถึงจะมีเล่มสอง แต่เนื้อหาเล่มนี้ก็จบในเล่ม ไม่ทิ้งไว้ค้างคา)
จึงขอจัดว่าเป็นไลท์โนเวลห้าดาวที่น่าอ่านอีกเรื่องหนึ่งค่ะ
ปล. มีมังงะของเรื่องนี้ออกมาแล้วนะคะ รวมทั้งนิยายเล่มสองที่ได้รับการแปลและตีพิมพ์ในไทยแล้วเรียบร้อย
ได้ยินว่าจะทำเป็นอนิเมะด้วย มารอติดตามชมกันต่อไปค่ะ
[ ท่านที่สนใจติดตามรีวิว + เนื้อหาอื่นๆเพิ่มเติม พบกันได้ที่เพจ >> เรื่องเล่าจากกล่องแมว ค่ะ ]
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in