เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
เดินทางไกลสู่โลกของการทำงานSasikan Jontapa
เปิดพัสดุ
  • เริ่มทำงานอย่างเป็นทางการ
    เมื่อพัสดุสองกล่อง จาก SandClock Books มาส่งถึงบ้าน



              ในสัปดาห์แรกงานที่ทำยังมีน้อยเพราะหนังสือยังส่งมาไม่ถึง และนักศึกษาฝึกงานยังมาไม่ครบ ในสัปดาห์ที่สองจึงเป็นการเริ่มทำงานอย่างเป็นทางการ


              พัสดุจากสำนักพิมพ์ SandClock Books มาส่งในช่วงสายของวันอาทิตย์ เราคิดว่าจะมาแบบกล่องใหญ่พอสมควร เพราะต้องบรรจุหนังสือประมาณ 15 เล่ม แต่กล่องที่เราได้รับกลับไม่ใช่อย่างที่จินตนาการเอาไว้ และทำให้แปลกใจมากทีเดียว


              กล่องมาขนาดเล็กกว่าที่คิดมาก แล้วห่ออย่างประณีต เปิดกล่องมาต้องตกใจเพราะรู้สึกเหมือนเป็นคุณแม่ที่สั่งหนังสือกับสำนักพิมพ์มากกว่าเป็นนิสิตฝึกงาน มีทั้งกระดาษที่เป็นจดหมายถึงคุณแม่ โดยคุณวีรพร นิติประภา กระดาษโน้ต และหนังสือนิทานเรื่อง ถ้าร้อนก็ถอดเสื้อสิ กับหนังสือ Parenting อีกสองเล่ม ซึ่งทั้งสามเล่มนี้เป็นเล่มใหม่ยังไม่แกะห่อพลาสติก ทั้งหมดนี้ทำให้เราตื่นเต้นมากพอสมควร เพราะเหนือความคาดหมายหลายอย่างตั้งแต่เปิดพัสดุ


              แต่เราตื่นเต้นได้แค่ไม่นาน เพราะหลังจากนั้นอีกสักพักรถส่งของเจ้าเดิมที่คันใหญ่กว่าก็มาถึง พร้อมกับพัสดุที่จ่าหน้ากล่องเป็นชื่อของเราอย่างถูกต้องครบถ้วน แต่กล่องใหญ่จนถือมือเดียวไม่ไหว ตอนแรกเราไม่ได้คิดว่ามาจากสำนักพิมพ์เลย เพราะได้รับไปแล้วก่อนหน้านี้ พอแกะพัสดุกล่องใหญ่กว่าถึงได้ร้องโอ้โห! เพราะภายในกล่องคือหนังสือของ SandClock Books อีก 12 เล่ม ส่วนใหญ่เป็นหนังสือ Parenting และหนังสือภาพอีก 2 เล่ม


              จากนั้นก็เป็นการเริ่มทำงานด้วยการเลือกอ่านหนังสือหนึ่งเล่มตั้งแต่ต้นจนจบ เราเลือกอ่านเล่ม Toxic Parents เพราะมีความสนใจเป็นพิเศษ ซึ่งหนังสือ Parenting เป็นแนวที่เราไม่เคยอ่านมาก่อนเลยนอกจากเรื่องรอให้ถึงอนุบาลก็สายเสียแล้วที่ได้อ่านตอนปีหนึ่งเพื่อทำควิซแรก


              หนังสือเรื่อง Toxic Parents น่าสนใจกว่าที่คิด ไม่ใช่หนังสือ Parenting ที่บอกว่าในฐานะของคนเป็นพ่อแม่ควรทำอย่างไรเพียงอย่างเดียว แต่ผู้ที่สนใจเรื่องพ่อแม่เป็นพิษหรือพฤติกรรมของมนุษย์เมื่ออยู่ในครอบครัวเป็นพิษในแง่จิตวิทยาก็สามารถอ่านได้ทั้งนั้น และยังทำรูปเล่มอย่างประณีต ภาษาของผู้เขียนรวมถึงสำนวนแปลก็อ่านเข้าใจง่าย แม้จะเป็นหนังสือกึ่งวิชาการเกี่ยวกับจิตวิทยา


              ในสัปดาห์นี้มี Online Meeting กับพี่เลี้ยงที่ฝึกงานเพียงแค่ครั้งเดียว เพื่อต้อนรับนักศึกษาฝึกงานอีกหนึ่งคน และบอกรายละเอียดเกี่ยวกับงานที่เราตั้งตารอมานาน คือการจัด Event ของสำนักพิมพ์


              พี่ ๆ ให้อิสระในการคิดธีม และรายละเอียดของงานมาก ๆ จึงไม่รู้สึกอึดอัด ส่วนบรรยากาศของเพื่อนร่วมงานก็สนุกสนาน เพราะรู้จักกันอยู่แล้ว (ออมกับจอนนี่) และเพื่อนใหม่ก็ทั้งน่ารัก ทั้งมีความคิดดี ๆ มาเสนอตลอด (แฟรี่) พวกเราจึงนัดคุยงาน มาเสนอความคิิด มาโยนไอเดียแบบสะเปะสะปะ แล้วมาช่วยกันจัดระเบียบให้เป็นรูปเป็นร่าง จดกระทั่งได้ธีม สถานที่ วันจัดงาน Event และกิจกรรมในงานมาสำหรับเสนอพี่ ๆ ในวันจันทร์ เท่ากับว่าพี่ ๆ ให้เวลาคิดในส่วนนี้ถึง 5 วัน


              นอกจากงานที่ทำร่วมกันทั้ง 4 คน เราได้มีโอกาสเสนอบทความเพื่อลงใน Facebook page ของสำนักพิมพ์ เพราะพี่ ๆ ได้สร้างบรรยากาศที่ทำให้สบายใจมาแล้วตั้งแต่ต้น ทำให้เรากล้าที่จะเสนอไอเดียต่าง ๆ


              เนื่องจากเดือนมิถุนายนเป็น Pride Month และเราคิดว่าประเด็นพ่อแม่กับลูกที่เป็น LGBTQIAN+ ก็เป็นเรื่องที่สำคัญมาก ๆ ยิ่งในปัจจุบันที่มีประเด็นว่าพ่อแม่จะทำอย่างไรถ้าลูกเป็น LGBTQIAN+ อยู่แล้ว เราเลยคิดว่าหนังสือ Parenting ของสำนักพิมพ์สักเล่มหนึ่งต้องมีคำตอบให้แน่ ๆ และก็มีจริง ๆ ในเล่ม Sex education for parents ซึ่งอธิบายได้ดี ทั้งวิธีการทำให้เข้าใจข้อมูลง่าย และการให้คำแนะนำว่าควรปฏิบัติตัวอย่างไร เราจึงอยากให้พ่อแม่หลาย ๆ คนได้อ่าน เพื่อเป็นประโยชน์แก่เด็ก ๆ ที่เป็น LGBTQIAN+ 


              เราไม่ได้เขียนเป็นภาษาทางการ หรือเขียนยาวแบบเวลาส่งครูที่มหาลัยฯ แต่เน้นสรุปเนื้อหาจากหนังสือในส่วนนี้ เพราะเราตั้งใจให้พ่อแม่หรือคนที่ใกล้ชิดกับเด็กที่อ่านเข้าใจแล้วนำไปใช้จริง ๆ ซึ่เมื่อส่งให้พี่ทรายดู พี่ทรายก็ให้ถ่ายภาพจากในหน้าหนังสือเป็นภาพประกอบในโพสต์ไปด้วย และหลังจากนั้นพี่ทรายก็โพสต์ลง Facebook page ของสำนักพิมพ์ให้จริง ๆ


              เรารู้สึกเสียดายอยู่เล็กน้อย เพราะพี่ทรายให้เครดิตผู้เขียนลงท้ายด้วยชื่อของเรา และเรียกสิ่งที่เราเขียนว่า 'บทความ' เราจึงคิดว่าน่าจะเขียนให้ยาวกว่านี้ ประดิษฐ์คำให้สวยและน่าสนใจกว่านี้ เพื่อให้สมกับคำว่าบทความอีกนิด แต่ก็ดีใจมาก ๆ ที่สิ่งที่เราเขียนได้ลงในเพจของสำนักพิมพ์ และได้มีคนเห็นจริง ๆ
  • สรุปประจำสัปดาห์

              'บรรยากาศที่สร้างความมั่นใจ'


              การมาฝึกงานของคนที่เป็นนิสิต ยังอายุน้อย อ่อนประสบการณ์ จะเกิดความกังวล ความไม่มั่นใจเวลาจะเสนอความคิดเป็นเรื่องธรรมดา เราก็ได้ยินเรื่องเล่ามาพอสมควรว่าการเสนอแนวคิดอะไรในที่ทำงานต้องระวังอย่างนั้น ต้องระวังอย่างนี้ เราเลยค่อนข้างกังวลตั้งแต่ยังไม่ได้เริ่มฝึกงานจริง


              แต่พี่ ๆ ที่สำนักพิมพ์ SandClock Books ทั้งพี่ทราย พี่นิดนก และพี่เปย์ ทุกคนใจดี เป็นกันเอง และได้สร้างบรรยากาศที่สร้างความมั่นใจเอาไว้ตั้งแต่เริ่ม อย่างที่เราเล่ามาตลอดตั้งแต่ตอนแรก พี่ ๆ จะบอกเสมอว่าถ้ามีความคิดอะไรให้เสนอมาได้เลย และยินดีรับฟังมาก ๆ


              ด้วยบรรยากาศที่ดีในที่ทำงานเราจึงกล้าเสนอความคิดเรื่องบทความ 'พ่อแม่จะทำอย่างไรหากลูกเป็น LGBTQIAN+' และได้ลงใน Facebook page ของสำนักพิมพ์จริง ๆ ในทางกลับกัน ถ้าเราได้ไปฝึกงานที่อื่น ที่ที่ทำงานไม่ได้มีบรรยากาศสบาย ๆ ไม่กดดัน และไม่ได้สร้างความมั่นใจแบบนี้ เราอาจจะกังวล และไม่กล้าเสนอเรื่องนี้ก็ได้


              สิ่งสำคัญที่ทำให้เรารู้จากสัปดาห์นี้จึงเป็นบรรยากาศในที่ทำงานที่เหมาะกับเรา คือความสบาย ๆ และเปิดกว้างให้แสดงความคิดเห็น เพราะเราดูจะเป็นคนที่มีไอเดีย มีความคิดพร้อมระเบิดอยู่ตลอดเวลา


              แต่การเสนอใน ณ ที่นี้ เราก็ต้องระวังการใช้คำพูดมาก ๆ ต้องถ่อมตัว ใช้คำที่สุภาพ ที่สำคัญที่สุดในการสื่อสารออนไลน์กันแบบนี้คือต้องกระชับ เพราะบางครั้งเรามัวแต่ห่วงความสุภาพมากจนข้อความยาวเกินไป อาจทำให้อ่านไม่ครบถ้วน และเราจะไม่ได้คำตอบอย่างที่เราต้องการ

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in