เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
my translated piecesrchyuan
อำนาจและปัญญาชน

  • สรุปสั้น ๆ 

     ปัญญาชนควรใช้ความรู้เฉพาะทางของตนในการเปิดโปงกลอุบายของอำนาจ ใช้ตำแหน่งงานในสถาบันต่าง ๆ ของตนเองให้เป็นประโยชน์ เป็นกระบอกเสียงให้ผู้ที่กำลังดิ้นรนต่อสู้กับการกดขี่ และทำงานอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยเพื่อเปิดเผยแง่มุ่มต่าง ๆ ให้เป็นที่รับรู้กันว่าตัวปัญญาชนเองนั้นก็เป็นผู้ใช้อำนาจ (agent of power) เช่นกัน

    1

    มิเชล ฟูโกต์ (Michel Foucault) เป็นนักประวัติศาสตร์ นักทฤษฎีสังคม และนักปรัชญาชาวฝรั่งเศส งานเขียนหลาย ๆ ชิ้นของเขาเกี่ยวกับอำนาจส่งอิทธิพลอย่างกว้างขวางต่อแวดวงมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ งานของฟูโกต์ตั้งอยู่บนข้ออ้าง (premise) พื้นฐานที่ว่าทุกวันนี้อำนาจไม่ใช่สิ่งที่คนจำนวนน้อยนิดเป็นผู้ครอบครอง และนำมาใช้กับคนอื่น ๆ ที่เหลือ แต่เป็นพลังที่สำแดงออกผ่านทุก ๆ สถาบันและระบบความสัมพันธ์ในสังคม แม้แต่สำนึกความเป็นตัวตนของเราก็นับเป็นผลผลิตจากพลังในการปั้นแต่งของมันด้วยเช่นกัน

    2

    ดังที่ฟูโกต์เคยว่าไว้ อำนาจนั้นกระจัดกระจาย ไม่กระจุกตัวอยู่ที่เดียว และไม่ได้มีที่มาจากตัวอาคารอันเป็นที่ตั้งของรัฐบาลเท่านั้น หากแต่แผ่ซ่านอยู่ทั่วทุกหัวระแหงในสังคม เช่นเดียวกัน การต่อต้านก็มีอยู่ทุกแห่งหน ที่ใดก็ตามที่ประชาชนไม่ให้ความร่วมมือกับสถาบันอำนาจ หรือปฏิเสธที่จะยอมรับแบบแผนความประพฤติทางสังคมโดยไม่ตั้งคำถาม ที่แห่งนั้นมีการต่อต้านอำนาจ เมื่อไหร่ก็ตามที่ประชาชนพยายามจัดระเบียบความสัมพันธ์ทางสังคมให้เป็นไปตามจังหวะหรือหลักการที่แตกต่างไปจากเดิม เมื่อนั้นมีการต่อต้านอำนาจ 

    3

    อย่างไรก็ดี คนเราสามารถต่อต้านได้เฉพาะแต่สิ่งที่พวกเขามองเห็นเท่านั้น ดังนั้น อำนาจจึงทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดเมื่อไม่มีใครเห็นการทำงานของมัน ผู้คนมักเข้าใจสถานะทางอำนาจ (power dynamics) ว่าเป็นสัจธรรมของชีวิตที่ไม่อาจเปลี่ยนแปลงได้ มากกว่าจะเป็นสถานการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่สามารถจัดการต่อรองใหม่อีกครั้งให้อะไรๆ เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมได้ ด้วยเหตุนี้ ปัญญาชนผู้มีบทบาทในการผลิตสร้างความรู้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความรู้ด้านสังคมศาสตร์ จึงมีส่วนเชื่อมโยงกับปฏิบัติการทางอำนาจแบบแยกจากกันไม่ได้ — แต่ก็เป็นไปได้เหมือนกันที่พวกเขาจะเชื่อมโยงกับปฏิบัติการต่อต้านมันด้วย



    4

    ตามที่ฟูโกต์ใช้คำนี้ ปัญญาชน (intellectuals) หมายถึงกลุ่มคนซึ่งมีหน้าที่จัดหากรอบความคิดสำหรับใช้ทำความเข้าใจ ตีความ และสื่อสารกับโลกให้แก่ผู้อื่น นักวิทยาศาสตร์และวิศวกรที่ทำงานให้บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่เป็นปัญญาชน นักพัฒนาซอฟต์แวร์อิสระก็เป็นปัญญาชน เช่นเดียวกับคนอาชีพอื่น ๆ อย่างบล็อกเกอร์มือสมัครเล่น ครูในโรงเรียนและอาจารย์มหาวิทยาลัย แพทย์ ทนายความ นักโฆษณา และข้าราชการทุกหมู่เหล่า 

    5

    สำหรับฟูโกต์ หน้าที่ที่ปัญญาชนควรปฏิบัติคือการเปิดโปงกลอุบายต่าง ๆ ของอำนาจ และเปิดเผยการทำงานขององค์ความรู้ทั้งหลายซึ่งสร้างความชอบธรรมให้แก่ปฏิบัติการทางอำนาจ ปิดบังการทำงานของมัน หรือทำให้มันดูราวกับว่าเป็นเรื่องธรรมชาติ คนที่ต้องเผชิญกับคมดาบแห่งการครอบงำและการเอารัดเอาเปรียบไม่ได้ต้องการให้พวกปัญญาชนมาสอนสั่งว่าตนเองกำลังถูกกดขี่อยู่ — เรื่องนั้นน่ะเขารู้ดีอยู่แล้ว สิ่งที่คนเหล่านี้ต้องการจากปัญญาชนไม่ใช่ผู้นำคนใหม่ แต่เป็นทรัพยากร ความรู้ทางเทคนิค และความช่วยเหลือในการหาทางลัดเลาะผ่านโครงข่ายสายใยอันทึบทึมของอำนาจสถาบัน (institutional power)

    6

    ปัญญาชนทำหน้าที่เป็นผู้ขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงทางสังคมเมื่อเขานำองค์ความรู้ของผู้เชี่ยวชาญ เช่นความรู้ด้านกฎหมายหรือเศรษฐศาสตร์ มาแปลงเป็นภาษาที่เข้าใจง่าย ในความคิดของฟูโกต์ ปัญญาชนจะทำหน้าที่ของตนเองได้ดีที่สุด ไม่ใช่ด้วยการสอนสั่งเราว่าโลกควรเป็นอย่างไร แต่ด้วยการแสดงให้เราเห็นว่าโลกสามารถเปลี่ยนเป็นแบบอื่นได้ไม่ยาก และที่สำคัญไปกว่านั้นก็คือ มันไม่จำเป็นจะต้องคงอยู่ในสภาพเดิมแบบนี้ต่อไป


    แซ็ค มาลิตซ์ เขียน
    rchyuan แปล

    แปลมาจากความเรียงเรื่อง “Intellectuals and Power” โดย Zack Malitz ในหนังสือ Beautiful Trouble: A Toolbox for Revolution
    หน้า 240-241 


Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in