กลับมาแล้ว!
หลังจากหายไป 16 วัน ในที่สุดก็หาเวลามาเขียนบันทึกการเดินทางต่อได้
กับบทบาทใหม่ที่เรียกว่า
'คนขายหนังสือ'
พี่ ๆ ได้เกริ่นไว้แต่เนิ่น ๆ แล้วว่าการฝึกงานที่สำนักพิมพ์ในครั้งนี้จะได้ไปออกบูธขายหนังสือด้วย งานที่เราได้ไปในครั้งนี้คืองาน Amarin Baby & Kids จัดขึ้นวันที่ 30 มิถุนายน ถึงวันที่ 3 กรกฎาคมที่ผ่านมา ตอนนี้จึงจะเป็นการเล่าเรื่องของคนขายหนังสือคนหนึ่งที่ได้รับหน้าที่ให้ไปขายหนังสือของสำนักพิมพ์ SandClock Books เป็นเวลา 3 วัน
ด้วยลักษณะของงานเป็นการรวบรวมของใช้ทุกอย่างสำหรับเด็กทารกและเด็กเล็ก รวมถึงคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ จากการสังเกตผู้คนที่เดินในงาน เราเห็นว่าคนที่มาส่วนใหญ่เป็นครอบครัวที่มีลูกเล็ก และมีความตั้งใจจะมาซื้อคาร์ซีทหรือรถเข็นมากกว่าการมาเพื่อซื้อหนังสือโดยเฉพาะ คนที่เข้ามาดูหนังสือที่บูธจึงเป็นพ่อแม่ที่อยากหาคู่มือดี ๆ เล่มแรกสำหรับการมีลูกคนแรก หรือพ่อแม่ที่กำลังมีลูกคนที่สองแล้วอยากเลี้ยงลูกตามแบบในคู่มือดู หรือพ่อแม่ที่มีลูกเล็ก ๆ อยู่ในรถเข็นแล้วอยากลองเลี้ยงลูกด้วยหนังสือนิทานสักครั้ง แล้วยังมีบางส่วนเป็นเด็กวัยอนุบาลที่สามารถชี้ หรือเลือกหยิบหนังสือนิทานที่อยากได้ด้วยตัวเอง
น่าเสียดายที่กว่าจะมีเวลาว่างมาเขียนบันทึกก็มาเป็นสัปดาห์แล้วจึงทำให้ลืมเรื่องราวน่ารัก ๆ ไปบ้างเล็กน้อย และเขียนเล่าได้ไม่หมด แต่จะเราจะพยายามเล่าประสบการณ์การเป็นคนขายหนังสือเล่มแรกของเราอย่างค่อยเป็นค่อยไปเหมือนได้อยู่ที่บูธกับเราด้วย
วันแรกกับวันที่สองของงานตรงกับวันพฤหัสบดีกับวันศุกร์ ซึ่งเป็นวันทำงาน คนที่มาเดินจึงมีไม่มากนัก ส่วนมากจะมาพร้อมกันทีเดียวหลาย ๆ คน เราสังเกตว่าพอมีคนมามุงหน้าร้านหนึ่งคน อีกหลาย ๆ คนจะมาดูตาม แต่พอเวลาว่างก็เงียบกริบจนเรากับแฟรี่สามารถซ้อมพับถุงสำหรับสอนเด็ก ๆ ในงาน Reading Club ของ SandClock ได้ (เราจะเล่าเรื่องงานนี้ในตอนหน้า)
จากลักษณะของคนที่มาเดินงานนี้ที่เราบอกข้างต้น ค่อนข้างสอดคล้องกับคำถามที่เราได้ยินจากลูกค้าบ่อยที่สุด
"เรื่องไหนสำหรับเด็กเล็กบ้างคะ"
"ลูก 8 เดือน เล่มไหนเหมาะเหรอคะ"
"มีเล่มไหนให้เด็กขวบกว่า ๆ ไหมครับ"
เราสังเกตผสมกับเดาเอาเองว่าพ่อแม่ที่มาเดินงานนี้ส่วนใหญ่เป็นมือใหม่ มีลูกคนแรกและลูกยังคงเล็ก ๆ เราเลยรีบแนะนำหนังสือ 'รถไฟแปรงฟัน' กับ 'ชุดนอนจ๊ะเอ๋' สองเล่มนี้ผู้แต่งคนเดียวกันคือมาจิโกะ คุโบะ แล้วเรื่องราวเข้าใจง่ายไม่ซับซ้อน ภาพสวย ประโยคสั้น ๆ และตัวอักษรใหญ่ เหมาะสำหรับเด็ก 0-3 ปีที่ลูกค้าในงานตามหา สองเล่มนี้จึงค่อนข้างขายดี เพราะเราแนะนำให้ลูกค้าหลายคน ส่วนอีกเรื่องหนึ่งที่เรามักจะแนะนำไปด้วยหากลูกค้าอยากได้เพิ่มคือ 'เช้าวันปิกนิกของอายาโกะ' เพราะเนื้อเรื่องกระชับเข้าใจง่าย และน่ารัก
หนังสือนิทานของ SandClock Books ส่วนมากเหมาะสำหรับเด็ก 3 ปีขึ้นไป มีเพียงไม่กี่เล่มที่คำน้อย เรื่องไม่ยาว และภาพเน้นพื้นหลังสีขาวให้เด็กเล็กมองเห็นได้ชัดตามแบบที่เราเรียนมา แต่สำหรับเรา ไม่ต้องสนว่าลูกจะอายุน้อยกว่าวัยของหนังสือนิทานที่แนะนำก็สามารถซื้อไว้ก่อนได้ ตอนลูกเล็ก ๆ อาจจะแค่ชี้ภาพว่าอะไรอยู่ตรงไหน อันนี้คืออะไร อันนั้นคืออะไร พอโตขึ้นอีกหน่อยก็อาจจะเริ่มอ่านให้ฟังได้ ไม่ว่าจะเข้าใจหรือไม่ก็อ่านให้ฟังไว้ก่อน เป็นการสร้างประสบการณ์และความอบอุ่น
"แต่บางทีซื้อไปลูกไม่หยิบอ่านสักทีมันก็ท้อนะ"
นี่คือความคิดของพี่โบหลังจากเราเล่าความคิดของเราให้ฟังระหว่างที่บูธยังไม่มีลูกค้า พี่โบเป็นคุณแม่ที่มีลูก ชอบซื้อหนังสือนิทานให้ลูก และความคิดของพี่โบก็ทำให้เราได้มุมมองใหม่ ๆ ที่เราไม่เคยรู้มาก่อนจากคนที่เป็นคุณแม่จริง ๆ
เราคุยกับพี่โบเกี่ยวกับหนังสือนิทานหลายเรื่องระหว่างที่ไม่มีลูกค้า เราเล่าให้พี่โบฟังว่าเราจำนิทานเล่มโปรดในวัยเด็กได้ (น่าจะประถมต้นเพราะเริ่มอ่านออก) เรามีหนังสือนิทานอยู่ที่บ้านไม่กี่เล่ม และเรามีเล่มโปรดแค่ 2 เล่มเท่านั้น แล้วเราก็อ่านวนอยู่แค่นั้น ถือติดมือเดินไปเดินมาในบ้านได้ทั้งวัน ทั้งอ่านทั้งมองภาพซ้ำ ๆ
"จริงนะ ลูกพี่ก็เหมือนกัน เขาชอบอ่านหนังสือเปิดความลับ แล้วก็อ่านอยู่นั่นอะ"
"แสดงว่าลูกพี่โบชอบเรื่องจริง"
"ใช่ ๆ"
เปิดความลับ เป็นหนังสือชุดของสำนักพิมพ์อมรินทร์ เป็นการให้ความรู้ที่เป็นเรื่องจริงผ่านภาพการ์ตูน มีทั้งเปิดความลับโรงพยาบาล เปิดความลับทะเลและมหาสมุทร เป็นหนังสือสารคดีที่เน้นให้ความรู้ในรูปแบบที่เหมาะกับเด็กและน่าสนใจมาก ๆ แล้วพี่โบยังเล่าให้ฟังอีกว่าลูกของพี่โบจะไม่ค่อยหยิบหนังสือที่เป็นนิทานมาอ่านเพราะคิดว่าเด็กไป
เราไม่ได้ลงเรียนวิชาสารคดีตอนปีสอง เพราะเป็นทางที่เราไม่ถนัดเท่าไรนัก การได้มาฟังเรื่องราวของเด็กที่ชอบหนังสือสารคดีจริง ๆ แบบนี้จึงค่อนข้างแปลกใหม่ เห็นทีเราต้องหาอ่านหนังสือสารคดีสำหรับเด็กที่เน้นให้ความรู้แบบสนุก ๆ บ้าง
มีคำถามอีกมากมายที่เราได้ยินจากลูกค้า หมวดหมู่นี้จึงเป็นการรวบรวมคำถามที่น่าเสียดาย เพราะเราไม่สามารถแนะนำหนังสือให้ลูกค้าได้
"มีแบบสองภาษาไหม"
หนังสือนิทานของ SandClock Books ที่หน้าปกอาจจะมีภาษาต้นฉบับอยู่ด้วย แต่ภายในเล่มมีแค่ภาษาไทย ตลอดสามวันที่เราเฝ้าบูธ เราได้ยินคำถามนี้จากลูกค้าประมาณ 4-5 คนเลยทีเดียว
"มีแบบที่กดแล้วมีเสียงไหม"
แน่นอนว่าไม่มี เวลาลูกค้าตามหาหนังสือมีเสียง เราเลยผายมือไปทางร้านตรงข้ามแบบเยื่อง ๆ กันทันทีอย่างจริงใจ
"น้องชอบกระต่าย"
คุณแม่คนหนึ่งหยิบหนังสือ 'ร้านกาแฟกระต่ายห้าตัว' ทันทีที่มาถึง และแทบจะไม่เปิดดูตัวอย่างด้านใน แล้วยังถามหาหนังสือที่มีกระต่ายเพิ่ม เราแนะนำหนังสือชุดในป่าใหญ่กับลูกค้าไป แต่น่าเสียดายที่กระต่ายในเรื่องนี้ไม่ใช่ตัวละครหลัก คุณแม่จึงได้หนังสือที่มีกระต่ายเพียงเล่มเดียว เราก็ได้แต่คิดในใจว่า 'มีอีกค่ะ แต่ยังไม่ได้พิมพ์ ตอนนี้มีแค่สตอรี่บอร์ด' (หมายถึงที่เราเขียนเอง)
เรื่องน่าประหลาดใจอีกเรื่องหนึ่งคือคนญี่ปุ่นที่เดินผ่านไปผ่านมาที่บูธจะหยุดมองเหล่าหนังสือนิทานแปลเป็นภาษาไทยด้วยดวงตาเป็นประกายอยู่หลายคน เราได้เรียนภาษาญี่ปุ่นมาตอนม. ปลาย จำอะไรไม่ได้มาก แต่พอจะฟังออกอยู่เล็กน้อย
"โอ้โห เล่มนี้มีภาษาไทยด้วย"
"สุดยอดเลย"
"ดีจัง"
แต่คนญี่ปุ่นที่เดินผ่านมาชื่นชมหนังสือนิทานต้นฉบับภาษาญี่ปุ่นที่แปลไทยเหล่านี้ไม่ได้ซื้อกลับไป เป็นอันเข้าใจกันดีว่าพวกเขาอาจอยากได้เล่มที่เป็นภาษาญี่ปุ่นมากกว่าหรืออาจมีอยู่แล้ว จนกระทั่งเช้าวันเสาร์ ทันทีที่เปิดบูธเรียบร้อย มีชายหญิงชาวญี่ปุ่นคู่หนึ่งมองหนังสือนิทานด้วยดวงตาเป็นประกายเหมือนกับที่เราเคยเห็น และได้ยินทั้งคู่คุยกันแบบที่เคยได้ยินคนญี่ปุ่นคนอื่น ๆ พูด
แล้วทั้งคู่ก็ซื้อหนังสือฉบับแปลไทยติดไม้ติดมือกลับไปด้วย เล่มนั้นคือเรื่อง คณะทัวร์แพนด้า
การมาเป็นคนขายหนังสือ เราได้รู้ทั้งมุมมองที่ไม่เคยรู้จากกลุ่มคนที่เป็นพ่อแม่ ได้เจอกับกลุ่มลูกค้าของหนังสือประเภทที่เรากำลังพยายามเขียน ได้รู้เรื่องประหลาดใจ ที่สำคัญที่สุดที่เราได้รับ คือสายตาของเด็ก ๆ วัยที่โตจนสามารถชี้หรือหยิบนิทานด้วยตัวเอง
เด็กวัยที่สามารถเลือกหยิบหนังสือนิทานได้เองจากหน้าปกเกือบทุกคนหยิบหนังสือเรื่อง 'แม่จ๋า อย่าโมโห' แล้วเวลาเด็กหยิบเรื่องนี้ ผู้ใหญ่ที่มาด้วยเห็นจะมีปฏิกิริยาหลายแบบ
"แม่ไม่ได้โมโหนะลูก" พูดพร้อมยิ้มเขิน
"ฮ่า ๆๆ เอาเล่มนี้เหรอ เรียกแม่มาดูสิ" พูดกลั้วหัวเราะ และหันไปมองหาแม่ที่กำลังดูของอยู่อีกบูธ
"พอหยิบเล่มนี้แม่ก็ตุ้ม ๆ ต่อม ๆ นะ" พูดพร้อมยิ้มแห้ง ๆ
"ชอบเล่มนี้เหรอ แล้วเอาเล่มไหนอีก" พูดเสียงเรียบ คาดเดาอารมณ์ไม่ได้
เราอยากให้น้อง ๆ ได้หนังสือที่อยากได้กลับบ้าน เลยอดไม่ได้ที่จะแนะนำผู้ใหญ่อีกว่าเล่มนี้ฮิตมาก ๆ และได้รางวัลเยอะ ซึ่งเราไม่แปลกใจเลยที่นิทานเล่มนี้จะมีชื่อเสียง เพราะชีวิตของเด็กคนหนึ่งนั้นยากที่จะไม่เคยถูกแม่โมโหหรือดุด้วยเสียงดัง นิทานเล่มนี้ได้พูดสิ่งที่เด็กอยากพูดออกมาอย่างตรงไปตรงมา ว่าเด็ก ๆ เสียใจมากแค่ไหนตอนที่ถูกตะคอก เสียใจจนตัวกระจัดกระจายเป็นชิ้น ๆ ให้แม่ตามหา และปิดท้ายด้วยการ 'ขอโทษ' เราเลยอยากให้เด็กคนหนึ่งมีหนังสือนิทานเล่มนี้อยู่ในบ้าน นอกจากจะช่วยปลอบใจเขา แล้วยังช่วยส่งสารถึงแม่ ว่าพวกเขาเสียใจแค่ไหน
สิ่งที่ดึงดูดสายตาเด็ก ๆ ให้หยิบนิทานเรื่องนี้อาจไม่ใช่แค่ชื่อเรื่องเสมอไป เพราะมีเด็กคนหนึ่งที่คุณแม่พูดออกมาว่าเขายังอ่านหนังสือไม่ออก แต่เราเห็นว่าเขาชอบดูภาพมาก ๆ เขาเป็นเด็กที่หยิบเรื่องแม่จ๋า อย่าโมโหเช่นกัน เราจึงคิดว่าอาจเป็นเพราะภาพประกอบ หรือรูปเล่มขนาดพอดีมือเด็ก และวางอยู่ใกล้มือเด็กมากที่สุดด้วยก็เป็นได้
เรื่องน่ารักของเด็กน้อยที่ชอบดูภาพในหนังสือนิทานคนนี้ยังไม่จบ น้องหยิบนิทานมาเปิดดูอย่างตั้งใจเหมือนกับอ่านหนังสือออก มาดและท่าทางราวกับผู้ใหญ่อ่านหนังสือพิมพ์ หรือหนังสือเคล็ดลับทำธุรกิจ เด็กน้อยคนนี้ตั้งใจแน่วแน่มากว่าอยากได้นิทานเรื่องแม่จ๋า อย่าโมโห แต่น้องมากับคุณแม่แค่สองคนแล้วดูเหมือนว่าต้องการจะซื้อหนังสือหลายเล่มและกลัวจะถือไม่ไหว คุณแม่จึงตกลงกับน้องว่าจะกลับมาซื้อให้หลังจากไปเอารถเข็น
ตอนแรกเราคิดว่าเป็นมุกหลอกเด็ก แต่หลังจากนั้นน้องกับคุณแม่ก็กลับมาอีกครั้งพร้อมรถเข็นจริง ๆ และหนังสือที่น้องหยิบขึ้นมายังคงเป็นเรื่องแม่จ๋า อย่าโมโหเหมือนเดิม แม้ว่าน้องจะอยู่ตำแหน่งที่สูงขึ้นแล้วเพราะคุณแม่อุ้มน้องขึ้นไปนั่งบนรถเข็น
เราสังเกตจากการพูดคุยและการเลือกซื้อหนังสือ เราเลยคาดเดาว่าน้องกับคุณแม่น่าจะมีหนังสือนิทานอยู่อีกเต็มบ้าน เพราะน้องคุ้นเคยกับหนังสือเหล่านี้เป็นอย่างดี แล้วเลือกจะเอาเล่มนั้นเล่มนี้อย่างคล่องแคล่วทั้งคุณแม่และคุณลูก
เรื่องน่ารักที่เราได้ยินคือตอนที่คุณแม่เลือกหนังสือนิทานไปแล้วมากกว่า 4 เล่ม (แน่นอนว่ามีเรื่องแม่จ๋า อย่าโมโหด้วย) คุณแม่ชี้ไปที่หนังสือชุดของฟุคุซาวะ ยูมิโกะที่มักจะเขียนหนังสือนิทานชุด (ถึงแม้ว่าจะจบในเล่ม แต่ความรู้สึกของคนซื้อก็อยากมีให้ครบทั้งชุด)
"สามเล่มนี้เอาด้วยไหม หรือยังก่อน" ถึงคุณแม่จะซื้อหนังสือหลายเล่มแล้วก็ยังถามน้องว่าอยากได้เพิ่มอีกหรือไม่ แล้วยังให้ทางเลือกกับน้องด้วย
"ยังก่อน"
คำตอบของน้องเหนือความคาดหมาย ถ้าเป็นเราคงจะพยักหน้ากับแม่และบอกว่า 'เอา' แบบที่ไม่ต้องเสียเวลาคิด แต่น้องมีการยับยั้งชั่งใจที่น่าเอ็นดู
การเล่าประสบการณ์ในบทบาทของคนขายหนังสือต้องจบลงแต่เพียงเท่านี้ แต่แน่นอนว่าบันทึกการเดินทางของเรายังมีเรื่องเล่าอีกมาก เพราะในที่สุดเวลาที่เรารอคอยก็มาถึง คืองานกิจกรรมเล่านิทานของ SandClock Books ซึ่งระหว่างที่เราขายหนังสือก็ต้องเตรียมงานนี้ควบคู่กันไปด้วย
ตอนหน้าจึงจะเป็นการเล่าเรื่องวันนิทานในป่าใหญ่ กิจกรรม Reading Club ของ SandClock Books ที่จัดขึ้นวันที่ 9 กรกฎาคมที่ผ่านมา ในงานเราค่อนข้างยุ่งและพักผ่อนน้อยเป็นทุนเดิมจึงอาจจะจำรายละเอียดไม่ได้มาก แต่จะพยายามเขียนเล่าให้อ่านอย่างสุดความสามารถค่ะ!
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in