เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
my translated piecesrchyuan
ผมยิงกวางตาย และยังเชื่ออยู่ว่าที่ทำไปน่ะถูกต้องแล้ว
  • บทความโดย จอร์จ มอนบิโอต์ 
    (George Monbiot) 

    การประท้วงนั้นพุ่งเป้ามาที่ผม แต่ผมเห็นใจผู้ชุมนุมนะ พวกเขามารวมตัวกันด้านนอกโรงมหรสพที่ผมขึ้นพูดเมื่ออาทิตย์ก่อน แล้วตะโกนเรียกผมว่าไอ้นักฆ่า ผมไม่โต้แย้งคำครหาของพวกเขา ก็ผมมันนักฆ่าจริง ๆ นี่

    ระหว่างถ่ายทำมหันตภัยวัวสิ้นโลก (Apocalypse Cow) หนังสารคดีของช่อง Channel 4 เกี่ยวกับเหตุผลที่มนุษย์ควรผลิตหาอาหารมาเลี้ยงเผ่าพันธุ์ตนเองโดยไม่ทำลายโลก ผมยิงกวางตายไปตัวหนึ่ง เผื่อจะช่วยให้คุณรู้สึกดีขึ้นบ้าง (แต่เจ้ากวางคงไม่รู้สึกดีด้วย) ผมเกลียดทุกวินาทีที่ทำกิจกรรมนี้ ตั้งแต่ตอนหยิบปืนไรเฟิลขึ้นมา เรียนรู้วิธีใช้มัน ไปจนถึงตอนออกค้นหาและสะกดรอยตามเจ้าสัตว์ผู้ไร้เดียงสา ก่อนจะยิงทะลุอกมันจากระยะ 180 เมตร มองมันโด่งตัวขึ้นในอากาศ เดินโซซัดโซเซ ชักกระแด่ว และสิ้นใจลง นับเป็นประการณ์ที่น่าสะอิดสะเอียนและน่าหวาดกลัวทีเดียว 

    ผมพยายามจะแสดงให้เห็นข้อเท็จจริงของการฟื้นฟูระบบนิเวศ หากเราเชื่อว่าสิ่งใดถูกต้อง เราก็ควรพร้อมทำสิ่งนั้นด้วยตนเอง ทว่าเรามีสิทธิ์ปลิดชีพสิ่งมีชีวิตอื่นจริงหรือ?

    ในกรณีนี้ ปัญหาเกิดจากการที่มนุษย์เข้าแทรกแซงระบบนิเวศในที่ราบสูงสก็อตแลนด์จนก่อให้เกิดความเสียหายอย่างหนัก การกำจัดหมาป่าและแมวลิงซ์ทำให้กวางเป็นอิสระจากสัตว์นักล่า และออกลูกออกหลานกันเป็นโขยง และเนื่องจากต้นอ่อนอุดมไปด้วยคุณประโยชน์ทางสารอาหาร พวกกวางก็เลยเลือกเล็มกินมันเสียเกลี้ยง ชีวนิเวศที่เคยอุดมสมบูรณ์ไปด้วยแหล่งที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ กลับกลายสภาพเป็นภูมิทัศน์น่าเบื่อไร้ชีวิตชีวา มองไปทางไหนเห็นแต่ทุ่งโล่งร้างและต้นหญ้าหยาบกร้าน กวางที่ผมยิงตายเป็นเพียงกวางหนึ่งตัว จากกวางหลายพันตัวที่ถูกฆ่าทิ้งในที่ดินเขตเกล็นเฟชีย์ (Glenfeshie) อุทยานแห่งชาติแคร์นกอมส์ (Cairngorms) การกำจัดเพื่อควบคุมปริมาณนี้ ส่งผลให้ต้นไม้งอกเงยขึ้นอีกครั้ง ป่าไม้ที่ฟื้นตัวกลับมาอุดมไปด้วยนกและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมนานาชนิด

    ตามที่ผู้ประท้วงยืนยัน แน่นอนล่ะว่ามีวิธีอื่น ๆ ให้เลือกใช้อยู่ มีคนรณรงค์มาหลายปีแล้วว่าให้เอาหมาป่าและแมวลิงซ์กลับมา แต่ถ้าจะทำแบบนั้น ก็ต้องรอให้สาธารณะเห็นชอบอย่างกว้างขวางเสียก่อน ไม่งั้นก็ทำไม่ได้ เรื่องพวกนี้ต้องใช้เวลา 

    ถ้างั้นในระหว่างนี้เราควรทำอะไรดีล่ะตัวเลือกที่ผู้ประท้วงสนับสนุนคือการคุมกำเนิดและการล้อมรั้ว 

    การจะยิงลูกดอกคุมกำเนิดให้ปักเข้าตัวกวาง คุณต้องอยู่ห่างจากมันไม่เกิน 40 เมตร ทว่าเนื่องจากพวกกวางได้เล็มกินต้นไม้จนหมดเกลี้ยง จึงแทบไม่มีโอกาสที่เราจะเข้าประชิดตัวมันในระยะนั้นได้เลย ต่อให้มีคนค้นพบวิธีให้สารเคมีวิธีอื่น ๆ ที่ไม่เป็นอันตรายต่อระบบนิเวศ (ตอนนี้ยังไม่มี) การระงับภาวะเจริญพันธุ์ในกลุ่มประชากรสัตว์ชนิดหนึ่ง ๆ ทั้งหมดเป็นอะไรที่ทำได้ยากเย็นยิ่งนัก และอาจจะเป็นไปไม่ได้เลยด้วยซ้ำ บทความวิทย์ปริทัศน์ชิ้นหนึ่งให้ข้อสรุปว่า ในการคุมประชากรกวางป่า ไม่สามารถใช้การคุมกำเนิดแทนการล่าได้

    เจ้าที่ดินบางคนพยายามล้อมรั้วไม่ให้กวางเข้าออก วิธีนี้มีค่าใช้จ่ายสูงมาก และทำยากบริเวณที่เป็นไหล่เขาชัน ๆ หากทำสำเร็จ แนวรั้วจะแยกระบบนิเวศออกเป็นสองส่วน ซึ่งต่างทำงานผิดปกติและขาดความสมดุล ฝั่งหนึ่งจะมีสัตว์กินพืชเยอะเกินไป ส่วนอีกฝั่งจะไม่มีเลย หากมีการล้อมรั้วในระดับที่ใหญ่พอจะสร้างความเปลี่ยนแปลงทางระบบนิเวศได้ ก็จะมีกวางจำนวนมากต้องอดอยากเพราะขาดแหล่งอาหาร พวกมันจะตายลงอย่างช้า ๆ และทรมาน

    ผมติดต่อสมาชิกกลุ่มผู้ประท้วงคนหนึ่ง เขายกประเด็นที่สลับซับซ้อนยิ่งกว่าเดิมขึ้นมา ประเด็นที่นักสิทธิสัตว์เรียกว่าการเลือกปฏิบัติทางสายพันธุ์ (Speciesism) “หากเราใช้ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมเป็นข้ออ้างในการฆ่ากวางได้ เช่นนั้นแล้ว การฆ่าสิ่งมีชีวิตที่ส่งผลกระทบร้ายแรงต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าอย่างมนุษย์ ก็ย่อมเป็นอะไรที่พึงยอมรับได้อย่างนั้นหรือ?” เขาอ้างว่าข้อโต้แย้งที่อิงกับระดับความแตกต่างทางการรับรู้และความรู้สึกนึกคิดระหว่างคนกับสัตว์นั้น ไม่มีอันไหนสมเหตุสมผลเลย 

    แม้จะเห็นได้ชัดว่าความคิดเห็นของนักสิทธิสัตว์ผู้นี้ได้รับอิทธิพลจากปีเตอร์ ซิงเกอร์ (Peter Singer) นักปรัชญาจริยธรรมชาวออสเตรเลีย ทว่าทัศนะของเขา (รวมถึงของนักสิทธิสัตว์คนอื่นๆ ที่ผมเคยเจอ) นั้นไปไกลกว่าแนวคิดประโยชน์นิยมของซิงเกอร์มาก สิทธิสัตว์ก็เหมือนสิทธิมนุษยชน คือเป็นสิทธิของปัจเจก คู่สนทนาของผมกล่าว “การตัดสินใจสังเวยชีวิตของปัจเจกโดยอ้างว่าเป็นไปเพื่อประโยชน์สุขของผู้อื่นนั้นเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้เลย

    แต่การไม่ทำอะไรเลยในสถานการณ์นี้ก็พ่วงมาด้วยปัญญาทางจริยธรรมเช่นกันกับการเลือกทำอะไรสักอย่าง ผลจากการแทรกแซงธรรมชาติของมนุษย์ (การฆ่าล้างบางสัตว์นักล่า) ซึ่งเกิดขึ้นก่อนหน้านี้ ทำให้การเลือกไม่ล่ากวางกลายเป็นจุดจบของสัตว์ชนิดอื่น ๆ การไว้ชีวิตกวางเท่ากับเป็นการไม่ไว้ชีวิตไก่ป่าคาเปอร์เคลลี นกครอสบิล เหยี่ยวนกเขา แมวป่า กระรอกแดง และหมาไม้ต้นสนยุโรป การปล่อยให้พวกกวางมีชีวิตอยู่รอดต้องแลกมาด้วยความตายของสัตว์ชนิดอื่น ๆ ไม่ว่าจะแค่ตัวสองตัวหรือยกฝูงก็ตาม ปัญหานี้ทวีความซับซ้อนขึ้นเมื่อเจ้าที่ดินหลายคนตั้งใจคงปริมาณกวางให้เยอะอยู่เสมอ สาเหตุหนึ่งเป็นเพราะที่ดินที่ใช้ล่ากวางนั้นวัดมูลค่าจากจำนวนกวางตัวผู้ที่อยู่ในพื้นที่ เจ้าที่ดินเหล่านี้ให้ความสำคัญกับชีวิตกวางเหนือสัตว์สปีชีส์อื่นไม่ต่างจากนักสิทธิสัตว์เลย แต่ว่าเหตุผลนั้นต่างกันโดยสิ้นเชิง

    หากการฆ่าสัตว์กลายเป็นข้อห้ามที่ละเมิดไม่ได้ในทุก ๆ กรณี แม้แต่คนกินมังสวิรัติก็จะต้องอยู่อย่างอดอยากด้วยเช่นกัน ถึงแม้อาหารที่เน้นพืชผักจะใช้ที่ดิน (ซึ่งรวมไปถึงที่ดินเพาะปลูก) น้อยกว่าอาหารที่เน้นเนื้อสัตว์อยู่มาก แต่อาหารประเภทนี้ก็ยังส่งผลให้สัตว์ชนิดอื่น ๆ ต้องตายหรือพลัดพรากจากถิ่นที่อยู่อยู่ดี ไม่ว่าจะเป็นหนูที่ถูกรถเกี่ยวนวดข้าวโกยทับ หรือนกฮูกซึ่งจะได้อยู่ในบ้านของมันดี ๆ หากป่าไม่ถูกแทนที่ด้วยไร่นา ไม่มีสัตว์ชนิดใดดำรงเผ่าพันธุ์อยู่ได้โดยปราศจากการยกสิทธิประโยชน์ของพวกตนเองไว้เหนือสิทธิประโยชน์ของสิ่งชีวิตอื่น ถึงจิตเราจะปฏิเสธการเลือกปฏิบัติทางสายพันธุ์ แต่กระเพาะของเรายืนยันในทางตรงกันข้าม

    อูเล มาร์ติน โมน (Ole Martin Moen) นักปรัชญาชาวนอร์เวย์ผู้มีจุดยืนอยู่อีกฝั่งของการถกเถียง เสนอว่าเนื่องจากนกกาและสัตว์ป่าต้องทนทุกข์กับความเจ็บปวดที่เกิดจากถูกล่าเป็นอาหาร โรคภัยไข้เจ็บ และความหิวโหย มนุษย์จึงควรปลดเปลื้องความทุกข์ทรมานเหล่านี้โดยการ ลดจำนวนประชากรสัตว์ป่าลงจนเหี้ยน และเอาตัวที่เหลือรอดไปไว้ในอุทยาน ที่ที่มนุษย์สามารถดูแลพวกมันได้ ข้อโต้แย้งของโมนคงมีค่าพอให้ถกเถียงด้วยอยู่หรอก หากเขาพิสูจน์ได้แม้เพียงนิดเดียวว่าเขามีความ​เข้าใจในนิเวศวิทยาจริง ๆ รับรู้ถึงระดับความรุนแรงและผลจากการแทรกแซงธรรมชาติที่ตนเองเสนอ หรือยอมรับว่านอกจากความเจ็บปวดแล้ว สัตว์ป่าเองก็มีความสุขได้เช่นกัน ถึงกระนั้น มนุษย์เราก็ดูมุ่งมั่นที่จะนำแนวคิดบ้า ๆ บอ ๆ นี้มาใช้อยู่นะ แค่ว่าไม่ได้ใช้ตามเหตุผลที่โมนเสนอเท่านั้นเอง

    เป้าหมายหนึ่งซึ่งปฏิบัติได้จริง และเป็นการพบกันครึ่งทางระหว่างแนวคิดสองขั้วที่กล่าวไปข้างต้น (ฆ่าเกือบทุกอย่างกับไม่ฆ่าอะไรเลย) คือการเพิ่มความหลากหลายและความอุดมสมบูรณ์ของสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ นอกเหนือจากมนุษย์บนโลกใบนี้ และรับประกันความอยู่รอดของเผ่าพันธุ์เราไปพร้อม ๆ กันด้วย แต่เป้าหมายอันนี้ไม่ได้ตอบคำถามที่เป็นประเด็นหลักของนักกิจกรรม กล่าวคือ หากการฆ่าสัตว์ป่าเพื่อบรรเทาความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมเป็นอะไรที่ยอมรับได้ เหตุใดการฆ่ามนุษย์จึงเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้? กล่าวอีกนัยหนึ่ง เหตุใดเราจึงมองว่าสิทธิในการมีชีวิตอยู่ของสัตว์เป็นอะไรที่โอนอ่อนผ่อนปรนกันได้ แต่สิทธิในการมีชีวิตอยู่ของมนุษย์กลับเป็นสัจธรรมที่ไม่มีข้อโต้แย้งใดมาลบล้างได้?

    เพราะถ้าไม่คิดเช่นนั้น สังคมมนุษย์ก็จะล่มสลายยังไงล่ะ ผู้มีอำนาจจะตัดสินให้ผู้ไร้อำนาจต้องตายเพื่อประโยชน์สุขของคนส่วนใหญ่ อย่างที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้งในอดีต ลักษณะความสัมพันธ์ของมนุษย์จะเต็มไปด้วยความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจกันอย่างถึงที่สุด และการใช้รุนแรงอย่างไม่จบไม่สิ้น เราจะไม่สามารถทำงานร่วมกันเพื่อบรรลุเป้าประสงค์ใด ๆ ได้เลย และนั่นรวมถึงการรักษาสิ่งแวดล้อมด้วย

    ใช่แล้ว ผมสนับสนุนการเลือกปฏิบัติทางสายพันธุ์ ไม่ใช่เพราะเชื่อว่ามนุษย์วิเศษวิโสกว่าสัตว์ชนิดอื่นโดยกำเนิด หากแต่เชื่อว่าเราไม่สามารถอยู่ร่วมกัน (หรืออยู่ตัวคนเดียว) ได้โดยไม่ยึดเอาความอยู่รอดของเผ่าพันธุ์เราเป็นที่ตั้ง เราไม่จำเป็นต้องมองว่าตนเองเป็นผู้ได้รับบัญชาจากสวรรค์ให้ลงมาทำหน้าที่ดูแลการให้กำเนิดชีวิต เพียงเพื่อจะยอมรับว่าเรามีความรับผิดชอบในการฟื้นฟูระบบนิเวศอันงดงามที่ถูกทำลายไป และก็ไม่จำเป็นต้องปฏิเสธด้วยว่าเรามีอคติเข้าข้างพวกตัวเองเพียงเพื่อจะปกป้องสิ่งมีชีวิตอื่น

    แปลภาษาไทยโดย rchyuan

    บทความต้นฉบับ: 
    https://bit.ly/3AtStiT
Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in