เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
It has everything to do with the rain.pearandfreesia
CHAPTER X - VON / Tell The World I love You

  • เนเน่: เราชอบกรุงเทพตอนกลางคืนน่ะ แสงมันสวยดีนะ แต่ก็เหงาไงไม่รู้ 
    ไท: เพราะกูรักมึงไง เพราะกูรักมึง




    *Spoiler Alert: เนื้อหาในงานเขียนนี้มีการเปิดเผยข้อมูลส่วนสำคัญของหนัง*



    เราได้ดูวอน(เธอ) เป็นครั้งแรกช่วงปลายปี 2020 และได้ดูบอกโลกให้รู้ว่า“กูรักมึง” ครั้งแรกตอนต้นปี 2022 เป็นสองเรื่องที่ได้ดูห่างกันปีกว่าๆ แต่แปลกที่มีเหตุบังเอิญบางอย่างทำให้เรารู้สึกร่วมกับหนังทั้งสองเรื่องไปในทิศทางเดียวกัน เรื่องแรกสุดเห็นจะหนีไม่พ้นการที่เราได้ดูหนังทั้งสองในโรงถึงสามรอบ และเรื่องที่สองคืองานภาพที่ติดตราตรึงใจจากความรู้สึกส่วนตัวล้วนๆ


    ถ้าให้เล่าย้อนความหลังจากตอนที่นั่งพิมพ์อยู่นี้ สิ่งที่ชัดเจนไม่เคยเลือนหายเห็นจะเป็นสีสันโดดเด่นจากรูปโปรโมตของหนังเรื่อง วอน(เธอ) อารมณ์และแนวภาพ (mood and tone) ที่ทีมหนังเลือกใช้เป็นอะไรที่กระตุ้นความรู้สึกลึกข้างในใจเราได้อย่างดีเยี่ยม แม้จะเดาอะไรไม่ได้แต่เราก็เลือกจะซื้อตั๋วเข้าไปดูในโรงหนังตั้งแต่วันแรกๆ ที่หนังเข้า เป็นช่วงเย็นหลังเลิกงาน เลือกโรงหนังใจกลางเมือง คืนที่เหมือนจะเป็นวันคริสต์มาส แล้วพอดูจบก็มีรอยยิ้มบางฉาบบนใบหน้าเพราะมันช่างเหมาะเจาะไปหมดเสียเหลือเกิน 


    วอน(เธอ) บอกเล่าเรื่องราวผ่านมุมมองของสี่ตัวละครหลัก ด้วยวิธีการแบ่งเล่าเรื่องเป็นสี่ตอนย่อย อย่างที่ตัวละคร 'เดี่ยว' (มีน พีรวิชญ์ อรรถชิตสถาพร) ได้กล่าวไว้ตั้งแต่ต้นเรื่องว่า ‘เรื่องราวของใคร คนนั้นก็เป็นตัวเอก’ หนังพาทุกคนถลำลึกเข้าไปในสายสัมพันธ์ที่ซับซ้อนจนสุดท้ายแล้วเราไม่อาจพูดได้เต็มปากว่ามันถูกคลายออกจนหมด บางความรู้สึกเราเชื่อว่ามันจะยังติดค้างอยู่ในความทรงจำของทุกคนไปจนวันสุดท้ายของชีวิต การแสดงของเซ้นต์ (ศุภพงษ์ อุดมแก้วกาญจนา) ในบทของ 'โอม' ตัวละครที่แสดงออกถึงบาดแผลจากการสูญเสียมิตรภาพและความรักออกมาอย่างชัดเจนที่สุดในพาร์ทของตัวเองทำเอาเรารู้สึกตามไปกับทั้งการผวาตื่นยามดึกและการหลุดเข้าไปในความคิดถึงที่ไม่สามารถย้อนกลับคืนมาได้อีก ความสับสน ความไม่แน่ใจ และความไม่เด็ดขาดของ 'บิว' (พีค ภีมพล พาณิชย์ธำรง) อาจทำให้หลายคนรู้สึกหงุดหงิดใจ แต่หากมองย้อนกลับมาสู่ความเป็นจริง เราคิดว่าคนไม่น้อยเหมือนกันที่เคยผ่านช่วงเวลาของความรู้สึกเหล่านั้นมาก่อน ทั้งไม่แน่ใจว่ารักหรือแค่ผูกพัน ไม่แน่ใจว่ารักจริงหรือแค่อารมณ์ชั่วคราว ไม่แน่ใจด้วยซ้ำว่ารักใคร (ใคร... ในความหมายของหนังที่มากกว่าระหว่างคนหนึ่งกับอีกคน อาจต้องลองดูเองแล้วจะเข้าใจ) สุดท้ายตัวละครที่เปรียบเสมือนแก่นกลางของหนังเรื่องนี้ 'เนเน่' (ฟ้า ษริกา สารทศิลป์ศุภา) สำหรับเราแล้วยอมรับจากใจจริงว่าไม่ใช่ ทีมเน่ ตั้งแต่ครั้งแรกที่ดูจบ มองจากมุมมองของบุคคลที่สามอย่างคนนอกจอ เราโคตรไม่เข้าใจในสิ่งที่เธอคนนี้เลือกทำลงไปในทุกช่วงเวลาของการตัดสินใจ แต่เมื่อมันมีรอบที่สองกับสามให้ได้คิดตาม มีช่วงเวลาสงบให้ได้ทบทวน เราก็เผลอเอนเอียงไปกับรายละเอียดเบื้องหลังที่หนังหยอดมาให้แต่น้อยแต่เพียงพอที่จะทำให้ในท้ายที่สุดแล้วเราสามารถมองได้ว่า เนเน่ ก็เป็นแค่ผู้หญิงวัยรุ่นตอนต้นทั่วไปที่เคยทำผิดพลาดกับทุกอย่างในชีวิตและสมควรได้รับการให้อภัย ความสัมพันธ์ของสี่ตัวละครที่โยงใยกันไปมากับบางคนอาจจะชอบมาก ชอบน้อย หรือไม่ชอบเลย เราก็ยังอยากจะให้ทุกคนลองเปิดใจดูสักครั้ง เพราะมิติความรู้สึกของทั้งสี่ตัวละครที่แตกต่างกันไปในแต่ละมุม สักเศษเสี้ยวใดเศษเสี้ยวหนึ่งอาจหลอมหลวมเข้ากับความทรงจำของคนที่เคยผ่านรักและความผิดหวังมาจนเกิดเป็นความรู้สึกใหม่ที่คุ้มค่าที่จะเก็บเอาไว้ในใจ


    เราอยากเล่าขำๆ ณ ตรงนี้สำหรับหนังเรื่องที่สองที่กำลังจะพูดถึง ว่าเราตั้งตารอให้หนังเข้าโรงมาตั้งแต่ช่วงเดือนเมษายน ปี 2021 แต่เพราะสถานการณ์โควิดที่ทำให้หนังถูกเลื่อนแล้วเลื่อนอีกไม่มีกำหนดอย่างกับโชคชะตาต้องการจะให้เราได้รู้จักกับนักแสดงจนครบก่อนก้าวเท้าเข้าไปดูในโรง จากที่เคยคุ้นกับนักแสดงแค่สองคนหลักจากทั้งสี่คน สุดท้ายแล้ววันที่เดินเข้าไปในโรงรอบสื่อก็กลายเป็นการเดินเข้าไปดูแบบที่ได้รู้จักกับนักแสดงจนครบ แล้วก็ไม่เสียใจเลยกับการได้เห็นฝีมือการแสดงของทั้งหมดบนจอแก้วไปถึงสามรอบในระยะเวลาเพียงอาทิตย์เดียว (เป็นช่วงที่โดนคนรอบตัวทักมาถามย้ำๆ ซ้ำๆ บ่อยมากว่าดูอีกแล้วเหรอ?!) บอกโลกให้รู้ว่ากูรักมึง เป็นหนังที่เรายอมรับว่าความรู้สึกก่อนดูกับหลังดูแตกต่างกันราวฟ้ากับเหว ทั้งตัวอย่างหนังที่ตัดหลอกจนคาดไม่ถึงว่าเรื่องราวจะดำเนินไปแบบที่หนังเป็น ทั้งผู้กำกับที่ทำให้เราไม่กล้าจะคาดคะเนอะไรไปก่อน แต่เมื่อถึงตอนที่ฉากสุดท้ายตัดจบลงในรอบแรกที่ได้ดูก็ต้องยกมือขึ้นจับที่กลางหน้าอกเพื่อสัมผัสความรู้สึกอัดแน่นข้างในที่รับมาจากตัวละครทั้งหมดก่อนจะลุกออกไปและพาตัวเองกลับบ้านได้ถูกทิศถูกทาง ถึงจะไม่รู้ว่าระหว่างการวางบทบาทให้กับตัวละคร 'เข่ง' กับการเลือก บาส (สุรเดช พินิวัตร์) ให้มารับบทตัวละครนี้อะไรเกิดขึ้นก่อนกัน แต่สำหรับเรามันเป็นการเลือกที่เกือบจะเรียกได้ว่าสมบูรณ์แบบ บทบาทของตัวละครที่นับว่าซับซ้อนมากกว่าที่หน้าหนังสื่อให้ทุกคนได้เห็นถูกฝากฝีมือของนักแสดงที่หลายคนมองข้ามไปได้อย่างยากจะหาที่ติ ฉากเฉลยปมตัวละครเข่งช่วงค่อนท้ายเรื่องเป็นตอนที่หลายคนคงคาดถึงแต่ไม่อยากจะคาดคิด เป็นความมืดบอดของโลกอีกใบที่มีอยู่จริงแต่เราเลือกที่จะหลับตาและหันหลังให้กับมันโดยไม่สนใจว่าใครจะต้องเจ็บปวดมากแค่ไหน ไม่ต่างกันกับโลกของ 'บ้ง' (เพิร์ธ ธนพนธ์ สุขุมพันธนาสาร) และ 'นิก' (นิก คุณาธิป ปิ่นประดับ) ที่เราคนนอกไม่อาจจินตนาการภาพออกเลยว่าจะน่ากลัวเท่าไหร่ แล้วคนเราต้องไร้ทางเลือกในชีวิตแค่ไหนถึงพาตัวเองไปอยู่ในที่อันตรายแบบนั้น หนังอาจไม่ได้พูดออกมาโต้งๆ ว่าทำไมทั้งสองถึงเลือกจะเดินเส้นทางผิดกฎหมาย แต่รายละเอียดยิบย่อยที่สอดแทรกอยู่ในบางฉากอย่างไม่ต้องตะโกนโห่ร้องก็ชวนให้หดหู่และเข้าใจได้มากขึ้นว่าไม่ใช่เขาทำผิดเพราะอยากจะทำ แต่บางครั้งเขาก็ทำเพราะมันจำเป็น (ขอย้ำตรงนี้ว่ามันไม่ใช่เรื่องดีอะไรเลยกับการทำผิดกฎหมาย แล้วไม่ว่าจะเหตุผลอะไรก็ไม่อาจอ้างที่จะไม่รับผิดกับสิ่งที่ทำได้) สุดท้าย เราให้ใจทั้งหมดไปกับตัวละครที่อยากจะเรียกว่า ‘ความลับ’ ที่สุดของหนังเรื่องนี้ ยอมรับเลยว่าทีมหนังเก็บงำรายละเอียดของ 'ไท' (เน็ต สิรภพ มานิธิคุณ) ไว้ได้อย่างดีเยี่ยมเป็นปีๆ ไม่ว่าจะเพลงที่ปล่อย ตัวอย่างหนัง หรือจนกระทั่งหนึ่งชั่วโมงยี่สิบนาทีแรกของหนังจริงๆ เราคาดไม่ถึงเลยว่าคำเฉลยของชื่อหนังจะออกมาในรูปแบบนี้ ช่วงสุดท้ายของการคลี่คลายปมด้านความรู้สึกใช้วิธีการเล่าเรื่องโดยการย้อนความและจับสองตัวละครมานั่งในห้องสอบสวนเพื่อสอบความจากเหตุการณ์เดียวกันก่อนจะตัดภาพไปยังความจริงที่เล่นเอาพูดไม่ออก กึ่งจะเป็นแนวราโชมอนแต่ไม่ยืดเยื้อเวิ่นเว้อเท่า เป็นช่วงที่เราชอบมากที่สุดของหนังเรื่องนี้ยาวไปจนถึงการแสดงที่ไม่มีอะไรมากไปกว่าหยดน้ำตากับเสียงสั่นคลอแต่หนักแน่นของไทและภาวะจำนนที่เกินจะควบคุมสถานการณ์ได้ของเข่งบีบให้เรายิ่งเหมือนถูกอัดรวมเข้าไปเป็นหนึ่งเดียวกับตัวหนัง เพราะอย่างนั้นมันไม่น่าแปลกอะไรเลยที่เราจะลุกออกจากโรงมาด้วยมวลความรู้สึกที่ถาโถมและต้องใช้เวลาในการเรียบเรียงเพื่อเก็บเข้าไว้ในลิ้นชักความทรงจำสำหรับหนังอีกเรื่องที่อยากจะเขียนเล่าถึง


    เราหลงรักงานเขียนและภาษามาตั้งแต่เด็ก โตมาพอรู้เรื่องก็หลงไหลการดูหนังตามคุณพ่อ ตัวตนที่อยู่กับเรามาร่วมยี่สิบกว่าปี เพียงแต่ช่วงสองปีให้หลังเราค้นพบความสนใจใน ‘การถ่ายภาพ’ เพิ่มขึ้นมาอีกอย่าง บางทีมันอาจเป็นตัวตนส่วนลึกอยู่แล้วที่เพียงแต่ถูกกระตุ้นให้ค้นพบในช่วงที่พยายามจะรักษาตัวเองจากอาการซวนเซในสภาวะที่หัวใจเจ็บปวด (‘Nothing is being dug up. It’s what has been brought up - out of the water.’ CMBYN, 2018) หนังทั้งสองเรื่องเลือกใช้หลายสถานที่โปรดของเราในการดำเนินเรื่อง กลายเป็นภาพที่ย้ำความสวยงามของแนวรถไฟฟ้ายามค่ำคืน บาร์ญี่ปุ่น ณ ห้างใจกลางเมือง วิวริมแม่น้ำเจ้าพระยา ตรอกเล็กตรอกน้อยในย่านบางรัก วัดจีนเก่าแก่ที่ซ่อนตัวอยู่ในแหล่งชุมชน รวมไปถึงสภาพแวดล้อมของตึกรามมีอายุที่ดูแสนจะธรรมดาแต่แฝงความทรงจำของคนรุ่นต่อรุ่นเอาไว้มากมาย สำหรับวอน(เธอ) เราเดินออกจากโรงหนังมาตอนนาฬิกาบอกเวลาสี่ทุ่มนิดหน่อย ที่บอกเอาไว้ตอนแรกว่าทุกอย่างดูช่างเหมาะเจาะไปเสียหมด ก็เพราะเราเดินออกจากตัวหนังมาปะเข้ากับบรรยากาศของหนังเสียทันที นี่อาจเป็นข้อดีไม่กี่อย่างของการทนใช้ชีวิตวุ่นนวายและแสนอึดอัดในตัวเมืองหลวงของประเทศไทย ที่ที่ถึงเราจะบอกใครต่อใครว่าแสนจะทรมานในการดิ้นรนเอาชีวิตรอด แต่เรากลับรู้สึกแบบเดียวกับที่เนเน่รู้สึกไม่มีผิด เราหลงใหลในบรรยากาศของกรุงเทพฯ ยามค่ำคืน เราชอบแสง ชอบความสงบที่ไม่ได้ถึงกับเงียบสงัด ชอบที่ทุกอย่างเหมือนเดินช้าลงจนเรามีเวลาใช้ความรู้สึกเข้าไปสัมผัสกับสิ่งต่างๆ รอบตัว ถึงมันจะเหงาแค่ไหนสำหรับคนที่อยู่ตัวคนเดียวไร้ครอบครัวอยู่ใกล้แต่ความสวยงามของมันก็ทำให้เรารู้สึกชอบได้อยู่ดี ในขณะที่อีกเรื่องพาเราไปในสถานที่ที่ต้องยอมรับว่ามองจากข้างนอกแทบจะไม่รู้เลยว่ามีอยู่ มุมตึกด้านข้างของล้ง 1919 ถูกถ่ายทอดออกมาได้สวยจนไม่น่าเชื่อว่าใช่ที่เดียวกันกับที่เราเองก็เคยแวะเวียนไป วงเวียนใหญ่ที่ใครหลายคนคงเกลียดนักหนาเพราะการจราจรที่จัดว่านรก ถูกเก็บภาพผ่านเลนส์กล้องและมุมมองของทีมหนังออกมาได้เป็นอีกฉากที่น่าจดจำ การวิ่งไล่ลัดเลาะหายกันเข้าไปในถนนแคบๆ ที่เราไม่คิดว่าจะมีอยู่ ภาพบ้านไม้หลังเล็กผุพังของคนที่ใช้ชีวิตจริงๆ ติดริมแม่น้ำเจ้าพระยาแตกต่างอย่างไม่มีอะไรเข้ากันได้เลยกับห้างใหญ่โรงแรมหรูที่อยู่ห่างไปไม่ไกลและอาศัยวิวแม่น้ำสายหลักสายเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นความตั้งใจหรือความบังเอิญแต่การเสียดสีอย่างเรียบง่ายที่สะท้อนความแตกต่างระหว่างชนชั้นกลายเป็นความประทับใจสำหรับเรากับหนังเรื่องนี้ไปเลยทีเดียว 





    ทั้ง วอน(เธอ) และบอกโลกให้รู้ว่ากูรักมึง เป็นหนังรัก เป็นหนังที่ทำให้เราย้อนคิดว่าเมื่อรักแล้วทุกเหตุและผลก็ไม่สามารถต้านทานคำสั้นๆ เพียงคำเดียวนี้ได้ เรื่องแรกเต็มไปด้วยความโกลาหลโหมกระพือด้วยความรู้สึกรุนแรงของทุกตัวละครจนเมื่อสุดปลายทางก็ทำได้เพียงยอมรับผลของสิ่งที่เกิดขึ้นและพยายามใช้ชีวิตต่อไปให้ดี เรื่องที่สองเปรียบคล้ายน้ำนิ่งลึกเกินจะหยั่งถึง รู้ตัวอีกครั้งความรักก็สร้างแรงสั่นสะเทือนที่ใจกลางจนเกิดคลื่นโถมเข้าฝั่งสร้างความเสียหายที่ไม่มีใครตั้งใจให้เกิดแต่ถ้าย้อนกลับไปก็คงทำเฉกเช่นเดิม 


    สุดท้าย ทุกคนก็ล้วนต้องเดินต่อไปข้างหน้าที่ไม่รู้ว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นอีก โดยมีความรักที่บางทีอาจไม่ควรจะเรียกว่าอดีตเพราะยังรักอยู่เต็มหัวใจ ประทับอยู่ในความรู้สึกเสมอ เราเองก็ไม่ต่างกัน ถึงความคุกรุ่นของอารมณ์จะจางหายไปจนเหลือเพียงความคิดถึงบางเบาในบางครั้ง อาจไม่ได้อาวรณ์ในทุกครั้งที่หนังแต่ละเรื่องสะกิดผะแผ่วบนรอยแผล แต่ก็ยังไม่มีวันไหนที่เราจะลืมความรักครั้งนี้ไปได้สนิทใจ ยังนึกย้อนถึงอดีตบ้าง นึกภาพปัจจุบันบ้าง หรือถ้าอนาคตเราได้วนกลับมาเป็นคนที่รู้จักกันได้ใหม่ อภัยให้กันได้อย่างที่ตัวละครของหนังในบทนี้ทั้งสองเรื่องพยายามที่จะทำให้สำเร็จในตอนท้าย มันก็คงจะดีไม่น้อย 




    ส่งท้าย — กันสักหน่อย


    ส่วนตัวจริงๆ ยังคงเป็นคนที่อินกับความเศร้ามากกว่าจะเป็นพวกสุขนิยม พาร์ทที่ต้องดิ้นรนต่อสู้กับความเจ็บปวดจากความทรงจำเมื่อครั้งยังรักของ 'โอม' และพาร์ทที่ 'ไท' พรั่งพรูความทรมานจากการทนเห็นคนที่ตัวเองแอบรักต้องเจ็บปวด จึงเป็นพาร์ทที่เราชื่นชอบที่สุดจากหนังทั้งสองเรื่องในการเข้าโรงไปดูทุกๆ รอบ ชื่นชมกับการแสดงทั้งภาษากาย น้ำเสียง รวมถึงสายตา ของนักแสดงทั้งเซ้นต์ ศุภพงษ์ และเน็ต สิรภพ และเราก็คงยังเลือกให้เป็นหนังสองเรื่องนี้ที่จะวนกลับมาดูซ้ำๆ ในยามที่อยากจะปล่อยความรู้สึกให้ถูกกลืนด้วยอิทธิพลของคำว่ารัก ซึมซับภาพความผิดหวังหากแต่สวยงามผ่านงานภาพกรุงเทพฯ ตอนกลางคืนจากบนดาดฟ้าตึกสูงและมุมตึกเก่าจีนโบราณที่ทำให้แม้จะต้องปาดน้ำตาตามบ้างแต่ก็ยังชอบมากอยู่ดี




เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in