Warning : บทความนี้เต็มไปด้วยความคิดเห็นส่วนตัวของผู้เขียนจ้า
ความคิดเห็นทางการเมืองที่แตกต่างทำให้แตกแยก?
ก่อนอื่นต้องเกริ่นว่าผู้เขียนนั้นอินกับการเมืองแบบเข้าเส้นมากและแน่นอนว่าเด็กใน gen ผู้เขียนเนี่ย ค่อนข้างจะให้ความสนใจกับมันพอสมควร ผู้ใหญ่บางคนก็ว่ามันไร้สาระมีแต่คนตีกัน เต็มไปด้วยความรุนแรง นักการเมืองโกงกันทุกคน หรือที่ต่างบอกกันว่าเลือกใครไปก็มีค่าเท่าเดิม
จริงหรอ…?
ต้องยอมรับจริง ๆ ว่า mindset เกี่ยวกับการเมืองในบ้านเราไม่ค่อยดีสักเท่าไหร่ แต่ในยุคนี้ก็พิสูจน์แล้วไม่ใช่หรอว่าของแบบนี้มันเปลี่ยนกันได้ สิ่งที่ใหญ่กว่าอย่างระบอบการปกครองเรายังเปลี่ยนกันมาแล้วเลย
เลือกแล้วได้มาไม่ดีก็ยังดีกว่าไม่ได้เลือก
แล้วยังต้องทนเพราะเปลี่ยนไม่ได้อีก
และก็ต้องเข้าใจว่าความแตกต่างทางความคิดเนี่ยในความคิดของผู้เขียนนั้น ผู้เขียนคิดว่ามันค่อนข้างสร้างความแตกแยกได้แน่นอน ตัวอย่างง่าย ๆ ก็แค่เราเถียงกับเพื่อนในไร้สาระสักเรื่อง เผลอพูดผิดใจกันนิดหน่อย มันก็สามารถพัฒนาให้เกิดความบาดหมางได้ แล้วกับการเมืองที่แทบจะแทรกอยู่ในทุกชีวิตประจำวัน ทำไมจะสร้างความแตกแยกขนาดใหญ่ไม่ได้
คงเหมือนสังคมแฟนคลับที่มักจะมีสงครามแฟนด้อมเป็นประจำเหตุผลก็คงไม่พ้น ศิลปินที่ตนเองชอบไม่ได้รางวัลตามที่คาดหวังไว้หรืออาจจะเป็นเพราะศิลปินของตนไม่ได้ความยุติธรรมอย่างที่ควรจะเป็น
ถ้าตัวอย่างยังไม่ชัดพอ ม็อบหลากสีในเหตุการณ์ทางเมืองคงตอบคำตอบนี้ได้ดีที่สุด
ที่เกริ่นมาข้างต้นนี่เราพูดถึงสังคมขนาดใหญ่นะแต่จุดประสงค์ที่เลือกจะทำหัวข้อนี้ (หลังจากคิดไม่ตกมาสักพัก) ก็คือเราจะพูดถึงความแตกแยกที่เกิดขึ้นในบ้าน สถานที่เล็ก ๆที่ทุกคนต่างบอกว่ามันอบอุ่น และปลอดภัยที่สุดนั่นแหละ
พูดเรื่องการเมืองขึ้นมาทีไร
บ้านแทบลุกเป็นไฟ
อบอุ่นจนถึงร้อนกันเลยทีเดียว
แทบจะเป็นสงครามขึ้นมากันเลยทีเดียวเมื่อตัวผู้เขียนเกิดเอ่ยปากขึ้นมาว่าอยู่ในฝั่งการเมืองด้านไหนในการเลือกตั้งที่ผ่านมาเหมือนจะไม่ตลกนะ แต่ตลกมาก ๆ เพราะหลังจากเราเถียงกันเสร็จเราก็กลับมาล้อมวงกินข้าวเป็นครอบครัวสุขสันต์เหมือนเดิม
ถ้าพูดในสังคมขนาดใหญ่แน่นอนล่ะว่าความเห็นต่างนั้นย่อมสร้างความแตกแยกได้ แต่สำหรับในครอบครัวนั้นความแตกต่างที่มีต่างถูกยอมรับได้โดยไร้ข้อแม้ ทั้งที่การยอมรับความแตกต่างของปัจเจกบุคคลเนี่ย ผู้เขียนมองว่ามันควรจะเป็นพื้นฐานโดยไม่มีการแบ่งแยกเสียด้วยซ้ำไป
ก่อนจะโวยวายว่าทำไมคนในแต่ละ gen ถึงมีความคิดและทัศนคติต่างกัน ทำไมพ่อคิดไม่เหมือนเรา ทำไมย่าเห็นต่าง และทำไมปู่ถึงเฉยชากับมันไปได้ เราก็ต้องมาดูที่โครงสร้างสังคมของแต่ละยุคสมัยก่อนแน่นอนว่ามันแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง เราโตมาในบ้านเดียวกันก็จริง หากต่างด้วยสภาพสังคมและแวดล้อมรอบนอกที่บ่มเพาะให้เราไม่เหมือนกัน
ความสำคัญของความแตกต่างนี้จะทำให้เราเข้าใจธรรมชาติว่าแต่ละคนไม่เหมือนกันดังนั้น คนอื่นจะคิดเหมือนเราหรือทำทุกอย่างเหมือนเราไม่ได้ ทุกคนต่างกันด้วยพันธุกรรมเป็นพื้นฐาน และมีประสบการณ์ต่าง ๆ ที่อาจจะได้รับมาเช่นเดียวกัน แต่มันก็ต่างกันที่วิจารณญาณของแต่ละคนอีกเหมือนกันนั่นแหละ
โดย S-R Theory ของ Gagne อธิบายว่าบุคคลมีความแตกต่างกันหลายประการ เช่น บุคลิกภาพ ทัศนคติสติปัญญา และความสนใจ ความแตกต่างนี้ยังขึ้นอยู่กับสภาพทางสังคมและวัฒนธรรมทำให้มีพฤติกรรมการสื่อสารและการเลือกเปิดรับสารที่แตกต่างกันได้แก่
1) มนุษย์เรามีความแตกต่างกันมากในองค์ประกอบทางจิตวิทยาส่วนบุคคล
2) ความแตกต่างนี้บางส่วนมาจากลักษณะแตกต่างทางชีวภาคหรือทางร่างกายของแต่ละบุคคลแต่ส่วนใหญ่แล้วจะมาจากความแตกต่างที่เกิดจากการเรียนรู้
3) มนุษย์ซึ่งถูกชุบเลี้ยงภายใต้สภาพการณ์ต่างๆจะเปิดรับความคิดเห็นแตกต่างกันไป
4) การเรียนรู้สิ่งแวดล้อมทำให้เกิดทัศนคติค่านิยม และความเชื่อที่รวมเป็นลักษณะทางจิตวิทยาส่วนบุคคลที่แตกต่างกันไป
เพราะฉะนั้น มันคงเป็นเรื่องธรรมดาที่แม้จะเติบโตมาในแวดล้อมเดียวกัน เพียงต่างกันด้วยช่วงเวลาและการรับรู้ ก็สามารถสร้างทัศนคติให้แปลกแยกไปได้ หากแต่ความต่างของเราถูกยอมรับแบบไร้ข้อแม้ด้วยเหตุผลง่าย ๆ คือ เราเป็นครอบครัวเดียวกัน
ไม่อยากที่จะคิดสภาพว่า
ถ้าเราเป็นคนอื่น
บทสรุปที่เถียงกันวันนั้นจะเป็นยังไง
ผู้เขียนเชื่อเสมอว่าคนเราต้องกล้าที่จะสงสัยถึงจะไม่ได้คำตอบเมื่อถามออกไป แต่ก็ไม่ใช่ว่าเราจะหาคำตอบด้วยตัวเองไม่ได้ ยิ่งในยุคที่เราสามารถเข้าถึงทุกอย่างได้ด้วยปลายนิ้ว ต้องยอมรับว่า propaganda หรือ โฆษณาชวนเชื่อ มีผลต่อเราน้อยลงจริง ๆ เพราะเราไม่ได้รับสื่อเพียงด้านเดียวเหมือนเมื่อก่อนแล้ว เมื่อเทียบกับยุคปู่ย่าที่อยู่ในไร่นาและมีวิทยุเครื่องเดียว หรือพ่อแม่เราที่เอาแต่ปากกัดตีนถีบจนไม่ได้สนใจเหตุการณ์ในเมืองใหญ่
มันไม่ได้ผิดที่เราจะเลือกเชื่อในสิ่งที่เราปักใจแต่ก็ต้องยอมรับและให้ความเคารพกับความเชื่อของผู้อื่นที่อาจจะแตกต่างจากเราด้วย ข้อแม้ของมันก็คือความเชื่อนั้นต้องไม่ถูกบิดเบี้ยวไปจากความเป็นจริงของสากลโลกจนเหมือนถูกทำให้หลับหูหลับตาเชื่อโดยปราศจากวิจารณญาณด้วยเช่นกัน
คงเพราะการเป็นครอบครัวนั้นเรามีเรื่องความรู้สึกและความผูกพันมาเกี่ยวข้องด้วย ข้อยกเว้นนี้มันพิเศษตรงที่ถ้าเป็นเรากับครอบครัวเถียงกันด้วยหัวข้อที่เห็นต่างทางการเมืองในมื้อเย็นเราก็กลับมากอดมาโอ๋กันเหมือนเดิม แต่ถ้าไปเถียงกับคนอื่นที่มีความเห็นแบบเดียวกับพ่อแม่เราแต่เขาไม่ใช่คนในครอบครัว ผลลัพธ์ที่ออกมาคงไม่ได้สวยงามแน่
การแก้ปัญหาเรื่องความเห็นทางการเมืองกับคนในครอบครัวที่ดีสุดคงเป็นการไม่พูดถึงเลยเสียดีกว่า แต่ถ้ากับคนนอกบ้านที่เป็นปัญญาชน ก็ถือว่าเป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นที่ดีไปอีกแบบ
มันถึงเป็นความแตกต่างที่ไม่ถึงกับแตกแยกเพราะความแตกต่างนี้มันเกิดขึ้นในบ้านไม่ใช่สังคมขนาดใหญ่หรือใน social media ที่พอเราแตกต่างเราจะแตกแยกโดยทันที แต่นั่นก็ไม่ใช่ทั้งหมดของชีวิตไม่ใช่หรือไง สุดท้ายแล้วเรื่องความเห็นต่างทางการเมืองนี้อาจไม่ได้จบที่ต่างฝ่ายต่างยอมรับและเคารพความเห็นของกันและกันก็ได้ เพราะปัญหามันไม่ใช่ความเห็นของเราที่มันไม่ตรงกันสักที
แต่เป็นประชาธิปไตยที่ถูกทำให้บิดเบี้ยว รัฐธรรมนูญถูกฉีกทิ้งซ้ำ ๆ และประเทศที่ติดอันดับการรัฐประหารมากที่สุดในโลกนี่ต่างหากที่ไม่ถูกทำให้เข้าใจใหม่สักที ว่าการเมืองเป็นหน้าที่ของนักการเมืองไม่ใช่ทหารที่มาแทรกแซงเพื่อหาประโยชน์และอำนาจของตนเอง โดยอ้างความสงบสุขและใช้ประชาธิปไตยเป็นฉากบังหน้าเผด็จการเอาไว้
สุดท้ายและท้ายสุด เราก็ได้(เผด็จการ)ประชาธิปไตยกลับมาสักที ถึงแม้บัตรจะเขย่ง ถึงปีนู้น ‘คนนั้น’ จะบอกว่าตัวเองเป็นทหารและปีก่อนเขากลับคำบอกว่าตัวเองเป็นนักการเมือง และถึงคนเดียวกันในปีนี้จะยังสับสนว่าสรุปแล้วตนเองเป็นเจ้าหน้าที่รัฐหรือไม่ เราก็(จำใจ)ต้องยอมรับกับผลการเลือกตั้งที่ออกมาและแม้จะค้านสายตาขนาดไหนมันยังคงต้องไปต่อ
ถึงอย่างนั้นเราก็ไม่ได้สิ้นหวังเสียทีเดียวหรอก เกาหลีใต้ยังไม่ได้ประชาธิปไตยด้วยการต่อสู้เพียงครั้งเดียวเลยใช่ไหมล่ะ
ถ้าหากมีความผิดพลาดประการใด ผู้เขียนขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วย รวมทั้งพร้อมน้อมรับความคิดเห็นของทุกคนด้วยเหตุผลและใจที่เปิดรับ
และขอบคุณสำหรับการเปิดเข้ามาอ่านบทความนี้ด้วยนะคะ :)
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in