เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
my translated piecesrchyuan
จงระวังเผด็จการที่มาพร้อมภาวะไร้โครงสร้าง
  • a cautionary lesson for aspiring political activists 


    สรุปสั้น ๆ 

    บางครั้งกลุ่มที่มีระเบียบแบบแผนน้อยที่สุดก็คือกลุ่มที่มีความเป็นเผด็จการมากที่สุด จงรับมือกับปัญหานี้ด้วยการส่งเสริมให้กลุ่มยึดหลักภาระรับผิดชอบ (accountability)



    เคยไหม เวลานั่งเปื่อยในการประชุมที่ยืดเยื้อไม่รู้จบ แล้วเห็นว่ามีแค่หนึ่งหรือสองคนเท่านั้นทำหน้าที่พูดร้อยละ 80 ของการสนทนาทั้งหมด ทั้ง ๆ ที่ตามหลักแล้วทุกคนมีเสียงเท่ากัน เคยไหม เวลาต้องทนฟังการสนทนาที่วนไปเวียนมาไม่รู้จบ จะเสร็จเมื่อไหร่ก็ไม่รู้ เพราะในวงไม่มีผู้ช่วยดำเนินการสนทนา ด้วยเกรงว่าจะทำให้เกิดการแบ่งแยกชนชั้นกัน  และเคยเห็นไหม ตอนที่สมาชิกกลุ่มคนใหม่ ๆ หมดความอดทน เพราะเสนออะไรไปก็ไม่มีใครสนใจรับฟัง ปล่อยให้ไอเดียพวกนั้นลอยล่องในอากาศต่อไป

    ยินดีต้อนรับสู่ระบอบเผด็จการแห่งภาวะไร้โครงสร้าง (the tyranny of structurelessness)

    "Tyranny of Structurelessness" [เผด็จการแห่งภาวะไร้โครงสร้าง] เรียงความทรงอิทธิพลของ โจ ฟรีแมน (Jo Freeman) ที่เขียนเมื่อปี ค.ศ. 1970 ได้กลายมาเป็นคำที่ใช้เรียกปัญหาเรื้อรัง ซึ่งตามรังควานผู้ทำหน้าที่ตัดสินใจในกลุ่ม องค์กร หรือสหกรณ์ต่าง ๆ ที่จัดตั้งกันแบบไร้ลำดับชั้น (non-hierarchical) 

    ฟรีแมนเสนอว่าในการพยายามหลีกเลี่ยงลำดับชั้น หรือหลีกเลี่ยงแม้กระทั่งตำแหน่งผู้นำกลุ่มนั้น สิ่งที่นักกิจกรรมทำจริง ๆ (และทำกันอยู่แค่ฝ่ายเดียวด้วย คนอื่นเขาไม่ทำกัน) กลับเป็นการปลดอาวุธตนเองที่ใช้ในการระบุปัญหาและหาทางแก้ไขให้มันดีขึ้น เพื่อให้เกิดปฏิบัติการรวมหมู่ (collective action) ที่มีประสิทธิภาพ ก็ตามที่เธอกล่าวไว้นั่นแหละว่า “กลุ่มที่จัดตั้งกันแบบไร้โครงสร้างน่ะ ไม่มีหรอก”

    นั่นแปลว่าความพยายามในการสร้างกลุ่มที่ปราศจากโครงสร้างนั้น มีประโยชน์ (และตบตาเราได้) พอ ๆ กับข่าวที่เขียนขึ้นอย่าง “เป็นกลาง” สังคมศาสตร์ที่ “ปราศจากการตัดสินเชิงคุณค่า” หรือระบบเศรษฐกิจแบบ “เสรี” นั่นแหละ ส่วนกลุ่มที่ถือคติ “ปล่อยให้ทำไป” (laissez faire) นั้น ก็เป็นไปได้จริงพอ ๆ กับสังคมที่มีลักษณะแบบ “จะทำอะไรก็ทำไป”  

    แนวคิดดังกล่าวกลายเป็นเล่ห์อุบายที่ผู้มีอิทธิพลหรือผู้โชคดีในกลุ่มหยิบฉวยมาใช้ เพื่อปิดบังการสถาปนาอำนาจนำ (hegemony) แบบไร้ข้อกังขาของตนเองเหนือผู้อื่น ด้วยเหตุนี้ ภาวะไร้โครงสร้างจึงเป็นวิถีทางหนึ่งในการปิดบังการใช้อำนาจ 

    ในบทความ ฟรีแมนใช้ขบวนการสตรีนิยมที่เคลื่อนไหวในช่วงทศวรรษที่ 1960 เป็นกรณีศึกษา  | ถ่ายเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม ค.ศ. 1970 ณ งานประท้วงของผู้หญิงเพื่อความเท่าเทียม รูปภาพจากบทความ Feminist Organizing After the Women's March: Lessons from the Second Wave นิตยสาร Dissent 

    แค่ยืดการประชุมให้ยาวขึ้นและทำร้ายความรู้สึกคนก็ว่าแย่พอแล้ว แต่ภาวะไร้โครงสร้างยังมีปัญหาอื่นอีก นั่นคือ มันใช้ไม่ได้ในระยะยาว หากคุณกำลังเข้าไปมีส่วนร่วมอยู่ในแคมเปญระยะยาวใดใดก็ตาม พึงรู้ไว้เถิดว่ากลุ่มที่ขาดภาระรับผิดชอบ และระบบที่รวบรวมฟีดแบค (feedback) การทำงานไว้อย่างเป็นระเบียบ มักจะไปไม่ค่อยรอดกัน


    เช่นนั้นแล้ว ทางออกขององค์กรไร้โครงสร้างซึ่งทำงานได้ไม่เต็มที่อยู่ตรงไหนกันหนอ  วิธีแก้ที่ดีที่สุดคือการป้องกัน คือการวางแนวทางปฏิบัติงานที่ชัดเจนตั้งแต่ต้น ทว่าหากคุณติดอยู่ในกลุ่มซึ่งมีโครงแบบตามลักษณะดังกล่าว แล้วปรารถนาที่จะเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรม[องค์กร]ให้มีความเป็นประชาธิปไตย และเน้นการมีส่วนร่วมมากยิ่งขึ้น แนวคิดสำคัญที่คุณควรนำมาใช้และเรียกร้องให้เป็นที่ยอมรับไม่ใช่แนวคิดเรื่องลำดับชั้นในตัวมันเอง แต่เป็นแนวคิดเรื่องภาระรับผิดชอบ


    ภาระรับผิดชอบคือสิ่งที่ติดคมเขี้ยวให้แก่ประชาธิปไตย ทำให้มันเป็นกิจกรรมที่แตกต่างจากการสื่อสารแบบนกแก้วนกขุนทอง คือไม่รู้ว่าเหตุใดจึงตัดสินใจเลือกทำสิ่งนี้ หรือไม่ทำสิ่งนั้น


    หลักภาระรับผิดชอบกำหนดว่าหากสัญญากับประชาชนไว้แล้วว่าจะสนองตอบความปรารถนาของพวกเขา แต่ทำไม่สำเร็จ ก็จะเกิดผลกระทบตามมาจริง ๆ (ในทางตรงกันข้าม ภาวะไร้โครงสร้างมีแนวทางมากมายในการสังเกตความต้องการร่วม [ของมวลชน] แต่มีมาตรการที่เที่ยงธรรมหรือมีประสิทธิภาพอยู่เพียงน้อยนิดที่มารับประกันว่าจะมีใครทำตามความต้องการร่วมเหล่านั้น) [การจัดระบบตาม]ลำดับขั้นเป็นวิสัยทัศน์อันเฉพาะเจาะจงเพียงรูปแบบหนึ่งเท่านั้นของการนำหลักภาระรับผิดชอบมาใช้ให้เกิดผลสำเร็จ  แต่สำหรับการจัดตั้งอื่น ๆ ที่ปฏิเสธลำดับขั้น แน่นอนว่าไม่ได้มีแค่วิธีนี้วิธีเดียวให้ใช้


    โครงสร้างการจัดตั้งกลุ่มนั้นมีเยอะพอ ๆ กับหลักปรัชญาว่าด้วยปฏิบัติการรวมหมู่ (collective action) เลยทีเดียว แต่โครงสร้างแทบจะทุกรูปแบบต่างก็มีจุดหนึ่งที่เหมือนกัน คือไม่ว่าจะดีเลวอย่างไรก็แล้วแต่ พวกมันต่างก็ยืดอกยอมรับโครงสร้างของตัวเอง แทนที่จะแอบอยู่ข้างหลังคำประกาศยืนยันว่าตัวมันเองนั้นไร้ซึ่งโครงสร้าง ซึ่งเป็นคำประกาศที่ดูไม่น่าเป็นไปได้และทำให้เกิดความสับสน


    การยืดอกยอมรับในประเด็นนั้น และภาระรับผิดชอบที่มันช่วยพัฒนาส่งเสริมให้มีขึ้น เป็นหนทางเดียวที่จะรับประกันว่าการตัดสินใจ[ของกลุ่ม]จะมีความเที่ยงธรรมและมีประสิทธิภาพ


    แปลมาจากความเรียงเรื่อง “Beware the Tyranny of Structurelessness” โดย Josh Bolotsky ในหนังสือ Beautiful Trouble: A Toolbox for Revolution
    หน้า 102-103


    Josh Bolotsky เขียน
    rchyuan แปล
Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in