เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
เรื่องเล่าจากเพื่อนๆNoi Beleza
คำถาม..จากคุณหมอ

  • คุณหมอสันต์..ตอบคำถามคุณหมอใหม่

    คำถาม :
    ผมเป็นแพทย์ใช้ทุนอยู่โรงพยาบาล
    ติดชายแดนทางภาคเหนือครับ
    ช่วงนี้ผมกำลังตัดสินใจกลับไปศึกษาต่อ
    แต่ยังไม่แน่ใจว่าแผนกไหนดี
    และควรวางแผนตัวเองอย่างไรครับ

    ผมได้มีโอกาสไปประชุมวิชาการหลายที่
    ไปแลกเปลี่ยนที่โรงพยาบาลในสหรัฐอเมริกา
    และญี่ปุ่นมาสามแห่งครับ

    ผมได้เรียนรู้ว่า ความรู้ นวัตกรรมทางการแพทย์
    เปลี่ยนไปอย่างมาก
    แต่หลายๆ อย่างที่ผมได้เรียนรู้ใหม่ๆ
    กลับไม่ได้มีโอกาสมาใช้เท่าไร
    ผมเริ่มหมดไฟ อุตส่าห์นั่งอ่านหาความรู้ใหม่ๆ
    แต่ไม่มีโอกาสได้ใช้

    หลายองค์กรในประเทศและในโลก
    ต่างปรับตัวจาก technology
    and digital disruption มากมาย

    แต่โรงพยาบาลและหน่วยงานสาธารณสุข
    ต่างจังหวัดที่ผมทำงานอยู่ ยังไม่ได้ปรับตัวเลย
    วันนี้คนไข้เราค่อนข้างเยอะ
    ทีมสหวิชาชีพก็ยังให้การรักษาแบบเดิมๆ

    การแพทย์ไทย โดยเฉพาะระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า จะเดินต่อไปอย่างไร
    เทคโนโลยีการแพทย์มีความแม่นยำมากขึ้น
    แต่ราคาแพง เราไม่มีงบประมาณพอ

    ถ้าผมจะไปเรียนต่อ ..
    ผมควรวางแผนชีวิตตัวเองอย่างไร
    วางเป้าหมายในการพัฒนาตนเองอย่างไร

    ขอบคุณครับ
    .
    .
    คุณหมอสันต์ ตอบว่า :

    ประเด็นที่ 1.
    ไปเห็นเมืองนอกเมืองนา กลับมาแล้วท้อถอย

    ผมจะเล่าเรื่องจริงให้ฟังนะ
    สมัยผมเป็นแพทย์ประจำบ้านอยู่เมืองนอก
    มีหมอฝรั่งแล้วยังมีหมอหลายชาติหลายภาษา
    คนหนึ่งฉลาดปราดเปรื่องมากเป็นคนอินเดีย
    มาจากแคว้นพิหารเป็นถิ่นของคนจน

    เราก็เรียนเทคโนโลยีใหม่ๆเหมือนกัน
    สมัยนั้นการค้นพบใหม่ๆของวงการผ่าตัดหัวใจ
    คือการใช้เครื่องหัวใจและปอดเทียมช่วยรักษา
    ชีวิตผู้ป่วยหนักที่รอผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจ
    เรียกว่าเครื่อง ECMO

    ผมกลับมาก็ดิ้นรนขวนขวาย
    จนมีเครื่อง ECMO ใช้แบบฝรั่งเขาบ้าง
    กลับมาทำงานเมืองไทยผ่านไปหลายปี
    มีโอกาสได้เจอกับเพื่อนเก่าที่เป็นหมออินเดีย
    เรารำลึกความหลังกันสนุกสนาน

    ผมเล่าว่าผมพยามใช้ ECMO ยื้อคนไข้
    เพื่อให้ได้ทำผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจมากขึ้น
    เล่าด้วยความภาคภูมิใจว่าข้าได้เล่นของแพง

    หมอแขกเล่าว่าเขาพัฒนาการผ่าตัดบายพาส
    โดยใช่ไหมเย็บเส้นเดียว
    คือปกติในการทำผ่าตัดบายพาส
    เราจะบายพาสหลอดเลือดคราวละสี่เส้นบ้าง
    ห้าเส้นบ้าง อย่างน้อยก็สามเส้น ต่อบายพาส

    หลอดเลือดหนึ่งเส้นก็ต้องใช้ไหมเย็บหนึ่งเส้น
    การพัฒนาเทคนิคให้ใช้ไหมเย็บเส้นเดียว
    เย็บได้หมดในการต่อหลอดเลือดสี่ห้าเส้น
    อาจจะไม่ใช้เรื่องไฮเทคอะไร
    แต่ประหยัดเงินของชาติที่ยากจนได้มหาศาล
    เพราะไหมเย็บในงานผ่าตัดหัวใจราคาแพงมาก

    ความแตกต่างระหว่างผม กับ หมอแขก..
    ผมไปอยู่กับฝรั่ง เรียนรู้วิธีของฝรั่ง
    ฝรั่งทำอะไร ผมทำตามในลักษณะเลียนแบบ
    ภาคภูมิใจว่าได้เล่นของแพง
    โดยบ้านเมืองต้องจ่ายเงินมากขึ้น

    แต่หมอแขกไปอยู่กับฝรั่ง
    เรียนรู้วิธีของฝรั่ง เอาวิธีของฝรั่งเป็นแค่พื้นฐาน
    มาประยุกต์สร้างวิธีของตัวเองขึ้นมา
    เพื่อตอบโจทย์ที่ทำงานของตัวเองได้ตรงๆ

    ผม กับ หมอแขก ใครเจ๋งกว่ากันล่ะ !!
    .
    .
    ประเด็นที่ 2. ระบบสามสิบบาท
    ถามว่าระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า
    (สามสิบบาท) มีงบค่าใช้จ่ายรายหัวต่ำ
    ระดับ 3,000-5,000 บาท
    มันไม่พออยู่แล้วจะยังไงต่อละครับ
    What next ?

    หากอยากมีความสุขกับการทำงาน
    ให้หามุมสร้างสรรค์ทำสิ่งใหม่ๆขึ้นมา
    จากสิ่งที่เรามีในระบบปัจจุบันนี้แหละ
    ให้คุณหมออยู่กับ What is
    อย่าไปรอ What should be ?

    คุณหมออย่าไปรอคอยให้ระบบมันดีกว่านี้
    ลงมือสร้างสรรค์สิ่งดีๆในระบบที่มีอยู่
    หากรู้จักเลือกใช้ของถูกที่ดีอย่างเช่น
    การส่งเสริมสุขภาพ การเปลี่ยนอาหาร
    เริ่มการออกกำลังกาย
    อัตราการตาย กลับจะลดลงมากกว่า
    ใช้เครื่องมือแพงๆใช้ยาแพงๆเสียอีก
    .
    .
    ประเด็นที่ 3. คุณหมอกังวลว่าเราล้าหลังเรื่องเทคโนโลยีข้อมูลข่าวสาร

    คุณหมอใช้คำว่า technology disruption
    ซึ่งคงหมายถึงการใช้เทคโนโลยีก่อการเปลี่ยนแปลง

    เมื่อปีกลายผมได้ฟังข่าวว่าปลัดกระทรวง สธ.
    แถลงข่าวถึงการเปิดบริการให้คนไข้ทั่วไป
    ทุกคนมีฐานข้อมูลเวชระเบียนของตัวเอง
    บนอินเตอร์เน็ต

    และเปิดให้คนไข้เข้าถึงข้อมูลของตัวเองได้
    แชร์ข้อมูลนี้กับรพ.ทั่วประเทศได้
    แสดงว่าส่วนกลางก็มองเห็นภาพใหญ่
    และกำลังกรุยทางอยู่

    เราไม่ต้องรอระบบใหญ่ของส่วนกลาง
    ผมเองใช้เทคโนโลยีข้อมูลข่าวสารแบบง่ายๆ
    เช่นโทรศัทพ์มือถือ ไลน์ และฐานข้อมูล
    บนอินเตอร์เน็ต ทำงานและทำวิจัยด้าน FamMed
    มานานนับสิบปีแล้ว ไม่ต้องรอใคร

    ดังนั้น"ทีมสหสาขาวิชาชีพ" ของคุณหมอ
    ลุยลงมือใช้เทคโนโลยีข้อมูลข่าวสารได้เลย
    .
    .
    ประเด็นที่ 4. อนาคตของคุณหมอ
    จะเรียนอะไร จะทำอะไรดี

    ตอบว่ามันขึ้นอยู่กับคุณหมอ
    จะเอาอะไรเป็นเป้าหมายชีวิตของตัวเอง
    ตอนนี้คุณหมอมาอยู่ตรงทางสองแพร่ง

    เส้นทางที่ 1.
    คือถ้าคุณหมอจะเอาสถานะการณ์ข้างนอกตัว
    เป็นเป้าหมายชีวิต

    เช่น การได้เป็นผู้เชี่ยวชาญสาขานั้นสาขานี้
    การมีรายได้สูง มีชื่อเสียง มีเกียรติยศ
    มีตำแหน่งทางบริหาร ตำแหน่งทางวิชาการ
    ได้รับการยอมรับ ได้รับความเคารพนับถือ

    ถ้าจะไปทางนี้ผมบอกล่วงหน้าก่อนว่า
    คุณหมอต้องเผื่อความผิดหวังในชีวิตไว้ครับ
    เพราะเป้าหมายนอกตัวเหล่านี้
    มันมีปัจจัยร่วมกำหนดเป็นร้อยๆปัจจัยขึ้นไป
    และเป็นปัจจัยที่คุณหมอคุมไม่ได้เลย

    เส้นทางที่ 2.
    คือคุณหมอเอาความสงบเย็นที่ภายในใจ
    เป็นเป้าหมายชีวิต

    อันนี้คุณหมอคุมเงื่อนไขทั้งหมดได้ 100%
    อะไรก็ตามที่เกิดขึ้นที่ใจเรา
    เราเป็นผู้ทำขึ้นทั้งสิ้น
    เรากำหนดได้ว่าเราจะเอาชีวิตแบบไหน
    จะเอาแบบทุกข์ร้ายร้อนรน
    หรือจะเอาแบบสงบเย็นสบายๆ

    ถ้าจะมาเส้นทางนี้คุณหมอก็ต้องเริ่มที่
    การฝึกวางความคิดมาอยู่กับความรู้ตัว
    เมื่อรู้ตัวดีแล้ว ตัวเลือกอนาคตมันจะโผล่มา
    โดยธรรมชาติเมื่อมีสติ จึงจะรู้ว่ามีทางให้เลือก

    ถึงตอนนั้นคุณหมอก็จะเลือกได้
    สิ่งที่สอดคล้องกับความสงบเย็นในใจ
    ของคุณหมอโดยอัตโนม้ติ

    ไม่ต้องไปพะวงว่าเลือกสาขายังไง
    เพราะเหล่านั้นเป็นสถานะการณ์นอกตัว
    ซึ่งไม่ใช่เป้าหมายชีวิตของคุณหมอแล้ว

    Cr : นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in