เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
เดินทางไกลสู่โลกของการทำงานSasikan Jontapa
too much energy



  • ลองคิดภาพคนอายุ 21 ปีที่อยู่บ้านมาเกือบ 3 ปี
    และกระหายอยากเรียนรู้โลก อยากเจอเด็ก อยากทำงาน

    แต่ต้องทำงานที่บ้านเหมือนเกือบ 3 ปีที่ผ่านมา




              ความจริงแล้วมันไม่ได้แย่ถึงขั้นหดหู่หรือผิดหวัง แค่การฝึกงานวันแรกไม่ได้ตื่นเต้นมากเหมือนที่ตัวเองคิดไว้ แต่มีความสบาย ๆ เพราะตัวเรายังอยู่ที่บ้านเหมือนเดิม (ไม่ได้ตื่นเต้นมาก แต่ก็ตื่นเต้นอยู่ดีนั่นแหละ)


              เขินมากที่เผลอพูดผิดพูดถูกในการ Meeting ครั้งแรกกับพี่ ๆ ที่ฝึกงาน แต่ด้วยบรรยากาศเป็นกันเองเพราะทุก ๆ คนอยู่บ้านของตัวเองช่วยไว้ได้มาก


              ปัญหาของคนอายุ 21 ปีที่พลังงานล้นคนนี้ คือกระหายการทำงานมากเกินกว่ารูปแบบงานที่ได้รับ อาจเป็นเพราะเราได้อ่านเรื่องเล่าน่ารัก ๆ ของเพื่อนที่ไปฝึกงานที่โรงเรียน ได้เจอเด็ก ๆ ได้เล่นกับเด็ก ๆ จนเหนื่อยและสลบกันไปข้าง เราจึงรู้สึกอิจฉา และอยากเจอแบบนั้นบ้าง อยากไปฝึกงานที่โรงเรียน หรือที่ที่ได้เจอเด็ก ๆ บ้าง ลืมคำพูดตัวเองตอนแรกไปแล้วว่าอยากฝึกงานที่สำนักพิมพ์


              แต่เมื่อเราได้รู้รายละเอียดการฝึกงานตลอดเวลา 50 วันต่อจากนี้ทำเอาตาลุกวาวเป็นประกายวิบวับ เพราะแค่พี่ ๆ บอกว่าจะพาไปดูโรงพิมพ์เราก็ตื่นเต้นจนลืมความพลังงานล้นของตัวเองไปแล้ว นอกจากการไปโรงพิมพ์ คือการไปออกบูธของสำนักพิมพ์ที่จะได้เจอกลุ่มลูกค้า กับกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งเราแทบนับวันรอเวลาที่จะได้เป็นเด็กเชียร์หนังสือไม่ไหว


              แล้วเราก็จะได้เจอเด็ก ๆ ตัวเป็น ๆ ด้วยนะ


              เราเรียนสาขาวรรณกรรมสำหรับเด็กเข้าปีที่ 3 กำลังจะขึ้นปี 4 แล้ว แต่ได้เจอเด็ก ๆ ตัวเป็น ๆ นับครั้งได้ เพราะถูกโควิด-19 ตัดโอกาสของเราไป เราเลยจดจ่อกับการเจอเด็กตัวเป็น ๆ ในการฝึกงานครั้งนี้เป็นพิเศษ ซึ่งพี่ทราย (บรรณาธิการสำนักพิมพ์ SandClock Books) ก็ได้เกริ่นไว้ตั้งแต่ต้นแล้วว่าจะให้นิสิตฝึกงานจัดกิจกรรมสำหรับเด็กตั้งแต่ต้นจนจบ


              งานนี้แหละ! ที่จะทำให้เราได้เจอเด็กตัวเป็น ๆ ตัวจริงเสียงจริงไม่ผ่านหน้าจอ!

              
              แต่ระหว่างรอคอยหลากหลายเรื่องราวให้เราได้เข้าไปเรียนรู้
              ในสัปดาห์แรกของการฝึกงาน เราก็ต้องทำงานอย่างอื่นให้ได้ก่อน




    งานที่ได้รับในสัปดาห์แรก


              เรียกว่าเป็นช่วงเริ่มต้นของการฝึกงานแบบเบา ๆ สบาย ๆ ด้วยการวิเคราะห์เว็บไซต์หรือสื่อออนไลน์ของสำนักพิมพ์ SandClock Books ด้วยม่านตาของกลุ่มเป้าหมาย ก็คือการปลอมตัวเป็นพ่อแม่ผู้ปกครองนั่นเอง ในเมื่องานแรกเป็นการวิจารณ์สื่อของสำนักพิมพ์ โดยมีบรรณาธิการของสำนักพิมพ์เป็นผู้อ่าน ไม่ต้องเดาเลยว่าจะเกร็งตอนเขียนมากแค่ไหน ซึ่งงานนี้เป็นงานที่เราต้องระวังการใช้ภาษามากเป็นพิเศษ และพี่ทรายก็ได้สร้างบรรยากาศที่ดีไว้ตั้งแต่เริ่ม พร้อมกับย้ำสองรอบว่าห้ามชมอย่างเดียว ให้เพิ่มสิ่งที่ควรปรับปรุงหรือพัฒนาด้วย ทำให้เราผ่อนคลายตัวเองแล้วทำงานอย่างเต็มที่


              หลังจากดูสื่อของสำนักพิมพ์ที่เราฝึกงานแล้ว วันต่อมาก็เริ่มหาข้อมูลดูสำนักพิมพ์อื่น ๆ ว่าเขาทำสื่อออนไลน์อย่างไรกันบ้าง เราหาอย่างละเอียดอยู่ประมาณ 6 สำนักพิมพ์ ส่องทุกสื่อออนไลน์ที่แต่ละสำนักพิมพ์มี จนเกิดความคันไม้คันมืออยากได้หนังสือแต่ต้องห้ามใจตัวเองไว้


              เพราะอีกไม่นาน เราจะได้อ่านนนนนนนนนหนังสือสมใจอยาก


              เนื่องจากงานต่อจากนี้ คือการรอหนังสือของสำนักพิมพ์ส่งมาถึงบ้าน และอ่านทีละเล่ม เพื่อเลือกประโยคเด็ดโดนใจมาทำเป็น Content โปรโมตหนังสือในสื่อออนไลน์ช่องทางต่าง ๆ ต่อไป


              ระหว่างรอให้หนังสือมาส่งถึงบ้านก็ได้รับมอบหมายให้ออกแบบ Templete สำหรับใส่ประโยคเด็ดโดดใจจากหนังสือเหล่านั้น เราเลยต้องขุดความทรงจำการใช้โปรแกรม AI ที่เคยเรียนเมื่อตอนปี 2 กลับมา โดยมีอาจารย์อีกคนคอยดูแลอย่างใกล้ชิดชื่อว่า Youtube


              การบ้านอีกอย่างที่ได้รับมอบหมายคือ 'ถ้า SandClock Books มี Tiktok จะออกมาเป็นอย่างไร' เป็นงานที่เราขอบคุณตัวเองที่เล่น Tiktok มาก่อนอยู่แล้ว เพราะถ้าต้องมาศึกษาเอาตอนนี้คงหงุดหงิดน่าดู และเพื่อน ๆ ที่มาฝึกงานด้วยกัน (ออมและจอนนี่) ก็ไม่มีใครเล่น Tiktok มาก่อน เราจึงรู้สึกเหมือนกำลังแบกความหวังอยู่เล็กน้อย ได้แต่บอกออมกับจอนนี่ว่าไม่ต้องห่วง เราจะพาไปเป็นดาวเอง!



  • สรุปประจำสัปดาห์

              'สิ่งที่ไม่คิดว่าจะได้รู้'


              การมาฝึกงานที่สำนักพิมพ์ขนาดเล็ก ไม่มีออฟฟิศ เน้นการทำงานที่บ้าน ไม่มีเวลาเข้างาน หรือเวลาเลิกงานตายตัว มีเพียงเวลาส่งงาน และการนัด Meeting แบบ Online ที่มีการแจ้งเวลาล่วงหน้า ทำให้ได้รู้อะไรหลาย ๆ อย่างที่คาดไม่ถึง


              ข้อแรก ในกลุ่มเพื่อน เราเป็นคนที่ว่างที่สุด

              เรายังมีงานที่ได้รับมอบหมายให้ทำ และไม่ได้ว่างจริง ๆ แต่นับว่าว่างกว่าเพื่อน ๆ คนอื่นในระดับหนึ่ง เพราะเพื่อนที่ฝึกงานที่โรงเรียน หรือที่อื่น ๆ จะมีเวลาเข้างานที่ชัดเจน ต้องเดินทางไปที่ทำงาน เมื่อถึงเวลาเลิกงานก็กลับบ้านพักผ่อน แตกต่างจากเราที่อยู่บ้าน เข้า Meeting ตามนัดประมาณ 1 ชั่วโมง แล้วไปทำงานที่ได้รับมอบหมายให้ทันกำหนดส่ง โดยต้องบริหารจัดการเวลาที่เหลือเอาเอง

              ในสัปดาห์แรกของเราจึงมีเวลาว่างพอสมควร เราระลึกได้ในตอนที่ครูทักไลน์เพื่อให้ส่งไฟล์งานให้ใหม่ ซึ่งในขณะนั้นมีแค่เราที่ว่างแก้ไฟล์งาน และตอบครูแค่คนเดียว (กับจอนนี่ที่ฝึกงานที่เดียวกัน) ตัวเลขคนอ่านแชทที่ครูส่งมาแทบจะไม่ขยับเลยด้วยซ้ำ

              เราเลยคิดได้ว่า
              
              อ๋อ นี่เรา (กับออมและจอนนี่) ว่างที่สุดในเอกแล้วนะ (แต่ไม่ได้ว่าง 100%)


              ข้อสอง เราเหมาะกับการบริหารเวลาด้วยตัวเองไหม

              แน่นอนว่าเราจะไม่ได้ว่างแบบนี้ไปจนครบ 50 วันอย่างแน่นอน ต้องมีวันที่งานหนักจนไม่ว่างตอบไลน์ หรือไปทำอย่างอื่นบ้าง แต่การได้ลองมาทำงานในลักษณะนี้ที่เรียกกันว่า Freelance ทำให้เราได้รู้ว่าเราเหมาะกับการบริหารเวลาด้วยตัวเองหรือไม่ ในขณะที่เพื่อน ๆ ตื่นเช้าไปเล่นกับเด็ก ๆ ที่โรงเรียน เลิกเรียนก็กลับบ้านพักผ่อน กับเราที่สามารถออกแบบตารางชีวิตได้อย่างอิสระ เราถนัดและชอบแบบไหนมากกว่ากัน


              การฝึกงาน 5 วันนี้ทำให้เราเริ่มตอบคำถามนี้ได้แล้วพอสมควร คือ เราชอบงานแบบนี้มาก


              เพราะเราชอบทำการบ้านตอนดึก ๆ มาแต่ไหนแต่ไร และในความคิดของเรา งานประเภทที่ต้องสร้างสรรค์ ต้องใช้อารมณ์ความรู้สึกนั้นควบคุมได้ยาก เราไม่สามารถคิดงานได้หากใจไม่อยากคิด เพราะฉะนั้นความอิสระ ยืดหยุ่น และไม่มีตารางเวลาตรงเป๊ะชัดเจนจึงเอื้อต่อการทำงานในแบบของเรา


              แต่เราเพิ่งฝึกงานได้แค่ 5 วัน ยังไม่เจองานชิ้นใหญ่ที่ใช้เวลาทำนาน จึงยังไม่ตัดสินและรอดูต่อไป
              
              ซึ่งหลังจากฝึกงานที่นี่ครบ 50 วัน เราจะได้คำตอบอย่างแน่นอน

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in